แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอาละครับ ต่อไปนี้ก็ขอให้พวกเราที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปทุกองค์ไม่ว่าบวชเก่าหรือบวชใหม่ รวมทั้งคณะญาติโยม แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่นั่งอยู่ ณ บริเวณนี้ด้วย ขอให้ตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมในเวลาที่ดีที่สุดคือเวลาหัวรุ่งเพื่อจะเข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และทรงสั่งสอนเอาไว้คือเรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่าเราสอนในเรื่องทุกข์เรื่องดับทุกข์แต่ขยายออกไปเป็น 4 คือเรื่องทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ ทางถึงทางดับทุกข์
เรื่องนี้มันมีอยู่แล้วตั้งแต่เราเกิดมาแล้วมันคอยเกิดอยู่เรื่อย ๆ เพราะเหตุแห่งความทุกข์ยังไม่ถูกละ ยังไม่ถูกขจัดมันออกไป เพราะฉะนั้นก็ต้องมองให้เห็นว่าความทุกข์มันมาจากอะไร โดยเฉพาะทุกข์ทางด้านจิตใจก็มาจากกิเลส มีอวิชชา ตัณหา โดยเฉพาะอุปาทาน อุปาทานนั้นคือตัวทุกข์ อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่มีความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจก็ทำให้เกิดความอยากเรียกว่าตัณหาซึ่งมีประการต่าง ๆ อยากในกาม อยากมี อยากเป็น อยากไม่มี-ไม่เป็น พอเกิดความอยากแล้วก็มายึดถือเป็นความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ มีเหมือนกันหมดไม่ว่าเป็นพระ ไม่ว่าเป็นฆราวาส พระใหม่พระนวกะได้มีโอกาสเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
เวลาในพรรษานี้ก็ผ่านมาตามลำดับก็เกือบ 2 เดือนแล้ว พวกคุณรู้สึกว่าเวลา 3 เดือนนี้มันช้าหรือเร็ว มันขึ้นอยู่แต่ละคน ถ้าพวกคุณไม่ก้าวหน้าในทางธรรมะ จิตใจไม่สงบ คุณจะรู้สึกว่าเวลามันช้าเหลือเกิน เวลาทำไมมันช้าอย่างนี้ แต่ถ้าคุณเข้าใจธรรมะ พอใจในธรรมะ คุณจะรู้สึกว่าทำไมเวลามันรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าเวลานี้มันมีอยู่ 2 ชนิด พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสเคยได้พูดเอาไว้ แสดงธรรมเอาไว้
1) เวลาที่เรากำหนดกับวัตถุ เช่น เอาพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นเครื่องกำหนดเวลา พอพระอาทิตย์ขึ้นก็คือเวลากลางวัน พอพระอาทิตย์ตกก็เวลากลางคืน เอาพระจันทร์เป็นเครื่องกำหนดข้างขึ้นข้างแรมก็นับเวลา เดี๋ยวนี้ใช้นาฬิกามาเป็นเครื่องกำหนดเวลา นาฬิกาก็มีหลายชนิด สมัยก่อนเขาเอากะลาใส่ในถังน้ำเจาะรู น้ำก็ไหลเข้ากะลามะพร้าว พวกบ่อนการพนัน เช่น ชนไก่ชนอะไรต่าง ๆ ในบ่อนไก่เขาก็ดูนาฬิกากัน พอกะลามันจม นาฬิกามันจมก็หมายความว่าน้ำมันเข้าเต็มในกะลาแล้วกะลามันจม เพราะฉะนั้นนาฬิกาก็น่าจะมาจากกะลานี่เอง นาฬิกะ มันเป็นชื่อของมะพะร้าว เช่น มะพร้าวนาฬิเกร์ นี่ก็เอามาเป็นเครื่องกำหนดเวลา นาฬิกาทรายก็มี เคยเห็นภาพเขาเอาทรายใส่ในขวดแล้วมันมีตกมาทีละเม็ด ๆ มันเป็นรูเล็ก ๆ จนกระทั่งหมด เขากำหนดเวลา ในครั้งพุทธกาลเวลาพระบวชเขาวัดเงาแดด เขาเอาเงาแดดมาเป็นกำหนดเวลา แต่เดี๋ยวนี้ก็มันมีนาฬิกาข้อมือ มีนาฬิกาในโทรศัพท์มือถือ มันก็เปลี่ยน เวลาแบบนี้อาศัยวัตถุเป็นเครื่องกำหนด
แต่เวลาในทางจิตใจนี้คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเวลานี้มันกัดกินตัวเองแล้วกัดกินจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย คนเป็นทุกข์ก็เพราะเวลานี้มันกัดกินหัวใจ มนุษย์เรานี้เกิดมาเป็นทารกแล้วเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวพ่อบ้านแม่เรือนแก่เฒ่าชรา เด็ก ๆ ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องแต่พอโตเป็นหนุ่มเป็นสาวโดยเฉพาะผู้หญิงผู้ชายถ้าอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาววัยที่จะมีครอบครัวแล้วไม่มีใครมาสนใจที่จะมาเกี่ยวข้อง เขาบอกทุกข์มาก อยู่จนแก่ก็ไม่มีใครมาสนใจที่จะมาสู่ขออย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นเรื่องของจิตใจ คนแก่ก็เหมือนกันถ้าไม่เข้าใจธรรมะเวลาก็ทรมาน ความแก่มันก็เข้ามาเรื่อย ๆ อายุมากนี่ เดี๋ยวเจ็บตรงนั้น เดี๋ยวเจ็บตรงนี้ ความสะดวกสบายทางร่างกายมันไม่มีเลยสำหรับคนแก่นี่ ผมมีประสบการณ์ทุกวัน ตามันก็ไม่เหมือนเดิม หูก็ไม่เหมือนเดิม เรี่ยวแรงก็ไม่เหมือนเดิม เจ็บปวดทางร่างกายก็มีมากขึ้น ๆ เจ็บกระดูก เจ็บหลัง เจ็บไหล่ เป็นเรื่องของทุกขเวทนา มันมีแก่คนที่มีอายุมาก ถ้าไม่เข้าใจธรรมะมันก็ทรมาน ทรมานจิตใจ เหมือนคนในครั้งพุทธกาลอายุถึง 120 ปี ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าว่าให้พระองค์แสดงธรรมที่นำมาปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าสอนว่าเมื่อร่างกายทุกขเวทนาอยู่ จิตอย่ามีทุกขเวทนา หมายความว่าเจ็บเฉพาะร่างกายแต่จิตใจอย่าเจ็บ จะทำอย่างไร ก็ต้องเข้าใจธรรมะคือไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือว่าเราว่าของเรานั่นเอง แต่ว่ามันยาก มันยากที่จะไม่ยึดถือ เพราะฉะนั้นเวลาที่สำคัญ คือเวลาที่เกิดขึ้นในจิตใจที่มาจากตัณหา พอมีตัณหามีความอยากเวลาก็ตั้งต้นจนกระทั่งความอยากนั้นมันหายไปเวลามันก็ดับไป เวลาทางด้านจิตใจนี้มันสำคัญ
อย่างพวกคุณมาอยู่ในพรรษาถ้าคุณอยากให้พรรษามันผ่านไปเร็ว ๆ คุณก็จะรู้สึกว่าเวลามันช้าเหลือเกินเพราะใจคนมันอยาก อยากจะให้พรรษามันจบเร็ว ๆ แต่ถ้าเราสนใจพอใจในชีวิตบรรพชิตเวลามันก็ผ่านไปโดยเร็ว อย่างพวกผมที่บวชมานาน ๆ ไม่ค่อยสนใจเรื่องเวลาพรรษาอยู่ ๆ ก็ผ่านไปปีหนึ่งอยู่ ๆ ก็ผ่านไปปีหนึ่ง มันเป็นเวลาที่สำคัญทางด้านจิตใจ บางคนมาศึกษาธรรมะต่อไปก็ต้องออกไปเป็นฆราวาสการเข้ามาบวชนี้มาศึกษาเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในชีวิตฆราวาสมีปัญหามาก มีความทุกข์มาก มีเรื่องมาก ไม่เหมือนกับชีวิตของบรรพชิต หลาย ๆ คนก็บอกอย่างนี้ว่าเมื่อบวชเป็นพระก็สบายดีนึกจะทำอะไรก็ทำได้ แต่พอออกเป็นฆราวาสปัญหามันเยอะ พอออกไปมีครอบครัวมีลูกมีหลานมีงานมีการก็ต้องรับภาระรับผิดชอบเหมือนอย่างพ่อแม่ของเรา ญาติพี่น้องของเรา และตัวของเราเอง ก่อนที่เรามาบวชมันเป็นอย่างไร นี่เป็นพระอยู่มันเป็นอย่างไร มันก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีธรรมะของพระพุทธเจ้าจะช่วยคุ้มครองไม่ว่าเป็นพระไม่ว่าเป็นฆราวาส ถ้าเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าก็จะแก้ปัญหาได้เพราะยังมีภูมิคุ้มกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้น่าสนใจมากว่าฆราวาสครองเรือนเขาเรียกว่ากามโภคีคือผู้บริโภคกาม คำว่ากามก็คือกามคุณ คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส คือสัมผัส ทรัพย์สินเงินทอง บุคคล สิ่งของ นี้เป็นพวกกาม วัตถุกาม ฆราวาสทั่วไปก็ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่ากามโภคี ผู้บริโภคกาม แต่มันไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าจำแนกมีถึง 10 ประเภทด้วยกัน
ประเภทที่ 1 ทำมาหากินไม่ถูกธรรมะ หากินโดยวิธีเบียดเบียนผู้อื่น โหดร้ายทารุณ แต่ว่าได้ทรัพย์มาไม่เลี้ยงตัวเองให้อิ่มหนำสำราญ ไม่เลี้ยงบิดามารดา ไม่เลี้ยงผู้อื่น แล้วไม่ทำบุญให้ทาน นี่ก็พวกหนึ่ง พวกนี้สอบไล่ตกหมดเลย หากินไม่ถูกธรรม ได้ทรัพย์มาไม่เลี้ยงตัวเอง ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน สอบตกหมดเลย
ประเภทที่ 2 หากินไม่ถูกธรรม เบียดเบียนผู้อื่น ได้ทรัพย์มาก็เอาเลี้ยงตัวเองให้อิ่มหนำสำราญแต่ว่าไม่เลี้ยงผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน นี่ก็สอบได้อย่างเดียวแต่สอบตกอีกสองอย่างคือไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน
ประเภทที่ 3 หากินไม่ถูกธรรม ได้ทรัพย์มาเอามาเลี้ยงตัวเอง เอามาเลี้ยงผู้อื่นแล้วก็ทำบุญให้ทาน นี่ก็สอบตกที่ว่าหากินไม่ถูกธรรม แล้วได้ทรัพย์มาเอามาเลี้ยงตัวเองนี่สอบไล่ได้ เอามาเลี้ยงผู้อื่น ทำบุญให้ทาน นี่ก็เรียกว่าสอบไล่ได้
ทีนี้ประเภทที่ 2 มี 3 จำพวกเหมือนกัน หากินถูกธรรมบ้างไม่ถูกธรรมบ้าง เบียดเบียนบ้างไม่เบียดเบียนบ้าง ที่ไม่ถูกธรรมเบียดเบียนผู้อื่นนี้มันสอบไล่ตก แล้วก็ได้ทรัพย์มาไม่เลี้ยงตัวเอง ไม่เลี้ยงผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน นี่มันมีสอบไล่ได้อย่างเดียวคือหากินที่ถูกธรรม ส่วนที่ผิดธรรมนี้สอบไล่ตก
ทีนี้ประเภทที่ 2 หากินถูกธรรมบ้างไม่ถูกธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาเอามาเลี้ยงตัวเองให้อิ่มหนำสำราญแต่ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน ก็สอบไล่ได้ตรงที่เรียกว่าเอามาเลี้ยงตัวเอง แต่ที่ไม่เลี้ยงผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน สอบไล่ตก
ประเภทที่ 3 หากินถูกธรรมบ้างไม่ถูกธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาเอามาเลี้ยงตัวเองให้อิ่มหนำสำราญแล้วก็ช่วยเหลือผู้อื่น ทำบุญให้ทาน อันนี้สอบไล่ได้
ทีนี้อีกประเภทหนึ่งมี 3 เหมือนกัน หากินถูกธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่โหดร้ายทารุณ ได้ทรัพย์มาแต่ไม่เลี้ยงตัวเองให้อิ่มหนำสำราญ ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน ที่สอบไล่ได้อย่างเดียวคือหากินถูกธรรม แต่สอบไล่ตกคือไม่เอามาเลี้ยงตัวเอง ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน สอบไล่ตก นี่หากินถูกธรรมนะ ได้ทรัพย์มาเลี้ยงตัวเองให้อิ่มหนำสำราญ อันนี้สอบไล่ได้ แต่ไม่เลี้ยงผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน นี่สอบไล่ตก
ทีนี้ประเภทที่ 3 ของพวกนี้ หากินถูกธรรม ได้ทรัพย์มาเอามาเลี้ยงตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่น ทำบุญให้ทาน สอบไล่ได้ อันนี้ดี ดีกว่าประเภทอื่น แต่ยังไม่สูงสุด
สูงสุดคือประเภทที่ 10 หากินถูกธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ได้ทรัพย์มาก็เอามาเลี้ยงตัวเองให้อิ่มหนำสำราญ ช่วยเหลือครอบครัวให้อิ่มหนำสำราญ ทำบุญให้ทานแล้วก็ไม่ติดไม่ยึดติดอยู่ในทรัพย์สินเหล่านี้ อันนี้แหละเรียกว่าสูงสุด
เพราะฉะนั้นเราออกไปเป็นฆราวาสก็ลองดูว่าเราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้ได้อย่างไร ก็ต้องปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะเรื่องสัมมาชีวะ การที่จะทำให้ทุกข์ดับก็ต้องปฏิบัติอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง สัมมาสังกัปโป ดำริถูกต้อง นี่เป็นพวกปัญญา สัมมาวาจา พูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันโต การงานถูกต้อง สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพถูกต้อง สัมมาอาชีโวนี้สำคัญมาก การที่เราเลี้ยงชีพเบียดเบียนผู้อื่นทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ผิดกฎหมายก็ตาม มันเป็นมิจฉาอาชีวะ แล้วทางมิจฉาอาชีวะก็มีปัญหามาก ฉะนั้นก็ต้องพยายามปรับปรุงเรื่องการเลี้ยงชีพให้เป็นสัมมาอาชีวะคือไม่ผิดศีลธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทางกายทางวาจา ไม่ทำให้ผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด หรืออาชีพที่มันผิดศีลธรรม ก็ควรจะงดเว้น ถ้าจะทำได้ก็ต้องอาศัยความเพียรพยายาม ต้องอาศัยสติ สัมมาสติ ถ้าไม่มีสติมันก็ทำไม่ได้ เป็นการดำรงชีพให้มันถูกต้อง หากินสุจริตได้ทรัพย์มาก็เอามาเลี้ยงตัวเอง เอามาเลี้ยงครอบครัว เอามาสงเคราะห์ญาติ ทำบุญให้ทาน ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ชีวิตก็มีประโยชน์มีคุณมีค่า ฆราวาสบางคนเกิดมาไม่ได้ทำประโยชน์ตน ไม่ได้ทำประโยชน์ผู้อื่น เรียกว่าตายไปเปล่า ยิ่งไปกว่านั้นไปสร้างปัญหาให้แก่ครอบครัวทำให้พ่อแม่น้ำตาตกนอนไม่หลับ มันก็มี ลูกแบบนี้ก็มีอยู่ ก็เพราะไม่ได้อบรมจะไปโทษลูกอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องโทษพ่อแม่ด้วยเพราะพ่อแม่ไม่ได้สอนลูกให้ถูกทาง รักลูกไม่ถูกทาง เพราะฉะนั้นชีวิตของเรามันจะเลื่อนขึ้นไป ๆ ถ้าเรายังไม่มีครอบครัวเราก็เป็นลูกของพ่อของแม่ ต่อไปพอมีครอบครัวเราก็กลายเป็นภรรยาสามี ต่อไปก็เป็นพ่อเป็นแม่ของลูก เป็นพ่อเป็นแม่นี้มีความสำคัญมันต้องมีคุณธรรม เป็นพรหมของลูก เป็นพระของลูก เป็นเพื่อนของลูก เป็นอาจารย์คนแรกของลูก เอาธรรมะในพุทธศาสนาไปใช้ การมีครอบครัวแล้วมีลูกถ้าอบรมลูกไม่ดีลูกจะกลายมาเป็นศัตรูมาเป็นภัยแก่บิดามารดา ให้เป็นทุกข์ ให้นอนไม่หลับ ให้ปวดหัว
ฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าเรามาศึกษาเรียนรู้ก็ต้องเอาไปใช้ แม้เป็นพระก็ต้องใช้ ต้องใช้กันทุกวัน อยู่เป็นพระไม่ใช่จีวรคุ้มครองได้ ต้องมีสติสัมปชัญญะมีสมาธิมีปัญญาจะรักษาจิตใจให้รู้สึกพอใจในแต่ละวัน ๆ พอตื่นขึ้นมาให้รู้จักพอใจในชีวิตของตนเอง ถ้าเราไม่ได้ทำประโยชน์มันพอใจตัวเองไม่ได้ต้องมีฉันทะ มีปราโมทย์ มีปีติในชีวิต ตื่นขึ้นมาก็อิ่ม อิ่มอกอิ่มใจว่าได้ทำประโยชน์ เพราะฉะนั้นโดยสรุปพระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ว่าเป็นประโยชน์ตนเอง เป็นประโยชน์ผู้อื่น เป็นประโยชน์ส่วนรวมอยู่ที่การปฏิบัติธรรมนี้ ปฏิบัติธรรมปฏิบัติที่ไหน ก็ปฏิบัติในตัวชีวิตของเรานี้ ปฏิบัติที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นคือการปฏิบัติธรรม
ฉะนั้นพวกเรามาอยู่ที่สวนโมกข์ ผมนี้ก็มาอยู่นานมาก 50 กว่าปีแล้ว 56 ปี ปีนี้ ผมก็ได้เห็นพระแต่ละรูปหลาย ๆ คนที่มาอยู่ที่สวนโมกข์มันก็ไม่เหมือนกัน บางองค์ประสบความสำเร็จ บางองค์ไม่ประสบความสำเร็จออกไปเป็นฆราวาสบางคนก็เอาตัวรอด บางคนก็เอาตัวไม่รอด บางคนสึกเป็นฆราวาสแล้วก็ยังสนใจเข้าวัดเข้าวา อันนี้ก็มี เพราะฉะนั้นพวกเราออกพรรษาแล้วสึกออกไปถ้าจะต้องการให้ชีวิตมีประโยชน์แล้วก็ไม่ควรละทิ้งการเข้าวัดเข้าวา มาสนทนากับพระเจ้าพระสงฆ์ บวชแล้วไม่เข้าวัดเข้าวาไม่พบพระเจ้าพระสงฆ์ไปคบแต่คนธรรมดาไปคบนักเลงมันก็เสื่อม มันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการบวชในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนอย่างมาอบรมให้มีภูมิคุ้มกัน ออกเป็นฆราวาสก็เป็นฆราวาสที่ดี อย่างที่กล่าวมาแล้วมันมีหลายประเภท หากินไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ได้ทรัพย์มาแต่ไม่มาเลี้ยงตัวเอง ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทำบุญให้ทาน นี่ก็มี
ที่ดีที่สุดก็หากินถูกต้องเป็นธรรม ได้ทรัพย์มา มาเลี้ยงตัวเอง มาช่วยเหลือผู้อื่น ทำบุญให้ทานแล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์เหล่านี้ การไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้มันก็ต้องเห็นกฎของธรรมชาติคือการอบรมจิตใจนี้ ผมอยากจะแนะว่าการเจริญสมาธิภาวนานี้มันสำคัญที่สุด ต้องปฏิบัติทุกวัน อย่างน้อยนั่งสมาธิครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง คุณหมอประเวศ นี่คุณหมอบอกผมว่า หมอนี่ นั่งสมาธิทุกวัน ตื่นเช้าขึ้นมาก็นั่งสมาธิ พอจิตมีสมาธิก็ได้พิจารณาสังขาร ถ้าเป็นสังขารมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน แล้วพวกเรามาอยู่ในสวนโมกข์นี้มีโอกาสเยอะ ว่าใครที่ปฏิบัติจริง ๆ ผมก็รู้ไม่ได้ แล้วแต่ผู้นั้นต้องการจะก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า ผมเกี่ยวข้องกับพวกฝรั่ง ผมออกไปทุกวัน พวกฝรั่งเขาก็ตั้งใจกันมาก มีอยู่คนหนึ่งนี่ เมื่อวานมารายงานผม รู้สึกว่าจะเป็นคนแคนาดา เขาอดอาหารมา 6 วันนะ ไม่กินอาหาร ดื่มแต่น้ำ เขามาถามผมว่าอดอาหารมา 6 วันแล้วมีประโยชน์อะไรบ้าง ผมก็บอกว่าอดอาหารมันก็แล้วแต่บุคคลแต่ผมคิดว่าควรจะพอแล้ว เขาตั้งใจจะอดถึง 10 วัน ผมว่ามันมากเกิน 7 วันก็คงพอได้แล้ว วันนี้เขาก็จะเลิกอดอาหาร มันก็เข้มแข็ง กำลังใจเข้มแข็งเพราะการอดอาหารนี้มันหิวโหย มันทรมาน แต่เขาก็มีกำลังใจแล้วก็ตั้งใจที่จะฝึกสมาธิ คือคนที่มันมีการตั้งใจปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน แต่ว่าการบีบบังคับส่วนอย่างนี้มันก็ได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่จะได้ผลจริง ๆ ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนของเรานั่นเอง สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นเรื่องของจิตใจ เราไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ใจก็ไม่มีทุกข์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของคนจำนวนมาก ขอให้พวกเราได้รับประโยชน์จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านได้รับประโยชน์ท่านจึงทำประโยชน์ได้มากมาย ลองพิจารณาดูว่าท่านอาจารย์ทำประโยชน์อะไรบ้าง มันยากที่ใครจะทำเหมือนท่านอาจารย์โดยเฉพาะความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ท่านนำมาสอน นำมาเทศน์ นำมาบอกเป็นหนังสือตำราแต่ละเล่ม ๆ ผมหยิบหนังสือ อิทัปปัจจยตาเป็นเล่มหนาพอสมควรมาอ่าน ได้รับประโยชน์มาก ตอนที่ท่านอาจารย์บรรยายผมเป็นผู้บันทึกแล้วก็ฟังผ่านไป ๆ แต่พอนำมาอ่านใหม่ มาทบทวนใหม่ ได้ประโยชน์มาก ถ้าคุณสนใจลองหาอ่านดู อ่านหนังสืออิทัปปัจจยตาเล่มเดียวเรียกว่าคุ้มครองชีวิตได้ทั้งชีวิตเลย เพียงเล่มเดียวนี้ ต่อไปนี้ก็ปฏิบัติกัน หายใจเข้าติดอยู่กับลมตามลมไว้ หายใจออกก็ตามลมมา พอจิตมีสมาธิก็พิจารณาสังขาร สมถะและวิปัสสนาเป็นเครื่องมือให้จิตมันเย็น เกิดอะไรขึ้นก็อิทัปปัจจยตา จะเป็นตัวเอง จะเป็นญาติพี่น้อง จะเป็นภัยธรรมชาติ เป็นอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้จึงได้เกิด สิ่งนี้เกิด อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นตัวเป็นตน เอาละปฏิบัติกันนิด ๆ หน่อย ๆ ต่อไปนี้