แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาจารย์ประมวลบอกว่า ความรู้หรือว่าความที่เราจะพัฒนาไปตื่นรู้เนี่ย เป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับความคิด ยิ่งเราตรึกคิดน้อยลงเนี่ย เราก็จะฝึกเรื่องของการรู้ได้มากขึ้น เราอยู่ในนี้บรรยากาศทุกอย่างเอื้อเรานะคะ แต่ถ้าทุกคนออกจากที่นี่ไปโลกข้างนอกเนี่ยนะคะ ข้อมูลข่าวสาร อาจารย์ประมวลเคยพูดคำว่า ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารมันมากเกินกว่าที่คนคนนึงจะรับไหว ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม อินเทอร์เน็ต อาจารย์มีคำแนะนำให้คนยุคเรามั้ย เมื่อเช้าอาจารย์พูดน่าสนใจนะคะที่ว่า เด็กยุคนี้เนี่ย เหมือนกับมันถูก ด้วยวิถีชีวิต มันทำให้เด็กเร็ว แล้วเด็กก็เลยอดทนไม่ได้รอไม่เป็น แล้วอย่างโลกโซเชียลทุกวันนี้ วิถีพวกเราตรงนี้ อาจารย์ มันทำให้เรายิ่งเต็มไปด้วยความคิดน่ะค่ะ ก็อาจารย์มีคำแนะนำอะไรในจุดนี้มั้ยคะ
คือที่พูดตรงนี้ พูดด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจนะครับ ผมพูดในความหมายนี้ ผมมีความรู้สึกว่า คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวเนี่ยครับ อยู่กับโลกที่มีความเร็ว แล้วมีข้อมูลของโลกข้างนอกเนี่ย เข้ามาสู่จิตของเขาความรับรู้ของเขาเนี่ยมาก ในใจของเขาเนี่ยเต็มไปด้วยสิ่งที่มันเป็นข้อมูลชุดความรู้ แล้วก็แปลกมากด้วยนะครับ ข้อมูลชุดความรู้ที่เผยแพร่กันในโลกใบนี้ มักจะเป็นข้อมูลในลักษณะที่เป็นในลักษณะเชิงลบ เชิงวิพากษ์วิจารณ์ เชิงตัดสินพิพากษา
เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้คำว่าเห็นใจ คำว่าเห็นใจในที่นี้คือหมายความว่า ต้องแบกรับภาระในการที่จะถือความหมายต่างๆ ที่ถูกป้อนเข้ามานี้ให้มันเป็นภาระ คำว่าภาระที่เราพูดถึงนี้จริงๆ มันเป็นอากัปกิริยาของใจเรานะครับ ว่าถ้าเรามีอะไรอยู่ในใจแล้วมันทำให้เราไม่เบิกบานอ่ะนะ ให้เรารู้สึกหนักอึ้ง อึดอัด เพราะเวลาเค้าพูดถึงว่าคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่มีภาระมาก คำว่าภาระมากนี่ไม่ได้หมายความว่าไปถือของอะไรมากนะครับ ภาระนี่คือสิ่งที่มันอยู่ในใจ เพราะคำว่าภาระซึ่งมันเป็นภาษาบาลีเนี่ย มันหมายถึงสภาวะที่ไปกดทับใจของเราไว้ ให้เราต้องแบกถือมันไว้
ทีนี้ในปัจจุบันเนี่ย ผมเข้าใจว่าคนหนุ่มสาวเนี่ยมีภาระมาก คำว่ามีภาระมากคือจะต้องถือสิ่งต่างๆ เก็บสิ่งต่างๆ ไว้ในใจมาก ประเด็นที่อยากจะพูดตรงนี้ไม่ใช่เป็นคำตอบ แต่อยากจะเป็นความหมายเชิงการเสนอแบบ แบบคนแก่ ด้วยความรักหวังดีเนี่ยครับ ว่าเราต้องมีวิธีการจัดการ เพราะฉะนั้นกระบวนการปฏิบัติธรรมที่เรามาปฏิบัติเนี่ยนะครับ ผมเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งนะครับ ที่จะทำให้เราอยู่กับโลกใบนี้ในยุคปัจจุบันได้ง่ายขึ้น คำว่าได้ง่ายขึ้น ปกติมันจะยากไปเรื่อยๆ เนี่ยครับ เพราะความหมายของเราก็คือ เราจะต้องทำให้มันมีพื้นที่ภายในใจของเราเนี่ยครับที่มีความรู้ ทีนี้ความรู้ที่เราพูดถึงในความหมายที่ว่านี้ มันจะเข้าไปจัดการกับสิ่งที่มันเป็นข้อมูลเหล่านี้ได้มากนะครับ ว่าเราจะเก็บอะไรไว้ เราจะปล่อยอะไรไป เพราะปกติเนี่ยครับ มนุษย์เรา ใจของเราเนี่ย เราจะเก็บสิ่งที่มันเป็นลักษณะเชิงลบไว้ นึกถึงภาพนะครับว่าเรามีชีวิตมาแล้วย้อนกลับไปตอนเราเป็นเด็กๆ นะครับ เราจะมีความทรงจำอะไรที่ฝังใจนี่เป็นเรื่องค่อนข้างเลวร้ายเกือบทั้งนั้นเลย ทีนี้ไอ้ความหมายแบบเนี้ยนะครับ ผมเข้าใจว่าคนในยุคปัจจุบันน่ะ จึงมีสิ่งที่เป็นภาระในการต้องเก็บจำข้อมูลเหล่านี้ไว้มาก
ทีนี้ความหมายตรงนี้ก็เลยทำให้ผมมีความรู้สึกอันหนึ่งนะครับว่าจะทำอย่างไรที่จะให้คนรุ่นใหม่เนี่ย หันมาเข้าใจวิถีวิธีการที่เราพูดถึงปฏิบัติธรรมเนี่ยให้มากขึ้นนะครับ ในกระบวนการของการที่ทำให้เขาเนี่ยจะเก็บอะไรไว้อย่างไรนะครับ เพราะคำว่าคิดเนี่ยนะครับ ถ้าเราไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว มันจะเกิดระบบที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการของมันขึ้นมา โยนิโสมนสิการ ถ้าเราจะแปลตามตัวเนี่ยครับ เค้าจะแปลว่า เก็บไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ถ้าจะแปลใหม่ได้อีกครั้งไม่ให้มันเยิ่นเย้อเกินไปก็ต้อง เก็บไว้ในใจให้มันเป็นระเบียบน่ะครับ คำว่าเป็นระเบียบคือให้มันมีคุณมีประโยชน์นะครับ ไม่ใช่เก็บไว้ให้เป็นภาระที่รกรุงรัง
ทีนี้ความหมายนี้ผมยังมีความเชื่อเลยว่าที่ทำไมอยากให้คนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยต้องทำงาน ต้องเผชิญชีวิต ต้องเรียนรู้อะไร ได้มีโอกาสนะครับ ช่วงใดก็ไม่รู้อ่ะนะครับ อย่างน้อยๆได้มีโอกาสมาพบครูบาอาจารย์ที่สอนการปฏิบัติธรรมในลักษณะที่ไม่ต้องไปทำให้มันเกิดเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนเกินไปนะ อย่างกรณีสร้างจังหวะเนี่ย แล้วพอทำได้ทำเป็นแล้วเนี่ยนะครับ ผมเชื่อว่าแต่ละวันแต่ละวันถ้าเราใช้ไอ้กระบวนการแบบนี้อ่ะนะครับ ฝึกไปและทำไป ฝึกไปทำไปเนี่ย เราจะสามารถอยู่กับโลกยุคปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ได้ดีขึ้นนะครับ จริงๆ ถ้าทำได้มันจะไปถึงจุดๆ หนึ่ง มันจะเป็นตัวทดสอบเรานะครับ คือเวลาพูดถึงการทดสอบเราเนี่ย ถ้าเราอยู่กับอะไรที่มันสะดวกสบายเนี่ยนะ เราก็จะเผลอเพลิดเพลินกับมันเหมือนกันนะ แต่ถ้าเราอยู่กับอะไรแล้วมันบีบคั้นเรามากๆ เนี่ยนะครับ มันก็จะทำให้เราต้องเอาตัวรอดด้วยการทำความเข้าใจกับมัน แล้วก็ตัดสิ่งที่มันจะมากดทับเราไปเรื่อยๆ ได้นะครับ
ที่นี้กรณีเช่นที่ว่าเนี้ย มันต้องเริ่มต้นจากการที่เรามีอุบายวิธีอันเป็นกุศลในใจเราเองนะครับว่าเราจะทำอย่างไร เพราะว่าสิ่งที่กำลังพูดถึงการปฏิบัติธรรม ถ้ามองในมิติของพวกเราซึ่งเป็นคฤหัสถ์แล้วก็อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวเนี่ยนะครับ บางคนบอกว่ายังไม่จำเป็นเพราะว่ายังไม่แก่หรือว่ายังไม่มีทุกข์มากเนี่ยครับ ผมเข้าใจว่าอย่ารอให้ถึงตรงนั้นครับ เราต้องมาจัดการกับสิ่งเหล่านี้
จริงๆ แล้วชุดความรู้ในลักษณะเชิงจิตวิทยาหรือพฤติกรรมศาสตร์ของโลกสมัยใหม่เค้าก็บอกสิ่งนี้นะ แต่เค้าบอกเพียงให้เรารู้ด้วยความคิดว่าอะไรดีหรือไม่ดี ที่ปัจจุบันเวลาเรารู้เรื่องความคิดเรารู้เกือบหมดแล้วนะ แต่ว่าจริงๆ แล้วเวลารู้ด้วยความคิดเนี่ย มันไม่ได้ลงมือปฏิบัติไม่ได้ลงมือทำ หรือถ้าอยากจะทำก็ยังทำไม่ได้ ต้องมารู้ด้วยสภาวะที่เราฝึกปฏิบัติแบบนี้ แล้วถ้าพอเรารู้ไปถึงจุดๆ นั้น เราจะรู้เองโดยธรรมชาตินะครับว่าอะไรซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราร้อน เราก็จะปล่อยมันไป แล้วอะไรที่รู้แล้วมันทำให้เราจิตของเราเนี่ยนิ่งสงบเย็นแล้วก็มีคุณต่อการเรียนรู้เนี่ยครับ เราก็จะเก็บไว้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เมื่อตะกี้ ตอนที่นั่งคุยกันแล้วมีน้องคนหนึ่งมาปรารภนะครับ ถึงเรื่องที่ว่าสามารถพลิกเปลี่ยนสิ่งที่มันเป็นตัวทุกข์ให้มันเป็นตัวความรู้ได้เนี่ย มันจึงเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ เพราะจริงๆ แล้ว ทุกข์เนี่ยนะครับมันเป็นอริยสัจ ถ้าเราเข้าไปรู้มันเนี่ยนะครับ ไอ้ตัวอริยสัจที่เรียกว่าทุกข์เนี่ย มันเป็นเรื่องของภายในใจ ทีนี้ทุกขสัจซึ่งเป็นอริยสัจข้อที่หนึ่งมันเป็นสภาวะภายในใจซึ่งเราสัมผัสมันอยู่เสมอ หรือมันเข้ามาทักทายเราอยู่เสมอ แต่เราทำความรู้จักกับมันในฐานะที่จะเป็นบทเรียนหรือเป็นครูหรือไม่ ถ้าเมื่อใดที่เราทำให้มันเป็นครูเนี่ย นั่นแหละครับสิ่งที่เรียกว่าทุกขสัจจะปรากฎ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าพอเรารู้ว่ามันเป็นทุกข์ในความหมายนี้ มันจะสาวไปเห็นเหตุได้และทำกัน ก็คือเราจะทำให้เกิดการดับทุกข์ได้ ซึ่งต่อไปถ้าเป็นความหมายนั้นก็จะเป็นคุณประโยชน์ไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นโลกปัจจุบันที่เราพูดถึง มีเรื่องราวมากมายมากๆ เนี่ยครับ สามารถพลิกเปลี่ยนให้มันเป็นโอกาสที่ดีได้เหมือนกันนะครับ