แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 10
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราก็หายใจอยู่แล้วแหละ แต่เราขาดการสร้างความรู้ตัว ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง แล้วก็รู้ รู้ใจ รู้ลักษณะของใจ รู้การเกิด การดับของใจ หรือว่า รู้การเกิดการดับของขันธ์ห้าของตัวเรา
จะเอาตั้งแต่นึกเอาคิดเอา บางทีใจก็เป็นบุญ บางทีใจก็สงบ บางทีใจก็ปกติ เวลาเขาเกิด เวลาเขาไปรวมกับความคิด ความหลงตรงนั้นมีอยู่ เราก็ยังไม่มีปัญญาที่จะไปแก้ไขให้กระจ่าง เพราะว่าขาดความเพียรในการเจริญสติ
เราต้องพยายาม อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง เสียดายเวลา ทำภาระหน้าที่ภายในของเราให้มันจบ จบแล้วเราก็ยังประโยชน์ของสมมติ บุญของสมมติทั้งภายนอกทั้งภายในให้เต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อะไรที่จะเป็นบุญเราก็รีบทำ
แม้แต่บุญมากบุญน้อย แม้แต่ความคิด คิดในทางที่ดี ทำดี การกระทำของเราก็ต้องถึงพร้อม ถึงจะเกิดประโยชน์ การฝึกหัดปฏิบัติใจ ก็มีการพัฒนาจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่ก็มองเห็นทะลุปรุโปร่ง ถึงหลักของความเป็นจริงของชีวิตคือหลักของอนัตตา-ความว่างเปล่า
ในหลักธรรม พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบ เอามาเปิดเผย เอามาจำแนกแจกแจง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนลงสู่หลักของไตรลักษณ์ ของความไม่มีตัว ไม่มีตน มีแต่ความบริสุทธิ์ แต่เรามองด้วยตาเนื้อ ด้วยตาปัญญาที่เกิดจากตัวใจ ตัววิญญาณ แล้วว่าตัวของเรา ของของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างก็ของของเรา
แต่ในหลักธรรมพระพุทธองค์บอกว่า ไม่ใช่ของเรา ให้มี ให้เป็นของเราเฉพาะในทางสมมติ ในทางของระดับปัญญาของโลกีย์
ในทางวิมุตตินั้น ถอยตัวคลายใจออกไปดูรู้ กายแตกดับแล้วไม่ต้องกลับมาเกิดกัน แต่เวลานี้เขายังเกิดอยู่ เขาหลงมานานเขาถึงเกิด เพียงแค่การเกิด เกิดอยู่ในภพของมนุษย์ มาสร้างภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้าเข้ามาห่อหุ้มเอาไว้ ตรงนี้เราก็ยังแยก ยังคลายไม่ได้ ใจมันยังเกิดอยู่ เรายังดับความเกิดของใจไม่ได้ ขันธ์ห้าก็ยังมาปรุงแต่งใจอยู่ เรายังแยกยังแยะไม่ได้ เพราะกำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ
ท่านถึงให้มีความเพียร ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ความรู้ตัวเป็นอย่างไร รู้การหายใจเข้าออกเป็นอย่างไร รู้กายเป็นอย่างไร กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร ใจเป็นกุศล หรือว่าอกุศล อะไรควรละ อะไรควรเจริญ
จนกว่าจะสังเกตใจของเรา คลายออกจากขันธ์ห้า เขาเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’
‘สัมมาทิฏฐิ’ มีความเห็นที่ถูก ความเห็น ความรู้ ความเห็น สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละไปรู้ไปเห็น ไปเห็นแล้วก็ใจก็จะว่าง ถ้าเขาคลายเขาจะพลิก เขาเรียกว่า ‘หงาย หงายของที่คว่ำ’
แล้วก็ตามดูเรื่องอะไรที่มันเกิด เรสก็จะเห็นความเกิด ความดับของขันธ์ห้า ที่มาปรุงแต่งใจ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อันนี้เฉพาะ อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ในขันธ์ห้าในส่วนนามธรรมเท่านั้นเอง
ในตัววิญญาณตัวสุดท้ายน่ะ มันยังเข้าไปรวม เข้าไปร่วม เขาเรียกว่า เข้าไปเสวย เราดับได้หรือไม่ เราหยุดได้หรือไม่ไอ้ตัววิญญาณ หรือว่าตัวใจมันเกิดกิเลส เราละกิเลสได้หรือไม่ เราละได้ระดับไหน สติปัญญาของเราไปทำหน้าที่ ชี้เหตุชี้ผล จนใจของเรามองเห็นความเป็นจริงได้หรือไม่
ไม่ใช่ว่าเอาตั้งแต่งอมืองอเท้า มีแต่ความเกียจคร้าน สร้างตั้งแต่ปัญหาให้ตัวเอง ปัญหาให้คนอื่น ไม่รู้จักแก้ไขตัวเองให้มันได้ ใช้ตัวเองให้มันเป็น แล้วก็ล้นออกไปสู่หมู่สู่คณะสู่สังคมให้มันเต็มเปี่ยม
ก็ต้องพยายามในหลักธรรม ท่านให้แก้ตัว แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ขนาบตัวเรา สั่งสอนตัวเรา เอาเรื่องของเราให้มันจบ ไม่ใช่ไปเรื่องของคนโน้นคนนี้ ทำเรื่องของเราให้มันจบเสียก่อน อานิสงส์ผลบุญผลทานต่าง ๆ ก็จะล้นออกไปสู่หมู่ สู่คณะ สู่โลกธรรมได้เอง
ก็ต้องพยายามกัน โตกันทุกคนแล้ว อย่าไปพูดมาก พูดมากไม่ดี ขยันหมั่นเพียร อะไรผิดพลาด รีบแก้ไข ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ อย่าไปงอมืองอเท้า ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มาอยู่ด้วยกัน ก็ให้มีความรัก ความสมัครสมานสามัคคี มีอะไรก็บอกกันให้เชื่อฟัง ถ้าบอกไม่เชื่อฟังละก็ ให้พยายามพิจารณาตัวเองทันทีเอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันนะ