แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอาล่ะครับ ต่อไปนี้ก็ขอให้พวกเราที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปทุกองค์ตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมรวมทั้งแม่ชีอุบาสกอุบาสิกาด้วย ผมเคยแนะนำให้พวกเราลองพิจารณาดูว่าขณะที่เรานั่งปฏิบัติธรรมอยู่ในขณะนี้ที่สวนโมกข์ วัดธารน้ำไหล แต่ที่อื่นเวลาเดียวกันคนอื่นเขาทำอย่างอื่น เช่น ขณะนี้คนกำลังหลับอยู่ก็มี บางประเทศเวลาเดียวกันแต่มันต่างกัน เช่น ประเทศอเมริกาเขาว่าตรงกันข้ามผมไม่เคยไป ประเทศไทยเวลาใกล้รุ่ง ประเทศอเมริกาเป็นเวลาใกล้ค่ำ บางประเทศเป็นเวลากลางวัน บางประเทศเป็นเวลายังไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นต้น ในเวลาเดียวกันนี่ที่อื่นเขาทำอย่างอื่น บางประเทศกำลังทำสงครามกันก็มี บางประเทศคนอพยพหลบหนีเอาประเทศตัวเองไปพึ่งประเทศอื่นก็มี ที่สำคัญที่สุดเรากำลังที่จะนั่งสมาธิที่นี่ คนอื่นกำลังนอนเจ็บนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลก็มี บางคนกำลังจะตายอยู่ก็มี บางคนกำลังเผา ถูกเผาอยู่ก็มี ลองพิจารณาดูก็จะได้ประโยชน์และก็มาย้อนมานึกถึงตัวเองว่า เราเองวันหนึ่งก็ต้องเป็นเช่นนี้ แก่ เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ แก่แล้วก็ต้องเจ็บ เจ็บแล้วก็ต้องตาย ตอนนี้เรายังทำอะไรได้อยู่แต่วันหนึ่งมันจะต้องเป็นเหมือนคนอื่น ดังนั้นเวลาเข้าไปในงานศพจุดธูปดอกหนึ่งแล้วก็พิจารณา เอวัง ภาวี เอวัง อะนะตีโต เราก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะพ้นความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ ถ้าพิจารณาอย่างนี้มันจะเกิดปัญญาจะเอาชนะกิเลสได้มากทีเดียว
การปฏิบัติธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาต้องการที่จะได้เข้าใจเรื่องทุกข์ ทำไมทุกข์มันหมดที่ว่า อันโต ทุกขัสสะ ทำไมทุกข์มันหมด อีกนัยหนึ่งคือทำให้บรรลุนิพพาน ความจริงก็คือเรื่องเดียวกัน พระนิพพานก็คือ ความดับทุกข์นั่นเอง ทุกข์มันมีหลายอย่าง ทุกข์เจ็บปวด ก็เรียกว่า ทุกขเวทนา มีอยู่ในสังขารที่มีชีวิต ชีวิตของมนุษย์เรามันเป็นสังขาร ชีวิตของสัตว์ทุกชนิด สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ 4 เท้า สัตว์ 2 เท้า เช่น มนุษย์เรา สัตว์ไม่มีเท้า เช่น งู เช่น สัตว์บางชนิดไม่มีเท้า เช่น ปลาไหล นี่ก็ไม่มีเท้า งูก็ไม่มีเท้าแต่ว่าสิ่งที่มีชีวิตก็ย่อมมีทุกขเวทนา
สอง ทุกขลักษณะ ทุกขเวทนามีในสิ่งที่มีชีวิต ส่วนสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ภูเขาหิน หรือว่าวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นมา อาคารบ้านเรือนไม่มีชีวิตแต่มันมีทุกข์อีกอย่างหนึ่งคือ ทุกขลักษณะ ทุกขเวทนามันไม่มีเหมือนอย่างรถที่เรานั่งไปไหนมาไหนมันไม่รู้สึกเจ็บปวดเอาของบรรทุกลงไปๆ บางทีบรรทุกจนยางแตกแต่มันไม่รู้สึกเจ็บปวดไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตจะเป็นวัว เป็นควาย เป็นช้าง เป็นม้าหรือว่าเป็นคน ถ้าไปแบกของหนักมันก็หนักมันก็เหนื่อยมันเป็นทุกขเวทนา แต่ว่าสิ่งมีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตามมันมีทุกขลักษณะก็มันเป็นสังขาร มันไม่เที่ยงนั่นเอง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเรียกว่าเป็นทุกข์ อย่างอนิจจัง (06.39 เสียงไม่ชัดเจน) ทุกขัง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกขลักษณะมีในทุกสังขาร สังขารที่มีชีวิต เรียกว่าอุปาทินนกสังขาร สังขารที่อุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีชีวิต อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีชีวิต แต่ว่าทุกข์ที่สำคัญที่สุดคือทุกข์ในจิตใจของเรานั่นเอง ทุกข์นี้ถ้าไม่เข้าใจแม้จะมีอะไรทรัพย์สินเงินทองร่ำรวยเป็นเศรษฐีเป็นมหาเศรษฐีมีอำนาจวาสนาบารมีอะไรก็ตาม จะดับทุกข์ไม่ได้เลยมันจะยังเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นมีมากก็ทุกข์มากถ้าไปยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนให้รู้จักทุกข์ที่ทำกันคือทุกข์ทางด้านจิตใจที่มาจากอุปาทาน ท่านทรงตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เมื่อกล่าวโดยสรุปความทุกข์มันมาเพราะยึดถือในเบญจขันธ์ว่าเป็นเราเป็นของเรา เบญจขันธ์ก็คือชีวิตของมนุษย์เรานั่นเอง ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ความจริงสิ่งเหล่านี้ก็คือธาตุตามธรรมชาติ ธา-ตุ ธาตุทางธรรมชาติ มันเป็นสังขตธาตุ ธาตุที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง พุทธศาสนาได้สรุปให้ท่านได้ดูก็มีแต่ สักว่าธาตุ สังขตธาตุกับอสังขตธาตุ อสังขตธาตุ คือ พระนิพพาน นอกนั้นก็เป็นสังขตธาตุทั้งหมด เรียกอีกคำหนึ่งก็คือ ธรรม ธรรมะ สังขตธรรมกับอสังขตธรรม อสังขตธรรม อสังขตธาตุมันอันเดียวกัน คือ พระนิพพาน สังขตธาตุ สังขตธรรมอันเดียวกัน คือ พวกสังขารที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง ทีนี้ถ้าเป็นสังขารมันก็มีกฎตายตัวของมันคือ มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่แล้วก็ดับไป คือไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นมันก็เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา มันก็ยิ่งทุกข์หนัก เรียกว่าทุกข์เพราะอุปาทาน
ธรรมะของพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราได้เข้าใจว่าธรรมชาติเรียกว่า ธาตุของสังขารมันต้องเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดแล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นเรียกว่า จิตหลุดพ้น วิมุตติ ต้องทำอย่างไรให้มันประสบความความสำเร็จ ด้วยการอบรมจิตเรียกว่า จิตภาวนา หนึ่งอบรมจิตให้มีสมาธิก่อน ก็อาศัยสังขารอีกนั่นเอง โดยเฉพาะระบบอานาปานสติ หายใจเข้ายาวหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นออกสั้น ลมหายใจเข้าเป็นกายสังขาร เราทุกคนมีลมหายใจเข้าออกถ้ายังไม่ตาย แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ที่ใช้ลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องมือดับทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลาต่อไปนี้ ขอให้พวกเราที่อยู่กันที่สวนโมกข์สนใจปฏิบัติ ปฏิบัติมากเท่าไรมันก็เข้าใจมากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าทำไม่มากก็คงไม่มาก ที่สวนโมกข์เมื่อวานผมเข้าไปพบพวกฝรั่งเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้อาจจะถึง 70 คน จากทั่วโลกหลายๆ ประเทศ เขาก็มาฝึกอานาปานสติและการฝึกสมาธิภาวนาที่สวนโมกข์มีหลักเกณฑ์หลักการอยู่ว่าผู้เข้าปฏิบัติต้องเข้าใจหัวใจของพระพุทธศานาเสียก่อน เข้าใจเรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ เรื่องอริยสัจ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็ต้องมีผู้บรรยายให้เขารู้ว่านี่คือหัวใจของพระพุทธศานา ก็คือชีวิตของมนุษย์เรามีเป็นหัวใจของพระพุทธศานา มันมีทุกข์ มีทุกข์อยู่แล้วมันเกิดมา จะทำให้ทุกข์ดับทำอย่างไรก็ปฏิบัติที่มรรค เป็นอริยสัจ ขยายออกไปเป็นปฏิจจสมุปบาทและวิธีปฏิบัติก็คือเจริญอานาปานสติ เป็นขั้นๆ มันมีถึง 16 ขั้น ถ้ามีเวลาน้อยก็ปฏิบัติเพียง 2 ขั้น
ขั้นแรกคือ เจริญอานาปานสติหายใจเข้ายาวออกยาว การปฏิบัติอานาปานสติสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ สติสัมปชัญญะและความเพียร ก็เหมือนกับปฏิบัติกรรมฐานอื่น อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเก อะภิชฌา โทมะนัสสัง มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร เพื่อละความยินดียินร้ายในโลกออกเสียได้ ถ้าไม่ยินดีไม่ยินร้ายก็คืออยู่เหนือความทุกข์ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ดังนั้นต่อไปนี้ก็ปฏิบัติธรรมไปตามที่มี มีสติระลึกอยู่กับธรรมะตลอดเวลา ทุกครั้งที่หายใจเข้า ทุกครั้งที่หายใจออกให้จิตระลึกอยู่กับธรรมะ ครั้งแรกก็เอาลมหายใจเข้าเป็นตัวธรรมะ หายใจเข้าหายใจลึกอยู่กับลมตามลมไป ตั้งความรู้สึกว่าลมเข้ามามันก็เดินทางไปอยู่ที่ท้องที่สะดือก็ตามมาแล้วเราก็ตามไป ติดตามไปติดตามมา
พอจิตมีสมาธิก็พิจาณาสังขารและพิจารณาขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ พิจารณาอายตนะ 6 ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อื่นๆ ทุกอย่างแม้แต่ความคิดนึกของจิต คิดดี คิดชั่วก็รวมเป็นสังขารทั้งนั้น ให้เห็นสังขารตามนี้ก็สลัดความรู้สึกว่าตัวเราของเรา ถ้าจิตไม่รู้สึกว่ามีเราของเรานั่นแหละพระนิพพานก็ปรากฏขึ้นมา ก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หลักการของการปฏิบัติธรรมตามแบบที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสได้แนะนำเอาไว้ ลำดับต่อไปเราก็ปฏิบัติกันตามเวลาที่มี