แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย อยู่ที่ไหนจะเกี่ยวข้องกับเวลาทุกหนทุกแห่ง เวลาโดยหยาบๆ ก็คือกลางวันและกลางคืน ตอนนี้กำลังอยู่ในเวลากลางคืนอยู่
แต่ว่าบางประเทศของโลกเป็นกลางวันอยู่ บนโลกของเรามันหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา หมุนรอบดวงอาทิตย์ตลอดเวลา โลกของเราเป็นโลกที่มันหมุน ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ แต่เราไม่มีความรู้สึกว่าโลกของเรากำลังโคจร กำลังหมุน กำลังเวียน หนึ่งรอบตัวเอง สองรอบดวงอาทิตย์
ทีนี้ บางประเทศเป็นเวลากลางวัน เวลาก็ผิดกัน ประเทศนั้นประเทศนี้ เร็วบ้างช้าบ้าง นั้นกลางคืนกลางวัน มันเกี่ยวกับชีวิตของเรา เวลาที่นับกันหยาบๆ
เดี๋ยวนี้มนุษย์คำนวณเวลาเป็นวินาที เป็นหนึ่งนาที เป็นชั่วโมง หลายๆ ชั่วโมง นัดเวลากัน เราอยู่ที่ไหนก็เกี่ยวเนื่องกับเวลา แยกกันไม่ได้ และเวลาที่ว่านี้ มันเป็นเวลาที่อาศัยวัตถุมาเป็นเครื่องกำหนด เช่นกลางวันก็พระอาทิตย์ขึ้น ก็นับว่าเป็นกลางวัน พระอาทิตย์ก็โคจร คนก็ไปมองเห็นว่าเป็นอย่างนั้น พระอาทิตย์มันค่อยๆเดินทาง
แต่ว่าเดี๋ยวนี้โลกมันก้าวหน้า วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ดาราศาสตร์ก้าวหน้า ก็รู้ว่าจริงๆ พระอาทิตย์ไม่ได้เดินทาง พระอาทิตย์ก็เป็น เรียกว่าสำคัญที่สุดสำหรับโลกมนุษย์เรา ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์อย่างเดียว ทุกสิ่งที่มีชีวิต ตายหมดไม่มีเหลือ เป็นดวงไฟที่ลุกตลอดเวลา แล้วก็หมุนรอบตัวเองด้วย
ดาวนพเคราะห์ทั้งหลายก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ เขาเรียกว่าสุริยะจักรวาลเป็นศูนย์กลาง อย่างโลกของเรา พระจันทร์ พระอังคาร ดาวพระพุธ ดาวพฤหัส ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ เดี๋ยวนี้ก็คนก็ได้เรียนรู้โลกที่เราอาศัยอยู่นี้
เมื่อก่อนเราไม่ได้เห็นรูปร่างของโลก เราเห็นดวงจันทร์ ดวงจันทร์ข้างขึ้นข้างแรม เวลาข้างขึ้นก็โตขึ้นๆ พอพระจันทร์เต็มดวงเรียกว่าสวยมาก พระจันทร์นี้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสรู้ ก็คือเดือนวิสาขะ พระจันทร์เต็มดวง พระองค์แสดงธรรมครั้งแรก เดือน ๘ ก็พระจันทร์เต็มดวง เดือนที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป ก็พระจันทร์เต็มดวง
เมื่อก่อนมนุษย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่เป็นแบบนี้ ก็อาศัยธรรมชาติ อาศัยแสงจันทร์ แสงเดือน แล้วก็เห็นพระจันทร์ที่โตขึ้นๆ จนเต็มดวงก็ค่อยๆลดลงๆ ถ้ามีคนถามเราบางทีตอบไม่ได้ ว่าพระจันทร์ข้างขึ้นข้างแรมนี่ มันหันข้างเว้าข้างแหว่ง หันไปทางไหน ข้างขึ้นมันหันไปทางไหน ข้างแรมมันหันไปทางไหน บางทีไม่ทันคิดเพราะเราไม่สนใจที่จะจำ จำไม่ได้ ตอบไม่ได้
