แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 20
วันที่ 11 ตุลาคม 2557
ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความระลึกรับรู้สัมผัสของหายใจของตัวเราเองให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย เราเข้ามาถึงวัด ทำบุญทำทาน ถวายทานทางด้านวัตถุทาน อันนี้เราก็ได้ทำกันอยู่กันเป็นประจำ
ทีนี้เรามาสร้างความรู้ตัว มาสร้างความรู้สึกรับรู้ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน เราพยายามฝึกตรงนี้แหละให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง ไม่เกิดปัญญาก็ช่างมันเถอะ
เราพยายามสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ถ้าความรู้ตัวต่อเนื่อง เชื่อมโยงเมื่อไหร่ เราถึงจะรู้ว่าแต่ก่อนนั้นสติเรามีอยู่ในระดับของสมมติเท่านั้นเอง สติตัวนี้ก็จะต่อเนื่อง ส่วนการเกิดการดับของตัวใจนั้นเขามีอยู่เดิม การเกิดการดับของความคิด หรือว่า ‘อาการของขันธ์ห้า’ นั้นเขาก็มีอยู่เดิม เขาเกิดมานาน เขาหลงมานาน เราก็เลยเอาความคิดตรงนั้นแหละ ไปมั่นหมายเอาตรงนั้นแหละ แล้วก็เลยอยู่ด้วยความหลง อาจจะหลงอยู่ในบุญในกุศล ในการสร้างคุณงามความดี หลงอยู่ในความถูกต้องระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้ว เราต้องแยก ต้องคลาย คลายใจออกจากความคิด เจริญสติให้ต่อเนื่องเสียก่อน
ถ้าเรารู้เท่าทัน ใจกับอาการของใจเขาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราเห็นตั้งแต่ต้น เห็นเขาก็จะแยกออกของเขาเอง นั่นแหละช่วงแยกนั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘คลาย’ ถ้าเรารู้ไม่ทัน โน่น...เขาคิดไปถึงไหนแล้ว เขารวมกันไปถึงไหนแล้วถึงรู้ รู้ตั้งแต่ตามหลังเขา ไม่รู้เท่า รู้ทัน รู้ก่อน รู้การเกิด ตามทำความเข้าใจให้รู้แจ้งเห็นจริง กำลังสติของเราต้องชี้เหตุชี้ผล ตามดูเหตุดูผล ไม่ใช่ว่าไปนึกเอา ไปคิดเอา
เพียงแค่กำลังสติยังไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าเอาตั้งแต่ความคิดเก่า ปัญญาเก่า หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเอง ก็เลยเกียจคร้านในการเจริญสติ เกียจคร้านในการทำความเข้าใจ แต่ขยันอันอื่นอยู่ ขยันทำบุญ ให้ทาน ขยันทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็ต้องให้ได้ควบคู่กัน ทั้งสมมติ ทั้งวิมุตติ ฝักใฝ่ สนใจ วิเคราะห์ พลั้งเผลอเริ่มใหม่ ขัดเกลากิเลส รู้จักเอาออก รู้จักให้ รู้จักรับผิดชอบ ขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ พยายามฝึกฝนตัวเรา เราเป็นคนประเภทไหน เป็นคนเช่นไร ใจของเรามีความกังวล ใจของเรามีความฟุ้งซ่าน เราก็รู้จักแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่จะไปวิ่งแก้ไขที่โน่นที่นี่ ไม่ทันการณ์
เราต้องเจริญสติเข้าไปดู รู้ทุกขณะลมหายใจเข้าออก จนเป็นอัตโนมัติ ก่อนที่สติจะเป็นอัตโนมัติได้ เราก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อน ช่วงที่เรายังทำความเข้าใจไม่ได้นี่แหละ กิเลสมารเขายึดครองหมด ก็เลยแพ้เขา
เราพยายามมาฝึก มาฝืนจนถึงที่สิ้นสุด เขาถึงจะคลายให้เรา พอคลายได้ ถ้าเราขาดการตามทำความเข้าใจอีก เขาก็เล่นงานเราอีก จะมีทั้งกุศล ทั้งอกุศลสารพัดอย่าง อยู่ในตัวของเรา ของดีเยอะแยะ พยายามทำเอา ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว
ตราบใดที่เราฝักใฝ่ สักวันนึงถ้าเราดำเนินอยู่ อยู่คนเดียวก็ต้องเข้าใจ ถ้าเราดำเนิน ถ้าถึงเวลา ถึงกาลถึงเวลา วิบากกรรมมันคลาย ถ้าวิบากกรรมมันไม่คลาย นี่รู้สึกว่าจะทำยังไงมันก็ไม่เข้าใจ เพราะว่าต้องไปทำที่โน่น ไปอยู่ที่โน่น ทำอันโน้นทำอันนี้ ฝึกที่โน่นที่นี่ ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ ดีหมด แต่เป็นการสร้างบารมีอยู่ในระดับหนึ่ง
ถ้าเราแยกแยะได้ ทำความเข้าใจได้ อยู่บ้านเราก็รู้ใจ อยู่ที่ทำการทำงานเราก็รู้ใจ เอาการเอางานเป็นการปฏิบัติธรรม แม้แต่กายจะแตกจะดับ เราก็ต้องเตรียมพร้อม ถ้ามันเข้าถึงจริง ๆ ถ้ายังเข้าไม่ถึง ไปอยู่ที่โน่น ไปอยู่ที่นี่ เราก็พยายามทำ ทำมากทำน้อย ก็เป็นอานิสงส์ของเรา เห็นคนอื่นทำ เราก็พลอยอนุโมทนาสาธุ
กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร ตนเป็นที่พึ่งของตนเป็นอย่างไร เป็นลักษณะอย่างไร รู้จักวิธี รู้จักแนวทางแล้วก็พยายามทำ หลวงพ่อก็เล่าของเก่าอยู่นี่แหละ ไม่ได้เล่าอันอื่นหรอก ไม่ต้องไปพูดมาก คนที่จะเอาจริง ๆ ฟังนิดเดียว ฟังนิดเดียว ตรวจสำรวจตรวจตราดูใจของตัวเอง แก้ไขใจของตัวเอง อะไรมันยังขาดตกบกพร่อง อะไรควรเสริม อะไรควรเติม อะไรควรละ ก็จะเข้าถึงได้เร็วได้ไว
สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน ให้เชื่อมโยงนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อเอานะ