แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทางผู้จัดตั้งชื่อไว้เสียไพเราะเลยนะครับว่า “ออกมาเสียจากความคิด สู่การตื่นรู้” ออกมาจากความคิด สู่การตื่นรู้ ซึ่งจริงๆประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับการภาวนาของทุกๆท่าน ผมพูดเช่นนี้ก็ด้วยความหมายว่า ในฐานะที่ผมซึ่งเคยศึกษาพระพุทธศาสนาในฝ่ายปริยัติมาก่อน ก็ใช้เวลานานหลายปีทีเดียวในการที่จะศึกษาด้านปริยัติ ได้เก็บจำเรื่องราวต่างๆไว้มากมาย โดยเฉพาะเมื่อมาประกอบอาชีพ ก็มารับราชการเป็นครู สอนวิชาพุทธปรัชญาหรือพุทธศาสนาให้กับนักศึกษา ไม่ได้สอนเฉพาะนักศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์เท่านั้น ยังได้มีโอกาสไปถวายความรู้คือความคิดเห็นให้กับพระนิสิต นักศึกษาของฝ่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งฝ่ายคณะมหานิกายคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และฝ่ายคณะธรรมยุตินิกายคือ มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย เพราะฉะนั้นด้วยประสบการณ์ส่วนนี้ทำให้ผมจมอยู่กับความคิดมาก คำว่ามาก ก็คือหมกมุ่นอยู่กับการครุ่นคิด แม้จะเป็นความหมายว่าเป็นการครุ่นคิดในมิติของพระธรรมคำสอนของพระศาสดา แต่ก็ยังอยู่ในระดับของการใช้ความคิดปรุงแต่งความหมายที่ตัวเองได้มีโอกาสจดจำไว้ แล้วก็เอาความคิดไปปรุงแต่งความหมายนั้นเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น การกระทำจิตที่เป็นหน้าที่เช่นนี้อยู่นานก็ทำให้เกิดความหมายที่เป็นความเคยชินที่จะอยู่กับความคิด จริงๆแล้วผมเองตอนนั้นก็อยู่ในสถานะที่เป็นเพียงแค่คิดปรุงแต่งความหมายของพระพุทธวจน ที่เรียกว่าพุทธปรัชญา แล้วก็นำมาสอนผู้อื่นเท่านั้นเอง แล้วก็ทะนงบังอาจว่าตัวเองรู้มาก เพราะว่าเวลาใครมีอะไรเห็นขัดแย้งกัน ก็โต้เถียงกับเขา แล้วก็มีความรู้สึกว่าตัวเองสามารถเอาชนะเขาได้ ผมนี่เป็นนักโต้เถียงไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียน โต้เถียงกับสาธารณะกับอะไร จนกระทั่งกลายเป็นคนเรื่องมากอยู่ในสังคมตอนนั้น แล้วสุดท้ายความรู้สึกเช่นนี้ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องปฏิบัติสิ่งที่มากกว่าเพียงแค่การทรงจำและการครุ่นคิด เพราะฉะนั้นผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยในปีถัดมา คือในปี 2548 เมื่อผมอายุครบ 57 ปีสมบูรณ์ แล้วก็ตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อเดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์ หรือแสวงหาหนทางที่จะเรียนรู้ในวิถีใหม่ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความคิด แต่ต้องเกิดขึ้นจากการภาวนา
วันนี้ที่จะมาคุยเรื่องออกจากความคิดมาสู่การตื่นรู้ ก็มาจากฐานของความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจจริงๆ วันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเราทุกๆ คน จะออกมาด้วยวิธีไหน จะออกมาเมื่อไรนั้นก็เป็นภาระของท่านแต่ละท่านที่จะไปใคร่ครวญกัน แต่อยากจะพูดให้ท่านได้เกิดความรู้สึก ผมจำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมตัดสินใจว่าจะทำอะไรในลักษณะของการออกเดินทางแล้วนี่ มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าในที่นี้ด้วยก็คือ ผมตอนที่รับราชการเป็นอาจารย์อยู่นั้น มีความปรารถนาอย่างหนึ่งคือ อยากจะปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน ที่อยากปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สืบเนื่องมาจากว่าเมื่อผมเรียนหนังสือจบมาจากอินเดียกลับมาสู่ประเทศไทย ผมไปอินเดียตั้งแต่ปี 20 หลวงพ่อเทียนยังไม่มีชื่อเสียง กลับมาสู่ประเทศไทยทราบข่าวว่าหลวงพ่อเทียนเป็นพระที่มีลูกศิษย์ลูกหาและมีวิธีปฏิบัติที่ผมไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ปกติก่อนไปอินเดียที่ไหนมีวิธีปฏิบัติผมจะไปทดลอง ถ้าเป็นนักเลงชิมอาหาร ก็คือร้านไหนอาหารอร่อยก็ไปชิมหมด แล้วเสียดายว่ายังไม่ได้ปฏิบัติธรรมตามแนวหลวงพ่อเทียน ความสนใจที่จะปฏิบัติธรรมตามแนวหลวงพ่อเทียนเกิดขึ้นจาก มีกรณีของท่านอาจารย์เขมานันทะหรืออาจารย์โกวิท เอนกชัย ซึ่งผมรู้จักท่านตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นพระภิกษุอยู่ที่สวนโมกข์ ผมในฐานะเป็นผู้น้อยก็แอบชื่นชม แล้วก็มีความรู้สึกดีกับการได้ฟังท่านอาจารย์เขมานันทะพูดบรรยายธรรมทุกครั้ง แล้วเราก็มีความรู้สึกว่าท่านเป็นพระที่มีความรู้ เป็นศิษย์เอกของท่านอาจารย์พุทธทาส แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยทราบข่าวว่าท่านเขมานันทะไปเป็นศิษย์หลวงพ่อเทียน ไปอ่านหนังสือที่ท่านเขมานันทะหรืออาจารย์โกวิทเขียน นอกจากชอบเรื่องราวทั้งหมดทั้งปวงแล้ว สิ่งที่ประทับใจเป็นที่สุดแล้วก็กลายมาเป็นความทรงจำที่ไม่ลืมเลือนเลย รู้สึกเหมือนกับว่าต้องพบหลวงพ่อเทียน หรือไปหาหลวงพ่อเทียน หรือไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนให้ได้ ก็คือเรื่องที่อาจารย์โกวิทเล่าถึงเรื่องเมื่อท่านเข้ามาเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทียนแล้ว อาจารย์โกวิทมีความเห็นว่าหลวงพ่อเทียนยังมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับสัณฐานของโลก คือ หลวงพ่อเทียน ท่านยังมีความเชื่อว่าโลกแบนตามความเชื่อของท่านนะ เพราะเราคงทราบว่าท่านไม่ได้เป็นนักการศึกษา ท่านเป็นชาวบ้านก่อนจะมาบวช ฉะนั้นความเชื่อโลกแบนเป็นความเชื่อปกติธรรมดา ท่านอาจารย์โกวิทจึงพยายามสนทนาเพื่อให้หลวงพ่อเทียนปรับความเชื่อนี้เสียใหม่ เพราะโลกที่เราอยู่อาศัยมันกลม มันไม่ได้แบนหรอก แต่สิ่งที่อาจารย์โกวิทบันทึกไว้ด้วยความเคารพหลวงพ่อเทียนกลายมาเป็นคำที่มีพลังในความรู้สึกของผมมาก
เมื่ออาจารย์โกวิทพยายามจะชี้แจงให้หลวงพ่อเทียนเข้าใจเรื่องสัณฐานของโลกด้วยเหตุผลข้ออ้างต่างๆ หลวงพ่อเทียนกล่าวตอบอาจารย์โกวิทหรืออาจารย์เขมานันทะว่า โลกจะกลมหรือแบนไม่สำคัญ ความรู้สึกตัวสำคัญกว่า ผมอ่านข้อความนี้แล้วรู้สึก โอ้โห มันช่างเป็นคำพูดที่หมดจดงดงาม ใช่ๆ โลกจะกลมหรือแบนไม่สำคัญ ในสมัยที่พระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนในสมัยนั้นเชื่อว่าโลกแบน คติจักรวาลวิทยาของชาวอินเดียก็ไม่ได้มีความเชื่อเรื่องโลกกลม นี้ไม่ใช่ประเด็น เพราะเป็นเรื่องของโลก แต่ประเด็นที่สำคัญคือภายในใจของเรา การตื่นรู้สำคัญ เพราะฉะนั้นความรู้สึกอยากพบหลวงพ่อเทียนแต่บังเอิญพอไปรับราชการ จะลาไปปฏิบัติธรรม ลาไปไหนก็ไม่ค่อยได้ สุดท้ายก็มาทราบข่าวว่าหลวงพ่อเทียนท่านอาพาธ สุขภาพท่านไม่ดีแล้ว ก็เลยหมดโอกาส แต่ก็ไปสืบเสาะแสวงหาได้มาว่ามีศิษย์เอกของท่านคือหลวงพ่อคำเขียน แล้วก็เป็นความบังเอิญผมไปแต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นคนชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่หลวงพ่อคำเขียนพำนักอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นตอนที่ไปเป็นเขยชัยภูมิ เมื่อคุณพ่อของภรรยาเห็นว่าผมมีความรู้เรื่องพุทธศาสนา สอนเรื่องพระพุทธศาสนา ก็ถามว่าสนใจไปกราบพระรูปไหนในชัยภูมิ ในจังหวัดใกล้เคียงบ้าง ก็เลยเอ่ยปากว่าอยากไปกราบคารวะหลวงพ่อคำเขียน แล้วก็ได้ไปกราบท่าน แต่เป็นแค่ไปกราบ ยังไม่ได้มีความสามารถที่จะจัดสรรเวลาไปปฏิบัติธรรมกับท่านได้ จวบจนกระทั่งว่าเมื่อมาถึงบั้นปลายของชีวิตแล้ว คุณแม่ผมเสียชีวิต แล้วผมก็กราบนิมนต์หลวงพ่อคำเขียนไปที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็ได้ปฏิบัติธรรมกับท่าน ทั้งในส่วนที่ตัวเองปรารถนาจะปฏิบัติกับท่านอยู่แล้ว และก็ในส่วนที่จะได้อ้างว่าเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้คุณแม่ และในการปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อคำเขียนครั้งนั้น ก็ได้ฟังวาจาที่กลายมาเป็นความหมายที่ผมถือว่าเป็นถ้อยคำสั้นๆแต่ลึกซึ้งยิ่งใหญ่ กลายมาเป็นความหมายที่ทำให้ผมคิดเปลี่ยนความหมายของการปฏิบัติธรรมที่เคยปฏิบัติอยู่เดิมๆได้เลย ก็คือ ตอนที่นั่งอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อคำเขียนที่ศาลาอบรมคุณธรรม ที่วัดอุโมงค์นะครับ ผมชวนเพื่อนไปจำนวนหนึ่ง ด้วยความรู้สึกว่าจะปฏิบัติคนเดียวก็ดูเป็นส่วนตัวไป เลยชวนเพื่อนที่เป็นอาจารย์อยู่ ใครไปบ้างเราไปปฏิบัติธรรม ชื่อเสียงของหลวงพ่อคำเขียนท่านก็ดีอยู่แล้ว ก็เลยไปกันจำนวนหนึ่ง หลวงพ่อไม่ได้สอนการสร้างจังหวะด้วยตัวท่านเอง ท่านให้พระอาจารย์ทรงศรีเป็นผู้สาธิต แต่ก่อนเริ่มต้นให้เราดูการสาธิตวิธีสร้างจังหวะ ท่านก็กล่าวเป็นการให้กำลังใจหรือเป็นการกล่าวทักทาย ท่านเริ่มต้นด้วยการถามขึ้นมาว่า ตอนนี้มือของเราวางไว้ที่ไหน ท่านพูดเสร็จ ท่านเว้นระยะนิดหนึ่ง เหมือนกับเว้นวรรค ทันทีที่พอเว้นวรรคเสร็จ ท่านก็บอกว่ามือคือกาย จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องคิด จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องคิด ทันทีที่ผมฟังคำพูดของหลวงพ่อสั้นๆแค่นั้น ผมรู้สึกได้ถึงความมหัศจรรย์ของความหมายที่เกิดปรากฏขึ้นในใจ ใช่ๆ จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องคิด เราเผลอคิดไปทุกเรื่อง แม้กระทั่งในเชิงปริยัติ เราก็รู้อยู่แล้วว่าการปฏิบัติกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ที่เราใช้ตามหลักสติปัฏฐานทั้ง 4 ที่เราพูดถึงกาย เวทนา จิต และธรรมที่ว่าเป็นที่ตั้งของสติ ก็คือกายเป็นที่ตั้งของจิต รู้ได้โดยไม่ต้องคิด จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องคิด แต่เราก็เผลอคิดอยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นความหมายที่สำคัญตรงนี้ จึงทำให้ผมรู้สึกตื่นขึ้นมากับคำพูดสั้นๆ อาจจะเป็นเพราะความพร้อมหรืออะไรก็ไม่แน่ใจ แต่ก็เล่าตรงนี้เพียงเพื่อจะบอกว่า คืนนั้นนั่งสร้างจังหวะตามที่พระอาจารย์ทรงศรีสาธิตให้เราดู เมื่อเราทุกคนทำได้แล้ว เราก็นั่งสร้างจังหวะ ผมรู้สึกได้เหมือนกับว่า ผมพบอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สำคัญ ผมเคยเปรียบเทียบว่าผมเหมือนคนขับรถเก่าๆ อยู่ แล้ววันหนึ่งมีรถคันใหม่สมรรถนะดี แล้วมันดีมาก รถดีขนาดนี้ไม่ควรขับวนเวียนอยู่ในถนนตามเมืองเชียงใหม่ ควรจะขับให้ไกลสุดๆไปเลย ความคิดนี้ก็มาผนวกกับผมลาออกจากราชการ ก็เลยเริ่มต้นการเดินทางแล้วก็ได้ใช้สิ่งที่หลวงพ่อคำเขียนสอนผมในการภาวนา ในการออกเดินทางเมื่อปลายปี 48 แล้วก็นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผมก็ได้ใช้ความหมายนี้ในการที่จะบำเพ็ญภาวนา คือการที่ทำให้เราอยู่กับสภาวะจิตรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะโดยไม่ต้องคิดปรุงแต่งความหมาย คือความหมายที่กลายมาเป็นความหมายที่สำคัญ แล้วผมก็ได้พบว่ามันมีความมหัศจรรย์ของความรู้ มีคนถามผมว่าที่ผมบอกว่าผมรู้ แล้วเมื่อก่อนมันไม่รู้เหรอ เพราะผมก็สอนวิชาทางพุทธศาสนา สอนพุทธปรัชญามานานมาก ก็ที่ผมบอกว่าผมรู้ ผมก็รู้อยู่ก่อนแล้วไม่ใช่หรือ ผมก็ไม่รู้จะอธิบายเขาอย่างไรเหมือนกันนะ ด้วยความสัจจริง รู้เพียงแค่ว่าไอ้ที่รู้แต่ก่อนๆ มันไม่ใช่
การปฏิบัติภาวนา มันมีความหมายของการที่เรากลับเข้าไปสู่โลกภายในของเราเอง พอเรากลับไปสู่โลกภายในของเราเอง เราไม่จำเป็นต้องใช้จิตคิด นึกถึงภาพว่า ถ้าเราออกไปสู่โลกกว้างข้างนอก เราต้องใช้จิตคิด เพราะว่าภาพที่เห็นด้วยตา เสียงที่ได้ยินด้วยหู หรือกลิ่น รส สัมผัส อะไรที่มันปรากฏ มันมากระทบและส่วนใหญ่เราจะมีความหมายเชิงสรุปความได้ว่าเราต้องคิด ได้ยินเสียงก็ต้องคิดว่าเป็นเสียงอะไร ใช่ไหมครับ แล้วจึงค่อยรู้สึกว่าเสียงนั้นเสียงนี้ การที่เราอยู่กับโลกแล้วเราต้องส่งจิตของเราออกไปสู่โลกข้างนอกอยู่เรื่อยๆ มันต้องใช้ความคิดจึงจะสามารถเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของโลกข้างนอกได้ แต่ที่นี้เวลาเราจะกลับเข้ามาสู่โลกข้างใน เราไปเอาความเคยชินของการต้องคิดปรุงแต่งนั้นมา ทั้งที่จริงแล้วโลกข้างในนั้นไม่ต้องคิด เพราะโลกข้างในจิตของเรารู้ ภาษาพระที่บอกว่า รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ได้โดยที่เราไม่ต้องคิด เพราะมันเป็นสภาวะของความเป็นจริงที่เกิดปรากฏอยู่ในเนื้อในตัวเรา มันเหมือนเราไม่ต้องคิดว่าเราหิวแล้วหรือยัง บางทีเราก็เผลอคิดเหมือนกันนะ เพราะความหิวเกิดปรากฏขึ้นอยู่ในเนื้อในตัวเรา นึกถึงภาพที่เรายังมีชีวิตได้ทุกวันนี้ เพราะทันทีที่ความหิวเกิดขึ้นเรารู้ตัว เราก็เลยไปหากิน ความหิวเป็นความหมายที่เกิดขึ้นในเนื้อในตัวเรา เพราะฉะนั้นเวลาหิว เราจึงรู้ว่าเราหิว ถ้ากินอาหารไปแล้วอิ่ม เราก็รู้เหมือนกันโดยไม่ต้องคิดเหมือนกันว่าอิ่มแล้ว เราพอแล้ว ประมาณนี้ มันรู้สึกว่าอิ่ม ความหิว ความอิ่ม ความเอร็ดอร่อยของรสชาติอาหาร มันก็เป็นสิ่งที่เรารู้ได้ เพราะเป็นเรื่องของภายใน กลไกภายในตัวเราเอง เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด แต่เราใช้จิตของเราไปรู้สิ่งนี้ รู้ซื้อๆรู้ตรงๆไปเลย
ทันทีที่เรามาเจริญสติภาวนา ก็คือการที่จิตของเรา สติของเราทำหน้าที่รู้ รู้อะไร “รู้อารมณ์ที่เกิดปรากฏขึ้นในทุกๆขณะที่เรากำลังเป็นอยู่ ณ ขณะปัจจุบัน” ตรงนี้สำคัญที่ท่านต้องมาสร้างจังหวะ เพราะว่าจังหวะเป็นปัจจุบันของมันอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นเวลาเราสร้างจังหวะ เราจึงให้จิตของเราอยู่กับจังหวะที่สร้างขึ้น นั่นก็คือการอยู่กับปัจจุบัน และพอเราอยู่กับมัน มันจะเกิดความรู้สึกตัว คำว่ารู้สึกตัวคือรู้สภาวะที่เป็นปัจจุบัน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสามารถที่จะทำให้สิ่งที่เป็นสายธารของความคิดที่เข้ามารบกวนเราอยู่ตลอดเวลาถูกตัดขาดลงไปได้ เพราะความคิดเป็นเรื่องอดีตและอนาคต นึกถึงภาพ ถ้าเรานั่งสร้างจังหวะแล้วไปเผลอคิดเรื่องอะไรก็ต้องหลุดออกจากที่เรากำลังเป็นอยู่ ณ ขณะปัจจุบัน เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องอดีต หรือไม่ก็เป็นเรื่องอนาคต ให้เราสังเกตอย่างนี้ ถ้าเรามีสภาวะความรู้สึกขุ่นมัวเป็นความรู้สึกที่มันมีความหมายของขุ่นมัว คับแค้นอะไรบางอย่าง ให้จำไว้แม้มือยังสร้างจังหวะ แต่แสดงว่าตอนนั้นจิตไปทำหน้าที่คิดถึงอดีตแล้ว ถ้าเรามีความรู้สึกหวั่นกลัวกังวลใดๆเกิดขึ้นขณะที่นั่งสร้างจังหวะ ขอให้รู้ด้วยว่านั่นนั่งคิดถึงอนาคต เพราะว่าความขุ่นมัวมันจะปรากฏก็ต่อเมื่อมีกระแสของอดีตเข้ามาอยู่ในครรลองของการรับรู้ของเรา ถ้าเรามีความหวั่นกลัวอะไรบางอย่างให้จำไว้เลยนั้นเป็นเรื่องของอนาคต ความคิดเป็นคลื่นเป็นกระแสที่จะมากวนให้สมรรถนะของจิตที่จะรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังเสพเสวยอยู่ตอนนั้นพร่าเลือน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาฝึกเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในการที่จะรู้แจ้งอารมณ์ ณ ขณะปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ทำได้ทันทีทันใด จึงต้องมีอุบายวิธีในการฝึก กรณีที่เรามาฝึกสร้างจังหวะที่ว่านี้ เป็นอุบายอันชาญฉลาดที่ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำแล้วท่านได้ผล แล้วท่านก็มาบอกเรา เพราะฉะนั้น ความหมายตรงนี้ เมื่อเราทำไปๆ มันก็จะเป็นอุบายที่จะทำให้จิตของเราอยู่กับปัจจุบัน เมื่อจิตของเราอยู่กับปัจจุบัน มันจะเกิดสมรรถนะที่จะรู้แจ้งอารมณ์ที่จิตเสพเสวยได้ แต่ถ้าเราไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตเลื่อนลอยไปกับอดีตหรืออนาคต เวลามีอะไรเข้ามากระทบ เราก็จะจม เรียกว่าเราเมา ประมาท ประมาทตรงข้ามกับสติ สติแปลว่ารู้ที่เป็นปัจจุบัน แต่ถ้ามีอดีตหรืออนาคตเข้ามาทำให้เราจมอยู่กับความหมายนั้น จิตของเราก็เมา เมาคือไม่รู้ ไม่รู้แจ้ง ไม่รู้เท่าทัน
การออกจากความคิดสู่การตื่นรู้เป็นกลวิธีที่สำคัญ เพราะเหตุว่า สิ่งที่เป็นปัญหาของเราอยู่ในปัจจุบัน เราอาจจะนึกเหมือนเราเป็นปัญหากับโลก เป็นปัญหากับสังคม เป็นปัญหากับเพื่อนมนุษย์ข้างนอก แต่ความจริงไม่ใช่ เราเป็นปัญหากับใจของเราเอง โลกข้างนอกจะมืด สว่าง ฝนตก แดดออก มันเป็นปกติของมันอย่างนั้น แต่ปัญหาของเรา เราไปทำให้เกิดความพอใจ และไม่พอใจในสิ่งที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น แล้วทำให้เรารู้สึกคับแค้นรู้สึกขุ่นมัว และที่เยอะมากและที่เป็นปัญหามากคือเราปล่อยให้มันคิดอยู่ตลอดเวลา แล้วเวลาคิดมันมีเชื้อที่เรียกว่า อนุสัย ที่มาจากความชอบความไม่ชอบ มันมาเจือปน แล้วทำให้เรามีปัญหากับอารมณ์ที่มันเข้ามารับรู้ แล้วทำให้เกิดเป็นปัญหา นึกถึงภาพนะ ถ้าเราชอบอะไร มันก็อยากหน่วงเหนี่ยวไว้แต่มันก็ต้องจากเราไป ถ้าเราไม่ชอบอะไรเราก็พยายามผลักดันปิดกั้นมันไว้ แต่มันก็ต้องเข้ามา สุดท้ายเราก็อยู่กับภาวะอึดอัดขัดข้องและภาวะเก็บกดที่เราพูดถึงนี้ หนทางแห่งการที่จะออกมาจากความคิดสู่ความรู้ ตื่นรู้ คือต้องหาเทคนิควิธีที่จะอยู่กับปัจจุบันให้ได้โดยใช้เครื่องมืออะไรสักอย่างหนึ่ง การสร้างจังหวะนี้เป็นอุบายวิธีหรือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพที่ครูบาอาจารย์ของพวกเราทุกคนท่านปฏิบัติแล้วได้ผล แน่นอนทุกคนสามารถสร้างได้ เพราะไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะนั่งสร้างจังหวะตามที่พระอาจารย์แนะนำ แล้วบางคนก็สามารถทำได้ง่ายๆ ง่ายจนบางคนทำเพลินไปโดยไม่ได้อยู่กับจังหวะก็มี เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจประเด็นนี้ด้วย จริงๆหัวใจสำคัญของมัน จังหวะ เราอยู่กับจังหวะที่เป็นปัจจุบัน เราอยู่กับจังหวะที่เป็นปัจจุบัน และถ้าเราทำเช่นนี้ นั้นคือประตูที่เราออกมาจากความคิดมาสู่การตื่นรู้ ถามว่าทำอย่างนี้แล้วจะตื่นรู้ได้อย่างไร จริงๆ จิตของเราเป็นสภาวะรู้อยู่แล้ว เป็นสภาวะรู้อยู่แล้ว ต่างแต่เพียงแค่ว่าจิตของเราพอมีเมฆหมอกของความคิดปรุงแต่งเข้ามามาบดบัง ทำให้รู้ไม่ชัด รู้แบบพร่าเลือน ทีนี้จิตที่มันรู้อยู่แล้วพอเราคิดปุ๊บ มันจะเกิดความสงสัย ไม่มั่นใจ เกิดความรู้สึก นึกถึงภาพนะครับ ถ้าห้องนี้ดับไฟมืด แล้วเรามองไม่เห็นรอบๆตัวเรา ถ้าใครสักคนอยากจะลุกขึ้น อยากจะเดินออกไป แล้วพอเรามองไม่เห็นเราจะสงสัยทันทีเลยว่าจะเดินไปเหยียบเพื่อนหรือเปล่า มีอะไรขวางทางอยู่หรือเปล่า เราจะทำอย่างไร เป็นอย่างไร เราจะมีความคิดเต็มไปหมดเลย เมื่อตะกี้ไม่ได้สังเกตให้ดีว่ามีเพื่อนนั่งตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้นนึกถึงภาพคนอยู่ในที่มืด จะเอามือบ้าง เอาอะไรบ้างค่อยๆแหย่ไป ความเป็นไปในชีวิตของเราในมิติด้านในก็เช่นเดียวกัน จิตของเรามีความเป็นแสงสว่างรู้แล้ว แต่พอมันมีอะไรมาทำให้ขุ่นมัวมืดมิด ทำให้เขามองไม่เห็น แล้วทำให้เกิดความสับสนสงสัย ความสับสนสงสัยเกิดความหวั่นกลัว และความรู้สึกหวั่นไหวแบบนี้ในชีวิตของเรา ที่เราเห็นแบบนี้มันเป็นธรรมชาติที่อยู่กับเรามานาน นานจนเราอยู่กับความกังวลหวั่นกลัว ความรู้สึกที่มันเป็นปัญหาที่อยู่กับเราจนกระทั่งเรารู้สึกเหมือนมันปกติไปเสียแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ นี้ไม่ใช่ปกติ เราจะปกติก็ต่อเมื่อเรามามีความรู้ ความรู้ที่เราพูดถึงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปพลิกเปลี่ยนโลกได้ เมื่อถึงเวลามืดกลางคืนก็ยังมืด เมื่อถึงเวลาสว่างกลางวันก็ยังสว่าง เมื่อถึงเวลาฝนตก ฝนก็ตก เมื่อถึงเวลาแดดออกก็ออก แต่เราไม่เอาจิตของเราไปทำให้เป็นอุปสรรคขัดขวาง นึกถึงภาพดูซิ ถ้าเราไม่ชอบความมืด เราก็เป็นทุกข์ได้ทุกวัน เพราะตอนเย็นมันก็ต้องมืด ถ้าเราไม่ชอบแดด มันก็ต้องเป็นทุกข์ตลอดเพราะต้องมีแดดมีฝนสลับกันกันมา แต่ความหมายของเราก็คือ เราทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจสิ่งที่มันเป็นกฎแล้วเราก็อยู่กับมัน แต่ที่สำคัญที่สุด คือกฎเกณฑ์ภายในใจของเราเอง พอเราไปเห็นไปรู้แล้ว จะก่อให้เกิดความพลิกเปลี่ยน ที่เคยเป็นปัญหามันจะกลายมาเป็นความหมายที่ไม่ต้องเป็นปัญหา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทันทีที่พระองค์บรรลุอาสวักขยญาณ ในคืนวันเพ็ญวิสาขะ อาสวักขยญาณ คือญาณที่เป็นปัจจุบัน สนังสญาณคือญาณที่รู้ความเป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันขณะ แล้วอาสวะก็มลทินสิ้นไป พวกเราที่ใครเป็นนักปริยัติแล้วไปอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกในส่วนนี้ก็จะพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่พวกเราอาจสังเกตหรือไม่สังเกตก็ได้ ทันทีที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเป็นพระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรพนามที่พระองค์เรียกตัวพระองค์เอง พระองค์ใช้สรรพนามใหม่เลย พระองค์เรียกตัวเองว่าตถาคต ความหมายที่สำคัญของคำที่พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์เองนี้ ปัจจุบันเราก็ยังเรียกเลยนะ ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม แต่พวกเราเคยทำความกระจ่างตรงนี้ไหมว่า ทำไมพระองค์ทรงเรียกตัวเอง ว่าพระตถาคต หรือ ตถาคต ถ้าแปลเป็นคำศัพท์ไม่ได้แปลยาก แต่เราไม่แปลกันเอง มันมีคำว่า ตถ กับ คต แปลว่าผู้เข้าถึง หรือผู้มาถึงแล้วซึ่ง ตถ ตถคือความเป็นเช่นนั้น คือความเป็นเช่นนั้นที่เราพูดถึงดูมันง่าย แต่ความจริงไม่นะ เรามีปัญหากับกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่เราไม่เข้าใจมัน นึกถึงที่มันมืดเพราะมันเป็นเช่นนี้เอง ที่มันสว่างมันก็เป็นเช่นนี้เอง ปัญหาของเราคือไปเป็นปัญหากับมันเอง ถ้าวันหนึ่งเรารู้สึกว่ามันก็เป็นเช่นนี้แหละ มันไม่เป็นปัญหาอะไรกับเราแล้วถ้าเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้า นึกถึงภาพนะว่าตอนเป็นพระสิทธัตถะ แล้ววันหนึ่งได้ออกจากพระราชวัง ได้มีนายฉันนะเป็นผู้ติดตามใช่ไหม พอพระองค์ไปเห็นเทวทูต เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตาย ทันทีที่เห็น สิทธัตถะมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะยิ่ง ฉันนะยืนยันว่าเราก็ต้องเป็นเช่นนี้แหละ สักวันหนึ่งเราก็แก่ เราก็เจ็บ แต่พระองค์เวลาเห็นเกิดความรู้สึกกลัวหวั่นไหว ยิ่งมาดำริว่าเราก็ต้องเป็นเช่นนี้ ความรู้สึกกลัวหวั่นไหวนี้ทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปเลย กลับเข้ามาในวังอีกครั้งหนึ่ง มองเห็นปราสาทราชวัง มองเห็นนางสนมใครนี้ด้วยอารมณ์ที่เปลี่ยนไปเลย ความรู้สึกที่มันหวั่นไหว ตื่นตระหนกตกใจกับปรากฏการณ์ของธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เรียกว่าความกลัว แต่ด้วยความพระองค์เป็นพระมหาบุรุษ เมื่อมีความหมายปรากฏขึ้นเช่นนี้ก็มีพระดำริต่อไปว่า ถ้ามันมีความทุกข์กับสิ่งนี้ มันต้องมีทางออกจากความทุกข์นี้ได้ แล้วพระองค์ก็รู้ว่ามนุษย์จำนวนมากอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์นี้ ออกไปแสวงหาหนทางออกจากความทุกข์นี้เสียดีกว่า จึงเป็นที่มาของการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แปลว่าเสด็จออกเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นครั้งยิ่งใหญ่ แล้ววันหนึ่งเมื่อพระองค์มาถึง คืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะที่ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ที่ต่อมาเรียกว่าต้นโพธิ์ พระองค์จึงรู้ว่า โอ้ เพราะพระองค์เข้าถึงสิ่งนี้ รู้ว่ามันเป็นเช่นนี้แล้ว ความตื่นตระหนกตกใจกลัว ความหวั่นไหวก็มลายหายไปสิ้น และความมลายหายไปสิ้นนี้ พระองค์ถึงกับกล่าวทักทายมาร มารก็คือพระองค์ทักทายมารด้วยภาษาพระองค์ว่า ดูก่อนมาร เรารู้จักท่านแล้ว ท่านจะไม่สามารถสร้างเรือนให้เราอยู่อาศัยได้ต่อไปอีกแล้ว ยอดหลังคาเรือนเรารื้อทิ้งไปแล้ว ประตูหน้าต่าง กลอนเราก็ทำลายมันหมดแล้ว ความหมายก็คือเมื่อก่อนพระองค์อยู่ในเรือน ซึ่งคือมาร คือตัณหา ความอยากนี่แหละ สร้างไว้ให้พระองค์อยู่ พระองค์เหมือนถูกขังอยู่ในเรือน แล้ววันหนึ่งเมื่อพระองค์รู้แจ้งสิ่งเหล่านี้ พระองค์ทำลายกรงขังหรือเรือนขังนี้ออกไปได้เสียแล้ว
คำว่ารู้ความเป็นเช่นนั้น มันมีความรู้สึกเกิดขึ้น นึกถึงภาพถ้าสมมุติว่าวันนี้เราบรรลุถึงความหมายนั้น มันเป็นเช่นนี้เอง สิ่งที่เราเคยตกใจ สิ่งที่เราเคยหวั่นไหว สิ่งที่เราเคยหวั่นกลัวว่าเป็นเช่นนี้เอง ท่านอาจารย์พุทธทาสแปล คำ ตถ หรือ ตถตา ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งที่ผมพูดถึงตรงนี้คือการที่จะเข้าถึงสิ่งนี้ได้ไม่ใช่ด้วยความคิด ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่เป็นความหมาย หรือจิตของเรารู้สิ่งนี้ มันจะเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของความหมายที่เขาแต่งเพลงให้ผม หรือให้แต่งเพลงถึงผมก็ไม่รู้ ที่บอกว่าผมไว้เนื้อเชื่อใจธรรมชาติ คำว่าไว้เนื้อเชื่อใจธรรมชาติ ก็คือ รู้ว่าธรรมชาติมีกฎ มันมีเกณฑ์ แล้วกฎเกณฑ์ที่ว่านี้เราอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันนั้น เรามีความรู้สึกดีที่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้น และความรู้สึกแบบนี้เป็นความรู้สึกที่มีความสำคัญมากๆ ที่ว่าสำคัญมากๆเพราะดูเหมือนกับว่ามันไม่มีอะไรที่สลับซับซ้อนกว่าคนอื่นอะไรมากมายเลย แต่มันสลับซับซ้อนอยู่ในใจของเราเอง ภายในใจของเราเองที่วันนี้ ที่เรามาถึงวันนี้ที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ ใจของเราแต่ละคนมีเรื่องราวมากมาย ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่สลับซับซ้อน และเป็นกฎเกณฑ์ที่บีบคั้นให้เรามีน้ำตาตก เป็นกฎเกณฑ์ที่ทำให้เรารู้สึกหวั่นไหว หวั่นกลัว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นการเจริญสติหรือกลับมาสู่การรู้เนื้อรู้ตัวรู้สึกตัว ก็คือการกลับมาเห็นและมารู้สิ่งนี้ ถามว่ารู้แล้วจะเป็นอย่างไร พอรู้แล้วเราก็รู้เท่าทันอารมณ์ ที่ภาษาพระท่านว่ารู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์ตรงนี้เป็นศัพท์เทคนิค สภาวะที่จิตเสพเสวย เรียกว่าอารมณ์ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เวลาเราพูดถึงอารมณ์ในทางทฤษฎี ถ้าตาเห็นรูป ก็คือ รูป นั่นแหละเป็นอารมณ์ เรียกว่า รูปารมณ์ แล้วก็ไล่ไปเรื่อย รูปารมณ์ ขันตารมณ์ อะไรว่าไปเรื่อยๆ สุดท้ายใจคือมโนของเราปรุงแต่งอะไรขึ้นมาเป็นธรรมารมณ์ เพราะฉะนั้นสภาวะที่เป็นธรรมารมณ์ ที่มันอยู่ในใจเราเอง ถ้าพอเราตื่นขึ้นมารู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัวตรงนี้ได้ มันจะกระจ่างแจ้งในธรรมารมณ์ที่เข้ามาสู่มโนทวาร แล้วกลายมาเป็นความหมายที่มันเป็นตัวเราที่เป็นปัจจุบัน แล้วเราก็จะรู้แจ้ง
และตรงนี้แหละที่ผมใช้เวลาในการที่คุยเพื่อให้พวกเราเข้าใจความหมายของคำว่าออกมาจากความคิดสู่การตื่นรู้ แล้วการออกจากความคิดมาสู่การตื่นรู้ มันมีหนทาง มีเส้นทาง พูดแบบคร่าวๆ เป็นภาพเส้นสเก็ต มีรายละเอียดคงพูดรายละเอียดยากมาก ขอให้พวกเราปฏิบัติภาวนากับการสร้างจังหวะ ให้เข้าใจว่าการสร้างจังหวะก็คือหาอุบาย หาเครื่องมือให้จิตของเราได้รู้อยู่กับสภาวะที่เป็นปัจจุบันขณะ และเมื่อเราอยู่กับปัจจุบันขณะจนกระทั่งกลายมาเป็นปกติ ที่เราสามารถทำได้เป็นปกติไม่มีความคิดมาแทรกแซง มันจะเกิดสภาวะตื่นรู้ และสภาวะตื่นรู้นั้นจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก ที่สำคัญเวลาเราตื่นรู้ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มันทำให้เรารู้สึกได้ถึงความหมายที่ไม่เคยคิดได้มาก่อน ไม่เคยรู้สึกได้มาก่อน มันเป็นสภาวะที่เราจะอยู่กับคนรอบๆตัวเรา อยู่กับเหตุการณ์รอบๆตัวเรา มหัศจรรย์มาก ผมไม่รู้จะใช้คำพูดว่าอะไรดีนะ เหมือนกับที่ผมชอบเล่าว่าหลังจากที่ผมเดินทางแล้วผมกลับไปอยู่บ้านแล้วผมก็ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนผมจะมีความรู้อะไรเลย เพราะผมลาออกมาจากราชการเลย พอลาออกมาจากราชการเลยแล้วยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไรต่อหลังจากนั้น แต่มีความรู้สึกอันหนึ่ง ก็คือมีความรู้สึกว่าภรรยาเป็นผู้มีพระคุณมากที่เธออนุญาตให้ผมลาออกจากงานได้ และอุดหนุนส่งเสริมให้ผมได้ทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ผมอยากจะตอบแทนบุญคุณเธอให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เลยกลับไปอยู่รับใช้ภรรยา พอกลับไปอยู่รับใช้ภรรยา มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องเล็กมากแต่มันใหญ่มาก คือเป็นพ่อบ้านที่ทำอะไรไม่ค่อยเป็น สอนหนังสือเป็นอย่างเดียว พูดเป็นอย่างเดียวประมาณนี้ ผมทำสิ่งหนึ่งที่ง่ายมากคือล้างจาน มีหน้าที่ล้างจาน ภรรยาไม่ต้องยุ่งเรื่องล้างจาน ผมจะล้างเอง และภรรยาซื้อสก็อตไบร์ทต่างสีมาให้ผม แล้วก็กำชับไว้ว่าที่ซื้อต่างสีเหตุว่าใช้สีหนึ่งล้างจานที่เปื้อนคราบน้ำแกง ส่วนแก้วน้ำ ไม่ได้เปื้อนอะไรมาก แค่เราดื่มน้ำก็ให้ล้างด้วยสก็อตไบร์ทอีกสีหนึ่งนะ ผมก็รับคำสั่งมาอย่างดี แต่ใช้ความคิดง่ายๆ ใช้สก็อตไบร์ทสีไหนมันก็เหมือนกัน ทุกครั้งที่ผมล้างจานเสร็จผมก็ล้างสก็อตไบร์ทไปตากจนกระทั่งแห้ง เมื่อเอามาล้างใหม่ก็สะอาด พอมันสะอาด ผมก็เริ่มด้วยการล้างแก้วน้ำก่อนแล้วสุดท้ายล้างแก้วน้ำเสร็จแล้ว จึงค่อยไปล้างถ้วยล้างจานที่เปื้อนคราบน้ำมัน ทำไมต้องใช้สก็อตไบร์ทสองสีในการล้างจานครั้งเดียว ปรากฏว่าวิธีคิดของผมไม่ตรงกับที่ภรรยาคิด เพราะเธอไปซื้อไว้สองสี วันหนึ่งผมล้างแก้วน้ำอยู่ แต่ผมใช้สก็อตไบร์ทสีเขียว ซึ่งไม่ตรงกันสักที ซึ่งต้องใช้สีชมพู ภรรยาเขาเห็นผมกำลังใช้สก็อตไบร์ทสีเขียวล้างแก้วน้ำ เขาเลยพูดขึ้นมาด้วยเสียงดังพอสมควรว่า บอกกี่ครั้งกี่หนแล้ว ประมาณนี้ บอกกี่ครั้งกี่หนแล้ว เหมือนสอนมากี่หนแล้ว ทำไมไม่จำสักทีเหมือนครู เพราะภรรยาผมก็เป็นครู แล้วพอพูดเหมือนกับบ่นว่าทำไมไม่จำว่าให้ใช้ล้างแก้วน้ำต้องใช้สีชมพูไม่ใช่สีนี้อย่างนี้ พอเธอพูดเสร็จเธอก็ออกไป ไม่ได้อยู่ดูผลว่าผมจะปฏิบัติตามหรือไม่ แต่ภรรยาขณะที่เธอออกไปแล้ว ขณะที่ผมยังทำกิจกรรมคือยังล้างแก้วน้ำด้วยการเอาสก็อตไบร์ทซึ่งมันมีน้ำยาล้างมีฟองอยู่ในมือ
ผมรู้สึกตื่นกับสิ่งที่ปรากฏขึ้น มันรู้สึกมหัศจรรย์กับความหมายที่จิตได้รับรู้รับฟัง เพราะเมื่อก่อนเวลามีอะไรเกิดขึ้นแล้วผมทำอะไรไป แล้วภรรยาบ่น ผมจะมีความรู้สึกขัดเคือง แต่ผมไม่แสดงออก เนื่องจากผมตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ตอนแต่งงานแล้ว ว่าจะรับใช้ภรรยาโดยไม่มีเงื่อนไข จะไม่ปล่อยให้ความรู้สึกตำหนิติโทษภรรยาเกิดขึ้นในใจ แต่ถึงจะตั้งปณิธานไว้อย่างนั้นแต่ความรู้สึกที่มันเป็นเชิงตำหนิมันจะเกิด และผมจะข่มมันไว้ ผมทำจนมันกลายเป็นนิสัย พอทำจนเป็นนิสัย แล้วเหมือนกับว่าผมไม่บ่นไม่พูดแต่จริงๆ ลึกๆในใจมันมีนะ ปฏิกิริยาขัดขืน แต่วันนั้นไม่มีสิ่งที่เป็นปฏิกิริยาขัดขืน มันเลยกลายมาเป็นความหมายของความรู้ ที่เมื่อก่อนผมรู้ด้วยความคิดว่าไม่ควรโต้ตอบภรรยา ไม่ควรจะเถียงภรรยา ไม่ควรจะเอาใจไปทำให้เกิดปัญหา ในการที่จะขัดแย้งกัน มันแค่เอาความคิดไปข่มไว้ แต่วันนั้น วันที่ผมล้างจาน แล้วภรรยาพูด มันไม่ได้ต้องข่มอะไร มันเป็นความรู้สึกดีเป็นล้นพ้น ที่สำคัญความรู้สึกที่ดีเป็นล้นพ้นนี้เกิดจากความหมายที่ว่า แท้จริงคำพูด กริยาการกระทำของภรรยาก็ไม่มีอะไร เราไปปรุงแต่งให้มีขึ้นต่างหากเมื่อก่อนเธอพูดเสร็จเธอก็ออกไปแล้ว ถ้าจะมีก็มีในความหมายว่า แม้เธอจะไม่ได้มาช่วยล้างถ้วยล้างแก้ว แต่เธอก็อยากจะมีส่วนร่วมในการล้างเท่านั้นเอง จริงไหม ถ้าพูดไป นึกถึงภาพ เป็นกองเชียร์ แม้จะไม่ได้ลงไปเล่นในสนามก็จริง แต่เป็นกองเชียร์ ให้กำลังใจกันได้ ความรู้สึกแบบนี้มันไม่เกิดก่อนหน้านี้ แต่มาเกิดหลังจากที่เรามาถึงจุดๆหนึ่งที่เรารู้ความหมายอะไรบางอย่าง ปรากฏการณ์ที่ผมพูดถึงนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาจากความคิด เมื่อก่อนเราพยายามคิดบวก แต่ความคิดบวกไม่พอ มันต้องเกิดสภาวะจิตรู้เป็นบวกด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงการออกจากความคิดมาสู่การตื่นรู้ หรือการรู้สึกตัว ก็คือความหมายตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ในหนทางที่ออกมาจากการคิดปรุงแต่ง คิดปรุงแต่งไม่ทันคิดดีนะบางทีก็ยังเป็นปัญหาเลย นึกถึงภาพ ความดีที่ถูกสร้างขึ้นมาก็เป็นบ้านวิมานที่สร้างขึ้นมาเหมือนกัน มันมีความอยากดี แล้วก็สร้างบ้านไว้ เวลาใครไม่มาอยู่ในบ้านหลังดี เราก็จะรู้สึกโวยวาย แย่มากเลย เพราะฉะนั้นพวกเราจะต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังพูดถึง สภาวะรู้สึกตัว หรือรู้ตัว คือสภาวะที่เห็นอารมณ์ที่เกิดปรากฏ และจิตเสพเสวยและรู้ พอรู้ปุ๊บ ที่สำคัญอันหนึ่งที่อยากพูดไว้ตรงนี้ด้วย ตรงนี้มีความแตกต่างกันมาก กับตอนที่เรามีความคิดนำทาง ความคิดนำทาง มันคิดอะไรบ้าง บางทีมันยังคิดไว้ล่วงหน้าด้วยนะ ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี พอคิดล่วงหน้าแล้วไปตัดสินด้วยนะว่าความโลภไม่ดี ความโกรธไม่ดี พอวันหนึ่งเกิดความโลภโผล่ขึ้นมาในใจ รู้สึกลงโทษลงทัณฑ์ตัวเองใหญ่โต ด้วยความรู้สึกเหมือนประหนึ่งว่ามันเป็นสิ่งที่แย่มากๆ บอกมากี่หน สอนมากี่หนล่ะ ครั้งแรกเหมือนภรรยาบอกผม บอกมากี่ครั้งแล้ว ทำไมไม่จำ นี่ก็บอกกับตัวเองว่าบอกมากี่ครั้งแล้วทำไมไม่จำว่าความโกรธไม่ดี ปัญหาของมันคือตรงนี้ อันเป็นรายละเอียดที่ถ้าใครปฏิบัติมาถึงจุดๆ หนึ่งแล้วก็มีสิ่งนี้เป็นตะกอนหลงเหลืออยู่ ก็คือสิ่งหนึ่งที่มันเป็นความคิด นอกจากทำให้เรามีคลื่นของความคิดเข้ามารบกวนแล้ว บางทีมันทำให้มีเกิดการตัดสินไว้ล่วงหน้า พอตัดสินไว้ล่วงหน้าแล้วพอมันมีอะไรขึ้น เราก็เอาคำตัดสินนั้นมาใช้
จริงๆ แล้ว สิ่งที่เป็นความหมายของการรู้สึกตัวก็คือ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ความโลภ ความโกรธ เกิดขึ้นได้ แต่ทันทีที่มันเกิดเรารู้สึกตัว ทันทีที่รู้สึกตัว มันจะมีความหมายที่สำคัญ เพราะทันทีที่เราเกิดสติ ตรงนี้ผมพูดในเชิงทฤษฏีหรือปริยัตินิดเดียวเพราะว่าต้องใช้ศัพท์เทคนิค ทันทีที่เราเกิดสติที่เป็นการรู้สึกตัวจริงๆ มันจะเป็นธรรมชาติวิสัย เพราะสติตัวนี้จะเป็นองค์ของสัมโพชฌงค์แล้วนะครับ หนึ่งในโพชฌงค์ 7 ที่พวกเราท่องกันไว้ได้แล้ว และทันทีที่เรามีสติตัวนี้ มันจะเกิดธรรมวิจัย ธรรมวิจัยคือสภาวะที่ว่ารู้ตัวคือรู้ด้วยว่าสิ่งที่จิตเสพเสวยมันเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ได้รู้ด้วยความไปคิดว่าอกุศลที่เราทำ แต่มันรู้เหมือนที่เรารู้หิว มันรู้ว่าอะไรเป็นโทษ อะไรไม่มีโทษ เพราะทันทีที่เราบอกว่าเกิดธรรมวิจัยก็คือรู้อารมณ์ที่จิตเสพ อารมณ์ส่วนไหนที่มันเป็นโทษ ถ้ามันเป็นโทษมันก็จะมีความหมายถึงการละไปโดยอัตโนมัติ อะไรที่มันเป็นคุณ มันก็จะเกิดเพิ่มพูน เค้าจะใช้คำว่า มหานะและภเวปัพพะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นความหมายนี้ พอมันเกิดสภาวะนี้ ก็จะเกิดวงจรของจิตรู้ที่จะเกิดธรรมวิจัย เกิดวิริยะ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ คำเหล่านี้เป็นเทคนิคทั้งหมด ที่ผมเล่าๆมา จริงๆก็เล่ามาจากความหมายของคำเหล่านี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นการสร้างจังหวะที่เราทำอยู่นี้ พอเราทำไปถึงจุดๆหนึ่งแล้ว เราไม่ได้รู้เพียงแค่จังหวะของกายแล้วแต่เรารู้สภาวะอื่นที่จิตเสพเสวย เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เป็นความหมายก็คือ มโนทวารที่จะรับรู้ธรรมารมณ์ แล้วส่วนนี้เป็นส่วนที่ละเอียดอ่อน ซึ่งประเด็นเหล่านี้พูดไปแล้วจะไปปรุงแต่งกันมากมายไป ก็พูดเพียงแค่จะบอกว่าการกลับมาสู่การรู้สึกตัว ก็คือความหมายของการที่เราจะรู้แจ้งสภาวะธรรมารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในใจเรา แล้วเราก็จะรู้เท่าทันว่าอะไรเป็นสิ่งที่เป็นโทษ อะไรไม่มีโทษ แล้วความหมายนี้จะเป็นไปโดยกลไกอัตโนมัติ และสิ่งเหล่านี้คือเส้นทางของการภาวนาที่ผมใช้เวลาพูดตามประเด็นหัวข้อ “ออกมาเสียจากความคิดสู่การตื่นรู้”
เวลาที่เหลือนี้อยากจะแถมอะไรบางอย่าง เปิดประเด็นไว้ว่าจริงๆ การภาวนาที่เราต้องการออกมาจากความคิด แต่ก็ไม่ได้ออกมาได้โดยง่ายๆ นะครับ ความคิดที่บอกดูเหมือนคำพูดสั้นๆ ว่าความคิด แต่ความจริงๆคือตัวตน คือสภาวะความเป็นตัวเรา ที่เราเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลานาน การที่จะออกมาจากสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ใช่ง่าย มันจึงต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือนอกจากสิ่งที่เป็นการสร้างจังหวะซึ่งเป็นเครื่องมือปัจจุบันแล้ว แต่ก็ต้องมีเครื่องมืออื่นประกอบด้วย ปกติจิตของเราที่มันมีสมรรถนะในการคิดมากๆ ความคิดที่พูดถึงจะนำไปสู่ความสงสัย ความสงสัยที่เราพูดถึงเป็นสภาวะธรรมชาติที่เราเคยชินที่เวลาเราอยู่กับโลกข้างนอก เมื่อเราได้สัมผัสกับอะไรซึ่งเป็นโลกข้างนอก รูป รส กลิ่น เสียง ต้องมีความคิดเข้าไปเจียระไน แจกแจงเสมอ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส พวกนี้เราต้องคิดเสมอ แม้กระทั่งนั่งกิน บางทีเรายังสงสัยเลยว่า รสแบบนี้มาจากไหนอย่างไร ทั้งที่ความจริงรสก็คือรส ลิ้นรับสัมผัสรู้ มันทำหน้าที่บอกรสเผ็ดหวานอย่างนี้ แต่เราอดไปคิดไม่ได้ บางทียิ่งเราไปมีทฤษฎีเข้ามาประกอบว่าเราเป็นพวกคลีน อาหารสะอาด กินไอ้นี้มันดีไหมประมาณนี้ มันหวานไปนะ น้ำตาลไม่ควรมากอย่างนี้ มันก็มีความคิด ผมพูดถึงว่า เรามีความคิดไปตัดสินสิ่งเหล่านี้ แต่จริงๆแล้วความหมายที่เราพูดถึงมันมีประเด็นตรงนี้ มันจะทำอย่างไรให้เรามีสมรรถนะในการที่จะออกมาจากความคิดได้ ก็ต้องทำให้พลังของความคิดที่คิดสงสัยต้องมีเครื่องมือป้องกันด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในภาษาที่เราใช้กันในหมู่บุคคลที่มาภาวนา แน่นอนในการภาวนาเราต้องการปลุกจิตตื่นรู้ เจริญสติ แต่ประเด็นที่น่าสำคัญอย่างหนึ่ง นึกถึงภาพ บางคนมาเจริญสติไม่นานได้ผล บางคนทำมานานไม่ได้ผล ความต่างอยู่ตรงไหน ความต่างอยู่ที่คุณสมบัติพื้นฐานภายในใจของเราเอง ว่าใจของเรามีสมรรถนะ มีความนิ่งพอไหม ทีนี้ในส่วนนี้บางคนจึงบอก บางคนเวลาพูด เราเคยได้ยินคำพูดบอกว่า อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า อินทรีย์นี้ไม่ได้หมายถึงสมรรถนะของตาหู อินทรีย์นี้หมายถึงสภาวะของจิตที่มันเป็นปรุงแต่งเป็นใจให้มีเรื่องราวต่างๆ ทีนี้เวลาพูดถึงอินทรีย์ 5 พวกเราเคยได้ยินอินทรีย์ 5 พละ 5 มันมีชื่อเรียกหมวดคำนี้สองชื่อ แต่ความหมายของคำเหมือนกัน คือเราพูดถึง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พวกเรานึกถึงภาพออกใช่ไหมว่า เวลาเราบอกว่าปฏิบัติธรรมยังไม่ได้ผล ก็อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ต้องบ่มเพาะอินทรีย์ให้แก่กล้ามากกว่านี้ ทำเหมือนกับว่ามันยังไม่พร้อม จริงๆเป็นความหมายที่สำคัญจริงๆ เวลาเราพูดถึงอินทรีย์ ตัวสติอยู่ตรงกลาง ก่อนจะไปถึงสติต้องมีศรัทธา มีวิริยะก่อน ทีนี้ศรัทธา วิริยะ สติ แล้วจึงเกิดสมาธิ และเกิดปัญญา คือความรู้ ผมพูดสั้นๆเพียงแค่แนะนำเท่านั้นเองเพราะจะเป็นประโยชน์ในการคุยหรือการปฏิบัติต่อไปด้วยว่า เวลาพูดถึงศรัทธานี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในความหมาย เพราะเราเองมักจะเอาสิ่งที่เรียกว่าศรัทธาไปผูกพันไว้กับสิ่งข้างนอก แล้วกลายเป็นว่าศรัทธาคือความเชื่ออะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งมันอยู่นอกตัวเรา แต่จริงๆแล้วศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งข้างนอก เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องศรัทธา พระองค์ใช้คำในภาษาบาลีที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกว่า มีศรัทธาที่ใช้กันในความหมายเพียงอย่างเดียวคือ ตถาคตโพธิสัทธา เมื่อกี้พูดคำว่า ตถาคต ไปแล้วใช่ไหม ทีนี้เวลาเราพูดถึง ตถาคตโพธิสัทธา เวลาเราแปล เราแปลว่า เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ได้มีคำอธิบายว่าเชื่ออย่างไร แต่ความหมายที่แท้จริง คำว่าตถาคตโพธิสัทธาคือเรามีความมั่นคงในใจของเรา เชื่อมั่นในความหมายที่เรามีความเชื่อมั่นว่าจิตของเรามันจะเข้าถึงสภาวะที่เป็นตถาคตโพธิ ก็คือ จิตที่มีโพธิที่จะเข้าถึงสภาวะนั้นได้ ความหมายที่ว่านี้สำคัญ มันสำคัญเพราะว่าผลมันยังไม่เกิด แต่ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในหนทางหรือวิถีที่จะให้มันเกิด เหมือนเวลาที่เรามีอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ผมชอบยกตัวอย่างอย่างนี้ เราไปซื้อผลไม้ เช่น มะม่วงมาจากตลาด แล้วบอกว่าเป็นมะม่วงหวาน แต่ตอนซื้อยังดิบ แม่ค้ายืนยันว่าเป็นมะม่วงหวานกินสุก เราเลยเชื่อ แต่ความหมายของมันก็คือมะม่วงไม่ได้หวานอยู่ในขณะปัจจุบันตอนที่เราซื้อมาตอนนั้น แต่เราสามารถเอามาเก็บไว้สัก 2 วันหรือ 3 วันแล้วแต่ตามความเหมาะสมที่เราก็รู้อยู่เป็นปกติแล้ว ทันทีที่เราพูดถึงว่ามะม่วงหวาน มันไม่ได้หวานขณะที่เราซื้อ ถ้าเราปอกแล้วกินตอนนั้นเลยมันจะเปรี้ยว แต่เรามีความเชื่อมั่นว่ามะม่วงผลที่เราซื้อมา ถ้าบ่มไว้เก็บไว้ในที่เหมาะสม ในบรรยากาศในเงื่อนไขที่ถูกต้อง 2 วันมันก็จะสุก มันจะเห็นปรากฏการณ์ แม้ยังไม่ชิมเราก็เห็น เช่น ผิวของมันก็จะเปลี่ยนสี จากสีเขียวๆคล้ำๆก็อาจเป็นสีเหลืองสีทองอะไรอย่างนี้ เปลี่ยนสี แน่นอนพอเห็นสีเปลี่ยนไปเราก็รู้ว่ารสก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน ถ้าซื้อมาวันแรกเอาไปกินมันเปรี้ยวแน่ แต่พอต่อมามันจะกลายเป็นรสชาติที่หวาน ความหมายที่ต้องการจะเปรียบเทียบคือสภาวะที่มันมีในตัวเราตอนนี้ เราอาจมีความขุ่นมัว เศร้าหมอง กังวล วิตกกังวล อะไรสารพัด แต่เรามีความเชื่อมั่นไหมว่าสิ่งที่เกิดปรากฏอยู่เป็นสภาวะแบบนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องปลุกฟื้นความรู้สึกใหม่ๆ เป็นความรู้สึกที่ว่าสิ่งที่เป็นอาการของสภาวะที่เป็นความขุ่นมัว ความหมายของความรู้สึกที่มันเป็นความทุกข์ในปัจจุบันมันหายได้ ไม่ต้องกังวล ประมาณนี้ ให้มีพลังที่จะกระทำไปในหนทางที่จะดูมันหาย ให้เชื่อมั่นเหมือนกับเราซื้อมะม่วงดิบ แต่มันเป็นมะม่วงหวาน แล้วเราก็เก็บมันไว้ ไม่ใจร้อน ไม่โวยวายแม่ค้า หลังจากกลับมาถึงบ้านปอกชิมแล้วบอกว่าเป็นมะม่วงหวานแล้วทำไมมันเปรี้ยวจัง เพราะเรารู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพแบบนี้ได้ ความรู้สึกแบบนี้เป็นความรู้สึกที่ใช้คำว่า ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อมั่นในศักยภาพของสภาวะที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบันว่าเราจะสามารถทำให้มันเกิดความรู้แจ้ง เข้าถึงความเป็นจริงที่เป็นเช่นนั้น แล้วเกิดความหมายดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ได้จริงๆ ตรงนี้ต้องมี แล้วความรู้สึกที่ต้องมีสิ่งนี้ มันจะเป็นความหมายของการที่ทำให้เราต้องกลับมา นึกถึงภาพเวลาเราไปซื้อมะม่วงมา แม้จะเก็บไว้ แต่เราก็อดไปเปิดดูไม่ได้ บางทีเปิดดูเฉยๆไม่พอ ยังเอามาดมอีก เพราะกลิ่นมันจะหอมด้วย เกือบใช้ได้ล่ะ เก็บไว้อีกวันดีกว่า ประมาณนี้
ความหมายที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นปรากฏการณ์ของสิ่งข้างนอก แต่จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ภายในใจของเราเองก็มีความหมายเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่เรามาปฏิบัติธรรมโดยรูปแบบไหนก็แล้วแต่ โดยเฉพาะพวกเราที่ปฏิบัติตามแนวเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ พวกเราสังเกต ให้พวกเราสังเกตพอเรามาสร้างจังหวะ ยิ่งถ้าสร้างจังหวะแล้วได้ผล มันจะเป็นภาวะที่มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์จนผมไม่รู้จะบอกว่าอย่างไร ทันทีที่เราเกิดสติ แล้วเกิดธรรมวิจัยในตัวจังหวะ มันจะเกิดวิริยะโดยที่เราไม่ใช่ข่มใจ มันมีความรู้สึกได้ถึงความหมายที่เรานั่งสร้างจังหวะ เป็นสภาวะที่บอกไม่ถูก เพราะว่าตอนที่เราทำสภาวธรรมที่เป็นองค์คุณในใจของเรา พอมีสติจะมีวิริยะ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีความเบิกบาน มีอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วเราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ พอเราเห็นสิ่งเหล่านี้ ที่สำคัญมันต้องเริ่มต้นจากจิตของเราที่มีความเชื่อมั่น คำว่าเชื่อมั่นพูดเป็นภาษาเปรียบเทียบยากมาก แต่มันเป็นสภาวะจิตของเราที่มีความมั่นคง ทีนี้ความมั่นคงที่ว่านี้เป็นสภาวะที่ไม่ก่อให้เกิดความคิดสงสัย ที่กลายมาเป็นความหวั่นไหว ทำให้กลายมาเป็นความหมายที่ทำให้เราไม่นิ่ง เรื่องจิตบางทีก็พูดยาก พอไม่นิ่งคือมีเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามา แล้วเรามีความคิดเคลือบแคลงสงสัย ทีนี้คำว่าเคลือบแคลงสงสัยมันไม่ได้เคลือบแคลงสงสัยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติสร้างจังหวะ มันสงสัยเรื่องอื่นในชีวิต แล้วที่สำคัญพอเราสงสัยเรื่องอื่นในชีวิตแล้วมันทำให้เราสูญเสียความสามารถที่จะรู้แจ้งสภาวะที่เป็นอารมณ์อยู่ภายในได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นความหมายที่อยากจะพูดตรงนี้ เราต้องพยายามบ่มเพาะให้เกิดอินทรีย์ส่วนนี้ คือตัว ศรัทธา ตัววิริยะ ถ้าไม่มีศรัทธา วิริยะก็ไม่เกิด วิริยะคือหมายความว่าเราทำสิ่งที่เป็นการสร้างจังหวะ เราไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันยาก เราไม่รู้สึกว่ามันนานแล้ว ขณะที่เราทำสิ่งนี้ถ้าจิตเราอยู่กับปัจจุบันขณะ เราจะไม่มีความรู้สึกเรื่องนาน เพราะขณะที่เรามีความรู้สึกว่านาน นั่นแสดงว่าจิตของเราไปอยู่กับอดีตหรืออนาคต นั่งทำมาตั้งแต่ 9 โมง นี่จะเที่ยงอยู่แล้ว ประมาณนี้ แสดงว่าเรานั่งคิดเรื่องเวลา ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ล่ะ ปัจจุบันขณะไม่มีสิ่งที่เรียกว่านาน ไม่มีสิ่งว่าเร็วว่าช้า ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน จิตของเราจะไม่คิดถึงเรื่องอดีตและอนาคต จะไม่ทำให้เกิดมิติของความนานหรือความเร็วความช้า แต่เราจะอยู่กับปัจจุบันขณะ เพราะฉะนั้นเวลาเราจะตรวจสอบสภาวะที่เป็นคุณสมบัติอินทรีย์เบื้องต้นว่ามีความแก่กล้าแล้วหรือยัง ให้เราดูตัวศรัทธา ศรัทธาดูไม่เห็น มันไม่ชัดเพราะไม่รู้จะไปเทียบเคียงกับอะไร ให้ดูจากสภาวะ เรามีวิริยะคือความรู้สึกพอใจแล้วก็อยู่กับสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเวลาคนมีวิริยะจึงนั่งสร้างจังหวะได้ทั้งวัน จิตเขามั่นคงกับสิ่งเหล่านี้ ถ้าทำอย่างนี้ต่อเนื่องแบบนี้ตัวสติก็เกิดอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราต้องไปโหยหา ไปเรียกร้องไปกดดันตัวเองว่าต้องเจริญสติให้ตื่นรู้ ตัวความรู้สึกตัวเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติไม่ต่างอะไรกับการทานอาหาร ตอนนั่งทานอาหารพวกเราไม่ต้องคิดกังวล ออกมาจากความคิดเลย อย่าไปกลัวว่าจะไม่อิ่ม ทานไปเรื่อยๆ สักพักมันก็อิ่ม ไม่ต้องไปนั่งว่ามันจะอิ่มไหม ประมาณนี้ ไม่ต้อง ให้รู้รสอาหารที่เป็นปัจจุบันขณะเคี้ยวกลืน ความอิ่มมันจะเกิดขึ้น ทานไปเรื่อยๆ สักพักมันก็อิ่ม ความอิ่มมันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่เราทานอาหาร
เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรา เวลาเรามาเจริญสติแบบที่สร้างจังหวะ ผมพบว่า หนึ่ง ต้องทำจิตของเราให้นิ่ง คำว่านิ่ง คือมีศรัทธา อันที่สอง อยู่กับปัจจุบัน ต้องอยู่กับจังหวะกับมือ กับจังหวะมือซ้ายมือขวาการพลิกการยกการอะไรอย่างนี้อยู่ตรงนั้น มันก็จะเป็นสภาวะที่อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันของกายคือมือ มันจะหมายความถึงว่าเราได้อยู่กับปัจจุบัน แล้วการอยู่กับปัจจุบันพอสร้างเป็นนิสัยแบบนี้ได้แล้ว มันจะทำให้เราจากกายแล้วอยู่กับปัจจุบันที่เป็นเวทนา แล้วอยู่กับปัจจุบันที่เป็นความหมายอื่นๆได้แล้ว สุดท้ายสิ่งที่จะเป็นผล ผมเข้าใจว่าไม่สามารถจะใช้คำพูดใดๆมาพรรณนาได้ คนแต่ละคนจะรับรู้สิ่งนี้ และการรับรู้สิ่งนี้จะเป็นการที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความหมายหรือความมหัศจรรย์ของภาวนา เพราะสิ่งที่เราเรียกว่าภาวนามัยปัญญา คือสภาวะที่จิตของเราตื่นรู้ สภาวะที่เป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันขณะ แล้วอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันขณะที่เรารู้ มันเป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์ นานหลายปีมาแล้วผมอ่านข่าว มีผู้สื่อข่าวต่างชาติสัมภาษณ์องค์ดาไลลามะ เพราะตอนนั้นองค์ดาไลลามะมีปัญหากับจีน เนื่องจากมีประชาชนชาวทิเบต ก่อความวุ่นวายขึ้นในลาซาแล้วถูกฆ่าตายไปมาก ทีนี้พอชาวบ้านหรือพระถูกฆ่าตาย เขาถามตอนหนึ่งว่า ท่านเคยโกรธรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนบ้างไหมที่เข้ามาทำเบียดเบียนกับชาวทิเบตอย่างนี้ องค์ดาไลลามะตอบดีมากเลย ท่านบอกว่าโกรธ โกรธบ่อย เป็นคำพูดที่เราคิดว่าท่านจะตอบว่าไม่โกรธ ใช่ไหม โกรธบ่อย แต่ไม่เกลียดเขา โอ้โห คำพูดนี้งดงามมากในทางธรรม เพราะทันทีที่เข้ามามีอารมณ์ที่มากระทบ นึกถึงภาพท่านก็ปรารถนาที่จะให้ประชาชนคนทิเบตไปอยู่ที่ไหนอยู่อย่างมีสันติสุขมีเมตตากรุณาต่อกัน แต่เวลามีการเบียดเบียนกัน ชาวทิเบตก็มีการประท้วง มีการฆ่า ท่านก็รู้สึกว่ามันเป็นอารมณ์ซึ่งไม่น่าพอใจ แต่ทันทีที่มันเกิดอารมณ์โกรธ พอท่านรู้ ท่านไม่ปล่อยให้มันตกตะกอนกลายเป็นความเกลียดชัง ตรงนี้สิเป็นความหมายที่สำคัญมากๆของนักปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวที่เราทำโดยกายก็จริง แต่เมื่อเราทำไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้วสิ่งที่เป็นไป มันไม่ใช่แค่รู้จังหวะของกายเท่านั้น แต่เรารู้จังหวะของอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต แล้วอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต ไม่ว่าอารมณ์ที่เราปรารถนาหรือไม่ปรารถนา นึกถึงภาพที่เรามาปฏิบัติธรรมวันนี้ ถ้าแฟนโกหกเรา เราก็โกรธ แต่ไม่เกลียดเขา เราจะเห็นใจเขา เราจะรู้เท่าทันเขา และความหมายแบบนี้คือความหมายที่เรากำลังพูดถึงการปฏิบัติธรรม และความหมายแบบนี้ที่เราพูดถึงการปฏิบัติธรรมซึ่งสุดท้ายแล้วเราไม่ใช่เพียงแค่สร้างจังหวะ คือจังหวะของมือ แต่เราพูดถึงการสร้างจังหวะแห่งธรรมะในชีวิตปกติของเรา และสุดท้ายพอเราทำไปถึงจุดๆหนึ่งแล้ว เราจะอยู่กับโลกใบนี้ได้ แน่นอนมีคนมากมาย มีคนดี มีคนไม่ดี เราก็รับรู้อยู่ได้ ไม่ว่าคนดีหรือคนไม่ดีเราก็จะอยู่กับเขาได้ คำว่าอยู่กับเขาได้ก็คือ เราไม่ได้ลุ่มหลงคนดีจนกระทั่งเรากลายมาเป็นปัญหา แล้วเราก็ไม่ได้เกลียดชังคนไม่ดีจนกระทั่งกลายมาเป็นความรู้สึกที่เราเป็นปัญหากับเขา แต่เรารู้สึกได้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ และรู้สึกเห็นอกเห็นใจกับทุกๆคนที่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ตรงนี้ที่ผมเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นความหมายแบบนี้คือความหมายที่แท้จริงของการที่เราปฏิบัติธรรม เพราะสุดท้ายแล้วเราสามารถอยู่กับโลกที่ผันผวนปรวนแปรนี้ได้ สิ่งที่เรากำลังพูดถึงการออกจากความคิดมาสู่การรู้สึกตัว ก็คือกลับเข้ามาสู่การรู้สภาวะภายในตัวเรา ทำตัวเราให้เป็นบุคคลผู้มีความเชื่อมั่นว่าเราจะมีสภาวะที่เข้าไปถึงความจริงนั้นได้ ดังเช่นที่พระองค์ได้ตรัสแสดงไว้ และปัจจุบันขณะที่เรามานั่งฟังนี้ดูเหมือนไม่มีผลอะไรมากมาย ก็ทำตัวให้ประหนึ่งเหมือนมะม่วงที่รอเวลาที่จะสุก แล้วเราก็เชื่อมั่นว่ามันจะสุก เราจึงไม่ทำอะไรในตอนนี้ แค่เอาผ้าห่อไว้ หรือเก็บไว้ในที่เหมาะสม ไม่แช่ตู้เย็นนะครับ มะม่วงไม่ยอมสุก ต้องไม่แช่ตู้เย็น ต้องเอาไว้ในที่ๆเหมาะสม เพราะฉะนั้นพวกเราปัจจุบันนี้ก็กำลังบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้อยู่