แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต้องเข้าใจอย่างนี้ เวลาพูดถึงธรรมชาติ มันเหมือนกับเราพูดถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกับคำว่า ‘เต๋า’ สิ่งที่พูดออกมาได้ ไม่ใช่เต๋า มันเป็นเพียงถ้อยคำใช่ไหม คือ สิ่งนี้เป็นความลึกซึ้งของภูมิปัญญาจีนนะครับ ที่ว่าไปถึงจุดๆ หนึ่ง มันมีสภาวะที่เรียกว่า ธรรมชาติ ที่มันยิ่งใหญ่นะครับ และธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เนี่ยเป็นผู้ให้กำเนิดเกิดสรรพสิ่ง รวมทั้งตัวเราด้วย คือจีนไม่ได้พูดถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่ความหมายของเขาหมายถึง สิ่งที่เป็นธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้นะครับ มันมีสภาวะของมันอยู่ มนุษย์ คือเราเนี่ยครับจะต้องเป็นฝ่ายทำความเข้าใจ ไอ้ส่วนหยิน หยางก็คือ สิ่งที่เป็นธรรมชาติที่มันมี สิ่งที่เป็น คู่กัน ถ้ามันมีความร้อน มันก็มีความเย็น ถ้ามันมีความแข็ง มันก็มีความนุ่ม
ในสภาวะที่เราพูดถึงนี้ ที่เป็นเช่นนี้ เราอยู่กับมันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นดุลยภาพตรงนี้สำคัญเลยนะครับ คำว่า ดุลยภาพ สำคัญที่สุด สำคัญที่สุด เพราะสิ่งที่เป็นดุลยภาพ คือเกิดความลงตัวพอดี แต่ความลงตัวพอดี มันเป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่ จริงๆ เราอยู่กับความลงตัวพอดีมาตลอด นึกถึงภาพนะครับว่า ถ้าเรากินอาหาร อาหารที่มันนัว มันอร่อย คือมีความลงตัวพอดี ระหว่างรสชาติต่างๆ ที่ผสมคลุกเคล้าแล้วมาปรากฏอยู่เป็นจานอาหารอยู่ต่อหน้าเรา เพราะฉะนั้น เวลาที่เราชื่นชมยกย่องพ่อครัวที่เขาปรุงอาหารจนกระทั่งมันอร่อย มันทำให้เกิดความลงตัวพอดี
ในชีวิตของเราก็เช่นเดียวกันนะครับ มันมีชีวิตที่เราเกิดความลงตัวพอดี เพราะในคติของจีน เมื่อมีอะไรเสียดุลไป มันจะต้องทำให้เกิดการปรับ การเรียนรู้ที่จะปรับตรงนี้เป็นศิลปะอันละเอียดอ่อนที่แต่ละคนต้องเรียนรู้ ในขณะที่ธรรมชาติข้างนอกก็ยิ่งใหญ่ แต่ธรรมชาติในใจเราก็มีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะธรรมชาติที่มันก่อให้เกิดปัญหาในตัวเรา ก็คือธรรมชาติในใจของเราเอง สภาวะหยินหยางในตัวของเราเอง สภาวะหยินหยางในความรู้สึกของเราเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความลึกซึ้งยิ่งใหญ่
เพราะฉะนั้น ตอนที่พระพุทธศาสนาออกจากอินเดียแล้วไปสู่ประเทศจีน มันจึงเป็นการผสมพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ เรียกว่าผสมพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่นะครับ ก็คือ ทำให้สิ่งที่เป็นความรู้ เชิงความคิด ทฤษฎีแบบอินเดีย เข้าไปผสมอยู่ในวัฒนธรรมแบบจีนนะครับ เพราะฉะนั้นเคยมีคนกล่าวนะครับ ผมจำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไร เอ๊ะ ดร.ซูซูกิ หรือเปล่านะครับ เป็นคนกล่าวสิ่งเหล่านี้กับชาวต่างชาติที่เป็นคนตะวันตก และต่อมาชาวตะวันตกก็อ้างอิง ดร.ซูซูกิ บอกว่า หากแม้นพวกเรา พวกเรา คือ ชาวตะวันตก อยากจะได้สัมผัสลิ้มรสชาติของตะวันออก รสชาติที่ว่า คือรสชาติชีวิตที่มันมีทัศนคติ มีความหมายนะ ตะวันออกเนี่ย เขาบอกเวลาบนโลกใบนี้เราไม่ยาวนานนัก จริงๆ ถ้าเป็นไปได้เราจะควรศึกษา สิ่งให้มากมาย แต่ถ้าเรามีข้อจำกัดว่าต้องศึกษาอะไรสักสิ่งหนึ่งที่เป็นของตะวันออก เขาเสนอให้ศึกษาพุทธศาสนานิกายเซน
พระพุทธศาสนานิกายเซน คือ ความคิด ความหมายของชีวิตที่เกิด กำเนิดขึ้นในอินเดีย และไปผสมพันธุ์อยู่กับประเทศจีน จนกระทั่งเกิดลัทธิ ฌาน คือ เซน แล้วเข้าไปงอกงามอยู่ในญี่ปุ่น เพราะในพุทธศาสนานิกายเซนจึงมีความหมายของอินเดีย จีน ญี่ปุ่น อยู่ด้วยกัน กลายมาเป็นความหมายที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า ความเป็นตะวันออกที่มันมีแหล่งความรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนอินเดีย ดินแดนจีน และญี่ปุ่น ผสมกันมาเป็นพุทธศาสนานิกายเซน
เมื่อวานผมเริ่มต้นที่ให้ทุกท่านรู้จักผมโดยการบอกว่าผมมีธาตุหรือมีส่วนผสมในชีวิตจิตใจอย่างไรจึงบอกให้ฟังว่าผมศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทจากการได้บวชเรียน ผมศึกษาพระพุทธศาสนาสายมหายาน วัชรยาน จากการไปอยู่ในอินเดีย ผมศึกษาพระพุทธศาสนาสายเซนด้วยเหตุเพราะการพบอ่านหนังสือ แล้วผมก็มาสอนพุทธปรัชญาในส่วนของเซน เพราะฉะนั้น ชีวิตจิตใจของผมจึงมีโอกาสได้สัมผัสรับรู้สิ่งเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อวานเป็นการแนะนำตัวผมเอง แต่จริงๆ ผมกำลังจะบอกท่านว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้ ในความหมายที่มันเป็นตัวผมอยู่ในปัจจุบัน มีสิ่งที่เป็นกลิ่น เป็นรส ที่ผมปรุงแต่งขึ้นมาจากการรับรู้ หรือการเรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบนี้นะครับ
เพราะฉะนั้น ที่ท่านถามถึงลัทธิขงจื๊อในประเทศจีนนะครับ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มันปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของการเรียนรู้ของผมผ่านพุทธศาสนานิกายเซน เพราะว่านิกายเซน เป็นนิกายที่มีความแนบสนิทชิดเชื้อกับธรรมชาติสูงมาก เพราะฉะนั้น เซนจึงพยายามทำให้เรากลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ ซึ่งความหมายเช่นนี้ก็มีอยู่ในทุกนิกาย แต่ว่าในรูปแบบของเขาเนี่ย เวลาไปอยู่ในญี่ปุ่น เราไปเดินในวัดญี่ปุ่น เราไม่ได้ไปเพื่อฟังพระเทศน์นะครับ เราเดินเพื่อจะไปสัมผัสกับลานวัด ลานวัดที่มีพระมากวาดลานวัดให้สะอาด
เขาบอกว่า ถ้าเรามีจิตหยั่งถึง แม้กระทั่งลานวัดที่เรายืนมอง เราสามารถรู้ได้ว่ากวาดโดยสามเณรหรือเจ้าอาวาส ถ้ากวาดโดยสามเณรร่องรอยจะมีจิตที่หยาบๆ ซนๆ ถ้ากวาดโดยเจ้าอาวาส จิตจะนิ่งสงบ เพราะฉะนั้น เวลาที่เข้าไปวัดเซน เขาจึงบอกเข้าไปดู สัมผัสกับลานวัด สัมผัสกับแจกันที่วางอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูปว่าใครเป็นคนจัดแจกันนี้ เพราะคนจัดแจกันนี้จะบ่งบอกสภาวะจิตได้ ว่าจิตของท่านมีความมั่นคงนิ่งขนาดไหน
นี่เราพูดถึงพุทธศาสนานิกายเซน ว่าท่านไม่ได้สอนด้วยถ้อยคำ แต่ท่านทำให้เราดูว่าสิ่งที่เป็นความหมายในพระพุทธศาสนา แม้กระทั่งการกวาดลานวัดก็ยังกลายมาเป็นการเปิดเผยธรรมที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งได้ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมผ่านการเรียนรู้มา ก็เอามาเล่าถวายท่าน แต่ที่ท่านถามก็คือ บอกให้รู้ว่าพระพุทธศาสนานิกายเซน หรือนิกายฌาน ใกล้ชิดกับลัทธิขงจื๊อมาก เพราะว่าท่านเข้าไปผสมกันและกลายมาเป็นสิ่งที่ เพราะฉะนั้น เวลาเราดูภาพวาดแบบเซน เราจะเห็นเลยว่ามีความเป็นธรรมชาติ ภาพวาดของจีนแบบที่วาดเนี่ย มนุษย์เล็กนิดเดียวจนมองเกือบไม่เห็น แต่จะมีภาพของต้นไม้ ภูเขา ทิวทัศน์ต่างๆ ให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่ เราผู้เป็นมนุษย์เป็นสิ่งเล็กๆ ขอโทษนะครับ ต้นไม้ ที่เรานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ มันมีอยู่ก่อนเรานานมาก วันนี้เรามานั่งอยู่สั้นๆ เท่านั้นเอง เดี๋ยวเราจากไปต้นไม้นี้ก็ยังอยู่