แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 62
วันที่ 29 มิถุนายน 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ หรือว่าสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน อย่าไปเกร็งร่างกาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เอาไว้ ถึงเราตามดู รู้ไม่เห็น แยกแยะไม่ได้ ก็ขอให้หยุด ด้วยการสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก พวกเราก็ขาดการสร้างความรู้ตัวที่ชำนาญ สร้างความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง มีความรู้สึกรับรู้เวลาลมหายใจกระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ ในหลักธรรมท่านเรียกว่า ‘สติ’ ถ้าเรารู้ทั้งเข้าทั้งออก ให้ต่อเนื่องกัน เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม เราพยายามฝึกให้เกิดความเคยชินตั้งแต่ตื่นขึ้นมา
‘รู้กาย’ เป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่อง ‘ใจ’ ของเราบางทีเขาจะปรุงจะแต่งส่งไปภายนอก เราก็จะเห็นอาการของใจ ก็จะเห็นมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกที่เราสร้างขึ้นมา เวลาใจปรุงแต่งนั้นก็อีกส่วนหนึ่ง ส่วนมากเรารู้เมื่อเขาเกิดเป็นเรื่องเป็นราว หรือเขาไปแล้ว หรือไม่รู้เลย เพราะว่าใจมันเป็นผู้รู้ เป็นธาตุรู้ ก็รู้อยู่ในตัว แต่มันหลงอยู่ในความรู้ตรงนั้นอยู่ ถ้าเราสร้างความรู้ตัวให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่อง เราก็จะรู้ใจ ถึงเราไม่เห็นต้นเหตุของการเกิด เราก็รู้จักหยุด รู้จักดับเอาไว้ เขาเรียกว่า ‘ควบคุมใจ’
แล้วก็มีอีกส่วนหนึ่ง ความคิดที่ผุดขึ้นมา อยู่เฉย ๆ ก็ผุดขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราว เราเรียกว่า ‘อาการของใจ’ ถ้าเรามีความรู้ตัวอยู่ เราก็จะเห็นเขาก่อตัว ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปรวมอีก ถ้าใจขณะนั้นใจเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเรามีความรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน ก็จะเห็น ‘ใจ’ เคลื่อนเข้าไปรวมกับ ‘ความคิด’ ใจก็จะแยกออกจากความคิด เขาเรียกว่า ‘ดีด’ ดีดหรือว่า ‘แยกรูปแยกนาม’
แต่ก่อนใจเราคว่ำอยู่ เหมือนกับฝ่ามือกับหลังมือ ฝ่ามืออยู่ข้างล่าง หลังมืออยู่ข้างบน ขณะเรารู้เท่าทันตรงนั้นปุ๊บ ใจมันจะพลิกทันที มันจะหงาย หลังมือก็อยู่ข้างล่าง ฝ่ามือก็จะขึ้นข้างบน เขาเรียกว่า ‘สมมติกับวิมุตติ’ แยกรูปแยกนาม ใจก็หงายขึ้นมา ใจก็เลยจะเบา ใจก็เลยโล่ง กายก็เบา ทั้งที่กายเนื้อก็มีอยู่ ตั้งแต่ก่อนมันหนัก ก็จะเห็น ในหลักธรรม ท่านเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง เปิดทางให้ปรากฏขึ้นอยู่เฉพาะหน้า
สติที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ ตามดู เห็นความเกิดความดับของความคิด เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา มันเป็นเรื่องอะไร บางทีก็เป็นเรื่องอดีต บางทีก็เป็นเรื่องอนาคต บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็เป็นอกุศล บางทีก็เป็นกลาง ๆ ใจของเราก็ว่างรับอยู่ ความรู้ตัวของเราตามดูทุกเรื่อง
ไม่ใช่ว่ารู้ แยกแยะได้ครั้งเดียวแล้วบรรลุเลย มันไม่ใช่ แยกแยะได้แล้วตามดูตามทำความเข้าใจ แล้วก็รู้จักละกิเลสออกให้หมดจากใจของเรา กิเลสหยาบกิเลสละเอียด ดับการเกิดของใจของจิตวิญญาณของเรา แต่เวลานี้กำลังสติของเราเพียงแค่สร้างขึ้นมาให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง ก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงกัน จะไปได้อะไร ทั้งที่ใจเป็นบุญ อยากได้บุญอยากรู้ธรรม ความอยากนั่นแหละปิดกั้นเอาไว้หมด กิเลสมารต่าง ๆ เขาไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เหมือนกัน เพราะว่าเขาหลงมานาน เขาเกิดมานาน มันก็หาเหตุหาผลเข้าข้างตัวเองตลอด เข้าข้างตัวเอง แม้แต่ตัวใจก็ยังปิดกั้นเข้าข้างตัวเอง แม้แต่สติปัญญายังเข้าข้างตัวเอง
เราต้องศึกษาให้ละเอียด ตามแนวทางของพระพุทธองค์ การตามทำความเข้าใจ การดู การรู้ การเห็น นิวรณธรรมต่าง ๆ สติพลั้งเผลอได้ยังไง ใจเกิดได้ยังไง ถ้าใจไม่เกิดเป็นยังไง ถ้าใจไม่มีความอยาก ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นยังไง กายวิเวกเป็นยังไง ใจวิเวกเป็นยังไง การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ทุกคนมีกันเต็มเปี่ยมนั่นแหละ ถ้าไม่ฝึกฝนตัวเราแล้ว ไม่มีใครจะทำให้เราได้หรอก รู้แล้ว เห็นแล้ว ทำความเข้าใจได้แล้ว ทำความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืน จนไม่มีอะไรเหลือ จนเหลือตั้งแต่สมมติ บริหารสมมติคือกายเนื้อของเรา อยู่กับสมมติอยู่กับโลกอย่างมีความสุข
ถึงวาระเวลาเขาแตกดับ เขาก็ต้องแตกดับ ถ้าไม่ถึงเวลา อยากจะไปก็ไม่ได้ไป ขณะที่ยังมีเวลาอยู่ เราพยายามสร้างบุญ สร้างอานิสงส์ สร้างประโยชน์ให้มีให้เกิดขึ้น ฝากเอาไว้ในใจของเรา ฝากเอาไว้กับสมมติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ด้วยปัญญาล้วน ๆ ไปมาด้วยปัญญาล้วน ๆ ใจก็จะมีตั้งแต่ความสุขตลอดเวลา สร้างความรู้สึกรับรู้การลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกัน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