แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:09] ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เพียงแค่สร้างความรู้ตัว แล้วก็ทำความเข้าใจให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงให้ชัดเจน หายใจเข้าออกเป็นอย่างไร หายใจยาวเป็นอย่างไร หายใจละเอียด หายใจหยาบเป็นอย่างไร
[00:36] พวกเราขาดการทำความเพียรตรงนี้กันมากเลยทีเดียว ทั้งที่ใจก็เป็นบุญนั่นแหละ ใจปรารถนาอยากจะรู้ธรรม การเกิดของใจนั้นเขาก็หลงแล้ว การเกิดการปรุงการแต่งของใจยังไม่พอ ยังมีความคิด ยังมีขันธ์ห้า มาปรุงแต่งใจอีก ใจกับขันธ์ห้า เขารวมกันไปอีก แถมสติปัญญาส่งเสริมไปอีก ผิดก็ผิดไปเลย ถูกก็ถูกไปเลย ระดับของสมมติมันก็เป็นบุญอยู่ระดับของสมมติ
ในส่วนลึก ๆ นั้นเราก็ต้องพยายามแจงให้ออก ว่าการเจริญสติที่ต่อเนื่อง เน้นลงอยู่ที่กายของเรา ส่วนมากหลวงพ่อจะให้พยายามรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อให้มีสติรู้กายอยู่ปัจจุบัน เพราะว่าคนเราเกิดมาตั้งแต่เกิดก็หายใจแล้ว แต่เราขาดการสังเกต ขาดการวิเคราะห์ เราสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงให้ได้
[01:32] ขณะที่เรามีความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง การเกิดของใจนั้นเวลาเขาจะเกิดปรุงแต่งนั้นเขามีอยู่เดิม เพราะเขาหลงมานาน บางทีก็ความคิดก็ผุดขึ้นมา ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่องอยู่ปัจจุบันเราก็จะเห็น เห็นการก่อตัวของใจ เขาเกิดเร็วไวมากทีเดียว ทั้งความคิดกับใจเขาก็เคลื่อนเข้าไปรวมกัน
[01:54] เรารู้ไม่ทันต้นเหตุ เราก็พยายามควบคุมใจให้อยู่ในความสงบซึ่งเรียกว่า ‘สมถะภาวนา’ เราจะเอาคำบริกรรมเข้าไปกำกับก็ได้ หรือว่าเราจะกระตุ้นความรู้สึกอยู่ที่การหายใจให้ยาว ๆ ลึก ๆ ใจก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 จนกระทั่งกำลังสติของเรา ความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง มีกำลังเพียงพอพอที่จะเห็น เห็นการก่อตัวของใจ ขณะเคลื่อนเข้าไปรวมกับความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ
[02:28] ถ้าเรารู้เท่าทันตรงนั้นปุ๊บ ใจก็จะดีดออกจากความคิด ถึงเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ใจแต่ก่อนเขาคว่ำอยู่ เขาก็จะหงาย เขาก็จะแยกของเขาเองถ้าเรารู้เท่าทัน เหมือนกับขโมยจะเข้าบ้าน ถ้าเจ้าบ้านรู้เห็นขโมยกำลังจะเข้าบ้าน เขาก็จะรีบกระโดดหนีทันที ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราสังเกตทันปุ๊บ ใจจะพลิกออกจากความคิดตรงนั้นหงายขึ้นมา ใจก็จะว่าง ว่างจากความคิดตรงนั้น กายก็จะเบา ความรู้ตัวของเราก็ตามเห็นการเกิดการดับของความคิด เขาเรียกว่า ตามดูความคิด ตามดูอารมณ์ หรือว่ากองสังขารในขันธ์ห้าของเรา
[03:12] มันเป็นเรื่องอะไรที่มาปรุงแต่งใจ บางทีก็เป็นเรื่องอดีต บางทีก็เป็นเรื่องอนาคต บางทีก็เป็นกลาง ๆ บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็เป็นอกุศล เขาไปรวมกันจนเป็นตัวเดียวกัน เราก็เลยว่าเราคิด เราทำ ทำตามความคิด ทำตามอารมณ์ โดยที่ยังหลงอยู่
[03:34] สิ่งพวกนี้เป็นของละเอียดมากมายจริง ๆ ถ้าเราไม่สังเกตวิเคราะห์ แล้วก็สร้างตบะสร้างบารมีให้ใจของเราเบาบางจากความโลภ ความโกรธ ความอยาก เบาบางจากการเกิด หัดสังเกตหัดวิเคราะห์อยู่บ่อย ๆ ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่มีความรู้ ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่รู้ไม่เห็น เอาเรื่องของเราให้จบ ทำหน้าที่ของเราให้ดี มีไม่มากถ้าเราสนใจ ขัดเกลากิเลสออกจากจิตจากใจของเรา
[04:02] ความเกิด เขาเกิด ใจทำไมถึงเกิด ขันธ์ห้าทำไมถึงมาปรุงแต่งใจ กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร นิวรณ์ต่าง ๆ นิวรณธรรม ตัวละเอียด ตัวมลทินต่าง ๆ เป็นอย่างไร เราก็ต้องวิเคราะห์ แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ มีอยู่ได้เป็นบางช่วงบางครั้งบางคราว บางทีเราอาจจะควบคุมใจของเราได้เป็นบางเรื่อง
[04:29] ในหลักธรรมแล้วต้องรู้ทุกเรื่อง ทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ตามดูรู้ความจริง ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ อันนี้คือส่วนรูป อันนี้คือส่วนนาม อันนี้คือโลกธรรม กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหก ทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณในกายของเราทำหน้าที่อย่างไร เราต้องแจงให้ออก บอกให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อะไรคือสติปัญญา สติที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นอย่างไร [04:59] กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกจากความคิด ถ้าแยกได้ทำความเข้าใจได้ นั่นเขาเรียกว่า วิเวกจากขันธ์ห้า วิเวกจากความคิด
[05:10] เราละกิเลสได้ระดับไหน ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ มีสิ่งที่เหลืออยู่คือความว่าง ความบริสุทธิ์ ความรู้สึกรับรู้ของใจนั้นมีอยู่ เราก็ต้องพยายามปฏิบัติธรรม ไม่เข้าใจในธรรมเพราะว่าความหลงยังปิดกั้นเอาไว้อยู่ วิบากกรรมยังปิดกั้นเอาไว้อยู่ เราพยายาม ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่
[05:38] ใจเดิมแท้นั้นไม่มีกิเลสหรอก เขาสะอาด เขาบริสุทธิ์ เราต้องฝืน ใหม่ ๆ ก็ต้องฝืนเพราะเขาหลงมานาน เขาเกิดมานาน มีกันทุกคน มีขันธ์ห้า มีวิญญาณกันทุกคน อย่าไปปิดกั้นตัวเรา
[05:52] การทำบุญให้ทานพวกเรามีโอกาสได้สร้างบุญร่วมกันอยู่ตลอดเวลา แต่การชำระกิเลสนี่ต้องแต่ละบุคคล เป็นตัวของเราเอง ยืน เดิน นั่ง นอน พยายามประคับประคองสติให้รู้ตัวทุกอิริยาบถ ไม่ใช่ว่าจะไปตั้งใจทำ ตั้งใจนั่ง ตั้งใจเดิน อันนั้นในหลักธรรมท่านก็ผิดแล้วแหละ เพราะว่าความตั้งใจนั้นใจมันเกิด ปิดกั้นตัวเขาเอาไว้หมด
[06:17] เราต้องตั้งสติ หรือว่าสร้างความรู้ตัว ให้รู้เท่าทัน รู้ไม่ทันเราก็หยุดเอาไว้ ตรงนี้แหละ เราเปลี่ยนจากตัวใจมาเป็นตัวสร้างสติ เข้าไปดับ เข้าไปควบคุม เข้าไปสังเกต เข้าไปวิเคราะห์ เข้าไปอบรมใจ ท่านถึงบอกว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ‘ตน’ แรกคือตัวสติที่เราสร้างขึ้นมา ‘ตน’ ตัวที่สองคือใจ ใจเราต้องไปคลายจากความหลงเสียก่อน ชี้เหตุชี้ผลแล้วก็ละกิเลสให้มันได้ ดับความเกิดให้มันได้
[06:46] พูดง่าย แต่การกระทำต้องขยัน ต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา อาศัยความเพียร อาศัยการสร้างตบะบารมี ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบกันเข้า เหมือนกับบันไดจะขึ้นตัวเรือน ก็ต้องอาศัยลูกบันได อาศัยราวบันได จะเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปตั้งเอาไว้ก็ไม่ใช่บันได เราก็เหมือนกัน การปฏิบัติใจก็เหมือนกัน