แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กิจกรรมของพระใหม่ในพรรษาก็ผ่านมาตามลำดับ เมื่อวานพวกเราก็ออกไปที่วัดข้างนอก ไปประชุมในฐานะที่เป็นพระใหม่ ไปฟังโอวาทของพระผู้ใหญ่ มีเจ้าคณะอำเภอเป็นต้น ผมไม่ได้ไป ให้อาจารย์นุ้ยรองเจ้าอาวาสพาพวกเราไป ก็หวังว่าคงจะได้ศึกษาเรียนรู้ การศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เราต้องเรียนเมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น กระทบกาย ที่มาสัมผัสผิวหนังร่างกาย จิตที่กระทบกับอารมณ์ การเรียนการศึกษามันมีหลายอย่าง พระใหม่ที่เข้ามาก็ไม่ได้เป็นพระบังคับ ต้องเรียนนักธรรม อีกไม่นานก็มีการสอบนักธรรม ก็ต้องไปติว ไปเพิ่มเติมความรู้ที่อาจารย์จะมาช่วยสอน รู้สึกว่าจะมีช่วงหนึ่งที่ต้องออกไปข้างนอก ไปรับความรู้เพิ่มเติม ความจริงพวกเราอยู่ที่นี่ก็ิเรียนกันตลอดเวลา ไม่เรียนนักธรรม ก็เรียนจนจบหลักสูตรนักธรรม ยังเหลือเวลาที่จะไปสอบกันเท่านั้น นี่ก็เป็นกิจกรรมสำหรับพระใหม่ในพรรษา นี่พวกเราอยู่กันมีทั้งพระเก่ามีทั้งพระใหม่ มาอยู่กันที่วัดสวนโมกข์ ซึ่งเป็นวัดของพระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ได้รับประโยชน์กันทุกรูปทุกองค์ รวมทั้งญาติโยมทุกคนที่เข้ามาพักอยู่ในวัดสวนโมกข์แห่งนี้ แต่ละวันๆ ก็พยายามปรับปรุงตัวเองให้ได้รับประโยชน์ ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ที่สำคัญที่สุดต้องสร้างต้องรักษาพุทธศาสนาให้ยังคงมีอยู่ในโลก และความรู้ของพระพุทธศาสนามีมากมาย เรื่องปริยัติธรรม ต้องศึกษาธรรมะเพิ่มเติม มันมากขึ้นเรื่อยๆ การเรียนรู้ปริยัติก็ถือว่าเป็นอริยทรัพย์อย่างหนึ่ง การได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ว่าได้ยินได้ฟังอย่างเดียว ได้ยินได้ฟังต้องจำได้ด้วย จำได้อย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องเข้าใจความหมายของธรรมะแต่ละข้อแต่ละหมวดให้แจ่มแจ้ง จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ทรงธรรมะเอาไว้ ฟังธรรม จำธรรม ใคร่ครวญธรรม และทรงธรรมเอาไว้ แต่เพียงแค่นี้มันไม่พอ ต้องมีการปฎิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ที่พระองค์ปรารถนาให้พุทธบริษัท ให้สาวกของพระองค์ได้รู้ได้เข้าใจ ก็คือเรื่องอริยสัจ 4 ที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา
เพราะอริยสัจ 4 คือสิ่งที่มีในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง คือ หนึ่งเรื่องทุกข์ สองเรื่องเหตุแห่งทุกข์ สามเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ สี่เรื่องทางถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ทุกข์นี้มันมีอยู่ตลอดเวลา ทุกข์ตามร่างกาย ยังเจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ มีกันทุกคน ทุกข์ทางร่างกาย ทุกข์ที่สำคัญที่สุดคือทุกข์ทางด้านจิตใจ ก็ลองสังเกตดูว่า จิตมันยังหนัก ยังเหนื่อย ยังเครียด ยังไม่สบายใจอยู่หรือเปล่า มันก็มีกันทุกคน ตามมากตามน้อย ความวิตกกังวล เป็นห่วงนั้นห่วงนี้ ที่มนุษย์กลัวที่สุดคือกลัวตาย ถ้าใครยังกลัวตายอยู่ แสดงว่าความทุกข์มันมีอยู่ พระอรหันต์เท่านั้นเป็นผู้ที่ไม่กลัวตาย มีการกล่าวในพระคัมภีร์ว่า แผ่นดินจะถล่ม ฟ้าจะทลาย พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ทำการป้องกันด้วยเหตุอุปาทิ พระอรหันต์ไม่กลัวตาย เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่นในชีวิตของท่านแล้ว ไม่มีผู้ตายแล้ว พวกเราลองสังเกตดูว่า ยังมีความกลัวตายอยู่หรือเปล่า แต่การไม่กลัวตายนี้มี 2 อย่าง ความไม่กลัวตายของคนบ้าบิ่น พวกนี้ไม่กลัวตาย อย่างคนที่พกระเบิดเข้าไป หวังจะฆ่าผู้อื่นให้ตาย แล้วก็จุดระเบิดขึ้นมา ตัวเองก็ตาย เรียกว่าพลีชีพ นี่เขาก็ไม่กลัวตายเหมือนกัน แต่ไม่กลัวตายด้วยโมหะ ด้วยอวิชชา ไม่ใช่อย่างนี้ พระอรหันต์ไม่กลัวตาย เพราะไม่มีตัวตน เพราะไม่มีโมหะ คนบ้าบิ่นแบบนี้มันเต็มไปด้วยโมหะ เต็มไปด้วยอวิชชา มันคนละอย่าง เราก็ลองวัดดูว่า เรายังมีความกลัวตายอยู่หรือเปล่า ผมเชื่อว่าถ้าไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังกลัวตายกันทั้งนั้น เป็นเครื่องวัด มันทำยังไง ไม่กลัวตายก็ต้องปฏิบัติธรรม ตามหลักพระพุทธศาสนา คนที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ เขาก็มีที่พึ่งในจิตใจ สร้างคุณงามความดี สร้างบุญสร้างกุศล พวกนี้ไม่กลัวตายเหมือนกัน เวลาใกล้ๆ จะตาย เขานึกถึงบุญนึกถึงกุศล พวกนี้ยังมีตัวตนอยู่ ยังมีตัวตนแต่เป็นตัวตนที่ดี ถือว่าตายแล้วไปสู่สุคติ ก็ไม่กลัวตาย เหมือนอย่างคนอยู่ที่อยู่ในบ้านที่มันยากจน ซอมซ่อ จะพังมิพังแหล่ มีคนมาเชิญไปอยู่บนปราสาทราชวัง บนตึกที่มันสวยๆ งามๆ เขาไม่เสียดายบ้านเขา เพราะได้ไปอยู่บ้านใหม่ ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ทำบุญสุนทาน ก็หวังว่าร่างกายตายไปก็ไปสู่โลกใหม่สุคติ นี่ก็เพราะจิตใจนั่นเอง เพราะจิตใจมีที่พึ่ง แต่ยังมีตัวตนอยู่ ก็ไม่กลัวตาย เรียกว่ากลัวตายน้อย แต่ว่าการที่ไม่กลัวตายจริงๆ ต้องพระอรหันต์ ท่านไม่มีอวิชชา ไม่มีตัณหาไม่มีอุปาทาน ท่านก็จบกิจในพระพุทธศาสนา การที่คนบวชเข้ามา มาประพฤติพรหมจรรย์ ที่บวชเข้ามา มุ่งหมายมาเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ตัวพรหมจรรย์คือตัวอริยมรรค สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ นี่ตัวพรหมจรรย์ เราบวชเข้ามาอยู่ในวัดสวนโมกข์ ต้องสนใจในการปฏิบัติ สัมมาทิฏฐิต้องทำให้งอกงามขึ้นทุกวันๆ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิ มรรคตัวอื่นก็ตามมาไม่ได้ จะเดินไม่ได้ โดยเฉพาะถ้ามีมิจฉาทิฏฐิ อื่นๆ มันจะผิดไปหมด จะมีมิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด มิจฉาวาจา พูดจาผิด มันจะผิดไปหมด แม้สัมมาวายามะ ก็พากเพียรผิด สัมมาทิฏฐินี่สำคัญมาก สัมมาทิฏฐิจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุ 2 อย่าง ปรโตโฆสะ การโฆษณาการได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ต้องมีโยนิโสมนสิการะ ได้ยินได้ฟังได้อ่าน ได้ศึกษาแล้วก็ต้องมาใคร่ครวญให้แยบคาย สัมมาทิฏฐิจึงเกิด สัมมาทิฏฐิเป็นประเด็นสำคัญ
พวกเรามาบวชเป็นพระ ต้องพิจารณาแต่ละวันๆ เตือนตนเองว่ามาบวชทำไม ที่มาบวช บวชเพื่อทำอะไร ถ้าไม่เตือนตัวเองอย่างนี้ ก็อยู่ไปเฉยๆ วันๆ ก็ไม่ก้าวหน้าอะไร ประโยชน์ตนเองก็ไม่ได้ทำ ประโยชน์ผู้อื่นก็ไม่ได้ทำ อย่างนี้น่าเสียดายชีวิต ต้องไม่ประมาท อบรมให้ชีวิตก้าวหน้า ชีวิตของแต่ละคนที่เกิดมาก็เหมือนๆ กัน ตามธรรมชาติ มีรูป มีนาม มีเบญจขันธ์ ทำไมชีวิตแห่งความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก ก็เพราะการกระทำนี่เอง พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า สัตว์ทั้งหมายมันเป็นไปตามกรรมของตน ที่ตนกระทำนั่นเอง พระพุทธเจ้ายังจำแนกว่าที่เป็นชาวนาก็เป็นเพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เป็นเพราะกรรม เป็นข้าราชการก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นชาวประมงก็เพราะกรรม ก็การกระทำ ถ้าเราทำหน้าที่อย่างพ่อค้าก็เป็นพ่อค้า ทำหน้าที่อย่างชาวนาก็เป็นชาวนา ทำหน้าที่อย่างชาวสวนก็เป็นชาวสวน ทำหน้าที่อย่างพระก็เป็นพระ กรรมมันจำแนกคน ให้มันแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นพระใหม่ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็ควรสนใจเรื่องกรรมที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เวลาเราสวดมนต์พิจารณาสัทธรรม ธรรมะที่บรรพชิตควรพิจารณาอยู่บ่อยๆ ประจำ ก็มีอยู่ข้อหนึ่ง พิจารณาถึงกรรมนี่เอง ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม กรรมในพุทธศาสนา หนึ่งความหมายของกรรม กรรมแปลว่าการกระทำด้วยเจตนา ด้วยจิตที่มีเจตนาจึงจะเป็นกรรม ถ้าสักว่าทำเฉยๆ ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่ากรรม ก็เรียกกิริยา ก็เพียงแต่การกระทำ แต่ถ้ามีเจตนาขึ้นมาก็เป็นกรรม กรรมมีหลายอย่าง หนึ่งกรรมดำ สองกรรมขาว สามกรรมไม่ดำไม่ขาว และการทำกรรมก็มีอยู่ ๓ ทาง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กายกรรมคือทำด้วยทางกาย วจีกรรม ทำด้วยคำพูดทำทางวาจา มโนกรรมทำด้วยใจ ทีนี้กรรมชั่วทำแล้วก็ตนเองเดือนร้อน ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นอกุศลกรรม ถ้ากรรมดีก็เป็นกุศลกรรม ทีนี้กรรมไม่ดำไม่ขาวคืออริยมรรค อริยมรรคมีองค์แปด เมื่อปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์แปดก็ได้ชื่อว่าทำกรรมที่สาม ทีนี้กรรมที่ทำแล้วให้ผลเดือนร้อนเป็นทุกข์ ทำให้ตกอบาย ตกนรก นรกก็คือความร้อนใจ เป็นเปรต มีแต่ความหิวความอยาก เป็นสัตว์เดรัจฉาน มีแต่ความโง่ มีแต่ความกลัว ก็มาจากอกุศลกรรม คือทำชั่ว
ทีนี้กรรมมันเกิดเมื่อมีผัสสะ ไม่ต้องสนใจว่ากรรมมันเกิดจากผัสสะ ผัสสะมันมี ๖ ผัสสะ ที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ ความหมายของผัสสะคือสิ่งสามสิ่งทำงานร่วมกัน คือ อายตนภายใน มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับอายตนภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และวิญญาณ วิญญาณ 6 เมื่อตาเห็นรูป วิญญาณจะเป็นผัสสะ เมื่อผัสสะ จะเกิดอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะกรรมนี้มันเกิดจากผัสสะ ทีนี้ถ้าเราไม่มีการฝึกจิตให้มีสัมปชัญญะ อวิชชาก็จะเข้ามา อวิชชาเข้ามาเมื่อผัสสะ แต่พอออกผัสสะแล้ว จะทำให้เกิดเวทนา ถ้าอวิชชาเข้ามาอยู่ จะเป็นเหตุให้จิตมันคิดไปในทางอกุศล ก็ทำให้เกิดอกุศลกรรม เกิดจากจิต เกิดจากมโนกรรม เรียกว่าจิตอยู่ใต้อำนาจของกิเลส มีความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดอกุศลกรรมทางจิต เรียกว่ามโนกรรม ทีนี้ถ้าปล่อยให้มันยังลุกลามต่อไป มันจะผลักดันให้ออกมาเป็นกายกรรม คือทำชั่วทางกาย เช่น การฆ่า ฆ่าสิ่งมีชีวิต มันก็มีผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน หนักๆ เข้าจริงๆ ถึงกับฆ่าบิดามารดา ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าพระอรหันต์ ก็กลายเป็นกรรมหนักยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่าอนันตริยกรรม ก็มาจากกิเลส กิเลสเกิดขึ้นเมื่อผัสสะ ผัสสะทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มิฉะนั้นก็ กิเลสมันผลักดันออกมาเป็นคำพูด เรียกว่าวจีกรรมที่เป็นอกุศล คือพูดหยาบ พูดให้เขาเจ็บใจมากที่สุด พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดเท็จ พูดโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ วันหนึ่งๆ ที่เราพูดกัน สังเกตุดู พูดเรื่องอะไร ส่วนใหญ่มาจากกิเลสทั้งนั้น เรียกว่าพูดเรื่องเดรัจฉานกถา พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าพูดเรื่องเดรัจฉานกถา พูดเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไปที่ชาวโลกเขาพูดกัน เรื่องการบ้านการเมือง เรื่องอาชีพการงาน แม้แต่เรื่องดินฟ้าอากาศ ถ้าประสงค์สนใจเรื่องนี้ ก็สนใจเรื่องเดรัจฉานกถาอยู่นั่นเอง พระพุทธเจ้าสอนประสงค์ให้สนใจเรื่องกถาวัตถุ ก็ถ้อยคำที่ควรพูด พูดเรื่องมักน้อย พูดเรื่องสันโดษ พูดเรื่องวิเวก พูดเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุต เรื่องกถาวัตถุ
หน้าที่ของพระแตกต่างกับฆราวาส เรามาบวชเป็นพระห่มจีวร เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ก็ต้องระวังคำพูดให้มาก ก็มาจากกิเลสภายใน ทีนี้พูดธรรมดายังพอประมาณ แต่ว่าพูดไม่ดีเรียกว่าวจีทุจริต แล้วปัญหามันเกิด การอยู่กันในสังคมตั้งแต่สองคนขึ้นไป ปัญหามันเกิดก็มาจากคำพูดนี่เอง เราระวังคำพูดไม่ได้เพราะเราขาดสติขาดสัมปชัญญะ ไม่ระวังเมื่อผัสสะ ผัสสะมันเป็นเหตุให้เกิดกรรม ทีนี้ถ้ามีผัสสะมีสติสัมปชัญญะ กิเลสเกิดไม่ได้ การกระทำคำพูดก็เป็นกุศลกรรม กายกรรมที่เป็นกุศล ก็ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก ทางวาจา ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ก็มาจากจิตใจนั่นเอง ผัสสะเนี่ย เมื่อเราเกิด เมื่อเราตื่นขึ้นมา ก็ผัสสะมันเกิด อยู่ท่ามกลางของผัสสะ การมีสติสัมปชัญญะ ก็ให้มีแต่ผัสสะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เห็นรูปสักว่าเห็น ฟังเสียงสักว่าฟัง ดมกลิ่นสักว่าดม นี่คือการฝึก อย่าให้มีอวิชชาสัมผัส ให้มีแต่ปฏิฆะสัมผัส คือสักว่ากระทบ ตาเห็นรูปสักว่าเห็น หูฟังเสียงสักว่าได้ยิน นี่คือการฝึก ถ้ามีอวิชชาสัมผัสเมื่อไหร่ ปัญหามันจะเกิด นำไปสู่อกุศลกรรม คือทำชั่วทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง มันมาจากจิตใจก่อน มันเกิดขึ้นที่จิตใจก่อน กิเลสพวกนี้ แล้วมาก่อให้เกิดทำชั่วทางกาย ทางวาจา เรียกว่าอกุศลกรรม ก็พยายามเอาชนะไม่ทำความชั่ว ทำความดี คือทำกุศลกรรม ต้องฝึกการมีสติสัมปชัญญะ ที่สำคัญที่สุดต้องสนใจกรรมที่สาม คือกรรมเพื่ออยู่เหนือกรรม ไม่ทำความชั่ว ก็ทำให้คนเป็นคนดี พอไม่ทำความชั่วก็เป็นคนดี เช่นว่าคนที่ถือศีลห้าอย่างนี้ คนธรรมดาๆ พอมาถือศีลห้า ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก ไม่โกหก ก็เป็นคนดี เป็นกัลยาณชน แต่ยังไม่เป็นอริยบุคคล ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่พระองค์สอนว่าให้คนเลื่อนชีวิตจากปุถุชนคนธรรมดา เกิดมาเป็นปุถุชนคนธรรมดา ได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ได้มาปฏิบัติ ก็เลื่อนขึ้นมาเป็นกัลยาณชน แล้วก็เลื่อนต่อมาเป็นอริยบุคคล เริ่มต้นก็เป็นโสดาบัน ก็เพราะปฎิบัติอยู่ในกรรมที่สาม คืออริยมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฏฐิ
คนทั่วไปไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกรรม กรรมมีอยู่สามชนิด กรรมดำคือกรรมชั่วหรืออกุศลกรรม กรรมขาวคือกรรมดีกุศลกรรม กรรมไม่ดำไม่ขาวคืออริยมรรคมีองค์แปด เป็นหนทางที่ทำให้มันขึ้นอยู่เหนือกรรม พอทำกรรมแล้ว ผลก็จะตามมา เรียกว่าเวียนอยู่ในกองทุกข์ ทีนี้ถ้ามีกิเลส ทำกรรมชั่วก็เวียนอยู่ในกองทุกข์ แม้ทำกรรมดีก็ยังเวียนอยู่ในสังสารวัฎ ต้องทำกรรมที่สามเพื่ออยู่เหนือชั่วเหนือดีก็คืออริยมรรคมีองค์แปด อริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางสายกลาง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางโดยย่อก็คือสมถะและวิปัสสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่าสมาโทษจากวิปัสสนาจากมัชฌิมาปฏิปทา สมถะและวิปัสสนาคือทางสายกลาง
ฉะนั้นพวกเราอยู่ที่สวนโมกข์มีโอกาสเยอะ กุฏิทั้งหมดเป็นกุฏิกรรมฐานทั้งนั้น ผมคอยเตือนบ่อยๆ ว่า เป็นกุฏิกรรมฐานนะ พออยู่ที่กุฏิต้องฝึกสมถะภาวนา วิปัสสนาภาวนา มันจึงจะก้าวหน้า ถ้าไปสนใจเรื่องวัตถุ เรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องโน้ตบุ๊ค เรื่องโทรศัพท์ มันธรรมดา มันไม่ใช่ภาวนา ชีวิตจะก้าวหน้าอยู่ที่ภาวนานี่เอง ถ้าเจริญสมถะวิปัสสนาก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติอยู่ในกรรมที่สาม ก็จะทำให้อยู่เหนือกรรม เหนือกิเลส เพราะฉะนั้น พระใหม่ควรจะเรียนรู้เรื่องกรรมว่ามันมีหลายๆ ชนิด ยังมีเรื่องมากมายมากกว่านี้เรื่องกรรม แต่หัวใจของกรรมในพุทธศาสนาก็มีอยู่สามชนิด กรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว และกรรมมันเกิดเมื่อผัสสะ ผัสสะมี 6 ผัสสะ ผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ เมื่อผัสสะ อวิชชาก็เข้ามาร่วม เมื่ออวิชชาสัมผัส มันก่อให้เกิดกรรม อกุศลกรรม มันเกิดขึ้นเพราะมีอวิชชาเข้ามา ถ้าเราอบรมจิตให้มีสติสัมปชัญญะ อวิชชาเข้ามาไม่ได้ กรรมที่เกิดก็เป็นกุศลกรรม ตราบใดที่ยังยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตนอยู่ มันก็เป็นไปตามอำนาจของกรรมเรื่อยไป ก็อบรมจิต ปฏิบัติกรรมที่สามให้มากขึ้น ทำกรรมฐานนั่นเอง เวลาต่อไปนี้ก็ปฏิบัติกันเล็กๆ น้อยๆ ลมหายใจเข้าออก ลมกรรมฐาน เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกก็เป็นผัสสะที่ดี นี่ผัสสะมันเกิดเหมือนกัน หายใจเข้าหายใจออก ลมหายใจเข้ามันเป็นอารมณ์ วิญญาณมันเกิดก็เป็นผัสสะ เป็นมโนสัมผัส ก็ฝึกจิต ก็ได้สมาธิ ก็ได้สมาธิมา ก็พิจารณาสังขารให้เห็นตามที่เป็นจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันป็นแต่เพียงสังขาร สังขารก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน การปฏิบัติเหล่านี้ ก็ปฏิบัติกรรมที่สาม เพื่อจะอยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือปัญหา ลำดับต่อไปก็ปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