แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 16
วันที่ 8 มกราคม 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย เราเข้ามาถึงวัด น้อมกายของเราเข้ามาถึงวัด วัดสมมติ วัดภายนอกเราก็เข้ามาถึง ด้วยใจที่มีกำลังแรงของศรัทธา น้อมเข้ามา มาทำบุญให้ทาน ถวายทานทางด้านวัตถุทาน มาสมาทานศีล มาทำความเข้าใจกับชีวิตของเรา
การเจริญสติ การสร้างสติ เราต้องพยายามสร้างขึ้นมา ความรู้ตัว รู้กาย รู้การหายใจเข้าออก อันนี้เขาเรียกว่า ‘รู้กาย’ รู้ลมหายใจเข้าออกในหลักธรรมท่านว่า ‘อานาปานสติ’ เราพยายามสร้างขึ้นมา ให้เกิดความเคยชิน เวลาหายใจเข้า หายใจออกเป็นอย่างไร หายใจที่เป็นธรรมชาติมีความรู้ตัวทั่วพร้อม เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’
พยายามฝึกไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย ส่วนใจนั้นมีอยู่เดิม ความคิดขันธ์ห้านั้นมีอยู่ก่อน เขาสร้างขึ้นมา สร้างกายเนื้อขึ้นมา เขาเรียกว่า ‘ภพของมนุษย์’ มีกายเนื้อ มีส่วนนามธรรม ซึ่งเรียกว่า ‘ความคิด’ เรียกว่า ‘อารมณ์’ มีวิญญาณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า เข้ามาสร้างจนปิดมิดชิด ปิดตัวดวงใจเอาไว้หมด
เราต้องมาเจริญสติ เน้นลงอยู่ที่กายของเรา อยู่ที่ลมหายใจให้ต่อเนื่อง ขณะที่เรามีสติต่อเนื่อง ใจจะเกิด เราก็จะรู้เท่าทันการเกิดของใจ แต่ส่วนมากเรารู้เมื่อเขาเกิดไปแล้ว บางทีก็มีความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ ใจไปรวมกับความคิดซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ เป็นกอง ๆ ขันธ์ ๆ อยู่ แต่เรายังแยกแยะไม่ได้ เราก็มองไม่เห็นเป็นกอง เป็นขันธ์ ดังที่เราเคยสวดเคยท่องในทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ว่าขันธ์ห้าเป็นของทุกข์ กองอดีต กองสังขาร กองวิญญาณ กองรูป กองกุศล กองอกุศล มันมีอยู่ในกายของเรา
เหมือนกันกับมีเชือกอยู่เส้นหนึ่ง เชือกเส้นนั้นมีอยู่ห้าเกลียว แต่เขารวมกันเป็นเชือกเส้นเดียว เราต้องจับฉีก มองด้วยปัญญาว่าเกลียวไหนเป็นเกลียวไหน กายของเราก็เหมือนกัน เราต้องเจริญสติ เน้นลงอยู่ที่กายของเรา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกบ้าง อยู่ที่การเคลื่อนไหวบ้าง ให้ต่อเนื่อง
ถ้ากำลังสติของเราต่อเนื่อง สักวันหนึ่งเราก็จะเห็น การเกิด การก่อตัวของใจ รู้ลักษณะของใจ รู้อาการของใจ รู้อาการของขันธ์ห้า ว่าเป็นอาการอย่างไร หน้าตาอย่างไร เราอาจจะรู้ตั้งแต่ชื่อของเขา แต่ไม่เคยเห็นเวลาเขาเกิด เขาเริ่มต้นอย่างไร ตรงนี้แหละจุดเริ่มต้น เราต้องเห็นจุดเริ่มต้น เราถึงจะเห็นเหตุเห็นผล
พระพุทธองค์ท่านชี้ลงที่เหตุที่ผล ไม่ได้ชี้ลงที่ไหน อยู่ที่กายของเรานี้แหละ แสวงหาธรรมะนอกกายหาไม่เจอ ต้องหาในกายของเรา ออกมาจากใจของเรา กิเลสก็เกิดขึ้นที่ใจของเรา ต้นเหตุเขาเกิดขึ้นที่ตรงไหน เราก็ต้องดับตรงนั้น ละตรงนั้น เราถึงจะเข้าถึงความหมาย
