แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีความสุขกันทุกคน พระเราชีเราก็พิจารณาปฏิสังขาโย ดูให้ดีๆ ขณะที่จะกะประมาณในการขบฉันของเรา ดูรู้ความอยาก ความหิว กายเราหิว ใจจะเกิดความอยากปรุงแต่ง อันโน้นก็อร่อย อันนี้ก็อร่อย เอาน้อยๆ ก็กลัวไม่อิ่ม มันบอกว่าเอาเยอะๆ ว่างั้น พอเอาเยอะก็ทานได้แค่นิดเดียวนอกนั้นก็เอาไปทิ้ง
เราต้องหัดวิเคราะห์ กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา เป็นเรื่องของเราทุกคน พิจารณาขณะที่ตากระทบรูปนี่แหละ ขณะที่เราจะเอานี่แหละ ใจเกิดความอยาก หรือว่ากายเกิดความหิว เราเอาด้วยสติ เอาด้วยปัญญา
ถ้าใจเกิดความอยาก เราก็พยายามดับความอยาก ถ้าเราดับความอยากไม่ได้ เราก็ให้ผ่านเลยไป อย่าเพิ่งเอาให้มัน ถ้าผ่านเลยไปแล้ว ใจของเรายังเสียดาย อาลัยอาวรณ์อยู่หรือเปล่า เราก็ต้องดู
มองซ้ายมองขวา มองบนมองล่าง มองกลางใจของเรา อาหารแต่ละชิ้น อาหารแต่ละส่วน ถ้าเราเอาไม่เอาก็ตกไปถึงคนข้างหลัง รู้จักแบ่งสรรปันส่วน ท่านถึงบอกว่าพิจารณาปฏิสังขาโย ไม่ใช่ว่าไปบ่นตั้งแต่ปาก พิจารณาก่อน
มองดูให้รอบ ไม่ใช่จะไปเอาเฉพาะเวลาเดิน เวลานั่ง ทุกเวลาทุกอิริยาบถ มีมากถึงขนาดไหนเราก็ไม่ให้ใจเกิดความอยาก เกิดความยินดี ให้รับรู้ เราจะเอาจะมีจะเป็นก็เป็นเรื่องปัญญา กะประมาณ กะประมาณในการขบในการฉัน ไม่ฉันด้วยความอยาก ไม่เอาด้วยความอยาก
อาหารแต่ละส่วน ส่วนนี้ถ้าเราไม่เอาก็จะตกไปถึงคนข้างหลังข้างล่าง เผื่อแผ่กัน เป็นความเสียสละ เราสละ สละในสิ่งที่เรารักเราชอบ ไม่มีใจยินดียินร้าย อานิสงส์ก็เกิดขึ้นมากมาย ทุกเรื่องนั่นแหละไม่ใช่เฉพาะเรื่องอาหาร แต่เรื่องอาหารนี้ก็สำคัญ เพราะเกี่ยวกับกายของเรา เพราะกายของเราก็ยังรับประทานข้าวปลาอาหารอยู่ เกี่ยวกับปัจจัยสี่อยู่
เราก็ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่มี ในสิ่งที่เป็น ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ธรรม ไม่รู้จักทำ เราละกิเลสได้หมด เราไม่อยากจะได้ความบริสุทธิ์ เราก็ได้ ทำความเข้าใจกับธรรมชาติที่มีอยู่ ธรรมชาติของใจที่ปราศจากกิเลส เขาก็บริสุทธิ์ ธรรมชาติของใจที่ไม่เกิดเขาก็นิ่ง
แต่เวลานี้ใจของเราทั้งเกิด ทั้งเป็นทาสกิเลส ทั้งยึดมั่นถือมั่น สารพัดอย่าง ท่านถึงให้เจริญสติเข้าไปอบรมใจของเราบ่อยๆ จนใจของเราละกิเลสได้หมดจดนั่นแหละ จนไม่มีอะไรที่จะเข้าไปละ จนเหลือแต่ความบริสุทธิ์ บริหารด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญา
เราพยายามหมั่นศึกษา หมั่นทำความเข้าใจ อย่าพากันผัดวันประกันพรุ่ง อยู่คนเดียว เราก็ศึกษาเรา อยู่หลายคน เราก็แก้ไขเรา ปฏิวัติตัวของเราเอง กิเลสก็ของเรา เราก็ละเอา
ส่วนการทำบุญให้ทาน เรามีโอกาสได้ทำบุญร่วมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โอกาสเปิด กาลเวลาเปิด เรามีศรัทธา เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในบุญ หมั่นสร้างบุญ บุญสมมติเราก็ทำ แต่บุญวิมุตติ บุญขัดเกลากิเลส เจริญสติ เจริญภาวนา เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
