แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย ญาติโยมทั้งหลายก็มาอยู่คงจะได้ความสงบในจิตใจมากขึ้น เพราะว่ามาฝึกสมาธิภาวนาและคงมีปัญญาสังเกตเห็นสิ่งต่างๆได้มากขึ้น ก็คือวิปัสสนานั่นเอง
ญาติโยมทั้งหลายมาอยู่ที่นี่ มาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและมาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น แต่ว่าการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ ตนเองต้องได้รับประโยชน์ก่อน
ในครั้งพุทธกาล มีท้าวมหานามะเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า เป็นพวกศากยะที่ไม่ออกบวช อยู่ครองเรือนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ว่าเป็นผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าไปประทับในแคว้นสักยะ ท้าวมหานามะก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลถามว่าบุคคลเช่นไร ที่จะเป็นอุบาสก ความจริงอุบาสิกาด้วย แต่ว่าท้าวมหานามะเป็นผู้ชาย ก็เลยทูลถามพระพุทธเจ้าว่า บุคคลเช่นไรเรียกว่าเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะเรียกว่าอุบาสก อุบาสิกาก็เช่นเดียวกัน
ทีนี้ ท้าวมหานามะก็ทูลถามต่อไปว่า อุบาสกเช่นไร เรียกว่าเป็นผู้มีศีล พระพุทธเจ้าตรัสว่า อุบาสกผู้มีศีล ๕ อย่างที่เรารับกันบ่อยๆ เว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก เว้นจากล่วงเกินของรัก เว้นจากโกหก เว้นจากเสพของมึนเมา เรียกว่าอุบาสกหรืออุบาสิกาเป็นผู้มีศีล หมายความว่าอุบาสก อุบาสิกาจริงๆต้องมีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน
ญาติโยมทั้งหลายลองพิจารณาดูว่าประเทศไทยเรานี่ มีชาวพุทธ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าชาวพุทธทุกคนที่มีทะเบียนว่าเป็นชาวพุทธ มีศีล ๕ กันทุกคน ปัญหาทุกอย่างที่มีมันเกือบจะหมดไปเลย ในคุก ในตารางจะไม่มีคนที่เป็นชาวพุทธเข้าไปอยู่เลย แต่เดี๋ยวนี้ ปรากฏว่า ในคุกในตารางเต็มไปด้วยผู้คน แล้วก็ที่เป็นชาวพุทธนี่เยอะมาก เพราะอะไร เพราะว่าไม่มีศีล ๕ จริงๆเลย
ศีล ๕ เป็นศีลที่ทำให้สังคมสงบ ถ้าทุกคนมีศีล ๕ กฎหมายจะไม่มีความจำเป็นเลย คนที่มีปัญหาไม่มีศีล ๕ ทั้งๆที่มีทะเบียนว่าเป็นชาวพุทธ นี่เพราะขาดก็การปฏิบัติ
ทีนี้ ผู้ที่ได้ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต้องเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้ายิ่งๆขึ้นไป หนึ่ง ต้องเป็นผู้มีศรัทธาและต้องชักชวนผู้อื่นให้มีศรัทธา ตัวเองมีจาคะ ยินดีที่บริจาค ต้องชักชวนผู้อื่นให้ยินดีในการบริจาคด้วย ตัวเองยินดีพอใจในการที่จะเห็นภิกษุผู้มีศีล ต้องชักชวนผู้อื่นให้เป็นเช่นนั้นด้วย ตัวเองเป็นผู้ใคร่ในการที่จะฟังธรรม ก็ต้องชักชวนผู้อื่นให้ใคร่ในการที่จะฟังธรรมด้วย ตัวเองเป็นผู้ฟังธรรมแล้วจำได้ ทรงธรรมไว้ได้ ต้องชักชวนผู้อื่นให้เป็นเช่นนั้นด้วย ตัวเองฟังธรรมแล้ว จำธรรมะแล้วเข้าใจ เข้าใจเนื้อความแห่งธรรมนั้น ต้องชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย ตัวเองฟังธรรมแล้ว จำธรรมแล้ว เข้าใจธรรมะแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี่สำคัญมาก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่สมควรแก่การบรรลุธรรม ต้องชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย ผู้ใดทำได้อย่างนี้เรียกว่า ได้ทำประโยชน์ตนเอง ได้ทำประโยชน์ผู้อื่น
ทีนี้ ถ้าเราไม่มีการปฏิบัติธรรม ยกตัวอย่างไม่มีศรัทธา ก็ชักชวนผู้อื่นให้มีศรัทธามันเป็นไปไม่ได้ ตนเองไม่มีจาคะ จะชักชวนผู้อื่นให้มีจาคะไม่ได้ ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมมันมีหลายขั้นหลายชั้น จากต่ำไปหาสูง
ทีนี้ พระธรรมที่สำคัญที่สุด ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็คือทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งพระองค์ได้ตรัสว่าไม่ได้ฟังจากใครมาก่อน คือทางสายกลาง ทางที่คนปฏิบัติ วิธีปฏิบัติมันเยอะมาก ในครั้งพุทธกาลก็เยอะมาก ที่เขาสอนกันอยู่ แต่ไม่ได้เป็นทางสายกลาง
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเรื่องทางต่างๆ สรุปแล้ว หนึ่ง กามสุขัลลิกานุโยค ทางนี้คนเดินกันมากตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อนครั้งพุทธกาล ปัจจุบันนี้ก็ยังเดินอยู่ในทางเส้นนี้
ทั่วโลกก็มีปัญหามาก มีความทุกข์มาก ส่วนอีกทางหนึ่งคนไม่ค่อยสนใจจะปฏิบัติและถึงใครปฏิบัติก็ดับทุกข์ไม่ได้ คืออัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบาก พวกนักบวชในอินเดียมีการปฏิบัติอยู่บ้าง แต่ทำอย่างนี้ก็ดับทุกข์ไม่ได้
พระพุทธเจ้าสอนทางสายกลาง ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ อริยมรรคแต่ละองค์ๆมีคุณค่าในตัวของมันเอง แต่ว่าจะต้องการให้สมบูรณ์ในการที่จะดับทุกข์ได้ ต้องทำให้มรรคทั้ง ๘ องค์ รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า มัคคสมังคีหรือมัคคสามัคคี
ทีนี้ เรามาพิจารณาอริยมรรคแต่ละองค์ว่ามีประโยชน์อย่างไรก่อนแล้วเดี๋ยวก็อธิบายวิธีปฏิบัติ เพื่อรวมมรรคทั้ง ๘ องค์ให้เป็นมัคคสมังคีทีหลัง
สัมมาทิฏฐิแปลว่าเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิมี ๒ ระดับ คือสัมมาทิฏฐิอย่างธรรมดา เรียกว่าโลกียสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นว่าโลกนี้มี โลกอื่นมี บิดามารดามีหมายถึงบิดามารดามีบุญคุณ ทุกคนเกิดมาต้องมีบิดามารดา แต่ว่ามีบางคนไม่รู้บิดามารดามีบุญคุณ คือบิดามารดาไม่มี ผู้ที่ทำดี ทำชั่วก็ได้รับผลมี ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็สอนผู้อื่นก็มี นี่ความเชื่ออย่างนี้ มันนำไปสู่การปฏิบัติพัฒนาคือมีความเห็นว่าไม่ใช่มีเฉพาะโลกนี้ โลกอื่นยังมีอยู่
แต่คำว่าโลก มันก็ต้องเข้าใจไม่ใช่โลกแผ่นดินอย่างเดียว โลกแผ่นดินก็มีประโยชน์อยู่ว่า ตายจากโลกนี้ไปเกิดในโลกอื่น คือโลกสวรรค์ เทวโลก พรหมโลก อย่างนั้นก็ต้องรอเวลา ว่าตอนนี้มันยังไม่ตาย แต่ว่าโลกในความรู้สึก เข้าใจได้ คือความคิดที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ มันพอที่จะเข้าใจได้ อย่าคิดว่าเรามีเฉพาะสิ่งที่เราคิดอยู่ในขณะนี้ ความจริงสิ่งที่เราคิดดีกว่านี้มันมีอยู่ ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ เราก็ปรับปรุงความคิดให้มันสูงขึ้นๆได้
ญาติโยมทั้งหลายเป็นฆราวาสครองเรือน ทำมาหากินก็คิดนึกเรื่องทำมาหากิน ว่าทำอย่างไรจะได้เงินได้ทองมา ได้ทรัพย์สินมา คิดอย่างนี้ อันนี้โลกนี้
โยมคิดว่าฝึกสมาธิมันน่าจะมีประโยชน์กว่า แล้วมาฝึก โยมก็ได้มาฝึกสมาธิ นี่คือโลกอื่นมันมีอยู่ในจิตใจ
ทีนี้ ว่าเราปฏิบัติให้จิตใจมีคุณธรรม ตายไปแล้วไม่ต้องห่วง ถ้าโลกหน้ามันมีจริง มันก็ต้องไปที่นั่น การไปสู่โลกอื่น ร่างกายไม่มีของคนไหนเลยที่จะเคลื่อนไปอยู่โลกอื่นได้ เขาพบวัตถุต่างๆในหลุมฝังศพ ลูกปัดก็มี เหรียญก็มี ฝังไว้กับศพที่เขามีความเชื่อว่าตายไปแล้วก็จะได้พาสิ่งเหล่านี้ไปด้วย เขาเชื่อกันว่า ถ้าตายไปแล้ว ก็ได้มีส่งสิ่งเหล่านี้ไปด้วย แต่ใครบ้าง ไม่มี ตายแล้วร่างกายเป็นอย่างนี้ ไปอยู่โลกอื่นมันไม่มี ฉะนั้น สนใจโลกในความรู้สึกเสียก่อนดีกว่า มันจะได้ก้าวหน้า
สัมมาทิฏฐิขั้นต้น ขั้นโลกียะมันก็มีประโยชน์ เช่นมีความเห็นว่าผลแห่งการทำดี ทำชั่วมี ก็ไปเชื่อกรรม ถ้าคนเชื่อกรรมก็ไม่ทำกรรมชั่ว ทำแต่กรรมดี มันก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดร้อน นี่สัมมาทิฏฐิระดับโลกียะ ทว่าสำคัญที่สุดระดับโลกุตระ ก็ต้องเข้าใจว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือเป็นอย่างนี้ นี้ทางถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ คือเข้าใจอริยสัจ
โดยเฉพาะ เข้าใจพระไตรลักษณ์ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวง มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน พอเข้าใจเรื่องอนัตตา ไม่มีตัวตน จะนำไปสู่ความหมด ความหมดทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายมันมาจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือไม่มีสัมมาทิฏฐินั่นเอง องค์นี้สำคัญมากเป็นองค์นำ
องค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปปะคือความดำริ ในสิ่งที่เราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เรียกว่าดำริ ดำริมี ๒ อย่าง ดำริผิด ดำริถูก ดำริถูก ถ้าผิดก็ในทางที่ให้อกุศลมันเกิด ดำริในทางให้กิเลสมันเกิด ดำริไปในกาม คือไปคิดว่ามันสวย ว่างาม ว่าน่ารัก กามราคะก็จะเกิด ดำริไปในทางที่ให้โทสะมันเกิด คือคิดไปว่า คนนี้มันเป็นศัตรูกับเรา สิ่งนี้มันเป็นอุปสรรคต่อเรา เราก็ไปโกรธ ว่าบุคคลนั้น ไม่ได้วัตถุก็ไปโกรธมัน เพราะคิดว่ามันเป็นอุปสรรคสร้างปัญหาแก่เรา คิดอย่างนี้ เรียกว่าดำริผิด เรียกว่าดำริในกาม ดำริในทางพยาบาท ดำริในทางเบียดเบียน