ถ้าสังเกตทัน ใจกับอาการของใจเคลื่อนเข้าไปรวม ใจจะดีดออกจากความคิด แยกออกจากความคิด ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือว่า ‘ใจหงาย’ เรียกว่า ‘พลิกของที่คว่ำ หงายของที่คว่ำ’ เหมือนกับฝ่ามือกับหลังมือ แต่ก่อนฝ่ามือเราคว่ำอยู่ ถ้าเราหงายขึ้นมา ฝ่ามือก็อยู่บ้างบน หลังมือก็อยู่ข้างล่าง
ถ้าใจคลายออกจากอาการของใจ ใจก็จะหงายพลิกขึ้นมา ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา กายสมมติก็มีอยู่ ใจก็มีอยู่เหมือนเดิม แต่เราเพียงแค่แยกแยะด้วยปัญญา ด้วยเหตุ ด้วยผล แล้วก็ตามทำความเข้าใจ เราก็จะเห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ความว่างเปล่า เวลามันจบไปแล้วความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ
ท่านถึงเปรียบความคิดตรงนี้เหมือนกับพยับแดด เวลาเราเดินไปตามถนนหนทาง เวลาแดดร้อนๆ มองเห็นเปลวแดดเป็นเหมือนกับกองเพลิงลุกโชนอยู่ เวลาเราเข้าใกล้ ๆ มันก็ไม่มี หรือเปรียบเสมือนกับลูกคลื่น เวลาเรายืนอยู่ชายฝั่ง ลูกคลื่นก็วิ่งเข้ากระทบฝั่ง เวลาเข้ากระทบฝั่งแล้วมันก็หายไป ความคิดตรงนี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับมีตัวมีตน เวลาเขาจบ เขาดับแล้วก็หายไป ความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ ตัวใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวมจนเป็นสิ่งเดียวกัน ก็เลยเกิดอัตตาตัวตน กายก็เลยหนัก ใจก็เลยหนัก ถ้าเราคลายได้เมื่อไหร่ ใจก็เลยว่าง กายก็เลยเบา
แต่การละกิเลสการทำความเข้าใจต้องมีความเพียรอย่างเป็นเลิศ ใจถึงจะคลายได้ ไม่ใช่ว่าแยกแยะได้แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย เราต้องทำความเข้าใจทุกเรื่อง แม้ตั้งแต่การเจริญสติ สติของเราพลั้งเผลอได้อย่างไร ความรู้ตัวของเราพลั้งเผลอได้อย่างไร การละกิเลส การขัดเกลากิเลส วิธีไหน อุบายอย่างไรที่จะทำให้ใจของเราสงบ ทำให้ใจของเราสะอาด
กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ตาทำหน้าที่ดู เราก็ห้ามไม่ได้ หูทำหน้าที่ฟัง เราก็ห้ามไม่ได้ เราไปห้ามที่ใจของเรา แต่เราไม่เคยไปเห็นจุดเกิด จุดดับของใจ เรารู้ตั้งแต่เมื่อเขาเกิดแล้ว บางทีก็ดับได้กลางเหตุ ปลายเหตุ หรือบางทีก็ปล่อยให้เขาดับเลย ดับเอง มันก็เลยเข้าไม่ถึงความจริงสักที ก็เลยปิดกั้นตัวเองเอาไว้อยู่ตลอดเวลา กิเลสมารต่าง ๆ เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ารู้แล้ว เห็นแล้ว เขาจะแพ้เลย เขาก็หาเหตุหาผลมาสู้จนสุดฤทธิ์สุดเดชเหมือนกัน
เราก็ต้องพยายามเจริญสติเข้าไปหาเหตุหาผล แล้วก็เจริญพรหมวิหารเข้าไปทดแทน ใจของเราเกิดความอยาก เราก็ดับความอยาก ละความอยากด้วยการเอาออก ด้วยการให้ ใจของเราเกิดความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธ ด้วยการให้อภัยทาน อโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดี ทำในสิ่งตรงกันข้ามกับกิเลส แล้วก็ขัดเกลา จนเหลือตั้งแต่กิเลสฝ่ายดี เราก็ยังไม่ยึดอีก จนดับความเกิดของจิตของใจ ของวิญญาณของเราได้นั่นแหละ จนวิญญาณของเราเป็นอิสระจากการเกิด จากกิเลส แม้แต่ความอยากแม้แต่เล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา เราก็ต้องพยายาม ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ทำได้อยู่แต่ไม่ยอมทำ เป็นทาสของกิเลส ไปเลือกกาล เลือกเวลา เอาแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ เวลาโน้นเวลานี้