ถ้าพระจันทร์ข้างขึ้น พระจันทร์เป็นเสี้ยวมันก็หันไปทางทิศตะวันออก แล้วก็โตขึ้นๆ จนกระทั่งเต็มดวง ถ้าพระจันทร์ข้างแรมมันหันเสี้ยวของมัน ตรงกันข้ามกับพระอาทิตย์คือหันไปทางทิศตะวันตก สังเกตใหม่ สิ่งที่เราเห็นทุกวัน แต่เราไม่ได้สังเกต
การปฏิบัติธรรมคือสังเกตธรรมชาติ เราอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับใบไม้ ใบหญ้า อยู่กับคน อยู่กับสัตว์ อยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติเหล่านี้ ก็สอนให้เรารู้จักให้เข้าใจธรรมชาติ ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน ธรรมชาติที่อยู่รอบๆตัวเรา มันก็เปลี่ยน ต้นไม้ น้ำแห้ง พอถึงฤดูร้อนก็ผลัดใบเปลี่ยนใบ แต่พอฝนมามันก็ออกใบใหม่ ธรรมชาติเหล่านี้ มันสอนให้เราเข้าใจธรรมะคือธรรมชาติ แล้วก็เกี่ยวกับเวลา เวลาที่เรานับกัน ก็กำหนดด้วยพระจันทร์บ้าง ด้วยพระอาทิตย์บ้าง
ปัจจุบันนี้กำหนดด้วยวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นมา คือนาฬิกา นี้เป็นเวลานับกันอาศัยวัตถุ แต่ว่าเวลาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า เวลามันกัดกินตัวเอง และกัดกินสรรพสัตว์ทั้งหลาย เราทุกคนอยู่ใต้อำนาจของเวลา พระอรหันต์เท่านั้นอยู่เหนือเวลา คนทั่วไปอยู่ภายใต้เวลา เวลาที่ว่านี้อยู่ที่จิตใจของเรา
ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายชัดเจนมากว่า พอเกิดความอยากขึ้นมา เกิดตัณหาขึ้นมา เวลาก็ตั้งต้น จนกระทั่งความอยาก ตัณหามันหยุด เวลาก็หยุด แล้วก็เกิดใหม่อีก เพราะฉะนั้น คนเป็นทุกข์ทรมานเพราะเวลา
ญาติโยมทั้งหลายทำงาน ไม่ว่างานราชการ งานส่วนตัว มีการนัดแนะ นัดหมาย กำหนดเวลาไว้แล้วก็อยากจะไป ทีนี้ถ้ามันเกิดมีอะไรขัดขวาง ไม่มีรถ ไม่มีเรือ เครื่องบินๆไม่ได้ ก็เดือดร้อนมาก ทรมาน เดี๋ยวนี้ก็มีการปรับกัน ลงโทษ
มนุษย์ปัจจุบันเป็นมนุษย์ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของเวลา เวลาที่กำหนดเอาไว้ นัดแนะเอาไว้ ที่สำคัญที่สุดในจิตใจนี้ มันเป็นทุกข์เพราะเวลา พอเกิดความอยากขึ้นมา อยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ทรมานจิตใจ
โยมมาอยู่ที่นี่ ความจริงเวลาสั้นมาก ๔-๕ วัน ถ้าโยมรู้สึกว่าทำไมมันช้าเหลือเกิน หมายถึงใจไม่ก้าวหน้า ทีนี้ ถ้าโยมก้าวหน้าทางด้านจิตใจ เอ๊ะ.ทำไมมันหมดแล้ว ๔-๕ วันนี้ เร็วเหลือเกิน
ทีนี้ คนที่อยู่ในคุกในตะราง ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ เรื่องเวลานี้มันยาวเหลือเกิน บางคนที่ไม่เคยเข้าไปอยู่ในคุกในตะราง เครียด บางทีทนไม่ได้ ก็ไม่ใช่เป็นบ้านของตัวเอง ไปอยู่รวมๆ ก็ไว้ใจกันไม่ได้ นักโทษบางทีก็เครียด ฆ่าตัวตายก็มี ฆ่าตัวตายในคุกในตะราง เพราะว่าจิตใจเครียดมาก
ทีนี้ ถ้าอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็แก้ไขได้ อาตมาก็เคยเล่าบ่อยๆว่าฝรั่งที่มาติดคุกในประเทศไทยเรา พายาสิ่งเสพติดมา ไม่ใช้ฝรั่งผิวขาว พวกไนจีเรีย แล้วก็เครียดมาก เพราะศาลตัดสินติดคุก ๑๐ กว่าปี ก็เขียนจดหมายมาหาอาตมา ขอหนังสือวิธีปฏิบัติ ฝึกสมาธิ อาตมาก็ให้ส่งไปให้ หลายปีต่อมา เขาเขียนภาษาไทยได้ เขียนสวยด้วย รู้สึกว่าย้ายมาอยู่ที่สุราษฎร์ ติดคุกที่สุราษฎร์ต่อ เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่ติดคุกแล้ว อยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะได้ฝึกสมาธิ ฝึกภาวนานั่นเอง เขาก็ได้รับประโยชน์ อย่างนักโทษในเรือนจำอยู่กันมากๆ เครียด ผู้บัญชาการเรือนจำก็นิมนต์พระไปสอน ไปแนะนำเรื่องสมาธิ บางคนเขาก็ทำอย่างอื่น มีการทำงาน เพราะฉะนั้นงานที่ออกจากเรือนจำก็ทำได้ดี เป็นการจักรสาน เป็นการแกะการสลัก เพราะว่าจิตมีสมาธิ
หนังสือดิกชันนารีของส.เศรษฐบุตร เรียกว่าแปลอังกฤษมาเป็นไทยแต่ว่าค่อนข้างสมบูรณ์ มีคนเขาบอกว่า ไปเขียนไปทำตอนที่ติดคุก ก็เวลามาก เดี๋ยวนี้นักโทษที่อยู่ในคุกก็เรียนสุโขทัยธรรมาธิราชบ้าง เรียนรามคำแหงบ้าง จบปริญญากันในคุกในตะราง เพราะมีเวลามาก
ถ้านักโทษไม่มีอะไรทำ เครียดมาก นี่ก็ทำหลายๆอย่าง โดยเฉพาะการฝึกสมาธิ สอนสมาธิกำลังอยู่ในคุกในตะราง เพราะฉะนั้นเราอย่าคิดว่าเราไม่ติดคุก เราไม่อยู่ในคุก ไม่อยู่ในตะราง แต่มันยังติดคุกของกิเลสอยู่
โลกที่เราอาศัยนี้มันคือคุกใหญ่ บริเวณมันกว้าง เราเดินไปไหนมาไหนได้ ขับรถไปไหนมาไหนได้ นั่งเครื่องบินได้ แต่ใครบ้างออกจากโลกนี้ไปได้ มันออกไม่ได้ มันอยู่ในคุกใหญ่ ถูกกักขัง จำกัดที่ไว้ อันนี้ทางวัตถุ
สำคัญที่สุดคือทางจิตใจที่เราอยู่ใต้คุกของเวลา มันทรมาน มันกัดกินหัวใจ เพราะฉะนั้นญาติโยมมาอยู่ที่นี่ ก็เพื่อมาเรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า เพื่อจะออกจากคุกของเวลา ต่อไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เดือดร้อน หน้าที่การงานก็ทำไปตามนั้น แต่ใจไม่ทรมาน เตรียมพร้อมแล้วว่า เวลาไหนทำอะไร ก็ทำไปตามนั้น