โดยเฉพาะคนไม่ค่อยเข้าใจ การเบียดเบียน เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนผู้อื่น โดยเฉพาะคือการคิดว่ามีตัวตนนี่เอง ถ้ายังคิดว่ามีตัวตนอยู่ นั่นแหละคือการดำริในการเบียดเบียน เบียดเบียนตัวเองก่อน ก็คิดว่ามีตัวตน เราเปรียบเทียบว่า เราดีกว่าเขา เราสูงกว่าเขา เราเลวกว่าเขา มันก็ทำให้อิจฉาเขา ไปอิจฉาเขา ถ้ามันเกิดปัญหากับคนอื่น บางทีไปพอใจด้วย ไปพอใจความทุกข์ ความยากของคนอื่น กลับไปพอใจเขาด้วย ต้องระวัง
แม้ระหว่างศาสนา อย่างเราเป็นชาวพุทธ ทีนี้ ก็ไปอ่านประวัติศาสตร์ว่าพวกมุสลิมเขาเคยทำร้ายพระพุทธศาสนา ทีนี้ เกิดปัญหาแก่ชาวมุสลิม บางคนสมน้ำหน้า ไปพอใจที่เขามีทุกข์ มีปัญหานี่คือดำริในทางเบียดเบียน มันอยู่ลึกมาก คือดำริด้วยโมหะ ฉะนั้น ความดำริมันเป็นเรื่องสำคัญ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ดำริในกาม ดำริในพยาบาท ดำริในทางเบียดเบียน การปฏิบัติธรรมจะไม่มี ดำริในทางพยาบาท คือดำริด้วยความทุกข์ ดำริในทางความเบียดเบียน คือดำริด้วยความหลง ถ้ายังรู้สึกว่ามีตัวตน ก็คือเบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนผู้อื่น ๒ องค์นี้ แต่ละองค์ๆก็มีคุณสมบัติที่มีประโยชน์อยู่ในตัว แต่ถ้าแยกกันยังไม่สามารถขจัดกิเลสชั้นลึก ชั้นละเอียดได้ต้องทำให้มันรวมตัว
ทีนี้ สัมมาวาจาเห็นได้ชัด มันง่าย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวาจาคือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ นี่เห็นไหมง่าย ถ้าใครมีปัญหาก็ลดไปเยอะ ที่ทะเลาะวิวาทกันเพราะเรื่องควบคุมคำพูดไม่ได้ เป็นหอกปากทิ่มกันไป แทงกันมา การที่จะบังคับคำพูดได้นี่ ต้องมีสติ ต้องมีสัมปชัญญะนี่เอง ต้องมีความเพียรด้วย ตัวเครื่องมือจริงๆ คือสัมมาสติ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ แล้วก็มารวมกับสัมมาทิฏฐิ นี่เครื่องมือที่จะปฏิบัติจริงๆ
ทีนี้ สัมมากัมมันตะก็เช่นเดียวกัน ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก ก็ต้องมีสัมมาสติ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ จึงจะปฏิบัติสำเร็จได้
คนทั่วไปที่เป็นชาวพุทธที่ทำไม่ได้เพราะมันขาดสติ ขาดความเพียร ขาดสมาธิ ขาดความรู้คือสัมมาทิฏฐิ
ทีนี้ เรามาถึงสัมมาวายามะ คือความเพียรก็ต้องใช้ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนจะพ้นจากความทุกข์ได้เพราะความเพียร ยิ่งสติ ยิ่งสำคัญขาดไม่ได้ ธรรมะทุกหมวด ต้องมีสติทุกหมวด เช่นอินทรีย์ ๕ มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ ปัญญา สติต้องมี พละ ๕ เป็นธรรมะหมวดหนึ่ง ฝ่ายตรัสรู้ โพธิปักขิยธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีสติพละ สติสำคัญที่สุด
ชีวิตประจำวันที่คนพอจะมีชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะมีสติในระดับอย่างน้อยระดับธรรมดา ขับรถขับราก็ต้องมีสติ เดินไปไหนมาไหน ไม่ไปหกล้ม ไม่ไปตกคูน้ำ ก็เพราะมีสติ แต่มันไม่พอที่จะป้องกันกิเลสไว้ได้เพราะสติผิดก็มี สติไประลึกได้ ไปนึกเอาเรื่องที่มันไม่ดี ไปนึกถึงเรื่องกุศลแล้วก็พยายามไปคอยนึกแต่เรื่องอย่างนั้น ถ้าใครเคยดำริ เคยว่า ก็ไปนึกแต่คำที่คนนั้นพูด อย่างนี้เขาเรียกว่ามิจฉาสติ ไม่ใช่สัมมาสติมันแยกกัน สัมมาก็มี มิจฉาก็มี มิจฉาแปลผิด สัมมาแปลว่าถูก
ทีนี้ สัมมาสมาธิสำคัญที่สุดนะ มีอริยะสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิชั้นยอดคือองค์ ๗ ประการมาแวดล้อม สัมมาสมาธิ นี่โยมอาจจะเข้าใจยาก สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ ทั้งหมดนี่มาแวดล้อม
สัมมาสมาธิคือจิตมุ่งมั่นแน่วแน่ นี่เป็นกำลังสำคัญ ทีนี้ สมาธิจะเกิดต้องมีสัมมาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน ฌายิโนคือพวกฌาน พวกสมาธินั่นเอง นี่ก็เช่นเดียวกัน นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่มีปัญญา ฉะนั้น ปัญญากับสมาธิต้องเกื้อกูลกัน
ถ้าญาติโยมทั้งหลายจะมาอบรมสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาเลยสมาธิเกิดไม่ได้ แต่ปัญญาชั้นสูง ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้นต้องทำงานร่วมกัน มีธรรมะบทสำคัญๆ เรียกว่าธรรมะที่มีอุปการะมากที่สุด ก็คือสติสัมปชัญญะ สติเป็นพวกสมาธิ สัมปชัญญะเป็นปัญญา
ฉะนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสรู้ ต้องสามัคคีกัน นี้จะทำให้มรรคทั้ง ๘ องค์มารวมตัวเป็นมัคคสมังคี ก็คือการเจริญสมถะและวิปัสสนา อันนี้ญาติโยมทั้งหลายได้ปฏิบัตินี่เอง
สมาธิภาวนาก็มีสอนสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา การที่จะได้สมาธิก็ต้องฝึกกรรมฐาน กรรมฐานก็มี ๒ อย่างคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
ทีนี้ อารมณ์กรรมฐานมันเยอะ แต่ว่าที่ง่ายแก่การสะดวกและพระพุทธเจ้าสรรเสริญมากที่สุด ไม่มีกรรมฐานชนิดไหนเท่ากับอานาปานสติที่ญาติโยมทั้งหลายได้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบรรยายไปแล้ว ที่ญาติโยมทั้งหลายกำลังปฏิบัติอยู่และสิ่งเหล่านี้อยู่กับเรา กรรมฐานเหล่านี้อยู่ในเรา แต่ว่าบางขั้น เรายังทำไม่ได้ เช่นปิติ เช่นความสุข จิตกุศล จิตปราโมทย์ จิตตั้งมั่น จิตปล่อย จิตวางก็ยังต้องทำต่อไปให้มันเกิด และโดยเฉพาะเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยงมันอยู่ที่เรา พระไตรลักษณ์มันอยู่ที่เรา
โยมจบจากที่นี่ กลับไปที่บ้านที่เรือนก็ยังเกี่ยวข้องกับพระไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์นั่นคือวิปัสสนา เห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ถ้าใครเห็นอย่างนี้ เรียกว่ามีตาเห็นธรรม กิเลสก็อยู่ไม่ได้ อุปาทานก็อยู่ไม่ได้ ความทุกข์มันก็ดับ
ทีนี้ เมื่ออบรมอานาปานสติแม้แต่เดียว ขั้นที่ ๑ ขั้นเดียวก็จะครอบคลุมไปทุกขั้น ถ้าโยมไม่มีเวลามาก ปฏิบัติง่ายๆ วันหนึ่ง ๑๕ นาที ๒๐ นาที ก็ใช้อานาปานสติในขั้นที่ ๑ ก็ตามลม หายใจเข้าก็ตามไป หายใจออกก็ตามมา อย่างที่อธิบายไปแล้ว วิ่งตาม ตามดู ทำรูปภาพ พอได้สมาธิมา ก็มาเจริญวิปัสสนา อารมณ์ของวิปัสสนาคือมันทุกอย่าง
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทั้งหมด ๓๐ อย่าง อายตนิกธรรม ๓๐ อย่าง มันคืออารมณ์ของวิปัสสนา มีอะไรบ้าง ที่อยู่ในเราคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่อยู่ข้างนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และก็วิญญาณ ๖ วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะ ๖ ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
โยมต้องเข้าใจเรื่องผัสสะ ที่เรียกว่าผัสสะ ต้องประกอบสิ่ง ๓ สิ่ง ยกตัวอย่างว่าทางตา ๑ รูป ๒ วิญญาณ ๓ ๓ อย่างทำงานร่วมกันจึงจะเรียกว่าผัสสะ ฉะนั้น ผัสสะก็มีอยู่ ๖ ผัสสะ
ทีนี้ เวทนาที่เกิดจากผัสสะก็มี ๖ อย่างเหมือนกัน ทั้งหมดรวมเป็น ๓๐ อย่าง เรียกว่า อายตนิกธรรม ๓๐ อย่าง เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง มาตามดู ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้ สัมมาทิฏฐิมันเกิด
ในขณะนี้เป็นสัมมาสังกัปปะ เพราะความดำริอย่างนี้ เป็นสัมมาสังกัปปะ ความเพียรพยายามอย่างนี้ เป็นสัมมาวายามะ สติในขณะนี้ เป็นสัมมาสติ สมาธิจิตใจมุ่งมั่นแน่วแน่ เป็นสัมมาสมาธิ ส่วนสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะสมบูรณ์อยู่แล้ว นี่คือวิธีรวมมรรคทั้ง ๘ ให้เป็นมัคคสมังคี แล้วทำหน้าที่ตัดกิเลส นี้คือความรู้ของพระพุทธเจ้า ธรรมะจริงๆ อยู่ที่เรา ไม่ใช่ว่าอยู่ที่วัด ไม่ใช่อยู่ที่คัมภีร์ อยู่ในชีวิตของเรานี่เอง
โยมต่อไปนี้ก็ปฏิบัติกัน ก็ต้องขอขอบพระคุณ ขออนุโมทนาต่อญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรม มาทำประโยชน์ให้แก่ตัวเองและโยมก็ได้ทำอยู่แล้ว แต่ก็อยากจะแนะนำว่าให้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ไปแนะนำชักชวนสิ่งที่ญาติโยมทั้งหลายได้รับประโยชน์ เป็นต้นว่า มีศรัทธา มีจาคะ มีความเลื่อมใสต่อพระสงฆ์ สนใจที่จะฟังธรรม ฟังแล้วก็เข้าใจ ฟังแล้วก็จำได้ ก็ทำกันอยู่ เอามาปฏิบัติธรรมให้มันเหมาะสมแก่การบรรลุธรรม เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี่ยาก ก็ต้องพยายามปรับปรุง คนอื่นรู้ไม่ได้ ตัวเองเท่านั้น ว่าทำอย่างไรจิตมีสมาธิ ถ้าอยากจะต้องการ สำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่สนใจเลย ง่วงซึมสำเร็จไม่ได้ ต้องพอดี
การฝึกภาวนาบางคราวต้องยก บางคราวต้องข่ม บางคราวต้องประคอง เรื่องจิตใจ บางคราวต้องยกที่จิตใจ มันอ่อนแอมันเพลียก็ต้องยกขึ้นมา เพื่อมองเห็นประโยชน์
สิ่งเราปฏิบัติอยู่นี้ จิตใจจะได้ดี ได้พอใจ บางคราวจิตใจมันฟุ้งซ่าน มันนึกอะไรไม่รู้ ต้องข่มลงไป เช่นนึกถึงความตายเป็นต้น
ก็เตือนจิตว่า แกนี้จะไปคิดเรื่องอะไรนักหนา เพราะวันหนึ่งแกจะต้องตาย อันนี้พอนึกถึงความตาย มันก็ข่มลงมา และเมื่อจิตมันได้ระดับก็ประคองเอาไว้ นี่คือการฝึกจิต มันยากกว่ามารดาเลี้ยงลูกเสียอีก มันยากกว่าครูสอนจิตเสียอีก สอนจิตใจตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ต้องพยายาม แต่ไม่มีวิธีไหนที่จะช่วยเราให้พ้นจากความทุกข์ได้ เพราะเกิดมาทุกข์มันติดมาแล้ว ทุกข์ที่สำคัญที่สุดคือทุกข์อุปาทานนั่นเอง
โยมไปหาเงินหาทอง ร่ำรวย เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ก็ทำให้ทุกข์ดับ ดับไม่ได้ ฉะนั้น พวกฝรั่งจึงหันมาหาธรรมะของพระพุทธเจ้าเพื่อดับทุกข์ เราเป็นคนไทยนับถือพุทธศาสนามาช้านาน ถ้าเราช่วยกันปฏิบัติ ปัญหาต่างๆในประเทศไทย มันก็จะลดลง แม้แต่มีศีล ๕ อย่างเดียวก็ลดไปเยอะ
อาตมาพยายามมากว่า ทำอย่างไรธรรมะของพระพุทธเจ้าจะได้เผยแพร่ไปยังชาวต่างประเทศ ก็พยายามทำอยู่ ถ้าประเทศไทยเราจะเป็นประเทศที่สำคัญ แบ่งปันความรู้ของพระพุทธเจ้าให้แก่เพื่อนร่วมโลก ประเทศไทยเราจะไปแข่งขันทางเศษฐกิจ เราสู้ไม่ได้ แต่ว่าเรามีของดีซึ่งพวกฝรั่งมีไม่พอ เรามีมานาน แต่เดี๋ยวนี้คนไทยกลับไม่สนใจ พวกฝรั่งเขาไปปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เขาเขียนหนังสือมาหลายๆเล่ม ก็พยายามชักชวนไปเรื่อยๆ แต่ละคนก็ช่วยกันทำ นี่คือหน้าที่
ต่อไปนี้ก็ปฏิบัติกัน ลมหายใจเข้าออก แม้แต่ครั้งเดียว ครั้งแรกก็มีประโยชน์ ดังที่อธิบายไปแล้ว ตามลม ให้อยู่กับลม ก็มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร นี่เป็นเครื่องมือที่ฝึก
ถ้าได้สมาธิก็พิจารณาให้เห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวง มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ให้เห็นว่า ความว่างมันมีอยู่ก่อน ความวุ่นมันมีทีหลัง ความไม่มีมันอยู่ก่อน ความมีมันมีทีหลัง ถ้าได้เข้าใจเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา เรื่องไม่มีตัวตน มันมีแต่มันไม่ใช่เรา อย่าพูดว่ามันไม่มีเราดีกว่า มันมีแต่มันไม่ใช่เรา ชีวิตนี้มันสักว่าธาตุตามธรรมชาติ สักว่าขันธ์ สักว่าอายตนะ พยายามเตือนจิตใจอย่างนี้บ่อยๆ ใจจะได้สงบ โยมตั้งใจปฏิบัติกันต่อไปนี้