ใจทุกดวงนั้นสะอาดบริสุทธิ์อยู่เดิม ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจเท่านั้นเอง กับการเกียจคร้านในการเจริญสติ ไม่ค่อยจะเจริญสติเข้าไปหาเหตุหาผล อาจจะเจริญอยู่ได้เพียงแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย
การพูดง่าย แต่การลงมือ การกระทำจริง ๆ ต้องขยันหมั่นเพียร ถึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
บุคคลที่เข้าถึงจุดหมายปลายทางได้ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ ขัดเกลากิเลสเป็นเลิศ ถึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้ กิเลสมารต่าง ๆ เขาก็ยอมแพ้เหมือนกัน ถ้ากำลังสติปัญญาของเราแหลมคม เร็วไว ชี้เหตุ ชี้ผล หมั่นพร่ำสอนใจของเราอยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งเราก็คงถึงจุดหมายปลายทางกัน ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว
ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ อย่าไปปิดกั้นตัวเรา ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่รู้ธรรม ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่เห็นธรรม ขอให้เราดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ ตามแนวทางของท่าน เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล เหตุผลจากภายในส่วนนามธรรมก็มี เหตุผลส่วนสมมติทางโลกธรรมก็มี เราต้องทำให้ถูกต้อง ปรากฏขึ้นที่ใจของเราจริง ๆ หมดความสงสัยได้จริง ๆ นั่นแหละ เราก็จะมองเห็นหนทางเดิน ว่าจะไปยังไง มายังไง บริหารกายอย่างไร บริหารใจอย่างไร บริหารสมมติอย่างไร ถึงจะอยู่เป็นบุญ ถึงจะสนุกสร้างบุญ อยู่กับบุญตลอดเวลา
อะไรที่จะเป็นอกุศลเราก็ละเสีย เพียงแค่ความคิด ถ้าเป็นอกุศลเราก็ดับ แม้สติปัญญาถ้าเป็นอกุศลเรายังให้ดับอีก ให้เหลือตั้งแต่กุศล บริหารด้วยปัญญาล้วน ๆ อยู่กับกองบุญล้วน ๆ ต้องพยายามพากันทำ รู้ธรรมตอนไหนก็ไม่สาย รู้ใจของเรานั่นแหละ ตอนเด็ก ตอนหนุ่ม ตอนแก่ ก็ไม่สาย ตอนจะหมดลมหายใจก็ยังไม่สาย ก็ต้องพยายามกันนะ
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกัน วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ อันนี้เป็นแค่เพียงอุบาย เป็นแค่เพียงวิธี แค่แนวทาง หลวงพ่อก็เพียงแค่กระตุ้นเท่านั้นแหละ ชี้แนะแนวทางให้เท่านั้นแหละ ถ้าพวกท่านไม่ไปทำ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
จงพยายามพากันทำ ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง ทำกายให้สบาย อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็ให้รู้ว่าลมหายใจเข้า หายใจออกให้ชัดเจน
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ค่อยไปทำความเข้าใจต่อกันนะ