แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 22
วันที่ 30 ตุลาคม 2557
ขอให้ทุกคนจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราเองให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัว แล้วเราก็ได้ควบคุมใจ อบรมใจ แก้ไขใจของเราแล้วหรือยัง ถ้ายังก็พยายามเริ่มเสียนะ
เพราะว่าทุกคนเกิดมาก็มาด้วยแรงกรรมแรงบุญ ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ความหลงนั่นแหละหลงมาให้เกิด ได้โชคดีได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มาสร้างอานิสงส์ต่อให้ถึงจุดหมาย แต่เดิมนั้นใจของทุกคนนั้นสะอาดบริสุทธิ์ แต่ความหลง หลงให้เกิดวนเวียนว่ายตายเกิด ไม่จบไม่สิ้น เพราะว่าการเกิดของดวงวิญญาณนั้น ตั้งแต่เช้ามามันไม่รู้สักกี่เรื่อง ได้มาอาศัยสร้างภพมนุษย์อยู่ เขายังเกิดต่อ ยังปรุงยังแต่งต่อ ยังเป็นทาสกิเลสต่อ ถ้ากายเนื้อแตกดับนั่นแหละก็จะไปตามแรงเหวี่ยงของกรรม ของวิบากที่เราสร้างขึ้นมา
ถ้าผู้รู้ ถ้าไม่หลงก็จะคลายความหลง ละกิเลส แล้วก็ดับความเกิด แม้แต่การเกิด แม้แต่นิดเดียวก็ไม่ให้เกิดเลยตัววิญญาณ กายเนื้อแตกดับ เขาก็กลับคืนสู่สภาพเดิมคือความบริสุทธิ์ การเกิดไม่มี มีตั้งแต่ความบริสุทธิ์ เราก็ต้องพยายามดำเนินให้ถูกต้อง ถูกวิถีทาง
แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบมาตั้งนาน แล้วก็เอามาเปิดเผยให้สัตว์โลก ก็คือมนุษยโลกนี่แหละ
ได้ปฏิบัติการเจริญสติเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดที่เกิดขึ้นจากใจเป็นลักษณะอย่างนี้ อาการเขาเริ่มเกิดอย่างนี้ ถ้าสังเกตทัน ใจก็จะคลายออกจากขันธ์ห้า เขาเรียกว่าพลิกจากของที่คว่ำ หงายขึ้นมา หรือว่าวิปัสสนาญาณ แยกรูปแยกนาม
‘สัมมาทิฏฐิ’ คือความเห็นถูก เห็นถูกคือใจไม่หลงความคิด ใจไม่หลงขันธ์ห้า ใจคลายออกมา แต่ใจยังเกิดกิเลส ยังมีกิเลสอยู่ เราก็มาละกิเลส เราก็มาดับกิเลส ดับกิเลส ดับความเกิดของใจ แล้วก็วางใจให้เป็นอิสรภาพ แล้วก็ทำความเข้าใจ
กายเนื้อทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ตาทำหน้าที่ดู เราก็ห้ามไม่ได้ หูทำหน้าที่ฟัง เราก็ห้ามไม่ได้ เขาทำหน้าที่ของเขา ส่งเข้าไปถึงใจของตัวเรา หรือว่าวิญญาณในกายของเรา ให้รับรู้รับทราบ แต่ไม่ให้หลง ไม่ให้ยึด ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ใจที่ปราศจากกิเลส ใจที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น เขาก็มีความสุขอยู่ในตัว คือความว่าง ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘วิหารธรรม’ เครื่องอยู่ของใจ คือความว่าง
การพูดง่าย แต่การลงมือ การทำ การวิเคราะห์ ทุกเรื่อง ต้องให้รู้เท่าทัน ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จนใจยอมรับความเป็นจริง เข้าใจในหลักของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าของตัวเองให้ชัดแจ้ง แล้วก็การเกิดการดับ เข้าใจในหลักของอริยสัจ คำว่า ‘ทุกข์’ ของพระพุทธองค์เป็นลักษณะอย่างไร จะแก้ไขได้อย่างไร
มันมีเป็นชั้น เป็นขั้นเป็นตอนอยู่ เป็นช่วง ๆ อยู่
ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่สงบ สงบด้วยการข่มเอาไว้ สงบด้วยการรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยการละกิเลส ด้วยการดับความเกิด วางให้เป็นอิสระ สงบที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ปัญญาที่เราเอาไปใช้เป็นอย่างไร มีหมดเลย ท่านถึงบัญญัติเอาไว้ วิปัสสนาญาณเป็นอย่างไร จากขั้นแรก สัมมาทิฏฐิ จนกระทั่งทรงความว่าง เอานิพพานเป็นอารมณ์ ก็ต้องพยายามดู มีหมด ให้ปรากฏให้รู้ให้เห็นที่ใจของเรา หมดความสงสัยท่านถึงบอกให้เชื่อ ให้พยายามสร้างอานิสงส์ สร้างบุญบารมีของเราให้เต็มเปี่ยม
ใจเกิดกิเลส เราก็ละกิเลส กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เราก็พยายามขัดเกลา ทำในสิ่งตรงกันข้าม สมมติของเราลำบาก เราก็ขยันหมั่นเพียร ยังสมมติของเราให้มีให้เกิดขึ้น รู้จักหา รู้จักใช้ รู้จักเก็บ รู้จักทำความเข้าใจ หนักเอาเบาสู้ ถ้าหนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้ มีแต่ความเกียจคร้าน นั่นแหละ มันก็เข้าครอบงำจากน้อย ๆ ไปหามาก ๆ มากขึ้น ๆ ๆ ตัวเองก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ไปอยู่ที่ไหนก็หนัก หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่ แทนที่จะได้ประโยชน์ กลับมีตั้งแต่ความทุกข์เข้าครอบงำ
เราก็ต้องพยายาม ทุกเรื่อง ทุกอย่าง เป็นการฝึกหัด ฝึกฝนตนเอง แก้ไขตัวเราเอง ความขยันหมั่นเพียรไม่ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่บ้าน อยู่ที่วัด ความเสียสละ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ถึงจะมีไม่มาก เราก็พยายามค่อยพิจารณา ค่อยแก้ไข จากน้อย ๆ แล้วก็อาศัยกาลอาศัยเวลาด้วย ไม่ใช่ว่าทำแบบไฟไหม้ฟาง ทำปุ๊บปั๊บแล้วก็ทิ้ง ทำปุ๊บปั๊บแล้วก็ทิ้ง เราก็ทำไปเรื่อย ๆ แล้วก็อาศัยกาลอาศัยเวลา อาศัยความสืบต่อ อาศัยความต่อเนื่อง ถึงจะเป็นบุญอันใหญ่ บุญก้อนใหญ่
อันนี้ก็หนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้ มีแต่หลบแต่หลีก บางทีเห็นเราทำการทำงานอยู่ เดินผ่าน ทั้งพระทั้งชีก็มี บางทีก็หลบหนีก็มี หลบหลีกก็มี มันจะไปได้อะไร อะไรเราควรทำเราก็ทำ ควรช่วยกันก็ช่วย สิ่งที่พวกเราทำมาก็เพื่ออนุเคราะห์ให้กับทุกคน จากความไม่มี เราก็ทำให้มี ทำให้สมบูรณ์เพื่อสมมติจะได้ไม่ลำบาก ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน ที่กราบที่ไหว้ แม้กระทั่งที่เผา เราอนุเคราะห์ให้ทุกอย่าง มาแล้วมีอะไรเราก็ควรช่วย พอช่วยกันได้ก็ช่วย ช่วยกันทำความสะอาด ถึงช่วยไม่ได้ก็ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอนก็ให้เป็นระเบียบ อย่าไปสร้างปัญหา อย่างไปสร้างความสกปรก เราก็จะได้สูงขึ้นไป คนอื่นมาก็จะได้เป็นตัวอย่าง
นี่แหละการฝึกหัดปฏิบัติ จะเอาตั้งแต่ธรรม ความเสียสละไม่มี การกระทำไม่มี ทั้งภายในภายนอก การละกิเลสไม่มี การเจริญสติไม่มี การอบรมใจไม่มี จะพาไปตั้งแต่ พาให้เดิน พาให้นั่ง พานั่งหลับตา เดินหลับตาอยู่อย่างนั้น ต้องทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ลืมตา หู
ตาทำหน้าที่อย่างไร หูทำหน้าที่อย่างไร ใจเกิดกิเลสเมื่อไหร่ จัดการ อะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ เราต้องคลายให้ออก บอกตัวเองให้ได้ แล้วก็ทำหน้าที่ของเราให้มันถึงจุดหมาย เราละออกไปได้หมดเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งสะอาด ยิ่งบริสุทธิ์ เราไม่อยากจะได้สมาธิ เราก็ได้สมาธิ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นแค่เพียงอิริยาบถ แม้แต่จะร้องตะโกนอยู่ ถ้าใจไม่เกิด มันก็ไม่เกิดนั่นแหละสมาธิด้วยปัญญา สร้างความหนักแน่น อะไรคือสมถะ อะไรคือวิปัสสนา
ดีไม่ดีไม่จำเป็นต้องพูดหรอก ฟังนิดเดียว เอาไปทำ เอาไปศึกษา ปรากฎกายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ ถ้าดำเนินให้ถูกที่ถูกทาง แล้วก็รู้ด้วยตนเอง แก้ไขด้วยตนเอง ปรับปรุงตัวเราเอง ถึงจุดหมายได้เร็วได้ไว หมดความสงสัย หมดความลังเล
ไม่ต้องไปถามใครหรอก ถามใจของเรา ใจของเราปรารถนาอะไร ต้องการอะไร ก็จะถึงจุดหมายได้เร็วได้ไว
เอาละวันนี้ ก็เจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันนะ