แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 71
วันที่ 18 สิงหาคม 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง วางภาระหน้าที่สมมติเอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราวางไม่ได้เด็ดขาด เรายังจำแนกแจกแจงไม่ได้เด็ดขาด ก็ขอให้หยุด หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เอาไว้ แล้วก็ฟังหลวงพ่อไปด้วย น้อมสำเหนียก ทำตามไปด้วย
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ สักสองสามเที่ยว การสูดลมหายใจยาว ๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน เวลาหายใจเข้ามีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ เราก็หายใจตั้งแต่เกิดนู่นแหละ แต่เราขาดการสร้างความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง เราก็เลยไม่เข้าใจ ก็เลยไม่รู้ความจริงในชีวิตของเรา ลักษณะของคำว่า ‘ความรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน’ เราต้องสร้างขึ้นมา ถ้าความรู้ตัวพลั้งเผลอ เราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ ความรู้ตัวพลั้งเผลอ เราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ เริ่มขึ้นมาจนต่อเนื่อง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน จนความรู้ตัวของเรารู้เท่าทันใจของเรา รู้ลักษณะใจของเรา รู้การเกิดการดับของใจ รู้การเกิดการดับของความคิด ของขันธ์ห้าที่มาปรุงแต่งใจ
ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักหยุด รู้จักดับ รู้จักแก้ไขมัน รู้ตัว รู้กาย รู้ใจ แล้วก็รู้จนเป็นอัตโนมัติ ในการรู้ ในการดู ในการทำความเข้าใจ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ คำว่า ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ในขันธ์ห้าของพระพุทธองค์ เป็นลักษณะอย่างไร นี่แหละ ตัวรู้ ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ จะเข้าไปเห็น
ถ้าเราเห็นใจกับอาการของใจแยกออกจากกัน คลายออกจากกัน เขาเรียกว่า ‘พลิก’ เขาเรียกว่า ‘หงาย’ เขาเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ไม่ใช่ว่าไปนึกเอาไปคิดเอา ปัญญาการศึกษาการเล่าเรียน อันนั้นเป็นปัญญาของสมมติ ปัญญาโลกีย์ เราอาจจะมองเห็นความถูกต้องอยู่ระดับของสมมติเท่านั้นเอง
แต่ในหลักธรรมแล้ว เราต้องเจริญสติเข้าไปดูรู้ จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า ตามเห็นการเกิดการดับ เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายของเรา ในขันธ์ห้าของเรา ตามดูทุกเรื่อง นี่ก็จะหลงอัตตา หลงอนัตตา ความว่างเปล่าหมด ท่านถึงเปรียบเสมือนกับว่ามันไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความว่างเปล่า ต้องแยกต้องคลายใจออกจากขันธ์ห้าให้ได้เสียก่อน
ตามดู รู้เหตุรู้ผล มองเห็นความเป็นจริง เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ เข้าใจว่าท่านสอนเรื่องอะไร หลักของอริยสัจเป็นยังไง ขันธ์ห้าเป็นยังไง ในการเจริญปัญญาละกิเลสเป็นยังไง มองเห็นหนทางเดิน ก็มีตั้งแต่จะทำความเข้าใจ ขัดเกลากิเลสออกจากจิตจากใจของเราให้หมดจรด ไม่ใช่ว่าจะไปปล่อยปละละเลย
ทุกเรื่อง ทุกลมหายใจเข้าออก จนหมดความสงสัยได้ หมดทุกอย่างนั่นแหละ มองเห็นหนทางเดินของตัวเรา ว่าจะได้ไปยังไง กายเนื้อแตกดับแล้วใจของเราไปยังไง แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อย ศรัทธานั้นมีกันเต็มเปี่ยม ปัญญาทางสมมตินั่นมีกันเต็มเปี่ยม แต่ปัญญาทางวิมุตติเราต้องสร้าง ต้องทำความเข้าใจจากน้อย ๆ ไปหามาก ๆ จนเป็นอัตโนมัติ จนกลายเป็นมหาสติ กลายเป็นมหาปัญญา ทุกอย่างมีเหตุมีผล เหตุทางวิมุตติก็มี เหตุทางสมมติก็มี เราต้องเข้าให้ถึงเหตุ เข้าให้ถึงผล หมดความสงสัย มีตั้งแต่จะเดินทางให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน ทำความเข้าใจกับภาษาธรรมภาษาโลก ทำความเข้าใจกับชีวิตของเราให้กระจ่าง ก่อนที่จะหมดลมหายใจกัน ก็ต้องพยายามนะ
สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