แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 70
วันที่ 8 สิงหาคม 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราละไม่ได้ หยุดไม่ได้ ก็ขอให้เราหยุด กระตุ้นความรู้สึก สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน แล้วก็หายใจให้เป็นธรรมชาติที่สุด ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ สัก 2-3 เที่ยว การสูดลมหายใจยาว ๆ ในกายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ไม่ว่าความรู้สึกรับรู้ เราจะสร้างขึ้นมาอยู่ตรงไหน ขอให้เรารู้กาย แต่อยู่ที่นี่หลวงพ่อจะให้รู้สัมผัสของลมหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่อง แล้วพยายามให้เชื่อมโยง
เราไม่เข้าใจ การหายใจเข้ายาวเป็นอย่างไร หายใจออกยาวเป็นอย่างไร หายใจเข้าสั้นเป็นอย่างไร หายใจออกสั้นเป็นอย่างไร อันนี้เป็นแค่เพียงอุบายให้มีสติรู้กายอยู่ปัจจุบัน ทุกขณะลมหายใจเข้าออก พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน จะเกิดคุณค่ามหาศาลมากมาย
เรามีสติรู้กายแล้ว แล้วเราก็ลึกลงไป เราจะได้รู้ใจ รู้ลักษณะของใจ รู้การเกิดการดับของใจ รู้การเกิดการดับของความคิด ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม ส่วนรู้สัมผัสของลมหายใจนี้ รู้ส่วนรูป เขาเรียกว่า ‘รู้กาย’ อันนี้ส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า เราตั้งเอาไว้ต่างหาก ถ้าเรามีความรู้ตัวอยู่ต่อเนื่อง ใจเขาจะเกิดเอง เขาจะปรุงแต่ง ส่งไปเรื่องโน้นเรื่อนนี้ ส่วนมากเขาคิดไปแล้วเราถึงรู้ บางทีความคิดกับใจรวมกันไปแล้วเราถึงรู้ รู้แล้วก็ไม่รู้จักหยุดจักดับเลยนะ บางทีส่งเสริมไปเลยก็มี
ในหลักธรรมท่านให้รู้จักควบคุม รู้จักหัดสังเกต อบรม แล้วก็ดับ หยุด เขาเรียกว่า ‘สมถะ’ สังเกตจนกว่าเห็นใจคลายออกจากความคิด เขาเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ เรียกว่า ‘หงายของที่คว่ำ’ สมมติกับวิมุตติ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ รู้ลักษณะของใจ ใจที่คลายออกจากความคิดเป็นอย่างนี้ อาการของความคิดเป็นอย่างนี้ ตามดู รู้ เห็น การเกิดการดับของขันธ์ห้า เรื่องอะไร ใจของเราก็ว่างรับรู้ ไม่ให้เข้าไปร่วม
สติที่เราสร้างขึ้นมา ก็จะได้ตามดู ตามรู้ ตามเห็น แล้วก็จะได้เข้าใจคำว่า ‘กองสังขาร’ เข้าใจคำว่า ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ เข้าใจคำว่า ‘ภาษาธรรม ภาษาโลก’ เห็นอัตตากับอนัตตา ความว่างเปล่า อันนี้ส่วนสมมติ ก็กายเนื้อของเราก็ยังอยู่ ส่วนใจคลายออกจากความคิด เราก็จะเห็นความว่างเปล่า ในความว่างนั้นมีตัวใจ รับรู้อยู่ หรือว่าตัววิญญาณในกายของเรา
วิญญาณในกายของเรา เขาเกิดมานานเขาหลงมานาน จะให้เขาคลายได้ง่าย ๆ ก็ยากเหมือนกัน เราต้องเจริญสติเข้าไปชี้ คอยอบรม คอยสั่งสอน สังเกต วิเคราะห์ ขนาบแล้วขนาบอีก แล้วก็หมั่นเจริญตบะ บารมี ความอดทนของเรามีหรือไม่ ความเสียสละของเรามีหรือเปล่า พรหมวิหารของเรามีหรือไม่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความแข็งกระด้าง สารพัดอย่างที่เราจะต้องแก้ไขใจของเรา
ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ธรรม แต่ไม่รู้จักธรรม จะเอาตั้งแต่ธรรม แต่ไม่รู้จักเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล มันก็เข้าไม่ถึง เราต้องรู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย ภาษาธรรมที่ว่า สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟังเป็นอย่างไร กายทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง การแยกรูป รส กลิ่น เสียงออกจากใจของเราเป็นอย่างไร
ตาทำหน้าที่ดู เราก็ห้ามไม่ได้ หูทำหน้าที่ฟัง เราก็ห้ามไม่ได้ ถ้าเราจะหลบหลีก เราก็หลบหลีกด้วยสติด้วยปัญญา ช่วงใหม่ ๆ เราก็วางภาระหน้าที่ทางโลกทางสมมติเสียก่อน มาทำความเข้าใจให้เห็น ให้มันรอบรู้ในดวงใจของตัวเราเองให้ได้เสียก่อน ชี้เหตุชี้ผล จากน้อย ๆ ไปหามาก ๆ ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราก็อยู่กับสมมตินั่นแหละ กายของเราเป็นก้อนสมมติ เราก็อยู่กับโลกนั่นแหละ โน้นแหละหมดลมหายใจนั่นแหละ ถึงจะได้ทิ้งสมมติ
แต่เราวางทางด้านจิตทางด้านใจให้รับผิดชอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยพรหมวิหาร ด้วยใจที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ต้องพยายามฝึกฝนตัวเรา แก้ไขตัวเรา พระพุทธองค์ท่านก็สอนเรื่องชีวิตของเรานั่นแหละ ไม่ได้สอนเรื่องอะไรหรอก การตั้งข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ก็เพื่อที่จะละกิเลสนั่นแหละ ละกิเลสหยาบ ละกิเลสละเอียดที่มีในกายในใจของเรา ทำความเข้าใจ จนกว่าจะหมดลมหายใจ ถ้าเราละบ่อย ๆ ทำความเข้าใจบ่อย ๆ กิเลสมันก็เหือดแห้งไป ถ้าเราละ เราดับ เราเจริญพรหมวิหารเข้าไปทดแทน
ในหลักธรรมแล้วก็ ทั้งดีทั้งไม่ดีนั้นละออกให้มันหมดนั่นแหละ ละออกจากใจของเราให้มันหมด ทีนี้ก็เจริญความดี ไม่หลง ไม่ยึด อยู่เหนือบุญเหนือบาปนั่นแหละ สร้างบุญไม่ยึดติดในบุญ เราก็จะอยู่กับบุญตลอดเวลา แต่เวลานี้กำลังสติของเรา เพียงแค่ห้านาที สิบนาที ยังไม่ต่อเนื่อง ยังไม่เชื่อมโยงเลย มันจะไปรู้ได้ยังไง
เพียงแค่การเจริญสติให้ได้ รู้จักควบคุม รู้จักดับ รู้จักหยุด มีตั้งแต่ปัญญาของกิเลสเท่านั้น ที่หาเหตุหาผลมาอ้าง ปิดกั้นตัวเองเอาไว้ ใหม่ ๆ ท่านถึงบอกว่าเป็นการทวน เป็นการสวนกระแสกิเลส ถ้าเราเข้าใจแล้วจะไปตามกระแสธรรม กิเลสตัวไหนจะมาหลอกเรา เราพยายามละ ถ้าเราเข้าใจ จะเอา จะมี จะเป็น ก็เป็นเรื่องของปัญญา อยู่ด้วยปัญญาล้วน ๆ อยู่ที่ไหนก็มีความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข อยู่หลายคนเราก็พยายามเพิ่มความสมัครสมานสามัคคี เพิ่มความเสียสละ อย่าไปงอมืองอเท้า อย่าไปเกียจคร้าน
เราพยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร ถ้าคนเกียจคร้านไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เจริญ เป็นฆราวาสก็ไม่เจริญ เป็นพระ เป็นชี ก็ไม่เจริญ หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่ ไปที่ไหนก็ มีตั้งแต่สร้างสะสมความเกียจคร้าน มันก็ปิดกั้นตัวเองจากน้อย ๆ ไปหามาก ๆ
ถ้าเราเพิ่มความขยัน ในการสังเกต ในการวิเคราะห์ ละกิเลสได้ครั้งหนึ่ง ครั้งสอง ครั้งสาม ครั้งที่สี่ จนกระทั่งทุกขณะจิตทุกขณะลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งเป็นอัตโนมัติ เขาเรียกว่ามหาสติ มหาปัญญา แต่เวลานี้เราต้องเห็นให้ได้เสียก่อน แยก ‘ใจ’ ออกจาก ‘ขันธ์ห้า’ ให้ได้ ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม ดับความเกิดให้ได้ รู้ให้ชัดเจนว่า อันนี้ส่วน ‘ปัญญา’ ที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้ส่วน ‘ใจ’
ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย ทุกอิริยาบถ ฉลาดมาแล้วเราก็พยายามคลายปัญญาโลก ๆ ออกให้มันหมด โง่เสียก่อนแล้วค่อยฉลาดใหม่ เข้าให้ถึงความบริสุทธิ์ของใจ ฉลาดด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยใจรับรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก
ทุกคนก็ปรารถนาหาทางดับทุกข์ หาทางหลุดพ้น แต่ขาดความเพียรในการวิเคราะห์ ในการทำความเข้าใจทุกเรื่อง ถ้าจะทำความเข้าใจได้บ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ กระท่อนกระแท่น แต่บารมีส่วนอื่นนั้นสร้างกันมาดี การทำบุญให้ทาน ทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างกันมาดี เหมือนกับเราขึ้นบันได ขึ้นถึงตัวเรือนนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็ลงมา ไม่ทำความสะอาดให้มันหมดจด เราก็ต้องพยายาม สักวันหนึ่งเราก็คงจะเข้าใจชีวิตของเรา อย่าไปปล่อยปละละเลย
ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน หมั่นพร่ำสอนตัวเราเอง แก้ไขตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น หมั่นพร่ำสอนเจริญสติเข้าไปพร่ำสอนใจของเรา ถ้าสอนตัวเราไม่ได้ อย่าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาสอน ไม่มีประโยชน์ เสียเวลาเปล่า
สร้างความรู้สึกรับรู้ การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันนะอยู่หลายคนก็เหมือนอยู่กับคนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้ว่ารู้ลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออก กระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกัน
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอานะ