แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : วันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ พุทธวิธี (ลัดตรง) สร้างสุข (ที่นี่และเดี๋ยวนี้) อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้นำแนวคิดหรือว่าประสบการณ์ ประสบการณ์ชีวิตของท่านมาถ่ายทอดมาบอกเล่า นัดนี้เป็นนัดที่ ๘ ท่านตั้งใจมาพูดเรื่องธรรมโอสถ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรรมภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิหมอชาวบ้าน มูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมกับทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสวนโมกข์กรุงเทพ เริ่มมีคำถามแล้วนะครับอาจารย์ว่า ครบ ๑๒ แล้วจะมีต่อไหม เป็นคำถามที่ ๑ อันที่ ๒ มีคนบอกว่าเวลาน้อยไปหน่อย คำถามอาจารย์ตอบไม่หมดคราวที่แล้วอาจารย์ยังค้างเรื่องสมองส่วนโน้นส่วนนี้ เพราะฉะนั้น นัดนี้จะเป็นการเก็บของเก่าสักนิดหนึ่ง แล้วก็ฟังท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ทั้งท่านที่มาสวนโมกข์กรุงเทพ และท่านที่ติดตามออนไลน์ ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เกริ่นสักประมาณ ๔๕ นาที จากนั้น ก็เป็นการสนทนาถาม-ตอบ จนถึงเวลาประมาณบ่ายสามโมงพอดี ถ้าหากว่าท่านใด ติดตามมาแล้วหลายรอบ มีคำถามค้างหรือมีคำถามใหม่เกิดขึ้นมาก็เตรียมไว้ตอนท้าย ๗ ครั้งที่ผ่านมาเราพบว่าอาจารย์หมอประเวศ วะสี ความจำแม่นมาก และจำดีกว่าผมอีก มีการเตรียมการมาเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ นัดนี้มีท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช และตอนนี้เป็นประธานหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ด้วย และอีกคนสำคัญที่นั่งอยู่ที่นี่ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และคณะ และมีแขกใหม่อีกท่านหนึ่งที่ช่วยงานอาจารย์หมอประเวศ วะสี เยอะมาก คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ก็มาอยู่ที่นี่ด้วย และท่านอื่น ๆ ที่ผมจำไม่ได้ ขอเรียนเชิญอาจารย์หมอประเวศ วะสี ธรรมโอสถ คิริมานนทสูตร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ขอเป็นเรื่องสมองก่อน
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ขอเรียนเชิญครับอาจารย์ครับ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ท่านผู้ที่สนใจในพุทธรรม ทั้งที่อยู่ในห้องนี้ ทั้งที่อยู่ออนไลน์ หรือจะฟังคลิปวิดีโอภายหลังก็ตาม ทุกท่านครับ
วันนี้จะกล่าวเรื่องธรรมโอสถ ธรรมรักษาโรค แล้วก็มีสมาชิกท่านหนึ่งมาดักที่ตามทางคราวที่แล้ว ว่าอยากให้พูดเรื่องสมอง เรื่องสมองกับเรื่องธรรมะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากเป็นเรื่องที่ดี สมองของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์ อย่างมนุษย์กับชิมแปนซี มี DNA ที่ต่างกันเพียงเปอร์เซ็นต์กว่า ๆ เท่านั้น ร้อยละ 98 เหมือนกับลิงชิมแปนซี แต่เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ ทำให้เกิดความแตกต่างกันเยอะในเรื่องสมอง สมองของมนุษย์จะมาจากส่วนที่เป็นสัตว์ มีการวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นลำดับ สมองส่วนแรกที่สุดผ่าสมองออกมาเห็นด้วยตาเปล่าเลยว่าเป็นสามชั้น ชั้นในสุดและอยู่ข้างหลังสุดตรงท้ายทอยต่อขึ้นมาจากไขสันหลังเป็นสมองชั้นในที่สุดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน เรียกว่า reptilian brain และสมองชั้นที่สอง สมองชั้นกลาง มาจากสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม Limbic brain แล้วก็มีสมองมนุษย์งอกออกมาใหญ่มาก เขาเป็นห่วงเด็กสมองโตตั้งแต่ทีแรกจะคลอดได้อย่างไร เพราะหัวใหญ่มาก แต่ธรรมชาติก็มีวิธี สมองชั้นในชั้นหลังสุด ทำหน้าที่เกี่ยวกับ survival เพื่อความอยู่รอด เช่น การกินอาหาร การหายใจ หัวใจเต้น การหลบภัย การสืบพันธุ์ การต่อสู้ การแย่งชิง การหลอกลวงทุกชนิด สัตว์เลื้อยคลานมันหลอกลวงได้นะ กิ้งก่าเปลี่ยนสีได้เห็นไหม เพื่อที่จะหลอก เพื่อที่จะหลบภัย เพราะฉะนั้นสมองส่วนหลังมีความจำเป็นสำหรับการอยู่รอด มนุษย์อย่างที่เป็นมนุษย์ปัจจุบันที่เรียกว่า โฮโมเซเปียนส์ (Homo Sapiens) หรือที่เรียกว่า “มนุษย์ปัจจุบัน” มีอายุประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ - ๓๐๐,๐๐๐ ปี เอาเป็นว่า ๒๐๐,๐๐๐ ปี แต่บางครั้งเขาก็มีการขยับขึ้นไป ๑๙๐,๐๐๐ ปี เป็นชีวิตที่อยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ คือ เป็นคนป่าล่าสัตว์ ที่เขาเรียก hunter ล่าสัตว์กับเก็บของป่าเอามากิน ๑๙๐,๐๐๐ ปี พบเทคโนโลยีเกษตรกรรมเมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปี ต้องอยู่กับที่เดิมเคลื่อนที่ไล่ตามสัตว์ไปเรื่อย ๆ ไม่อยู่เป็นที่ พอพบเกษตรกรรมก็ต้องรอการเพาะปลูกเพื่อให้พืชเจริญเติบโตขึ้นรอการเก็บเกี่ยวก็เลยต้องตั้งบ้านเรือนให้อยู่เป็นที่ ก็เกิดหมู่บ้านเกษตรกรรมขึ้นเมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปี ศาสนาต่าง ๆ เกิดในยุคเกษตรกรรม พอประมาณ ๕๐๐ ปี ชาวยุโรปค้นพบการหาความรู้ด้วยทางวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่คมชัด ลึก และนำไปทำเทคโนโลยี ก็มีอำนาจขึ้นมา ใช้อำนาจที่มีเข้าแย่งชิง และกลายเป็นอารยธรรมปัจจุบันซึ่งมีอายุประมาณ ๕๐๐ ปี เป็นคร่าว ๆ
สมองมนุษย์ถูกโปรแกรมมาช่วง ๑๙๐,๐๐๐ ปี เพราะต้องเผชิญกับสัตว์ร้าย เผชิญกับคนต่างกลุ่ม ถ้าไม่มีตัวนี้ก็เอาชีวิตไม่รอด มันเป็นอนัตตาไม่ได้หรอกช่วงนั้น ตายลูกเดียวมันต้องมีอัตตา อัตตาก็มีความจำเป็นที่ทำให้รอดชีวิต เพราะฉะนั้นก็โปรแกรมสมองมาทำให้คิดแบบนั้น Mammalian brain เป็นส่วนที่เกี่ยวกับกับอารมณ์ ความรู้สึก ชอบไม่ชอบ มีความกลัว มีอะไรต่าง ๆ จระเข้สัตว์เลื้อยคลานมันไม่มีอารมณ์ มันไม่มีน้ำตา ที่เขาพดูกันว่าให้ไปหาน้ำตาจระเข้ มันไม่มีน้ำตาหรอก ถ้ามันหิวลูกมันก็ตะปบกินได้ทำด้วยสัญชาตญาณ
เมื่อมนุษย์พบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีอำนาจขึ้นแต่สมองสัตว์เลื้อยคลานยัง dominate อยู่ก็ไปแย่งชิง ไปปล้น ไปฆ่าเขาทั่วโลกเลย ซึ่งคิดดูแล้วไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะทำได้ เพราะเราคิดจากมนุษย์ปัจจุบันไปไล่ฆ่าอินเดียนแดง ไปไล่ชาวพื้นเมืองที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยังกับยิงจิงโจ้เลย เมืองอัมริตสา อินเดีย ทหารอังกฤษใช้ปืนกลยิงคนที่ชุมนุมเข้าไป ถ้าให้คนอินเดียโกรธพูดคำว่า “อมริสา” ซ้ำ ๆ คนอินเดียจะโกรธมาก ยังจำได้ว่าทหารอังกฤษยิง หรือกองพันจีนถือง้าวเป็นอาวุธถือทวนเป็นอาวุธ อีกข้างใช้ปืนกลยิงตายหมดทั้งกองพันเลย ไปเผาพระราชวังหยวนหมิงหยวนที่สวยงามถ้าใครไป เชี่ยวชาญเรื่องวังกู้กง วังหยวนหมิงหยวนโดนทหารฝรั่งเศสกับทหารอังกฤษเผา ปล้น เกิดการแย่งชิงไปทั่วโลก และสร้างมั่งคั่งให้กับประเทศยุโรป ยุโรปมีการพัฒนาแบบนั้นว่ามีความรู้ มีอำนาจ แย่งชิง และต่อมาการแย่งชิงเป็นการแปรรูปไปต่าง ๆ แต่ยังเป็นการแย่งชิงทั้งนั้น เรื่องการค้าเสรี หรือเรื่องอะไรต่าง ๆ เพื่อจะไปดูดทรัพยากรต่าง ๆ มา
สมองส่วนหน้า (Forebrain) อยู่ตรงหลังหน้าผาก เกี่ยวกับสติปัญญา วิจารณญาณ ศีลธรรม การบรรลุธรรม สมองส่วนหน้า ที่ตรงนี้เองคนโบราณที่ไม่รู้วิทยาศาสตร์ จะรู้ จะค้นพบ อย่างคนอินเดียที่ทำสมาธิเยอะ ๆ เริ่มมาก่อนสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาลแล้ว คนอินเดียอย่างฤาษี มุนี โยคี ที่มีการทำสมาธิกันมาเยอะ ๆ เขารู้ว่าจุดพระเจ้าอยู่ตรงนี้ ที่เอาสีแดง ๆ ป้ายตรงนี้ เป็นจุดพระเจ้า เป็นที่ติดต่อกับพระเจ้า แล้วบางคนบอกว่าเวลาทำสมาธิตรงนี้จะร้อน ด้วยวิยาศาสตร์มีการค้นคว้าทางสมองจำนวนมาก มีเครื่องดูสมอง ที่เรียกว่า brain imaging machine สามารถเห็นเลยว่าตรงไหน active ตรงไหนแดงวาปขึ้น ตรงไหนมีความโลภ ตรงไหนมีความ active ที่ทำมากแห่งหนึ่ง คือ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคนชื่อเดวิสันที่มีเครื่องมือและดำเนินการวิจัยเหล่านี้ ไปเอาพระธิเบตที่เจริญสติมามากมายมาเข้าเครื่องตรงนี้แดงหมดทุกองค์เลย และเคยมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ลอสแอนเจลิส เกิดคาร์แอคซิเดนท์ หน้าผากยุบเคยมีศีลธรรม ก็กลายเป็นไม่มีศีลธรรมตกลงมีความเกี่ยวข้องกันเรื่องสมองกับเรื่องจิตใจ ตอนนี้มีการวิจัยกันมากมายเลย ถ้าใครอยากอ่านเรื่องสมองกับการเจริญสติมีเล่มหนึ่งออกมาหลายปีแล้วเกือบประมาณ ๓๐ ปีแล้ว โดยซีเกลที่อยู่ที่ลอสแอนเจลิส เขียนมาเล่มหนึ่ง the mind full brain แล้วบอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างลองอ่านดูนะถ้าชอบ และมีอีกเล่มหนึ่งดี ๆ ชื่อสมองแห่งพุทธะ (Buddha's Brain) เขียนโดยนักจิตวิทยาทางประสาทจิตวิทยา ผู้เขียน Richard Mendius (ริชาร์ด แมนดิอัส) น.พ. Rick Hanson (ริค แฮนสัน) ทั้งสองคนมีความเชี่ยวชาญด้านระบบประสาท แต่ทั้อสองคนทำกรรมฐานมาหลายสิบปี แล้วรู้เรื่องหมดเราพูดกันสองคนนี้รู้หมดแล้ว เรื่องสติ สมาธิ ปัญญา เรื่องอุเบกขาหรือว่าเรื่องอะไรเขารู้หมด มีความเชี่ยวชาญมากเพราะว่าเขาทำกรรมฐานมานานมากมาหลายสิบปี เขียนเรื่องสมองแห่งพุทธะ (Buddha's Brain) ไว้ดีมาก อธิบายเรื่องสมองและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร สรุปคือจิตไปสร้างโครงสร้างสมองใหม่ เวลามีการเจริญสติมันเข้าไปเปลี่ยนแปลงสมองอย่างไร เวลาการนั่งสมาธิมันจะไปเปลี่ยน pass way ใหม่ของสมองอย่างอุเบกขา มีการอธิบายไว้ว่าเป็นส่วนไหนของสมองที่ทำหน้าที่เป็นการกล่าวไว้ดีมาก ๆ และเขาได้มีการอธิบายเรื่องการปฏิบัติธรรมในเล่มนี้ ถึงไม่เข้าใจเรื่องสมองแต่ก็มีความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรม ได้ออกมานานแล้ว ผมเพิ่งเห็นคนโฆษณาและให้เขาได้ไปช่วยซื้อมาอ่านแล้วดีมาก ๆ สมองแห่งพุทธะ ชื่อภาษาไทย คนแปลเป็นไทยเก่งมากชื่อ ดร. ณัชร สยามวาลา เป็นมุสลิมแต่ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๕๐ กว่าครั้ง มีความเข้าใจเรื่องราวตลอดหมดและใช้ศัพท์เหมือนพระไตรปิฎก ่น่าจะชวนมาคุยสักที่นะ ดร. ณัชร สยามวาลา เขาแปลเก่งมาก เพราะเขามีความเข้าใจเรื่องนี้ดี และคนเขียนทั้งสองคน Richard Mendius (ริชาร์ด แมนดิอัส) น.พ. Rick Hanson (ริค แฮนสัน) ก็ปฏิบัติธรรมมาอธิบายเหมือนกับที่เราคุยกันนี่แหละ สมาธิ สติ ปัญญา ตกลงจิตมีอำนาจเหนือวัตถุจริง ๆ จิตล้วน ๆ ที่เป็นกระแสคลื่น ถ้าใครรู้ quantum physics ก็จะไม่แปลกใจ ว่ากระแสจิตมันไป จิตกับวัตถุมีการเชื่อมกัน เป็นเรื่องเดียวกัน เรื่อง quantum physics ถ้ามีโอกาสตอนหลัง ๆ จะพูดถึงเรื่อง quantum physics กับเรื่องจิตใจมันเป็นวิทยาศาสตร์ใหม่ที่เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ของทั้งหมดทั้งจักรวาลมีการเชื่อมโยงกันหมดแล้วไม่มีอะไรหยุดยั้งแยกส่วน
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ก่อนไปเรื่อง quantum physics และเรื่องธรรมโอสถ อาจารย์ขมวดอีกหนึ่งได้ไหมครับ เมื่อสักครู่อาจารย์กล่าวถึงเรื่องสมองสัตว์เลื้อยคลาน เรื่องสัญชาตญาณ สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ว่าด้วยอารมณ์ และสุดท้ายก็ว่าด้วยเรื่องสติปัญญาซึ่งอาจารย์โยงถึงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แล้วก็กลับไปใช้สมองสัตว์เลื้อยคลานต่อสู้และเบียดเบียนกัน อาจารย์ลองโยงหน่อยว่าเราจะอยู่อย่างไรให้สมองของเราทั้งสามส่วนอยู่อย่างสมดุลทั้งภายในตัวเราด้วยนะ ไม่ใช่อยู่ ๆ แล้วสัตว์เลื้อยคลานโผล่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ตรงนี้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาตรงนี้อย่างมาก ณ ขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์ในอเมริกา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ร่วมกับในยุโรป ๔,๐๐๐ คน กำลังขับเคลื่อนเรื่อง IDG เขาบอกว่าเรื่อง Sustainable Development Goals (SDGs) ไม่มีท่าว่าจะสำเร็จหรอก ถ้าไม่พัฒนาภายใน IDG คือ Inner Development Goals เขากำลังขับเคลื่อนน่าจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะฉะนั้นถึงได้กล่าวว่าประเทศไทยต้องเตรียมตัวเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ที่บอกยุให้ทำภาพยนต์เรื่อง Thailand in mind full countries พอพูดถึงเรื่องนี้คนที่ชอบดูภาพยนต์มาก คือ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ภาพยนต์มีอิทธิพลต่อคน และคนชอบมากดูหนังทุกชาติทุกภาษา เรามีขอ
ดี ๆ แต่ไม่รู้จักเอามาทำภาพยนต์ มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีการทำภาพยนต์เอาความรู้ เอาอะไรต่าง ๆ ไปฉายทุกตำบล ผมกำลังยุมาพักหนึ่งแล้วว่าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกตำบล น่าจะทำศูนย์เรียนรู้ตำบล ประกอบด้วยสัก ๕ เรื่อง เชื่อมโยงกัน คือ มีห้องสมุดตำบล มีอินเตอร์เน็ท หนึ่งมีห้องสมุดตำบล สองมีพิพิธภัณฑ์ตำบล มีค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมตำบล และเอามาทำพิพิธภัณฑ์ ทุกตำบลเลยก็จะทำให้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหมดเลยซึ่งเป็นความสำคัญมาก ทำให้คนรักท้องถิ่นและรวมตัวกัน เป็นพิพิธตำบลประกอบด้วยการวิจัย ที่จริงตำบลมีเครื่องมืออยู่แล้ว มี อบต. มีเทศบาลตำบล มีพนักงานที่จบมหาวิทยาลัยทั้งหมดเลย ๓๐๐,๐๐๐ กว่าคน พนักงานท้องถิ่นน่าจะทำอะไรต่อไรได้ ถึงยุให้หมอบัญชาฯไปทำที่บ้านเกิด สามน่าจะมีศูนย์ศิลปตำบล สำหรับการแสดง ศิลปะ ฉายภาพยนต์ดี ๆ ดูกัน การดูภาพยนต์เดียวนี้เป็นการดูส่วนตัวก็ได้ แต่มี corrective psychology ถ้ามีการดูพร้อมกันที่โรงมันมีกระแสจิต เพราะฉะนั้นศูนย์ศิลปตำบลควรจะมีหนังดี ๆ ฉาย ที่จริงวัดบางวัดก็มี support มหาวิทยาลัย เทรนด์ขึ้นการทำหนัง มหาวิทยาลัยเรามี ๑๔๐ แห่ง น่าจะมีการทำภาพยนต์ มีเทคโนโลยี มีศิลปะมีอะไรต่ออะไร และมหาวิทยาลัยขณะนี้ที่มีเครื่องมือทำภาพยนต์ดีที่สุด คือ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังยุว่าที่นี่ไปทำร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนั้นยังมีศูนย์กีฬาตำบลเล่นกีฬา แข่งกีฬากัน ระหว่างชุมชนแต่ละตำบลมี ๑๐ หมู่บ้าน และอีกเรื่องหนึ่ง คือ อันที่ ๕ มีศูนย์เรียนรู้พิเศษ ใครอยากเรียนอะไร ใครอยากสอนอะไรก็มาทำกัน เรามี ๘,๐๐๐ กว่าตำบลให้ไปเคลื่อนไหวธรรม มีศูนย์ตำบลการเรียนรู้ ๕ ชนิด รอบ ๆ ก็มีตลาดชุมชน ขายของขายอะไรอีก ให้ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ไปทำ
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : จะครึ่งชั่วโมงแล้วอาจารย์เดียวไม่ได้เข้าธรรมโอสถ สมองด้วย อาจารย์ลองขมวดสมองสักนิดหนึ่งเพื่อสรุปเรื่องสมอง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : เอาเรื่องก่อนนะแล้วค่อยเลี้ยวมาที่หลัง คราวหน้าจะคุยเรื่องสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติ complete wellbeing of mankind around the world เป็นองค์กรอันสูงส่งทางมนุษยธรรมแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ตอนนี้เรามีเครื่องมือที่ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไปแล้ว ประเทศไทยมีเครื่องมือ ๘ ส. ในประเทศไทย คือ ส. ๑ คือ กระทรวงสาธารณสุข ส. ๒ คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ส. ๓ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส. ๔ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส. ๕ คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ส. ๖ คือ สถาบันพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) ส. ๗ คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ส. ๘ คือ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มีนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มีพลังอย่างมหาศาลที่จะทำตรงนี้ คือ การปฏิรูปประเทศไทยทั้งหมดมีการทำกันเยอะ มีการปฏิรูปแห่งชาติหรือว่ามีอะไรไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จ นอกจากการปฏิรูประบบสุขภาพ ตอนนี้เรามีเครื่องมือพร้อม เงินก็มีพร้อมอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาคิดนวัตกรรมทางสังคม ผมเป็นคนให้โจทย์นายแพทย์สุภกร บัวสาย เขาเรียกว่าใช้วิธีทางการเงินการคลังเพื่อสังคม แล้วก็ไม่ต้องรบกวนเงินของรัฐบาล แต่ออกกฎหมายเก็บภาษีสูบบุหรี่กับดื่มสุราได้เงินมาปีละ ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท ราคาแพงขึ้นก็ไม่เป็นไรบุหรี่กับสุรา เพราะฉะนั้นประเทศ ผมอดเล่าเรื่องต่าง ๆ ไม่ได้ คราวหนึ่งไปประชุม world health organization (WHO) เรื่อง well health of planning มีหลายประเทศมาทุกประเทศก็มีความเห็นเหมือนกันหมดเลยว่าประเทศของเขา คือ ยากจนไม่มีเงิน จะทำอะไร มีปัญหาอะไรเยอะแยะมากเลย คราวนี้มีผู้แทนจากซาอุดิอาระเบียมาประชุมด้วย เขาบอกว่าที่ซาอุดิอาระเบียไม่มีปัญหาอยู่อย่างเดียวเลย คือ เรื่องเงิน ไม่ว่าประเทศจะยากจนอย่างไรก็ตามก็มีคนสูบบุหรี่กับคนดื่มสุรา แล้วก็ไปเก็บภาษีมา ถ้าราคาแพงขึ้นจะได้สูบได้น้อยลง แต่ว่าได้เงินมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ แล้วก็มี สปสช. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนจนทั้งประเทศเลย แต่ก่อนคนจนลำบากมาก สำหรับผมแต่ก่อนเป็นแพทย์อยู่ศิริราชพยาบาล คนจนเยอะมาก ไม่ไหวเลยบางคนต้องขายนา เป็นมะเร็งตับหมอไม่บอกว่าเป็นอะไร ญาติมาเยี่ยมอยู่เรื่อย ๆ ขายไร่ ขายนาไปหมด ตัวตายไม่มีที่ดินทำกินหมดตัวแล้ว เห็นเรื่องแล้วหน้ามืดเลยไม่รู้จะทำอย่างไร ผมก็ตัวคนเดียวหมอเด็ก ๆ ที่ศิริราชพยาบาล เจอคนหนึ่งมาจากอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พาลูกสาวที่เป็น SLE มาไปมา ๓ แห่งแล้วไม่หาย แล้วพอมาที่ศิริราชพยาบาล ก็ถามว่า “ป้าที่พาลูกไปทั้ง ๓ แห่งมาแล้ว คงใช้เงินไปหลายตังค์ซิ แล้วไปเอาเงินมาจากไหน พอถามแบบนี้ป้าน้ำตาร่วงเลย” แก่บอกว่า “ไปกู้เขามา ๓๐,๐๐๐ บาท เสียดอกร้อยละสิบถัง” คือ เงิน ๑๐๐ บาท ต้องเสียข้าว ๑๐ ถัง ก็ไม่มีจะกินแล้ว อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชายมาจากชัยภูมิ ก็บอกว่ามาไกลอย่างนี้แล้วมาอย่างไรเขาบอกเมียมาส่ง แต่ว่ารีบกลับไปแล้วลูกสาวอยู่บ้านคนเดียวกลัวจะถูกฉุดเมียต้องรีบกลับไปดูแลลูก แล้วตอนจะไปพูดกับแก่ว่า ถ้าแกหายแกหาทางกลับเอาเองนะ ถ้าแกตายเราก็จากกันแค่นี้ ฟังแล้วผมไม่รู้จะทำอย่างไรในสภาพนะ ก็ได้แต่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะได้ระบบสุขภาพที่ดีที่คนไทยได้รับการดูแล โดยไม่ต้องเสียเงินแล้วมันก็เป็นจริงขึ้นมาได้ที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ไปทำสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมาแล้วเรียนรู้นโนบายให้สำเร็จได้อย่างไร พอเขียนเรื่องวิธีขับเคลื่อนนโนบาย เขียนมาจากของจริง พวกที่เขียนเรื่องการจัดการในมหาวิทยาลัย เขาไม่เคยทำ เขาสอนแต่ทฤษฎี ผมรู้สึกว่าผมแก่แล้วได้ประสบการณ์ ได้ความรู้อะไรมาต้องเขียนไว้ให้คนรุ่นหลังใช้เป็นเครื่องมือ เรื่องนี้เอาไว้ก่อนนะอ่านก่อน ต่อมาเรื่องธรรมโอสถ
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ธรรมโอสถให้ไปอ่านกันเองไหมมีหนังสือ คิริมานนทสูตรก็มีหนังสือ ให้ไปอ่านกันเอง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ผมเอามา ๒ เล่ม ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นธรรมรักษาโรค และคิริมานนทสูตรเล่มหนึ่งและโพชฌังคปริตร ก็เคยกล่าวมาแล้วว่าผลของการเจริญสติเป็นอย่างไร ทั้งคนก่อนวิทยาศาสตร์กับการวิจัยทางวิทยาศาสร์ก็เจอว่าการเจริญสติทำให้ หนึ่ง เกิดความสุข เกิดสมองแจ่มใส่ การเรียนรู้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น และตอนหลังมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็เจอว่าระบบพาราซิมพาเทติกจะขึ้นมาเพื่อเกิดความสมดุลระหว่างประสาทอัตโนมัติสองระบบ คือ ระบบ Sympathetic คือตัวกระตุ้น กับระบบพาราซิมพาเทติกที่เป็นตัวระงับ ถ้ามีการกระตุ้นแรงเกินไปเกิดการใจสั่น ตื่นเต้นอะไรอย่างนี้ อันนั้นเป็นการกระตุ้นเพื่อการต่อสู้ แต่อีกอันหนึ่ง คือ การสงบระงับพาราซิมพาเทติก ทำใจเย็นสงบ สบาย การเจริญสติไปกระตุ้นระบบพาราซิมพาเทติก ตอนนี้คนนิยมทำกันเยอะมากในประเทศสหรัฐอเมริกาหนังสือ Time นำมาขึ้นปกหลายครั้งแล้ว mindfulness meditation บางครั้งใช้ Buddhist mindfulness meditation ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ดร.จอน คาบัต-ซินน์ ผู้ก่อตั้งเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกสติ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สอนการเจริญสติแบบพุทธ อ่านจากหนังสือ Time หลายปีมาแล้ว มีคนอเมริกันสมัครเรียน ๘๗,๐๐๐ คนแล้วที่นั่นเยอะไปหมดแม้แต่คนยิว ที่เขียนเรื่องเซเปียนส์ที่เขียนสามเล่ม ชื่อ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) เขาบอกว่าเขาทำวิปัสสนาวันละ ๒ ชั่วโมง บางที่เรียกวิปัสสนา บางที่เรียกเจริญสติ เกิดการแพร่หลายไปมากและสามารถคาดการณ์ได้ว่าต่อไปคนจะเจริญสติหมดทั้งโลก เพราะว่ามีแต่ได้อย่างเดียวได้โน่นได้นี่ ได้สุขภาพดีแล้วก็ แล้วเราก็จะเจอว่าพระที่ทำท่านก็จะเขียนเล่าไว้พอตอนท่านป่วย แล้วพอมีการทำเจริญสติ เจริญสมาธิก็หาย อย่างเช่นอาจารย์เทสก์ เคยเล่าว่าตอนหนุ่ม ๆ เคยมาตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชว่าน้ำท่วมปอดท่านก็บริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ ทั้งคืนเลย จิตสงบนิ่ง เช้ามาน้ำแห้งหมดสบายดี ท่านอาจารย์มั่นเองตอนธุดงค์อยู่ในป่าคราวหนึ่งเป็นไข้มาลาเรีย อยู่ในป่าไม่มียารักษาโรค ก็ทำสมาธิทำจนจิตนิ่งเหงื่อออกทั้งตัวเลยแล้วก็หายเลยที่เป็นไข้ทรมาน เรื่องนี้ก็ไม่แปลกอะไรถ้าเรารู้ว่าความเจ็บป่วยทุกชนิดที่มันทำให้ไม่สบาย คือ การเสียสมดุลทำให้ไม่สบายจากการเสียสมดุล การเจริญสติ เจริญสมาธิทำให้เกิดสมดุลก็หาย ความป่วยก็หาย การป่วยเป็นโรค ถึงแม้ว่าเป็นโรคถ้าเกิดความสมดุลมันก็สบายดี อย่างเราเป็นเบาหวานหรือเป็นความดันสูงถ้ามีการกินยาควบคุมความดันให้อยู่ปกติแล้วความดันไม่ได้หายมันก็ยังอยู่แต่มันไม่ได้ป่วย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเป็นโรคแต่ก็สุขภาพดีได้ถ้ามันเกิดความสมดุล เมื่อก่อนเราคิดว่าการมีสุขภาพดี คือ การไม่มีโรค ตอนนี้ไม่ใช่แล้วถึงไม่มีโรคก็ป่วยได้เยอะแยะไปหมดไม่มีโรค แล้วพวกเนี้ยหมอจะกลุ้มใจมากเลย เพราะเรียนมาเรื่องโรคอยู่ศิริราชพยาบาลเห็นเลย เพราะว่าหมอไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร แต่คนไข้บอกว่าป่วยหมอก็ดุคนไข้ว่าฉันตรวจฉันไม่เห็นเจอโรคแล้วคุณแกล้งทำนะ คนหนึ่งผมไปตรวจที่ศิริราชพยาบาล OPD card หนามากแปลว่ามาแล้วไม่หาย มาแล้วไม่หาย ผมก็คุยละเอียดมากเลยน้ำตาร่วงเลยบอกว่ามาทีไรก็โดนหมอดุว่าแกล้งทำ ตรวจไม่เจออะไรเลยป่วยจนเดินไม่ไหวต้องนั่งรถเข็น คราวนี้ตามหลักผมถ้าผมตรวจผู้หญิง ผมต้องถามถึงสามีเสมอเพราะสามีเป็นบ่อเกิดความทุกข์ของภรรยาที่สำคัญในทางกลับกันก็คงจะมีนะอย่างนี้ ผมถามถึงสามีนะคราวนี้ถูกใจมาก สามีเป็นนายทหารเจ้าชู้มากที่เขาเจ้าชู้ทำให้ฉันไม่สบาย ทุกข์ ผมบอกคราวหน้าพาสามีมาด้วยนะ คราวนี้มาจริง ๆ พาสามีมาด้วยไม่ต้องเข็นเตียงแล้วเดินมาแล้วมีหมอเป็นพวก ผมเป็นหมออยู่ที่ศิริราชพยาบาลมีความโชกโชนมากประสบการตรวจคนไข้เยอะมาก ผมได้เรียนรู้เยอะเรื่องราวต่าง ๆ ถึงเจอโรคก็สุขภาพไม่ดีได้ แต่ถึงเป็นโรคก็สุขภาพดีได้ ถ้าทำให้เกิดความสมดุล ตกลงบทบาทของธรรมะทำให้เกิดความสมดุล ไม่ว่าเป็นโรคอะไรดีทั้งนั้น แล้วมันไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย ภูมิคุ้มกันก็ไปเล่นงาน ปรีดาฯเขามีความชำนาญด้านภูมิคุ้มกัน คราวหน้าเชิญเขาพูดระบบภูมิคุ้มกันมีความสำคัญมาก มีการเชื่อมโยงกันทุกระบบ ไปเกี่ยวข้องกับสุขภาพดีและโรคภัยทุกชนิดเลย ทั้งโรคหัวใจ โรคสารพัดอย่าง บางคนว่าเป็นอายตนะภูมิคุ้มกันเนี้ย มันรับรู้จากทุกส่วนเลย
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : แล้วคิริมานนทสูตรกับโพชฌังคปริตร มีความเจาะจงอย่างไรครับอาจารย์ ผมต้องโยงมาเข้าประเด็นให้ได้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : หมดไปกว่าครึ่งชั่วโมงแล้ว คราวนี้ที่มีความรู้จักกันดีก็มีคิริมานนทสูตรมีในพระไตรปิฎก และโพชฌังคปริตร คิริมานนทสูตรมีเรื่องอยู่ว่าครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สาวัตถี มีพระองค์หนึ่งชื่อพระคิริมานนท์ป่วยหนักพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าเชิญเสด็จไปเยี่ยมพระคิริมานนท์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าอย่ากระนั้นเลยอานนท์ เอาสัญญา ๑๐ ประการ ไปกล่าวให้พระคิริมานนท์ฟังแล้วเขาจะหายจากป่วย พระพุทธเจ้าได้ตรัสสัญญา ๑๐ ประการ ให้พระอานนท์ฟังก็เลยเป็นที่มาของสูตรนี้และสํานักพิมพ์เลี่ยงเชียงนำมาพิมพ์ไว้เป็นเล่มเล็กถนัดถือได้ง่าย ๒ เล่มนี้เรียกว่าพุทธฤทธิ์พิชิตโรค พระพุทธเจ้าได้พูดละเอียดเลยให้พระอานนท์ฟัง ๑๐ ประการ เรียกว่าสัญญา ๑๐ ประการ สัญญา คือ จำได้หมายรู้มาจากการกำหนดรู้
๑๐ ประการถ้าไปหาเล่มนี้มาอ่านได้จะดีมากหามาขายหรือว่าหมดไปแล้ว อันนี้ดีมากของสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงผมมีไว้ประจำที่โต๊ะที่หัวนอน แล้วก็อ่านเป็นคำของพระพุทธเจ้าเอง มีทั้งภาษาบาลีและคำแปลทั้ง ๑๐ ประการ เนื่องจากว่าเป็นพระสูตร พระสูตรส่วนใหญ่เริ่มว่า “เอวัมเม สุตัง” ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ คำว่า “เอวะ” แปลว่าดังนี้ คำว่า “เม” แปลว่า ข้าพเจ้า เอวัมเม สุตัง คำว่า “สุตัง” แปลว่า ได้ยิน เริ่ม เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง คำว่า “เอกัง” แปลว่า หนึ่ง คำว่า “สะมะยัง” แปลว่า สมัย เอกัง สะมะยัง สมัยหนึ่ง ภะคะวา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า “เอกัง สะมะยัง ภะคะวา” รวมแปลว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมือสาวัตถี ก็มีกล่าวไว้แต่จะไม่ต่อแต่ว่ามันดี เวลาอ่านก็นึกถึงพระพุทธเจ้า เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถี วิหะระติ แปลว่าประทับอยูที่สาวัตถี เชตวเน ที่วัดเชตวัน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม วัดที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้าง เริ่มต้นอย่างนั้นแล้วก็เล่าเรื่องพระคิริมานนท์ป่วย ส่วน ๑๐ ประการก็ดูตามข้างในแล้วกัน ส่วนหนึ่งไขกระดูกและสมองนับต่างหาก ถ้ารวมก็เป็น ๓๒ ถ้านับเป็นส่วนหนึ่งของไขกระดูกก็เป็น ๓๑ นั่นละ ไล่หมดเลยว่าทั้งหมดเป็นสิ่งปฏิกูลทั้งนั้นเลย เพื่อลดราคะจริต เพราะคนจะเห็นความสวยงามมันอยู่ที่ภาพรวม อย่างดอกไม้สวย ผู้หญิงสวยหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่พอมีการชำแหละตับ ไต ไส้ พุง มันก็หมดไปแล้ว เพื่อเป็นการลดราคะจริต อสุภสัญญา และอันที่ ๔ อาทีนวสัญญา เกิดการเจ็บป่วยเป็นโรค โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรบิด โรคจุดเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิด ฯลฯ ให้นึกถึงว่าร่างกายเต็มไปด้วยโรค เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั่นเอง ที่จริงในปกในเขาเอาลายมือท่านอาจารย์พุทธทาสมาพูดไว้ดีมาก การอบรมใจโดยไม่มีโรคได้ เขาเอามาลงไว้ดีดี๊ผมก็จะอ่านอยู่เรื่อย ๆ และอาทีนวสัญญา ห้า ปหานสัญญา ระงับนิวรณ์ต่าง ๆ กามฉันทะ พยาบาท วิหิงสา ประหารแปลว่าทำให้หมดเหมือนเป็นการประหารมันให้มันตายไป หก วิราคสัญญา เจ็ด นิโรธสัญญา สองบทเป็นธรรมอันสงบประณีต
เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตัง รู้สึกว่าที่นี่มันสงบเหลือเกิน ธรรมชาติมีความสงบละเอียด ที่นี่มันปราณีตเหลือเกิน เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตัง, ยทิทัง สัพพสังขาร สมโถ สัพพปธิปฏินิสสัคโค ตัณหักขโย, วิราโค, นิโรโธ นิพพานัง. และลงท้าย คือ ๑๐ คือ อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก และอย่างที่ท่านสอนอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอน อยู่ในนี้เลยถ้าอยากดู และขั้นตอนที่ีการบรรายครั้งที่แล้วก็อยู่ในนี้
เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตัง, ยทิทัง สัพพสังขาร สมโถ สัพพปธิปฏินิสสัคโค, ตัณหักขโย, วิราโค ลงท้ายด้วย วิราโค และอีกอันหนึ่ง เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตัง, ยทิทัง สัพพสังขาร สมโถ สัพพปธิปฏินิสสัคโค, ตัณหักขโย, นิโรโธ ลงท้ายด้วย นิโรโธ สองคำนี้บางครั้งเขาใช้คู่กัน จำตรงสมุทัยได้ไหม ตรงนิโรธ ที่บอกว่า ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ คำว่า “อะเสสะ” แปลว่าไม่มีเศษเหลือเลย คำว่า วิราคะนิโรโธ “วิราคะ” คือ จางคลาย “นิโรธ” คือ สงบ ระงับ หมด ไม่เหลือเศษเลย “ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ”
โพชฌงค์ ๗ เป็นบทสวดสำหรับช่วงที่คนป่วยหนัก เมื่อตอนผมเด็ก ๆ ย่าผมป่วย เขาก็ไปนิมนต์พระมาสวดโพชฌงค์ ผมจำคำนี้ได้แต่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร โพชฌงค์ ๗ มีเรื่องว่าตอนที่พระมหากษัตริษย์ พระมหากัสสปะกับพระโมคคัลลานะอาพาธพระพุทธองค์สวดโพชฌงค์ให้ฟังก็หายจากอาพาธ และคราวหนึ่งพระองค์ประชวรเองให้พระมหาจุนทะสวดโพชฌงค์ให้สดับ พอสดับก็หายประชวรก็แปลกใจว่าทั้งสามเป็นพระอรหันต์แล้ว พระมหากัสสปะ พระโมคคัลลานะ และพระพุทธองค์ ธรรมะก็รู้หมดแล้วทำไมยังให้คนมาสวดให้ฟังอีก รู้อยู่ในเนื้อในหนังในตัวเองอยู่แล้ว แต่มันก็เป็นความจริงว่าสวดให้ฟังแล้วหาย ก็เลยมานึกได้สิ่งที่คุยกับหมอสมศักดิ์อยู่เรื่อย ๆ ดูระบบ immune ที่เรียกว่า T-cells มี potential แต่ต้องการ Helper cell (Helper T-cells are a type of immune cell) เข้ามากระตุ้นมันถึงเกิด function ท่านเหล่านี้ก็อาจเช่นเดียวกันต้องการตัวกระตุ้นที่มีอยู่แล้วในตัว หมอสมศักดิ์กับผมเลยทำโดยใช้แนวคิดนี้ ทำเรื่องตัวช่วยลองสังเกตดูว่ามหาวิทยาลัยก็ตาม กระทรวงต่าง ๆ ก็ตาม ไม่สามารถริเริ่มทำเรื่องใหม่ดี ๆ ได้ ทั้ง ๆ ที่มีศักยภาพ แต่ถ้ามีตัวช่วยทำได้ เราเป็นตัวช่วยช่วยให้เรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องดี ๆ มันเกิด แต่ตัวช่วยต้องมีลักษณะที่มีความรู้ และไม่ทำเพื่อตัวเอง ถ้าทำเพื่อตัวเองคนเขาไม่อยากให้ช่วย ทำแล้วเดียวมาเอาเครดิตไปทำแล้วต้องไม่เอาเครดิต ไม่เอาอะไรเลย ไม่ทำเพื่อตัวเองเลย คนอยากให้ช่วยเยอะลองคุยกับหมอสมศักดิ์ดู บางทีเราก็เรียกหมอทำคลอดไปช่วยเรื่องทำคลอดดี ๆ ให้มันเกิดขึ้น มานึกว่าเอ๊ะทำไมเป็นพระอรหันต์แล้วต้องการตัวกระตุ้นอีกสวดโพชฌงค์
โพชฌงค์ ๗ ข้อที่ ๑ สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง ข้อที่ ๒ ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม ข้อที่ ๓ วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร ข้อที่ ๔ ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ ข้อที่ ๕ ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ ข้อที่ ๖ สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ และข้อที่ ๗ อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง อันที่ไม่ค่อยคุ้นเคย คือ ข้อที่ ๒ ธัมมวิจยะ ทั้ง ๆ ที่เรื่องไม่เคยนึกถึงมันเลยอยู่ ๆ มันก็โผล่ขึ้นเรื่องที่ไม่ได้นึกถึง เหมือนความฝันทำไมฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมาได้ บางทีสัญญามาเป็นสังขารมันต่อไปเป็นสังขาร อะไรต่าง ๆ นา ๆ แต่อะไรที่มันโผล่ออกมา ก็จับให้รู้ทันมัน ถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คล้ายกับข้อ ๑๓ - ๑๖ ในข้อธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอสติ สมาธิดีแล้ว ก็ต้องพิจารณาธรรม คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่อันนี้สังเกตไหมเป็นทางลัดมาเลย ใน ๑๖ ขั้นตอน ขั้นตอนที่ ๑ ๒ ๓ และ ๔ เป็นสติกับสมาธิ หลังจากนั้นก็เป็นวิปัสสนา ไปจนถึงข้อธัมมานุปัสสนา ๔ ข้อสุดท้ายจนถึงข้อ ๑๖ เป็นปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง และในนั้นก็ยังสามารถบอกว่าลัดได้ อันนี้ คือ ตรงนั้น จาก ๑ - ๔ สติ สมาธิ ที่จริงเอาสติอย่างเดียวด้วยซ้ำ ลัดมาปัญญาเลยตรงนี้ คือ ธรรมวิจยะ และต้องอาศัยวิริยะ วิริยะต้องมีการปฏิบัติถ้าท่องก็ท่องไปอย่างนั้นไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าปฏิบัติจริง ๆ จะเห็นว่าสำคัญ วิริยะต้องใจกล้า กล้าหาญ ใจกล้าเอาจริงเอาจัง ถ้าใจอ่อนมันล้มเหลวต้องบอกว่า “กูเอาจริงโว้ย” พอทำแบบนี้ไปมันเกิดการปีติ ปีติเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ที่เรากล่าวกันมาเมื่อคราวที่แล้วหรือทำจิตให้บันเทิง หรือทำจิตให้ปราโมทย์ จะอยู่ในตระกูลเดียวกัน ปิติ ปราโมทย์ บันเทิงเป็นตัวนำของความสงบ เมื่อเกิดการปิติแล้วจิตจะสงบ ถ้าไม่เกิดปิติจิตจะฟุ้งซ่านกระสับกระส่ายไปเรื่อยพอมาเจอปิติ มันจะสงบ คือ ปัสสัทธิ สงบ สบาย ตรงข้ามกับความเครียด ก็เลยทำสมาธิง่าย ไปถึงข้อที่ ๖ สมาธิ ข้อที่ ๗ ก็เป็นอุเบกขา คำว่า “อุเบกขา” คนไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไรเพราะคนแปลว่าวางเฉยไม่รู้ไม่ชี้ วางเฉยอย่างไรที่จริงถ้าเปรียบเทียบอย่างนี้จะเข้าใจง่ายขึ้นเหมือนกับเราขับรถยนต์หรือว่าขับเครื่องบินตอนจะ take off จะต้องเร่งเครื่อง ต้องระวัง เดียวปีกเกิดการกระแทก ต้องดูทิศทางลม ต้องดูแลทุกอย่างรอบด้าน แต่พอทุกอย่างดีแล้ว ทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว สบาย มันจะเป็นอัตโนมัติเลย ถ้าเราทำเราจะเจอครั้งแรกหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ต้องบังคับมัน มันอย่างนั้นมันหลุดไปทางอื่น พอถึงขั้นนั้นแล้วจะสบายเลยเป็นอัตโนมัติ เป็นอุเบกขาแล้วสบายตอนนั้นวิ่งเข้าสู่เป้าหมาย เหมือนเครื่องบินพออยู่ตัวแล้ว นักบินเกือบไม่ต้องทำอะไรเลย ดูนิด ๆ หน่อยแค่นั้น เหมือนการขับรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน ครั้งแรกต้องเร่งเครื่อง ต้องระวัง ไหนจะขึ้นถนนต้องไปอะไร แต่พอมันอยู่ตัวดีอยู่แล้ว ตอนนั้นคุยกันก็ยังได้เลย แล้วตอนนี้สมองเล่มนั้นบอกไว้เลยว่าสมองอุเบกขาส่วนไหนเป็นอย่างไรที่มันสงบสบาย อันนี้เป็นโพชฌงค์ ๗ เป็นเรื่องการจัดหมวดหมู่ธรรมะนั่นเอง เป็นโพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ ประธาน ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ รวม ๓๗ รวมเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ทั้งหมดนี้เป็นธรรมะแบบหมวด ๆ แต่รวมไปแล้วเพื่อความไปสู่ความสงบเย็น “โพธิ” เพื่อการเข้าสู่นิพพาน อันนี้เป็นเรื่องของโพชฌงค์ ๗
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : แล้วการที่อาจารย์ยกว่าพระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ และพระพุทธเจ้า ได้ฟังแล้วเมือน T-cells หรือ T helper cell ที่เป็นตัวช่วย การสวดหรือการไปสวดให้ฟังเป็นกระตุ้นหรือว่าเป็นตัวให้ช่วยหรือว่ามีเหตุผลอื่น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ที่ว่าไงว่าผมแปลกใจว่าทำไมพระโมคคัลลานะกับพระมหากัสสปะ และพระพุทธเจ้าเองท่านบรรลุธรรมแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว ธรรมะก็ขึ้นอยู่กับใจท่านหมดแล้วทำไมต้องการให้คนมาสวดให้ฟัง ไปหาคำตอบเองก็แล้วกัน ทฤษฎีผม คือ เรื่อง helper cell ในชีวิตจริงก็เจอมากเลยว่าคนมีศักยภาพที่จะทำอะไร แต่ต้องการตัวไปกระตุ้นซึ่งแปลกมาก คราวหนึ่งผมไปกระตุ้นคุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไปกระตุ้นว่า “ยูเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นอะไร ๆ ทำไมไม่ทำเรื่องระหว่างประเทศกับสันติภาพละ” เขาบอกว่า “อาจารย์คิดว่าผมน่าจะทำเรื่องนี้หรือ ผมทำได้หรือเรื่องนี้” เขาก็ไปตั้งที่เรียกว่า Asian Peace and Reconciliation Council (APRC) เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีหลายประเทศมาร่วมเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพ ก็แปลกใจเขาเองก็มี potential ในตัว ก็มาคิดดูอีกที่ว่ามันต้องการตัวกระตุ้นเจอหลายที่แล้วแบบนี้
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : พอดีครับบ่ายสองโมงครึ่ง มีข้อถามหรือว่าอะไร เพราะตอนต้นอาจารย์ก็ให้เวลาเรื่องสมองแต่ก็ยังเว้นว่างไว้ เรื่องความเชื่อมโยงสมองทั้งสาม แต่ก็ชี้ให้เห็นประเด็นของการใช้ที่ผิดพลาด ใช้ให้สมดุลและอย่างสุดท้ายที่อาจารย์พูดไว้ คือ ถ้ามีการฝึกจิตระบบต่าง ๆ ก็สร้างใหม่ได้ ตอนที่ผมเรียนหนังสือตอนแรกเรามีทฤษฎีเดิมเรื่องสมองมันเสียแล้วเสียเลย พอตอนหลังก็พบว่ามันสร้างใด้เยอะแยะไปหมดเลย ไม่ใช่แค่ตัวเนื้อสมองหรือเส้นสมองมันมีระบบอีกหลายอย่าง ตอนนี้เป็นความรู้ใหม่กลายโยงมาสู่เรื่องจิตด้วยซ้ำไป เมื่อสักครู่อาจารย์ประเวศได้กล่าวในชุดที่หนึ่งนะครับ และชุดที่สอง ก็มาโยงถึงเรื่องประสบการณ์อื่น ๆ เหมือนมีสีสันมากกว่าเนื้อหา เราอยากฟังอันนั้นมากกว่าแล้ว ตอนหลังก็มาพูดถึงเรื่องคิริมานนท์ แล้วก็เรื่องโพชฌงค์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : เรื่องสมองนี้ เมื่อก่อนผมอ่านต่างจาก ๒ เล่มที่ว่านี้นะมี neurologist คนหนึ่งไปปฏิบัติธรรม เป็นคนอเมริกัน แล้วเขียน pass way ในสมอง มี pass way ของอัตตา พอปฏิบัติธรรมเกิดการ complete shutdown pass way นั่นเลย มันเปิด pass way อนัตตา แล้วเขาบอกว่าตรงไหนนะ thalamus บอกว่า upper thalamus shutdown ไม่รู้ตรงนี้นะ ถ้าใครสนใจ แต่ก็ไม่จำเป็นถ้าเราไม่ต้องการความรู้อะไรนะ เราก็ปฏิบัติไปเลย เรารู้ว่าจิตเปลี่ยนโครงสร้างสมองได้ พยายามรู้อยู่กับปัจจุบันเสมอ หรืออย่างง่าย ๆ ก็พยายาม พุธโท พุธโท พุธโท ไว้ ไม่ว่าทำอะไรก็พุทโธอยู่เรื่อย ๆ เป็นการเจริญสติแบบอ่อน ๆ อย่างพระสายอีสาน สายอาจารย์มั่น เขาสอนชาวบ้านชาวไร่ทำนา ไถ่นาก็พุทโท พุทโท พุทโท ไปเรื่อย ๆ ก็เป็นพื้นฐาน พุทโท พุทโท พุทโท และถ้าเรามีความเข้าใจมากขึ้น หรือมีเวลาก็เอาอานาปานสติเสียหน่อยเป็นของแถมทำแล้วก็มีความสุขดี หรือว่านั่งมองท้องฟ้าเวลาเย็นหรือว่ามองยอดไม้ มองท้องฟ้าแล้วก็บอกว่าทั้งหมดเป็นธรรมชาติมีความเชื่อมโยงกันหมด ตัวเราก็เป็นธรรมชาติ ต้นไม้ก็ธรรมชาติท้องฟ้าก็ธรรมชาติทั้งหมด จิตเกิดความสงบเรียกว่าจิตเชื่อมโยงกับจิตจักรวาลก็ได้ ก็สบายดีนะ คนควรหากำไรชีวิต
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ผมเรียนเชิญท่านใดดีสักท่าน สองท่าน ช่วยนำร่องหน่อย ท่านที่ไปทวงเรื่องสมองคราวที่แล้ว คราวนี้ไม่ได้มาคงฟังอยู่ทางออนไลน์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : เดี๋ยวมาทวงใหม่
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : นายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร มีอะไรไหมครับมาจากขอนแก่น มาไกล ขอสักนิดหนึ่ง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : มีหนุ่มนั่งอยู่คนหนึ่งด้านหลังบอกว่าผมภาวนาไปด้วย จำได้ไหม
นายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร : กราบเรียนถามอาจารย์ว่าการเมืองตอนนี้ต้องใช้ตัวช่วยอะไรครับ อยากถามจริง ๆ สงบและราบรื่นได้การเมืองที่ยุ่งเหยิงอยู่ตอนนี้ครับ
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : การเมืองตอนนี้ต้องการตัวช่วยอะไร สติ ปัญญา อันนี้ผมเติมนะ การเมืองตอนนี้ต้องการตัวช่วยอะไร เชิงสติ ปัญญา สมาธิ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ได้ ๆ คือ การเมือง วันนี้ผมมีบทความอันหนึ่งลงในไทยโพสต์ เป็นบทความเรื่องการเมืองทางสายกลางจะพลิกโฉมประเทศไทยภายใน ๔ ปี ผมพูดมาหลายครั้งแล้วการเมืองทางสายกลาง ทางสายกลาง ก็คือ ทางพุทธ คือเราไปเชื่อฝรั่งว่าฝรั่งเก่งเขามีวิทยาศาสตร์ มีเทคโนโลยี เขาก็คราวนี้วิธีคิดของฝรั่งมีปัญหา และวิทยาศาสตร์ก็มีปัญหา คือ เป็นการคิดแบบตายตัว แยกส่วน เพราะวิทยาศาสตร์มีการนิยามตัวเองว่าอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ต้องวัดได้แม่นยำ แล้วต้องทำซ้ำได้เหมือนเดิม อะไรที่แม่นยำและ reliability ต้องจับให้นิ่งถ้ามีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ ทำให้การวัดไม่ได้แม่นยำ ก็เลยทำให้คิดแบบตายตัว พอคิดแบบตายตัวมันเกิดการแยกส่วน เพราะธรรมชาติเป็นอิทธิปัจจยตา เป็นเหตุปัจจัยการเคลื่อนไหวต่อเนื่องไม่มีแยกส่วนออกมาเป็นเอกเทศ อัตตา เป็นเอกเทศแล้ว มีการแยกส่วนออกมาซึ่งมันขัดกับความเป็นจริง ความเป็นจริงไม่มี พอแยกส่วนแบ่งข้างแบ่งขั้วก็เป็นปฏิปักษ์กันระหว่างขั้ว ถ้าดูประวัติศาสตร์ของยุโรปคนพวกนี้คิดตายตัว confront ปะทะ เกิดสงครามเห็นไม่เหมือนกันก็สู้กันแล้ว ศาสนาเดียวกัน แคททอริคกับโปรเตสแตนต์ก็สู้กันเป็นสงคราม ๓๐ ปี เกิดการสูญเสียชีวิต ประเทศเยอรมันคนตายไปประมาณหนึ่งส่วนสามของประเทศ เกิดการคัดแย้งกันทั่วไปหมดเลย แล้วก็เผยแพร่อย่างนี้ไป ทางสายกลางเป็นการคิดแบบพุทธ ทางสายกลางคนยังไม่เข้าใจหาว่าทางกลางเป็นระหว่างดีชั่ว อย่างนั้นเข้าไปอีก
อย่างที่เรียกว่าทางสายกลาง คือ สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ตายตัว อยู่กับที่ เปลี่ยนตามเหตุปัจจัย ก็เป็นอิทธิปัจจยตา อะไรที่เกิด อะไรที่ไม่เกิดก็เป็นเช่นนั้นเอง เพราะมันมีเหตุปัจจัยเป็นเช่นนั้น การที่ธรรมชาติเป็นอย่างนี้เป็นเพราะอิทธิปัจจยตา มันไม่มีที่เรียกว่าสุดโต่ง เพราะถ้าย้อนกลับไปข้างหลังมันก็ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันก็มีเหตุปัจจัยเรื่อย ๆ ไป ไม่เจอจุดที่สิ้นสุดไปอนาคตข้างหน้าก็ไม่มีจุดสิ้นสุด ก็เป็นเหตุปัจจัยไปเรื่อย ๆ จึงไม่มีส่วนสุดทั้ง ๒ เพราะฉะนั้นธัมมจักกัปปวัตตนสูตรประโยคแรกเลยสังเกตไหม เทฺวเม ภิกขะเว อันตา แปลว่า ส่วนสุดทั้งสองภิกษุไม่ควรเสพ เป็นที่มาของคำว่าทางสายกลาง ทางสายปัญญาไม่สุดโต่ง ไม่แยกข้าง แยกขั้ว ไม่แยกส่วนอะไรเป็นเอกเทศ เป็นทางสายปัญญา ความเมตตา ความร่วมมือ
การเมืองไม่ควรไปเอาอย่างเขาหรอกเพราะเขาก็ไปไม่รอดอยู่แล้วฝรั่ง การเมืองฝรั่งตอนนี้มีปัญหาเยอะมาก ถ้าเป็นทางสายกลางเน้นทางปัญญา ความเมตตา ความร่วมมือ ถ้าเป็นการเมืองทางสายกลางเกิดความร่วมมือกัน แล้วใช้ปัญญา ใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ใช้ความเมตตา ไม่ไปปะทะต่อสู้กัน ทางสายกลางเข้าไปทำให้เห็นองค์รวม การที่แยกเป็นซ้ายเป็นขวาเพราะเป็นการคิดแบบแยกส่วน ถ้าเห็นทั้งหมดเหมือนตาบอกคลำช้าง รู้เป็นส่วน ๆ แล้วก็ทะเลาะกัน
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : อาจารย์มองภาพที่ควรจะเป็น แล้วที่เขาทำกันอยู่มันจะเป็นไหม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : มันจะก้าวข้ามความแตกแยกแล้วร่วมมือกัน แล้วบอกวิธีทำไปขับเคลื่อนนโยบายอะไรบ้างเพราะเรารู้แล้ว เรามีประสบกาณ์ทางสุขภาพว่านโยบายมีผลกระทบใหญ่มาก เพราะนโยบาย สปสช. ออกมาที่หนึ่กระทบคนทั้งประเทศเลย หรือย่างมี สสส. ขึ้นมาเป็นการปฏิรูปการคิด เมื่อก่อนนี้เราเน้นการตั้งรับปล่อยให้ป่วยแล้วเน้นที่การรักษาไปตั้งรับ การปฏิรูประบบสุขภาพต้องเชิงรุก สร้างสุขภาพดีไม่รอให้ป่วย
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : แต่นั้น ๒๐ กว่าปีแล้ว ๑๐ มานี้ไม่เกิดเสียที
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : เราขับเคลื่อนนโยบาย ตอนนนี้มันขยับจะมานะ เพราะว่าผมเขียนไว้มาสักพักแล้ว เรื่องนี้ทางสายการเมือง ทางสายกลาง และเขียนการเมือง quantum ก็มี ตั้งชื่อให้มันแปลก ๆ ก็เคยลงไป ว่าถ้าเป็นการคิดแบบแยกส่วน ว่าถ้าเป็นหนึ่งก็ไม่ใช่ศูนย์ เป็นศูนย์ก็ไม่ใช่หนึ่ง แต่ถ้าเป็น quantum เป็นหนึ่งและศูนย์ได้ ลองไปอ่านที่บอกว่าต้องก้าวข้ามความแตกแยก
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ก้าวข้ามความแตกแยกมาโหวตนายกรัฐมนตรีเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง อาจารย์เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว อาจารย์เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญใช่ไหมครับ อาจารย์เสนอการเมืองทางสายกลาง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : เมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร เรียกร้องอยู่หน้ารัฐสภาที่มีการเรียกร้องถ้าไม่ได้ตามใจแก แกจะอดข้าวจนตาย คุณมารุต บุนนาค เป็นประธานรัฐสภา ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปประกาศตั้งหมอประเวศ เป็นประธานพัฒนาประชาธิปไตยโดยที่ไม่ได้บอกผมนะ ประกาศไปก่อนแล้วโทรศัพท์ขอโทษทีหลัง ผมก็เลยตกกระไดพลอยโจน ตั้งผมคนเดียวแล้วให้ผมหากรรมการเอาเอง เรียกว่าคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ได้มา ๔๙ คน หรือ ๕๙ คน ผมเอาพลเอกสายหยุด เกิดผล มาเป็นรองประธาน
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : เป็นอย่างไรบ้างครับอาจารย์ ๓๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : แล้วเราก็เสนอว่าให้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อปฏิรูปการเมืองซึ่งทำได้ยากมาก แก้รัฐธรรมนูญมาตราเดียวยังยากเลย นี้แก้ใหม่ทั้งฉบับมันไม่มีใครทำได้ ผมก็คิดหาทางทำอย่างไรทำสิ่งยากให้สำเร็จ ก็เจอทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาตอนนั้น ใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาก็ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ ๒๕๔๐ เพื่อปฏิรูปการเมือง มีเคล็ด มีเทคนิค มีอุบายหลายอย่างมากมาย ผมเคยเขียนเล่าไว้ มียุทธศาสตร์ภรรยาก็มี จะทำอะไรให้สำเร็จต้องใช้ยุทธศาสตร์ภรรยาด้วย ผมใช้กับคุณบรรหาร ศิลปอาชา เคยเขียนเล่าไว้ แต่ว่าปฏิรูปการเมือง มีรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มันก็ยังไม่ work อีก ก็คิดว่า “จะทำอย่างไรดีวะ” ปฏิรูปอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ ต้องปฏิรูปทุกอย่างพร้อมกันไป สสส. ซึ่งตอนนั้นเป็นนายแพทย์สุภกร บัวสาย ได้มาจัดปฏิรูปประเทศไทย เช่าห้องประชุมที่ห้องประชุมสถาบันจุฬาภรณ์ เดือนละครั้ง ๆ อยู่ประมาณปีครึ่ง เรื่องปฏิรูปประเทศไทยลองไปดูประวัติ มีการปฏิรูปพร้อมกัน ๑๒ ด้าน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม ฯลฯ พร้อมกันเลยเรียกว่า “ปฏิรูปประเทศไทย”
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดเรื่องก็มาตั้งกรรมการปฏิรูปประเทศไทย มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นกรรมการชุดหนึ่ง ผมเป็นกรรมการอีกชุดหนึ่ง ซึ่งชุดคุณอานันท์ ปันยารชุน เสนอว่าปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ผมเป็นประธานเรียกว่าสมัชชาประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวสังคม พยายามประกอบสามเหลี่ยม สร้างความรู้ เคลื่อนไหวสังคม การเมือง แต่ว่าไปพลาดอันหนึ่งที่มีการ design ไว้สามเหลี่ยม ชุดอานันท์ ปันยารชุน ชุดผมเคลื่อนสังคม และชุดคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายการเมือง แต่คุณคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับคุณอานันท์ ปันยารชุน มีการตกลงกันว่าไม่จำเป็นหรอกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำเอง ก็ไม่เกิดผลพอเกิดรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๕๗ ตั้งสมัชชาปฏิรูปแห่งชาติ ใช้เวลา ๓ ปี แต่มีเรื่องราวเยอะแยะเลย แต่ก็ยังไม่เห็นผลอะไร และมีการตั้งคณะติดตามการปฏิรูปอะไรอีก ๓ ปี เป็น ๖ ปี ช่วงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ๑๑ - ๑๒ คณะ ก็ไม่สำเร็จสักเรื่อง มีเรื่องที่เราทำกันเองสำเร็จ คือ เรื่องปฏิรูปเรื่องระบบสุขภาพ
เราก็เรียนรู้ว่าการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ ตอนนี้ คือ ให้มีสถาบันขับเคลื่อนนโยบาย และมีวิธีการที่เรียกว่าที่ผมเขียนคู่มือไว้ “วิธีขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร ๑๒ ขั้นตอน” มีการลงรายละเอียดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา มาลงรายละเอียดเป็น ๑๒ ขั้นตอน จะสำเร็จทุกเรื่องไม่ว่ายากอย่างไรก็สำเร็จ ถามหมอสมศักดิ์มีฝรั่งมันแปลกใจ เรามีวิธีการขับเคลื่อนถึงบอกว่าถ้าเป็นการเมืองทางสายกลาง แล้วมารวมขับเคลื่อนนโยบาย เกิดการสำเร็จทุกเรื่อง ระบบนโยบายผมเชื่อว่ามันจะพลิกโฉมประเทศไทย ภายใน ๔ ปีนี้ ตรงนี้เขาเรียกว่า P กำลัง ๔ กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม Participatory Public Policy Processผมเขียนเรื่องนี้ไว้หลายครั้งมากมาย เป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายเป็นประชาธิปไตย
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช: P กำลัง ๔ คือ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : P กำลัง ๔ ประกอบด้วย คือ Participatory Public Policy Process กระบวนการนโนบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม คนทุกภาคส่วนเลยเข้าร่วมหมด เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ เลย
ผู้เข้าร่วม : ในหัวข้อเรื่องของการสวด แต่ก่อนคิดว่าสวดในใจ พอตอนหลังทราบว่าถ้าออกเสียง แล้วเสียงมีผลกระทบต่อร่างกายมากไหม เสียงนะครับ ในร่างกายเรามีน้ำมาก เสียงมีผลกับน้ำในร่างกายเรา บทสวดจะไปส่งผลกระทบในแง่นั้นไหม
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : คำถามว่าปกติสวดแต่ในใจ แต่ถ้าเราสวดส่งเสียงด้วยจะมีผลที่แตกต่างไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร่างกายประกอบด้วยน้ำจำนวนมาก
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : มี ๆ ถ้าออกเสียงมีเสียงคลื่นกระเพื่อมไปในตัว และมันจะได้ยินอีกทางหนึ่งเข้าไปด้วยนะ แต่สวดในใจก็ได้ แล้วแต่สถานที่ โอกาส แต่อยู่คนเดียวสวดออกเสียงก็จะดี หรืออย่างพวกบริกรรม อย่างธิเบต “โอม มณี ปัทเม หุม” อย่างสายของหลวงปู่มั่นใช้พุธโท
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : อาจารย์ออกเสียงกับไม่ออกเสียงโดยมากอาจารย์ออกเสียงด้วยไหม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : โดยมากก็ไม่ค่อยได้ออกหรอก
ผู้เข้าร่วม: ผมรู้สึกประทับใจคำถามของผู้ดำเนินรายการว่า สวดโพชฌงค์ ๗ แล้วจะหายได้อย่างไร และประสบกับท่านผู้ถามเมื่อสักครู่ว่าเสียงจะมีส่วน วันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมมาที่นี่ทำไม ผมย้อนกับที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ ได้ทำเป็นหลักฐานไว้ เมื่อปี ๒๕๓๓ ท่านให้แม่ชีอุ่นเรือน สวดโพชฌงค์ ๗ และผมต้องการนำโพชฌงค์ ๗ นี้ มาทำให้แพร่หลายเพราะว่าเท่าที่ดู คุยดูแล้วไม่แพร่หลายเลยสาระสำคัญที่สวดแล้วหาย คือ นอกจาก ๗ องค์ ยังมี ๔ องค์ย่อย ที่แทรกเข้าไป นั่นคือ อาศัยวิเวก วิราคะ วิโรธนะ และจิตที่น้อมไปในการปล่อยวาง ใน ๗ องค์ และสี่องค์ย่อยจะแทรกเข้าไป ความเข้าใจนำไปสู่ความหาย คือ จิตที่นอบไปด้วยการปล่อยวาง ท่านแม่ชีอุ่นเรือน สวดได้เพราะมาก ๆ เพราะยิ่งกว่านักร้องที่เคยได้ยินในประเทศเลย ผมมีประสบการณ์หัวใจจะตายไปนอนห้อง CCU โชคดีที่ผมมีเทปอันนี้นำไปฟังรู้สึกโล่งสบาย อยู่ไปทำบอลลูนสามเส้น ระหว่างทำบอลลูนก็อย่างที่อาจารย์ว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ หมอบอกว่าทำไมง่าย ทั้ง ๆ ที่มันยาก เต็มไปด้วยสารบอแรกซ์ ทำไมง่ายจัง พุทโธ ทำให้ง่าย วันนี้ผมดีใจที่ได้พูดว่าเอาโพชฌงค์ ๗ ที่ท่านพุทธทาสแปลย่อยไปอีกที่ไม่เคยมีใครได้ยิน ขอบคุณมากครับ ที่ให้ได้พูดครับ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : เขาอภิปรายหรือว่ามีคำถาม
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช เป็นการภิปรายแต่มี ๒ - ๓ ประเด็น เพื่ออาจารย์มีแง่มุม บอกว่า ในโพชฌงค์ ๗ มี ๔ เรื่องย่อย วิเวก วิราคะ วิโรธนะ และจิตที่นอบไปด้วยการปล่อยวาง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : คราวหน้าเอาใหม่ก็ได้ รู้สึกพูดอะไรน่าสนใจอยู่
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ท่านที่สามมีไหมครับ คนนี้มาทุกครั้งเลยนะครับอาจารย์
ผู้เข้าร่วม: กราบเรียนท่านอาจารย์ได้ไปฝึกปฏิบัติจากคราวที่แล้วที่ท่านอาจารย์สอนไป เข้าสู่ระดับ ๔ ได้เร็วขึ้น ยกขึ้นขั้นที่ ๑๓ เริ่มยากแล้ว เริ่มไปไม่เห็นโทนนั้นแล้ว กราบเรียนให้อาจารย์ช่วยแนะนำขั้นที่ ๑๓ ผมได้อ่านหนังสืออาจารย์หมอที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ป่วยเป็นมะเร็ง กลับประเทศไทยและมาทำสมาธิปรากฏว่าก็หายนะครับ การทำสมาธิรักษามะเร็งได้จริงหรือเปล่า
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ขั้นที่ ๑๓ เป็นขั้นของธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน ข้อที่หนึ่ง อนิจจัง ข้อที่ ๑๔ คือ วิราคะ การจางคลาย ข้อที่ ๑๕ นิโรธ การสงบระงับไป ข้อที่ ๑๖ ปฏินิสสัคโค การสลัดคืนไปหมดแล้ว ตรงนี้ใช้อย่างนี้ครับ ตอนนั้นเรามีสติดีอยู่แล้วต้องดูว่าอะไรมันปรากฏ ดูอารมณ์ที่มาปรากฏกับจิต ดูว่าความจำอะไรมันโผล่มา แล้วดูว่ามันจะปรุงแต่งอะไร หรือว่ามันเกิดพอใจหรือไม่พอใจอะไรขึ้นมาก็ให้รู้ธรรมชาติว่ามันเป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เป็นอนิจจังคอยจับมันให้ได้ มีอีกอันหนึ่งหลวงพ่อเทียนท่านก็สรุปสั้น ๆ ท่านไม่ได้ทำตามนี้ คอยดูว่าความคิดอะไรโผล่มา เรามีสติอยู่ดูว่าความคิดเอะไรโผล่มาก็ตะครุบเลย ถ้าตะครุบไม่ทันมันปรุงแต่ง กลายเป็นอะไรต่ออะไรเรื่อยเลย ตรงนี้นะตะครุบมันรู้ทันมันมันก็หยุด ถ้ารู้ไม่ทันเกิดการปรุงแต่งต่อไป เอาง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ คอยดูว่ามันมีอะไรโผล่ขึ้นมา แล้วก็รู้ทันมัน ตรงนั้นมันเป็นความละเอียดลงไป คำสั้น ๆ ก็คือรู้ทันมัน คือ การรู้ทันธรรมชาติเป็นอนิจจัง พอรู้ทันก็จางคลาย พอรู้ทันก็เป็นนิโรธ ระงับไปและสลัดคืนไปหมด เหลือแต่จิตเดิมแท้ มีอีกเทคนิคหนึ่งที่มีคนเอามาว่าคอยชำเหลืองดูจิตเอามาจากโกสัมพิยสูตร พระพุทธเจ้าไปสอนที่ทะเลาะกันที่โกสัมพี และอีกอันที่สอน คือ ให้ทำเหมือนโคแม่ลูกอ่อน เดินเล็มหญ้าไปแต่คอยชำเหลืองมองลูกอยู่เป็นระยะ ๆ คือเป็นการให้ดูจิตเดิมแท้ไม่มีกิเลสไม่มีอะไร ปฏินิสสัคโค คือ ความดับตัณหา โดยการไม่ข้องเกี่ยวอีก ไม่มีอะไร เหลือแต่จิตประภัสสร จิตเดิมแท้ ทางมหาญาณมีการใช้เยอะมาก ถ้าไปอ่านเรื่องฮวงโปกับเว่ยหลางที่อาจารย์พุทธทาสได้แปลไว้ เขาจะพูดถึงจิตเดิมแท้ จิตประภัสสร จิตที่ไม่มีกิเลศตัณหามาทำให้มัวหมอง มันเป็นจิตประภัสสร ให้คอยชำเลืองดูมัน เหมือนโคแม่ลูกอ่อนที่คอยชำเลืองมอง ชำเลืองดูลูก มีการชำเลืองเป็นระยะ ๆ ก็แล้วแต่นะลองใช้หลาย ๆ เทคนิคดู
