แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
คำถาม : ความศรัทธาหรือว่าแก่นของแต่ละศาสนาเนี่ยมันค่อนข้างมีความงดงามในตัวของมันเองอยู่แล้ว ใช่มั้ยครับ
อาจารย์ประมวล : ใช่
คำถาม : คือผมสงสัยว่าความต้องการที่จะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในเชิงตรรกะเนี่ยครับ มันมีความจำเป็นมากน้อยยังไงมั้ยครับ ในแบบว่า ยกตัวอย่างว่า เหมือนเราตั้งคำถามต่อศาสนาหรือว่าต่อสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันอาจจะเป็นเรื่องที่ขัดต่อสิ่งที่เรา สิ่งที่มันมีหลักฐานประจักษ์ชัดอยู่เนี่ยครับ เช่น เราค่อนข้างเชื่อได้ยากว่าถ้าจะมีใครคนนึงบินขึ้นไป ม้ามีปีกบิน บินไปหาพระจันทร์หรือว่าศาสนาบางศาสนา สิ่งที่เขาเชื่อมันอาจจะบอกว่า มันไม่มีโลกร้อนอยู่จริงหรอกอะไรอย่างนี้ ซึ่งคนในศาสนานั้น ในเชิง human being คือเขาเป็นคนที่ดี แก่นของศาสนาก็ดี แต่ว่าความต้องการที่จะทำให้สิ่งที่มันเป็นอยู่ อาจจะแบบครึ่งนึงของศาสนานั้นกระจ่างชัดขึ้นในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
อาจารย์ประมวล : คือเมื่อพูดถึงเรื่องศาสนา โครงสร้างมันซับซ้อนมากในปัจจุบันนะครับ อันที่หนึ่ง เรื่องของศาสนาพอมาถึงปัจจุบัน มันเป็นเรื่องของคำพูด เป็นเรื่องถ้อยคำโดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทีนี้คำพูดถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหล่านี้ เมื่อถูกนำมาจารนัยผ่านใจผ่านจิตที่มันไม่กระจ่างชัดพอเนี่ย คือผมยกตัวอย่างเนี่ยครับ ในสมัยที่ผมเป็นหนุ่มและผมไปอยู่ที่ประเทศอินเดีย และผมก็ต้องศึกษาคัมภีร์ศาสนาของอินเดียด้วยเนี่ยนะครับ และคัมภีร์ศาสนาที่บอกศักดิ์สิทธิ์มาก ๆ เนี่ยนะครับ กลายมาเป็นบทสวดในชีวิตประจำวันเนี่ย ผมรู้สึกถึงความเหลวไหลไร้สาระของบทสวดเหล่านั้น นั้นคือผมเมื่ออยู่ในวัยหนุ่ม
แต่วันหนึ่งเมื่อผมเข้ามาสู่วัยชราและผ่านการเดินทางมายาวไกล ผมกลับไปในปี 50 ผมไปนำเอาคัมภีร์ซึ่งเป็นบทสวดเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน ผมกลับพบว่ามีความมหัศจรรย์ของบทสวดที่ปรากฏไว้ที่ผมเคยรู้สึกดูหมิ่นดูแคลน เช่นผมยกตัวอย่างนะครับ เมื่อผมไปนั่งอยู่ที่ท่าน้ำ ผมก็หยิบคัมภีร์ซี่งเป็นบทสวดสรรเสริญสายน้ำขึ้นมา ซึ่งผมเคยเรียนในสมัยที่เป็นหนุ่ม ผมรู้สึกแย่มากเลยที่มันโง่ได้ขนาดนี้เลยมานั่งคุยกับแม่น้ำ เพราะในบทสวดที่เป็นสรรเสริญสายน้ำนั้นมีเรื่องประกอบว่า เมื่อฤษีท่านหนึ่งชื่อ ฤษีวิศวามิตร ผู้ประพันธ์บทสวดนี้น่ะครับ ท่านขับเกวียนเทียมโคมาถึงท่าน้ำ หลังจากที่กลับมาจากที่ญาติโยมเขาถวายเครื่องไทยทานมาเต็มเกวียนเนี่ยนะ มาถึงท่าน้ำ ท่านต้องการจะข้ามน้ำไป ท่านจึงกล่าวกับสายน้ำว่า ขอสายน้ำได้หยุดไหลเพื่อให้เราข้ามผ่านไปอีกฝั่งหนึ่ง เมื่อสายน้ำได้ยินเสียงฤษีวิศวามิตรกล่าวเช่นนั้น จึงกล่าวตอบว่า เราไหลไปตามบัญชาแห่งสวรรค์ มิสามารถไหลไปตามใจปรารถนาของใครคนใดคนหนึ่งเป็นการจำเพาะได้ ฤษีวิศวามิตรเมื่อได้ยินเสียงสายน้ำเช่นนั้น จึงเกิดความตระหนักได้ว่าตัวเองปฏิบัติที่ผิดพลาดต่อธรรมชาติคือสายน้ำ จึงน้อมกายลงจากเกวียนและคารวะสายน้ำ กล่าวว่าขอสายน้ำได้โปรดจงได้ประคับประคองให้เราได้โปรดข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่งด้วยเถิด สายน้ำเมื่อได้ยินคำกล่าวที่เต็มไปด้วยความเคารพเช่นนั้น จึงกล่าวตอบว่า ขอฤษีผู้เป็นมหากวีได้โปรดข้ามน้ำไปเถิด เราจะประคับประคองท่าน อันนี้คือที่ผมจำเมื่อตะกี้ ประดุจดั่งมารดาประคับประคองบุตร และขอให้ท่านได้โปรดระลึกนึกไว้เถิดว่า หากแม้ยามใดในอนาคตที่มนุษย์จะต้องอ่านบทกวีบทสวดของท่านเนี่ยนะครับ โปรดอย่าได้รังสรรค์บทกวีให้คนได้เสื่อมถอยความรู้สึกที่ดีงามในตัวเรา
ตอนเป็นหนุ่มมันไม่เข้าใจ แต่พอยามแก่แล้วช่างเป็นความมหัศจรรย์ที่บทสวดนี้ถูกรังสรรค์มาถึงปัจจุบันนี้ 5,000 ปีแล้ว มหัศจรรย์ของจิตมนุษย์ในสมัยนั้นที่เขามีความผูกพันยึดโยงกับธรรมชาติและความยึดโยงผูกพันในธรรมชาติซึ่งเต็มไปด้วยความเคารพ มีความสัมพันธ์ มันเป็นความหมายที่มหัศจรรย์ แต่เป็นที่น่าเศร้าที่พอมาถึงปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้มันถูกทำให้เป็นความหมายที่เป็นทฤษฎีนะครับ มันจึงทำให้เรื่องที่มันเป็นศาสนาเนี่ยครับ มันกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าไปตีความ และพอเราเอาความคิดเข้าไปตีความ มันทำให้เราเกิดความสับสน เราไม่เข้าใจ อย่าพูดถึงศาสนาที่เป็นศาสนาอื่นเลย แม้กระทั่งศาสนาซึ่งเป็นของเราเองที่เป็นพุทธน่ะ ขอโทษนะครับด้วยความสัตย์จริง ผมเพิ่งมาประจักษ์แจ้งความหมายอันไพเราะงดงาม เมื่อก่อนผมยังงง ๆ เช่นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็กล่าวกับมาร ทันทีที่ตรัสรู้ยังไม่ได้สอนใครเลยนะ ก็เกิดความรู้สึกเป็นอุทานขึ้นมาที่กล่าวกับมารว่า "ดูก่อนมาร เรารู้จักท่านแล้ว ท่านจะไม่สามารถสร้างเรือนให้เราอยู่ต่อไปได้อีกแล้ว เรือนยอด ยอดเรือน เรารื้อทิ้งไปเลย กลอนประตูสลักประตูหน้าต่าง เรารื้อทิ้งหมดแล้ว ท่านจะไม่สามารถสร้างเรือนให้เราอยู่ต่อไปได้อีกแล้ว" พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็คุยอะไรเรื่อยเปื่อยประมาณเนี่ยนะ
แต่ผมมาอ่านในปัจจุบัน มันช่างมหัศจรรย์ เพราะคำว่ามารที่พูดถึง ในคัมภีร์ก็บอกคือตัณหา ตัณหาคือความอยาก ความอยากที่มันทำให้เกิดสภาวะที่คล้าย ๆ เหมือนเรือนที่เราต้องอยู่กับมัน ความอยากที่มันทำให้เรามีนิยามของความสำเร็จ ความอยากที่มันทำให้เราเกิดนิยามของความหมายชีวิต และเราอยู่ในเรือนหลังนั้น เราคับแค้น เราเหมือนถูกขัง เรือนที่มันก็เป็นที่อยู่ ที่จริงมันก็เป็นที่ขังเรา พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเรารื้อทิ้งหมดแล้ว กลอนประตูกลอนหน้าต่างก็ไม่มีอีกแล้ว
โอ้โห! ทำไมความรู้ที่ตรัสรู้แบบนี้มันช่างถูกถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่งดงาม มันเป็นเรื่องที่ผมไม่รู้ ปัจจุบันถ้าให้ผมกลับไปบวชใหม่ ผมคงเทศน์ดีแน่ ๆ เลย คือไม่รู้จะบอกว่ายังไงนะ เพราะมันเป็นความรู้สึกเดียว โห! มันเป็นภาษาที่ทำให้เราหยั่งเห็นความกระจ่างแจ้งชัดเจนในใจในเนื้อ ในตัวเรา และความหมายแบบนี้ก็เป็นความหมายที่เราขาดแคลนในปัจจุบัน เราขาดแคลนในปัจจุบัน เพราะเราขาดแคลนความหมายแบบนี้มันจึงทำให้เรารู้เรื่องโลกมาก แต่เรากลับมีความรู้ภายในน้อย โลกถูกทำให้เปิดเผย แต่โลกภายในถูกปกปิด และสิ่งเหล่านี้ครับคือสิ่งที่ผมเข้าใจว่า สิ่งที่เราเรียกว่าศาสนาเนี่ยนะครับ ตรรกะที่ถาม ตรรกะมันจำเป็นต้องใช้อยู่แล้วในการที่จะรู้แจ้งโลก เพราะตรรกะมันอยู่ข้าง โลกมันอยู่ข้างนอกและมันอยู่ห่างไกล
สายตาเรามีวิสัยทัศน์ที่นิดเดียว มองได้ไม่ไกลเลย แต่โลกนี้มันกว้างใหญ่ไพศาล เพราะอาศัยเพียงสายตาที่เห็นภาพอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ความคิดเพื่อไปตีความ
ไอ้ตรงนี้มันจึงต้องมีโครงสร้างของความคิดเป็นเชิงตรรกะ แต่เนื่องจากเราถูกทำให้มีความเคยชินในวิถีแห่งการรู้แจ้งหรือประจักษ์แจ้งโลก ต้องใช้ความคิด เราเลยดึงเอาความหมายในวิธีการนั้นมาใช้กับเรื่องภายใน พอมาใช้กับเรื่องภายใน มันจึงทำให้สับสน เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องภายในใจเราไม่ต้องใช้ความคิดเชิงตรรกะเลย เราไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดเชิงตรรกะ เพื่อจะรู้ว่าตอนนี้เราหิวหรือยัง ใช่ไหมครับ ความรู้สึกหิวมันปรากฏเมื่อไหร่เราก็รู้เมื่อนั้น เราไม่จำเป็นต้องมีตรรกะอะไรมากมายกับความรัก เราไม่จำเป็นต้องมีตรรกะอะไรมากมายกับความรู้สึกที่มันเป็นไปภายในใจเราเอง แต่เราชิน เราเคยชิน เราคิดตลอด ไอ้ความคิดตลอดและใจเราโดนตัดสินตลอด เพราะเวลาเราคิดไปถึงโลกข้างนอก เราคิดและตัดสินแล้วว่าผิดหรือถูก ใช่หรือไม่ใช่ เพราะมันมีความคลุมเครือในทัศนวิสัยของเรา
เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้ครับโปรดทำให้ความกระจ่างให้ได้ เพราะฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์สำคัญ ๆ บอกว่าส่งจิตคิดไปข้างนอกมันเป็นทุกข์อ่ะนะ ส่งจิตข้างในคือไม่ต้องคิดอ่ะนะ เขาเรียกว่า ภาษาของผม คือผมประทับใจ ผมขอโทษที่เอ่ยถึงครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพมากท่านนึง เคารพสุดชีวิตจิตใจเลย คือหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เมื่อตอนที่ผมไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อคำเขียนนะ คำพูดแรกของหลวงพ่อคำเขียนที่นั่งอยู่เบื้องหน้าผม ยิ้มให้ผมด้วยรอยยิ้มแล้วก็ถามผมว่า ตอนนี้วางมือไว้ที่ไหน หลวงพ่อเว้นวรรคนิดเดียว มือคือกาย จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องคิด ตอนนั้นแทบจะก้มลงกราบ ผมใช้เวลานานเกินไปหรืออย่างไร ผมเต็มไปด้วยความคิด ใช่มือคือกาย จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องคิด เพราะฉะนั้นในการที่เรารู้แจ้ง กาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่เราพูดกันเนี่ยนะครับ มันไม่ต้องใช้ความคิด
เพราะฉะนั้นประเด็นที่เรากำลังพูดถึงเนี่ย กลับมาสู่ประเด็นที่ผมบอกว่าออกมาจากความคิดและมารู้สิ่งเหล่านี้ มารู้สิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโครงสร้างของศาสนาในปัจจุบันที่มันมีปัญหามาก ๆ ก็คือ โครงสร้างศาสนาที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน ทำให้เป็นองค์กร และถูกทำให้ผ่านถ้อยคำ ผ่านถ้อยคำ ผ่านถ้อยคำ ปัจจุบันนี้ผมจึงไม่ประสงค์ที่จะกลับไปสู่การใช้ถ้อยคำทางศาสนา เมื่อตะกี้ที่ผมไม่ประสงค์จะใช้คำว่าศรัทธา แต่ว่าจำเป็นต้องใช้อ่ะนะ เพราะสุดท้ายแล้ว ศรัทธานิยามของผมไม่ใช่เรื่องถ้อยคำ เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในใจ เป็นความรู้สึกที่ตัวศรัทธาตัวความรักเหล่าเนี่ย มันเป็นโครงสร้างที่อยู่ด้วยกัน และความรู้สึกแบบนี้ เป็นความรู้สึกที่ถ้าพอเราเข้าไปถึงมันแล้วเนี่ยนะครับ เราจะได้รู้เลยว่า อ๋อ..สิ่งที่มันเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นถ้อยคำในทางศาสนา แท้จริงแล้วมันคืออะไร
เพราะฉะนั้นประเด็นที่ถามถึงเรื่องโครงสร้างทางตรรกะ โครงสร้างอะไร เรื่องศาสนาที่เป็นเรื่องสถาบันที่อยู่ในปัจจุบัน เป็นองค์กรหรือเป็นคัมภีร์หรือเป็นหนังสือที่มันยังต้องใช้ความคิดเข้าไปตีความ ถ้าตีความเหล่านั้นบางทีเราก็ตีความไปตามความหมายเนอะ เพราะฉะนั้นเราต้องกลับมาสู่ความหมายของความรู้สึกเหมือนที่ผมพูดนะว่า เป็นเรื่องเหลวไหลแน่นอน ถ้าหากว่าฤษีต้องนั่งคุยกับแม่น้ำ แต่มันจะไม่มีความหมายเป็นเชิงเคลือบแคลงสงสัยเลย มันช่างเป็นความบริสุทธิ์งดงาม บริสุทธิ์งดงามที่เมื่อเราใช้ใจเข้าไปสัมพันธ์กับธรรมชาติ ธรรมชาติซึ่งจริง ๆ ก็คือธรรมชาติข้างนอกกับธรรมชาติในใจเราเป็นธรรมชาติเดียวกันนะครับ
ถ้าเราเห็นธรรมชาติในใจเรา เราก็เห็นธรรมชาติข้างนอกด้วย ถ้าเราประจักษ์แจ้งในใจเรา เราก็จะประจักษ์แจ้งในใจของคนอื่นด้วย เพราะเรามีธรรมชาติเดียวกัน เราเป็นมนุษย์ เรามีธรรมชาติเดียวกัน เรามีภาษามนุษย์ซึ่งบางทีไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำ