แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้เวลาที่เหลือนี่ อยากจะแถมอะไรบางอย่าง เปิดประเด็นไว้นะครับ ว่าจริงๆ การภาวนาที่เราต้องการออกมาจากความคิด แต่ก็ไม่ได้ออกมาได้โดยง่ายๆ นะครับ ไอ้ความคิดที่เราบอก ดูเหมือนเป็นคำพูดสั้นๆ ว่าความคิด
แต่ความจริงมันคือตัวตน มันคือสภาวะความเป็นตัวเรา ซึ่งเราเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้น การที่จะออกมาจากสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย มันจึงต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ นอกจากสิ่งที่เป็นการสร้างจังหวะซึ่งเป็นเครื่องมือที่เป็นปัจจุบันแล้ว แต่มันต้องมีเครื่องมืออื่นประกอบด้วยนะครับ
เพราะปกติจิตของเราที่มันจะมีสมรรถนะในการคิดมากๆ เนี่ยนะครับ ความคิดจะพูดถึง มันนำไปสู่ความสงสัย ที่นี้ไอ้ความสงสัยที่เราพูดถึง มันเป็นสภาวะธรรมชาติที่เราเคยชิน ที่เวลาเราอยู่กับโลกข้างนอก เมื่อเราได้สัมผัสกับอะไรซึ่งเป็นโลกข้างนอก รูป รส กลิ่น เสียง มันต้องมีความคิดเข้าไปจาระไนแจกแจงเสมอ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส พวกนี้ เราก็ต้องคิดเสมอ แม้กระทั่งนั่งกิน บางทีเรายังสงสัยเลยว่ารสแบบนี้มันมาจากไหน อย่างไรเลย ใช่ไหมครับ ทั้งๆ ที่ความจริง รสก็คือรส ลิ้นสัมผัสรู้ อินทรีย์คือลิ้น เนี่ยมันรู้แล้ว มันทำหน้าที่บอกรสเผ็ดหวาน แต่เราก็อดไปคิดไม่ได้นะบางที ยิ่งเราไปมีทฤษฎีเข้ามาประกอบเนาะว่า เอ้อ เราเนี่ย เราเป็นพวกคลีนนะ อาหารสะอาด เพราะฉะนั้นกินอันนี้มันดีมั้ย ประมาณนี้นะ มันหวานไปนะ คำว่าหวาน ก็ชอบนะ แต่น้ำตาลไม่ควรมาก มันก็มีความคิดนี้ ผมพูดถึงว่าเรามีความคิดไปตัดสินสิ่งเหล่านี้
แต่จริงๆ แล้ว ไอ้ความหมายที่เราพูดถึง มันมีประเด็นตรงนี้ครับ มันจะทำอย่างไรที่จะให้เรามีสมรรถนะในการที่จะออกมาจากความคิดได้ ก็ต้องทำให้พลังของไอ้ความคิดที่มันจะคิดสงสัยเนี่ย มันต้องมีเครื่องมือป้องกันมันด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในภาษาที่เราใช้กันในหมู่บุคคลที่มาภาวนา แน่นอนในภาวนา เราต้องการปลุกจิตตื่นรู้ เจริญสติ แต่ประเด็นที่น่าสำคัญอย่างหนึ่งนะครับ มันไม่ง่ายที่จะเจริญสติ เพราะว่านึกถึงภาพนะ บางคนมาเจริญสติไม่นานก็ได้ผล บางคนทำมานานแล้วไม่ได้ผล เอ๊ะ ความต่างมันอยู่ตรงไหน ความต่างมันอยู่ที่คุณสมบัติพื้นฐานภายในใจของเราเอง ว่าใจของเรามีสมรรถนะ มีความนิ่งพอไหม
