แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ถาม : มีคำถามอยากจะถามเรื่องบุญนี่แหละเรื่องบุญเรื่องบาป ในทางศาสนาเราถือว่าการทำบุญย่อมได้บุญใช่ไหม แล้วทีนี้ในทางปรัชญานี่ มีผีบ้าคนหนึ่งมาใส่บาตร บ้าที่ถึงขนาดจำตัวเองไม่ได้เลยนะว่าตัวเองเป็นอะไรยังไง เป็นผีบ้าเอาของมาใส่บาตรนี้ในทางปรัชญาถือว่ามันจะเกิดบุญเกิดยังไง
อาจารย์ : ปรัชญานี่หมายถึงทางพุทธหรือเปล่าครับ หรือให้ตอบทั่วๆ ไป หรือยังไง
ผู้ถาม : ทั่วๆ ไป
อาจารย์ :
เวลาพูดถึงปรัชญามันกว้างเนาะ คำว่ากว้างคือมันมีลัทธิปรัชญาเยอะแยะมากมายเลย ซึ่งอาจจะวินิจฉัยเรื่องนี้ไปตามทิศทางมุมมองตัวเองนะครับ ผมเข้าใจว่าเราพูด เราพูดจากปรัชญาดีกว่า เพราะว่าเวลาเราพูดถึงพุทธปรัชญานี่นะครับ มันหมายความชัดแจ้งเหมือนเมื่อตะกี้ที่เราพูดว่า ตัวเจตนานี่แหละเป็นตัวกำหนดความหมายของกรรม เวลาเราพูดถึงว่ากรรมจะเป็นกุศลคือกรรมดี หรืออกุศลคือกรรมไม่ดีนี่นะครับ คำถามก็คือ เจตนาเป็นกุศลหรืออกุศล ทีนี้เจตนาก็ถูกสำแดงไว้ชัดเจนนะครับว่า เจตนาที่ประกอบด้วยกุศลคือเจตนาในฝ่ายกุศลก็คือประกอบด้วยจาคะ เมตตา ปัญญา อะไรก็ว่าไปใช่ไหมครับ ฝ่ายอกุศลก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ อะไรก็ว่าไป เพราะฉะนั้นทันทีที่เราทำสิ่งใด ถ้าทำด้วยจิตที่ประกอบด้วยโลภะ จิตนั้นก็เป็นอกุศล ไม่ต้องไปวินิจฉัยอะไรอื่นอีกเลยนะครับ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ นะครับ
ซึ่งปัจจุบันเรา ขอโทษนะครับ ไม่แน่ใจเลยนะครับว่า ในประเทศไทยเราปล่อยให้เกิดสถานการณ์อย่างนี้ได้ยังไง ก็คือ จริงๆ แล้วการทำบุญนี่นะครับ ที่มันเป็นบุญในความหมายนี้ก็คือ มันประกอบด้วยกุศลเจตนา เช่น เรามีจิตที่เราบอกว่าการไปทำทานนี่มันเป็นบุญนี่นะ เพราะมันเป็นเจตนาที่ต้องการสละ ต้องการจะแบ่งปันใช่ไหมครับ แต่ปัจจุบันนี้ คนไปทำบุญจำนวนมากนะไม่ได้มีเจตนาที่จะสละนะ มีเจตนาจะได้จะเอาด้วยซ้ำไป พวกเราคงทราบกันดีใช่ไหม อยากจะถูกหวยจึงไปทำบุญตักบาตร เขาจึงบอกว่าพระนี่รับบิณฑบาตรในวันที่มีคนตักบาตรเยอะๆ ยกเว้นวันพระ ก็คือวันที่หวยออก ตอนเช้าวันนั้นน่ะนะ วันที่หวยออก วันที่ 16 หรือวันที่ 1 ก็แล้วแต่ จะมีคนทำบุญตักบาตรเยอะ ด้วยความหวังว่าถ้าเริ่มต้นวันนี้ด้วยการทำบุญตักบาตร ตัวเองจะได้ลาภ จะได้โชคถูกหวย พอรุ่งเช้าของวันหลังจากวันหวยออก ก็มีคนที่ตักบาตรอีก เพราะคนที่ถูกหวยก็จะไปตักบาตรอีก ด้วยความหวังว่าเมื่อได้รับลาภมาแล้วก็ต้องทำบุญ
ผมเข้าใจว่ากรณีที่เราพูดถึงนี้อ่ะนะ แน่นอนน่ะเราไม่ได้พูดเพื่อจะวิจารณ์ว่ามันผิดหรือถูกยังไง แต่เรากำลังพูดถึงว่า เราไม่ได้ใส่ใจสิ่งที่มันเป็นตัวเจตนาในความหมายทางพระพุทธศาสนากันสักเท่าไหร่แล้ว เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดกรณีที่เป็นการทำบุญหวังได้ ทำบุญด้วยความโลภ ทำบุญในความหมายที่ไม่ใช่เป็นการแบ่งปัน เสียสละ ซึ่งตอนนี้นะครับ ถ้าตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็ไม่ใช่บุญแล้วถ้าเป็นอย่างนี้ใช่ไหมครับ
เพราะฉะนั้นกรณีที่เป็นคนที่บอกว่าคนผีบ้านี่นะ ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนผมมาอยู่ที่วัด คือ ผมเคยมีกุฏิอยู่ตรงนั้นตอนนั้นเขารื้อสร้างหลังใหม่นะ มันมีคนๆ หนึ่งที่ผมเรียกแกว่า พี่ทอม พี่ทอมนี่ แกมองจากสายตาคนอื่น แกเป็นคนบ้านะ แกมาเที่ยวขออาหารกินอยู่แถวกุฏิศาลาทองคำ แต่แกแปลกมากเลยนะ แกต้องเดินลัดมาเนี่ยได้ส้มเขียวหวานสักผลหนึ่ง ได้กล้วยหอมสักผลหนึ่ง แกจะมาวางไว้ตรงหน้ากุฏิหลังเก่ามันมีทางที่เป็นบันไดเล็กๆ ไว้ขั้นหนึ่งนะ ถ้าผมได้ยินเสียงคำว่า “ครู กล้วย” ก็แสดงว่าเปิดประตูมาได้จะมีกล้วยวางอยู่หนึ่งผล “ครู ส้ม” อะไรอย่างนี้นะครับ พี่ทอมนี้ผมรักแกมาก ตอนนี้ไม่รู้ว่าแกจะไปอยู่ไหน ผมออกจากนี่ไปไม่ได้มาอยู่ก็ไม่ได้เจอแก แกเป็นคนที่วันหนึ่งผมเดินไปที่หน้าประตู แกกำลังปักธูปอยู่ตรงหน้าประตูอ่ะนะ ผมรู้แล้วพี่ทอมแกเป็นคนไม่ธรรมดานะ แกถามว่า “ครู ท้าวจตุโลกบาลชื่ออะไรบ้างนะ” ผมถาม “พี่ทอมอยากรู้ทำไมล่ะ” “เวลาผมอุทิศให้ท่าน ผมจะได้เอ่ยชื่อท่านถูก ท่านจะได้บุญ” ไม่ใช่ธรรมดานะอย่างนี้ใช่ไหม ผมต้องนับ ผมนับผิดๆ ถูกๆ ว่ามีใครบ้างนะ จนกระทั่งผมบอก “พี่ทอม ถ้ามันเกิดผิดขึ้นมา อย่าโทษผมนะ ท้าวจตุโลกบาลท่านมีญาณวิเศษ ถ้ารู้ว่าพี่ทอมให้แล้วพอบอกว่าเป็นจตุโลกบาลท่านได้เลย ถ้าเอ่ยชื่อผิดบ้างนี่ ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่เดี๋ยววันหลังผมจะเอาชื่อที่ถูกต้องมามอบให้ เผื่อวันหลังจะได้เอ่ยชื่อท่านถูกต้อง”
แต่ที่ผมพูดเช่นนี้ กำลังกลับไปสู่ประเด็นที่ท่านถาม เราไม่สามารถจะรู้อะไรในกรณีของการที่คนบ้านี่เขาทำได้ดีนัก เนื่องจากเราไม่ทราบเจตนาอันชัดแจ้ง เพราะฉะนั้นไอ้ตัวเจตนาที่ไม่ชัดแจ้งตัวนี้ บางทีสิ่งที่เขาทำอาจเป็นแค่เพียงกริยา หรืออาจจะเป็นกรรม เราไม่รู้ เพราะคำว่ากรรมกับกริยา พวกท่านคงทราบอยู่แล้วนะครับ การกระทำใดๆ ที่ไม่มีเจตนาอันชัดแจ้งหรือไม่มีเจตนา มันเป็นแค่กริยา
แน่นอนละครับ ตรงนี้ผมเข้าใจหลักแล้วว่าเหมือนกับหลักกฎหมายนะครับ ว่าถ้าเขาจะเอาผิดคนอย่างเต็มที่ เขาก็ดูเจตนา ถ้าเจตนาแรงกล้า เขาก็เอาผิดมากอย่างนี้นะครับ การฆ่าคนอื่นให้ตายมันจึงมีการต่อสู้คดีกันว่าถ้าเรามีเจตนาจะฆ่า แล้วพยายามฆ่า มันก็ต้องมากกว่าคนที่ทำให้ผู้อื่นตายโดยบันดาลโทสะอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเวลามีคดีความ ทนายที่เป็นฝ่ายจำเลยจึงพยายามทำยังไงให้มันเบาลง ทั้งที่ความจริงเตรียมจะไปยิงเขาแท้ๆ เตรียมปืนเตรียมอะไรด้วยซ้ำ ก็ไปอ้างเหตุว่าบันดาลโทสะ เพราะถ้าบันดาลโทสะแสดงว่าไม่ได้เตรียมการ แต่ปืนนี่พกเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมีปืนพกอยู่แล้วก็ต้องหยิบขึ้นมายิงเลย เพราะว่าอีกฝั่งหนึ่งมายั่วโมโหอะไรอย่างนั้นนะครับ
เพราะฉะนั้นกรณีอย่างนี้ เป็นกรณีเรามาพูดถึงตามหลักพระพุทธศาสนาว่าตัวเจตนานะครับ ไม่ว่าเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศลนี่นะครับ มันจึงถูกนำมาวินิจฉัย ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ถ้ามีเจตนาแรงกล้าก็ยิ่งเป็นมหากุศลอย่างนี้นะครับ ฝ่ายอกุศลถ้ามีเจตนาแรงกล้าก็เป็นมหาอกุศลเหมือนกันอย่างนี้นะครับ เพราะกรณีเหล่านี้ ถ้าตอบแบบพุทธปรัชญานะครับ กรณีที่พูดถึงหรือถามยกประเด็นขึ้นมานี้ ก็ต้องไปดูว่าบุคคลผู้ทำสิ่งนี้เขามีเจตนาหรือเขามีความหมายอย่างไรนะครับ ซึ่งดูตรงนั้นครับ แต่ที่แน่ๆ ก็คือกริยาของเขาเนี่ยเป็นบุญไปแล้วครับ ถ้าโดยไม่ต้องไปตีความอะไร เพราะการกระทำของเขาเนี่ยครับ เขาต้องการที่จะให้สิ่งหนึ่งกับผู้อื่นซึ่งเป็นพระภิกษุ แต่ถ้าเขาไม่มีเจตนา แต่เขาไม่มีสติสัมปชัญญะมาหยิบของๆ พระนี่ ก็ถือว่า โอเค เขาก็เป็นสิ่งที่กริยามันก็ไม่เหมาะสม