แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะคนที่เมื่อวานเราปรารภถึงคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ที่เราปรารภถึงนี้ โดยธรรมชาติของบุคคลนะครับ ที่อยู่ในโลกซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่สะดวกสบายและรวดเร็วโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันจะมีเกิดสภาวะหรือคุณสมบัติอันหนึ่งที่มันมีความอ่อนด้อยของความที่เขาเรียกว่าความสามารถที่จะอดทนรอคอย ซึ่งตรงนี้มันไม่ใช่เป็นความผิดนะครับ แต่เวลาผมลองเอาตัวเองเข้ามาเป็นที่ตั้ง และเทียบเคียงกับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ผมมีโอกาสคุ้นเคยกับเขา พอสังเกตและพบว่าเขามีความสามารถที่จะอดทนรอคอยต่ำนะครับ ถ้าเทียบเคียงกับผม ไม่ใช่ผมในตอนนี้นะ เอาผมในช่วงวัยนั้นก็แล้วกันนะ เพราะอะไรครับ เพราะว่าโดยธรรมชาติของวิถีชีวิตที่เกิดในสังคมที่มีความสะดวกสบาย ไม่ได้ถูกฝึกให้มีความสามารถที่จะอดทนรอคอย
ทั้งที่จริงแล้วความสามารถที่จะอดทนรอคอย มันเป็นคุณสมบัติที่ประเสริฐมากนะครับ เป็นคุณสมบัติที่มหัศจรรย์มาก ที่เวลาเราพูดถึงการที่เราต้องอยู่ในโลก เราอยู่ในพื้นที่ทางสังคมที่มีความรวดเร็วสับสน มันมีโอกาสมากนะครับที่จะถูกกระทบ แต่คำถามว่ากระทบแล้วมันเป็นอย่างไร คือถ้ามันแตกง่ายร้าวง่าย มันสุ่มเสี่ยงมากเลยนะ ทีนี้เราไม่ได้สร้างไอ้สิ่งที่กันกระแทก ไอ้ตัวขันติธรรมหรือความอดทนประมาณนี้นะครับ มันเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นเวลาสังเกตว่าเวลาเรามาพูดถึงการปฏิบัติธรรมนั้น ส่วนหนึ่งก็จะมีความหมายของคำว่า “จะทำได้อย่างไร?” “จะมีวิธีที่มันง่ายกว่านี้ไหม?” ประมาณนี้นะครับ หรือ “จะทำให้มันเกิดเร็วกว่านี้ได้ไหม?” อะไรอย่างนี้ ในความคิดแบบนี้นะครับ บางทีไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิด แต่มันเป็นธรรมชาติที่ทำให้เรา รู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่นี้ มันเป็นสิ่งที่มาบั่นทอนนะครับ
สิ่งที่จะก้าวหน้าไปให้เรานึกภาพนะครับว่าจริงๆ แล้วในทางพระพุทธศาสนาเวลาพูดถึงการบำเพ็ญบารมี พวกเราจะสังเกตหรือเปล่าก็ไม่ทราบ มันจะมีเวลานานมากนะครับ ต้องใช้เวลานานมาก นึกถึงภาพนะครับ การจะรู้แจ้งธรรมหรือการจะเข้าใจหรือเข้าถึงนั้น เอาเฉพาะถ้าจะมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา พระสมณโคดม ถ้าตามพระคัมภีร์บอกไว้ว่าหลังจากที่เป็นนิยตโพธิสัตว์แล้ว คือหมายความว่าได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนหน้านั้นแล้วนะครับ ต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง 4 อสงไขย กับอีก 1 แสนมหากัป ถ้าจะคิดว่านานเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก มันนานมากนะครับ เพราะคำว่าอสงไขยแปลว่านับไม่ได้คำนวณไม่ถูกนะครับ นับไม่ได้คำนวณไม่ถูกถึง 4 ครั้งนะครับ และยังมามีอีกมหากัปหนึ่งอีก ทีนี้ที่เราพูดเช่นนี้นะครับ ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่จะไปคิดคำนวณ แต่ประเด็นมันให้เรามีความตระหนักรู้ได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น มันเป็นสิ่งที่ยาก
แต่คำว่ายากนี้ไม่ใช่คิดปรากฏขึ้นมาเพื่อให้เราท้อถอย แต่คำว่ายากที่พูดถึงนี้มันทำให้เกิดความรู้สึกได้ว่าเรากำลังทำสิ่งยาก ทำสิ่งใหญ่ ทำสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นไม่ว่ามันจะนานสักเท่าไร ไม่ว่ามันจะยากสักเพียงใด เราก็จะไม่ย่อท้อไม่ท้อถอย ความรู้สึกประมาณนี้นะครับมันเป็นความรู้สึกต้องรักษาไว้ เพราะถ้าการปฏิบัติธรรมมันง่ายใครมาสัก 2 วัน 3 วันแล้วกลับไป ผมเข้าใจว่าในสังคมของเราคงไม่มีปัญหากันมากมายขนาดนี้ แต่ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือเรากำลังพูดถึงสภาวะที่เราต้องมีสภาวะจิตอันเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ซึ่งมีความสามารถที่จะอดทนรอคอยและกระทำกิจที่มันยากๆ และความรู้สึกเหมือนกับว่ามันเชิญชวนนะครับ
คำว่ายากนี้ไม่ใช่หมายความถึงการปิดกั้นนะครับ แต่คำว่ายากนี้มันเชิญชวนให้เราทดสอบ ให้เราพิสูจน์ ให้เราทดลอง เพราะฉะนั้นความหมายแบบที่ว่านี้ เราไม่ได้ตั้งประเด็นคำถามว่า เอ๊ะเราจะสร้างความสามารถที่จะอดทนรอคอยนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ตรงนี้ถ้าไม่มีก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้ เช่น เวลาเรามาปฏิบัติธรรมมันจึงจะมีข้อวัตรปฏิบัติ ซึ่งปกติเราคงไม่ตื่นตีสี่ใช่ไหมครับ แต่พอเรามาอยู่ที่นี่เราพยายามทำให้สิ่งที่มันตื่นนี้มันรู้สึกเร็วขึ้น มันยากขึ้น แล้วเราก็สามารถที่จะทำได้ คือที่สำคัญอันหนึ่งนะครับ
อะไรที่มันคิดว่ายาก และเราลงมือทำ พอสุดท้ายแล้วเราทำได้ มันจะเป็นพลังนะครับ เป็นความหมายที่วิเศษมาก เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ว่ายากนั้นมันอยู่ในใจของเราที่เราไปคิดปรุงแต่ง และก่อให้เกิดอุปสรรคขัดข้องขึ้นภายใน เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อเรายังอยู่ในโลกของความคิดนะครับ ก็จะต้องทำสิ่งที่เรียกว่าความคิดนี้ให้มันเป็นการเตรียมการ ปูพื้น วางราก ให้เราพัฒนาก้าวไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นความคิดที่เป็นเชิงข้อที่ทำให้เราบั่นทอน อ่อนแอ เปราะบาง จะต้องปรับนะครับ ปรับมาสู่โหมดของความคิดที่ทำให้เรา...
พูดกันตรงๆ ง่ายๆ เมื่อวานเราพูดถึงเรื่องศรัทธานะครับ เราก็ต้องทำให้เกิดความรู้สึกเชิงศรัทธาที่มั่นคงในตรงนี้ว่า เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเสพเสวยความง่ายนะครับ เราเกิดมาเพื่อจะพิสูจน์ความหมายของเราที่ต้องผ่านความยุ่งยากลำบาก เพราะฉะนั้นเวลามีความยุ่งยากลำบากเกิดขึ้นปุ๊บ เราก็จะมีความรู้สึกได้ในความหมายว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ และเราก็ปรารถนาเช่นนี้แหละ ในความหมายเช่นที่ว่านี้ผมจึงอยากจะให้ทุกท่าน ที่บางท่านคงไม่ได้อยู่ในระดับนี้ ไปข้างหน้าไกลแล้ว แต่ก็พูดไว้เพื่อเป็นพื้นฐานว่า เวลาเรามาปฏิบัติภาวนาเหล่านี้ พอมันมีอุปสรรคมีข้อขัดข้องหรือมีข้อทำให้เรามีความหมายเชิงความรู้สึกว่ามันยาก
ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้ แต่คำว่ายากนี้ไม่ใช่มีความหมายว่าถ้าอย่างนั้นอย่าทำดีกว่ามันยากเกินไป แต่คำว่ายากนี้มันมีความหมายว่ามันท้าทาย มันทำให้เราต้องฝึกปรือ เพราะฉะนั้นเวลาเรามีความอดทน หรือมีความสามารถที่จะอดทนน้อย นั่นก็กำลังเปิดให้เรารู้แล้ว เพราะถ้าเราไม่มาทำเราก็ไม่รู้นะครับว่าเรามีความสามารถที่จะอดทนมากน้อยขนาดไหนเพียงไร แต่นี่ผมพูดในความหมายเชิงวงเล็บขีดเส้นใต้ว่าเฉพาะคนหนุ่มสาวนะครับ ส่วนผู้สูงวัยแล้วไม่ค่อยมีประเด็นนี้ครับ มีความหมายที่กล่าวเฉพาะจากส่วนที่กล่าวไว้เพื่อให้เป็นจุดเบื้องต้นของการเตรียมการหรืออะไรนะครับ เพราะว่าส่วนนี้ตัวทัศนคติ ท่าทีต่อความเป็นเช่นนี้ ต้องปรับนะครับ
เพราะฉะนั้นอะไรที่มันเป็นสิ่งที่ยากที่ลำบากที่ต้องรอคอยเนิ่นนาน ก็อย่าถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มันสูญเสียพลังในการที่จะทำ มันเหมือนกับเวลาเราคิดทำอะไร ตอนที่ผมคิดเดินนะ แล้วก็มีคนพอมารับรู้แล้วก็มีความรู้สึกปริวิตกกังวลว่าเดินไกลแล้วต้องใช้เวลานาน แต่จริงๆ เวลาเราเดินนั้นนะครับ มันไม่ใช่เดินวันเดียวให้ถึง ก็เดินไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน ปกติที่เราไม่ทำอะไร เราก็เดินอยู่แล้วนี่ครับ ผมจำได้ว่าวันที่อาจารย์โคทม อารียา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสายหลวงพ่อเทียน โทรศัพท์ไปคุยกับผม แกบอกว่าผมเดินจงกรมทุกวันผมมาคิดว่า เอ๊ะ ถ้าผมเดินจงกรมทุกวันอย่างนี้ ถ้าผมไปเดินไปเรื่อยๆ ข้างหน้าน่าจะทำได้ อาจารย์คิดว่าผมทำได้ไหม ตามที่อาจารย์เคยทำ ผมบอกได้สิครับ เพราะผมไม่เคยเดินนานนะอาจารย์ ผมเดินทีละก้าว เพราะถ้าอาจารย์เดินทีละก้าวทุกๆ วัน ทุกๆ วัน ทุกๆ วัน ทุกๆ วัน
ผมเข้าใจว่าตอนนั้นท่านกำลังพูดถึงว่าท่านต้องการจะเดินไปสู่ 3 จังหวัดภาคใต้ ผมเชื่อว่าอาจารย์จะเดินไปกลับมาอีกได้หลายรอบ อายุของอาจารย์ท่านก็แก่มากแล้วนะ แต่เพราะอะไร เพราะจริงๆ เวลาเราเดินนั้น จริงๆ เราเดินไปทีละก้าว เพราะทุกคนในปัจจุบันขณะที่เราเดินจงกรมเราก็เดินทีละก้าว ถ้าเราคิดแบบนี้ทำแบบนี้นะครับ มันก็จะมีความหมายถึงว่าเราก็สามารถเดินได้เป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตรก็ได้ แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะเดินสักพันกิโลเมตรตั้งแต่ก้าวแรกนั้นนะครับ นั่นแสดงว่าเรากำลังอยู่ในขั้นตอนการทำให้มันเกิดความยุ่งยากในใจแล้ว
ทีนี้เวลาเราพูดถึงการปฏิบัติธรรมที่พูดนี้คำว่าปัจจุบันขณะที่เราพูดถึงนี้ ถ้าเราไปเพ่งอยู่กับเรื่องไอ้สภาวะภายในจนเกินไปนัก บางทีมันก็ยากเหมือนกันนะ แต่ถ้าเราทำให้มันมีความรู้สึกเหมือนกับการที่เรากำลังทำอะไรที่มันธรรมดาๆ การเดินทีละก้าว แต่ถ้าเดินไม่หยุดมันก็มีความหมายถึงเดินเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนก้าว เป็นล้านก้าว การปฏิบัติธรรมที่อยู่กับปัจจุบัน เพียงแค่เราเอาสภาวะที่มันปรากฏเข้ามากระทบใจของเรา และรับรู้เหมือนกับที่เราพิจารณาธรรมตามพระบาลีที่เราสวดไปก็สามารถทำได้ นี่เป็นการพูดในเชิงบทปรารภพื้นๆ สำหรับพวกเราทุกคนที่ถ้าตรวจสอบพบว่ามันมีความรู้สึกว่ามันยาก มันนาน มันลำบาก ก็มาจัดการกับความรู้สึกนี้ด้วยการปรับเปลี่ยนท่าทีอะไรที่มันเป็นกลไกภายในของเรา ที่สำคัญก็คืออย่าทำให้สิ่งที่มันเป็นความคิดมาเป็นอุปสรรคตัดรอนความสามารถของเรานะครับ แต่ให้ปรับเปลี่ยนความคิดนั้นให้เป็นการหนุนเสริมเพิ่มพลังให้เกิดขึ้นภายในตัวเรา เพราะฉะนั้นความคิดแบบนี้มันก็ต้องยังมีอยู่
และถ้าสมมุติว่าสิ่งที่มันเป็นความคิดที่มีอยู่นี้ ยังไม่รู้ว่ามันควรจะปรับหรือควรจะเปลี่ยนอย่างไรให้มาดูผลตรงนี้ ถ้ามาปฏิบัติธรรมและเกิดความรู้สึกท้อแท้ท้อถอยสูญเสียพลัง ก็รู้ว่าให้รู้นะครับ ว่าวิธีคิดหรือความคิดแบบนั้น ควรจะปรับเปลี่ยนไม่ต้องถึงกับต้องบอกว่าไม่คิด ฉันจะเลิกคิดแบบนั้นคงทำยากมันต้องให้ปรับเปลี่ยนไปสู่ความคิดที่ก่อให้เกิดความหมาย เพราะฉะนั้นประเด็นที่เราพูดถึงเรื่องคิดบวก แต่เราไม่ได้มีเป้าหมายอยู่เพียงแค่คิดบวกนะครับ มันจะเป้าหมายไปถึงจุดว่า ถึงวันหนึ่งมันไม่มีบวกมีลบ แต่เราอยู่กับความหมายอีกระดับหนึ่งคือจิตรู้ของเราแล้ว ทีนี้ประเด็นเหล่านี้เสนอปรารภไว้เป็นเบื้องต้น ในการปรารภกันในเช้าวันนี้