แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอเรียนถามอาจารย์นะครับ ที่เมื่อกี๊อาจารย์พูดถึงว่า จิตไปรับรู้อารมณ์โดยไม่มีการนึกคิดปรุงแต่ง ทีนี้ขอเรียนถามอย่างนี้ว่า ในกรณีที่จิตไปรับรู้อารมณ์โดยไม่มีการนึกคิดปรุงแต่งแล้ว แต่ตัวจิตเองเกิดความหนักหรืออาการไหวกระเพื่อม อันนี้เป็นสาเหตุเพราะอะไรครับ มันยังเป็นความคิดอยู่ใช่ไหมครับ
ก็คือหมายความว่า คือความคิดเนี่ยบางทีมันละเอียดอ่อนมากนะ มันละเอียดอ่อนมาก คือมันเร็ว มันละเอียด ที่ผมพูดเช่นนี้ ยกตัวอย่างยังไงดี ผมพูดเล่าประสบการณ์อย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ เมื่อตอนที่ผมเดินเนี่ย แม้ผมจะฝึกอย่างดีเลยนะ ว่าผมจะไม่ส่งจิตไปคิดถึงอนาคต คิดถึงอดีตอะไร จะอยู่กับปัจจุบันเท่านั้นนะครับ แต่มันมีสิ่งที่เป็นปรากฎการณ์อันหนึ่งที่ผมเรียนรู้ได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ก็คือทุกครั้งที่มีความขุ่นมัว ขุ่นมัวทีนี้คือผมตั้งจิตไว้เพียงแค่ว่า ผมจะเดินทีละก้าวด้วยจิตใจที่เบิกบาน ยามใดจิตขุ่นมัวจะหยุด หยุด หยุด แล้วก็จะเรียกว่าอะไรนะ พินิจใคร่ครวญว่าสภาวะความขุ่นมัวที่มันเกิดขึ้นเนี่ยนะ มันเกิดขึ้นได้ยังไงอยากรู้เหมือนกันประมาณนี้อ่ะนะ และทุกครั้งนะครับที่มันมีภาวะขุ่นมัวเกิดขึ้น หรือมันมีความวูบไหว ผมใช้คำว่าความวูบไหว เช่น พอผมถูกรบกวนด้วยความหิวมากๆ มันมีความวูบไหว ไอ้วูบไหวธรรมดาก็ไม่เท่าไร แต่มันวูบไหวจากมีปรากฎการณ์ข้างนอก เช่น มีคนกลัวผมด้วย เด็กวิ่งหนี แล้วก็ชาวบ้านเขาบอกคนบ้าอะไรอย่างงี้นะ แล้วผมก็หิวข้าวอยู่ด้วยนะครับ หรือกูบ้าจริงประมาณนี้นะ คือความรู้สึกที่บอกว่าตัวเองบ้านี่มัน มันเหมือนกับปรากฏขึ้นในตัวเราเอง ความรู้สึกแบบนี้มันมีคลื่นของความสั่นไหวขุ่นมัวปรากฎ เพราะฉะนั้นตอนที่ผมหยุดยืนนิ่งๆ นะ หยุดยืนนิ่งๆ แล้วก็ทำความกระจ่างนะครับ เวลาผมหยุดนี้ ขอโทษ นี่เล่าเทคนิคด้วย ประกอบด้วยนะครับ เพราะมีคนถามผมว่า ผมใช้วิธีอะไรบ้าง ผมใช้วิธีสารพัดเลย ทันทีที่ผมหยุดเนี่ยนะ ผมมีลูกประคำ ผมก็จะภาวนามนต์นะครับ ผมใช้ปรัชญาปารมิตามนต์ที่ผมมีความศรัทธาโดยส่วนตัวอยู่แล้วนะครับ ภาวนามนต์จนกระทั่งครบ 108 จบ เพราะลูกประคำมันมี 108 ใช่ไหม ไม่ได้นับ แต่หมายความว่าทุกครั้งที่ภาวนา แล้วผมก็จะเลื่อนลูกประคำไปเรื่อยๆ ก็ใช้เวลานานพอสมควรนะครับ พอภาวนามนต์จบ จิตมันรู้สึกนิ่งเลยนะ พอนิ่งปุ๊บเนี่ย แล้วกลับไปทบทวนว่า เมื่อตะกี้ก่อนหยุดนี่มันเกิดอะไรขึ้น ประมาณนี้นะ นึกไปถึงอดีตแล้วตอนนี้มันเหมือนกับเห็นลำดับภาพที่มันยังตราตรึงอยู่ในใจ ว่าโอ้ว มันมีความคิดโผล่เข้ามา คือชาวบ้านเวลาเขามีปฏิกิริยา เช่น เขากลัวหรือเขาอะไรเนี่ย เรารู้เลยว่าเราส่งจิตไปรับรู้ชาวบ้าน ใช่ไหมครับ … (03.16 เสียงไม่ชัดเจน)
ผมมีหลักของผมอย่างนี้นะครับ ว่าตอนเดินไปเนี่ย ถ้าไม่จำเป็นผมไม่อยากผ่านหมู่บ้าน เพราะถ้าผ่านหมู่บ้านแล้วมันจะทำให้เกิดความทับซ้อนของความหมาย ก็คือ พอผ่านหมู่บ้านแล้วสิ่งที่ต้องทำคือ ผมต้องส่งจิตไปยิ้มให้ชาวบ้าน เพราะว่าไม่งั้นแล้ว มันจะยิ่งทำให้เขากลัว เพราะผมเคยรู้สึกผิด ทีนี้พอทันทีที่เจอ ถ้าเจอเด็กหรือชาวบ้านเนี่ย ถ้าเป็นไปได้ ผมจะหยุดเลยนะ แล้วก็สำรวมจิตด้วยความหมายเป็นคำภาวนา เป็นวจีกรรมขึ้นมาว่า ผมเดินออกจากบ้านมาไม่ปรารถนาจะเบียดเบียนใครเลย ขอให้ประชาชนพี่น้องเหล่านี้ที่ผ่านพบผมอย่าได้เกิดความสะดุ้งกลัว เป็นความรู้สึกที่ผมตั้งขึ้นมาในใจเลยนะครับ เพราะทุกครั้งที่มันอยู่ตรงนี้ มันกลายเป็นว่าผมเสียจังหวะของการภาวนาโดยปกติไปแล้ว แล้วความรู้สึกตอนนี้มันจะมีอะไรแทรกๆ เข้ามา พอแทรกๆ เข้ามาเนี่ย มันเลยกลายเป็นความวูบไหวของไอ้ตัวความคิดที่ละเอียดอ่อน
แต่ตรงนี้ที่พูดนี่ พูดในความหมายว่าผมภาวนาด้วยการเคลื่อนย้ายพื้นที่ มันก็เลยทำให้เราไม่นิ่ง แต่ถ้าสมมติว่าเรานั่งสร้างจังหวะ เรานั่งสร้างจังหวะ ผมก็ ตอนนั่งสร้างจังหวะเนี่ย ถ้ามันเกิดอะไร ซึ่งเป็นความวูบไหวเนี่ย ถ้าให้ผมสันนิษฐานนะ ผมไม่แน่ใจว่า เพราะถ้าผมนั่งสร้างจังหวะเนี่ยผมจะไม่มีปัญหา ผมสามารถนั่งสร้างจังหวะ ทำสมาธิได้นิ่งนะ แต่ว่าถ้าพวกเราที่ทำแล้วมันวูบไหว ก็แสดงว่า จิตของเราไม่ได้อยู่กับจังหวะเท่าที่ควร หรือไม่แน่น ไม่กระชับ ปล่อยเผลอให้มีอะไรบางอย่างเข้ามา ซึ่งตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ผมไม่อยากคาดเดา แล้วก็ไม่อยากสันนิษฐาน เป็นแต่เพียงแค่เล่าให้ฟังว่า ความคิดที่มันละเอียดอ่อน คือทันทีที่เรามีเรื่องอดีต อนาคตเนี่ยนะ ให้รู้ว่านั่นคือความคิดครับ ให้จำไว้เลยนะครับ ถ้าจะจำกันแบบง่ายๆ ตัวสติเป็นเรื่องของปัจจุบันขณะเท่านั้น here and now เท่านั้นนะครับ ที่นี่และเดี๋ยวนี้เท่านั้น ไม่ใช่ส่งจิตไปที่อื่นและในเวลาใด เพราะฉะนั้นทันทีที่เรามีความหมายนี้นะครับ ผมเข้าใจว่าเป็นวิธีการที่ให้เราสังเกตตรงนี้
ถ้าสังเกตตรงนี้ ก็อย่าไปทำให้เกิดภาวะของความหมายเป็นทำนองเชิงตัดสินตัวเองนะครับ คือเวลาเราบอกว่าความคิดเนี่ย มันมีความหมายของมันอย่างหนึ่งคือการตัดสินนะครับ ความคิดนี้จะเป็นไปในทำนองตัดสิน ว่าใช่หรือไม่ใช่ ผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว เพราะฉะนั้นทันทีที่เราเกิดความวูบไหวแบบนี้ให้ถอยกลับมา อย่าไปตัดสินว่ากี่ครั้งแล้วนี่ เกิดอย่างนี้ แย่อีกแล้ว ประมาณนี้นะ อย่าไปทำอย่างนั้นนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้ภาษายังไงดี ก็คือ ถ้าสิ่งที่มันเกิดขึ้น เหมือนกับเราอยู่กับเด็กเนี่ยนะ อย่าตำหนิ อย่าขู่นะครับ อย่าตำหนิ อย่าขู่นะครับ ถ้าจะต้องพูด ก็ต้องพูดดีๆ นะครับ ชมเชยให้รางวัลประมาณนี้ อย่าขู่ อย่าทำให้เกิดเป็นความรู้สึกเก็บกด หรือกดดันนะครับ ถ้าทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร ก็พูดประมาณๆ ว่า ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ประมาณนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะทำให้ดีกว่านี้ หรือถัดไปจะทำให้ดีกว่านี้ ถ้าจะพูดเป็นภาษาเนี่ยนะ เพราะฉะนั้น อย่าตั้งแง่ถึงกับรังเกียจสิ่งที่มันเป็นความคิด แต่ให้รู้ว่าเมื่อมีความคิดเข้ามา
ผมชอบภาษาของพระอาจารย์ไพศาล พระอาจารย์ไพศาลพูดดี แกบอกว่า ตัวความคิดก็เหมือนขโมย เวลาเราอยู่ที่บ้านเนี่ยนะ ที่ขโมยมันเข้ามาเพราะเราไม่รู้ แต่ถ้าพอเรารู้ว่าขโมยเข้ามา มันวิ่งเลย นึกถึงภาพนะว่าเราอยู่ที่บ้านใช่ไหม แล้วมีคนแอบมา จะเป็นพวกเข้ามาขโมยของบ้านเราอ่ะ พอมันรู้ว่าเจ้าของบ้านรู้แล้ว มันวิ่งหนีเลย แกบอกมันไม่อยู่แล้ว ไอ้ตัวความคิดนี่มันคล้ายๆ ขโมยเหมือนกัน เขาบอก ทันทีที่เรารู้นะครับ มันก็จะหายไป นี่เป็นภาษาที่พระอาจารย์ไพศาลพูด แล้วผมอุปมาของท่าน เห็นภาพจริงๆ เลยนะ ว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลยนะ แค่ทำให้ขโมยรู้ว่า เรารู้แล้วนะว่าขโมยจะเข้ามา เช่น เปิดไฟอย่างนี้ หรือแสดงตนอย่างนี้ ขโมยก็หนีแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นความหมายเปรียบเทียบตามที่พระอาจารย์ไพศาลพูด ก็สามารถใช้เป็นอุปมาเทียบเคียงกับสิ่งที่มันเป็นความคิดที่แอบเข้ามาสู่ครรลองของการทำหน้าที่ของจิตได้ครับ