แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 22
วันที่ 30 มีนาคม 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกให้ต่อเนื่องกันสักพักหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก ไม่ต้องพนมมือวางกายให้สบาย วางใจให้สบาย
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ สักสองสามเที่ยว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา มีความรู้สึกรับรู้อยู่ เวลาหายใจเข้าหายใจออก นั่นแหละ ในหลักธรรม ท่านเรียกว่า 'สติรู้กาย' ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า 'สัมปชัญญะ'
ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้ต่อเนื่อง ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเรารู้กายได้ตลอดเวลา ลึกลงไปเราก็เห็นการเกิดของใจ รู้ความปกติของใจ รู้การเกิดการดับของความคิด นั่นแหละ เราก็จะเข้าใจในเรื่องชีวิตของเราเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าพระพุทธเจ้าท่านค้นพบอะไร แล้วเอามาเปิดเผย
ท่านค้นพบเรื่องหลักความจริงของชีวิต ท่านสอนเรื่องอัตตา-อนัตตา สมมติ-วิมุตติ ลักษณะของอัตตาเป็นอย่างไรอนัตตาเป็นอย่างไร กายของเราประกอบขึ้นมาด้วยอะไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ท่านแจงเอาไว้หมดเลย
แต่เวลานี้ กำลังสติที่จะเข้าไปทำความเข้าใจของพวกเรามีอยู่ แต่มีน้อย ฐานบุญของใจนั้นมีกันเต็มเปี่ยมกันทุกคน แต่ก็ยังหลงอยู่ หลงเกิดอยู่ เราต้องมาหมั่นอบรมใจของเรา แก้ไขใจของเรา ด้วยการเจริญสติเข้าไปควบคุมใจ จนกว่าใจจะคลายออก ซึ่งเรียกว่า 'แยกรูปแยกนาม'
ถ้าแยกได้เมื่อไหร่ นั่นแหละ ความรู้แจ้งเห็นจริง สัมมาทิฏฐิถึงจะเปิดทางให้ การทำความเข้าใจ ก็ยิ่งเพิ่มทำความเพียรเป็นทวีคูณอีก จนใจของเราอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเรา มองเห็นความเป็นจริงได้นั่นแหละ
การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ทุกคนมากันเต็มเปี่ยม แต่การลงมือ รู้ให้แจ้งทุกเรื่อง ตรงนี้แหละสำคัญ ต้องพยายามนะ อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง จงขวนขวายสร้างบุญให้มีให้เกิดขึ้นที่กายของเรา จนกว่ากายของเราจะแตกจะดับ อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง ทำได้เท่าไหร่ก็เอา
สร้างความรู้สึกรับรู้ การหายใจให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่องกันซักระยะนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ค่อยพากันไปศึกษาทำความเข้าใจต่อกันเอา อันนี้เพียงแค่ย้ำ แค่เตือน แค่เล่าให้ฟัง