ที่นี้ไอ้ส่วนนี้นะครับ เขาจึงบอก บางคนเวลาเราพูด พวกเราเคยได้ยินคำพูดนี่ไหม บอกว่า อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า อินทรีย์นี้ไม่ได้หมายถึงสมรรถนะ ตา หู นะครับ อินทรีย์นี้หมายถึงสภาวะของจิตที่มันเป็นปรุงแต่งเป็นใจ ให้มันมีเรื่องราวต่างๆ ที่นี้เวลาพูดถึง ‘อินทรีย์’ นี่ เราพูดถึง ‘อินทรีย์ 5’ เพราะเราคงเคยได้ยิน ‘อินทรีย์ 5’ ‘พละ 5’ นะครับ มันมีชื่อเรียกหมวดธรรมนี้ 2 ชื่อ แต่ว่าความหมายของธรรมเหมือนกัน คือ เราพูดถึง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พวกเรานึกถึงภาพออกใช่ไหมครับว่า เวลาเราบอกว่า เราปฏิบัติธรรมยังไม่ได้ผลเพราะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ต้องบ่มเพาะอินทรีย์ให้แก่กล้ามากกว่านี้ เอ๊ะ ทำเหมือนกับว่ามันยังไม่พร้อม จริงๆ มันเป็นความหมายที่สำคัญจริงๆ นะครับ เพราะเวลาเราพูดถึง ‘อินทรีย์’ ตัวสติ มันอยู่ตรงกลางนะครับ ก่อนจะไปถึงสติ มันต้องมีศรัทธา มีวิริยะ ก่อน ที่นี่ไอ้ศรัทธา วิริยะ สติ และมันจึงเกิดสมาธิ แล้วเกิดปัญญาคือความรู้
ผมพูดสั้นๆ เพียงแค่แนะนำเท่านั้นเองนะครับ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการคุยหรือเป็นการปฏิบัติต่อไปด้วยว่า เวลาพูดถึงศรัทธา นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในความหมาย เพราะเราเองมักจะเอาสิ่งที่เรียกว่าศรัทธา ไปผูกพันไว้กับสิ่งข้างนอก และกลายเป็นว่าศรัทธา คือ ความเชื่ออะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งมันอยู่นอกตัวเรา แต่จริงๆ แล้วศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งข้างนอกนะครับ เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องศรัทธาเนี่ย พระองค์ใช้คำในภาษาบาลีที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกว่า มันมีศรัทธาที่ใช้กันในความหมายเพียงอย่างเดียว คือ “ตถาคตโพธิสัทธา” เมื่อตะกี้พูดคำว่า “ตถาคต” ไปแล้วใช่ไหมครับ
ที่นี้เวลาเราพูดถึง “ตถาคตโพธิสัทธา” เวลาเราแปล เราแปลว่า เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ได้มีคำอธิบายว่าเชื่ออย่างไรล่ะ แต่ความ หมายที่แท้จริงคำว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” คือ เรามีความมั่นคง มั่นคงนะครับ ในใจของเราเชื่อมั่นนะครับ ในความหมายที่เรามีความเชื่อมั่นว่า จิตของเรา มันจะเข้าถึงสภาวะที่เป็น “ตถาคตโพธิ” ก็คือ จิตที่มันมีโพธิที่จะเข้าถึงสภาวะนั้นได้ ที่นี่ความหมายเช่นที่ว่านี้มันสำคัญ มันสำคัญเพราะว่าผลมันยังไม่เกิด แต่ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในหนทางหรือวิถีที่จะให้มันเกิด
มันเหมือนกับเวลาเรามีอะไรสักอย่างหนึ่งนะครับที่เป็นปัจจุบัน เช่น ผมชอบยกตัวอย่างอย่างนี้ เราไปซื้อผลไม้ เช่น มะม่วง มาจากตลาดและบอกเป็นมะม่วงหวานใช่ไหมครับ แต่ตอนที่เราซื้อมันยังดิบนะครับ เพราะในเมื่อแม่ค้ายืนยันว่าเป็นมะม่วงหวานกินสุก เราเลยเชื่อ แต่ความหมายของมันก็คือ มะม่วงมันไม่ได้หวานอยู่ ณ ขณะปัจจุบันตอนที่เราซื้อมาวันนั้น แต่เราสามารถเอามาเก็บไว้สัก 2 วัน หรือ 3 วันแล้วแต่นะครับ ตามความเหมาะสมที่เราก็รู้อยู่โดยปกติแล้ว
เพราะฉะนั้น ทันทีที่เราพูดถึงว่ามะม่วงหวาน มันไม่ได้หวานขณะที่เราซื้อ ถ้าสมมุติว่าเราปอกแล้วกินตอนนั้นเลย มันจะเปรี้ยว แต่เรามีความเชื่อมั่นว่ามะม่วงผลที่เราซื้อมาเนี่ย ถ้าบ่มไว้ เก็บไว้ในที่เหมาะสมในบรรยากาศในเงื่อนไขที่ถูกต้อง 2 วันมันก็จะสุก มันจะเห็นปรากฏการณ์ แม้ยังไม่ชิม เราก็เห็นใช่ไหม เช่น ผิวของมัน มันก็จะเปลี่ยนสี จากสีเขียวๆ คล้ำ ๆ ก็อาจจะเป็นสีเหลือง สีทอง อะไรอย่างนี้นะครับ เปลี่ยนสี แน่นอน พอมันเห็นสีเปลี่ยนไป เราก็รู้ว่ารสก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน ถ้าซื้อมาวันแรกเอาไปกินมันเปรี้ยวแน่ แต่วันต่อมามันจะกลายเป็นรสชาติที่หวาน
ความหมายที่ต้องการจะเปรียบเทียบคือ สภาวะที่มันยืนอยู่ในตัวเราตอนนี้ เราอาจจะมีความขุ่นมัวเศร้าหมอง กังวลวิตก กังวลอะไรสารพัด แต่เรามีความเชื่อมั่นไหมล่ะ ว่าสิ่งที่มันเกิดปรากฏอยู่เป็นสภาวะแบบที่ว่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันคล้ายๆ เหมือนกับตอนเราป่วย แต่เพราะเราเชื่อมั่นว่ามันจะหาย ไอ้ความเชื่อมั่นว่ามันจะหาย เราก็เลยดูแลตัวเราเองตามเงื่อนไขที่จำเป็นเช่น เขาห้ามไม่ให้เราทำอะไร เราก็ ไอ้ปัญหาป่วยไม่เท่าไรนะครับ
บางคนนะครับ เวลาบอกว่าป่วยบางโรคเนี่ยนะครับ ผมมีเพื่อนผมที่เกษียณอายุราชการ แล้วแกไปหาผมที่เชียงใหม่ แล้วแกเล่าเรื่องๆ หนึ่งว่า แกไปตรวจต่อมลูกหมาก แล้วคุณหมอที่แกไปตรวจมีข้อสันนิษฐานว่ามันจะมีเนื้อร้ายที่ต่อมลูกหมาก ก็ต้องตัดไอ้เนื้อร้ายไปนะ แล้วก็ต้องรอ แกบอกทันทีที่วันที่ไปหาหมอแล้วเขาใช้วิธีนี้ แกกลับมาบ้าน แกหมดสภาพเลย แกบอก และที่ตลกมากเลยเนี่ยนะ วันที่จะไปฟังผล แกต้องขอร้องให้ลูกชายลางานเพื่อขับรถให้แก พาแกไปโรงพยาบาล แกขับรถไม่ได้ แกบอก แกสูญเสียความสามารถในการขับรถเลยนะครับ แกสูญเสียความสามารถขับรถไปเลย ลูกชายก็เป็นห่วง นึกถึงภาพลูกชายเขาลางานได้อยู่แล้วก็เป็นห่วง มันยังไง พ่อมีเรื่องใหญ่ ต้องขับรถพาพ่อไป แกบอก ไปถึงโรงพยาบาลยังต้องนั่งรถ รถที่เจ้าหน้าที่บุรุษพยาบาลมาเข็น นั่งรถเข็นนะครับ ไปพบคุณหมอในห้องที่เขานัด แล้วต้องไปรอคิวตามเงื่อนไขของโรงพยาบาลใช่ไหม
แต่ปรากฏเรื่องที่มันตลกคือ พอฟังผลที่คุณหมอพูดไม่เป็นอะไรน่ะ พอไม่เป็นอะไร แกไม่ได้นั่งรถเข็นเลย รถเข็นยังรอแกอยู่นะ บุรุษพยาบาลก็ยังรอที่จะเข็นรถให้แกนะครับ ที่สำคัญ แกดึงเอากุญแจจากมือลูกชายมาขับรถเอง เพราะเป็นรถแกอยู่แล้ว แล้วขับรถกลับบ้าน แกเล่าให้ผมฟังว่า โอ้โห ตอนที่ผมเป็นนะ แกใช้คำว่า ตอนที่ผมเป็นเลยนะ ผมหมดสภาพเลย เพราะแกรู้ว่าถ้าเป็นแล้ว โอ้โห มันแย่เลยนะครับ
ผมเข้าใจว่าความรู้สึกประมาณนี้นะครับ เป็นความรู้สึกที่มันอยู่ในใจเรานะ โดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะเราต้องปลุกฟื้นความรู้สึกใหม่ๆ เป็นความรู้สึกที่ว่า สิ่งที่มันเป็นอาการของสภาวะที่เป็นความขุ่นมัว ความหมายของความรู้สึกที่มันเป็นความทุกข์ในปัจจุบันเนี่ย มันหายได้ ไม่ต้องกังวล ที่สำคัญให้มีพลังที่จะกระทำไปในหนทางที่จะดูแลให้มันหาย ให้มันเชื่อมั่นเหมือนกับเราซื้อมะม่วงดิบแต่มันเป็นมะม่วงหวานน่ะ และเราก็เก็บมันไว้ไม่ใจร้อน ไม่โวยวายแม่ค้า หลังจากกลับบ้านมาถึงปอกกิน เอ๊ะ บอกว่าเป็นมะม่วงหวาน ทำไมมันเปรี้ยวจัง อะไรอย่างนี้นะครับ เพราะเรารู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพแบบนี้ได้ ความรู้สึกแบบนี้เนี่ยนะครับ เป็นความรู้สึกที่ใช้คำว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” คือ เชื่อมั่นในศักยภาพของสภาวะที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบัน ว่าเราจะสามารถทำให้เกิดความรู้แจ้ง เข้าถึงความเป็นจริงที่เป็นเช่นนั้น แล้วเกิดความหมายดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ได้จริงๆ
ตรงนี้ต้องมีนะครับ และความรู้สึกที่ต้องมีสิ่งนี้ มันจะเป็นความหมายของการที่ทำให้เรากลับมา นึกถึงภาพนะครับว่า เวลาเราไปซื้อมะม่วงมาแล้ว แม้จะเก็บไว้แต่เราก็อดไปเปิดดูไม่ได้นะ บางทีเปิดดูเฉยๆ ไม่พอ ยังเอามาดมอีกนะ ว่ากลิ่นมันจะหอมด้วย ใช่ไหม เกือบๆ ใช้ได้แล้ว เก็บไว้อีกวันดีกว่า
ความหมายที่เรากำลังพูดถึงนี้ มันเป็นปรากฏการณ์ของสิ่งข้างนอก แต่จริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์ภายในใจของเราเอง ก็มีความหมายเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่เรามาปฏิบัติธรรมโดยรูปแบบใดก็แล้วแต่ โดยเฉพาะพวกเราที่ปฏิบัติตามแนวเคลื่อนไหวสร้างจังหวะเนี่ย พวกเราสังเกต ให้พวกเราสังเกตนะครับ เพื่อจะทำให้เกิดความหมายว่า พอเรามาสร้างจังหวะ ยิ่งถ้าสร้างจังหวะแล้วได้ผลนะครับ มันจะเป็นภาวะที่มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์จนผมไม่รู้จะบอกว่ายังไงนะครับ บางทีมัน คือ ทันทีที่พอเราเกิดสติและเกิดธรรมวิจัยในตัวจังหวะเนี่ย มันจะเกิดวิริยะโดยที่เราไม่ใช่ข่มใจนะครับ มันมีความรู้สึกได้ถึงความหมายที่เรานั่งสร้างจังหวะ แล้วมันเป็นสภาวะที่บอกไม่ถูก เพราะว่าตอนที่เราทำไปเนี่ย สภาวธรรมที่มันเป็นองค์คุณในใจของเรา พอมันมีสติ มันจะมีวิริยะ มันจะมีปีติ มีปัสสัทธิ มีความเบิกบาน มีอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้
แต่ที่สำคัญ มันต้องเริ่มต้นจากที่จิตของเราต้องมีความเชื่อมั่น คำว่าเชื่อมั่น มันพูดเป็นภาษาเปรียบเทียบยากมาก แต่มันเป็นสภาวะจิตของเราที่มีความมั่นคง ที่นี้ความมั่นคงที่ว่าเนี่ย มันเลยเป็นสภาวะที่ไม่ก่อให้เกิดความคิดสงสัยที่กลายมาเป็นความหวั่นไหว ทำให้กลายมาเป็นความหมายที่ทำให้เราไม่นิ่งนะครับ ไอ้เรื่องจิต บางทีมันก็พูดยาก คำว่า ไม่นิ่ง คือ มันมีเรื่องนู้นเรื่องนี้เข้ามา แล้วเรามีความคิดเคลือบแคลงสงสัย ที่นี้คำว่า เคลือบแคลงสงสัย มันไม่ได้เคลือบแคลงสงสัยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติสร้างจังหวะนะ มันสงสัยเรื่องอื่นในชีวิตน่ะ และที่สำคัญ พอเราสงสัยเรื่องอื่นในชีวิต แล้วมันทำให้เราสูญเสียความสามารถที่จะรู้แจ้งสภาวะที่เป็นอารมณ์อยู่ภายในได้
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นความหมายที่อยากจะพูดตรงนี้ เราต้องพยายามบ่มเพาะให้เกิดอินทรีย์ส่วนนี้ คือ ตัวศรัทธา ตัววิริยะ ถ้ามันยังไม่รู้ว่ามีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา ให้จำไว้นะครับ ถ้าไม่มีศรัทธา วิริยะมันก็ไม่เกิด และถ้าเราฝืนใจทำ แสดงว่านั่นไม่ใช่วิริยะ แม้เราจะนั่งสร้างจังหวะเป็นชั่วโมง 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง หรือทั้งวัน แต่ถ้าเราฝืนใจทำ ฝืนใจทำ คือ กดข่มที่จะต้องทำ ไม่ได้มีความเพลิดเพลินเบิกบานกับการทำตรงนั้น นั่นแสดงว่า มันเริ่มต้นจากต้นธารของเราแล้ว จิตของเรายังไม่ได้มีความมั่นคงเชื่อมั่นนะครับ เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่มันเป็นความสงสัยว่า แม่ค้าหลอกขายมะม่วงเปรี้ยวหรือเปล่าเนี่ย มันยังอดไม่ได้ที่จะเอามีดเฉาะดู แล้วมันเป็นความหมายเหมือนกับไม่เชื่อมั่นแม่ค้าคนนี้เคยหลอกเรามาครั้งหนึ่งแล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นความหมายที่กำลังพูดถึงนี้ มันเป็นเรื่องของสภาวะภายใน ให้ดูด้วยนะครับว่าขณะที่เราทำสิ่งนี้ ถ้าจิตเราอยู่กับปัจจุบันขณะ เราจะไม่มีความรู้สึกเรื่องนาน แต่ถ้าเมื่อใดบอกว่า ทำมาตั้งนานแล้วเมื่อไรจะเลิก นั่นแสดงว่าไม่มี ไม่ได้ผลนะครับ เพราะขณะที่เรามีความรู้สึกว่านาน นั่นแสดงว่าจิตของเราไปอยู่กับอดีตและอนาคต นั่งทำมาตั้งแต่ 9 โมง นี่จะเที่ยงอยู่แล้ว แสดงว่าเรานั่งคิดเรื่องเวลาแล้ว ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่แล้ว ปัจจุบันขณะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า นาน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า เร็ว หรือว่า ช้า นะครับ