แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย ที่ญาติโยมทั้งหลายได้เดินทางมาจากที่ต่างๆ มาพักแรมอยู่ที่ทีปภาวันเพื่อปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะคือ การเจริญสมาธิภาวนาหรือจิตภาวนา จริงๆ ชีวิตของทุกคนคือการเดินทาง มีคนเขาตั้งปัญหาธรรมมานานแล้วว่าชีวิตคืออะไร? ก็มีการตอบกันต่างๆ ล้วนแต่เป็นความหมายที่ดีกันทั้งนั้น เช่น ชีวิตคือความไม่แน่นอน ชีวิตคือการต่อสู้ ชีวิตคือการเดินทาง คำตอบเหล่านี้ก็มีประโยชน์ อย่างน้อยเฉพาะตัวของผู้นั้นที่มีความเห็นอย่างนั้น แต่ว่าชีวิตคือการเดินทางนี้ก็น่าสนใจ
การเดินทาง ทางมันมีหลายทาง สรุปแล้วคือ ทางผิด แล้วก็ทางถูก ภาษาบาลีเรียกว่ามิจฉามรรค-หนทางผิด สัมมามรรค-หนทางถูก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้ค้นหาหนทางที่ถูกต้อง เพื่อนำสัตว์ออกจากความทุกข์ ออกจากปัญหา พระองค์ใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าจะค้นพบ หลังจากพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ไปโปรดพวกปัญจวัคคีย์ เริ่มต้นพระพุทธองค์ก็ได้แสดงเรื่องทางนี้เองว่า ทางที่ไม่ควรข้องแวะมีอยู่ 2 อย่าง
หนึ่ง กามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกามคุณเท่านั้น ทางนี้จะฝืนทำสักเท่าไหร่ก็ดับทุกข์ไม่ได้ แต่ว่าทางนี้นี่เองที่คนส่วนใหญ่พากันเดิน เดินอยู่ในหนทางเส้นนี้จะนำไปสู่ความทุกข์ สู่ปัญหามากมาย ดับทุกข์ไม่ได้
อีกทางหนึ่งคนสนใจปฏิบัติน้อย แต่ถึงฝืนปฏิบัติก็ดับทุกข์ไม่ได้ คืออัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบาก คนทั่วไปไม่ค่อยทำ แต่มีนักบวชในประเทศอินเดีย มีการปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อนพุทธกาล แม้ปัจจุบันนี้ก็เชื่อว่ายังมี แต่ฝืนปฏิบัติก็ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะเป็นหนทางที่ผิด มิจฉามรรค
ทางที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง เป็นสัมมามรรค สัมมาปฏิปทา เป็นหนทางหรือเป็นข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายได้เดินทางมาจากที่ต่างๆ แล้วก็มาปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา จิตภาวนา ก็คือเดินทางอยู่ในทางสายกลางนี้เอง ซึ่งประกอบด้วย องค์ 8 ประการ สัมมาทิฏฐิ-เห็นชอบ สัมมาสังกัปโป-ดำริชอบ สัมมาวาจา-พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต-การงานชอบ สัมมาอาชีโว-เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม-ความพากเพียรชอบ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ-ความตั้งใจมั่นชอบ เรียกว่าทางสายกลาง
ทางสายกลางสรุปแล้วก็คือเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญานี่เอง สัมมาวาจา-พูดจาชอบ คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ สัมมากัมมันตะ-การทำการงานชอบ คือไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีวิตชอบ คือเลี้ยงชีวิตที่ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ผิดศีลธรรม นี้เป็นส่วนของศีล
