แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม : ความรู้ทั้งหลายทั้งมวลที่อาจารย์มีอยู่นั้น มันเหลือ มันเกินแล้ว ก็ต้องหาความสุขในจุดหนึ่ง เพื่อให้เดินออกมาจากจุดนั้น เพื่อจะไปหาอะไรที่เป็นคำตอบของชีวิต จุดนี้อาจารย์อาศัยซึ่งเรียกว่า การภาวนา หรือ วิปัสสนาในพุทธศาสนา การเจริญไปเรื่อยๆ ซึ่งก็อาศัยประสบการณ์ด้วย และประสบการณ์ทางจิตด้วย ด้วยกัน แล้วพอเราไปเจอในจุดๆ หนึ่ง คือคุณภาพของจิตที่เรามีอยู่สะสมมาจนเต็มแล้ว มันก็จะให้คำตอบอาจารย์ ซึ่งอาจารย์บอกว่า หลายๆ สถานการณ์มันเปิดเผยความจริงให้อาจารย์ได้รับรู้ นั่นผมเข้าใจถูกไหมในจุดนี้
อาจารย์ : ถูกครับ ถูก แต่มีคำขยายความอีกนิดหนึ่งครับ ที่บอกว่ามีความรู้เกินเนี่ยนะ ต้องทำความเข้าใจเรื่องความรู้นิดหนึ่ง เพราะว่าประเด็นนี้อาจจะเข้าใจผิดได้ คือ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญด้วยนะ ที่ในปัจจุบันนี้ เราทำให้สิ่งที่เรียกกันว่า ความคิด คือความรู้ นั่นก็เพราะพอเราคิดอะไรได้ เท่ากับว่าเรามีความรู้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผูกมัดผมอยู่มาก เพราะตอนที่ผมบวชเรียน ก็เป็นไปตามปกติ สั่งสม สมัยเรียน ผมเป็นคนจำแม่น ตอนสมัยผมเรียน สอบเป็นเปรียญ สอบธรรมบท 8 ภาค เพราะฉะนั้น ผมต้องท่องตัวพระธรรมบท 8 ภาค ตั้งแต่ มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนยา ไปเรื่อยๆ ประมาณนี้นะ ได้ แล้วผมมั่นใจมาก ว่าผมเก่งมาก และผมจำได้แล้ว ผมรู้แล้ว ประมาณนี้นะครับ
นั้นคือผมกำลังพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่า ไอ้ตัวความจำได้เนี่ยนะครับ มันเป็นความรู้ เพราะฉะนั้น ผมจึงมีภูมิใจมาก โทษนะครับ ผมไปสอบเป็นเปรียญเนี่ย ผมกล้าประกาศเลยว่า ถ้าปีนี้สนามสอบบาลีสนามหลวง จะมีใครเป็นเปรียญได้สักหนึ่งองค์ ผมต้องเป็นองค์ที่หนึ่ง ที่เหลือนั้นใครไปจองเอาเอง เมื่อเขาออกข้อสอบมานะครับ ผมสอบที่สนามสอบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อผมอ่านข้อสอบเสร็จ ผมยกมือถามกรรมการเลยว่า ข้อสอบนี้พิมพ์ตกไปประมาณสัก 1 บรรทัด ที่ไม่มีนี้เป็นเพราะเจตนาให้ข้อสอบเป็นเช่นนี้ หรือว่ากรรมการออกข้อสอบทำหายไป ปรากฏกรรมการปั่นป่วนเลยนะ เพราะในสมัยนั้นมันยังไม่มีโทรศัพท์ง่ายๆ เหมือนในสมัยปัจจุบัน เขาต้องไปโทรศัพท์ที่ที่ทำการไปรษณีย์โน่นครับ เพื่อจะถามมาถึงแม่กอง (บาลี) สนามหลวงว่าปัญหามันเป็นอย่างไร แต่กรรมการเขาก็ฉลาดพอนะ เขาบอกให้นักศึกษาผู้เข้าสอบทุกคนทำไปเลย ถ้าใครแปลออกมาประโยคนั้น จะแปลอย่างไรก็ได้ ให้มีประโยคเต็มก็ได้ ให้มีแค่ที่พิมพ์ไว้ก็ได้ จนกระทั่งผ่านไปหลายชั่วโมง คำว่าหลายชั่วโมง คือ มากกว่า 1 ชั่วโมง แล้วค่อยมาตอบว่า “ทางกรุงเทพฯ วินิจฉัยมาแล้วว่า ข้อสอบประโยคนี้ไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน ปรับเป็นตก ใครจะแปลเต็มประโยค หรือจะแปลเท่าที่มีอยู่ก็ได้ หรือจะแปลผิดไปก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้เข้าสอบ” ที่ผมพูดเช่นนี้ เพียงเพื่อจะอ้างว่า ผมนี่เก่งมากนะครับ สมควรจะได้เป็นมหาเปรียญแน่นอน
เมื่อผมมาเรียนหนังสือในเชิงวิชาการทางปรัชญา ผมก็มีความสามารถในการฝึกปรือสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ความคิด’ ผมสามารถที่จะคิดไตร่ตรองใคร่ครวญ เพื่ออธิบายความหมายต่างๆ ในคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้เมื่อมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็ยังมีความคิดตำหนิพระอยู่นิดๆ ว่าไม่ชอบคิด คิดไม่เป็น ประมาณนี้นะ แต่ความรู้สึกอันหนึ่งก็คือ ตอนนั้นผมกำลังทำให้สิ่งที่เรียกว่า ความสามารถที่จะคิดอธิบายได้ มันจึงเป็นความหมาย คือความรู้
เพราะฉะนั้น ผมเริ่มต้นวันนี้ด้วยการปรารภถึงชีวิตของท่านอาจารย์นาโรปะ อาจารย์นาโรปะซึ่งเป็นบัณฑิต เป็นอธิบดีสงฆ์ของนาลันทามหาวิหาร วันหนึ่งเมื่อนั่งสวดสาธยายพระพุทธวจน คือ สวดมนต์ตอนเช้า ขณะที่นั่งสวดมนต์ตอนเช้าตรู่ มีแสงอาทิตย์ส่องมาเห็นพระคัมภีร์ พลันทันทีที่มีเงาดำมาปรากฏอยู่บนพระคัมภีร์ ท่านอาจารย์นาโรปะแหงนหน้ามอง ปรากฏมีหญิงชรานางหนึ่งยืนบังแสงตะวันอยู่
หญิงชรานางนั้นจ้องมาที่อาจารย์นาโรปะแล้วถามว่า “กำลังทำอะไร” เมื่ออาจารย์นาโรปะตอบว่า “กำลังสวดสาธยายพระพุทธวจน” หญิงนางนั้นจึงถามว่า “แล้วรู้ความหมายแห่งพระพุทธวจนที่กำลังสวดอยู่หรือไม่” ท่านตอบว่า “รู้” หญิงชรานั้นหัวเราะเยาะคำตอบนี้ อาจารย์นาโรปะจึงรู้สึกสะเทือนใจว่า สิ่งที่ท่านรู้นั้น จริงๆ แล้ว ยังไม่รู้ เพราะความรู้ในพระพุทธศาสนา มันไม่ใช่เพียงแค่จำได้ และคิดอธิบายได้เท่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุให้อาจารย์นาโรปะออกจากนาลันทามหาวิหาร
หญิงชรานางนี้ คือ พระฑากินี ถ้าตามความหมายของวัชรยาน คือ ถ้าอธิบายในภาษาธรรมดาๆ คือ จิตสำนึกส่วนลึกที่สุดที่มันบอกย้ำซ้ำเติมว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ความรู้ที่สูงส่งอะไรเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมพูดก็คือ ผมพูดว่า ผมมีความรู้ คือความคิดเนี่ยเยอะมาก เยอะมากจนกระทั่งผมกล้าที่จะไป ขอโทษนะครับ ตอนที่ผมยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ ผมทะเลาะกับพระไปทั่วหมดเลยนะ พระในที่นี้ คือหมายความถึง พระที่มีปัญหา ผมนี่ ถ้าใครกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์สมัยประมาณสักปี พ.ศ. 2532, 2533, 2534, 2535 มาถึง 2540 จะมีชื่อ ประมวล เพ็งจันทร์ ปรากฏอยู่ตามสื่อตลอดเวลา เมื่อใดที่พระมีปัญหาอะไร ก็ต้องมาถามประมวล ประมวลก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์เป็นตุเป็นตะ นั้นคือความหมายที่ผมกำลังพูดถึง ความหมายว่าผมเต็มไปด้วยความคิด และความคิดนั้นถูกทำให้ผมรู้สึกด้วยตัวเองเลยว่าเป็นความรู้ เพราะผมสามารถอธิบายความหมายของพระพุทธวจนทุกเรื่องทุกอย่างได้นะครับ
แต่พอมาถึงวันหนึ่ง ผมกลับพบว่าเรื่องที่ผมทบทวนและระลึกนึกถึงอาจารย์นาโรปะ ผมจึงรู้ว่า โอ้ ขนาดพระที่เป็นผู้รู้เช่นนั้นยังรู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ส่วนตัวของตนเอง ว่าตัวเองเป็นเพียงแค่มีความจำได้ มีความสามารถที่จะคิด แต่จริงๆ ความรู้ที่แท้จริง ยังไม่มี คำว่า ‘ไม่มี’ คือ มีไม่พอนะครับ เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ผมพูดที่พระอาจารย์สรุปนั้นถูกต้องครับว่า พอมาถึงวันหนึ่ง ผมจึงนึกว่าสิ่งที่มันพร่องไปของผม คือส่วนที่เป็น ‘ภาวนามยปัญญา’ ซึ่ง ‘ภาวนามยปัญญา’ ไม่ใช่เรื่องของความคิด แต่เป็นสมรรถนะของจิตที่รู้แจ้งอารมณ์ แล้วก็ข้ามพ้นสิ่งที่มันเป็นความทุกข์ ข้ามพ้นสิ่งที่มันเป็นความคับแค้นอะไรบางอย่างในใจได้ เพราฉะนั้น สิ่งนี้ ผมถือตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญมากๆ สำหรับพระพุทธศาสนา หรือพุทธปรัญญาที่ยังมีคุณค่ามากล้นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนนี้
เมื่อตะกี้ที่ผมบอกว่า ดินแดนประเทศไทย เอาแผนที่ประเทศไทยมาวางตั้งแล้ว ถ้าจะสำรวจกันในเชิงความรู้ทางพระพุทธศาสนา ไม่มีพระภิกษุในภูมิภาคใดจะมีองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ดีกว่าภาคอีสาน เพราะผมดูจากปริมาณของพระ พระที่อาจจะไม่ใช่จบเปรียญนะ พวกเราคงทราบดีใช่ไหมครับว่า หลวงพ่อเทียนนั่งเถียงกับอาจารย์โกวิทซึ่งเคารพหลวงพ่อเทียนแล้วนะ หลวงพ่อเทียนซึ่งไม่รู้หนังสือ คืออาจารย์โกวิท อเนกชัย เขียนหนังสือชื่อ ‘ปราชญ์ผู้ไม่รู้หนังสือ’ เพื่อเชิดชูหลวงพ่อเทียน แต่มันมีปัญหาหนึ่งที่อาจารย์โกวิทกับหลวงพ่อเทียนต้องเถียงกันคือ หลวงพ่อเทียนยังมีความเชื่อว่าโลกแบน อาจารย์โกวิทบอกว่า “หลวงพ่อ โลกมันกลม” หลวงพ่อเทียนทำไงรู้ไหมครับ หลวงพ่อพูดกับอาจารย์โกวิท จนอาจารย์โกวิทเอามาบันทึกไว้ หลวงพ่อเทียนพูดว่า “ไม่ว่าโลกจะกลมหรือโลกแบน แต่ความรู้สึกตัวสำคัญ” ตรงนี้ล่ะครับเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก