แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย ขึ้นมาพักที่ทีปภาวันบนภูเขา เพื่ออบรมจิตใจ เจริญสมาธิภาวนาด้วยจิตตภาวนา อาตมาหวังว่า ญาติโยมทั้งหลายจะได้ก้าวหน้าขึ้นมาตามลำดับ เมื่อก่อนที่ยังไม่ตั้งใจจะปฏิบัติ ก็จะไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ ญาติโยมทั้งหลายจะได้สังเกตชีวิตของญาติโยมเอง ว่าในชีวิตของเรามีอะไรบ้าง เราจะได้รู้จักหน้าตาของมันมากขึ้น เราจะได้จัดการปรับปรุงให้ดีขึ้น
ในพระพุทธศาสนามีเรื่องใหญ่อยู่เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งคนทั่วไป ถ้าไม่ได้สนใจพุทธศาสนาจะไม่รู้เรื่อง แต่ว่าสิ่งนี้สำคัญที่สุด ญาติโยมทั้งหลายลองสังเกตดู ติดตามข่าวดู แต่ละวันๆ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ เกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้นในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล คนทั่วไปไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไร สำหรับคนที่นับถือศาสนาอื่น เขาอาจจะคิดตามความเชื่อ ของคำสอนในศาสนานั้นๆ เช่นเชื่อว่า เพราะพระเจ้าบันดาลให้คุณ ให้โทษก็เชื่อกันอย่างนั้น เพราะยอมรับว่าพระเจ้าเป็นผู้จัดการ
แต่สำหรับชาวพุทธเรา เรามีเชื่อ มีความเชื่อว่ามาจากการกระทำ เรียกว่ากรรม เรื่องกรรม เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แล้วก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั้นเอง บางคนอายุสั้น บางคนอายุยืน บางคนร่ำรวย บางคนยากจนเป็นไปต่างๆนาๆในชีวิตของคน ตั้งแต่เกิดจนตายจะไม่ค่อยเหมือนกัน ก็มาจากสิ่งนี้นี่เองคือกรรม กรรมนี้แปลว่าการกระทำ แต่ความหมายของกรรมจริงๆ อยู่ที่เจตนาในการกระทำ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาเป็นตัวกรรม เจตนาก็คือเรื่องจิตใจนั่นเอง แต่ว่าการทำกรรมทำได้ ๓ ทาง แล้วกรรมก็มีหลายชนิด กรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมดำคือกรรมชั่ว กรรมขาวคือกรรมดี กรรมไม่ดำไม่ขาวคืออยู่เหนือชั่วเหนือดี กรรมดำที่ทำทางกายก็คือทำชั่วทางกาย เช่นการฆ่า การลัก การล่วงเกินของรัก กรรมดำหรือกรรมชั่วทางวาจา คือพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และก็มโนกรรม กรรมดำคือกรรมที่ทำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง คือกิเลสนั่นเอง
ทีนี้กรรมขาวทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ ก็เช่นเดียวกัน ทางกายเช่นไม่ฆ่าไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก ทางวาจา ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ก็มาจากมโนกรรม ในขณะนั้นจิตมันว่าง จิตมันว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลง
ความจริงการกระทำทางกาย ทางวาจา มาจากจิตใจก่อน จิตเป็นอย่างไรการกระทำ คำพูดมันเป็นไปตามอำนาจของจิต ทีนี้ถ้าจิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง การกระทำทางกาย ทางวาจา ก็ต้องผิดก็ต้องชั่ว เรียกว่าเป็นกรรมดำ ถ้าทำกรรมดำ ทำความชั่ว ก็ให้ผลเป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อนอันนี้แน่นอน โดยเฉพาะจะเกิดขึ้นในจิตใจก่อน เพราะเราถูกกิเลสครอบงำ จะเห็นได้ชัด เช่นความโกรธ พอเกิดความโกรธขึ้นมา ใจก็จะเร่าร้อน เหมือนอย่างไฟเผา กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะความโกรธ ถ้าบังคับไว้ไม่ได้ ก็ออกมาเป็นการกระทำ เช่นไปฆ่าเขา ไปลักขโมยของของเขา ไปล่วงเกินของรักของเขา เพราะบังคับจิตใจไว้ไม่ได้ คำพูดก็เช่นเดียวกัน จะพูดโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด ในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่ที่สังเกตที่พูดไม่มีสาระ ก็มาจากโมหะ มาจากโมหะครอบงำจิตใจของคนนั่นเอง
เพราะฉะนั้นราคะ โทสะ โมหะ โลภะ โทสะ โมหะ มันเป็นเรื่องของกิเลส พอมันเข้าไปอยู่ในจิตใจของเราได้ มันก็ทำให้จิตใจของมันสูญเสียสภาพเดิมของมันคือจิตประภัสสร เป็นจิตปกติและทำให้เกิดปัญหา และเราต้องรู้ว่ากิเลสไม่ได้เข้ามาอยู่ตลอดเวลา มันเข้ามาบางครั้งบางคราว เมื่อเราขาดสติ ไม่มีสัมปชัญญะมันก็จะเข้ามาที่ตรงนั้น เข้ามาแล้วมาทรมานร่างกาย มาทรมานจิตใจ มาเบียดเบียนจิตใจ แล้วมันค่อยดับไป แล้วก็เข้ามาใหม่อีก มันก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้
เพราะฉะนั้นกรรมนี้เกิดจากผัสสะ ผัสสะก็คือตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นกระทบกับรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ จิตรู้อารมณ์ ที่เคยพูดมาแล้วว่า ๓ อย่างทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะ เช่นตา๑ รูป๑ วิญญาณ๑ ทำงานร่วมกัน เรียกว่าเป็นจักขุสัมผัส ตรงสัมผัสเนี่ย มันทำให้เกิดหลายๆอย่างตามมา เช่นเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ มันเกิดเมื่อผัสสะ ความจำได้หมายรู้ก็เกิดเมื่อผัสสะ ความคิดนึกก็เกิดเมื่อผัสสะ กรรมก็เกิดเมื่อผัสสะ ทิฏฐิก็เกิดเมื่อผัสสะ ทิฏฐิคือความคิด ความเห็นต่างๆก็เกิดที่ผัสสะ กรรมก็เกิดที่ผัสสะ เพราะว่าพอจิตมันทำงาน มันจะเกิดสิ่งต่างๆ ทีนี้ถ้าเจตนามันก็เป็นกรรม ทีนี้ในขณะที่จิตมันถูกครอบงำด้วยกิเลส เจตนาทำกรรมที่ไม่ดี ก็เป็นอกุศลกรรมบ้าง กรรมดำบ้างเป็นกรรมชั่วบ้าง ทางวาจาก็เช่นเดียวกัน นี่คือชีวิตของเรา
ทีนี้คนที่มีความทุกข์มีปัญหา ก็เพราะการกระทำของเขานั่นเอง ไม่ใช่พระเจ้าบันดาล และไม่ใช่ว่ามาจากไม่มีเหตุ มันมีเหตุมีปัจจัย แต่เราต้องรู้ว่ากรรมนี้สามารถแก้ไขได้ ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้
ทีนี้บางคน บางเหล่าเชื่อว่ามาจากกรรมเก่า ที่เราต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างนี้มาจากกรรมเก่า ถ้ามีความเชื่ออย่างนี้ แก้ไขชีวิตตัวเอง ไม่ได้ดับทุกข์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ความสุขความทุกข์มันมาจากเหตุ ไม่ใช่ไม่มีเหตุ มันมีเหตุ ไม่ได้มาจากกรรมเก่าอย่างเดียว เพราะกรรมนี้มันเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมีกรรมดำกรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมดำก็คือกรรมชั่ว
ทีนี้คนเคยทำชั่ว ทำชั่วมาก็เพราะความไม่รู้ ต่อมาได้ยิน ได้ฟัง พบผู้รู้ก็เปลี่ยนมาทำดี มันก็เปลี่ยนแปลงได้ ทำชั่วไม่ทำแล้วมาทำกรรมดี เวลาเราทำวัตรสวดมนต์ที่สวดว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่ทำบาปทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำกุศลให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ทำจิตให้ขาวรอบ อันนี้ก็เรื่องกรรมเหมือนกัน ไม่ทำปาบทั้งปวงคือไม่ทำกรรมดำ ทำกุศลให้ถึงพร้อม ก็คือทำกรรมขาว แต่ยังไม่สูงหรอก ถ้ายังยึดมั่นถือมั่น ก็ยังดับทุกข์ไม่ได้ แม้เราจะทำดี เพราะทำดีมันก็มีผลดี เช่นมีเกียรติยศชื่อเสียง มีทรัพย์สินเงินทอง เพราะเราทำดี แต่ถ้าไปยึดถือ มันก็ยังดับทุกข์ไม่ได้ ก็ต้องทำกรรมที่ ๓ อยู่เหนือชั่วเหนือดี ไม่ดำไม่ขาว ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
เมื่อปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ชื่อว่า ปฏิบัติในกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว อริยมรรคมีองค์ ๘ มีอะไร ก็มีอยู่ ๘ อย่างสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ อริยมรรคมีองค์ ๘
ทีนี้เพื่อง่ายในการปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ สรุปลงในไตรสิกขา เกิดศีลสมาธิ ปัญญา สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ นี่คือศีล ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ เราก็มีศีล สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบนี้เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย คนทั่วไปที่มีปัญหาเพราะว่าเลี้ยงชีวิตไม่ถูกต้อง การงานก็ไม่ถูกต้อง พูดจาก็ไม่ถูกต้องก็เดือดร้อนกันไป
ทีนี้สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ นี่คือสมาธิ ความเพียรความพยายามนี่คือสมาธิ โยมต้องรู้ ที่โยมพยายามอยู่เนี่ย มันคือเป็นส่วนของสมาธิ เช่นนั่งสมาธิโดยตรงก็ดี พยายามที่จะปฏิบัติตามเวลา ตารางเวลา นี้คือความเพียรทั้งนั้น ก็เป็นส่วนของสมาธิ และต้องมีสติก็เพิ่มขึ้นๆ ญาติโยมก็มีสติ สติในชีวิตประจำวัน เราก็ต้องมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าขาดสติจริงๆมันก้าวหน้าไม่ได้ จะเรียนจะศึกษาให้เข้าใจก็ไม่ได้ ถ้าขาดสติทำงานทำการก็ล้มเหลวอันตราย
ทำงานกับมีด กับขวาน กับไฟ กับน้ำ กับอะไรต่างๆ ขาดสติไม่ได้ แล้วเดี๋ยวนี้ มีรถมีราใช้กัน เราขับรถอย่างไม่มีสติ ก็อันตราย แม้จะขึ้นบันได ขึ้นบ้าน ขึ้นเรือน ทุกอย่าง ใช้ลิฟต์ใช้อะไรต่างๆ ทั้งนั้น ต้องมีสติ สติเป็นพวกสมาธิ
แต่ว่าที่ญาติโยมทั้งหลายมาฝึกนี่ มาฝึกสติที่เป็นสัมมาสติมากขึ้นๆ เกิดสติ ตามเห็นกายในกาย ตามเห็นเวทนาในเวทนา ตามเห็นจิตในจิต ตามเห็นธรรมในธรรม ที่มาฝึกสมาธิ นี่ทำให้สติมันสูงขึ้นๆ เพื่อจะได้มีสมาธิ สัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิสำคัญที่สุด หัวใจของสมาธิก็คือจิตต้องไม่มีสิ่งสกปรกเข้ามาอยู่คือไม่มีนิวรณ์ ซึ่งมีอยู่ ๕ อย่าง กามฉันทะ อารมณ์รัก พยาบาท อารมณ์โกรธ ถีนมิทธะ อารมณ์เบื่อ อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ต้องขจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ออกไป จิตก็บริสุทธิ์ จิตก็ตั้งมั่น จิตก็อ่อนโยน ถ้าสมาธิมีมากเท่าไรจะส่งเสริมให้เกิดสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้อง
สัมมาทิฏฐินี้เป็นตัวนำเป็นประธาน คนที่ทำอะไรแตกต่างกัน ก็มาจากทิฏฐิของเขา การพูดจาที่ไม่เหมือนกัน เพราะทิฏฐิของเขา การทะเลาะวิวาท บาดหมางกัน ก็ทิฏฐิของคนแต่ละคนที่มันต่างกัน เข้ากันไม่ได้ จนกระทั่งเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟัน สงครามมาจากทิฏฐิทั้งนั้น โดยเฉพาะมิจฉาทิฏฐิ
ที่นี้เราอบรม มาอบรมให้เกิดสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิก็มีอยู่หลายระดับ โดยสรุปคือ โลกียสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง แต่ยังอยู่ในระดับของโลก เช่นเห็นว่าโลกนี้มี โลกอื่นมี บิดามี มารดามี ผลในการทำกรรมดีกรรมชั่วมี มีเชื่อกรรม การเชื่อกรรมเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ยังอยู่ในระดับโลกียะ ก็พัฒนาสูงขึ้นเป็นโลกุตตระสัมมาทิฏฐิ คือเข้าใจเรื่องอริยสัจ เห็นอริยสัจว่าเป็นสิ่งสำคัญ
เห็นว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือทุกข์เป็นอย่างนี้ ทางถึงความดับไม่เหลือทุกข์เป็นอย่างนี้ เรียกว่ามีโลกุตตรสัมมาทิฏฐิให้เห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน อันนี้เป็น สัมมาทิฏฐิ
โดยเฉพาะถ้าเข้าใจเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตาว่างจากตัวตน ตถาตาพวกนี้ นั่นคือยอดของสัมมาทิฏฐิ จะต้องพัฒนา เมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้ว ต่อไปก็จะเกิดสัมมาสัมกัปปะตามมา คือจิตดำริ ถ้าความเห็นถูกต้อง ดำริจะถูกต้อง ดำริออกจากกิเลส คือคิดจะออกจากกิเลส ออกจากกาม ออกจากความพยาบาท ออกจากความเบียดเบียน คิดจะออกจากกิเลส นั้นก็เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ
การปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นกรรมที่ ๓ เป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรม เพื่อจะทำให้สิ้นกรรม พระอรหันต์ท่านปฏิบัติในกรรมไม่ดำไม่ขาว จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ทีนี้อริยมรรคมีองค์ ๘ สรุปลงในสมถะและวิปัสสนา อย่างที่เราปฏิบัตินี้ สมโถจะ วิปัสสนาจะ มัชฌิมาปฏิปทา อริยมรรคนี่เป็นทางสายกลาง เขาเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
ทีนี้เมื่อปฏิบัติสมถะคือจิตมีสมาธิ บริสุทธิ์ ตั้งมั่น อ่อนโยน ก็เจริญวิปัสสนา ก็มาตามเห็นสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวง เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่มีตัวตน กิเลสก็อยู่ไม่ได้ กิเลสก็ดับ เมื่อกิเลสดับ ความทุกข์มันก็จะดับ เรียกว่าทำให้อยู่เหนือกรรม กรรมทั้งหลายมันก็หมดไปๆ ยกตัวอย่างที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ อย่างองคุลีมาลเคยฆ่าคนตายมาเยอะ เพราะอาจารย์กลั่นแกล้งให้เข้าใจผิดว่า ถ้าต้องการเรียนวิชาสำเร็จ ก็ให้ไปเอานิ้วมือคนได้ประมาณสักร้อยสักพันอะไรอย่างนี้ มาดู องคุลีมาลมีความสามารถมาก ก็ไปฆ่าคน ตัดเอานิ้วมือมาร้อยเป็นพวงมาลัยองคุลีมาล องคุลีคือนิ้วมือ มาลาคือดอกไม้
องคุลีมาลได้พบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้สอนให้องค์ธุลีมาลเปลี่ยนมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จริงๆองคุลีมาลคอยซุ่มอยู่ระหว่างทาง ได้มายังไม่ครบ ยังเหลือนิ้วเดียว พอเห็นพระพุทธเจ้าก็ติดตาม พระพุทธเจ้าก็แสดงปาฏิหาริย์นิดหน่อยเท่านั้น พระพุทธเจ้านี่ เขาเชื่อว่าแสดงปาฏิหาริย์นิดหน่อย พระพุทธเจ้าเดินตามปกติ แต่องคุลีมาลวิ่งตามเท่าไรก็ไม่ทัน อย่างนี้เขาเรียกลักษณะปาฏิหาริย์
องคุลีมาลก็ตะโกนออกไปว่า สมณะหยุดก่อน สมณะหยุดก่อน พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเราหยุดแล้ว แต่แกยังไม่หยุด เมื่อฟังคำตรัสของพระพุทธเจ้าเพียงเท่านี้ องคุลีมาลก็ได้สติ ก็วางดาบ แล้วก็ขอขมาโทษ แล้วขอบวช พระพุทธเจ้าก็บวชให้ ต่อมาก็ได้บรรลุพระอรหันต์ นี่เพราะทำกรรมที่ ๓
ในชีวิตของเรานี้ ทำกรรมอะไรไว้ก็ไม่รู้ แต่ว่ากรรมนี้จะต้องติดตามไปเรื่อยๆ ถ้าทำกรรมชั่วไว้มาก ก็จะต้องเดือดร้อนมาก เหมือนอย่างวัวลากเกวียน ล้อเกวียนก็จะติดตามวัวนั้นไปเรื่อยๆ มันหนัก ลากเกวียนมันก็หนัก หมายความว่าจะพบความทุกข์พบปัญหาในชีวิตไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักหย่อน เพราะทำกรรมชั่ว เพราะกรรมชั่วมันให้ผล
ถ้าทำกรรมดี มันไม่หนัก ก็เหมือนอย่างเงาติดตามผู้นั้นไป เพราะฉะนั้นไปที่ไหน เงามันก็ตามผู้นั้นไป มันไม่หนัก แต่ว่ายังดับทุกข์ไม่ได้ มันต้องว่าง ต้องทำจิตใจให้ว่าง ก็คือการปฏิบัติกรรมที่ ๓ สรุปง่ายๆ กรรมที่ ๓ ก็คือการทำกัมมัฏฐานนั่นเอง
ฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายได้มาทำกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานก็มี ๒ อย่าง สมถกัมมัฏฐานกับวิปัสสนากัมมัฏฐาน สมถกัมมัฏฐานคือฝึกให้ได้สมาธิดังที่กล่าวมาแล้ว แล้วก็ฝึกวิปัสสนา นี้เป็นการทำกรรมที่ ๓
ทีนี้กรรมนี้เป็นเรื่องอธิบายซับซ้อนมากมาย มีถึง ๑๒ อย่าง เช่นว่ากรรมที่ทำให้เกิดขึ้นมา กรรมที่สนับสนุนให้ก้าวหน้า กรรมที่มาตัดรอนให้มันเปลี่ยน และกรรมที่ทำให้ยกเลิกไปเลย เป็นชื่อบาลี จำยาก ชนกกรรม อุปัตถัมภกกรรม อะไรอย่างนี้เป็นต้น จำยาก ภาษาบาลี แล้วยังมีกรรม ที่ให้ผลต่างๆกัน กรรมให้ผลในขณะนี้ กรรมให้ผลในชาตินี้ กรรมให้ผลในชาติหน้า กรรมให้ผลในชาติต่อๆไป และกรรมเลิกล้มกันไป เป็นอโหสิกรรมนี้ก็มี แล้วยังมีกรรมหนัก กรรมเบา กรรมเมื่อใกล้ๆจะตาย เรียกว่ากรรมสักว่าทำ มันมีเป็นประเภทๆ เป็นกรรม มันซับซ้อนอยู่ในชีวิตของเรา
ท่านญาติโยมทั้งหลายจะเห็นบางคนที่เราได้ยินข่าว ถ้าติดตามข่าวของคนต่อคนในชีวิต ในเส้นทางชีวิตของคนมันไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้น การที่ญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติธรรม ขอให้ถือว่าเป็นโชคดี เป็นโอกาสดี ต้องมองในแง่ดี มองในแง่บวก แล้วเราจะเกิดปีติ ปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์เกิด ปีตีเกิด ความสุข เพราะความสุขมันมาจากจิตใจของเรา ที่เรามองนั่นเอง ก็คือสัมมาทิฏฐินี่เอง ถ้าเรามองผิด จิตก็จะมีปัญหา การกระทำก็มีปัญหา ถ้าเรามองถูก จิตใจของเราก็จะคิดถูก ชีวิตของเราก็จะสบาย
งั้นสรุปแล้ว การที่ญาติโยมมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ทำกรรมชั่ว เช่นไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ โดยเฉพาะจิตใจก็ว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นระยะๆ ก็กิเลสเหล่านี้มันมาเมื่อผัสสะ ถ้าเราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราด้วยสติสัมปชัญญะ กิเลสก็เข้ามาไม่ได้ ใจของเราก็ได้ทำกรรมดี เพราะทำกรรมดี ความสุขก็จะติดตามมา และขอให้รู้ว่า ระดับดีมันยังไม่พอ มันยังหนักอยู่ ก็ต้องละมันอีกทีหนึ่ง การทำดีมันเหมือนอย่างเป็นเครื่องมือ เป็นยวดยานพาหนะ เป็นเสบียงสำหรับเดินทางไกล คนที่เดินทางไกลต้องเตรียมเสบียง เตรียมตัวสำหรับเดินทางไกล ชีวิตของเรามันเดินทางไกล เดินทางไปในวัฏสงสาร มันไกลมาก วัฏสงสารก็เกี่ยวกับกรรม เกี่ยวกับเรื่องกิเลสนี่เอง แล้วก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แค่นั้นชีวิตของเราที่ผ่านมา กรรมมันแต่งให้เกิด กรรมสนับสนุนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ถ้าเราไม่ปฏิบัติ มันก็มีแต่สนับสนุนให้ทำกรรมชั่วเพิ่มขึ้น ทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น
แต่เราเมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้อบรม มันก็เกิดกรรมใหม่ มาทำให้เปลี่ยนทิศทางและทำให้กรรมมันหมดไปได้ เพราะปฏิบัติกรรมที่ ๓ โดยเฉพาะทำกัมมัฏฐาน
เดี๋ยวนี้มีบางแห่ง บางวัดก็มีโฆษณาว่าช่วยแก้กรรม ใครทำอะไรมา จะช่วยแก้กรรมให้ จริงๆแล้วคนอื่นมาแก้กรรมให้เราไม่ได้ ไม่ว่าอาจารย์รูปไหน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถจะมาแก้กรรมให้เราได้ ถ้าเราไม่ทำเอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางเท่านั้น ถ้าเราแก้กรรมก็ต้องแก้ด้วยตนเอง จะไม่ทำกรรมชั่ว ต่อไปนี้กรรมชั่วจะไม่ทำเด็ดขาด แล้วทำกรรมดีให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรรมที่ ๓ คือทำกัมมัฏฐาน แล้วอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
และต่อไปนี้ก็เป็นเวลาที่จะปฏิบัติ ถ้าอธิบายให้ละเอียดจริงๆ ต้องใช้เวลามากมายเกี่ยวกับเรื่องกรรม กรรมหนัก กรรมเบา ก็มีทั้ง ๒ ประเภทฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี และกรรมหนักฝ่ายบาป ฝ่ายอกุศลกรรม ที่เขาเรียกอนันตริยกรรม ทำแล้วต้องได้ผล ใครมาเปลี่ยนไม่ได้ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ดังนี้เป็นต้น ทำสงฆ์ให้แตกกัน ยุยงให้คนแตกกันนี่ กรรมหนัก โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่สามัคคีกัน ทำให้แตกกัน ก็ชื่อว่าครุกรรม แต่ครุกรรมฝ่ายกุศล ก็คือการอบรมให้มีสมาธิ ได้ฌาน ถ้าใครอบรมสมาธิ ได้ฌานก็เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล
นอกนั้นก็ยังมีกรรมรองๆลงมา มีหลายชนิด สรุปแล้วกรรมเกิดจากเจตนา ถ้าไม่เจตนา ไม่เรียกว่าเป็นกรรม แม้แต่ทำให้สัตว์ตาย ทำให้คนตาย ยกตัวอย่างว่าโยมขับรถ ไม่ได้เจตนาจะไปฆ่าคน แต่มันเกิดอุบัติเหตุไปชนคนตาย ไม่ถือว่าเจตนาจะฆ่าเขา ในจิตใจก็มีผลน้อย แต่อย่าคิดว่าไม่มีเลย เพราะจิตมันไปคิด ไประลึกถึงเหตุการณ์นั้น เพราะว่าเราประมาทมาจากโมหะ มันก็มีผลเกิดขึ้นในจิตใจเหมือนกัน แต่มันไม่รุนแรง ไม่เหมือนเจตนา ที่เราจะฆ่าเขา ขับรถชนเขาให้ตาย ปืนยิงเขาให้ตายอย่างนี้เป็นเจตนา
ทีนี้ก็มีเรื่องใหญ่อยู่เรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นทหาร เป็นตำรวจจะทำอย่างไร ต้องไปจับโจร จับผู้ร้าย นี่ก็ต้องเตรียมจิตเตรียมใจไว้ว่าทำตามหน้าที่ ผู้ร้ายมันจะมายิงตำรวจ ตำรวจก็ป้องกันตัว ต้องทำใจ จิตใจนี่เรื่องสำคัญ ทหารไปรบก็คือไปฆ่ากัน ก็ต้องทำจิตใจ ว่าทำไปตามหน้าที่ ไม่มีเจตนาจะไปฆ่าเขา แต่ว่าเมื่อมีคำสั่งมาอย่างนี้ ทำหน้าที่อย่างนี้ อย่ามีเจตนา วิธีที่ดีที่สุด คือพยายามแผ่เมตตาอยู่เป็นประจำ ถ้าแผ่เมตตาอยู่เป็นประจำ ทำอะไรมันไม่มีเจตนาร้าย กุศลกรรมก็จะเกิด แม้ทำคนตายมันก็ไม่บาปมาก
เพราะฉะนั้นขอให้ญาติโยมทั้งหลาย จงสนใจเรื่องจิตใจให้มากๆ อบรมกัมมัฏฐานให้มากๆ และแผ่เมตตาให้มากๆ จะมีประโยชน์มาก
และต่อไปนี้ก็จะได้ปฏิบัติ ฝึกอานาปานสติกัน หายใจเข้า หายใจออก ฝึกพอมีสมาธิมา ก็เจริญวิปัสสนา ให้เห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าปฏิบัติดังนี้ก็คือทำกรรมที่ ๓ นั่นเอง แล้วก่อนที่จะเลิก ก่อนที่จะจบ ก็มีเวลาเหลือ ๔-๕ นาที ๒-๓ นาทีแผ่เมตตาออกไป แผ่เมตตา แผ่ส่วนบุญ แผ่เมตตาไปยังสัพพสัตว์ทั้งหลายจิตใจก็เกิดบุญเกิดกุศล แล้วก็แผ่ส่วนบุญส่วนกุศล อุทิศไปให้ผู้มีพระคุณ ใจของเราก็ยิ่งสบายมากขึ้น ตอบแทนผู้มีพระคุณ แม้ตายไปแล้ว เราก็ยังได้ตอบแทน เพราะในชีวิตของเรา ยังมีชีวิตของพ่อ ของแม่ ของปู่ย่า ตายายรวมอยู่ในชีวิตของเรา ถ้าเราไม่คิด เราก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอลองคิดดู มันก็จะมองเห็นว่าชีวิตของเราเป็นที่รวมของชีวิตบรรพบุรุษในอดีต ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ยังอยู่ในชีวิตของเรา เลือดเนื้อกระดูก อวัยวะต่างๆมาจากพ่อแม่ พ่อแม่มาจากพ่อแม่ พ่อแม่มาจากพ่อแม่ มารวมอยู่ในชีวิตของเรา แต่ว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตาทวดยายทวดพวกนี้
ถ้าเรามองอย่างนี้ เราจะเห็นว่าหน้าที่ของเรา มันมีอีกมาก สรุปแล้วหน้าที่เพื่อตัวเอง หน้าที่เพื่อผู้อื่น หน้าที่เพื่อส่วนรวม เพื่อโลก โดยเฉพาะหน้าที่ของพุทธบริษัท พุทธบริษัทคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วชีวิตของเราก็จะเลื่อนสูงขึ้นๆเพราะการกระทำ เรียกว่ากรรมนี่เอง ให้เราตั้งใจปฏิบัติ
ทีนี้มันมีกรรมที่เป็นอโหสิกรรมได้ โดยเฉพาะที่เราได้เคยล่วงเกินต่อผู้มีพระคุณ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ก็ไปขออโหสิกรรม กรรมนั้นจะได้หมดไป กรรมเหล่านี้ มันเป็นกรรมไม่ได้เป็นหนัก มันเป็นกรรมเบา ก็พยายามขออภัย ขออโหสิกรรม เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธด้วย รู้จักให้อภัย รู้จักขออโหสิกรรม เพื่อกรรมจะได้หมดไป ตั้งใจปฏิบัติ โดยเฉพาะปฏิบัติกรรมที่ ๓ ทำกัมมัฏฐานให้มากขึ้นๆ ต่อไปนี้ก็ปฏิบัติกัน