แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอหนึ่งคำถามค่ะ เมื่อเช้าอาจารย์ประมวลพูดว่า เรา ก่อนเราจะมาฝึกสติ เราก็ควรจะบ่มเพาะในเรื่องของศรัทธา วิริยะ นะคะ อาจารย์บอกว่าวิริยะเนี่ยจะต้องไม่ข่ม เป็นความเบิกบาน อันนี้พอเข้าใจได้ในบางเรื่อง แต่ในการภาวนาเนี่ยค่ะอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนใหม่ๆ หรือตัวเองเนี่ย เวลาที่ไปวัด ยกมือไปบางทีก็เซ็ง เซ็ง แต่ถ้าไม่ฝืนเราก็จะไปนอนใช่ไหมค่ะ หรือว่าการที่หัดตื่นเช้า หรือการหัดให้ตัวเองอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมที่ดีเนี่ย จริงๆ มันก็ต้องใช้การฝืน ในช่วงแรกๆ แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ บางเรื่องมันก็จะฝืนน้อยลงจนเป็นธรรมชาตินะคะ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วในเส้นทางเนี่ย มันต้องฝืนก่อนไหมคะอาจารย์ หรือว่าจริงๆ แล้วที่อาจารย์พูดเนี่ยมันคือเป็นจุดที่ ถ้ามันเป็นอินทรีย์ วิริยะถึงจะเบิกบาน ขออาจารย์ขยายความเข้าใจตรงนี้นิดนึงค่ะ
ขยายอย่างนี้ครับ จริงๆ ฝืนมันฝืนอยู่แล้วในตอนต้นนะครับ แต่หมายความว่าความรู้สึกฝืนจนกดข่มเนี่ย เมื่อปฏิบัติไปๆ มันต้องลดลงๆ เราต้องเริ่มต้นเหมือนกับที่เราบอกว่าเราออกจากความคิด แต่ตอนที่คิดจะออกจากความคิด มันก็เป็นความคิดอยู่แล้วครับ เพราะถ้าเราไม่มีความคิดที่จะออกจากความคิดมันก็ไม่ได้ออกหรอก เพราะฉะนั้นไอ้ตัวความคิดนี้จำเป็นนะครับ ไม่ใช่ไม่จำเป็น เป็นแต่เพียงแค่เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า ความคิดที่เราพูดถึงเนี่ยถ้าเป็นยานพาหนะนะ มันก็เหมือนกับเป็นรถแท็กซี่หรือรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่เข้ามารับเราที่บ้านนะครับ แล้วก็ไปส่งเราที่สนามบิน หรือไปส่งเราที่ไหน อะไรอย่างนี้นะครับ มันอำนวยความสะดวก เพราะไม่มีเครื่องบินมารับผู้โดยสารที่บ้านแน่นอนนะครับ เราต้องไปที่สนามบิน ทีนี้การไปสนามบินเราก็ต้องนั่งรถแท็กซี่ไปอะไรไปเนี่ยครับ
ความหมายก็คือตัวความคิดต้องมี แต่ตัวความคิดเนี่ยนะครับต้องทำให้มีความหมายว่า เป็นเบื้องต้นนะครับ เป็นเริ่มต้นของการภาวนา การข่มเนี่ยถ้าเรายังอยู่กับความคิดเนี่ยต้องข่มนะครับ แน่นอนเลย ชัดๆ เลย เพราะว่าตัวความคิดเนี่ย มันจะเป็นความคิดที่ปรุงแต่งทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้นทันทีที่เราคิด เราจึงจำแนกว่าเราจะคิดให้มันเป็นกุศลที่เราเรียกว่า โยนิโสมนัสสิการ ซึ่งเป็นเบื้องต้นในองค์แห่งอริยมรรคนะครับ มันก็เป็นความคิด
แต่ท่านสังเกตไหมครับว่าทันทีที่มันมีความคิดจนกระทั่งก่อให้เกิดสัมมาทิฐิแล้วเนี่ย ไอ้ตัวสัมมาทิฐิเนี่ยนะครับ มันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสัมมาสังกัปปะ ตัวสัมมาสังกัปปะนั้นเป็นความคิด แต่เป็นความคิดในเชิงดำริที่เป็นเรื่องภายในแล้วนะครับ ทีนี้พอมันเป็นเรื่องภายในแล้วเนี่ยนะครับ ไอ้ตัวความคิดมันก็จะมีบทบาทน้อยลงแล้ว เพราะไอ้ตัวความดำริเนี่ยนะครับ เวลาเราบอกว่าดำริออกจากกามเนี่ยนะครับ คำว่าออกจากกามมันเป็นสภาวะภายในใจเราแล้ว คำถามว่าเวลาเราออกจากกามหรือคลาย คลายที่ให้เป็นวิราคะเนี่ยนะครับ มันไม่ใช่เรื่องความคิดแล้ว มันรู้ได้ด้วยตัวเราเองแล้วว่าเราจะหมุนเกลียวเข้าหรือจะคลายเกลียวออก
ทีนี้ไอ้ตรงนี้นะครับมันเป็นเรื่องกระบวนการแล้ว เพราะฉะนั้นกรณีที่เราพูดถึงไอ้ประเด็นเหล่านี้ เพราะประเด็นเหล่านี้นะครับทำอย่างไรที่จะให้มันพัฒนา พอพัฒนาปุ๊บมันจึงบอกว่าเราต้องหาวิธีที่จะลดสิ่งที่เรียกกันว่า การกำกับ กำหนดโดยความคิดลง ที่นี้ไอ้ประเด็นตรงนี้นะครับ ความคิดที่เราพูดถึงนี้มันคืออะไร มันคือกระบวนการที่ทำให้เกิดการปรุงแต่งในเชิงเคลือบแคลงสงสัย นึกถึงภาพนะครับ เวลาเราเห็นอะไรที่เราเห็นเป็นปกติ เราไม่ค่อยได้ใช้ความคิดสักเท่าไหร่แล้ว เพราะอะไร เพราะเราเห็นปุ๊บแล้วเราคิดไว้ก่อนแล้วนะครับ ได้ยินเสียงนี้ เราไม่รู้ นี่เสียงแอร์แน่นอนเลย เสียงที่ได้ยินเนี่ยนะ เพราะเรามีความรู้อยู่แล้วอะไรอย่างนี้นะครับ เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่
แต่ทีนี้ประเด็นที่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่มันเป็นความคิดที่ว่านี้นะครับ มันจะกลายมาเป็นสภาวะ ใช้ความคิดจำแนกว่าอะไรเป็นกุศลอะไรเป็นอกุศล และตัวความคิดมันจึงจะมีความหมายว่าเราจะต้องการละอกุศล เพราะตรงนี้เราจะเริ่มปฏิบัติการเรื่องการละอกุศล ทีนี้ตรงนี้ครับผมเข้าใจว่าเป็นรอยต่อที่จะนำไปสู่สิ่งที่ทำให้เราเนี่ย พอไปถึงอีกจุดๆ หนึ่ง ตัวความคิดด้วยการกดข่มมันจะต้องน้อยลง คำว่าน้อยลงก็คือ ตัวความคิดจะต้องเป็นฐานให้เกิดสภาวะที่ออกจากความคิดไปสู่ความรู้สึกตัว แล้วความรู้สึกตัวที่ว่านี้ สุดท้ายแล้วมันสามารถที่จะประจักษ์แจ้งด้วยตัวจิตเอง หรือรู้ด้วยจิตเองว่านะอะไรเป็นกุศลอกุศล ไอ้ตอนที่มันเป็นความคิดนี้มันเป็นการปรุงแต่งนะ แล้วมันมีปัญหาอันหนึ่งที่อยากจะพูดตรงนี้ด้วย ไอ้ตัวความคิดนี่มันเป็นตัดสินไว้เสร็จแล้ว ว่าสิ่งที่เป็นสภาวะอกุศลนี้ไม่ดี เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ปล่อยให้มันเกิด แต่พอเราบอกว่าไม่ปล่อยให้มันเกิด จริงๆ มันเกิดนะครับ
คำถามคือจะปฏิบัติกับมันอย่างไร ไอ้ตรงนี้ใม่ใช่เรื่องของความคิดแล้ว ตรงนี้เป็นความรู้ที่จะต้องทำให้เกิดเป็นปกติ ไอ้ตรงนี้แหละครับที่ผมจึงบอกว่าส่วนหนึ่งที่เรากำลังพูดถึงการปลูกฝังศรัทธา การปลูกฝังศรัทธาคือทำบ่มเพาะให้เกิดสภาวะจิตนะครับ ที่มีความมั่นคงในสิ่งที่มันเป็นวิถีที่จะทำความหมายที่มันเกิดปรากฏขึ้นในใจ ภายในเนี่ยเราไม่ต้องใช้ความคิดแล้วเหมือนที่พูดเมื่อเช้าใช่ไหมครับว่า ความคิดนี่มันเกิดขึ้นจากการที่เราส่งจิตออกนอก แต่ทันทีที่เราส่งจิตเข้าในกลับไปข้างในเนี่ย การส่งจิตเข้าใจมันไม่ใช่เรื่องความคิดแล้วนะครับ เป็นเรื่องของปัจจุบันแล้ว เพราะเรากำลังอยู่กับปัจจุบัน พออยู่กับปัจจุบัน ฝึกสร้างจังหวะก็คือ กลวิธีหรืออุบายวิธีที่ประเสริฐมากเลย ที่จะทำให้เราเห็นความหมายของสิ่งที่มันเกิดขึ้น ที่เป็นความต่างของสิ่งที่เป็นความคิดกับจิตรู้ที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน
แล้วตรงนี้ครับ ผมเข้าใจว่ามันจะกลายมาเป็นความหมายที่ทำให้เราเนี่ยคลายการกดข่ม ถ้าแรกๆ นะครับ ต้องนั่งสร้างจังหวะให้ได้สักชั่วโมงหนึ่งต้องกดข่มไป แต่ถ้าเราทำกระทั่งมันได้ผลนะครับ ความคิดจะหายไป พอความคิด คำว่าความคิดหายไป เรื่องชั่วโมงก็จะหายไปด้วย เรื่องทำมานานแล้วก็หายไปด้วย มันมีแต่ปัจจุบัน จังหวะที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น แม้กระทั่ง 14 จังหวะก็ไม่ได้คิดถึงจังหวะต้นหรือจังหวะปลายอะไร จังหวะปัจจุบันเท่านั้น ไม่มี 14 จังหวะด้วยซ้ำไป
นึกถึงภาพนะ เพราะคนที่ปฏิบัติจนถึงจุดๆ หนึ่งแล้วไม่มีคำว่านับ 1 2 3 แล้ว ไม่มีแล้ว มันลื่นไหลเป็นกลไกปกติ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งกำหนดว่านี้เป็นจังหวะที่ 1 นี้เป็นจังหวะที่ 2 นี้เป็นจังหวะที่ 3 ไม่มีครับ ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นประเด็นตรงนี้ ผมเชื่อว่านะครับ สิ่งที่มันเป็นปรากฏการณ์ที่บอกว่าความคิดสลายคลายไป การกดข่มก็จะสลายคลายไป แล้วตรงนี้นะครับ ไอ้ตัววิริยะที่แท้จริงมันก็จะเกิดนะครับ และไอ้ตัวสติที่เป็นธรรมชาติแท้ๆ แห่งการตื่นรู้ก็จะเกิดครับ