แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง
วางความคิด หยุดความคิด วางอารมณ์ต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราละไม่ได้ ดับไม่ได้เด็ดขาดก็ให้รู้จักวิธีการเจริญสติ สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย หลวงพ่อก็เพียงแค่บอก แค่กล่าววิธีการแนวทาง ถ้าเรารู้จักการทำแล้ว เราก็พยายามพากันไปดำเนิน ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่
ลมหายใจเข้า หายใจออก หายใจที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างไร หายใจกันแบบธรรมชาติเป็นอย่างไร คำว่า 'ความรู้ตัว รู้กาย’ เป็นลักษณะอย่างไร ลึกลงไปก็รู้ใจ รู้ความปกติของใจ
การเกิดของใจ อาการของใจเป็นอย่างไร อาการของขันธ์ 5 ความคิดที่ไม่ตั้งใจคิดเป็นอย่างไร ทำหน้าที่ของเราให้ดี ดูเรื่องของเราให้จบ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล เหตุผลทางด้านรูป เหตุผลทางด้านนามธรรม ความคิดอารมณ์ต่างๆ ความคิดก็เกิดๆ ดับๆ ความเกิดๆ ดับๆ นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า 'ความปรุงแต่ง' หรือว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายของเรา
ท่านถึงให้เจริญสติให้รู้ รู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจ แล้วก็รู้กัน รู้แก้ รู้ เอาสติปัญญาของเราไปใช้ รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในโลกธรรม ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว
แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อย หรือแทบจะไม่มี มีไม่เพียงพอเพียง แค่การเจริญ การสร้าง การทำให้มีให้เกิด ตรงนี้ก็ยังยากลำบาก การจะเอาสติปัญญาไปใช้การใช้งานก็ยากลำบากอีก
ศรัทธาความเชื่อ การฝักใฝ่ การสนใจที่เกิดจากตัวใจ เกิดจากขันธ์ 5 ตรงนั้นมีอยู่ เพียงแค่เรามาเจริญสติเข้าไปอบรมใจใหม่ แก้ไขใจของเราใหม่ ปฏิวัติใจของเรา แก้ไขใจของเรา
ทำไมใจของเราถึงเป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของความเกิด กิเลสหยาบกิเลสละเอียดมีกันหมด หลวงพ่อก็เล่า พูดของเก่านี่แหละ แต่ละวันๆ แต่พวกเราไม่ค่อยจะเห็นกัน ไม่ค่อยจะทำกัน ปล่อยปละละเลย ก็เลยเข้าไม่ถึง ทำความเข้าใจไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น บอกตัวเราไม่ได้ ใช้ตัวเราไม่ได้ ก็ต้องพยายาม ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่อยู่ตลอดเวลา
ดูเราให้ดี แก้ไขเราให้ดี เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น พวกเรามาอยู่ร่วมกันก็ให้มีความสมัครสมานสามัคคี เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา รู้จักอะไรเป็นประโยชน์ ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า
ทำหน้าที่ของเราให้ดี ไม่ใช่ว่าเอาตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เราต้องทำหน้าที่ให้มันได้ทุกอย่าง อย่าไปปล่อยปละละเลย เราต้องแก้ไข
โลกสมมติ เรามาอาศัยโลกสมมติอยู่ กายของเราก็เป็นก้อนสมมติ เราก็พยายามมาแก้ไขที่กายของเรา แล้วก็แก้ไขสิ่งแวดล้อมของเราให้ดี อะไรไม่ดีเราก็พยายามแก้ไขให้ดี อยู่ในระดับของสมมติ อะไรเป็นสิริมงคล อะไรเป็นอมงคล อะไรเป็นสิริมงคล เราก็ต้องรีบแก้ไขเสีย ทั้งโลกทั้งธรรม แล้วก็อยู่กับโลกอยู่กับธรรมอย่างมีความสุข ก่อนที่จะหมดลมหายใจ เพราะว่าทุกคนเกิดมาเท่าไหร่ก็ตายหมด ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว อันนี้เป็นความจริง เพราะว่าทุกคนมีความตายเป็นเป้าหมาย เป็นที่สิ้นสุด แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ถึงตรงนั้น เราก็ตักตวง รีบตักตวง ขวนขวายเอากำไรในกายก้อนนี้ให้ได้ ทำได้มากได้น้อยก็พยายามทำ อย่าไปทิ้ง ตั้งแต่การทำบุญให้ทาน การเจริญสติ การเจริญภาวนา การทำความเข้าใจ การรักษาศีล
