แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมไม่มีทฤษฎีครับและก็ไม่มีหลักการวิชาใดๆ ในเชิงสันติศึกษามานำเสนอกับท่าน แต่ผมมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกท่าน ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มันเป็นประเด็นที่สำคัญของความรุนแรงเนี่ยครับ มันอยู่ภายในใจ มันอยู่ภายในใจ เมื่อกี้ผมพูดถึงกรณีที่ชาวบ้านหวั่นกลัวผม แล้วก็ต้องมาประชุมกันว่าจะจัดการอย่างไรกับคนๆ หนึ่งที่เข้ามาในหมู่บ้าน ผมเข้าใจว่านั่นคือความหมายของความรู้สึกหวั่นกลัว ว่าจะมีอันตราย จะมีเหตุอันไม่สมควรจะเกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้านเขาได้ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม ขอโทษนะครับ อย่าพูดถึงชาวบ้านทั่วๆ ไปเลยครับ แม้กระทั่งพระคุณเจ้า ตามวัดวาที่ผมแวะเวียนผ่านไป แล้วขอเมตตาที่จะนอนใต้ต้นไม้เพื่อจะพักพาอาศัย ท่านก็มีความหวั่นกลัวว่าผมจะเป็นพวกมิจฉาชีพ แกล้งเป็นคนบ้า แกล้งเป็นคนเร่ร่อน แต่จริงๆ ก็คือไปแอบเพื่อจะหาดูของมีค่าแล้วจะขโมยในวันหลัง เพราะฉะนั้นหลายวัดที่ผมสัมผัสได้ถึงความหวั่นกลัวของพระในวัดนั้นๆ นะครับเป็นความรู้สึกที่ผมรู้สึกได้ดีครับ
ความกลัวเนี่ยครับเป็นความหมายที่สำคัญ เป็นความหมายที่สำคัญที่เกิดขึ้นในใจของคน แล้วก็ทำให้มันเกิดความรู้สึกได้ถึงความหมายที่ นึกถึงภาพนะครับ เวลาเรากลัวสัตว์ร้ายใดๆ เราก็จะเบียดเบียนมันก่อนทันที นึกถึงภาพเรากลัวงูนะครับ เพราะมันมีความรู้สึกว่างูน่ากลัว เพราะฉะนั้นงู เมื่อเราเห็นงูเนี่ยนะครับ ถ้าในหมู่บ้านก็ไล่กันจับได้กันตีครับ ถ้ามันตัวเล็กๆ ก็ตีเอง ถ้ามันตัวโตก็ไปแจ้งเทศบาลหรือบุคคลที่มีความสามารถในการจับ ทั้งที่ความจริงงูก็เป็นสัตว์ที่กลัวมนุษย์ไม่ใช่น้อย ทันทีที่มันเห็นมนุษย์มันก็จะเลื้อยหนีอย่างรวดเร็ว เมื่อมันจวนตัวทันนั่นแหละ มันถึงปกป้องตัวมันเองด้วยการกัด เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นความหมายที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในใจ ก็คือเรามีความกลัวอยู่ในใจ และความกลัวนี้เราจะกำจัดได้อย่างไร ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยนะครับ
ผมอยากจะเรียนทุกท่านจากประสบการณ์ส่วนตัวผม ความกลัวไม่สามารถกำจัดได้ด้วยความคิดเชิงเหตุผลเลยครับ ยกตัวอย่างเช่นเรากลัวผี แม้จะมีคำอธิบายที่ประกอบด้วยหลักการ วิชาการและเหตุผลที่ดีเพียงไร ความรู้สึกกลัวผีก็ไม่เคยจางคลายหายไปจากใจเราเลยครับ มันยังหวั่นไหวหวั่นกลัวอยู่ร่ำไปนะครับ
เพราะสิ่งที่มันเป็นความหมายเช่นนี้นะครับ จึงทำให้ผมเกิดความตระหนักได้ ว่าทำไมในขณะที่ผมมีความรู้ในทางพระพุทธศาสนา สามารถอธิบาย สามารถเข้าใจความที่พระพุทธเจ้าพระศาสดาท่านตรัสแสดงสอนไว้ และทำไมสิ่งที่มันเป็นความเป็นจริงในชีวิตจิตใจผม มันจึงยังไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผมจึงมีความหวั่นไหว หวั่นกลัว และความกลัวที่ลึกซึ้งที่สุด กลัวตาย
ความรู้สึกกลัวตายก็เป็นความรู้สึกที่กระทบกระเทือน ทำให้ชีวิตของเราไม่รื่นรมย์ ทำให้ชีวิตของเราไม่สงบเท่าที่ควร นี่เป็นประเด็นที่มันเป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่มันเป็นรากฐานของความหมายอีกอันหนึ่ง ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นความหมายที่สำคัญ คือความรู้สึกขัดเคือง โกรธแค้น
ความรู้สึกขัดเคืองโกรธแค้นเนี่ยเป็นความรู้สึกที่ ที่ยากมาก ผมยังจำได้นะครับ เพราะตอนที่ผมจะลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ และประกาศว่าผมจะสอนหนังสือเป็นภาคสุดท้าย และวันที่ผมสอนหนังสือวันสุดท้ายของภาคเรียนที่ 1 ปี 2548 เนื่องจากผมสอนหนังสือหลายวิชาในภาคนั้น เพราะฉะนั้นเวลาจะปิดคอร์ส จะปิดทีละวิชาก็มันจะปิดหลายครั้ง ก็เลยทำตัวให้มันดูดีปิดครั้งเดียวมันซะเลยทุกกระบวนวิชาที่ตัวเองสอน ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรีปริญญาโท เพราะฉะนั้นนักศึกษาจึงมีจำนวนมากที่ต้องไปเรียนด้วยกัน ผมจำได้ว่า คำพูดที่ผมเริ่มต้นคุยกับนักศึกษาก็คือการบอกว่า ผมมาขอความเห็นใจจากนักศึกษา อย่าห้ามปราม อย่าทำให้เกิดความรู้สึกว่าผมกำลังทำสิ่งที่เหลวไหลเลย ผมจะขอสารภาพตามตรง ว่าผมรู้แล้วว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่ผมยังละชั่ว ทำดีไม่ได้ ผมบอกว่าความโกรธความขัดเคืองผู้อื่นเป็นความชั่ว ความรักความเมตตาอาทรผู้อื่นเป็นความดี แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏเป็นจริง ก็คือผมยังโกรธผู้อื่นอยู่เสมอ และผมก็ไม่สามารถรักคนที่ผมโกรธได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกนักศึกษาทุกคน ขอให้โปรดเห็นใจครูแก่ๆ คนนี้เถิด และอย่าได้ห้ามปรามเลย ขอได้โปรดอำนวยอวยพรให้ผมได้มีชีวิตในช่วงสุดท้ายนี้เพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ และสุดท้ายผมก็ได้ออกไปเพื่อการเรียนรู้ว่า ทำยังไงที่จะให้ความโกรธความกลัวที่มีอยู่ในใจผมเนี่ยนะครับ มันจางคลายหายไป
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นประเด็นที่ผมอยากจะกล่าวกับทุกท่านในความหมายนี้ ก็คือความหมายของเรื่องสภาวะภายในจิตใจเราเนี่ยครับ มันเป็นสภาวะที่ละเอียดอ่อน เป็นสภาวะที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกได้ถึงความหมาย ที่เพียงแค่พลังของความคิดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ไม่เพียงพอนะครับ