คำว่า 'สัมมาทิฐิ' เห็นถูกเป็นอย่างไร หนทางในการเดิน 'อริยมรรค' คือทาง ทางเดิน อริยมรรคมีองค์ 8 หรือว่าหนทางเดิน 'ความเห็นถูก' เห็นถูกในส่วนรูป ส่วนนาม ความเกิดความดับ ความแยกความคลาย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ความปกติของคำว่า 'ศีล' ปกติระดับสมมติ ระดับวิมุตติ ศีลสมมติ ศีลวิมุตติ พยายามเข้าให้ถึงความหมายนั้นๆ เราก็จะมองเห็นหนทาง
คำว่า 'ปกติ' ปกติระดับไหน กายของเราก็ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น วาจาของเราก็ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด พูดเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราไม่ได้ไปฉกชิงวิ่งราวของคนโน้นคนนี้ ไม่ได้ไปละลาบละล้วงของคนนู้นคนนี้ เราไม่ได้พูดจาเพ้อเจ้อ พูดจาส่อเสียด พูดปดมดเท็จ เราไม่ได้ไปดื่มสุรามึนเมา
ความปกติระดับกาย ระดับวาจา ระดับใจ เราพยายามดูรู้ให้เข้าถึงตัวใจของเรา กายก็เป็นศีล วาจาก็เป็นศีล ความปกติของสมมติ ศีล5 ศีล8 ศีล10 ศีลพระปาฏิโมกข์ กาย วาจาก็จะเป็นศีล ศีล สมาธิ ปัญญาเขาก็จะรักษาเรา เราทำความเข้าใจให้ถูกต้องในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ต้นเหตุ ถ้าเราจัดการตัวเล็กๆ น้อยๆได้ ตัวใหญ่มันก็เกิดไม่ได้ ความละอายเกรงกลัวต่อบาป ความเสียสละ ละกิเลส ส่วนมากก็จะเอาตั้งแต่ผล
การเจริญสติที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างไร ทวารทั้ง 6 ทำหน้าที่อย่างไร ลักษณะกิเลสหยาบเป็นอย่างไร เราอาจจะเคยได้ยินตั้งแต่ชื่อ แต่เราไม่เข้าไปถึงต้นเหตุ เราต้องพยายามเข้าถึงต้นเหตุของการเกิด มันมีกันทุกคนนั่นแหละ จะมีมากมีน้อย ก็มีกันทุกคน เพราะว่าใจมันหลงมาตั้งแต่เกิด หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด
ท่านถึงมาให้เจริญสติเพื่อคลายความหลง คลายหรือว่าแยกรูปแยกนามนั่นแหละ ทำความเข้าใจกับอริยสัจสี่ คำว่าทุกข์ การดับทุกข์ หนทางดับทุกข์ ทุกข์ระดับไหน ระดับสมมติ ระดับวิมุตติ
ความเกิด ความไม่เที่ยง พระพุทธองค์มองเห็นตั้งแต่ความไม่เที่ยง ความว่างเปล่า แต่พวกเรามองเห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะว่าอัตตาปิดบังเอาไว้อยู่ ถ้าเจริญสติเข้าไปคลายอัตตา แยกรูปแยกนาม อนัตตาก็ปรากฏ ความว่างเปล่าก็ปรากฏ มองเห็นเป็นกองเป็นขันธ์
กองรูป กองนาม กองวิญญาณ ที่พากันสวดท่องทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าทุกเย็นนั่นแหละ กองวิญญาณไม่เที่ยง กองสังขารไม่เที่ยง แต่พวกเรามองเห็นเป็นของเที่ยง เที่ยงที่มองด้วยตาเนื้อ ความเสื่อมมีมา มีมาตั้งแต่เกิด ทางด้านรูปก็เสื่อมตั้งแต่เกิด ตั้งแต่เด็ก โตเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่ก็กลายเป็นคนแก่ชราคร่ำคร่า นั่นแหละเสื่อม ความเสื่อม เสื่อมขึ้นเสื่อมลง ที่ท่านว่าเกิดแก่เจ็บตายมีกันทุกคน
เมื่อกี้ก็มารับเอาโลงแล้วตั้งแต่เช้า ความตายมีทุกวัน มาเยือน พวกเราก็จะได้... เกิดมาเท่าไหร่ก็ตายหมด ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว ขณะที่ยังมีกำลัง มีลมหายใจ รีบตักตัวสร้างประโยชน์ สร้างบุญ สร้างกุศลให้มีให้เกิดขึ้นในกายในใจของเรา อย่าไปเสียได้อาลัยอาวรณ์ หมดลมหายใจก็มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องบาป
พยายามรีบเอา ทำเอา ทำมากทำน้อยก็เป็นอานิสงส์ของเรา เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย เรามีความพร้อมมีศรัทธาเราก็พยายามดำเนิน อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปพลาดโอกาส อายุขัยในมนุษย์มีไม่มากหรอก ถ้ามากมายที่สุดก็ร้อย ร้อยกว่านิดๆ เท่านั้นแหละ ความเสื่อมมันมีอยู่ตลอดเวลา ให้เราทำขนาดที่ยังมีกำลังอยู่นี่แหละ
อะไรที่จะเป็นประโยชน์เราก็ทำ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์สมมติ เราก็พลอยได้รับประโยชน์ในอานิสงส์ในสิ่งที่เราทำ คนอื่นมาก็พลอยได้รับอานิสงส์ในสิ่งที่เราทำ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความเกียจคร้าน มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ มีพรหมวิหารให้เต็มเปี่ยม ก็จะได้ไม่เสียทีเสียเที่ยวที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะว่าร่างกายของแต่ละคนเรามีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อนี่ก็โรคภัยไข้เจ็บก็เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ทุกข์
บางวันก็เป็นมาก บางวันก็เป็นน้อย แต่ก็ไม่ได้ทุกข์กับสิ่งพวกนี้ อยู่ก็มีความสุข ไปก็มีความสุข ขณะที่ยังมีลมหายใจก็จะยังประโยชน์ทุกอย่าง ให้เกิดประโยชน์ ให้เต็มเปี่ยม จากความไม่มีเราก็ทำให้มี จากความไม่สะดวกสบาย เราก็ทำให้ทุกคนได้อยู่ดีมีความสุข ได้ประพฤติวัตร ปฏิบัติขัดเกลาเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน
ใครมีทิฐิน้อย ใครมีกำลังความเพียรมากก็จะเข้าถึงได้เร็วได้ไว ใครมีทิฐิมาก ใครมีกิเลสมากก็ต้องต่อสู้ ขัดเกลากิเลส เป็นเรื่องของเราทุกคน เพราะว่ากิเลสนี้มีมาทีหลัง ถ้าเราละกิเลสได้หมดเราก็ถึงความสะอาดความบริสุทธิ์ เราดับความเกิดของใจได้ ไม่ปรุงแต่งได้ ใจของเราก็นิ่ง สงบ
ให้นิ่ง สงบ ให้บริสุทธิ์ด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญา ละด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญา มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิด หรือไม่กลับมาเกิดกัน ให้อบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งนอนหลับทำความเข้าใจให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น
ท่านถึงบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน 'ตน' ตัวแรกก็สตินี้แหละที่เราสร้างขึ้นมา 'ตน' ตัวที่ 2 คือใจ แต่เวลานี้ใจของเรายังหลงอยู่ ยังเกิดอยู่ ยังเข้าไปรวมไปยึดอยู่ ตราบใดที่เรายังแยกไม่ได้ แยกรูปแยกนามไม่ได้ เราก็จะว่าเราไม่หลง ถ้าเราแยกรูปแยกนามได้เมื่อไหร่ เห็นได้เมื่อไหร่ ตามดูได้เมื่อไหร่เราถึงจะรู้ว่าเราหลง หลงในทุกอย่าง ถ้าใจเกิดนี้หลงหมด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด
ท่านถึงว่าให้เจริญสติเพื่อที่จะเข้าไปคลายความหลง แล้วก็ทำความเข้าใจ ว่าแยกรูปแยกนามได้ ตามดูได้ เราก็จะเข้าใจในเรื่องหลักของอริยสัจ เข้าใจในเรื่องหลักของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา เข้าใจในเรื่องการเกิดการดับ รู้จักละนิวรณธรรม ละมลทิน ละกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ขึ้นสู่การทำความรู้แจ้งให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา จนกระทั่งถึงความสะอาดความบริสุทธิ์ มองเห็นหนทางเดิน
เราจะระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าทันที ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ถ้าไม่มีจริง ท่านไม่ได้ค้นคว้า ท่านไม่ได้ตรัสรู้เรื่องพวกนี้มาปรากฏให้พวกเราเห็น ในเมื่อปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ก็จะระลึกนึกถึงคุณของท่าน ก็จะหาวิธีตอบแทน ตอบแทนคุณของท่าน
ด้วยการที่หลวงพ่อพาทำพาสร้างนี่แหละ สร้างองค์แทนพระพุทธองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนคำสอนของท่านก็มีอยู่ เราก็ประพฤติปฏิบัติตาม ให้ถึงจุดหมายปลายทาง แล้วก็ได้สร้างมหาเจดีย์ก็เพื่อที่จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากส่วนที่ท่านเสด็จมา มาประดิษฐานเอาไว้ให้ทุกคนได้กราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล เหล่ามนุษย์เหล่าเทวดาก็จะได้มากราบไหว้ ได้มาอนุโมทนาสาธุบุญร่วมกัน ให้เป็นอานิสงส์ เป็นสิริมงคล เป็นเข้าพกเข้าห่อ
ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ ก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญเอาไว้ อีกสักหน่อยพวกเราก็ต้องได้พลัดพรากจากกันหมด ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็น ก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เพราะเป็นกฎของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริง
เราต้องเอาความเป็นจริงเข้ามาเปิดเผย ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต ไม่ใช่ว่าจะวิ่งหนี เราต้องทำความเข้าใจ เตรียมพร้อม เตรียมพร้อมที่จะอยู่ เตรียมพร้อมที่จะไป กายเนื้อแตกดับ วิญญาณยังมีอยู่ ใจต้องไปต่อ ตราบใดที่เขายังเกิด แต่เราต้องค้นคว้าหาวิญญาณ หาใจของเราให้เจอ หรือว่าหาธรรมนั่นแหละ
ปฏิบัติธรรม 'ตัวใจ' นั่นแหละเขาเรียกว่า 'ตัวธรรม' เราต้องหาใจของเราให้เจอ ใจของเราทั้งเกิดทั้งหลงทั้งยึด ถึงยึดก็ให้ยึดอยู่ในบุญในกุศลเอาไว้ ไม่สูญหาย ไม่เสียหายอะไร สูงขึ้นไปก็สร้างบุญ ไม่ยึดติดในบุญ ละอกุศล เจริญกุศล ให้มีให้เกิดขึ้น การพูดนี่ง่ายอยู่ แต่การลงมือปฏิบัตินี่ต้องค่อยเป็นค่อยไป
แต่ละวัน ความเสียสละของเราเต็มเปี่ยมหรือไม่ การละความเห็นแก่ตัว ละกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด การทำความเข้าใจในชีวิตประจำวันของเรา อะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ อะไรคือโลกธรรม เราต้องศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแบบงมงาย ให้เชื่อด้วยแรงศรัทธา แล้วก็เจริญสติปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง ว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร ไม่ใช่ว่าใครว่าตามกันก็ตามกันไปอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนมีเหตุมีผล เกิดจากเหตุ เหตุทางด้านวัตถุ เหตุทางด้านนามธรรม
แต่ส่วนมากเราก็จะเข้าใจเฉพาะเรื่องเหตุทางด้านสมมติ เหตุของวิมุตติ ความเกิดความดับ การแยกการคลาย การชี้เหตุชี้ผล ลักษณะหน้าตาอาการของความคิด ของอารมณ์ ลักษณะของใจ การเกิดของใจ ตรงนั้นเราเข้าไม่ถึง ทั้งที่เรารู้ๆ อยู่นั่นแหละ แต่เราเข้าไม่ถึง ก็เลยไม่รู้จักจุดปล่อยจุดวาง ก็ให้อยู่ในคุณงามความดีเอาไว้ จะไม่ได้สูญหายอะไร พากันตั้งใจรับพรกัน
ขอให้ทุกคนจงไหว้พระพร้อมๆ กัน