แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 8
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจนกัน ให้ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาถึงเรายังไม่ได้สร้างความรู้ตัวก็สร้างเสียนะ ขณะที่เรากำลังนั่งฟังอยู่นี้แหละ ไม่ต้องพนมมือ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย หลวงพ่อก็เพียงแค่เล่าให้ฟัง แค่ชี้แนะแนวทางให้ พวกท่านจงพยายามสร้างขึ้นมา
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ สักสองสามเที่ยว หายใจให้เป็นธรรมชาติที่สุด
เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก พวกเราก็ขาดการสร้างความรู้ตัวตรงนี้ จะไปนึกเอา ไปคิดเอา ทั้งที่ใจก็เป็นบุญปรารถนาอยากจะได้บุญ ปรารถนาอยากจะรู้ธรรม แต่การเกิดของใจนั้นเขาไม่นิ่ง การเกิดของใจนั้น เขาส่งออกไปภายนอก เขาเรียกว่า ‘สมุทัย’ สาเหตุแห่งทุกข์ ส่งออกไปภายนอกก็ยังไม่พอ ยังมีความคิด ที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ ซึ่งเรียกว่า ‘อาการของขันธ์ห้า’ ใจกับความคิด ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมเขารวมกันอยู่ ตรงนี้แหละ เราแยกแยะไม่ได้ เราก็เลย การคิดเราก็รู้ การทำเราก็รู้อยู่ แต่หลงอยู่ในความรู้
พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกให้เจริญสติ ลักษณะของคำว่า ‘สติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน’ เรารู้ไม่เท่าทันใจของเรา ก็ขอให้รู้กายของเราเสียก่อน รู้ลมหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง ให้เกิดความเคยชิน จนชำนาญ จนรู้เท่าทันการเกิดของใจ
ลักษณะของใจ ใจที่ไม่เกิดเป็นลักษณะอย่างไร ใจที่ไม่มีกิเลส เป็นลักษณะอย่างไร อาการของความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ ทำไมใจถึงเคลื่อนเข้าไปรวมจนเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วไปด้วยกัน
นี่แหละเราต้องมาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง รู้เท่าทันการเกิดการดับ รู้ไม่ทัน เราก็รู้จักหยุด รู้จักดับเอาไว้ ช่วงใหม่ ๆ ก็อาจจะเป็นการฝืน เพราะว่าความเคยชิน ความคิดเก่า ปัญญาเก่าที่เราเคยมีเคยใช้อยู่ ตรงนั้นเราชำนาญ แต่การเจริญสติตัวใหม่นี้ เรายังไม่ชำนาญ ส่วนมากก็พลั้งเผลอ
พลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ ๆ ถ้ากำลังสติมีเพียงพอ เขาก็จะเห็น เห็นการเกิดของใจ เห็นการรวมของใจกับขันธ์ห้า ถ้าเรารู้เท่าทันตั้งแต่การเกิด เขาก็จะแยกออกจากกัน ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ นี่แหละ เขาเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็น ความเห็นที่ถูกคือ ‘เห็นใจ เห็นอาการของใจแยกออกจากกัน’ ไม่รวมกัน แล้วตามทำความเข้าใจ
ใจของเราก็จะหงายขึ้น ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ซึ่งเรียกว่า ‘พลิก’
อันนี้เราต้องไปทำ ไปรู้ไปเห็น ไปตามดู ท่านถึงบอกไว้ว่า ‘ให้รอบรู้ในกองสังขาร’ ก็รอบรู้ในความคิด รอบรู้ในอารมณ์ รอบรู้ในกายของเรา แล้วก็รอบรู้ใน ‘โลกธรรมแปด’ ลาภยศ สรรเสริญ สุขทุกข์ นินทา ที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เวลานี้เราทำภารกิจหน้าที่ภายในของเราให้จบเสียก่อน คือภายในใจของเราละกิเลสออก ได้บ้างไม่ได้บ้างก็พยายามละ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ปรับปรุงตัวเราใหม่ พร่ำสอนตัวเองใหม่
อะไรที่จะเป็นประโยชน์ เราพยายามทำ ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล อะไรที่จะเป็นอกุศล เราพยายามห่างไกล ไม่สร้างขึ้นมา สร้างเฉพาะประโยชน์ ยังประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ภายในให้ถึงจุดหมายกันให้ได้กันเสียก่อน ไม่ถึงวันนี้ ก็ต้องถึงพรุ่งนี้ ไม่ถึงวันพรุ่งนี้ ก็มะรืนนี้เดือนหน้าปีหน้า ไม่ถึงจริง ๆ ก็ไปต่อเอาภพหน้า
เราพยายามอย่าไปทิ้งในการทำบุญ ในการให้ทาน ในการแก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องพยายามทำใจของเราให้สะอาดให้บริสุทธิ์ให้หลุดพ้น อยู่ในความบริสุทธิ์ อยู่ในความว่าง คือ ‘วิหารธรรม-เครื่องอยู่ของใจ’ อยู่ที่ไหนก็จะมีความสุข
สมมติภายนอก เราก็อาศัยสมมติได้อยู่ในระดับหนึ่ง เพื่อความสะดวกสบายของกาย ของโลก แต่ในทางธรรมแล้วเราต้องพยายามดูใจของเราให้ละจากกิเลสให้หมด ให้อยู่ในเครื่องอยู่ คือ ‘ความว่าง’ ‘ความบริสุทธิ์ ‘ความหลุดพ้น’ ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น แม้แต่ใจของเราก็ต้องวาง รู้ธรรมแล้วก็วางธรรม นั่นแหละเราก็จะอยู่กับธรรม เราก็จะอยู่กับบุญ
พยายามอย่าไปทิ้งบุญ มีโอกาสให้สร้างบุญสร้างกุศล ตั้งแต่ทำกายให้เป็นบุญ ทำวาจาให้เป็นบุญ ทำใจให้เป็นบุญ ทำมากก็เป็นของเรา ทำน้อยก็เป็นของเรา เราไม่ได้ทำ เราอนุโมทนาสาธุ เราก็มีอานิสงส์แห่งบุญร่วมในบุญนั้น ๆ ด้วย เราก็พยายามนะ อย่าพากันทิ้งในการทำบุญ
สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักพักหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน ค่อยไปทำความเข้าใจต่อกันนะ