แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 61
วันที่ 28 มิถุนายน 2557
ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราละไม่ได้ ถึงเราหยุดไม่ได้เด็ดขาด ก็ขอให้หยุดขณะกำลังนั่งฟังอยู่นี่แหละ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก
สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา เสียงก็สักแต่ว่าเสียง ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจออกยาว กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกรับรู้ของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา อันนั้นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเวลาลมหายใจเข้า หายใจออก เขาเรียกว่ามีสติรู้กาย ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวแล้วก็รู้ต่อเนื่อง
ส่วนมากจะรู้ไม่ค่อยจะต่อเนื่อง แล้วก็ไม่ค่อยจะสนใจเสียเลย เอาตั้งแต่ความคิดเก่า ปัญญาเก่าที่เกิดจากตัวใจ เกิดจากอาการของใจ เกิดจากอาการของขันธ์ห้า ความคิดเก่าตรงนี้มีกันทุกคน เพราะว่าใจหลงมาตั้งนาน เขาหลงเกิด หลงเกิดแล้วก็หลงเป็นทาสของความทะเยอทะยานอยาก หลงเป็นทาสของกิเลสเข้าไปรวม เข้าไปหลงเลย แล้วก็สร้างขันธ์ห้ามาปกปิดตัวเอง ส่วนกายก็มาปกปิด ส่วนนามด้วยกันคือความคิด ซึ่งเป็นนามธรรมด้วยกัน ก็มาปิดกั้นตัวเอง แล้วก็ตัวใจอีก ส่งออกไปภายนอกปิดกั้นตัวเอง
นอกจากปัญญาของผู้รู้ คือการสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ถ้าเราสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง เราก็จะเห็น ทีละส่วน ทีละส่วน เห็นการเกิดของใจ ส่วนมากก็เกิดแล้วถึงรู้ เราก็ค่อยรู้จักดับ รู้จักควบคุม จนกว่าใจของเราจะสงบ คลายออกจากความคิด ซึ่งมีกันทุกคน มีความคิดผุดขึ้นมา ใจของเราเคลื่อนเข้าไปร่วมเป็นตัวเดียวกัน นั่นแหละความหลงเลยแหละ ความหลง ถ้าเราแยกได้ คลายได้ ใจก็จะหงาย เขาเรียกว่า ‘พลิก’ เขาเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง
ความรู้ตัวของเราก็จะตามดู รู้ เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า ว่าเรื่องอะไรเป็นกุศลหรือว่าอกุศล หรือว่าเป็นกลาง ๆ ตัวใจก็จะว่างรับรู้อยู่ นอกจากบุคคลที่เจริญสติ แยกแยะได้ ถึงจะมองเห็นตรงนี้ ส่วนมากก็อาจจะถูกอยู่ระดับของสมมติ กิเลสมารต่าง ๆ เขาก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเอง ตัวใจก็หลงมานาน เขาเกิดมานาน กว่าจะอบรมบ่มนิสัยเขาได้ ขัดเกลาเขาได้ ก็ต้องฝืน ต้องทวนกระแสกิเลส จนกว่าจะตกกระแสธรรม แยกรูปแยกนามนี้เขาเรียกว่า ‘ตกกระแสธรรม’
แต่การละกิเลสที่ยังมีอยู่ที่ใจของเรา ต้องจัดการให้หมดจดอีก แม้แต่การเกิด เพียงแค่การเกิดนั้นใจเขาก็ยังหลง ถ้าไม่หลงไม่เกิด พูดง่าย แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียร ขยันหมั่นเพียรจริง ๆ ถึงจะเอาอยู่ มันไม่เหลือวิสัยหรอก ถ้าเราจะตั้งใจ ถ้าใจของเราคลายออก ปล่อยวางได้ ตกกระแสธรรมได้ อะไรก็จะง่ายขึ้น ช่วงที่ยังไม่ง่ายนี่แหละ เขาเรียกว่า ‘ฝืน’ ทั้งฝืนทั้งทวน ทั้งอบรมทั้งบ่ม ทั้งขัดทั้งเกลา ขนาบแล้วขนาบอีก จิตวิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างไร กำลังสติชี้เหตุชี้ผล ตามดูเหตุดูผลให้เขามองเห็นความเป็นจริงได้ จนรู้ด้วยเห็นด้วย ละได้ด้วย ท่านถึงบอกให้เชื่อ
หลวงพ่อก็จะเล่าของเก่าอยู่นี่แหละ เพราะว่าไม่มีอะไรมากมาย ต้องเข้าไปหาต้นเหตุ ถ้าแยกแยะได้เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ว่าท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องอัตตา อนัตตา คำว่า ‘อัตตา’ เป็นยังไง ‘อนัตตา’ เป็นยังไง อะไรคือ ‘สมมติ’ อะไรคือ ‘วิมุตติ’ การละกิเลสหยาบกิเลส ละเอียดเป็นยังไง วิญญาณในขันธ์ห้าของเราเป็นอย่างไร ไม่มีเรื่องอื่น
กายของเรานี้เป็นสนามรบอย่างดี พยายามเดินปัญญาให้กระจ่าง ก่อนที่จะหมดลมหายใจ อย่าไปทิ้งบุญในการทำบุญ ขยันหมั่นเพียร มีความจริงใจ มีความเสียสละ อย่าเอาตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้ามาครอบงำ อย่างอมืองอเท้า พยายามควักไขว่สนใจ ละความเกียจคร้าน เพิ่มความขยัน มีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ถ้าช่วยตัวเราไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็นละก็ ไปที่ไหนก็ไม่มีประโยชน์อะไร
เราต้องพยายาม บอกตัวเองให้ได้ หมั่นพร่ำสอนตัวเรา แก้ไขตัวเรา สักวันหนึ่งเราคงจะมองเห็นหนทางเดิน ถ้าเราแยกแยะได้ ใจคลายออกจากความคิดได้ หนทางถึงจะเปิด ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งถึงจะเปิด นั่นมีอยู่กันทุกคน ไม่ใช่ว่าไม่มี ก็ต้องพยายาม
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่อง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยงกันนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอานะ