แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 17
วันที่ 29 เมษายน 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายวางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก สำเหนียกหรือว่าน้อม มีความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเรา
ฟังไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ
เสียงก็สักแต่ว่าเสียง
หลวงพ่อพูดไปอย่างนี้ ชี้แนะไปอย่างนี้ แล้วเราก็น้อมทำตามที่หลวงพ่อพูด
อาการสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเรา มีความรู้สึกรับรู้อยู่ในหลักธรรม ท่านเรียกว่า ‘สติรู้ตัว’
ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่อง เวลาลมหายใจเข้าหายใจออกทุกครั้ง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ-มีความรู้ตัวทั่วพร้อม’ ถ้าความรู้สึกตัวตรงนี้พลั้งเผลอไป เราก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอไป เราก็เริ่มใหม่ พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน
ถ้าความรู้ตัวเราต่อเนื่อง เราก็จะมองเห็นว่าแต่ก่อนนั้น เรามีตั้งแต่สติปัญญาของโลก ของโลกีย์ สติปัญญาในทางธรรมท่านให้สร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาแล้วก็ทำให้ต่อเนื่อง ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เราก็จะไปรู้ลึกลงไปอีก รู้ลักษณะของใจ
ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ ถ้ามีความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่ง ใจจะเคลื่อนเข้าไปรวม ความรู้ตัวของเรารู้อยู่ปัจจุบัน ก็จะเข้าไปรู้เท่าทัน เห็นการเกิดของใจเคลื่อนเข้าไปรวมกับอาการของขันธ์ห้า ใจก็จะดีดออก เขาเรียกว่า‘แยกรูปแยกนาม’ หรือว่า ‘พลิกจากสมมติไปหาวิมุตติ’ หรือเรียกว่า ‘หงายจากของที่คว่ำ’ จากเก่า แต่ก่อนใจของเราคว่ำอยู่
ถ้าใจดีดออกจากความคิดเขาเรียกว่า ‘หงาย’ หงายจากของที่คว่ำ ใจก็เลยว่าง กายก็เลยเบา ใจก็ว่างรับรู้ ความรู้ตัวที่เราสร้างมาก็ตามดู เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้าที่มาปรุงแต่งใจ เป็นเรื่องอะไร เรื่องอดีตเขาเรียกว่า ‘กองของสัญญา’ หรือว่าสารพัดเรื่อง เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เขาเรียกว่า ‘กองสังขารในขันธ์ห้าของตัวเรา’ บางทีก็เป็นกลาง ๆ บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็เป็นอกุศล ตัวใจหรือว่าตัววิญญาณ ตัวกองสุดท้ายในขันธ์ห้าของเราก็จะว่าง รับรู้อยู่ ถ้าเขาดีดออกไปแล้ว
เราก็จะเข้าใจในภาษาธรรม-ภาษาโลก เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าอัตตาเป็นลักษณะอย่างนี้ อนัตตาเป็นลักษณะอย่างนี้ การเกิดของใจ ใจปรุงแต่งส่งออกไปข้างนอก เป็นหลักของอริยสัจ ใจส่งไปข้างนอก ทั้งไปรวมกับขันธ์ห้าด้วย ไปหลงขันธ์ห้าด้วย ใจเป็นทาสของกิเลสด้วย ทะเยอทะยานอยากด้วย เราก็มาดับ มาละ มาแก้ไขที่ใจของเรา ชี้เหตุชี้ผลให้ใจมองเห็นความเป็นจริง มองเห็นความเป็นจริง ก็รู้จักบริหาร รู้จักแก้ไข รู้จักใช้ชีวิต จนกว่าธาตุขันธ์จะแตกจะดับนั่นแหละ
ไม่เหลืออวิสัย ก็ต้องพยายาม ตราบใดที่เรายังเดินอยู่ก็ต้องพยายาม เพียงแค่การเจริญสติให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่อง ตรงนี้แหละ พากันปล่อยปละละเลยกันมากทีเดียว ทั้งที่ใจก็เป็นบุญ
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อเอานะ