คำว่า 'ศีล' ความปกติระดับกาย วาจา ลึกลงไปก็ระดับใจ ทำความเข้าใจในความหมายให้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมไม่รู้จักทำ เจริญสติไม่รู้จักสติเอาไปใช้ มันก็ได้แค่ฝึก ก็ต้องฝึกให้ถึงจุดหมายปลายทาง
ทุกอย่างก็ล้วนแต่เกิดจากเหตุ มีเหตุมีผล เหตุการณ์เกิด การดับของจิตวิญญาณ เหตุการเกิดการดับของสมมติ เราก็มาแก้ไขที่เหตุ ดับที่เหตุ เหตุดี ไม่ดีเราก็พยายามมาแก้ไขตรงนี้ ก็จะส่งผลถึงอนาคต เราก็พยายามกันนะ
หลวงพ่อก็เพียงแค่บอก แค่กล่าว ยิ่งพระเรา ชีเรา สร้างความขยันหมั่นเพียร สร้างความรับผิดชอบ เข้ามาวัดเข้ามาศึกษาตัวเรานั่นแหละ ไม่ได้ไปศึกษาอะไรหรอก
ตัวเราก็คือตัวใจนั่นแหละ ทำยังไงเราถึงจะเห็นใจ รู้ใจ เรารู้อยู่ แต่เราไม่เห็นต้นเหตุของการเกิด เราก็ต้องมาพยายามดำเนินตามวิธีการแนวทางของพระพุทธองค์ ท่านได้บัญญัติเอาไว้อัตตา อนัตตา ถ้าแยกขันธ์ 5 ได้ เราก็จะเข้าใจคำว่า 'อัตตา อนัตตา' เข้าใจคำว่า 'สมมติ วิมุตติ' ถ้าตามเห็นการเกิดการดับเรื่องขันธ์ 5 ได้ เราก็รู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิดความดับ มันมีอยู่ในกายของเราหมด
เราก็อย่าไปวิ่งตามอำนาจกิเลส อย่าให้กิเลสมันใช้งาน จงใช้งานกิเลสให้เกิดประโยชน์ กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร กิเลสเกิดขึ้นที่กาย หรือเกิดขึ้นที่ใจ จนกระทั่งถึงเวลานี้ เวลาเราจะขบจะฉัน เราก็พิจารณากายหิว หรือใจอยาก ภาษาธรรมท่านเรียกว่า 'ปฏิสังขาโย' ไม่ใช่ว่าไปปล่อยวันเวลาทิ้ง ทุกอย่างก็ล้วนแต่เป็นธรรม
ตื่นขึ้นมา ตากระทบรูป ใจเป็นอย่างไร หูกระทบเสียง ใจเป็นอย่างไร ภาษาธรรมะ สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าทำเป็นลักษณะอย่างไร ใจที่ปกติ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นลักษณะอย่างไร เวลาใจเกิด เราดับความเกิดได้ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ หรือว่าส่งออกมาทางกาย ทางวาจา ทำอย่างไรเราถึงจะขัดเกลาพวกนี้ออกไปได้ เราก็ต้องพยายามสร้างตบะ สร้างบารมี
แต่ละวันเรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ หรือว่าเรามีความเห็นแก่ตัว มีความตระหนี่เหนียวแน่น เราพยายามมาแก้ไขเรา เรามีความเข้มแข็ง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูกตเวที หรือว่ามีสัจจะกับตัวเองหรือเปล่า ทุกเรื่องในชีวิตของเรา
เราต้องพยายามแก้ไข สร้างขึ้นมาให้มี ให้เกิดขึ้น สติไม่มีเราก็สร้างขึ้นมา ไม่ต่อเนื่องเราพยายามทำให้ต่อเนื่อง เอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ เราก็พยายามเอาไปใช้การใช้งานให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืนเดินนั่งนอน กินอยู่ขับถ่าย เราต้องดูตัวเรา แก้ไขตัวเราทุกเรื่อง เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น
ส่วนมากก็ไปโทษคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นเรื่องภายนอกเป็นเรื่องของเขา เรามาแก้ไขที่เรา เราช่วยเหลือไม่ได้เราก็อุเบกขา เราไม่อคติ ไม่เพ่งโทษ เราก็ต้องพยายามนะ พยายามทำ
กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ อยู่ที่วัดของเราหลวงพ่อให้โอกาสทุกคนได้เต็มเปี่ยม สร้างความขยันหมั่นเพียร ทุกอย่างทางด้านสมมติก็ไม่ให้ลำบาก ไม่เหมือนกับสมัยก่อน สมัยก่อนแม้แต่น้ำดื่มน้ำใช้ ที่พักที่อาศัย สถานที่ ถนนหนทางต่างๆ ลำบากหมด ทำมาให้ทุกคนได้อยู่ดีมีความสุข แล้วก็ให้เร่งทำความเพียรกัน
อย่าพากันเกียจคร้าน ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ถ้าใครเกียจคร้านก็จะได้อานิสงส์แห่งความเกียจคร้าน มันก็สะสมไปเรื่อยๆ ถ้าใครขยันหมั่นเพียร ขัดเกลากิเลส รู้จักประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข
เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอา