แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาพวกเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง หรือว่าได้เจริญสติแล้วหรือ ยังถ้ายังก็เริ่มเสีย อย่าพากันผัดวันประกันพรุ่ง อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง เสียดายเวลา
ทุกคนก็มีสติปัญญากันอยู่ในระดับของสมมติ อันนั้นเป็นสติปัญญาที่ยังเข้าไปดับทุกข์ที่ใจของเราไม่ได้ เข้าไปทำความเข้าใจ เข้าไปอบรมใจของเราไม่ได้ เป็นสติปัญญาของสมมติของโลก ของโลกีย์ที่ประคับประคองอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังหลงอยู่ ท่านถึงให้เจริญสติมาสร้างความรู้ตัว แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง แล้วก็รู้เท่ารู้ทัน รู้จักลักษณะของใจหรือว่าวิญญาณในกายของเรา รู้จักการเกิด เห็น เห็นลักษณะการเกิดการดับของความคิด ของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากใจบ้าง เกิดจากอาการของใจบ้าง หรือว่าอาการของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ตรงนั้นมีอยู่
กำลังสติความรู้ตัว หายใจเข้ามีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ เขาเรียกว่า 'สัมปชัญญะ' ถ้าความรู้ตัวตรงนี้ไม่ต่อเนื่อง ก็ยากที่จะรู้เท่ารู้ทันการเกิดของใจ รู้จักอบรมใจไม่ได้ เราก็ต้องพยายามมาสร้าง มาทำให้มีให้เกิดขึ้น มีศรัทธา เราก็น้อมกายของเราเข้ามา เข้ามาฝึก มาทำความเข้าใจ ขยันหมั่นเพียร อย่าพากันเกียจคร้าน ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการสังเกต ในการวิเคราะห์ ในการอบรมใจของเราตลอดเวลา
แต่ละวันตื่นขึ้นมา เรามีสติรู้กายรู้ใจของเราหรือไม่ ใจของเราเป็นอย่างไรบ้าง ใจของเรามีความปกติ ใจของเรามีความกังวล มีความฟุ้งซ่าน หรือว่าใจของเรามีความอาฆาตพยาบาท มีความอิจฉาริษยา เราก็พยายามขัดเกลา แก้ไข หาวิธีหาอุบาย ทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าปล่อยปละละเลย การปล่อยปละละเลยนั่นแหละทำให้เราพลาดโอกาสอันยิ่งใหญ่
งานสมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี สมมติต่างๆ ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว อะไรเราขาดตกบกพร่องเราก็ทำขึ้นมาให้สมบูรณ์แบบ เราก็จะได้อยู่ดีมีความสุข สมมติก็จะไม่ได้ลำบาก หัด ฝึก หัดให้เป็นคนขยันหมั่นเพียร บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ว่าพระพุทธเจ้าหรือว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร ท่านสอนเรื่องความทุกข์ เรื่องการดับทุกข์ สอนเรื่องอัตตา อนัตตา คำว่า ‘อัตตา อนัตตา’ เป็นอย่างไร หลักของอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐภายในกายของเราเป็นอย่างไร ใจส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะยังไง การดับการควบคุมเราจะใช้วิธีไหน อุบายอย่างไร ที่ท่านบอกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก เห็นถูกเป็นลักษณะอย่างไร
เราต้องมาเจริญสติเข้าไปสังเกตใจของเรา เพียงแค่การเจริญ การสร้างสติของเรา ก็ยังทำกันไม่ต่อเนื่อง ก็เลยรู้ไม่เท่า รู้ไม่ทันการเกิดการดับของใจ รู้ไม่ทันการแยกการคลายของใจกับขันธ์ห้า ถ้ากำลังสติของเรามีมากจนสังเกตเห็น ใจคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าแยกรูปแยกนาม นั่นแหละท่านถึงเรียกว่า 'สัมมาทิฏฐิ' ความเห็นถูก เห็นการเกิดการดับ เห็นการแยกการคลาย รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายของเรา รู้ด้วย เห็นด้วย ทำความเข้าใจกับความหมายนั้นๆ ด้วย แล้วก็อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน
กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เป็นลักษณะอย่างไร นิวรณธรรม มลทินต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ใจของเรา เราก็พยายามหมั่นวิเคราะห์ ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ ใจของเรามีความกตัญญูกตเวทีหรือเปล่า เรามีสัจจะกับตัวเองหรือไม่ หรือว่ามีตั้งแต่ความแข็งกระด้าง หรือว่ามีตั้งแต่ความอิจฉาริษยา เรารู้จักควบคุมกาย ควบคุมวาจา แล้วก็ควบคุมใจ ไอ้ 'ตัวควบคุม' นี่แหละ ตัวสติ' นี่แหละ ที่จะเข้าไปควบคุม เข้าไปชี้เหตุชี้ผล ให้เห็นเหตุเห็นผล
ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนเกิดแต่เหตุ ท่านชี้ลงที่เหตุ เหตุทางด้านรูปธรรม เหตุทางด้านนามธรรม เหตุสมมติ เหตุวิมุตติ ความจริงของสมมติ ความจริงของวิมุตติ มีอยู่ในกายของเราหมด เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ เข้าไปชี้เหตุชี้ผล ได้เห็นตั้งแต่ต้นเหตุหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าความเพียรของเรามีไม่เพียงพอ มันก็ยากที่จะเข้าใจ เราก็พยายาม เราไม่เข้าใจวันนี้ วันพรุ่งนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ก็อย่าไปทิ้ง
ทุกคนก็ฝึกหัดปฏิบัติกันมาดีแล้ว มาศึกษา มาทำความเข้าใจ ทุกคนก็ปฏิบัติกันมาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่ว่ามาวัดแล้วมานั่งมาเดินถึงเป็นการปฏิบัติ ทุกคนก็ปฏิบัติผ่านกาลผ่านเวลา ผ่านร้อนผ่านหนาว มีความรู้สึกรับผิดชอบ ผิดถูกชั่วดีอยู่ในระดับของสมมติ แต่ระดับวิมุตติคือการเจริญสตินี้ เราต้องมีความเพียรอย่างยิ่งยวด ชี้เหตุชี้ผล ท่านถึงว่าให้มีความเพียรเป็นเลิศ เรามีความขยันเพียงพอหรือไม่ หรือว่ามีตั้งแต่ความเกียจคร้าน ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มี มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ความเกียจคร้านเข้าครอบงำแล้ว อยู่ที่ไหนก็ไม่เจริญ อยู่คนเดียวก็ไม่เจริญ อยู่หลายคนก็ไม่เจริญ หนักตัวเอง แล้วก็หนักคนอื่น หนักสถานที่ เราก็ต้องพยายามหมั่นแก้ไขเรา ถ้าเราแก้ไขเราไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครเขาช่วยเหลือได้
พระพุทธองค์ท่านก็ค้นพบ แล้วก็มาจำแนกแจกแจง ชี้เหตุชี้ผล ให้พวกเราได้ฝึกหัดปฏิบัติตาม ชี้แนะแนวทางให้ อริยมรรคในองค์ ๘ หนทางเดินเป็นอย่างนี้นะ สัมมาทิฏฐิข้อแรก การแยกรูปแยกนามเป็นอย่างนี้ การพูดจาชอบ ดำริชอบ สมาธิชอบ การงานชอบก็จะตามมา
ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเห็นถูกตั้งแต่แรก ก็จะถูกหมด กำลังสติของเราถ้ายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ กำลังสติก็จะพลั้งเผลอ ถ้ากำลังสติของเราเดิน กำลังสติของเราแยกรูปแยกนามได้ ตามทำความเข้าใจ กำลังสติของเราก็จะพุ่งแรงเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาก็จะกลายเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร จนไม่มีอะไรที่จะไปค้นคว้า จนไม่มีอะไรเหลือที่จะให้เราไปละ ไปดับ จนมีแต่ดูกับรู้ เห็นตามความเป็นจริง
เราก็ตองพยายามอดทนอดกลั้น อะไรที่จะเป็นอกุศลเราก็พยายามละ อะไรที่จะเป็นกุศลเราก็พยายามเจริญให้มีให้เกิดขึ้นในกายในใจของเรา สักวันหนึ่งเราก็คงจะเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน ถ้าเดินไม่ถึงจุดหมายปลายทางวันนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า สิ่งที่พวกเราทำก็จะไปต่อเอาภพหน้า
ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ อย่าไปทิ้งบุญเด็ดขาด อยู่ที่ไหนก็อย่าไปทิ้งบุญ บุญนี้เป็นพื้นฐานในการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างออกจากใจของเรา เป็นบุคคลที่มีความเสียสละ เสียสละความยึดมั่นถือมั่น เสียสละกิเลส เสียสละทั้งวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ทั้งภายนอก จนกระทั่งถึงเสียสละอารมณ์ ความยึดมั่นถือมั่นในกายของเรา ก็ทานนี้แหละเป็นพื้นฐานอันยิ่งใหญ่ ของการปล่อยวางในระดับถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น ก็อย่าพากันทิ้ง
ตื่นขึ้นมาก็รีบสำรวจ สำรวจกายสำรวจใจของเรา เราขาดตกบกพร่องตรงไหน มีไม่มากหรอกถ้าเรารู้จักดู ดูใจของเราให้เป็น ใจของเราเป็นอย่างนี้นะ กายของเราเป็นอย่างงี้นะ กายของเราทำหน้าที่อย่างนี้ ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างนี้ ภาษาธรรม ภาษาโลกเป็นลักษณะอย่างนี้ ความเมตตากรุณา ความอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ละความเห็นแก่ตัวออกจากใจของเราให้มันหมด ไปอยู่ที่ไหนเราก็จะมีความสุข
เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