แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 49
วันที่ 2 มิถุนายน 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัว เราได้ทำความเข้าใจแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ ทั้งที่เราก็มีศรัทธาเต็มเปี่ยม เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย แต่การทำความเข้าใจ ในกาย ในใจของเราตรงนี้ไม่ต่อเนื่อง ไม่เชื่อมโยง ลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน เรายังทำไม่เข้มแข็ง ไม่ต่อเนื่องกันเลย ทั้งที่ใจเป็นบุญ
ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น ใจของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราอันนี้เรียกว่า ‘สติรู้กาย’
หลวงพ่อเพียงแค่เล่าให้ฟัง วิธีการ แนวทาง พวกท่านจงพยายามสร้างขึ้นมา แล้วก็หัดสังเกต หัดวิเคราะห์ หัดอบรมใจของเรา ส่วนมากใจกับอาการของใจ หรือว่าใจกับอาการของขันธ์ห้า เขาเกิด ๆ ดับ ๆ อยู่แล้ว เขาหลงตรงนั้นอยู่ ถ้าไม่หลงเขาก็ไม่เกิด ไม่เกิดสร้างภพของมนุษย์ขึ้นมา
ในกายเนื้อของเรานี้มีขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ มีวิญญาณ หรือว่ามีใจนี้แหละ เข้ามายึดเข้ามาครอง แต่ก่อนมีใจดวงเดียว หลง เขาหลงมานาน เกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เวลานี้เขาอยู่ในภพของมนุษย์ เราต้องมาสร้างความรู้ตัว บางคนบางท่าน เขาเรียกว่ามาสร้าง ‘ผู้รู้’ เข้าไปสำรวจใจของเรา ผู้รู้ของเราไม่ต่อเนื่อง เราก็พยายามสร้างขึ้นมา แล้วก็รู้จักเอาไปใช้ เอาไปสังเกต เอาไปวิเคราะห์ ให้รู้ต้นสายปลายเหตุ เขาเกิดอย่างไรไปอย่างไร มาอย่างไร
แนวทางนั้นมีมาตั้งนานแล้วแหละ พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบเอามาเปิดเผย ว่าการเจริญสติเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ เราจะเอาวิธีไหนเข้าไปละ เข้าไปแก้ไข เราจะทำอย่างไร เราถึงจะเข้าถึงตรงจุดนั้น ด้วยการเจริญสติเข้าไปสังเกตวิเคราะห์ รู้ไม่เท่าทันเราก็รู้จักควบคุม รู้จักสร้างเสบียงคลัง หรือว่าสร้างอานิสงส์ให้มีให้เกิดขึ้นที่กายที่ใจของเรา
เรามีความตระหนี่เหนียวแน่น เราก็พยายามละความตระหนี่เหนียวแน่น เรามีความโกรธ เราก็พยายามละความโกรธ ทำในสิ่งตรงกันข้ามด้วยการให้อภัย อโหสิกรรม ด้วยการละความโลภ ละความโกรธ ละความอยาก ความอยากนี่ ทั้งอยากไป อยากมา ไม่อยากไป ไม่อยากมา
ความเป็นกลางเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าแยกรูปแยกนามเป็นลักษณะอย่างไร มีกันหมดทุกคน เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะรู้ จะเห็น จะตามทำความเข้าใจให้ได้หมดทุกเรื่องหรือไม่เท่านั้นเอง อย่าไปปิดกั้นตัวเราเอง ทุกคนมีโอกาส ทุกคนมีเวลา
ทำไมใจถึงเกิดความอยาก ความอยากเล็ก ๆ น้อย ๆ ความอยากคิด อยากมี อยากเป็น อยากไป แล้วก็ความทะเยอทะยานอยาก ถ้าใจไม่อยาก ถ้าใจไม่เกิด สติปัญญาของเราทำหน้าที่แทนได้หรือไม่ เราต้องหัดสังเกตนะ หัดวิเคราะห์นะ ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน จะไปแสวงหาธรรม หาที่โน่น หาที่นี่ อันนั้นเป็นการไปหาประสบการณ์เท่านั้นเอง เราต้องเน้นลงที่ฐานของใจของเรา
ตื่นขึ้นมาใจปกติ จะลุก จะก้าว จะเดิน จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ ทำกับข้าวกับปลา ทำนู่นทำนี่ ใจของเราเกิดความยินดี ยินร้ายหรือไม่ ใจของเราปรุงแต่ง การปรุงแต่งของใจเป็นลักษณะอย่างไร ใจที่ส่งออกไปภายนอกเขาเรียกว่าอะไร เรียกว่า ‘สมุทัย’ ส่งออกไปภายนอกยังไม่พอ ยังไปรวมกับอาการของขันธ์ห้าอีก เขารวมกันได้ยังไงอีก
นี่แหละ ตา ทวารทั้งหก ทำหน้าที่อย่างไร ซึ่งเป็นประตูเป็นทางผ่าน ของรูป รส กลิ่น เสียง เข้าไปถึงตัวใจของเรา เรามีสติคอยดูรู้เหตุ รู้ผลหรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาโดยลอย ๆ มีเหตุมีผล ท่านชี้เหตุชี้ผลให้เราดู แล้วก็ชี้วิธีแก้
อย่าไปโทษคนโน้น อย่าไปโทษคนนี้ จงโทษตัวเราเอง แก้ไขตัวเราเอง ปรับปรุงตัวเราเอง จนรู้เห็นความเป็นจริง ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ใช่ยังไปคอยตำหนิคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ อันนี้ใจของเรามันมีกิเลสอย่างนั้น มันถึงไปมองเห็นคนนู้นเป็นอย่างนั้น คนนู้นเป็นอย่างนี้ เราจงมองเห็นตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา จนหมดความสงสัย มีตั้งแต่จะจัดการกับกิเลสที่มันเกิดขึ้นในใจของเรา กิเลสระดับไหน กิเลสหยาบกิเลสละเอียด เป็นหน้าตาอาการอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจให้หมดจด
เพียงแค่เราแยกรูปแยกนามทำความเข้าใจ รอบรู้ในกองสังขารของเรา รอบรู้ในโลกธรรม รอบรู้ในชีวิตของเรา เราจะอยู่อย่างไรถึงจะมีความสุข กายของเราอยู่ร่วมกับสมมติ เราจะใช้สติปัญญาอบรมกาย อบรมใจของเราอย่างไร ทุกเรื่องเลย ไม่ใช่ว่าเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว ทุกเรื่อง จนเป็นอัตโนมัติ จนใจของเรารับรู้ จะดีจะชั่ว เราก็รีบแก้ไข ในหลักธรรมนั้นไม่เอาทั้งสองอย่างนั่นแหละ ทั้งดี ทั้งชั่ว ละชั่ว สร้างดี แต่ไม่ยึดติด ให้อยู่เหนือบุญเหนือบาป มีตั้งแต่กำลังของสติปัญญา อยู่ด้วยสติปัญญา เขาเรียกว่ากิริยาของสติปัญญา
ใจของเราเกิดเมื่อไร เราก็หยุด เราก็ดับ เราก็ละ อบรมใจทีนั่นทีนี้ ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บ มันจะได้ปั๊ป เราต้องค่อยเป็นค่อยไป ทำได้เท่าไหร่เราก็เอา บอกตัวเองให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าบอกตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น แล้วไปอยู่ที่ไหนก็จะให้ตั้งแต่คนช่วยเหลือชี้แนะแนวทางให้ มันไปไม่ถึงไหนหรอก แม้ตัวเรายังสอนตัวเราไม่ได้ คนอื่นเขาจะสอนตัวเราได้อย่างไร
การทำบุญให้ทาน ความเสียสละทางสมมติเรามีโอกาสได้ทำร่วมกันได้ตลอดเวลา แต่การละกิเลส เราต้องละเอา กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างความอยาก ความทะเยอทะยานอยาก อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง อยากกับไม่อยากอีก
อาการของใจ ใจก่อตัวอย่างไร ใจที่ว่างจากการเกิดเป็นอย่างไร ใจที่ว่างจากขันธ์ห้าเป็นอย่างไร ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร มีกันหมดทุกคน ยิ่งเจริญสติให้ต่อเนื่องให้มากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นเยอะ เห็นเยอะเท่าไหร่ เราก็ยิ่งทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจทุกเรื่อง กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ อาการของขันธ์ห้าเรื่องอะไรที่มันเกิดขึ้นมา ทำไมใจของเราไปหลงไปรวมได้ เราทำความเข้าใจจนใจมองเห็นความเป็นจริง เห็นเหตุ เห็นผล เมื่อเขาเห็นเหตุเห็นผล รู้เหตุรู้ผลแล้ว เขาก็จะปล่อยจะวาง ถ้าไม่รู้เหตุรู้ผลเขาก็วางไม่ได้ ถ้ากำลังสติปัญญาชี้เหตุชี้ผลไม่เพียงพอ
แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีอยู่บ้างแต่ไม่ต่อเนื่อง เอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ เราไปมั่นหมายเอาตัวใจ อาการของใจความคิด เก่า ๆ ว่าเป็นปัญญา อันนั้นก็เป็นปัญญาของโลกียะของสมมติ อาจจะถูกต้องอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วยัง เราต้องดู รู้ตั้งแต่ต้นเหตุการเกิดการดับ ลักษณะของใจ ใจที่ปราศจากกิเลส ใจที่ไม่เกิด เพียงแค่ลักษณะของสติ ‘สติ’ ความรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเป็นอย่างไร ความรู้ตัวพลั้งเผลอเป็นอย่างไร ตรงนี้เราขาดความเพียรในการเจริญ ในการสร้างขึ้นมา มันก็เลยหลงเป็นวงกลม หมุนไปอยู่อย่างนั้น ก็ได้เพียงแค่ทำบุญ ให้ทาน ศรัทธา อยู่ในระดับของขั้นต้น ๆ เท่านั้นเอง
เราต้องพยายามเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง รู้แล้วเห็นแล้ว ทำความเข้าใจได้แล้ว เราจะละได้อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความเพียร กับกาล กับเวลาของเรา อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง เราล้ม ลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ ส่วนตัวเองแก้ไขตัวเราเองจนกว่าจะหมดลมหายใจนั่นแหละ หมดลมหายใจ วิญญาณยังไปต่อ ตราบใดที่เราละความเกิดไม่ได้ คลายความหลงไม่ได้ ก็ขอให้อยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ ก็ต้องพยายามกันนะ
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักพักนึง ทำใจให้โล่ง ทำสมองให้โปร่ง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อกันเอานะ