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : คำถามที่สอง คือ เห็นมีการพูดกันมากว่าฝึกสมาธิแล้วรักษามะเร็งได้ อาจารย์มีข้อคิดข้อสังเกตอะไรในเรื่องนี้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : มีเยอะมากเลย โดยเฉพาะมีฝรั่งคนหนึ่ง มีการทำวิจัยและมีการทำเรื่องนี้มาเยอะมาก คนหนึ่งผมขอยกตัวอย่างก็ได้สมเด็จพระญาณสังวร ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพระสังฆราช คราวหนึ่งท่านมีเลือดออกเปื้อนจีวร หมอที่ศิริราชพยาบาลตรวจพบโป่งพองในลำไส้ใหญ่ที่เขาเรียกว่า โฟลิก เป็นหลายเม็ดในลำไส้ใหญ่ multiple polyposis แล้วมันอาจกลายเป็นมะเร็งเขาแนะนำให้ผ่าตัดท่านก็ไม่ยอมผ่า เขาส่งผมไปเกลี้ยกล่อมในฐานะเป็นคนเมืองกาญจนบุรีด้วยกันก็ไปเกลี้ยกล่อมที่วัดบวร เราเป็นครูสอนสมาธิ เราจะรักษาด้วยสมาธิ หลังจากนั้นก็ไม่เห็นมีอะไรอีกเลย แต่มีฝรั่งที่ทำการค้นคว้าตรงนี้นะ อย่างที่ว่าจิตมันมีอำนาจเหนือวัตถุ เพราะฉะนั้นอย่างพระที่ฝึกสมาธิ อย่างหลวงพ่อป่าน วัดบางนมโค ไม่รู้เรื่องอะไรเลยอาจารย์ส่งลูกกุญแจให้ลูกหนึ่ง ใส่สลักกุญแจแล้วเพ่งจนกุญแจคลายออกใช้เวลาเดือนหนึ่งพอมีสมาธิมาก ๆ กุญแจที่ใส่ไว้มันดึงออก หรือว่าคนที่มีสมาธิมาก ๆ ทำให้เหล็กโค้งก็ได้ถ้ามีการวางเหล็กไว้อย่างนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือวัตถุได้ บางคนใช้สมาธิในการเปิดปิดสวิทไฟยังได้ ตกลงว่าจิตมีคลื่นพลังจิต เพราะฉะนั้นจิตสามารถทำอะไรกับวัตถุได้ เสกวัตถุขึ้นมาก็ได้ หรือพระพุทธเจ้าทำตลอดเวลาแต่เราไม่ได้สังเกตเห็น ตอนที่ท่านอุปสมบัติที่ว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา เธอจงเป็นภิกษุมาเถิดและท่านอธิษฐานขอจีวรกับบาตร จีวรกับบาตรก็มาปรากฏ เพราะฉะนั้นสมาธิมีผลต่อเซลล์มะเร็งได้แน่นอน
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : คำถามสุดท้ายครับ
ผู้เข้าร่วม: คุณแม่ศันสนีย์ เสถียรสุต ที่เสถียรธรรมสถานท่านก็เสียชีวิตด้วยมะเร็ง ก็แปลกใจว่าท่านที่มีธรรมะอยู่กับสมาธิตลอดแต่ก็ยังเสียด้วยมะเร็งค่ะ เหมือนหลวงพ่อคำเขียนก็ด้วยมะเร็งเหมือนกันค่ะ
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ถ้าสมาธิรักษามะเร็งได้แล้วทำไมผู้ปฏิบัติธรรมจำนวนมากก็ป่วยตายด้วยมะเร็ง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : อาจจะบรรเทาไปแต่ไม่หายขาด แต่บางคนมีหายขาด คือ ไม่ใช่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับยาที่ใช้รักษาโรคทุกชนิด มันไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเนอะ
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ครับผมตามสมควรแก่เวลานะครับ ดูท่าทางงวดหน้าไม่ต้องกำหนดหัวเรื่องนะ ให้อาจารย์หมอประเวศ วะสี อยากเล่าอะไรก็เล่า เปล่าหรอกแต่ก็ต้องมีด้วย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ยังเหลืออีก ๔ ครั้ง ครั้งนี้ครั้งที่ ๘ ครั้งหน้าเป็นกล่าวถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ และพูดถึงสุขภาวะทางจิตปัญญา ศึกษาอะไรให้มันครบหมด ผมเขียนไว้จะนำหนังสือมาแจก จะไปพูดอาทิตย์หน้า เขาจะมีประชุมวิชาการ มีนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นประธาน มีการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางปัญญา แล้วผมจะไปปาฐกถา แล้วเลยเขียนเขาพิมพ์เป็นหนังสือไว้เลย เรื่องสุขภาวะทางปัญญา เขาพิมพ์เพื่อไว้แล้วว่าจะมาแจกที่นี่ แล้วถือโอกาสพูด ผม identify เส้นทาง คงมีมากกว่านั้น ได้อย่างน้อย ๑๕ เส้นทาง ที่ไปสู่สุขภาวะทางปัญญา ก็จะมาพูดให้ฟังมีทั้งทางศาสนา และไม่เกี่ยวกับทางศาสนา หลังจากนั้น ครั้งหน้าเป็นครั้งที่ ๙ ก็เหลือครั้งที่ ๑๐ ครั้งที่ ๑๑ และครั้งที่ ๑๒ ที่พูดไว้เล่น ๆ ว่าจะเป็นเรื่องฟ้าจรดทราย โลกกับธรรมบรรจบกันที่ประเทศไทย เพราะเมื่อสักครู่นายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ได้สอบถาม การปฏิบัติธรรมเป็นเฉพาะส่วนบุคคล โดยไม่สนใจสังคม ถ้าสังคมวุ่นวายปั่นป่วนรุนแรง โอกาสการปฏิบัติธรรมที่ได้ผลก็น้อย เพราะสมัยนี้คนนิพพานน้อย สมัยพุทธกาลคนนิพพานง่ายเหลือเกินเพราะบ้านเมืองสงบในสมัยนั้นนะ เพราะฉะนั้นเราต้องสนใจทางโลกด้วย ผมเรียกว่าทวินนิพพานเป็นนิพพานส่วนบุคคลกับนิพพานทางสังคม นิพพานแปลว่าสงบเย็น ถ้าสังคมสงบเย็นคนจะนิพพานเยอะ เพราะฉะนั้นต้องคู่กันไปทางโลกกับทางธรรม บรรจบกันเหมือนชื่อนวนิยายของโสภาคสุวรรณ ชื่อฟ้าจรดทราย และพูดถึงสังคมที่เป็นแผ่นดินสันติสุขมันมีวิธีและทุกคนสามารถร่วมทำได้ ถ้าออกแบบตรงนี้ และลงท้ายเป็นทวินนิพพาน ทั้งบุคคลสงบเย็น สังคมสงบเย็น
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ครั้งหน้าสุขภาวะสมบูรณ์แบบของมนุษย์ วันศุกร์ที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : มีอีก ๓ ครั้ง เป็นเรื่องสังคมสงบเย็น
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ของเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ ขออนุญาตขยับเป็นศุกร์สัปดาห์ที่ ๓
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ให้การบ้านอาสาสมัครสวนโมกข์ด้วย
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : เดี๋ยวผมนัดมารับการบ้าน นัดนี้ก็คงเพียงเท่านี้นะครับ จริง ๆ แล้วในเดือนนี้ถ้าหากว่าท่านว่างหรือว่าไม่อยู่ที่ไหนก็ตาม ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสกำลังไปทำงานอีกงานหนึ่งอยู่ อยู่ที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร ตามที่อาจารย์ประเวศยกไว้ว่า จริง ๆ แล้วเรื่องธรรมะและการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องของเฉพาะตนทำอย่างไรให้ขยายไปด้วย และพวกเราได้รับชี้แนะจากสมเด็จเจ้าพระคุณโกศาจารย์ ปอ.ปยุตฺโต ให้ไปช่วยกันสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ ตอนนี้ไปทำงานที่หอศิลป์กรุงเทพเพื่อไปเปิดพื้นที่ให้กับคนใหม่ ๆ ชื่องานว่าสติ Space กำลังเตรียมไปทำพื้นที่เพื่อการเจริญสติในพื้นที่ทำงาน ตอนนี้ไปทำที่สามย่านมิตรทาวน์ ไปทำที่ C P N ของเครือข่ายเซ็นทรัลพัฒนา และทำที่ SCB Park โดยให้ใช้พื้นที่เพื่อเอากิจกรรมไปทำให้กับผู้คนที่นั่น เตรียมการที่จำแทรกซึมเข้าไปเรื่อย ๆ ครับอาจารย์ ถ้าหากท่านใดว่างเรียนเชิญไปที่หอศิลป์กรุงเทพเพื่อที่จะไปดูตัวอย่างที่จัดถึงวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ นี้ โดยวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ มีกิจกรรมพิเศษ ๒ กิจกรรม กิจกรรมแรกระลึกถึง ๓๐ ปีที่ท่านอาจารย์พุทธทาสละสังขาร เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้วมีการปฏิบัติการกันมากมายเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับความตาย และออกมาเป็นสิทธิการตายหรือตายดีที่ออกมาผ่านระบบงานสุขภาพที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี กล่าวถึง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ออกมาเป็นสมุดเบาใจ เป็นข้อตกลงเรื่องการตาย ซึ่งวันที่ ๓๐ เราจะเปิดสารคดีชุดพิเศษ ของคนที่เกี่ยวกับอาจารย์พระพุทธทาสในช่วงกำลังละสังขาร โดยมีพระไพศาล วิสาโล กับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ มาด้วยตอนห้าโมงเย็นของวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ แต่ตอนเปิดจะมีการเปิดวิดีโออีกชุดหนึ่งสำหรับคนที่บอกว่าไม่ธรรมะแต่เขาก็ทำงาน แต่การปฏิบัติของเขา คือ “ทำ” เช่น หม่ำจ๊กมก เขาก็บอกว่าเขาทำหน้าที่อยู่จะมีสารคดีอีกชุดหนึ่งถ้าท่านว่างก็บ่ายโมงของวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่หอศิลป์กรุงเทพ วันนี้น่าจะพอก่อน สวดมนต์ไหว้พระจบตอนที่ ๘ ศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ด้านหลังมีหนังสือหมอชาวบ้านมาแจก ๒ เล่มครับ ตัวการจริง ๆ คือหมอชาวบ้านครับ ผมเพียงตัวการที่ถูกมอบหมายมาทำหน้าที่ ขอขอบพระคุณทุกท่านครับที่มากันที่นี่และฟังออนไลน์ ขอบคุณมูลนิธิศักดิ์พรศัพท์ที่ช่วยถ่ายทอดให้พวกเราตลอดมา ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