แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 71
วันที่ 11 สิงหาคม 2557
ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราละไม่ได้ ดับไม่ได้ เราเดินปัญญา เอาไปใช้กับสมมติยังไม่ได้ เราก็รู้จักวิธีการเจริญสติ
ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก แล้วก็ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก อย่าไปบังคับลมหายใจ นั่งตามสบาย ไม่ต้องพนมมือ การหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ กายของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น จิตใจของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน
เราพยายามรู้ พยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บ เราก็รู้ให้ต่อเนื่อง ถ้าความพลั้งเผลอก็เริ่มขึ้นมาใหม่ พลั้งเผลอก็เริ่มขึ้นมาใหม่ อย่าไปเกียจคร้านในการเจริญสติ จนเป็นอัตโนมัติ ในการรู้เท่าทัน
ถ้าเราสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง เราก็จะเห็นการเกิดการดับของวิญญาณในกายของเรา เห็นการเกิดการดับของอาการของขันธ์ห้า ซึ่งอยู่ในกายของเรา ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม เราต้องเจริญสติลงอยู่ที่กายของเรา รู้ลมหายใจนี่เขาเรียกว่า ‘รู้กาย’ เรารู้ให้ต่อเนื่อง รู้ไม่ทัน เราก็เริ่มใหม่ รู้ไม่ทัน เราก็เริ่มใหม่ แต่เวลานี้กำลังสติที่เราสร้างขึ้นมานี่มันมีไม่เพียงพอ หรือไม่มีเอาซะเลย ก็เป็นปัญญาที่เกิดจากตัวใจ ไปบงการคลื่นสมอง กับขันธ์ห้าไปบงการคลื่นสมองรวมกันไปหมด จนเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาตัวตน
ทั้งที่รู้ ๆ เขาหลงอยู่ในความรู้อยู่ เราต้องมาเจริญสติตัวใหม่เข้าไปอบรมใจ แล้วก็ไปควบคุมใจ เข้าไปชี้เหตุชี้ผล ตามดู ตามรู้ ตามเห็น จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า แยกรูปแยกนาม ตามทำความเข้าใจให้ละเอียดทุกเรื่อง ดับความเกิดของใจ ละกิเลสออกจากใจ กิเลสหยาบกิเลสละเอียด มันมีหมดอยู่ในกายของเรา เว้นเสียแต่ว่าเราจะตามทำความเข้าใจให้รู้เรื่องทุกเรื่องหรือไม่เท่านั้นเอง ส่วนมากก็ไปปล่อยปละละเลย เอาแค่ไปทำบุญ ขอให้ฉันได้ทำบุญก็พอ อย่าอยู่เพียงแค่นั้น
เราจงพยายามรู้ให้ลึก ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นยังไง ใจที่ไม่เกิดเป็นยังไง ใจที่เป็นสมาธิเป็นยังไง ใจที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างไร กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ภาษาธรรมภาษาโลกเป็นอย่างไร นิวรณธรรมเป็นเครื่องกางกั้นใจเป็นอย่างไร สติพลั้งเผลอเป็นอย่างไร มีหมดอยู่ในกายของเรา
คำว่า ‘ทิฏฐิ’ ความเห็นเป็นยังไง เห็นถูกเป็นอย่างไร เห็นผิดเป็นยังไง ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริงเปิดทางให้เป็นอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจ ศึกษาภาษาธรรมภาษาโลก พระพุทธองค์ท่านก็สอนเรื่องกายของเรานี่แหละ สอนเรื่องวิญญาณของเรานี่แหละ วิญญาณในกายของเรามีไม่มากเลย มีอยู่ในกายของเรา ซึ่งเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ นี่แหละ ที่พากันสวดพากันท่องอยู่ทุกวัน นอกนั้นก็ไปเพิ่มเติมเสริมให้มันเยอะขึ้นไปเท่านั้นเอง
เราแจงให้มันได้ ใช้ตัวเองให้มันเป็น แก้ไขตัวเราให้มันได้ ละความอยากความยินดียินร้าย ในหลักธรรมทั้งความอยากทั้งความไม่อยาก ท่านก็ละหมดเลย แยกรูปแยกนามตามทำความเข้าใจ เราก็จะเข้าใจในเรื่องกรรม กรรมลิขิตหรือว่าวิบากกรรม ขันธ์ห้านี่ก็เป็นตัวกรรมมาปรุงแต่งใจให้เกิดให้หมุนเป็นวงกลม หลงเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ถ้าเราแยกแยะได้เราก็ ทำความเข้าใจได้ ตัวขันธ์ห้าก็ไม่ปรุงแต่งใจของเรา ใจของเราก็มาดับความเกิด ไม่ปรุงแต่งส่งออกไปอีก ให้เป็นการเกิดเฉพาะสติปัญญา แต่ไม่หลงไม่ยึด เป็นแค่เพียงกิริยาของของสติปัญญา ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
อะไรที่เป็นบุญเราก็ทำ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ เราก็ไม่ทำ อะไรที่ควรเจริญ อะไรที่จะควรละ การบริหารกายบริหารใจ อบรมกาย วาจา ใจ ให้เป็นระเบียบ ให้คลายความหลงให้ได้เสียก่อน เราก็ต้องพยายามนะ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย อย่าไปเลือกกาลเลือกเวลา อย่าไปคอยให้ตั้งแต่คนโน้นเขาสอน คนนี้เขาสอน เราเจริญสติเข้าไปสอนใจของเราอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ สตินี่แหละครูบาอาจารย์
แนวทางนั้นพระพุทธองค์นั้นเอามาเปิดเผยตั้งนานแล้ว ตั้งสองสามพันปีแล้ว วิธีการดำเนิน พวกเราต้องพยายามสร้างให้มี ให้เห็น ให้ปรากฏขึ้นที่ใจ หมดความสงสัย หมดความลังเล มีตั้งแต่จะเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน แต่เวลานี้กำลังสติมีน้อย เพียงแค่สร้างกับรักษา การทำให้ต่อเนื่องก็ทั้งยากอยู่ เราก็ต้องพยายาม
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันนะ
พากันไว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจต่อนะ