แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มาถึงจุดๆ หนึ่งที่เป็นจุดที่สำคัญ เป็นจุดที่ผู้นำทางได้บอกให้รู้ว่า แผ่นหินที่อยู่ข้างหน้าที่มีธงมนต์ปลิวไสวเนี่ย เป็นหินที่มีรอยบาทของพระฑาคินีประทับไว้ ขอโทษนะครับ เล่าเรื่องพระฑาคินีแทรกนิดหนึ่ง นี่เป็นความรู้ประกอบก็แล้วกันเนอะ เพื่อจะได้รู้ว่าทำไมจึงมีความหมายสำหรับผม
พระฑาคินีนี้เป็นชื่อ ถ้าแปลตามตัว ฑาคินี แปลว่า เทพีผู้ท่องไปในนภากาศ ก็คือ เทพีก็คือเทพผู้หญิงที่อยู่ในอวกาศ อากาศนะครับ และพระฑาคินีนี้ในความหมายก็คือ เป็นผู้ซึ่งจะคอยนำทางผู้ปฏิบัติธรรมให้ไปสู่วิธีแห่งธรรมและรู้แจ้งธรรมได้ พระฑาคินีเนี่ยจริงๆ เข้ามาสู่ชีวิตผมนานแล้วนะครับ แต่มามีบทบาทสำคัญจริงๆ เมื่อตะกี๊นี้ตอนที่ท่านผู้อำนวยการแนะนำผมนะครับ ด้วยความผมศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาท ทั้งมหายาน ทั้งวัชรยาน และผมก็มีความรู้สึกอันหนึ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำ คือ เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาในสายวัชรยาน คือ ท่านอาจารย์นาโรปะ ไม่ทราบพวกเราที่นี่จะเคยได้ยินชื่อท่านอาจารย์นาโรปะรึเปล่านะครับ
ปัจจุบันเราอาจจะรู้จักนาโรปะในชื่อของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีคนไทยจำนวนหลายคนไปจบการศึกษามาจากที่นี่นะครับ เป็นผู้รู้ทางพุทธศาสนาดีๆ ในประเทศไทยหลายคน จริงๆ ชื่อ นาโรปะ เป็นชื่อของพระภิกษุในพระพุทธศาสนานะครับ ผมเล่าตรงนี้นิดหนึ่งว่าทำไมคำว่า ฑาคินี จึงมีความหมายสำหรับผม ท่านอาจารย์นาโรปะเนี่ยนะครับ เป็นพระภิกษุที่มีชื่อเสียงตามประวัติของพระพุทธศาสนาที่ถูกบันทึกไว้ ท่านมีชื่อไปปรากฏอยู่เป็นอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทามหาวิหาร คำว่าอธิบดีสงฆ์ก็คือเจ้าสำนักหรือเจ้าอาวาสนะครับ นั่นก็คือหมายความว่าเมื่อท่านอาจารย์นาโรปะไปอยู่ที่นั่น ท่านมีความรู้ถึงระดับที่ถูกยกย่องว่าเป็นที่ 1 ของนาลันทา ท่านเคยมีการโต้วาทะวาทีกันในการซักถามเรื่องปัญหาธรรมะกันจนท่านชนะและสุดท้ายท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทามหาวิหาร ก็คือในบรรดาผู้รู้ที่นาลันทานั้นท่านเป็นผู้รู้มากที่สุด ท่านจึงได้รับเกียรติให้เป็นอธิบดีสงฆ์ แต่ประวัติชีวิตที่ทำให้มีผลต่อชีวิตผมคือ เมื่อท่านอาจารย์นาโรปะอยู่ที่นั่น จำได้ว่าท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์อยู่เป็นปีที่ 6 เช้าวันหนึ่งเมื่อท่านตื่นขึ้นมา ในฐานะเป็นพระภิกษุก็คือเป็นเจ้าอาวาสแต่กิจที่ต้องทำในตอนเช้าก็คือการสวดสาธยายพระพุทธวจนะ ก็คือสวดมนต์นะครับ ตามประวัติเขาบอกว่าท่านนั่งสวดมนต์ในตอนเช้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีหนังสือคัมภีร์ ถ้าบ้านเราก็คงเป็นพระไตรปิฎกวางอยู่ข้างหน้า แล้วก็สวดสาธยายไป ขณะที่กำลังสวดสาธยายอยู่นั้น มีเงามาปรากฏอยู่บนหนังสือหรือตำราหรือคัมภีร์ แสดงว่าต้องมีใครสักคนหนึ่งมายืนบังแสงอาทิตย์ จึงทำให้เกิดเงามาปรากฏอยู่บนคัมภีร์ เมื่อท่านเห็นมีเงาอยู่บนปรากฏอยู่บนหนังสือ ท่านจึงแหงนหน้าขึ้นดูว่าใครมาบังอาจยืนต้องมายืนอยู่หน้าท่าน ปรากฏว่าเป็นหญิงชราผู้หนึ่งยืนอยู่ตรงหน้าท่าน หญิงชรานางนั้นถามพระอาจารย์นาโรปะว่ากำลังทำอะไร ท่านอาจารย์นาโรปะบอกว่ากำลังสวดสาธยายพระพุทธวจนะ หญิงชรานางนั้นจึงถามต่อว่า แล้วรู้ความหมายแห่งพระพุทธวจนะนั้นหรือ ท่านตอบว่ารู้ แต่ทันทีท่านตอบว่ารู้นะครับ หญิงชรานางนั้นหัวเราะเยาะนะครับ ส่งเสียงหัวเราะเยาะแล้วก็หายไปในท้องฟ้าเลย หายไปในท้องฟ้าเลย อาจารย์นาโรปะเมื่อเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นเกิดความรู้สึกสะดุ้งขึ้นในใจ แล้วเกิดความรู้สึกได้ถึงความหมายที่เกิดปรากฏขึ้นในใจว่า ที่หญิงชรา หญิงชรานั้นก็คือพระฑาคินีนะครับ บอกให้รู้เสียก่อนว่ามันจะได้เกี่ยวสัมพันธ์กับผมในเวลาต่อมาภายหลังและอาจารย์นาโรปะเมื่อเห็นพระฑาคินีเช่นนั้นเนี่ยนะครับ เกิดความรู้สึกสะดุ้งขึ้นมาในใจและเกิดความรู้สึกได้ถึงความหมายในชีวิต ว่าจริงๆ คำตอบว่ารู้นั้นเป็นคำตอบที่ไม่ถูก เพราะจริงๆ ท่านเป็นแต่เพียงแค่สามารถจดจำพระพุทธวจนะได้และก็สามารถอธิบายพระพุทธวจนะนั้นได้ด้วยการคิดว่ามันมีความหมายว่าอย่างไร แต่จริงๆ แล้วท่านยังไม่เข้าถึงความหมายที่แท้จริงแห่งพระพุทธวจนะนั้น และด้วยความรู้สึกสำนึกเช่นนี้อ่ะนะครับ จึงทำให้ท่านอาจารย์นาโรปะหันหลังให้กับตำแหน่งอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทามหาวิหาร และสุดท้ายท่านออกจาริกเพื่อแสวงหาครูเพื่อจะเข้าถึงความรู้ที่แท้จริง
ชีวิตของท่านนี้ตอนนี้ยืดยาวนะครับ ในประวัติชีวิตของท่านถูกเขียนไว้วิจิตรพิสดารมากในภาคภาษาทิเบตอยู่ในทิเบต เอาเป็นว่าท่านอาจารย์นาโรปะเดินทางไปด้วยความรู้ว่าในสมัยนั้นมีครูผู้มีชื่อเสียงชื่อว่า ติโลปะ อยู่ทางทิศตะวันออก ขอโทษนะครับ อินเดีย พอตะวันออกก็หมายถึง ทิเบต จีนเหนือ นะครับ แล้วท่านก็เดินทางไปเพื่อแสวงหาครูคือท่านติโลปะ แต่ทุกครั้งตามประวัติที่ผมจะเล่าสรุปย่อๆ ก็คือ เมื่ออาจารย์นาโรปะไปพบใครพบเหตุการณ์ใดๆ แล้วท่านมีจิตคิดปรุงแต่งว่าสิ่งนั้นผิดถูก สิ่งนั้นใช่หรือไม่ใช่อย่างไร ก็จะมีหญิงชรานางหนึ่งปรากฏขึ้นแล้วก็หัวเราะเยอะอยู่ร่ำไป จวบจนวันหนึ่งที่ผ่านไปนานมากๆ จนอาจารย์นาโรปะซึ่งเป็นพระภิกษุที่มีชื่อเป็นพระภิกษุที่มีศีลาจารวัตรที่งดงาม กลายมาเป็นวนิพกเร่รอนอยู่ริมถนน ไม่มีใครรู้เสียแล้วว่าคนผู้นี้ อดีตคือพระผู้รู้แห่งนาลันทามหาวิหาร เนื้อตัวสกปรกมอมแมม ท่านนอนอยู่ริมถนนบนหนทางหรือในที่สาธารณะไม่ต่างอะไรจากคนเร่ร่อนจรจัดทั่วๆ ไป แต่วันหนึ่งขณะท่านนอนอยู่ที่ริมถนน ท่านเห็นสุนัขตัวหนึ่งวิ่งไปมาด้วยความทุกข์ทรมานเจ็บปวดเพราะมันแผลอยู่ที่กลางหลัง ปกติสุนัขเมื่อมีแผลมันจะใช้ลิ้นเลียแผล แต่ที่กลางหลังนั้นลิ้นไม่สามารถเลียได้เลียถึงเพราะมันอยู่กลางหลังนึกถึงภาพนะครับ ทุกครั้งเวลามันมีหนอนมากัดกินแผลเน่าของมัน มันก็ทุรนทุรายวิ่งไปเพราะมันจะพยายามเลียแต่ก็เลียไม่ถึง สุดท้ายเมื่อท่านอาจารย์นาโรปะเห็นเช่นนั้น เมื่อสุนัขตัวนั้นวิ่งมาใกล้ๆ ท่าน ท่านจึงเข้าไปจับมันมากอดไว้ แล้วก็ก้มลงใช้ลิ้นของท่านเลียแผลที่มีหนอนยั้วเยี้ยอยู่ในแผลกลางหลังของสุนัข ท่านค่อยๆ บรรจงเลียเอาหนอนทีละตัวออกมาจากแผลเน่า แล้วคลายถมทิ้งไว้ที่ข้างๆ ตัวมัน เมื่อท่านเลียแผลจนกระทั่งหนอนออกมาหมดแล้ว หญิงชราก็ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้ายิ้มให้ท่านแล้วบอกว่า มาเถอะจะพาไปพบครู ตามมา แล้วสุดท้ายอาจารย์นาโรปะ ด้วยการนำทางของพระฑาคินีก็ได้ไปพบท่านติโลปะและต่อมาท่านก็เป็นผู้สืบสายธรรมในที่มีชื่อเสียงนะครับ จากท่านติโลปะผู้เป็นครู ก็มาท่านนาโรปะ จากท่านนาโรปะ ก็มาท่านมาร์ปะ มาเรื่อยๆ นะครับ จนสุดท้ายที่มันมีชื่อนาโรปะไปอยู่ที่อเมริกาได้ก็ตอนที่จีนเข้าไปยึดทิเบต ก็มีครูที่สำคัญคือท่านตรุงปะหนีออกจากทิเบตไปอยู่อังกฤษ และสุดท้ายก็ไปอยู่ที่อเมริกาและไปตั้งสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาขึ้นที่นั่น จึงใช้ชื่อสถาบันการศึกษานั้นว่า มหาวิทยาลัยนาโรปะ นะครับที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน
ผมเล่าเพียงเช่นนี้เพื่อจะบอกว่าเรื่องนี้เอามาเล่าทำไมครับ เรื่องนี้มาเล่าในความหมายว่า เมื่อผมทบทวนชีวิตของผมเมื่ออายุครบ 50 ปี ในบรรดาเรื่องราวที่ผมรับรู้มาทั้งหมด เรื่องที่ผมรู้สึกได้ถึงความหมายลึกซึ้งและสะเทือนใจผมคือเรื่องอาจารย์นาโรปะ ผมเป็นครูสอนวิชาพุทธศาสนาอยู่ในมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลานานแต่ผมรู้สึกได้ถึงความหมายที่ว่าผมไม่ได้มีความรู้ ถ้าหากแม้นมีหญิงชรามาปรากฏอยู่ต่อหน้าผม ผมคงไม่กล้าตอบได้ว่ารู้ ผมคงตอบว่าผมไม่รู้ แต่ในขณะเดียวกันผมต้องทำตัวเป็นผู้รู้ สุดท้ายผมจึงรู้สึกเป็นความหมายที่น่าจะถึงจุดๆ หนึ่ง จุดที่ผมรู้สึกได้ว่าต้องแสวงหาความรู้ ผมจึงลาออกจากราชการ แล้วผมรู้สึกได้ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชีวิตผม ผมต้องเดินทางหาความรู้คล้ายๆ อาจารย์นาโรปะ และทุกครั้งที่ผมรู้สึกได้ถึงความหมายของอาจารย์นาโรปะ ก็คือต้องเดินทางในความหมายที่เพื่อแสวงหาความรู้ในใจ ถ้าตราบใดที่ใจยังคิดปรุงแต่งตราบใดที่ใจยังส่งออกไปข้างนอกเพื่อไปคิดตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก ผมคิดว่าพระฑาคินีคงปรากฏขึ้นมาหัวเราะผมอยู่ร่ำไป