แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีสิ่งหนึ่งที่เมื่อคืนก็ปรารภกันอยู่เหมือนกัน คำว่าปรารภกันอยู่เหมือนกัน ก็คือการสร้างจังหวะ หรือการเคลื่อนไหวกายของเราเนี่ยนะครับ มันมีประเด็นหนึ่งที่คุยกันแล้ว ผมรู้สึกว่าเออ..เป็นประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือจริงๆ ถ้าเราไปเพ่ง ไปจดจ่อ หรือไปกำหนดอะไรที่มันเป็นลักษณะที่เป็นเอาจริงเอาจังเกินไป บางทีการสร้างจังหวะเนี่ยมันก็อาจได้เพียงแค่จังหวะ เพราะจริงๆ แล้วตัวความหมายของการสร้างจังหวะก็คืออุบายวิธี หรือกลวิธี หรือเครื่องมือที่จะทำให้จิตของเราเนี่ยครับ มาตั้งมาวางอยู่กับสภาวะที่เป็นปัจจุบัน ทีนี้การตั้ง การวางอยู่กับสภาวะที่เป็นปัจจุบัน ถ้ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยปกติโดยธรรมชาติแล้ว บางทีมันก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เป็นเครื่องดึงหรือเครื่องประคับประคองจิตให้อยู่กับปัจจุบัน เราจึงมานั่งสร้างจังหวะ เพราะจริงๆ ในชีวิตปกติประจำวันเราขยับเคลื่อนกายอยู่ทุกขณะ แต่เราไม่ได้เคลื่อนแบบนี้นะ นี่มันเป็นแบบที่ละเอียดนะครับ ค่อยๆพลิก ค่อยๆ ยก ค่อยๆนี่ละครับ กระบวนการแบบนี้น่ะครับ แต่ทีนี้ตอนที่เมื่อตอนที่เราทำเนี่ยนะครับ มันเหมือนกับว่าเรายังไม่ชิน เราจึงต้องจดจ่อกับมัน จดจ่อกับมัน ว่าจะพลิกมืออย่างไร จะยกมืออย่างไร จะเป็นอย่างไร แต่พอทำไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว ให้รู้มันในความหมายที่ไม่ถึงกับ อย่าไปคิดเรื่องผิดเรื่องถูกมาก ให้มันมีจิตของเราไปอยู่กับการทำสิ่งนี้แบบสบายๆ แบบเป็นธรรมชาตินะครับ แล้วอยู่กับมัน แล้วพออยู่กับมันแล้วเนี่ยนะครับ มันจะมีความหมายรู้สึกตัวได้ คำว่ารู้สึกตัวได้ แม้จะมีความคิดปรุงแต่งแทรกซ้อนเข้ามา ก็ทำให้เกิดความหมายว่านี่ถ้าไม่นั่งสร้างจังหวะนี่ จะไม่รู้นะว่าตัวเองคิดไปกี่เรื่องแล้วเนี่ย แต่วันนี้ เรารู้แล้วไง พอมันมีอะไรแทรกเข้ามา เราก็รู้นะครับ ไม่ใช่พอมันเกิดแทรกขึ้นมา
เอาเป็นว่า เหมือนกับ เอาอีกแล้ว ทำแล้วมันไม่ได้อีกแล้ว ประมาณนี้ แล้วกลายมาเป็นจดจ่อ หงุดหงิด สภาวะแบบนี้ ผมพูดในความหมายที่พรรณนาอากัปกิริยาของจิต ของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ก็มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ เพราะฉะนั้นประเด็นที่เรามีข้อสังเกตเป็นเชิงปรารภกันว่าให้ทำให้สิ่งที่มันเป็นการเคลื่อนไหวนี้ ให้เป็นเครื่องมือนะครับ หรือให้มันเป็นฐานกายที่จะทำให้จิตของเราอยู่กับสภาวะที่เป็นปัจจุบันได้ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปเร่งรีบ เร่งร้อน ถึงว่าทำมาตั้งนานแล้ว ทำไมยังไม่ได้ผล ยังไม่ได้มีอะไร ถ้าไปเร่งรีบ เร่งร้อนอย่างนั้น แสดงว่ายังทำไม่เป็นธรรมชาติเต็มที่ ทีนี้ไอ้ความผ่อนคลายสบายๆ เนี่ยนะครับ จะมาบอกว่าเพราะงั้นไม่ต้องทำก็ได้ ทำยังไงก็ได้ ไม่ได้น่ะครับ ถ้ายังนั้น มันต้องมี ตรงนี้เราต้องยอมรับเคารพครูบาอาจารย์ เมื่อคืนยังนั่งคุยกันเลยว่า หลวงพ่อเทียนเนี่ยท่านเหมือนกับว่าเป็นนักปฏิบัติการจริง พอเป็นนักปฏิบัติการจริง ท่านหาวิธี ว่าวิธีไหนจะทำให้เกิดการเจริญสติได้ผลจริงๆ นะครับ แล้วท่านก็ค้นพบว่าวิธีทำแบบนี้มันได้ผล ทีนี้คำว่าได้ผลเนี่ยนะครับ มันก็เลยกลายเป็นว่าทำให้เราเนี่ยนะครับ เมื่อหลวงพ่อท่านทำได้ผล เราก็เลยพยายามจะทำตามที่หลวงพ่อบอก แต่ทีนี้ไอ้คำว่าทำตามหลวงพ่อบอก บางทีหลวงพ่อท่านคงจะไม่ได้บอกละเอียดหมดในอากัปกิริยาภายในนะ ท่านบอกเพียงแค่ว่าทำอย่างนี้นะ เป็นจังหวะอย่างนี้นะ 14 จังหวะ หรือ 15 จังหวะ ไม่ต้องมานั่งเถียงว่าจังหวะที่ถูกเป็น 14 หรือ 15 ตัวเลขนี้ไม่ได้สำคัญ สำคัญว่าจังหวะที่มันเป็นไปอย่างปัจจุบันเนี่ยนะครับ จิตของเราไปอยู่กับมัน รู้มัน แล้วความรู้สึกแบบนี้นะครับ มันเป็นความหมาย
ทีนี้ประเด็นพอเรามาทำเท่า ทำเท่า ทำเท่าเนี่ย ถ้ามีอะไร ถ้ามีอะไรที่เป็นสภาวะที่เรารู้สึกเหมือนกับมันมีอะไร ที่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะหมายความว่าอย่างไร ตรงนี้ก็ต้องเรียน กราบเรียนให้พระอาจารย์ท่านทราบ พระอาจารย์ท่านมีประสบการณ์ คือสิ่งเหล่านี้มันต้องผ่านท่านที่มีประสบการณ์มาแล้ว เพราะแต่ละท่าน จริงๆ พูดไปก็เหมือนมีเส้นทางที่เดินผ่านมาแล้ว พอเส้นนั้นเดินผ่านมาแล้ว เวลาท่านเดินผ่าน ท่านรู้แล้ว เมื่อเราไปถามท่าน ท่านก็คลี่คลายให้ได้ ท่านทำให้รู้ได้ว่าสาระสำคัญ หัวใจสำคัญว่าของมันคืออะไร อยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาประเด็นที่มันเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเล็กๆ ให้มันเป็นประเด็นใหญ่จนกดทับหรือทำให้ความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งนี้หายไป ตรงนี้พูดจากประสบการณ์ เพราะว่าตอนที่นั่งคุยและปรารภบอกเล่าประสบการณ์ ผมก็เล่าให้ฟังนะว่าจริงๆ ผมได้ใช้วิธีการสร้างจังหวะ ในช่วงที่ไม่ได้ต่อเนื่องยาวนัก เพราะพอสุดท้ายแล้วพอผมจับได้แล้วว่าไอ้การสร้างจังหวะเนี่ยมันเป็นอุบายวิธีอย่างไร แล้วเราก็รู้เลยว่าพอไปถึงจุดๆ นึง เราอาจจะปรับเปลี่ยน ปัจจุบันผมอาจจะไม่ได้มานั่งสร้างจังหวะ 14 จังหวะ อยู่ตลอดเวลา แต่จริงๆ ไอ้กลวิธีการดึงจิตกลับมาสู่สภาวะที่เป็นปัจจุบันขณะเนี่ย ผมใช้วิธี..เอ่อ เขาเรียกว่าแนวเคลื่อนไหวของกายเป็นตัวกำหนดอยู่เสมอตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาผมป่วยเนี่ยนะครับ เวลาผมป่วยเนี่ยผมไม่ได้นอนสร้างจังหวะนะครับ เพราะมันนอนอยู่ แต่ไอ้ขณะที่ป่วยที่นอนอยู่เนี่ย ผมก็ทำในสิ่งที่มันเป็นการรับรู้ความรู้สึกผ่านกายเนี่ยนะครับ มี ไม่มีอะไรก็แค่เอาจิตไปอยู่กับมือ นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่โป้ง สัมผัสกันเบาๆ แล้วมีความรู้สึกเบาๆ ก็อยู่กับมัน อะไรอย่างเนี้ย ตรงนี้ถ้าเริ่มต้นแล้วจะมาทำได้อย่างนี้เลย มันก็ไม่ได้สิครับ มันต้องทำให้มันมีความหมายเป็นขั้นเป็นตอน
ทีนี้ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ปรารภขึ้นมาเบาๆ สนุกๆ นะครับ อย่างนี้ว่าขอให้ท่านมีความผ่อนคลาย แล้วก็พอปฏิบัติแล้ว ถ้ามีเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรที่สนิทที่คุ้นเคยกันนะครับ เวลาว่างเว้นจากการปฏิบัติมีจังหวะดีๆ ก็สามารถบอกเล่าประสบ แต่ไม่ได้บอกเล่าเพียงเพื่อจะบอกเทียบเคียงนะว่าฉันทำได้ดีกว่า ไม่ใช่น่ะครับ บางทีเวลาเราคุยกัน มันทำให้เราพบว่าอะไรบางอย่างที่มันเป็นอุปสรรคขัดข้องอยู่ในความรู้สึกของเราน่ะมันคลี่คลายได้ด้วยการรับรู้ ว่า อ๋อ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่อยากจะพูดไว้ ก็การปฏิบัติธรรมในทุกๆ รูปแบบนะครับ ที่สำคัญอย่าไปนั่งเถียงกันเรื่องผิดถูก อยากให้สนทนากันในแง่ของการที่ว่า ทำให้เกิดทักษะรอบรู้ที่เกื้อกูลกันได้ เพราะโดยความหมายแล้วแต่ละคนต่างก็มีเทคนิคของตัวเอง ทีนี้คำว่าเทคนิคของตัวเองจะค้นพบก็ต่อเมื่อเราปฏิบัติไปจนกระทั่งถึงจุดๆหนึ่ง เรารู้ว่ามันมีอะไรพร่อง มีอะไรไม่สมบูรณ์ในตัวเอง แล้วเราปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่ากระบวนการปฏิบัติในรูปแบบนี้นะครับ ถ้าได้มีการใช้กับมันแล้วเราจะรู้เองว่าใช้ได้ดีในจังหวะไหน ใช้ได้ดีในอย่างไร แล้วก็จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มันเป็นการใช้งานที่เป็นธรรมชาติ เป็นปกติในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่อยากจะกล่าวเสริมเพิ่มเติม