แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย สมพงษ์เวฬุวันเป็นสถานที่ ทำเป็นที่ปฏิบัติธรรมใกล้ๆ กับสนามบินนั่นเอง เครื่องบินบินขึ้นบินลงๆ รู้สึกว่าทุก ๑๕ นาที อาตมาก็แนะนำว่า โยมอยู่แถวๆนี้ ถ้าเครียดกับเสียงเครื่องบินขึ้นลงๆ โยมจะลำบากมาก ฉะนั้นขอให้ถือโอกาสปฏิบัติธรรมทุกครั้ง ที่มีเครื่องบินบินขึ้นบินลง คือพยายามแผ่เมตตา เวลาเครื่องบินลงมา ก็แผ่เมตตาต้อนรับ ปรารถนาให้ชาวต่างประเทศ หรือว่าคนที่อื่นที่เดินทางมาพักเกาะสมุย ขอให้เขามีความสุข ปราศจากความทุกข์ เวลาเครื่องบินขึ้นก็พยายามแผ่เมตตา
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรม เราสามารถทำได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะถ้าเราเข้าใจว่า ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ที่เราจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่
อาตมาก็แนะนำว่า สิ่งที่เราเกี่ยวข้องในร่างกายของเรา ก็มีอยู่ ๒ อย่าง
คือ ๑. ร่างกาย ๒. จิตใจ นี้ก็คือสังขารธรรมหรือสังขตธรรม สิ่งที่อยู่ข้างนอกจะเป็นเสียง จะเป็นกลิ่น จะเป็นรส จะเป็นอารมณ์ต่างๆ เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นผู้ เป็นคน ร้านค้าต่างๆ ที่ผ่านไป ให้มองเห็นว่าเป็นแต่เพียงสังขาร คือสิ่งปรุงแต่ง
ฉะนั้น โยมทั้งหลายมาปฏิบัติธรรมที่นี่ พยายามที่จะเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยย่อ โดยสรุปก็มีเพียง ๒ อย่าง ๑. สังขตธรรม
๒. อสังขตธรรม คำว่าสังขตธรรม คือสิ่งที่มีเหตุ มีปัจจัยปรุงแต่ง ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมา ชีวิตของเรา เป็นรูปก็ดี เป็นนามก็ดี หรืออื่นๆ ที่ญาติโยมทั้งหลาย บางทียังไม่ได้เรียนรู้ เช่น เบญจขันธ์ เช่น อายตนะ เช่น อินทรีย์ ๖
ชีวิตของเราโดยย่อ คือรูปกับนาม จากรูปกับนามก็เป็นเบญจขันธ์ คือรูป แล้วก็เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็วิญญาณ รูปเป็นวัตถุสามารถมองเห็นได้ ลูบคลำได้ ฟังได้ เสียงนี้ก็ถือเป็นรูป กลิ่นก็ถือว่าเป็นรูป รสอาหารที่เรารับประทานหรือรู้สึกก็เป็นรูป มีอะไรมาพบมากระทบผิวหนังทางร่างกาย ก็เรียกว่าเป็นรูป เป็นรูปที่มันละเอียดเป็นชั้นๆไป
ส่วนนามก็คือจิตใจโดยเฉพาะ ทีนี้ ที่เรียกว่าเวทนาคือความรู้สึก ทีนี้ไม่ใช่รูป เป็นนาม แล้วก็สัญญาความจำได้หมายรู้ เห็นรูปจำรูป ฟังเสียงจำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมารมณ์ เขาเรียกว่าสัญญา แต่มันมีสัญญาชนิดหนึ่ง เป็นสัญญาที่ทำให้เราเป็นทุกข์ คือความสำคัญผิด คือสำคัญว่าเที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงสำคัญว่ามันเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์สำคัญว่าเป็นสุข คือเข้าใจผิดว่ามันเป็นสุข สิ่งที่ไม่งามสำคัญว่างาม สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเรียกว่าสำคัญว่าเป็นตัวตน เขาเรียกว่าสัญญาวิปลาส ความสำคัญผิดนี้ มาจากกิเลสที่มันเข้ามาอยู่ในจิตใจของเราได้
