แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย การอบรมของญาติโยมทั้งหลาย อาตมาได้ฟังญาติโยมทั้งหลายเปิดเผยความรู้สึกนึกคิด ก็รู้สึกดีใจ ขออนุโมทนา ขอขอบพระคุณทุกคนที่มาอยู่ที่นี่ คงได้รับประโยชน์กันทุกคนไม่มากก็น้อย คือมาศึกษาเรียนรู้ ที่มานี่เพื่อมาศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตของเรา โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ ชีวิตของมนุษย์เราก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดมาเหมือนกับสัตว์เดรัจฉานทั่วไป คือ แก่ เจ็บ แล้วก็ตาย คงไม่มีอะไร แต่มนุษย์เราต้องมีการศึกษาเรียนรู้จึงมีการเปลี่ยนแปลง
บุคคลที่เคยเกิดมาแล้วในโลก ไม่มีใครสูงสุดเท่ากับพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสรู้ พระองค์ได้ค้นพบธรรมะสูงสุดที่มีอยู่ในธรรมชาติ พระองค์จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเรานี่เป็นสาวกของพระพุทธองค์ พวกเราเป็นพุทธบริษัทควรภาคภูมิใจ ควรปิติยินดีที่เราได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น การที่มาอยู่ที่นี่ ก็เพื่อจะศึกษาเรียนรู้ การศึกษานี่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนา ถ้ายังไม่จบการศึกษา เขาเรียกว่าเสขะ เสขะ และความหมายของเสขะ เขาหมายถึงพระอริยเจ้าในขั้นต้นๆ
พระอริยเจ้ามีอยู่ ๔ ประเภทด้วยกัน ๑. พระโสดาบัน ๒. พระสกทาคามี
๓. พระอนาคามี ๔. พระอรหันต์ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังเป็นเสขะอยู่ ก็ต้องเรียนให้จบคือพระอรหันต์ เรียกว่าอเสขะ ชีวิตของพระอริยเจ้าเหล่านี้ ก็เป็นปุถุชนเหมือนพวกเรานี้เอง ไม่แตกต่างกัน
มนุษย์เกิดมาเป็นปุถุชนกันก่อน แต่เมื่อปุถุชนได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ได้ศึกษาเรียนรู้ พัฒนาจิตใจให้มีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราที่สำคัญที่สุด คือจิตนี้เอง
ถ้าจิตเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตไม่เปลี่ยน จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้เลย จิตจะเปลี่ยนแปลงเพราะการศึกษา โดยเฉพาะให้ทิฏฐิมันเปลี่ยนแปลง เขาเรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ ในพุทธศาสนานี่ สัมมาทิฏฐิสำคัญที่สุด
สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง คนจะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ คำว่าสมาทาน คือรับมาปฏิบัติ ถือปฏิบัติ แล้วก็พัฒนาให้ทิฏฐิ คือความเห็นมันสูงขึ้นๆ
เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายก็มาที่นี่ ได้ยินได้ฟังเป็นการศึกษา เรียกว่าศึกษาโดยตรงเลย การศึกษาจากตำรับตำรายังไม่เป็นการศึกษาโดยตรง มาอยู่อย่างนี้ มากินอย่างนี้ มานอนอย่างนี้ ได้ยิน ได้ฟัง อาตมาเชื่อว่าญาติโยมทั้งหลายจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย
เรามาอยู่ด้วยกัน ไม่ได้มาอยู่ในสังคมคนธรรมดาทั่วๆไป ถ้าเราอยู่ในสังคมธรรมดาทั่วๆไป มันก็คุยในเรื่องธรรมดา เช่น นักการพนัน พวกนักการพนัน เขาก็คุยเรื่องอาชีพที่เขาทำอยู่ อยู่ในพวกพ่อค้าวานิช เขาก็พูด เขาก็คุยกันในเรื่องทำมาหากิน คุยในพวกข้าราชการระดับต่างๆ มันไม่เหมือนกัน แล้วแต่เราสมาคมหรือสังคม
ทีนี้ เรามาอยู่ที่นี่ เป็นสังคมชาวพุทธ ญาติโยมที่มานี่ เป็นคนดี เป็นคนหวังดีที่มาจากที่ต่างๆกัน แล้วก็มาอยู่ด้วยกัน พอเราได้ยินได้ฟังคนนั้น พูดคนนี้พูด ก็เป็นการศึกษา เป็นการเรียนรู้ จิตใจของเราจะค่อยๆเปลี่ยน ค่อยๆเปลี่ยน เพราะการศึกษาเรียนรู้ คำว่าศึกษา ความหมายสำคัญคือว่า สัก อิก ขะ ศึกษาเป็นภาษาบาลี สักคือตัวเอง อิก ขะคือการมอง มองตัวเอง เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง แล้วจะได้พัฒนาตัวเอง
ทีนี้ ถ้าเราไม่มีการศึกษาแบบนี้ เราก็ไม่เห็นตัวเอง โดยเฉพาะญาติโยมมาฝึกสมาธิภาวนา ก็ได้มาดู ดูจิตของญาติโยมทั้งหลาย ได้ดูจิต เห็นจิต พัฒนาจิต ปรับปรุงจิต โดยทิฏฐิหรือความเห็นนั้นเอง
ทีนี้ ในพุทธศาสนาที่สอนเอาไว้ คือว่าในชีวิตของเราม่ใช่มีอะไรอย่างเดียว มันมีหลายๆอย่างรวมกันในชีวิตของเรา สำคัญที่สุด มันมีอยู่ตั้ง ๕ ส่วน เขาเรียกว่าเบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้สำคัญมาก
ในรูปของเราก็ไม่มีอย่างเดียว มีถึง ๔ อย่าง เขาเรียกว่ามหาภูตรูป คือรูปที่เป็นประธาน ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม บางทีเราไม่รู้ว่า ชีวิตของเรามีอะไร คือมีธาตุดิน มีลักษณะเข้มแข็ง ก็มีหลายอย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น ธาตุน้ำมีลักษณะไหลเอิบอาบ น้ำมูก น้ำลาย น้ำปัสสาวะ เป็นต้น ธาตุลมมีหลายๆอย่าง ลมพัดขึ้นเบื้องสูง ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ธาตุไฟลักษณะเผาไหม้ ไฟที่ยังทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย ไฟที่เผาร่างกายทรุดโทรม นี้เป็นธาตุต่างๆ มีอยู่ในรูป
ส่วนเวทนาก็มีหลายอย่าง มีความรู้สึกต่างๆ รู้สึกเป็นสุข รู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกกลางๆ สัญญาก็มีหลายอย่าง สัญญาทั่วๆไป คือความจำ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมารมณ์ นี่สัญญาธรรมดา แต่สัญญาที่ร้ายที่สุด คือสำคัญผิด สำคัญว่าเป็นหญิง สำคัญว่าเป็นชาย สำคัญว่ามีตัวตน เรียกว่าปุริสสัญญา อิตถีสัญญา อัตตสัญญา สัญญานี้สัญญาร้าย นี่ต้องเปลี่ยนมาเป็นสัญญาที่ถูกต้อง เช่น อนิจจสัญญา คือเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยง อนัตตสัญญา สิ่งต่างๆไม่ใช่ตัวตน อสุภสัญญา สิ่งต่างๆ มันไม่งาม อาทีนวสัญญา ก็ต้องเข้าใจว่าในร่างกายนี้มีโทษมาก คือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆที่มาอาศัยอยู่ในนี้ เขาเรียกว่าสัญญาจิต สัญญาจิตที่สูงสุดก็คือ อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา แล้วก็มารวมอยู่ในอานาปานสติ
ฉะนั้น เมื่อฝึกอานาปานสติอย่างที่โยมได้ยินได้ฟังนี่ ก็ได้ศึกษาสัญญาที่ถูกต้อง สัญญานี้ ที่จะยกจิต ยกวิญญาณของเราให้มันสูงขึ้น ให้มันเปลี่ยนแปลง สังขารอยู่ในเรานี้
สังขารมีหลายอย่าง ถ้าเราไม่ศึกษาเรียนรู้ ก็คิดว่าไม่มีอะไร ๑. กายสังขาร คือลมหายใจเข้า หายใจออก มีทุกวัน นี้คือกายสังขาร วจีสังขาร คำพูดที่ญาติโยมพูดนี่ มันมาจากสิ่งปรุงแต่ง เขาเรียกว่าวิตก วิจาร วิตกคือจิตที่ตรึก วิจาร จิตที่ตรอง คำพูดที่ออกมาเป็นคำพูด ต้องมีวจีสังขาร แล้วก็จิตตสังขารคือ สัญญาและเวทนา จิตจะทำงานอยู่ได้ ต้องมีความจำ แล้วต้องมีความรู้สึก ความจำคือสัญญา ความรู้สึกคือเวทนา จิตที่ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา ก็ทำงานไม่ได้ มันมีหลายอย่างเป็นสังขาร
ทีนี้ สังขารที่สำคัญ คือความคิดนึกในใจของเรา คิดนึกถึงรูป คิดนึกถึงเสียง คิดนึกถึงกลิ่น คิดนึก นี่สังขารเหมือนกัน แล้วสังขารยังมีอีกอย่างหนึ่งอีก
ปุญญาภิสังขาร จิตคิดไปทางบุญ ยกตัวอย่างว่า ญาติโยมที่มาด้วยศรัทธานี่ มันเป็นปุญญาภิสังขาร ปรุงจิตใจของญาติโยมให้เดินทางมา
ทีนี้ อปุญญาภิสังขาร คิดไปในทางบาป คิดไปในทางไม่ดี พอคิดในทางไม่ดีเราก็ก้าวหน้าไม่ได้ แล้วอเนชาภิสังขาร จิตของเราสามารถปรับปรุงให้มันสูงขึ้นๆ ได้สมาธิระดับอรูปฌาน ก็อเนชาภิสังขาร สังขารนี่มีมากเหลือเกิน
และที่สำคัญที่สุด อะวิชชา ปัจจะยา สังขารา เพราะความไม่รู้มาปรุงแต่งจิตใจ ทำให้ใจมันคิดผิด โดยเฉพาะคิดว่ามีตัวมีตน นี่ความทุกข์มันเลยเกิดเพราะมีตัวตน พอคิดว่ามีตัวตน ก็เห็นแก่ตน ว่ากลัวตนจะลำบาก กลัวตนจะเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวตนจะตาย กลัวตนจะอดจะอยาก นี่ปัญหาที่มันเกิดขึ้นในสังคม มันอยู่ในชีวิตของเรานี้
ทีนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือวิญญาณ วิญญาณคือจิตใจนี่เอง วิญญาณต้องเข้าใจ ไม่ใช่วิญญาณผี บางคนยังเข้าใจผิดอยู่ แม้แต่ชาวพุทธ ยกตัวอย่างว่า พอคนตาย ที่ว่ามีวิญญาณออกจากร่างบ้าง วิญญาณมาวนเวียนอยู่บ้าง บางทีขลาดกลัวเลย เรียกว่าพ่อแม่รักลูก หรือว่าลูกรักพ่อแม่ เมื่อเป็นๆ ไม่ค่อยเป็นอะไรนัก พอตาย พอให้เกิดความกลัวขึ้นมา กลัว กลัวผี กลัววิญญาณในลูก ลูกบางทีก็กลัวผีของพ่อของแม่ นี่เชื่อผิด เข้าใจผิด วิญญาณชนิดนี้ ไม่มีสอนในพุทธศาสนา
วิญญาณในพุทธศาสนาคือ วิญญาณธาตุ พอตาเห็นรูป วิญญาณมันก็เกิดขึ้น หูฟังเสียง วิญญาณก็เกิดขึ้น วิญญาณก็เกิดดับ เกิดดับ ถ้าเรานอนหลับ วิญญาณมันไม่ทำงาน ที่เราฝัน ฝัน เป็นเรื่องของจิต คือจิตมันนอนหลับไม่สนิท มันยังมีจิตใต้สำนึกทำงานอยู่ มันก็มาปรุงแต่ง เป็นลักษณะความฝัน ก็ไม่ใช่จริงทุกอย่าง
แต่ความฝันในพุทธศาสนามีหลายอย่าง เช่น กรรมนิมิต จิตนิวรณ์ เทพสังหรณ์ ธาตุกำเริบ เรียกว่าเชื่อกันอย่างนี้ ว่าเราทำคุณงามความดีเอาไว้ เรียกว่ากรรมนี้มันมาเตือนว่าให้ผล ก็เรียกว่ากรรมนิมิต
อย่างพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ พระองค์ทรงสุบินคือฝันเหมือนกัน ความฝันของพระพุทธเจ้าก็เป็นกรรมนิมิต มาแสดงว่าพระองค์จะต้องได้ตรัสรู้แล้ว นั้นกรรมนิมิต
จิตนิวรณ์ ถ้าเราไปกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันก็จะเกิดความฝัน เช่น คนนอนไม่หลับ ฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้มาก เทพสังหรณ์แปลว่าเทวดามาเตือน ชาวพุทธก็เชื่อกันว่ายังมีเทวดา แต่ไม่ใช่มีเทวดาอย่างเดียว ก็ยังมีมาร มีผีอยู่เหมือนกัน
ฉะนั้น เราอยู่นี่ ไม่ใช่อยู่คนเดียว มีเทวดาคอยสังเกตอยู่ คอยห้อมล้อมอยู่
มีพวกผี พวกมารก็คอยสังเกตดู มารกับพระนี่ต่อสู้กันตลอดเวลา มารก็คือความชั่ว คือกิเลส พระหรือว่าเทวดาก็เป็นคุณธรรม
ฉะนั้น ถ้าเรามาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ พวกเทวดาก็สาธุอนุโมทนา ดีอกดีใจ แต่ว่าพวกผี พวกมารมันก็ไม่ชอบ ก็พยายามที่จะมาชักจูง พยายามที่จะมาขัดขวางให้เราก้าวหน้าไม่ได้ นี่คือชีวิตของเรา
ฉะนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนา เราจะเจริญก้าวหน้า สำคัญที่สุดคือต้องไม่ประมาท คำสอนของพระพุทธเจ้ามากมายเหลือเกิน แต่พระองค์สรุปลงในความไม่ประมาท อย่างปัจฉิมโอวาท ตอนที่พระองค์จะดับขันธ์ปรินิพพานวาระสุดท้าย พระองค์เตือนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีการเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
ฉะนั้น ความไม่ประมาทเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้สรุปไว้ที่ความไม่ประมาทนี้เอง ดังที่พระองค์ตรัสว่า บรรดารอยเท้าของสัตว์ที่เที่ยวไปบนแผ่นดิน เหยียบบนแผ่นดิน ไม่มีรอยเท้าชนิดไหนที่จะใหญ่เท่ารอยเท้าของช้าง รอยเท้าของช้างเป็นรอยเท้าของสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด ธรรมะที่พระองค์ทรงสอนก็สรุปลงในความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ขอให้โยมจงอย่าประมาท นำธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้
คำว่าไม่ประมาทคือ ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะในทุกเรื่องที่เราเกี่ยวข้อง ต้องไม่ประมาท เช่น ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความไม่มีโรค ไม่ประมาทในชีวิต วัยของเรา มันมีอยู่ ๓ วัย วัยหนุ่ม วัยสาว วัยกลางคน วัยแก่ชรา ปฐมวัย มัชฌิมาวัย ปัจฉิมวัย วัยต้นก็ต้องไม่ประมาท
เมื่อเราเกิดมาเราไม่รู้อะไร อาศัยพ่อแม่เลี้ยงดูเรา พ่อแม่ที่ไม่ประมาทต้องเลี้ยงดูลูกเอาใจใส่ให้ดี ทำไมสังคมปัจจุบันมีปัญหามาก ก็น่าคิดเหมือนกัน มีบางคนพูดว่า เด็กสมัยใหม่กินนมวัวกัน ไม่ได้กินนมมารดา ไม่ได้ดื่มนมมารดา นิสัยจิตใจเป็นสัตว์ เป็นวัวกัน เป็นวัว เป็นควาย ว่านอนสอนยาก เพราะมารดาไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเอง
ฉะนั้น พ่อแม่ที่รักลูก มีบุตร ต้องพยายามเลี้ยงบุตรของตัวเอง ด้วยน้ำนมของตัวเอง ชีวิตของทารกจะเป็นชีวิตที่ถ่ายทอดมาจากบิดามารดา บิดามารดาต้องเอาใจใส่ด้วย ในขณะที่มารดามีครรภ์ พ่อ แม่ พ่อนี่ต้องเอาใจใส่มาก ไม่ทำให้ภรรยาร้อนใจ กังวล เพราะว่าถ้ามารดาเครียด เด็กในท้องก็ได้รับผลไปด้วย
ฉะนั้น ชีวิตของเราผ่านพ่อผ่านแม่มา ถ้าพ่อแม่มีคุณธรรม ชีวิตมันผ่านวัยเด็ก ปฐมวัยยังไม่มีครอบครัว มันก็อย่างหนึ่ง พอมีครอบครัวแล้ว ต้องเอาใจใส่ครอบครัว มีคู่ครอง มีลูกมีเต้า ก็ต้องสนใจ ส่งเสียให้เล่าให้เรียน เราก็ได้เล่าได้เรียน บางคนพ่อแม่ไม่สนใจ ลูกก็ไม่ได้เล่าไม่ได้เรียน ความรู้ก็ไม่ค่อยมี ทีนี้พอเราโตขึ้น เราก็ต้องช่วยตัวเองแล้ว เรียกว่าไม่ประมาทในทุกเรื่อง
เรื่องคบคนนี่ก็เรื่องสำคัญ คนนี่มันเยอะมาก แต่ว่าคนดี คนที่มีคุณธรรม กัลยาณมิตรมันมีน้อย ก็พยายามเลือกคบแต่คนดีๆ มาเป็นมิตร พระพุทธเจ้าสอนมากว่า อะเสวนา จะ พาลานัง อย่าคบกับคนพาล ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ให้คบกับบัณฑิต นี่เรื่องการคบคน ก็ต้องไม่ประมาท
ความไม่ประมาทต้องใช้ทุกเรื่อง ในหน้าที่การงานที่เราเกี่ยวข้อง แล้วแต่เรามีอาชีพชนิดไหน ต้องไม่ประมาท ถ้าประมาทก็คือความตาย ปะมาโท มัจจุโน ปะทัง ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย อัปปะมาโท อะมะตัง ปะทัง ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย แล้วความไม่ประมาทนี่ มีความหมายสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อผัสสะเกิด เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกดมกลิ่น เมื่อลิ้นกระทบกับรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ จิตรู้อารมณ์ ถ้าเราขาดสติสัมปชัญญะ เรียกว่ามีความประมาท พอมีความประมาท มารก็จะเข้ามา กิเลสก็จะเข้ามา เข้ามาปรุงจิตใจของเราให้เห็นผิด ให้คิดผิด ให้พูดผิด ให้ทำผิด ชีวิตก็มีปัญหา
ทีนี้ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เรียกว่าไม่ประมาท เมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น เราก็ไม่มีปัญหา เพราะปัญหามันมาจากกิเลส มาจากอวิชชาความไม่รู้ ตัณหา ความอยาก อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น
เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายมาอยู่ที่นี่ ก็ได้ปฏิบัติธรรมข้อนี้มากขึ้น คือไม่ประมาท คือไม่ประมาทมากกว่าแต่ก่อน ญาติโยมทั้งหลายเดินขึ้นเดินลง ก็ไม่ประมาท นี่มาปฏิบัติธรรม คือฝึกเป็นผู้ไม่ประมาท คือมีสติสัมปชัญญะ
ฉะนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน ชีวิตของเรามันผ่านวัยต่างๆ ปฐมวัย บางคนก็ผ่านไปแล้ว เมื่อก่อนเราเคยเป็นเด็กอ่อนนอนเบาะ เคยเป็นทารก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มันผ่านไปแล้ว ความเป็นหนุ่ม เป็นสาว บางคนก็ไม่มีแล้ว บางคนก็ยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว
วัยหนุ่มวัยสาวมันเป็นวัยสวยวัยงามในชีวิตของเรา พอมาเป็นวัยแก่ วัยชรา มันหมดแล้ว ความสวยความงามในร่างกายไม่มีแล้ว แต่มันต้องมีความสวยของคุณธรรม ถ้าเรามีคุณธรรม แม้แก่ชราก็ยังสวยยังงาม ญาติโยมเคยสังเกตบ้างไหมว่า พ่อท่าน หลวงปู่ หลวงตาอะไรต่างๆ ที่คนนับถือมาก บางทีน้ำท่านก็ไม่อาบ แก่ชรา แต่ว่าคนศรัทธามาก เวลาไปสรงน้ำอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เขาก็ไปรับน้ำมากิน มาล้างหน้า ล้างตา ไม่ใช่คนศรัทธาคนได้ทุกคน ที่เขาศรัทธาเพราะว่าหลวงปู่ หลวงตา หลวงอะไรเหล่านี้ ท่านปฏิบัติธรรม ท่านมีคุณธรรม ฉะนั้นคนแก่ๆ ถ้ามีคุณธรรม เด็กๆ ลูกหลานก็รัก ใครๆ ก็รัก
ก็อยากจะฝากธรรมะ ญาติโยมทั้งหลายไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่มีอะไร ๓ - ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เรียกว่าอยู่อย่างพรหม คือพรหมวิหาร พอแก่มากก็หัดเมตตากับคน กับลูกกับหลาน กับสัตว์ กับอะไรต่างๆ หัดเมตตา หัดกรุณา หัดสงสารผู้อื่น แล้วหัดมุทิตายินดีเมื่อคนอื่นได้ดี ใครมา
บอกคนนั้นรวย คนนี้ก้าวหน้า สาธุๆ อนุโมทนา คนทั่วไปขี้อิจฉา ขี้อิจฉาคนอื่น คนอื่นได้ดิบได้ดี ไม่พอใจ ใจร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ แบบนี้หาความสุขไม่ได้ ต้องหัดมุทิตา
อุเบกขา มี ๒ ความหมาย ๑. เพ่งหาโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่น อย่างญาติโยมทั้งหลาย มีลูกมีหลาน คอยเพ่งมองหาโอกาสที่จะช่วยเหลือเขา ถ้าเขาปกติดี ไม่มีปัญหา ก็วางเฉย จิตใจเป็นกลาง ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แล้วทุกคนจะไม่มีใครเกลียด ไม่มีใครไม่ต้องการ เป็นคนมีคุณภาพ ก็เป็นชีวิตที่งาม
ทางพุทธศาสนาเน้นเรื่องความงาม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย อาทิ กัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะ กัลยาณัง เมื่อวัยเด็กก็งาม วัยหนุ่มวัยสาว พ่อบ้านแม่เรือนก็งาม แก่เฒ่าชราก็งาม ก็เพราะปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้านี้เอง งามในเบื้องต้นคือศีล งามในท่ามกลางคือสมาธิ งามในเบื้องปลายคือปัญญา
เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลาย ถ้าไม่ประมาท ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความไม่มีโรค อย่าคิดว่าเราไม่มีโรค โรคมันอาศัยอยู่แล้ว วันหนึ่งมันแสดงออกมา เราก็สู้มันไม่ได้ โรคหลายๆชนิด อย่าประมาทในความไม่มีโรค อย่าประมาทในชีวิต ชีวิตของเรามันเดินทาง เดินทางทุกวัน เดินทางไปไหน วันคืนผ่านไป วันคืนผ่านไป ชีวิตเดินทางไปสู่ความตาย
ทางพุทธศาสนาสอนไว้มากมายเหลือเกิน เหมือนอย่างวัวหรือควายที่จะจูงไปโรงฆ่าสัตว์ ยกทีละก้าว ทีละก้าว ก็หมายถึงไปสู่ความตาย ชีวิตของเรา วันหนึ่งจะมาสู่ความตาย ถึงความตาย เมื่อแล้วความตายมันใกล้เข้ามา แล้วโยมเอาอะไรไปต่อสู้กับมัน เงินทองก็สู้ไม่ได้ อาวุธต่างๆ ก็สู้ไม่ได้ ในที่สุด สิ่งจะสู้ได้ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ได้เรียนรู้
ให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าใจว่า ชีวิตของเรานี่มันเป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นสังขาร ให้จำคำนี้ไว้ให้ดีๆ ว่าเป็นสังขารทั้งนั้น ถ้าสังขาร มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เพราะไม่มีตัวตน ถ้าเข้าใจเรื่องไม่มีตัวตน ความตายก็ไม่ต้องกลัว เพราะความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นความตายของเรา นี่เป็นธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
อาตมาก็ได้บรรยายหลายๆเรื่อง ก็มาสรุปลงในความไม่ประมาท โยมเกี่ยวข้องกับอะไร ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ประมาท ถ้าหากประมาทก็จะมีความตาย ตายทางร่างกายก็ได้ บางคนอายุสั้น ไปเสี่ยง ไปทำอะไรที่ประมาทก็ตายเร็ว อายุสั้น
ทีนี้ ความตายในทางชื่อเสียงก็สำคัญเหมือนกัน เราไปทำไม่ถูกต้อง ชื่อเสียงมันก็เสียหมด ไม่ใช่เสียเฉพาะเราคนเดียว เสียไปถึงลูกถึงหลาน ถึงวงศ์ตระกูล ถ้าเราทำให้ชื่อมันเสีย ก็ทำให้เสียชื่อ ต่อไปนี้เป็นลูก เป็นหลาน เป็นญาติ เป็นพี่น้อง ไปที่ไหนก็ไม่มีหน้าไม่มีตา ไม่มีคนเคารพนับถือ เสียวงศ์ตระกูล เพราะเราประมาท เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ประมาท รักษาวงศ์ตระกูลของเราให้ดีๆ และที่สูงสุดก็คือจะมีความทุกข์ ถ้าเราประมาทก็ต้องพบความทุกข์ ฉะนั้นถ้าเราไม่ประมาท คือมีสติสัมปชัญญะ พัฒนาชีวิตของเราให้มันสูงขึ้นๆ แล้วก็เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ก็ถึงอมตธรม เพราะความไม่ประมาทนี้เอง
ทีนี้ ถ้าเรายังไม่ตาย เราต้องมีสิ่งสำคัญคือ มีกาย มีเวทนา มีจิต แล้วก็มีธรรมชาติที่ในชีวิตของเรา ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ นี้เอง
ฉะนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลายอาศัยสติปัฏฐาน ๔ เป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องนำทาง ปฏิบัติทุกวัน ฝึกสมาธิทุกวัน นั่งสมาธิวันหนึ่งสัก ๑๕ นาที หายใจเข้าก็ตามไป อยู่กับลมหายใจเข้าออกนี่ หายใจเข้าก็ตามไป หายใจออกก็ตามมา ซึ่งมีเทคนิคหลายๆอย่าง เช่น จิตมันคอยไปนึกเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็คอยเตือนจิตว่าหายใจเข้ายาว หายใจเข้ายาวหนอก็ได้ หรือว่าจะว่าพุทโธ ว่าอะไรก็ได้ แล้วแต่ ให้จิตมีสมาธิ ความหมายของสมาธิ คือจิตไม่มีนิวรณ์ ไม่มีอารมณ์ร้อน ไม่มีอารมณ์ร้าย ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความที่ได้ยินได้ฟังไปแล้ว เมื่อจิตไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกามฉันทะ อารมณ์รัก พยาบาท อารมณ์โกรธ ถีนมิทธะ อารมณ์เบื่อ อุทธัจจกุกกุจจะ ลังเลสงสัย วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย
ถ้าไม่มีนิวรณ์เหล่านี้ จิตก็มีสมาธิ จิตก็มีความสุข พอมีความสุขมันก็ได้มาอยู่กับปีติ มาอยู่กับความสุข เป็นเรื่องเวทนา แล้วก็สังเกตดูเข้าไปในจิตใจว่า ถ้าได้อย่างนี้ เป็นอย่างไร ก็จะเป็นจิตดีๆ จิตปราโมทย์ จิตตั้งมั่น จิตปล่อย จิตวางแล้ว
ต่อไปก็มาพิจารณาสังขาร ให้รู้ว่าลมหายใจเข้าออกมันก็ไม่เที่ยง เวทนาทั้งหลายก็ไม่เที่ยง จิตคิดต่างๆ ก็ไม่เที่ยง สิ่งต่างๆ มันก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นมันเป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ สิ่งใดเป็นทุกข์ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าทำอย่างนี้ จิตใจมันจะได้ว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากความทุกข์ เรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
ฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีชีวิต ขอให้ญาติโยมใช้ชีวิตเหมือนอย่างพ่วงแพ จะนำพาชีวิตข้ามทะเลแห่งความทุกข์
ต่อไปนี้ก่อนที่จะจบ ก็นั่งสมาธิกันนิดหน่อย แล้วก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายอย่าประมาท ขึ้นรถ ขึ้นเรือ ขับรถขับอะไรต่างๆ ไม่ประมาททั้งนั้น ก็มีความหมายหลายๆอย่าง คำว่าไม่ประมาท ถ้าไม่ประมาทก็จะไม่ตาย ถ้าประมาทก็เหมือนคนตายแล้ว ก็อย่าประมาท นี้เป็นหัวใจแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ขอให้โยมรับเป็นพิจารณาด้วย เป็นการศึกษาด้วย จะได้เข้าใจ จะได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ต่อไปนี้ก็ตั้งใจปฏิบัติกัน