แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้คือมาปฏิบัติธรรมร่วมกันเวลาบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมง ปกติวันนี้ที่จริงอาตมาไม่ได้ลงมา แต่วันนี้ต้องลงมาก็เพราะมีเหตุ เนื่องจากแขกที่มีเกียรติเป็นนายทหารเรือระดับพลเรือเอกแต่ว่าเกษียณอายุไปแล้ว กับครอบครัวประมาณ 60 คนจะมาเยี่ยมสวนโมกข์ อาตมาเลยถือโอกาสขออนุญาตมาทำหน้าที่แทนท่านองค์อื่น เพื่อจะได้ต้อนรับคณะที่มาเยี่ยมสวนโมกข์หลังจากเราปฏิบัติธรรมกันเสร็จแล้ว
การปฏิบัติธรรมของสวนโมกข์ยึดหลักที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสได้วางเอาไว้ คือหนึ่ง ต้องพยายามเรียนรู้เข้าใจเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนาคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องอริยสัจ 4 แล้วก็ปฏิบัติด้วยวิธีอานาปานสติ ปฏิจจสมุปบาทนี่คืออริยสัจ 4 ที่อธิบายโดยละเอียด อริยสัจ 4 คือสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์เราทุกคน อริยสัจ 4 คือ 1) ทุกข์ 2) เหตุให้ทุกข์เกิด 3) ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ 4) ทางถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เรียกว่าอริยสัจ 4 แต่ถ้าอธิบายให้ละเอียดก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทซึ่งมีอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายทุกข์เกิดกับฝ่ายทุกข์ดับ ฝ่ายทุกข์เกิดเรียกว่าสมุทยวาร ฝ่ายทุกข์ดับเรียกว่านิโรธวาร
พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสท่านมุ่งมั่นตั้งใจที่จะให้คนเข้าใจเรียนรู้หัวใจของพุทธศาสนา อาตมาไปเกาะสมุยลาพรรษาไป กลับมาเมื่อวาน ท่านทวีต้องขอบใจท่านมากๆ มอบหนังสือเรื่องปฏิจจสมุปบาทถวายอาตมาเล่มหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทเรื่องนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสบรรยายเมื่อปี พ.ศ. 2507 อาตมามาอยู่ที่สวนโมกข์แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2506 ครั้งนั้นเชื่อว่าได้มีโอกาสฟังท่านอาจารย์พุทธทาสด้วย ท่านนั่งบรรยาย พระสงฆ์ทั้งหลายนั่งจด ท่านบรรยายทีละประโยคๆ หลายๆ วัน รวมกันขึ้นเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็น่าสนใจมาก แล้วต่อมาเมื่อมีการบันทึกเสียงด้วยเครื่องบันทึกแล้ว ท่านอาจารย์ก็ได้พูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาทหลายๆ ครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งท่านบรรยายที่หินโค้งเนี่ย ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายปฏิจจสมุปบาทในคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี่เป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่งของพุทธศาสนา เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้วราวพันกว่าปี คือมาจากพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านเป็นพระอินเดีย ท่านมาศึกษาที่ศรีลังกามาแปลภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี เพราะว่าพุทธศาสนาในครั้งนั้นในอินเดียมันเสื่อมมากเรียกว่าเกือบไม่มี พระพุทธโฆษาจารย์ก็มาอยู่ที่ศรีลังกาแล้วท่านก็แปลกลับเป็นภาษาบาลี
พระไตรปิฎกที่เราศึกษาในปัจจุบันที่ท่านอธิบายปฏิจจสมุปบาท แต่ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่เห็นด้วยว่าการอธิบายปฏิจจสมุปบาทลักษณะอย่างนี้ คือมันยากในการที่จะปฏิบัติ เพราะฉะนั้นท่านก็มานั่งบรรยายแล้วท่านเน้นว่าพวกเราชาวพุทธต้องจำปฏิจจสมุปบาทให้แม่นยำ เป็นต้นว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เป็นต้น จนกระทั่งภพชาติ นี่หมายความว่าต้องจำได้ เวลาเขานิมนต์พระไปบังสุกุลเป็น พระก็จะไปสวดอวิชชา ธัมมนิยามบ้าง อวิชชาบ้าง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญฺญาณปจฺจยา เนี่ยสวดกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมาย
แต่ปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายนี่ เขาอธิบายมันมีเงื่อน มีเงื่อนอยู่ 3 เงื่อน อดีตเหตุ ปัจจุบันผล ปัจจุบันเหตุ อดีตผล ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายอย่างนี้ว่า ที่คนเราต้องมาทุกข์ในชาตินี้ก็เพราะว่าได้ทำเหตุในชาติอดีตเอาไว้คือ อวิชชากับสังขารแล้วก็ได้มาเกิดเป็นวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ แล้วเวทนา เนี่ยมันเป็นผลของเหตุในอดีต และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้เกิดผลในอนาคตอีก นามรูป วิญญาณ สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นเหตุให้เกิดชรา มรณะในชาติอนาคต
ท่านอาจารย์มองเห็นว่าการอธิบายแบบนี้มันดับทุกข์ไม่ได้ มันคร่อมกันอยู่ 3 ชาติ ชาติในอดีต ชาติในปัจจุบัน แล้วก็ชาติในอนาคต ท่านอธิบายว่าการปฏิบัติอธิบายแบบนี้ ลักษณะอธิบายแบบศีลธรรมสำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่เข้าใจธรรมะระดับสูง แต่ความจริงเรื่องปฏิจจสมุปบาทมันชั่วอึดใจเดียวเท่านั้น แป๊บเดียวเท่านั้นมันทำงานตลอดสาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดกองทุกข์ต่างๆ
ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายทุกข์ดับ เพราะอวิชชาดับสังขารก็ดับ วิญญาณก็ดับ นามรูปก็ดับ มันดับไปตามลำดับจนกระทั่งภพดับ ชาติดับ พอชาติดับ ความทุกข์มันก็ไม่มี นี่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านอธิบายว่า อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทต้องยึดหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้เอง ไม่ใช่เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ อาจารย์ในรุ่นหลังซึ่งอธิบายคร่อมภพคร่อมชาติ ท่านก็ไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่าต้องเอามาทำความเข้าใจกันใหม่เพราะเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทผิดมันก็ยากที่จะปฏิบัติให้ทุกข์มันดับได้
อันตัวทุกข์จริงๆ เนี่ยมันมาจากอวิชชา อวิชชานี่เป็นตัวเหตุ เหตุขั้นต้นที่สุดคืออวิชชา ความหมายของอวิชชาคือไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่าทุกข์มันเป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างไร ทางถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างไร ไม่มีความรู้เรื่องนี้เรียกว่ามีอวิชชา ไม่มีความรู้เรื่องพระไตรลักษณ์ กฎของพระไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือ 3 กฎก็คือธรรมชาติของสังขารทั้งหลาย กฎของพระไตรลักษณ์พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมนิยามว่า ตถาคตเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะมันมีอยู่แล้ว คือ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่คนไม่เข้าใจก็มีอวิชชา พอไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็มีอวิชชาอยู่ในจิตใจของเขา เขาก็ต้องมีความทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงแสดงเปิดเผยทำให้ง่าย ทำให้เหมือนกับหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ตามประทีปไว้ในที่มืด พระองค์ก็แสดงเปิดเผยให้คนเข้าใจ
ทีนี้เรื่องปฏิจจสมุปบาทเนี่ยมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรากันทุกคน เพราะว่ายังเอาชนะอวิชชาไม่ได้ เอาชนะอวิชชาไม่ได้ อวิชชาก็เป็นเหตุปรุงให้เกิดสังขาร เกิดวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ แป๊บเดียวเกิดชาติ ชาติที่ว่านี้ไม่ใช่ชาติที่เกิดจากท้องมารดา ชาติที่เกิดท้องมารดามีรูปมีนามนี่เป็นชาติตามธรรมชาติ แต่ว่าชาติในปฏิจจสมุปบาทคือความรู้สึกว่ามีเรามีของเรา ถ้ารู้สึกว่ามีเรามีของเราความทุกข์จะตามมาทันที ความแก่ความเจ็บความตายต่างๆ ก็จะตามมา รู้สึกว่ามีเราเป็นเรามีของเรานี่เอง
ทีนี้การปฏิบัติธรรมคือทำให้ทุกข์มันดับ ก็ต้องทำให้อวิชชามันดับ อวิชชาดับตัวอื่นๆ ก็จะดับไปตามลำดับ ตัวก่อภพดับ ชาติดับ คำว่าชาติดับไม่ได้หมายถึงว่าตาย ไม่ใช่ตายตามร่างกายแต่ความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนมันไม่มี รู้สึกว่าไม่มีตัวตนเท่ากับชาติมันดับ ความทุกข์อื่นมันก็พลอยดับไปด้วย แม้แต่ความแก่ ความเจ็บ และความตาย แม้มันจะมีในชีวิตร่างกาย แต่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่าไม่ได้สอนเรื่องคน ไม่ใช่สอนว่ามีคนเกิดมีคนตาย ไม่ได้สอนอย่างนี้
ทิฏฐิที่เขามีในครั้งโบราณที่ว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ เรียกว่าไม่มีอะไร เป็นทิฏฐิเป็นความเห็นที่มีก่อนพุทธกาล ที่ว่าสัสสตทิฏฐิคือมันมีคนอยู่ คนเหล่านี้ก็เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ เกิดแล้วตาย เกิดแล้วตาย คือมีคนต้องเกิดแล้วต้องตาย ต้องเกิดแล้วต้องตาย เป็นสัสสตทิฏฐิ ผู้ที่มีความเห็นอย่างนี้มันก็ยากที่จะปฏิบัติให้ความทุกข์มันดับได้ อีกพวกหนึ่งถือว่าไม่มีอะไรเลยคือนัตถิกทิฏฐิ เอาดาบไปฟันคอคนให้ขาดก็ถือว่าไม่ได้ฆ่าคน อันนี้มันสุดโต่งไปด้านหนึ่งก็ดับทุกข์ไม่ได้ อุจเฉททิฏฐิ เรียกว่ามันขาดสูญ เป็นทิฏฐิที่มีมากในครั้งพุทธกาล
สำหรับพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าเน้นเรื่องสัมมาทิฏฐิ ต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิสมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจะคุง คนจะพ้นจากความทุกข์ได้เพราะมีสัมมาทิฏฐิ คือเข้าใจว่าความทุกข์ก็ดี ความดับทุกข์ก็ดี มันมาจากเหตุ เพราะมีเหตุมีปัจจัยมันจึงเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะความทุกข์ในจิตใจของเราที่มันมีอยู่นี้มันมาจากเหตุ ในครั้งพุทธกาลที่มีคนมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ความทุกข์คนอื่นทำให้ใช่ไหม” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่ใช่” เขาถามใหม่ว่า “ถ้าอย่างนั้นความทุกข์ตนเองเป็นผู้ทำขึ้นใช่ไหม” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่ใช่” เขาก็ถามใหม่ว่า “อย่างนั้นความทุกข์ไม่มีหรือ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความทุกข์มันมีอยู่” เขาก็ถามต่อไปว่า “ความทุกข์มันมาจากอะไร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มาจากอวิชชา ถ้าไม่มีอวิชชาความทุกข์มันก็ไม่มี”
ทีนี้ชีวิตประจำวันทุกคนก็ยังมีความทุกข์กันอยู่ ทุกข์ทางร่างกายอันนี้ไม่ต้องพูด เราก็พยายามดูแลรักษาอยู่ แต่ความทุกข์ทางด้านจิตใจนี้คนทั่วๆ ไปไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยสนใจที่จะแก้ปัญหาความทุกข์ทางด้านจิตใจ ส่วนใหญ่มองเห็นความทุกข์ทางด้านร่างกายอันเนื่องกับเศรษฐกิจ อันเนื่องกับสังคม เพราะฉะนั้นจึงมีการทะเลาะวิวาทรบราฆ่าฟันสงครามอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะนี้เกิดสงครามเศรษฐกิจระหว่างประเทศมหาอำนาจคือจีนกับอเมริกัน สงครามเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของวัตถุทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของการดับทุกข์ทางด้านจิตใจเลย ทีนี้ถ้าสมมติว่ามนุษย์เราทุกคนร่ำรวยกันหมดเลย ไม่ได้ยากจน ทรัพย์สินเงินทองโภคทรัพย์สมบูรณ์กันหมดแต่ว่าจิตใจก็ยังมีความทุกข์อยู่ ความทุกข์มันก็ยังมีอยู่ อย่าว่าแต่มนุษย์เรา แม้แต่เทวดาแม้แต่พรหมก็ยังมีความทุกข์อยู่ เพราะว่าเทวดาก็ยังมีความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ พรหมนี้ก็มีตัวตนที่รุนแรง ยึดถือตัวตนอยู่ ตราบใดที่ยังยึดถือตัวตนอยู่ความทุกข์มันก็มีอยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นพุทธศาสนานี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือเพื่อจะเอาชนะความทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์ที่สำคัญที่มาจากอวิชชา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เกิดนามรูป ความทุกข์เนี่ยมันมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา นี่ถ้าไม่มีการปฏิบัติธรรมให้ถูกวิธีตรงนี้จะดับไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาให้รู้ว่าความทุกข์มันมาจากไหน ความทุกข์มันมาจากเหตุ เหตุแห่งความทุกข์ก็คืออุปาทาน อุปาทานนี้เป็นตัวทุกข์ด้วย เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดด้วย อุปาทานคือการยึดถือ เนี่ยพอยึดถือมันก็หนัก
เหมือนอย่างกับว่าก้อนหินที่อยู่บนพื้นดิน ถ้าเราไม่ยึดถือมันก็ไม่ได้หนัก แต่พอเราไปยกก้อนหินขึ้นมาแบกมันจะหนักทันที แล้วทำไมคนต้องไปแบกก้อนหิน ก็เพราะความอยาก เพราะตัณหาเพราะความอยาก คิดว่าหินนี้มันมีค่า ถ้าเป็นแร่เป็นหินแร่คนก็ไปแบก แบกของหนักก็เรียกว่าตัณหา ก็เพราะไม่รู้ความจริงคืออวิชชานั่นเอง จึงทำให้ต้องไปแบก ไปยึด ไปถือแล้วความทุกข์มันก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคนทั่วไปก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา ตัณหาและอุปาทาน ถ้ามีอวิชชาแล้วตัณหามันก็จะเจริญงอกงาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี แม่น้ำมีปริมาณน้ำมากมายในแม่น้ำต่างๆ พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบยังสู้ตัณหา ความอยาก ความต้องการจิตใจของคนไม่ได้ เพราะมาจากอวิชชานั่นเอง
ทีนี้ผู้ปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะในครั้งพุทธกาล สาวกของพระพุทธเจ้าบางคนได้ออกบวชเป็นลูกกษัตริย์ก็มีหลายๆ องค์ เป็นลูกกษัตริย์ ทิ้งหมดเลยทรัพย์สมบัติปราสาทราชวัง ทิ้งหมดแล้วก็มาบวชเป็นพระ ใช้ชีวิตธรรมดามีแต่บาตรกับจีวร ไปไหนท่านก็สบาย ไม่วิตกกังวลอะไรเพราะจิตใจของท่านไม่ยึดถือ เศรษฐีมีเงินมากๆ เช่น พระรัฐบาล พระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อรัฐบาลที่พ่อแม่ร่ำรวยมาก แล้วตอนหลังก็ขอบวชแต่พ่อแม่ไม่ยอมให้บวช ก็อดอาหารล้มตัวลงนอนแล้วก็ประกาศว่าถ้าไม่ได้บวชก็ยอมตายที่ตรงนี้ จนกระทั่งแม่ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปบอกเพื่อนให้มาช่วยขอร้อง เพื่อนมาขอร้องก็ไม่ยอมฟัง ยืนยันอย่างเดียวว่าถ้าไม่บวชก็ขอตายอยู่ตรงนี้ เพื่อนก็ไปบอกมารดาบอกว่า ควรอนุญาตให้บวชอย่างน้อยก็เพื่อจะได้มีชีวิต ถ้ารัฐบาลมีชีวิตพ่อแม่ก็อาจจะได้พบ พ่อแม่ก็อนุญาติให้บวช
พอบวชเสร็จท่านก็ปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์ ตอนหลังท่านกลับมาที่บ้าน เศรษฐีพ่อคือบิดาให้ช่างกัลบกตัดผมอยู่ พ่อจำไม่ได้ว่านี่เป็นลูกของตัวเอง ก็พูดออกมาในทำนองติเตียนที่ว่า “สมณะหัวโล้นพวกนี้มาพาลูกเราไป ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน” ก็ไม่สนใจ พระรัฐบาลตอนนี้ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว กลับมาที่บ้านมายืนอยู่หน้าบ้าน แล้วก็มายืนบิณฑบาต ก็ไม่มีใครลงมาใส่บาตร พอดีมีทาสีเอาขนมบูดค้างคืนจะไปเททิ้ง พระรัฐบาลก็ถามว่า “ดูก่อนน้องหญิง จะเอาขนมบูดไปไหน” นางบอก “เอาไปเททิ้ง” ทาสีก็จำได้ว่านี่เป็นรัฐบาล พระรัฐบาลก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เทลงไปในบาตรของท่าน ทาสีผู้นี้ก็เทขนมบูดลงในบาตรของพระรัฐบาล พระรัฐบาลก็นั่งฉันขนมบูดอยู่ที่ชายคาบ้านของเศรษฐีนั่นเอง
ทาสีจำได้ว่านี่คือลูกชายของเจ้าของบ้านคือพระรัฐบาล ก็ไปบอกมารดา มารดาดีใจมากๆ ว่าลูกมา ถึงกับประกาศว่า “ถ้าลูกรัฐบาลมาจริง ฉันจะให้แกพ้นจากความเป็นทาส” ให้พ้นจากความเป็นทาส ก็ไปบอกสามีมาดู ตามมาดู รัฐบาลนั่งฉันขนมบูดอยู่ พ่อแม่มาเห็นก็ตกใจถามว่า “ทำไมจึงทำอย่างนี้ บ้านเรือนทรัพย์สมบัติมีเยอะ” รัฐบาลก็บอกว่า “อาตมาบวชแล้ว ไม่มีบ้านไม่มีเรือนแล้ว” ท่านก็ฉันเสร็จแล้ว ฉันขนมบูด ท่านเศรษฐีก็บอกว่า “ถ้าอย่างนั้นวันพรุ่งนี้ก็นิมนต์ไปฉันที่บ้าน” พระรัฐบาลก็รับนิมนต์ แล้วท่านก็ไปพักในสวนของพระเจ้าแผ่นดินชื่อโกรัพยะ เข้าไปพักในสวน พอถึงเวลาก็มาที่บ้านเศรษฐี
ท่านเศรษฐีสั่งให้เตรียมที่สำหรับพระรัฐบาล มานั่งฉันให้ดีที่สุดในห้องใหญ่จัดไว้อย่างสวยงาม แล้วไปบอกภรรยาให้แต่งตัวให้สวยให้งามที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วก็เอาเหรียญเงินเหรียญทองมากองไว้ท่วมหัว เอาเสื่อรำแพนปิดเอาไว้ พอพระรัฐบาลเข้ามานั่งในห้องก็เปิดเสื่อรำแพนขึ้นมาแล้วบอกว่า “นี่คือทรัพย์สิน นี่เป็นเพียงสวนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายส่วน พอท่านสึกออกมาครองเพศฆราวาสทำบุญไปพลาง บริโภคกามไปพลาง” พระรัฐบาลก็บอกว่า “ถ้าอย่างนั้นเอาเกวียนมาบรรทุกเอาไปทิ้งเสียในแม่น้ำคงคา” ในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะทำให้พระรัฐบาลเปลี่ยนใจได้ ในขณะนั้นภรรยาก็มาจับเท้าพระรัฐบาลแล้วพูดว่า “ที่ท่านมาบวชนี้นางฟ้ามันสวยขนาดไหน” ท่านบอกว่าท่านออกบวชไม่ได้ไปหวังจะไปได้นางฟ้าที่ไหน นี่ก็เป็นลมไปอีก ภรรยาก็เป็นลมไปอีก พระรัฐบาลก็เตือนโยมพ่อโยมแม่ที่เป็นเศรษฐีว่า อย่าทรมานท่านให้มากเลย ถ้าต้องการอยากให้ฉันก็เอาอาหารมาถวาย โยมพ่อโยมแม่ที่เป็นเศรษฐีก็ถวาย เอาอาหารมาถวายให้ ท่านฉันท่านก็ไปไม่ติดใจอะไร
นั่นคือจิตของพระอรหันต์ จะเห็นว่าทรัพย์สินเงินทองมันไม่ได้มีค่าอะไร ไม่เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปที่ทะเลาะวิวาทรบราฆ่าฟันแย่งชิงกันเรื่องวัตถุ เรื่องที่ดิน เรื่องทรัพย์สิน ก็ฆ่าฟันกันตายเพราะไม่รู้ว่าความสุขจริงๆ มันอยู่ที่ไหน ความสุขจริงๆ เนี่ยมันอยู่ที่จิตใจไม่ยึดถือ เรียกว่า วิมุตติสุขหรือนิพพานสุขนั่นเอง ก็นี่ละพวกเรายังไม่เข้าใจก็ไปทดลอง ก็มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ทดลองหลายๆ คนที่ผ่านมา และญาติโยมทุกคนหลายคนก็ผ่านมา ไม่ได้มีครอบครัวก็หวังว่าถ้ามีครอบครัวน่าจะมีความสุข มีภรรยาสามีน่าจะมีความสุข พอมีแล้วมันไม่ได้มีความสุข มีลูกมีหลานก็ต้องดูแลไม่ได้มีความสุข มีทรัพย์เงินทองก็ไม่ได้มีความสุข นี่คือการเรียนรู้ในที่สุดมันก็จะค่อยๆ มองเห็นว่า ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้มันยังเป็นสิ่งที่ทำให้บรรลุความสุขจริงๆ ไม่ได้ ความสุขที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจมันเป็นความสุขอย่างธรรมดา เขาเรียกว่าความสุขอย่างปุถุชน อามิสสุข ความสุขที่มันยังปนเปื้อนด้วยความทุกข์ไม่ใช่เป็นความสุขสูงสุด ความสุขสูงสุดคือความสุขของพระอริยเจ้า สูงสุดคือวิมุตติสุข ก็คือเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
ทีนี้อวิชชามันจะดับได้ก็เพราะปฏิบัติที่อริยมรรค ทีนี้อานาปานสติเป็นระบบปฏิบัติที่มีเป็นขั้นๆ ถึง 16 ขั้น ที่พวกเราได้ยินได้ฟัง ได้พยายามปฏิบัติกันมาบ้างแล้ว ขั้นที่ 1 ลมหายใจเข้ายาวออกยาว ขั้นที่ 2 ลมหายใจเข้าสั้นออกสั้น เป็นต้น ไม่ต้องเอามาพูดใหม่เพราะว่าเราได้ยินได้ฟังกันแล้ว ตัวระบบอานาปานสติสรุปแล้วการปฏิบัติ หนึ่งเพื่อได้สมาธิมา พอได้สมาธิมาแล้วก็มาพิจารณาสังขาร ว่าสิ่งที่เรามีทุกอย่างมันเป็นสังขารทั้งหมด เป็นรูป เป็นนาม เป็นเบญจขันธ์ เป็นอายตนะ เป็นผัสสะ เป็นอะไร เป็นสังขารทั้งหมด ถ้าจิตมันมีสมาธิจะมองเห็นว่าสังขารเหล่านี้ตามที่มันเป็นจริงคือมันไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงเรียกว่าสิ่งนั้นมันทนอยู่ไม่ได้ เรียกว่าเป็นทุกข์ มันทนอยู่ไม่ได้ สิ่งใดเป็นทุกข์จะมายึดถือเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ว่าเป็นเราเป็นของเรา มันก็คือมีอวิชชานั่นเอง คือโง่นั่นเอง แล้วพอเข้าใจว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ก็ปล่อยวาง จิตมันปล่อยวางไม่ใช่มือปล่อยวาง มือแม้จะแบก็ยังถืออยู่ แต่ถ้าหากจิตมันไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เท่ากับปล่อยวาง ปล่อยวางความรู้สึกว่าตัวตน ถ้าใครทำได้ความทุกข์ก็ดับ แล้วพบความสุขสูงสุดเรียกว่าวิมุตติสุขหรือนิพพานสุขนั่นเอง
ฉะนั้นเวลาต่อไปนี้เราก็พยายามที่จะปฏิบัติ พยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ บางทีประสบความสำเร็จบ้าง บางทีล้มเหลวบ้าง มันเป็นอย่างนี้ แม้ในครั้งพุทธกาลก็เช่นเดียวกัน เช่น มีพระรูปหนึ่งท่านออกบวชมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติ นั่งสมาธิเดินจงกรมทั้งวันไม่หยุด จนกระทั่งเท้าเป็นแผล แล้วก็ไม่บรรลุ ท่านก็หวนคิดว่าท่านยังมีทรัพย์สินเงินทองที่ครอบครัวเยอะ สึกดีกว่า สึกไปอยู่อย่างฆราวาสครองเรือน บริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลาง พระพุทธเจ้าทรงทราบก็มาสอน พระพุทธเจ้าตรัสว่าเหมือนอย่างเล่นดนตรีเครื่องสาย ถ้าสายมันตึงเกินไปแล้วไปดีดเสียงก็ออกมาไม่ได้สายมันขาด สายที่ทำให้เกิดเสียงมันขาดก็ทำให้ได้ยินเสียงดนตรีไม่ได้ ถ้าขึงสายมันหย่อน สายพิณน่ะ ขึงพิณเหมือนเราเล่นพิณก็ทำให้เกิดเสียงไม่ได้ ต้องทำให้ระดับพอดี แล้วพระรูปนี้ก็ได้ปฏิบัติตามจนได้บรรลุพระอรหันต์ ตึงเกินไปมันก็ไม่ได้ หย่อนเกินไปก็ไม่ได้ มันก็ต้องพอดีต้องปรับปรุง
เวลาต่อไปนี้เป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมงขอให้ตั้งใจปฏิบัติ ก็ต้องเพิ่มสติสัมปชัญญะนี่ สติสัมปชัญญะและความเพียรตามเห็นกายในกายนี่คือการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ก็คือปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์ 8 ทำลายอวิชชา เมื่ออวิชชาเกิดไม่ได้ ความทุกข์มันก็น้อยลงๆ ความสุขของพระอริยเจ้าก็ปรากฏขึ้น พอสุขสงบเรียกว่าสันติสุขหรือว่านิพพานสุขนั่นเอง ต่อไปนี้ก็ปฏิบัติกัน