แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอาล่ะนะ ญาติโยมทั้งหลาย ญาติโยมทั้งหลาย อุตส่าห์เดินทางจากที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ มาที่เกาะสมุย โดยเฉพาะมาที่ ทีปภาวัน ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขา ญาติโยมทั้งหลาย ก็ได้มาสัมผัสกับธรรมชาติที่นี่ ต้องเดินขึ้นเดินลง วันหนึ่งหลายครั้ง ทำให้ญาติโยมทั้งหลายได้มีสติ สัมปชัญญะ และความเพียร เป็นพิเศษ การปฏิบัติธรรมต้องอาศัยธรรมะเหล่านี้ เกิดสติ ต้องเพิ่มให้มีมากขึ้น มากขึ้น สตินี้ ขาดเมื่อใด ปัญหาเกิดเมื่อนั้น ในชีวิตประจำวันที่เราเป็นอยู่ ใช้สอยสิ่งต่างๆ ถ้าขาดสติ ปัญหาจะเกิด ไม่ว่า จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูด จะนิ่ง ถ้าเราขาดสติ ปัญหาจะเกิด ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ กิเลสจะเข้ามา จะเข้ามาในจิตใจของเราทันทีเลย ถ้าไม่มีสติ นี่สติอย่างเดียว มันยังไม่พอ ยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีสัมปชัญญะด้วย สัมปชัญญะคือปัญญา คือความรู้ที่มาอยู่ในขณะนี้ เราเรียกว่า ปัจจุบันขณะ มาอยู่ในขณะปัจจุบัน ในขณะที่เรากำลังกระทำอะไรอยู่ ถ้าสัมปชัญญะไม่มี ก็เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นเหมือนกัน ความรู้ทั่วๆ ไปที่เราได้ยินได้ฟังก็ดี จากการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ความรู้เยอะมาก แต่ความรู้เหล่านี้ ถ้าไม่มาอยู่ในขณะปัจจุบัน ปัญหาเกิดขึ้นได้ เอาง่ายๆ ว่า ญาติโยมทั้งหลาย ผู้ที่มีรถ ขับรถ ก็รู้ว่า ถ้าเผลอ เช่น ง่วงนอน หรือว่าเสพของมึนเมาเข้าไป รถจะเกิดอุบัติเหตุ อันตรายได้ รถ การใช้รถต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ ขาดเมื่อใด ปัญหาจะเกิด อันนี้ปัญหาธรรมดา แต่ว่าปัญหาในจิตใจของเรา เกิดเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกดมกลิ่น เมื่อลิ้นกระทบกับรสขณะกินอาหารนั่นล่ะ เมื่อผิวหนังทางร่างกาย เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มากระทบผิวหนัง พวกโผฏฐัพพะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจิตรู้สึกต่ออารมณ์ต่างๆ อารมณ์ต่างๆ เยอะมาก เราขาดสติสัมปชัญญะ กิเลสก็จะเข้ามาที่ตรงนี้ แล้วทำให้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะก็ต้องเพิ่มขึ้นๆ เอาแต่เรียนรู้จากหนังสือตำรา ได้ยินได้ฟัง แต่พอเอาเข้าจริงๆ ขาดสติขาดสัมปชัญญะ จึงเกิดปัญหาต่างๆ เช่น ควบคุมคำพูดไม่ได้ ควบคุมการกระทำไม่ได้ ก็ทำให้พูดผิด ทำให้กระทำผิด ที่เบียดเบียนกันอยู่ทางกาย เช่น ฆ่า เช่น ลัก ล่วงเกินของรัก ก็ขาดสติสัมปชัญญะ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ก็ขาดสัมปชัญญะ ถ้ามาสังเกต ไม่ว่าฆราวาส ไม่ว่าเป็นพระ โดยเฉพาะขณะที่ฉันอาหาร ที่จะมีสติสัมปชัญญะ คอยสังเกต ว่ารสมันเกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร ดับไปอย่างไร ส่วนใหญ่ก็คุยกันเรื่องอาหาร แกงนั้นแกงนี้ อาหารชนิดนั้นชนิดนี้ ลืมไป ก็ขาดสติสัมปชัญญะนั่นเอง ฉะนั้น เวลากินอาหารนี้ ก็เป็นเวลาสำคัญ เป็นเวลาที่ทดสอบ ว่าเรามีสติสัมปชัญญะขนาดไหน พระพุทธเจ้าสอน พระองค์ทำตัวอย่าง ว่าพระองค์ฉันอาหาร นำอาหารใส่ในพระโอษฐ์ ภาษาบ้านเราก็นำอาหารใส่ปาก พระองค์ทรงเคี้ยวกลับไปกลับมาหลายกลับ แล้วทรงกลืน ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ว่าคนทั่วไปไม่มีความรู้ชนิดนี้ คุยกันแต่เรื่องอาหารเอร็ดอร่อย เป็นพระนี่ ต้องระวัง คำว่าอร่อยนี่ ไม่ควรใช้เลย อาหารนั้นอร่อย อาหารนี้อร่อย สำหรับพระ เพราะว่านักปฏิบัติธรรมต้องงดเด็ดขาด เพราะฉันอาหาร กินอาหาร สักว่า บริโภค สักว่าธาตุตามธรรมชาติ ต้องเตรียมตัวเพื่อจะให้มีสติสัมปชัญญะเป็นขั้นๆ หนึ่ง พิจารณาโดยความเป็นธาตุก่อน อาหารนี้ก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ ทีแรกดูว่ามันสะอาด แต่พอร่างกายนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะกลายเป็นของไม่สะอาด ร่างกายของมนุษย์เรานี้ มันเต็มไปด้วยความปฏิกูล ความไม่งาม ความไม่สะอาด อาหารที่หุงมาใหม่ๆ อยู่ในจานอาหาร ถ้ามีเพื่อนมา แขกมา เราเชิญให้เขารับประทานได้ แต่พอเราเอามือไปจับอาหารจานนั้น เราก็ไม่อยากเชิญให้ผู้อื่นรับประทาน เพราะว่ามือของเราไปสัมผัสกับอาหารนั้นเสียแล้ว อาหารนั้นก็กลายเป็นของไม่สะอาด ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเอาอาหารใส่เข้าไปในปาก แล้วก็คายออกมา จะไม่มีใครกล้ากินเลย เพราะฉะนั้นพิจารณาโดยความเป็นธาตุ และก็เตรียมตัวเอาไว้ก่อน ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร พระฉันอาหารก็พิจารณาตลอดเวลา ว่าไม่ได้ฉันเพื่อเล่น เพื่อสนุกสนาน เพื่อร่างกายแข็งแรง แต่ฉันเพื่อร่างกายอยู่ได้ นี่คือเกิดสติสัมปชัญญะ นี่คือตัวการปฏิบัติธรรม
ฉะนั้น สติสัมปชัญญะนี้ เป็นธรรมที่สำคัญที่สุด ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเพิ่ม เพิ่มสติสัมปชัญญะ นี้จะทำได้ต้องมีความเพียร ความเพียรนี้ มีหลายชื่อ วิริยะ แปลว่า ความเพียร วิริยะ รากศัพท์ของวิริยะภาษาบาลีคือกล้าหาญ มีความกล้า อย่างภาษาไทยที่ใช้กันไปว่า วีรชน นี่คนที่กล้าหาญไม่กลัวตาย กล้าหาญไปรบทัพจับศึกไม่กลัวตาย เรียก วีรชน แปลว่า เป็นผู้กล้าหาญ ไม่กลัวต่ออุปสรรคปัญหา ไม่กลัวต่อกิเลส ในสมุดข่อย เป็นสมุดภาพ เขาสอนวิธีปฏิบัติสมัยโบราณ คนอ่านหนังสือไม่ออก แต่เขาเขียนภาพให้คนศึกษาเรื่องความเพียร เขาเขียนเป็นภาพหนูตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งติดตามฆ่าเสือโคร่งที่เดินไปข้างหน้าสองตัว เสือโคร่งก็คืออารมณ์ที่คอยเกิดขึ้น คือความยินดีเรียกว่าอวิชชา ความยินร้ายเรียกว่าโทมนัส หนูตัวเล็กเล็กนี้จะฆ่าเสือโคร่งอย่างไร ต้องมีความกล้าหาญ เขาเรียกว่า วิริยะ ต้องพยายาม ภาษาไทยคือพยายาม มาจากภาษาบาลีว่า วายามะ คือความเพียร ก็ต้องทำอย่างติดต่อ ทำไปเรื่อย ทำไปเรื่อย เรียกว่า ปรักมะ เรียกว่า สาตัจจะ เรียกว่า สาตัจจะ ทำติดต่อ แล้วทำอย่างไม่ลิดรอน ปรักมะ ปรักมะ ก้าวไปข้างหน้า ทำอย่างติดต่อให้ก้าวไปข้างหน้า และยังมีคำอื่น เช่น คำว่า อุตสาหะ คือ ภาษาไทยว่า ขยันหมั่นเพียร ก็ยังมีคำว่า ปธาน ปธาน ก็คือ ความเพียรเช่นเดียวกัน นี่การปฏิบัติธรรม ต้องมีสามอย่างนี้เป็นหลัก สติ สัมปชัญญะ ความเพียร ภาษาบาลีว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา, อาตาปี นี่เป็นความเพียร ไม่ใช่ความเพียรธรรมดา เป็นการเพียรเผากิเลส อาตาปะ คือเผากิเลสให้ไหม้ เผากิเลสให้มันละลาย เรียกว่า อาตาปี เรียกว่าสัมปชาโน คือ สัมปชัญญะ ได้แก่ ปัญญา ได้แก่ความรู้ที่มาอยู่ในขณะปัจจุบัน โดยเฉพาะในขณะที่ผัสสะมันเกิด เราใช้ สติมา เป็นผู้มีสติ ญาติโยมทั้งหลายมาอยู่ที่ ทีปภาวัน ต้องเพิ่มสติสัมปชัญญะ และความเพียรมากขึ้น แม้ทางร่างกาย เดินขึ้น เดินลง บางเดือนคนหกล้มก็มี แต่ยังไม่ปรากฎว่าบาดเจ็บสาหัส เพราะว่าผู้ที่มาปฏิบัติ ก็ตั้งใจที่จะฝึก ตั้งใจที่จะช่วยเหลือ ญาติโยมก็ปลอดภัยดี ก็ต้องขออนุโมทนา ญาติโยมมีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้นนั่นเอง แม้ชีวิตประจำวันก็ต้องใช้สติ ใช้สัมปชัญญะ ใช้ความเพียร
ทีนี้มาปฏิบัติธรรม จุดมุ่งหมายเพื่อจะเอาชนะความทุกข์ เอาชนะปัญหา แต่จิตใจของเรา เพราะว่าเรามีทรัพย์สินเงินทอง มีครอบครัว มีลูกมีหลาน มีหน้าที่การงาน มีอำนาจวาสนาบารมี อะไรก็ตาม แต่ความทุกข์ในจิตใจ มันก็ยังไม่เบาบาง เพราะอะไร ก็เพราะอวิชชานั่นเอง อวิชชานี่เป็นมลทินอย่างยิ่งเลย มลทิน สิ่งที่ทำจิตใจให้เศร้าหมอง พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องมลทินหลายอย่าง มลทินคือสิ่งที่ทำให้มันเศร้าหมอง หม่นหมอง เปื้อนสกปรก เช่น มนต์ ไม่ท่องมนต์ เป็นมลทิน มนต์คือความรู้ อย่างเราจำบทมนต์ต่างๆ ในหนังสือธรรมะ สวดมนต์ ถ้าไม่ท่อง ไม่บ่น มันก็ลืม ความลืมนี้เป็นมลทิน ก็ต้องท่องมนต์ การไม่ท่องมนต์เป็นมลทิน บ้านเรือนไม่ดูแลรักษาก็เป็นมลทิน เขาสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา อย่างห้องน้ำที่เราใช้ทุกวัน ต้องเอาใจใส่ คอยทำความสะอาด ปัดกวาด ชะล้าง ถ้าไม่ฉะนั้นมันก็เป็นมลทิน การทำชั่วเป็นมลทิน ทำชั่วเมื่อไหร่ ก็เป็นมลทินเมื่อนั้น พระพุทธเจ้าตรัสมลทินหลายอย่าง โดยเฉพาะอกุศลธรรมเป็นมลทินที่ยิ่งกว่ามลทินธรรมดา แต่ว่ายอดของมลทินคืออวิชชา อวิชชานี่เป็นยอดของมลทินทั้งหลาย ฉะนั้นความทุกข์ที่เรามีอยู่นี้ มันมาจากอวิชชานั่นเอง มีคนถามพระพุทธเจ้าว่า ความทุกข์คนอื่นทำให้ใช่ไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่ เขาถามใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นตัวเองเป็นผู้ทำขึ้นใช่ไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ ก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ความทุกข์ไม่มีหรือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า มี เขาถามว่า ความทุกข์มาจากอะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความทุกข์มาจากอวิชชา อวิชชาเกิดไม่มีความรู้ โดยเฉพาะไม่มีความรู้เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุจะเกิดทุกข์ เรื่องความดับ ไม่เรียกทุกข์ เรื่องทางถึงความดับ ไม่เรียกทุกข์ ไม่รู้กฎพระไตรลักษณ์ ไม่รู้ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง มันไม่ใช่ตัวตน เมื่อไม่มีความรู้เหล่านี้ เราเรียกว่ามีอวิชชา อวิชชานี้ มันคอยตกลงในจิตใจของเราตลอดเวลา มันคอยเข้ามาลงจิตใจของเราตลอดเวลา ในชีวิตของเรา มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาเรียกว่า ทวาร ทวารคือประตู อวิชชา จะเข้ามาก็ผ่านประตู ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง และก็มาทำลาย ทำลายจิตที่มันผ่องใส จิตประภัสสร ให้มันเกิดปัญหา คือเกิดกิเลสต่างๆ นี่ความทุกข์มันก็เกิด โดยเฉพาะมันเกิดความอยาก เรียกว่าตัณหา อันที่สำคัญที่สุด เกิดอุปาทาน ยึดมั่น ถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา นี่ถ้ายังมีอันนี้อยู่ ยังมีเงิน มีอะไร เศรษฐีบางเศรษฐี มีอำนาจอะไร แต่ยังมีความทุกข์เท่าเดิม ดีไม่ดีมากกว่าเดิม
ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายมาอยู่ที่นี่ มาภาวนา ภาวนาคือการอบรมคุณธรรมให้เพิ่มขึ้นๆ ที่นี้ก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะและความเพียรนี้เอง ความเพียรก็สำคัญมาก แต่ว่าความเพียรไม่ใช่ความเพียรธรรมดา อย่างที่เรามีในชีวิตประจำวัน เพียรทำมาหากิน เพียรศึกษาเล่าเรียน เพียรอย่างนั้นเป็นความเพียรอย่างธรรมดา ก็ดีอยู่ ทำให้เรามีกินมีใช้ ทำให้เราเจริญก้าวหน้า ทำให้มีความรู้ แต่ยังเป็นความเพียรธรรมดา ความเพียรที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เรามี คือ หนึ่ง สังวรปธาน ปธานคือความเพียร เพียรสังวร ป้องกันไม่ให้กิเลสมันเข้ามากอง เมื่อตาเห็นรูป เป็นต้น สอง ปหานปธาน นี่บางเวลาเราเผลอ กิเลสก็เข้ามา ก็ต้องรู้ว่ากิเลสมันเข้ามาแล้ว ต้องขจัดออกไปให้ได้ เขาเรียกว่า ปหานะ เพียรละกิเลส ทีนี้กิเลสมันตรงข้ามกับโพธิ ถ้าโพธิมันอ่อนแอ กิเลสก็ยังเข้ามาได้ ก็ต้องเพียรที่จะให้เกิดโพธิ โพธิคือการตรัสรู้ การเข้าใจธรรมะ เขาเรียกว่า ภาวนาปธาน เมื่อเพียรอบรมให้มีสมาธิเพิ่มขึ้น ให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น แต่มันยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ก็ต้องเพิ่มความเพียรอีกอันหนึ่ง อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา คำว่าเพียรรักษา ญาติโยมทั้งหลายเคยปฏิบัติธรรมแบบนี้มาแล้ว ต่อไปถ้าญาติโยมต้องการก้าวหน้า ต้องฝึกสมาธิประจำวัน พยายามกำหนดเวลา ตั้งใจอธิษฐาน ก็ต้องฝึกสมาธิประจำวัน เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาอย่างน้อยสิบห้านาที นั่งสมาธิ สมาธิก็มีสองอย่าง ดังที่ได้ยินได้ฟังไปแล้ว หนึ่ง สมถะภาวนา คือ รวมจิตให้มีสมาธิ จิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตอ่อนโยน พอได้สมาธิมาอบรมปัญญาวิปัสสนา ตามดู ตามรู้ ว่าขณะนี้เป็นสังขาร มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่มีตัวตน นี่ก็เรียกว่า ภาวนา นี่ก็ทำให้มาก อบรมให้มาก นี่ที่สำคัญที่สุด
ชีวิตของเรา มันมีอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเราไม่ศึกษาความรู้ของพระพุทธเจ้า เราก็ไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มีอยู่ในชีวิตของเรา ตั้งแต่เราเกิด คนก็พยายามเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ แล้วก็พัฒนาปรับปรุงให้เกิดสิ่งใหม่เรื่อยๆ มา สิ่งนี้ก็คือธาตุต่างๆ ที่มีใช้ในชีวิตของเรา มันมีมากมายเหลือเกิน หนึ่ง ธาตุสี่ สอง ธาตุหก ธาตุสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุหก คือเพิ่ม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ คำว่า ธาตุ เสียงก็เหมือนกัน ธาตุ ธาตุ ธา-ตุ นี่เป็นธาตุตามธรรมชาติ ธาตุ ธา-ตุ ธ.ธง สระอา ต.เต่า สระอุ คำว่า ธาตุ ธา-ตุ คือ ธรรมชาติที่มีในชีวิตของเรา เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม เป็นอากาศ ก็เป็นวิญญาณ วิญญาณธาตุ และยังมีธาตุอื่นๆ อีกมากมายอยู่ในชีวิตของเรานี้ สรุปแล้ว เช่น กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ นิโรธธาตุ คือ นิพพานธาตุ พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้เรื่องธาตุต่างๆ แล้วก็อบรมจิตใจ ให้จิตใจมันเลื่อนจากธาตุธรรมดา โดยเฉพาะกามธาตุ ที่คนติดอยู่ในกามธาตุนี้ มันออกไปไม่ได้ ก็ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เช่นสิ่งเหล่านี้ มีในชีวิตของเรา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เขาเรียกว่ากามธาตุ ถ้าจิตหลงใหลในธาตุเหล่านี้ มันไม่เลื่อน นี่ภาวนา คือมาอบรมให้จิตมันเลื่อน จากกามธาตุขึ้นมาสู่รูปธาตุ ลมหายใจเข้าออกนี่เป็นรูป ลมหายใจเข้าออกนี่ก็เป็นธาตุลม แต่เรียกว่ารูป หรือเรียกว่ากาย กายก็คือพวกรูป เมื่อจิตมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกได้ จิตก็มาอยู่กับรูปธาตุ จิตใจของญาติโยมก็จะเลื่อนขึ้นมา แต่ว่าถ้าไม่สติสัมปชัญญะ จิตก็ตกอยู่กับกามธาตุ จิตก็ไม่มีสมาธิ พอจิตตกสู่กามธาตุ เช่น กามฉันทะ จิตตกสู่อารมณ์รัก กำหนัดรัก จิตก็ไม่มีสมาธิ ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะประคอง ประคองจิต ให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็ได้สัมผัสกับรูปธาตุ หรือว่ารูปโลกก็เรียก มันเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง ไม่ใช่โลกธรรมดา ฝึกไปฝึกไป ก็ได้สมาธิมากขึ้นๆ คนสามารถฝึกสมาธิจนกระทั่งได้ฌาณ ก็มาอยู่กับฌาณ พักอยู่กับฌาณ
ฌาณคือการเพ่งอารมณ์ จนกระทั่งจิตใจสงบ เรียกว่า รูปฌาณ เข้ามาอยู่กับรูปธาตุในขณะนี้ สามารถฝึกให้สูงไปกว่านี้ เกิดอรูปธาตุ ไม่ใช่รูปแล้ว เอาสิ่งที่ไม่ใช่รูปมาเป็นอารมณ์ เช่น เอาอากาศบ้าง เอาวิญญาณบ้าง เอาความไม่มีอะไรบ้าง มาเป็นอารมณ์ จิตก็มาอยู่กับอรูปธาตุ แต่ยังไม่สูงสุด ก็เลื่อนมาอีกทีหนึ่ง มาสู่นิโรธธาตุ นิพพานธาตุ ธาตุเป็นที่ดับ คือพิจารณาเห็นว่า รูปก็ดี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ดี ทุกอย่างมันเป็นสิ่งปรุงแต่ง เขาเรียกว่า สังขตธาตุ เป็นสิ่งปรุงแต่ง ถ้าเป็นสิ่งปรุงแต่ง มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และก็ไม่มีตัวตน สิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือเรื่องอนัตตา เรื่องไม่มีตัวตน แต่เข้าใจยาก เพราะว่าใครๆ ก็พูดว่าคนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ เราเกิดมาไม่มีชื่อ แต่ไม่รู้จะพูดกันอย่างไร เลยตั้งชื่อ พอตั้งชื่อก็มาติดในชื่ออีก มันเพิ่มตัวตนให้มากขึ้น ถ้าได้ตำแหน่งหน้าที่ ยศฐาบรรดาศักดิ์ก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก จริงๆ มันไม่มีอะไร มีสักว่าธาตุตามธรรมชาติ แล้วก็มาพิจารณา พอจิตมันเห็น จิตก็ปล่อยวาง จริงๆ นี้ ควรจะเรียกว่า ไม่ใช่ตัวตน มากกว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนมันเข้าใจยาก เพราะเรายังมีชีวิตอยู่ เดินอยู่ พูดอยู่ ทำอะไรอยู่ จะไม่มีตัวตนได้อย่างไร ควรจะใช้คำว่า ไม่ใช่ตัวตน มันจะพูดได้ จะกินได้ จะอะไรได้ แต่ไม่ใช่ตัวตนของเรา มันเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มันทำหน้าที่ของมันอยู่ แต่วันหนึ่ง มันทำหน้าที่ของมันไม่ได้ ก็แตกกระจัดกระจาย ก็คือตายนั่นเอง ไปสู่ธาตุเดิมอีก ไปสู่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องนี้
เพราะฉะนั้นญาติโยมแต่ละคนเที่ยวพามา เมื่อก่อนนี้กี่ปีกี่ปีเชื่อว่า ถ้าไม่สนใจธรรมะ จะไม่เข้าใจเรื่องนี้ งั้นแม้ญาติโยมทั้งหลายจะเดินทางไกล แต่ถ้ามาปฏิบัติธรรมที่นี่แล้วใจมันสบายขึ้น เบาใจขึ้น ก็เรียกว่าคุ้มค่า อย่างพวกฝรั่งเขาก็เที่ยวรอบโลกไปหาความสุข แต่ก็ไม่เจอ ก็ความสุขที่พวกฝรั่งเข้าใจ คือสุขธรรมดา สุขร้อน สุขหลอก สุขลวง ก็กามสุขนั่นเอง งั้นญาติโยมมาที่นี่ มาแสวงหาความสุขของพระอริยเจ้า เมื่อเข้าใจวิธีปฏิบัติแล้วต่อไปปฏิบัติต่อที่บ้านที่เรือน แต่อย่าช้าอยู่ ระวังอายุสังขารมันไม่รอ ไม่รอใครเลย ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันคอยแวดล้อมเราตลอดเวลา วันหนึ่งถ้าความตายมาถึง ก็จบกัน ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ ก็พยายามรีบเดินทางด้วยใจ ไม่ใช่เดินทางด้วยร่างกาย ร่างกายถ้าคิดว่าไปที่ไหนมีประโยชน์ ก็ควรไป ถ้าไปแล้วมีประโยชน์ก็ควรไป แต่ถ้าไม่มีประโยชน์อย่าไป พระพุทธเจ้ามีหลักเดียว จะไปที่ไหน จะคบกับใคร จะทำอะไร ถ้าทำแล้ว กุศลเกิดมากขึ้นๆ ให้ทำ ถ้าไปแล้ว ทำอะไรแล้ว อกุศลมันเกิดมากขึ้น ก็ให้หยุด นี่วิธีปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้า จะพบกับใคร จะเรียนอะไร จะทำอะไร ให้ใช้หลักเกณฑ์อันนี้แล้วไม่มีทางที่จะผิด เอาล่ะ ต่อไปนี้ ก็ตั้งใจพัฒนา ภาวนา ก็ต้องใช้ความเพียรอย่างที่กล่าวมาแล้ว เพียรระวังไม่ให้กิเลสมันเกิด เพียรละกิเลสที่มันเกิดขึ้นแล้ว เพียรให้กุศลมันเกิด เกิดสมาธิวิปัสสนา แล้วก็เพียรรักษาไว้ ก็ตั้งใจปฏิบัติกันต่อไปนี้ ญาติโยมทั้งหลายก็จะได้รู้เอง ได้เห็นเอง ก็ต้องเพิ่มสติสัมปชัญญะ ทุกอิริยาบถการเคลื่อนไหว แม้จะพูดจะจา จะรับประทานอาหาร ก็ให้มีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น ต่อไปก็ปฏิบัติ หายใจเข้าก็ตามลมไป ลมหายใจเข้าออกเป็นรูป ไม่ใช่เป็นกาม ได้อยู่กับรูปธาตุ พอจิตมีสมาธิก็ได้พบธาตุที่มันละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก อรูปธาตุ แล้วก็มาอยู่กับนิโรธธาตุ คือใจมันเย็น ใจสงบ ได้พบธาตุอันนี้ แล้วก็พยายามรักษาให้มันมั่นคงยิ่งขึ้น อย่าหลุดเสียอีก ให้จิตมันได้อยู่กับนิโรธธาตุ ญาติโยมตั้งใจปฏิบัติกันต่อไปนี้.