แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 23
วันที่ 31 มีนาคม 2557
ขอให้ทุกคนจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง แล้วก็ให้เป็นธรรมชาติที่สุด นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ อย่าไปมองข้าม เราพยายามสร้างความรู้ตัว ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บ รู้สัมผัสของลมหายใจเข้าออกปั๊บ นั่นแหละเขาเรียกว่า 'สติรู้กาย'
พยายามฝึกความรู้สึกตัวพลั้งเผลอ เริ่มใหม่ ความรู้สึกตัวพลั้งเผลอ เริ่มใหม่
ส่วนใจนั้นเขาเกิด ๆ ดับ ๆ ส่วนขันธ์ห้านั้นเขาก็เกิด ๆ ดับ ๆ ถ้ากำลังสติของเราต่อเนื่อง เราก็จะไปเห็นรู้ลักษณะ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่ส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างไร ความคิด อาการของขันธ์ห้าผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร อันนั้นเอาไว้ทีหลัง
ขอให้เรามีกำลังสติให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง เขาเรียกว่า 'สัมปชัญญะ' มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ซึ่งเรียกว่า ‘ทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออก’ จนเอาไปประหัตประหารกิเลส เอาไปหมั่นพร่ำสอนใจของเราได้ ใจอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเราได้นั่นแหละ จนมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงได้นั่นแหละ ใจเขาถึงจะยอมวาง ยอมวางทิฏฐิ วางมานะ ละการเกิด ดับความเกิด หนุนกำลังสติปัญญาไปเกิดแทน
มีความคิดที่เกิดจากใจ เกิดจากขันธ์ห้า ตรงนั้นเป็นความคิดที่หลงอยู่ ความคิดตัวใหม่ที่เราสร้างขึ้นมานี้ไปทำหน้าที่แทน ตัวหลังนี่แหละ ยังไม่มีมาก ยังไม่ชำนาญ ไม่เท่าทันตัวเก่า ก็เลยพลั้งเผลออยู่ตลอด
เราพยายามมาศึกษา มาทำความเข้าใจทุกอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน กินอยู่ขับถ่าย เป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เรื่องของคนอื่นนั้นเป็นส่วนประกอบในระดับของสมมติเท่านั้นเอง ที่เราอยู่ร่วมกัน ในหลักธรรมแล้ว เราต้องจัดการตัวเรา ตั้งแต่ตัวใจข้างในโน่น เข้ามาแก้ไข อะไรจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ประโยชน์ระดับไหน ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ต่ำ ประโยชน์สูง ประโยชน์จนหลุดพ้น จนไม่กลับมาเกิด
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อนะ ได้เท่าไหร่ก็เอา อย่าว่าไม่ทำ