เพราะฉะนั้น การที่ญาติโยมมาอยู่ที่นี่ นี่คือมาเรียนรู้ความรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นการแสวงหาอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เช่นเมื่อก่อนถ้าญาติโยมไม่ได้มีโอกาสปฏิบัติอย่างนี้ มันจะไม่เข้าใจเรื่องอริยทรัพย์ คำว่าทรัพย์คือสิ่งที่ทำให้ปลื้มใจ ทำให้สบายใจ เขาเรียกว่าทรัพย์เป็นภาษาสันสกฤต
ทรัพย์มันมี ๒ อย่าง คือโภคทรัพย์ ทรัพย์สินเงินทองที่แสวงหากัน
โบราณจริงๆนี้ มนุษย์อยู่กันไม่มีการซื้อ ไม่มีการขาย มีแต่การแลกเปลี่ยนกัน ชาวนาทำนาได้ข้าว เอาไปแลกกับชาวนาเกลือที่ทำเกลือ เอาข้าวไปแลกกับเกลือ เอาข้าวไปแลกกับน้ำตาล ก็แลกกัน ไม่มีการใช้เงินใช้ทอง
ต่อมาเมื่อมนุษย์มากขึ้น ก็เอาเบี้ย เอาหอย มาเป็นสื่อกลางที่จะไปแลกไปเปลี่ยน แม้ภาษาไทยก็ยังใช้ เราเบี้ยน้อยหอยน้อย ใช้เบี้ย ใช้หอย เรามีเบี้ยน้อย หอยน้อย ต่อมาก็ทำเหรียญ เป็นเหรียญบาท ก็ใช้เงินบาทเป็นเหรียญ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เอากระดาษเรียกว่าธนบัตร เป็นตัวแทน เรียกว่าฆ่ากันตาย ปล้นจี้แย่งทรัพย์สินเงินทอง เพราะว่ากระดาษนี้มันมีค่า เอาไปซื้ออะไรกินก็ได้ เอาไปจ่ายเป็นค่าเดินทาง ค่ารถ ค่าเครื่องบินก็ได้ เป็นของสมมติ สังคมยอมรับ
ประเทศไทยมีค่าเท่านี้ ถ้าไปแลกกับดอลล่าร์ ไปแลกกับเงินปอนด์ ไปแลกกับเงินหยวน ก็มีค่า ทรัพย์เหล่านี้เรียกว่าโภคทรัพย์ เอามาซื้อที่ดิน นี้ของเราๆ เท่านั้นได้ เท่านี้ได้ มาสร้างบ้านสร้างเรือน นี้ภาษาคนธรรมดา ที่อาตมาพูดไม่จริง ถ้าภาษาอริยเจ้าเรียกว่าพูดไม่จริง เพราะจริงๆ ของเขาที่ไหน ถ้าตายไปแล้ว มันก็ไม่มีอะไร แม้ยังไม่ตาย บางทีก็ไม่ได้อยู่ อย่างเกาะสมุย พวกฝรั่งมาซื้อที่ดินสร้างบ้านหลังใหญ่ๆ เสร็จแล้ว อยู่ๆนานๆก็เบื่อ ในที่สุดก็ทิ้งให้คนใช้อยู่ เหลือแต่คนใช้คอยทำความสะอาด คนใช้ก็เหนื่อย หาคนใช้ไม่ได้ บ้านก็รกร้าง นี่มีมากมายหลายแห่ง ของเราๆ มันเป็นคำพูดสมมติ จริงๆมันเป็นของธรรมชาติ ชีวิตของเรา เป็นสังขาร คำว่าของเรา มันต้องพูด ต้องใช้ แต่ว่าขอให้เข้าใจว่า จริงๆ มันไม่ใช่ของเรา แม้แต่ความคิดของเรา ก็ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติสังขาร
เมื่อโยมมาอยู่ที่นี่ก็ได้แสวงหาอริยทรัพย์คือทรัพย์อันประเสริฐ ไฟไหม้ไม่ได้ น้ำผ่านไม่ได้ โดนลักขโมยไม่ได้ ใครปล้นไม่ได้ ไม่เหมือนโภคทรัพย์ บางทีหมดเนื้อหมดตัว ไฟไหม้ตลาดหมดเลย โจรมาปล้นเอาไปหมดเลย น้ำท่วมแผ่นดินไหวทำลาย อาคารสถานที่ เราก็รู้กันอยู่ แต่เราก็คิดว่า มันไม่เกี่ยวกับเรา มันเกี่ยวกับคนอื่น อย่างแผ่นดินไหวคราวก่อน แถวๆพังงา พินาศไปหมดเลย ภูเก็ต แต่ว่าเราไม่โดน ไม่เจอก็ไม่ใช่ของเรา ไม่เกี่ยวกับเรา เราก็ไม่ทุกข์ แต่คนที่เขาโดน เขาเจอ เสียหายมาก หมดเนื้อหมดตัว
ธรรมชาติเหล่านี้มันสอนให้เรารู้ สอนให้เราเข้าใจ แต่เราไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมที่จะเรียนรู้ มัวแต่ยึดมั่นถือมั่น แสวงหา แล้วก็มีปัญหามาก โดยเฉพาะปัญหาในจิตใจ
ทีนี้ การที่มาอยู่อย่างนี้มาแสวงหาอริยทรัพย์ ไม่ใช่มาอยู่ให้เสียเวลา อริยทรัพย์มีอะไรบ้าง
๑. ศรัทธา มีความเชื่อต่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตถาคตโพธิสัทธา เราศรัทธาเชื่อพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ตรัสรู้ เพราะว่าคำสอนของพระองค์คือบอกทาง ชี้ทาง ให้รู้ทางไหนผิด ทางไหนถูก เราก็จะได้เดินทางถูก พระพุทธเจ้าแนะนำให้รู้จักคน คนไหนเป็นพาล คนไหนเป็นบัณฑิต ให้คบแต่บัณฑิตเท่านั้น อย่าคบกับคนพาล อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา กับคนพาลอย่าไปคบ คบคนพาลพาลจะพาไปหาผิด ให้คบแต่บัณฑิต เพราะบัณฑิตจะพาไปหาผล คบคนชั่วพาตัวให้อับจน การคบคนก็ต้องเลือก ต้องพิจารณา พระพุทธเจ้าสอนทุกอย่าง สอนให้รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นทางที่ทำให้ทุกข์ดับ อะไรคือความดับทุกข์ ญาติโยมทั้งหลายก็จะได้เกิดศรัทธาขึ้นเรื่อยๆ
๒. ศีล ศีลเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ศีลความจริงมีก่อนพระพุทธเจ้า อย่างศีล ๕ เป็นศีลเก่าแก่ ไม่ทราบใครเป็นผู้บัญญัติสอน แต่เขามองเห็นแล้วว่าสังคม ถ้าไม่มีศีล ๕ นี้เป็นสังคมสัตว์เดรัจฉาน เบียดเบียนกัน ฆ่าฟันกัน แต่พอมีศีล ๕ สังคมก็ไม่มีปัญหา ศีล ๕ นี้ ถ้ามีจริงๆ ไม่ต้องสร้างคุก ไม่ต้องสร้างตะราง ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีศาลก็ได้ เพราะว่าไม่ฆ่ากัน ไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่ล่วงเกินของรัก ไม่ผิดลูกผิดเมีย ไม่โกหก ไม่เสพของมึนเมา ปัญหาที่มีๆอยู่มันก็หมด แต่ว่าคนปฏิบัติไม่ได้ เพราะสู้อำนาจของกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้นการมาปฏิบัติธรรมคือการมาต่อสู้กับกิเลส ที่มันสร้างปัญหาให้แก่เราเอง สร้างปัญหาแก่โลก ทำให้เกิดสงคราม ทำให้เกิดคนยากจน มาจากกิเลสทั้งนั้น มันมีศีล แล้วก็มีหิริ มีโอตัปปะ หิริ ละอายบาป กลัวบาป กลัวกิเลส นี่เป็นปัญญา คนที่มีหิริ คือคนมีปัญญา มีโอตัปปะ กลัว
คนทั่วไปที่ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีหิริ ไม่มีโอตัปปะ ประเทศไทยเราคนร่ำ คนรวย แต่ไม่แน่ว่าทรัพย์สินเงินทองได้มาจากไหน สัมมาอาชีพหรือมิจฉาชีพก็ไม่แน่
ทีนี้ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ การประกอบอาชีพการงานต้องเป็นสัมมาอาชีพ เลี้ยงชีพถูกต้อง ต้องมีหิริ ละอายบาป โอตัปปะ กลัวบาป ถ้าเรามีหิริโอตัปปะ
นี่ก็คือเทวธรรม ธรรมะของเทวดา ชีวิตของเราก็จะเลือก ไม่ได้เป็นคนธรรมดาแล้วมาเป็นเทวดา เพราะมีเทวธรรม หิริโอตัปปะ เรียกว่ามีพรหมวิหาร มีเมตตากับผู้อื่น กรุณาสงสารผู้อื่น มุทิตายินดีมื่อผู้อื่นได้ดี อุเบกขามีจิตเป็นกลางวางเฉยในบางเรื่องบางราว
ใครมีพรหมวิหาร คนนั้นก็เป็นพรหมแล้ว ใช่คนธรรมดา ถ้าจิตใจมีอย่างนี้ ยิ่งผู้ใดเข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนนั้นก็เป็นพระอริยเจ้าเพราะจิตใจได้เข้าใจ
เพราะฉะนั้น ญาติโยมมาอยู่ที่นี่มาแสวงหาอริยทรัพย์ มีศรัทธา มีศีล มีหิริ มีโอตัปปะและพาหุสัจจะ การได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นอริยทรัพย์ แต่ฟังแล้วต้องใคร่ครวญพิจารณา ไม่ต้องเชื่อทันที เอาไปปฏิบัติดู มาเป็นอริยทรัพย์ พาหุสัจจะได้ยินได้ฟังมาก
จาคะคือการสละอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้ายที่คอยเกิดขึ้นในจิตใจ สละออกไปให้ได้ ทีนี้ คนที่สละกิเลสภายในได้ ออกไปหมด ก็รู้จักแบ่งปัน คนที่ขี้เหนียวไม่ยอมแบ่งปันของที่มีอยู่ทั้งๆที่สามารถแบ่งปันได้ เพราะว่ากิเลสมากในจิตใจ สละออกไม่ได้ เขาก็ไม่รู้จักเสียสละ
ทีนี้ คนที่เข้าใจธรรมะ เมื่อไรมีกินมีใช้ ก็แบ่งให้คนอื่นได้กินบ้าง พระพุทธเจ้าท่านว่ามีของดีๆกินแต่คนเดียวเป็นปากทางแห่งความเสื่อม เพราะฉะนั้นมีอะไรก็ต้องรู้จักแบ่งปัน สมัยโบราณเมื่ออยู่กันในชุมชน แกงอะไรขึ้นมาหม้อหนึ่งไปแจกคนนั้น ไปแจกคนนี้ กินไม่หมด เขาตั้งปัญหาถามว่า ได้ปลามาตัวหนึ่ง ทำอย่างไรถึงจะกินนานที่สุด เอามาตากแดด เอามาใส่เกลือ เอามาทำอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น ได้ปลามาตัวหนึ่งก็เอามาแกง แล้วก็แบ่งไปแจกบ้านนั้น ไปแจกบ้านนี้
เพราะฉะนั้น อยู่กันในสังคมต้องรู้จักแบ่งปัน โจรมันจะได้น้อยลง การที่คนเป็นโจร ก็เพราะบางทีไม่มีกิน ไปหยิบ ไปฉวย เข้าในสวน ไปเก็บผัก เก็บผลไม้ เจ้าของสวนก็คิดว่าโจรมาลักขโมย ก็จับตัว ฟ้องศาล แต่ถ้ารู้จักให้เขามาเอา เขาไม่มีกินก็ให้เขาไป โจรมันก็จะน้อยลง รู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน
ฉะนั้น จาคะนี่สำคัญคือละกิเลสภายใน สละวัตถุ สมควรจะให้ก็ให้ การให้ก็ต้องเลือก ต้องพิจารณา ว่าอะไรควรจะให้ อะไรไม่ควรจะให้
จาคะนี่หมายถึงสละกิเลสภายใน อารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย นี่เป็นอริยทรัพย์ ที่สำคัญที่สุดคือปัญญา ปัญญานี้สำคัญมาก ปญญาย ปริสุชุฌติ คนบริสุทธิ์ด้วยปัญญา เอาชนะกิเลสได้
ปัญญามันมีหลายระดับ โลกียปัญญา โลกุตรปัญญา ปัญญาหยั่งรู้โลก รู้จักทำมาหากิน มีโภคทรัพย์ ปัญญาสูงสุดคือเอาชนะทุกข์ได้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่เรามีเป็นเรื่องสมมติกัน มันเป็นสังขารธรรม มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน
ถ้าใครเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังคือไม่เที่ยง ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา ไม่ตัวตน จะอยู่เหนือเวลา เวลาจะไม่กัดกินจิตใจของเขาแล้วก็จะพบความสุขสงบที่พระพุทธเจ้าได้พบ
บรรยายมาพอสมควรแล้ว ต่อไปก็ปฏิบัติกัน ทุกคนก็มีลมหายใจเข้าออก แต่ว่าถ้าเราไม่ปฏิบัติ ก็ไม่รู้ว่า หายใจเข้ามีกี่ชนิด หายใจออกมีกี่ชนิด หายใจเข้ายาว ยาวอย่างไร ยาวอย่างธรรมดา ยาวอย่างตาม ยาวอย่างที่สุด ก็ได้สังเกตลมหายใจเข้าออก
แล้วอาตมาพูดว่าเราเห็นดวงจันทร์ข้างขึ้นข้างแรม แล้วถามว่าข้างขึ้นเวลาพระจันทร์เสี้ยว พระจันทร์แหว่ง มันหันไปทางไหน หันไปทางตะวันตกหรือทางตะวันออก โยมกลับไปสังเกตใหม่ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม นาฬิกานี่พกติดตัว นาฬิกาก็เดินไปเรื่อย วินาที ไปสู่นาที เป็นชั่วโมง มันเตือนให้เรารู้ว่าสังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ เพราะไม่มีตัวตน อาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการเกิดขึ้น อิทัปปัจจยตา ธรรมะมันอยู่ที่เรา
หวังว่าญาติโยมทั้งหลาย คงจะพอใจในการใช้เวลาที่นี่ มาแสวงหาอริยทรัพย์ มาเดินตามรอยพระพุทธเจ้า มาเดินตามรอยพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งใจปฏิบัติกันต่อไปนี้ หายใจเข้าก็สังเกตลม ที่แท้ก็บังคับ จะให้ยาวที่สุด บังคับ เวลาปฏิบัติจริงๆ ไม่ต้องบังคับจิตอยู่กับลม ลมยาวก็รู้ว่ายาว ลมสั้นก็รู้ว่าสั้น มีเทคนิคหลายๆอย่าง เช่นบริกรรมก็ได้ นับลมก็ได้ แรกๆ
เมื่อจิตอยู่กับลมได้ จิตก็เกิดปีติ อิ่มใจเกิดความสุขสบาย นี่อานาปานสติแต่ละขั้น แต่ละหมวด โยมจะได้ยิน นี่หัวใจสำคัญคือว่า ทำให้ทุกข์มันดับ ทุกข์เพราะอุปาทาน ทุกข์เพราะยึดถือว่าเรา ของเรา ถ้ามีน้อยลง ความสุขจะมีมากขึ้น เรายึดถือมาก ทุกข์จะมาก อย่าคิดว่าเศรษฐีมีเงิน จะไม่มีความทุกข์ไม่จริง ดีไม่ดี นอนไม่หลับ เพราะคิดว่าเรา ของเรา เป็นของสมมติ ไม่ใช่ของจริง ตั้งใจปฏิบัติกันต่อไปนี้