โดยเฉพาะอวิชชาคือความไม่รู้ โมหะคือความหลง มันมีชื่อหลายๆชนิด พอจิตถูกกิเลสเหล่านี้ เข้ามาปิดบัง เข้ามาครอบงำ ทำให้เข้าใจผิด สำคัญผิด สำคัญว่าเที่ยง สำคัญว่าเป็นสุข สำคัญว่ามีตัวมีตน นี่ตัวอันตราย
ฉะนั้น สัญญาธรรมดาไม่เท่าไร แต่ว่าถ้าสัญญาวิปลาส นี่ปัญหาที่มีมาจากสำคัญผิด สัญญาเหล่านี้มันทำงานร่วมกับสังขาร คือการปรุงแต่ง ปรุงแต่งขึ้นในจิตใจของเรา คือคิดอย่านั้นคิดอย่างนี้ สังขารมีความหมายมาก สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเป็นสังขารทั้งหมด
สิ่งไม่มีชีวิต ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ธรรมชาติสร้างขึ้นมา สิ่งที่เรามองเห็น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว อะไรต่างๆ เป็นสังขารทั้งหมด เป็นสังขตธรรม มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้น เป็น เขาเรียกวิสังขารหรืออสังขตธรรม คือพระนิพพาน พระนิพพานแปลว่าความดับ ดับกิเลส ดับความทุกข์ แล้วก็เย็น สงบ นี้เป็นธรรมชาติเหมือนกัน ธรรมชาติที่เป็นอสังขตธรรมหรือวิสังขาร แล้วมันอยู่ด้วยกัน อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา มันอยู่ด้วยกัน
ทีนี้ การที่จะรู้จักอสังขตธรรมหรือวิสังขาร คือพระนิพพาน รู้ได้ด้วยใจเท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นได้ รู้สึกได้ รู้ได้ด้วยใจ
ทีนี้ ในครั้งพุทธกาล
มีคนมาถามพระพุทธเจ้าว่า : พระนิพพาน พระนิพพานที่พระองค์ตรัส พวกข้าพระองค์สามารถจะเข้าใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อพระองค์มีไหม
ถามพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า : พระนิพพานที่ข้าพระองค์รู้จักได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อพระองค์ คือไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้ามีไหม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า : มี
คนเหล่านั้นเขาก็ถามว่า : เป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ตรัสถามว่า : เมื่อใดจิตใจของพวกท่านมีกิเลส เช่น มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง เวลานี้จิตใจของพวกท่านรู้สึกเป็นสุข รู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกมันมืด รู้สึกสว่าง ใครๆ ก็รู้ได้ เวลาเรามีความโลภ เวลาเรามีความโกรธ เวลามีความกลัว มีความวิตกกังวล มีความหลงพวกนี้ ใจก็ไม่สบาย
ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ถามใหม่ว่า : เมื่อใดจิตใจของพวกท่าน ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง จิตใจเป็นยังไง จิตใจก็สบาย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า : นี่มันเป็นนิพพาน ที่พวกท่านเห็นเอง
เพราะฉะนั้น ในชีวิตของเรามันอยู่ที่การอบรมจิตใจ ถ้าจิตใจเข้าใจธรรมะปัญหามันจะลดลงๆ ในที่สุด จนกระทั่งปัญหามันไม่มี คือชีวิตของเรามันได้เลื่อน เลื่อนจากชีวิตธรรมดาเป็นปุถุชนคนธรรมดา เลื่อนขึ้นมาสู่กัลยาณชน คือคนดี
เพราะฉะนั้น อย่างโยมขณะนี้ทุกคน ไม่ว่าโยมตำรวจทุกคน ญาติโยมทุกคน มันไม่ มันยังเป็นคนธรรมดา แต่มันเลื่อนมาอยู่ในลักษณะเป็นคนดี ลักษณะเป็นคนดี เพราะว่ามาปฏิบัติศีล มาปฏิบัติธรรม มาสำรวมระวัง มีการฝึกให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะ ให้มีความเพียรเพิ่มขึ้น มันก็เลื่อน เห็นได้ชัดว่ามันเลื่อน เลื่อนขึ้นมา ทีนี้ ถ้าเราไม่หยุดปฏิบัติ ต่อไปจิตใจจะเลื่อนสูงขึ้นๆ
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้ทางที่คนเดินไปเดินมา พระพุทธเจ้ามีผิวพรรณผ่องใส เขาเรียกว่าฉัพพรรณรังสี คือรัศมีที่กระจายออกจากพระวรกาย คนก็รู้สึกได้ แล้วสังเกตดูว่า เวลาคนที่เครียด คนที่เป็นทุกข์ โยมเห็นจะรู้สึกได้ว่า เขามีปัญหา เขามีความทุกข์
ฉะนั้น คนที่เขาจิตใจสบาย มีศีลมีธรรม หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เราเห็นก็สัมผัสได้ ที่เขาเรียกว่า เห็นพระอริยเจ้าเป็นมงคล การได้พบพระอริยเจ้า
เอตัมมัง คะละมุตตะมัง มันเป็นมงคล คือพระที่จิตใจสงบ มีการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คนเห็นเขาก็ประทับใจ เพราะว่ากระแสจิต มันทำให้คนรู้สึกได้ เหมือนอย่างว่า พระอัสสชิที่ท่านเป็นพระอรหันต์ เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติสสมาณพ ต่อมาที่เป็นพระสารีบุตร ต้องการแสวงหาความรู้แสวงหาธรรมะ แต่หาไม่เจอ ไปอยู่กับสัญชัยซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง แต่ก็ไม่เป็นที่พอใจ แล้วก็มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อโกลิตมาณพ คือพระโมคคัลลานะ ก็สัญญากันว่า ถ้าใครได้พบธรรมะให้ช่วยบอกด้วย
วันหนึ่งขณะอุปติสสมาณพ ที่เรียกว่าพระสารีบุตรต่อมา ก็ได้เห็นพระอัสสชิไปบิณฑบาตก็ประทับใจว่าไ ม่เคยเห็นพระที่มีความสงบอย่างนี้ ก็ติดตามไป ได้โอกาสก็ถามว่า ท่านบวชอุทิศต่อใคร อาจารย์ของท่านสอนว่ายังไง
พระอัสสชิบอกว่า อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ยังไม่สามารถที่จะตอบให้ท่านเข้าใจได้ทั่วถึง อุปติสสมาณพบอกว่า ขอให้แสดงโดยย่อก็ได้ พระอัสสชิก็พูดสั้นๆ ว่า
เย ธัมมา เหตุปัปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญ จ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโน ที่เขาเรียกว่า คาถาพระอัสสชิ
แล้วก็มีจารึกคำสอน เย ธัมมา อย่างที่นครปฐมก็มีการพบหลักฐานจารึก เย ธัมมา เหตุปัปภวา ว่าธรรมทั้งหลายนี้เกิดจากเหตุ พระศาสดาแสดงเหตุ แห่งธรรมนั้นและการดับเหตุแห่งธรรมนั้น หมายความว่าความทุกข์ ปัญหามันเกิดจากเหตุ การดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ
อุปติสสมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เข้าใจธรรมะ เข้าใจธรรมะว่าทุกอย่างมันเกิดจากเหตุ ความทุกข์มันเกิดจากเหตุ ความทุกข์จะดับเพราะว่ากิเลสมันดับ
ต่อมาก็ได้มาบวชเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ชื่อว่าพระสารีบุตร นี่ไม่ได้พูดอะไรให้ฟังเลย เป็นแต่อุปติสสมาณพได้เห็นพระอัสสชิก็ประทับใจ
เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลาย โยมปฏิบัติไปๆ จิตใจของโยมก็สงบ และทำให้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในที่นี้ ก็พลอยสงบไปด้วย บรรยากาศก็สงบไปด้วย
ฉะนั้น อาตมาจึงพูดว่าโยมทั้งหลายมาอยู่ที่นี่ มาทำประโยชน์ โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจนี่ น้อยมากที่จะมีโอกาสปฏิบัติธรรม อย่างที่คุณสุเทพพูดเมื่อวานว่า จังหวัดสุราษฎร์เป็นจังหวัดพิเศษ ที่มีข้าราชการตำรวจอบรมมาหลายรุ่นแล้ว รุ่นที่ ๗ รุ่นที่ ๘ และรุ่นต่อๆ ไป
อาตมาก็พลอยดีใจด้วย ที่ญาติโยมทั้งหลายมาช่วยกันทำประโยชน์ ต่อไปจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง เป็นที่พึ่งของประชาชน ตำรวจ ตำรวจ โยมก็รู้ความหมายคือตรวจ ตรวจกับตำรวจมันคำเดียวกัน ตอนนี้โยมมาตรวจ มาตรวจดูจิตใจของตัวเองว่า จิตใจเป็นอย่างไร
ตอนที่เราทำหน้าที่ตำรวจก็คือตรวจตราดูแล ป้องกันโจรผู้ร้าย อาชญากรรม อาชญากรต่างๆ ตรวจคือตรวจข้างนอก ตอนนี้มาตรวจข้างใน
มาดูจิตใจของตัวเอง จะต้องตั้งใจทำ
การปฏิบัติธรรม สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือสติ สติต้องระลึกอยู่กับธรรมะตลอดเวลา เรียกว่าเป็นสัมมาสติ ระลึกอยู่กับธรรมะตลอดเวลา แล้วก็มีสัมปชัญญะ
ให้จิตใจตื่น ตื่นอยู่ตลอดเวลา คือมีปัญญามาอยู่ในจิตใจ แล้วก็มีความเพียร
อาตาปี สัมปะชาโน สติมา คือการฝึกจิต แล้วโยมก็ต้องพอใจด้วย เรียกว่า
มีฉันทะคือพอใจ เมื่อเราพอใจมันก็มีความเพียรที่จะทำ
งานทุกเรื่อง ถ้าเราพอใจที่จะทำ ทำสำเร็จหมด จะยากขนาดไหน ยกตัวอย่างว่า ช่างแกะ ช่างสลักจะสกัดหินทำเป็นพระพุทธรูปอย่างนี้ จะแกะทีละนิดๆ จนกระทั่งออกมาเป็นพระพุทธรูปที่สวยงาม ต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี ต้องอาศัยความเพียรมาก
คนที่ไปเที่ยวอินเดีย อย่างถ้ำอชันตา ถ้ำหลายๆถ้ำ ที่เขาสกัดถ้ำทำเป็นพระพุทธรูปเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ เขาบอกว่าเป็นฝีมือของพระส่วนใหญ่
พระราชาอุปถัมภ์ เศรษฐีมีเงินอุปถัมภ์ แต่ว่าฝีมือที่แกะสลักเป็นฝีมือของพระ
พระพุทธรูปแต่ละยุค แต่ละสมัยไม่ค่อยเหมือนกัน สมัยนี้ก็ทำพระพุทธรูปออกมาเยอะ แต่ว่ารูปลักษณะที่งดงาม ที่คนดึงดูด ที่คนดูแล้วดึงดูดจิตใจ มันไม่ค่อยเหมือนกัน อย่างประเทศไทยเรายุคเชียงแสน ยุคสุโขทัย เรียกว่าสวย แต่ว่ายุคก่อนหน้านี้ เช่น ยุคทวารวดี ที่อาตมาประทับใจอยู่องค์หนึ่ง อยู่ที่ไชยา และเขาจำลองที่วางไว้ที่นี่ แต่ว่าไม่ค่อยเหมือน มองแล้วใจของเราสงบ เพราะว่ารูปลักษณะสงบ
ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านจึงแนะนำว่า พระพุทธรูปไม่ต้องมีหลายองค์ แต่เลือกสักองค์หนึ่ง ที่เรามองแล้วเราสงบ ใจสงบ เหมือนอย่างรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่เขาสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย ที่สวนโมกข์มีองค์หนึ่ง ลองไปมองดู มองที่พระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ใจของผู้มองจะมีความสงบ จะเกิดความรู้สึก
เพราะฉะนั้น มองพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจะได้ธรรมะคือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ เป็นบารมีของพระโพธิสัตว์ บารมีก็มีหลายอย่าง เช่น บารมี ๑๐
แต่ว่าหัวใจของบารมีพระโพธิสัตว์ คือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ จริงๆต้องมีปัญญามาก่อน ปัญญาแล้วก็บริสุทธิ์ หัวใจบริสุทธิ์แล้วก็มีเมตตา มีขันติ
ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติธรรมที่นี่ คือมาสร้างบารมี บารมีคือเติมคุณธรรมลงในจิตใจให้มันเพิ่มขึ้นๆ เหมือนอย่างว่า เราตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่โอ่ง แม้แต่ฝนตกจากหลังคาทีละเม็ด ทีละหยด ถ้าตุ่มมันไม่รั่ว วันหนึ่งตุ่มก็จะเต็มไปด้วยน้ำ ฉันใดเหมือนกับการปฏิบัติธรรม มันก็เลยเพิ่มทีละนิดๆ และถ้าเรามีคุณธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจ คือจิตใจสงบ แล้วจิตมันชอบเอง ไม่ต้องบอกมันชอบเอง ต่อไปโยมก็จะได้พอใจในการปฏิบัติ ฝึกสมาธิประจำวันมากขึ้นๆ
เดี๋ยวนี้พวกฝรั่งที่เขานำวิธีฝึกสมาธิไปสอน ไปรักษาคนป่วย เขาบอกว่าวันหนึ่งนั่งสมาธิสัก ๑๕ นาที ทำได้ทุกวัน คนจะหายเครียด จะคลายเครียด
จะแก้ปัญหาได้ ลดอารมณ์ร้อน ลดอารมณ์ร้าย ฉะนั้นที่โยมทั้งหลายมาอยู่ที่นี่มาฝึก มาฝึกให้คุณธรรมเพิ่มขึ้นๆ แล้วจะได้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาให้ครอบครัว แก้ปัญหาให้สังคม แก้ปัญหาให้ประเทศชาติ ศาสนา
อาตมาพูดไปแล้วว่า พุทธศาสนาอยู่ที่พุทธบริษัท คือพวกเรานี้เอง ดังนั้นการที่โยมมาอยู่ที่นี่ คือมาปฏิบัติ ความจริงการปฏิบัติทำได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง อย่างที่อาตมาพูดให้ญาติโยมฟัง ที่สนามบินเครื่องบินบินขึ้นบินลงๆ ทุก ๑๕ นาที แต่ว่าเราปฏิบัติธรรมะให้มันถูกกับกาลเทศะ เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นก็ใช้ธรรมะข้อไหน แต่ว่าสตินี่ขาดไม่ได้ สติสัมปชัญญะ คือความเพียร
เมตตา หาโอกาสแผ่เมตตา เห็นคน เห็นสัตว์ มองเห็นสิ่งของ ก็มีสติรู้ว่านี่สังขารทั้งนั้น จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ สังขารทั้งนั้น แล้วก็ให้รู้ต่อไปว่าถ้าสังขารมันคือไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันตั้งอยู่ไม่ได้ มันเป็นสังขาร และสังขารมันจะต้องสูญสลายไปโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่แน่นอน
ทีนี้ ชีวิตของเรามันคือสังขาร วันหนึ่งมันจะต้องพบกับความแก่ พบกับความเจ็บ พบกับอุบัติเหตุไม่แน่นอนทั้งนั้น แต่วันนี้เรามีชีวิตอยู่ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า อดีตมันผ่านไปแล้ว ไม่ต้องไปสนใจมัน แต่ว่าเอาอดีตมาเป็นตัวอย่าง เราเคยทำผิดทำพลาดไม่เป็นไร แก้ไข แก้ไขใหม่ได้ มาทำกรรมใหม่
พุทธศาสนาสอนเรื่องกรรม ก็ถือว่าสำคัญมากคือ ๑. กรรมเก่า ๒. กรรมใหม่ กรรมเก่าก็คือชีวิตของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถือว่ากรรมเก่า กรรมใหม่คือกรรมที่เราทำในปัจจุบัน ก็มีอยู่ ๓ ชนิด กรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมดำคือกรรมชั่ว พอกิเลสเข้ามาอยู่ในจิตใจของเรา ก็ทำชั่วได้ ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี พอกิเลสมันเข้ามาบังคับจิตใจของเรา เป็นเหตุให้ฆ่า ให้ลัก ล่วงเกินของรัก ทางวาจา ให้พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มาจากกิเลส มันเข้ามาอยู่ในจิตใจ
ทีนี้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมก็พยายามเอาชนะกิเลส ก็ทำกรรมดี ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางจิตใจก็ดี มาอบรมให้จิตมีคุณธรรม เข้มแข็ง ต่อสู้กับกิเลสได้
นี่คือ สิ่งที่ญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติ อาตมาเชื่อว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์ ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ตั้งใจทำจริงๆ ท่านอาจาย์พุทธทาสแนะนำว่า การฝึกสมาธิเหมือนกับนั่งถีบจักรยาน หรือเหมือนกับพายเรือ คนไม่เคยถีบจักรยาน พอขึ้นจักรยานมันก็ล้ม ทีนี้พอหัดดำรงตัวแล้วค่อยๆ ถีบ ต่อไปก็ถีบจักรยานวางมือก็ยังทำได้ พายเรือก็เหมือนกัน คนไม่เคยพาย พอพายหัวแกว่งไปทางนี้ที หัวแกว่งไปทางโน้นที พายเรือให้หัวตรง มันก็ต้องมีสมาธิ ด้วยการฝึก ด้วยการหัดเกือบทุกเรื่อง
สิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเราฝึกสัมมาสมาธิ สมาธิมันมีทั้งผิด ทั้งถูก มิจฉาสมาธิก็มี สัมมาสมาธิก็มี ที่เรามาฝึกๆ สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิเหมือนอย่างว่ามือปืนรับจ้างยิงคนไม่พลาดเหมือนกัน แต่เขาใช้สมาธิเพื่อจะฆ่าคน หรือว่าพวกชาวประมงที่ใช้ฉมวก แทงปลาไปแล้วก็แทงไม่พลาด ใช้ปืนยิงนก ยิงสัตว์ สมาธิเหมือนกัน แต่มันเป็นมิจฉาสมาธิ
สัมมาสมาธิ คือจิตต้องไม่มีอุปกิเลส คือไม่มีนิวรณ์ ไม่มีอารมณ์รัก ไม่มีอารมณ์โกรธ ไม่มีอารมณ์เบื่อ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ลังเลสงสัย เขาเรียกว่าไม่มีนิวรณ์ ภาษาบาลีเรียกว่ากามฉันทะ อารมณ์รัก พยาบาท อารมณ์โกรธ ถีนมิทธะ อารมณ์เบื่อ อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย
พระพุทธเจ้าอุปมาว่า จิตเดิมของเรามันเป็นจิตที่ผ่องใส เหมือนอย่างน้ำที่มันสะอาด น้ำที่สะอาด พอมองลงไปเห็นมันจะเห็นเงาหน้า เงาหน้าของเรา มันสะท้อนให้เห็นเงาหน้า น้ำที่สะอาดนี่ ถ้าเอาสีลงไปผสม สีดำ สีเขียว สีอะไรก็ตาม พอน้ำผสมสี มองไม่เห็นเงาหน้า เห็นไม่ได้ เหมือนกันกับจิตมีอุปกิเลส เช่น เกิดกามฉันทะ จิตมีอารมณ์รัก จิตก็จะมืด จะไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง
พยาบาทเหมือนอย่างน้ำที่ใส แต่เอามาต้มให้มันเดือด น้ำที่กำลังเดือดอยู่ มองไม่เห็นเงาหน้า มองเห็นไม่ได้ เหมือนอย่างเรามีอารมณ์โกรธ มันจะไม่มองเห็น แม้แต่บุญคุณของผู้มีบุญคุณ ก็มองไม่เห็น บุญคุณของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ นี่มองไม่เห็น ในขณะที่โกรธ จิตไม่มีสมาธิ
อารมณ์เบื่อ ถีนมิทธะ อุปมาเหมือนอย่างน้ำที่ใส แต่มีจอก มีแหน มีสาหร่าย ปกคลุมเต็มไปหมด จะมองไม่เห็นว่าอะไรอยู่ภายในน้ำ มันมองไม่เห็น เมื่อเรามีอารมณ์เบื่อ ง่วงนอน อ่อนเพลีย ก็ต้องแก้ไขมัน
ฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉาเหมือนอย่างน้ำที่มันใส แต่ลมมันพัด พอลมพัดก็เป็นระลอก เป็นคลื่น จะมองให้เห็นเงาหน้ามันไม่ได้ วิจิกิจฉา ลังเลสงสัยเหมือนอย่างน้ำในภาชนะที่วางในที่มืด จะไปมองให้เห็นเงาหน้า มองเห็นไม่ได้ นี่เขาเรียกอุปกิเลส
นี่เราฝึกสมาธิคือป้องกัน ไม่ให้มีอุปกิเลสเหล่านี้ คือไม่มีนิวรณ์ นิวรณ์มันเป็นอาหารของอวิชชา อวิชชาเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายมาจากอวิชชา คือความไม่รู้ คือไม่มีความรู้ แต่ไม่ใช่ความรู้ธรรมดา แต่ไม่มีความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือไม่มีความรู้ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง มันไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีความรู้เรื่องนี้
ทีนี้ บางคนเรียนรู้แต่มันไม่เห็น รู้ เข้าใจ พูดได้ อธิบายได้ แต่มันไม่เห็น อบรมให้จิตมันเห็น ที่ว่าดวงตาเห็นธรรม เห็นด้วยใจ เห็นด้วยใจว่า สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตใจก็เบื่อหน่าย แล้วก็คลายออกจากการยึดถือ นี้เป็นธรรมะระดับสูง
ที่ญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติ ไม่ใช่มาปฏิบัติระดับธรรมดา เป็นการปฏิบัติระดับสูง ถ้าเป็นการทำบุญก็ทำบุญระดับสูง ทำบุญระดับธรรมดาเรียกว่าทาน ให้ทานนี่ธรรมดา รักษาศีลก็ยังธรรมดา
ภาวนา ภาวนามันระดับสูง แต่มัน ๒ ระดับ ๑. สมถภาวนา อบรมจิตให้มีสมาธิ พอได้สมาธิมาอบรมวิปัสสนา คือตามดูสังขารที่อยู่ในเรา เช่น ลมหายใจเข้าออก เป็นสังขารมันไม่เที่ยง เวทนาทั้งหลาย ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุข มันไม่เที่ยง ความคิดนึกทั้งหลาย คิดดีคิดชั่ว มันไม่เที่ยง ก็ดูมัน พอเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จนจิตมันก็ข้าม ข้ามจากสังขารมาสู่วิสังขาร คือมาสู่นิพพาน ข้ามจากวัฏสงสาร คือความที่เป็นทุกข์ มาสู่ความไม่มีทุกข์ คือพระนิพพาน ฉะนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลายพยายามเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติ
เอาล่ะต่อไปนี้ก็จะปฏิบัติกัน ก็ตั้งใจปฏิบัติ เวลานั่งปฏิบัติมันจะปวด มันจะเมื่อย ก็มีสติรู้ว่า นี่เป็นทุกขเวทนา ที่มันมีอยู่ในชีวิตของเรา บางทีก็ต้องใช้ขันติทน อดทน เจ็บก็เจ็บไป เรื่องเวทนาก็ใช้สุขเวทนาเป็นหลัก คือทำจิตใจให้มันเกิดปีติ ทำจิตใจให้เกิดความสุข
อย่างอานาปานสติขั้นที่ ๑ ที่แนะนำให้โยมปฏิบัติให้มาก ๑ ตามลม ตามลมจากปลายจมูกมาที่ท้อง จากท้องมาที่ปลายจมูก ติดตามไปเรื่อยๆ ต่อมาหัดสร้างภาพ มองเห็นเหมือนอย่างภาพที่มันเคลื่อนไปกับลมหายใจ ลมจริงๆ เราไม่เห็นรูปร่าง เนื้อตัวของลม มองไม่เห็น แต่ว่าลมพัดเอาก้อนเมฆ เอาควันไฟอะไรมันก็จะลอยไป ลองหัดสร้างมโนภาพ ให้เห็นเหมือนอะไรที่มันเคลื่อนไปกับลมหายใจ ตามดูหายใจเข้า หายใจออก ก็ติดตามอย่างนี้ ตัวปีติก็จะเกิด เกิดปีติทีแรก ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ของสมาธิ
ทีนี้ เมื่อเกิดปีติแล้ว ต่อไปก็ใช้ปีติเป็นอารมณ์ของสมาธิ หายใจเข้าจิตมันก็อิ่ม หายใจออกก็อิ่ม นี่ก็พบความสุขแล้ว แต่ว่าปีติมันยังหยาบ บางทีคนที่พบใหม่ๆ บางทีขนลุก ขนพอง น้ำตาไหล นี่อาการของปีติ บางคนที่มันยัง ยังไม่เคยพบ ก็หยุดเลย กลัว บางคนกลัว ความจริงก็เป็นอาการของปีติ ที่มันปรุงแต่งจิต พอศึกษามันไปก็มันคือสังขาร ปีตินี่ก็สังขารก็ปล่อยมันไป ความสุขก็ตามมา ความสุขต้องรักษาเอาไว้
ต่อไปจิตก็มีสมาธิ เป็นจิตดีๆ เป็นจิตปราโมทย์ จิตตั้งมั่น จิตปล่อย ต่อไปจะพบความสุขที่สูงขึ้นๆ แล้วก็มาดูสังขาร อย่างที่อธิบายไปแล้ว ทุกอย่างสังขาร ยกเว้นพระนิพพานเท่านั้น
ทีนี้ การที่จะทำให้จิตมันเย็น ก็ต้องปล่อยวาง อย่าไปคิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา แล้วก็ทำไปเรื่อยๆๆ ขณะนี้อาจจะไม่เข้าใจ แต่ต่อไปวันหน้า ก็จะเข้าใจมากขึ้นๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเกิดป่วยหนัก หรือว่าเกิดใครตาย ถึงแก่ความตายอย่างนี้ มันจะเข้าใจธรรมะอันนี้ได้ เพราะฉะนั้น ธรรมะนี้มันเป็นเครื่องมือ เป็นอริยทรัพย์ที่จะนำชีวิตของเราให้มันก้าวหน้าได้รับประโยชน์ ได้รับความสุข
เอาล่ะต่อไปก็ตั้งใจปฏิบัติกัน อย่างน้อยก็ครึ่งชั่วโมง ตั้งใจปฏิบัติกันต่อนี้ เริ่มต้นก็ตามลมอย่างที่ว่านี้ แล้วก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