แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 45
วันที่ 28 พฤษภาคม 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ไอ้เรื่องที่จะไปวิเคราะห์ ไปทำความเข้าใจนั้น อย่าพึ่งไปคำนึงถึงเถอะ เพียงแค่การสร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ขาดความเพียรกันมาก ไอ้เรื่องที่จะเดินปัญญานั้นเอาไว้ทีหลัง ถ้าเราสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ หายใจเข้าออกเป็นอย่างไร หายใจหยาบเป็นอย่างไร หายใจละเอียดเป็นอย่างไร ตรงนี้ก็ยังไม่ค่อยจะสนใจกัน
ถึงไม่สนใจเขาก็หายใจอยู่แล้ว แต่หายใจโดยที่ไม่มีสติความรู้ตัวเข้าไปรู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องมาเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ เข้าไปชี้เหตุ เห็นเหตุเห็นผล เห็นการเกิด เห็นการดับ เห็นความไม่เที่ยง เข้าถึงคำสอนของพระพุทธองค์
คนเราเกิดมาเสื่อมตั้งแต่วันเกิด ร่างกายนี้เสื่อมตั้งแต่วันเกิด พอเกิดมาปุ๊บก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็ก เด็กน้อย เด็กโตขึ้นมาเรื่อย ๆ นั่นแหละที่พระพุทธองค์ท่านบอกว่าความเสื่อม ความไม่เที่ยง ทางด้านรูปธรรมก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
แต่ถ้าขาดการพิจารณาวิเคราะห์จริง ๆ ก็ยากที่จะเห็นตรงนี้ เพราะว่ามีตั้งแต่ปัญญาของโลกีย์ ปัญญาสมมติ เจริญวัย ตั้งแต่เด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นเด็กโต เด็กเล็ก เด็กโต เด็กขึ้นมาเรื่อย ๆ เรียกว่าเจริญ ไม่ใช่! เป็นความเสื่อม เสื่อมเข้าไปหาความแก่ ความชรา ความคร่ำคร่า ถึงเวลาแล้วก็ต้องแตกดับ อันนี้เป็นส่วนรูป ไอ้ส่วนนาม ตัววิญญาณ ตัวอาการของวิญญาณ ที่ลึกลงไปอีกซึ่งเป็นนามธรรม อันนั้นก็เกิด ๆ ดับ ๆ นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า ‘ความไม่เที่ยง’
ความไม่เที่ยงคือความไม่นิ่ง มันเกิด ๆ ดับ ๆ ทั้งเกิดทั้งดับ ทั้งเกิดเป็นทาสของกิเลสอีก ทั้งผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจของเราอีก ส่วนอาการของขันธ์ห้า มีกันหมดทุกคน แต่เราขาดการเจริญสติที่ต่อเนื่อง ที่เชื่อมโยงก็เลยรู้ไม่เห็น มีตั้งแต่ส่งเสริมไปด้วยกัน
ในหลักธรรมท่านให้สังเกต วิเคราะห์ แยก คลาย ทำความเข้าใจให้รู้แจ้งเห็นจริง ว่าอะไรเป็นอะไรในกายของตัวเรา ขันธ์ทั้งห้า ทั้งกองทั้งขันธ์ ทำไมท่านถึงเรียกว่าห้า ห้ากอง ห้าขันธ์มันเป็นกองยังไง เราก็มองเห็นตั้งแต่กายเนื้อ มีหนังห่อหุ้ม กับรู้ว่า คิดก็รู้ ทำก็รู้ อยู่เพียงแค่นี้ บางครั้งบางคราวก็เป็นบุญบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง บางทีก็เป็นมลทินบ้าง
ถ้าเจริญสติเข้าไปรู้ต้นสายปลายเหตุจริง ๆ ก็จะตามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล ให้ตัวใจมองเห็นความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริงได้นั่นแหละ เขาถึงจะปล่อยจะวางได้ แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ก็ต้องพยายามเอา ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี หมั่นพร่ำสอนตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา อย่าไปโทษคนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี ใจของเรามันไม่ดี ถึงจะไปเที่ยวไปโทษเอาคนโน้น โทษเอาคนนี้
เราพยายามเพิ่มความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน อยู่คนเดียวเราก็ต้องขยัน อยู่หลายคนเราก็ต้องขยัน ขยันในการวิเคราะห์ ขยันในการทำความเข้าใจ ขยันยังสมมติให้เกิดประโยชน์ เราก็ได้อาศัยสมมตินั้นด้วย เพียงแค่ความขยันหมั่นเพียร เอารอดในทางสมมติ ให้เต็มเปี่ยมในทางสมมติ เราก็ต้องพยายามทำให้เต็มเปี่ยม ไม่ใช่ไปงอมืองอเท้า เกียจคร้านทำอะไรก็ไม่เป็น อย่างนั้นใช้การไม่ได้ ไปอยู่ที่ไหนก็ตกอับ อยู่คนเดียวก็ตกอับ อยู่หลายคนก็ตกอับ
เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหมดลมหายใจนั่นแหละ ช่วงที่ยังไม่ถึงวาระเวลานั้น เราก็ให้ใจของเรามีความสุข ขณะที่ตื่นตัวอยู่ปัจจุบันนี้แหละ ก็ต้องพยายามกันนะ พยายามสร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบ
ถ้าเราเกียจคร้าน ก็พยายามละความเกียจคร้านออกจากจิตจากใจของเรา ถ้าความเกียจคร้านเข้าครอบงำครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สามก็ตามมาเรื่อย ๆ เอาไปเอามาก็เป็นดินพอกหางหมู ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่ ถ้าเรามีความขยันหมั่นเพียร จนล้นเหลือออกไปสู่หมู่ สู่คณะ สู่สังคม อยู่ที่ไหนเราก็มีความสุข อยู่ก็มีความสุข ไปก็มีความสุข พยายามกัน
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ค่อยไปสร้างศึกษา ทำความเข้าใจต่อกันเอานะ