ส่วนของสมาธิ คือ สัมมาวายามะ-ความพากเพียรชอบ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ-ความตั้งใจมั่นชอบ ญาติโยมทั้งหลายก็ควรจะเข้าใจเรื่องฝึกสมาธิ สมาธิมันมีความหมายกว้าง แม้แต่ความเพียรก็เป็นคุณสมบัติ เป็นพวกของสมาธิ สัมมาวายามะ-เพียรชอบ คือเพียรป้องกันไม่ให้กิเลสมันเข้ามาในจิตใจของเรา บางเวลามันเผลอ ก็พยายามเพียรขจัดให้กิเลสมันออกไป เพียรให้กุศลธรรมมันเกิดขึ้นในจิตใจ
กุศลธรรมที่สำคัญที่สุดคือ จิตที่มีสมาธิ คือจิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตอ่อนโยน คือจิตไม่มีนิวรณ์นั่นเอง จิตของเราที่มีปัญหาต้องมีอุปกิเลสคือ นิวรณ์ 5 ประการ กามฉันทะ-อารมณ์รัก พยาบาท-อารมณ์โกรธ ถีนมิทธะ-อารมณ์เบื่อ อุทธัจจกุกกุจจะ-ฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉา-ลังเลสงสัย เรียกว่านิวรณ์ 5 ถ้าจิตมีนิวรณ์ 5 จิตก็ไม่มีสมาธิ
การฝึกสมาธิโดยวิธีไหนก็ตาม แต่หัวใจสำคัญถ้าเป็นสมาธิ จิตต้องไม่มีนิวรณ์ จิตต้องไม่มีอกุศล อุปกิเลสต่างๆ จึงจะมีสมาธิ ทีนี้ความเพียรเนี่ย มันเป็นคุณสมบัติของสมาธิ คือ
1. ป้องกันไม่ให้กิเลสมันเข้ามา
2. ถ้าเข้ามาแล้วก็พยายามขจัดมันออกไป
3. เพียรให้กุศลมันเกิดคือ ให้สมาธิที่กล่าวมาแล้วนั่นเองมันเกิดมากขึ้นๆ แล้วก็เพียรรักษาเอาไว้
คำว่ารักษาเนี่ย รักษามาตรฐาน เราเคยฝึกจิตได้ระดับนี้ก็พยายามรักษาอย่าให้มันเสื่อม แม้เวลาปฏิบัติก็ต้องพยายามรักษา วันหนึ่งๆ นักปฏิบัติ เขาจะฝึกสมาธิอย่างน้อย 1 ครั้ง 2 ครั้ง เวลาไหนเป็นเวลาที่ฝึกสมาธิก็ฝึก งานอื่นหยุดไว้ก่อน เวลานี้เป็นเวลาฝึกสมาธิต้องทำติดต่อทุกวัน เรียกว่าเพียรรักษา ฉะนั้นสัมมาวายามะเป็นพวกสมาธิ
สัมมาสติ สัมมาสตินี้สำคัญที่สุด เป็นคุณสมบัติ เป็นองค์ประกอบของสมาธิ ทีนี้สติแปลว่า ‘ระลึกได้’ ทั่วๆ ไปคนก็มีสติในระดับหนึ่ง เราไม่มีสติเสียเลยเราคงทำอะไรให้ก้าวหน้าไม่ได้ สำเร็จไม่ได้ อย่างขับรถขับราก็ต้องมีสติ ฉะนั้นอย่าไปดูถูก บางคนไม่ฝึกสมาธิแล้วเขาไม่มีสติ ไม่ใช่ อย่างเรานั่งรถคนอื่นเขาขับ เป็นโชเฟอร์ก็ขับรถไป รถบัส รถประจำทาง รถอะไรก็ตาม เครื่องบิน กัปตันขับเครื่องบินต้องมีสติทั้งนั้น ถ้าไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะก็พาคนไปตาย พาคนไปอันตราย เราก็มีกันอยู่ในระดับหนึ่งติดมากับชีวิต แต่ว่าระดับนี้ สติระดับนี้มันไม่พอที่จะต่อสู้กับกิเลสได้ ฉะนั้นต้องมีการฝึกให้มีสติสูงขึ้นๆ โดยเฉพาะให้เจริญสติปัฏฐาน 4
ที่ญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติเนี่ย จะมาฝึกจิตให้มีสัมมาสติ มิจฉาสติมันมีเหมือนกัน ‘สติ’ไม่ใช่ว่ามันถูกอย่างเดียว ผิดก็มี ไประลึกแต่เรื่องที่ก่อให้เกิดกิเลส ไประลึกแต่เรื่องอย่างนั้น อย่างเด็กๆ ลูกหลานของเราน่าสงสาร ไปติดต่อกันระหว่างหญิงระหว่างชาย คอยระลึกนึกถึงแต่เรื่องโลกๆ มันก็สร้างปัญหา เกิดปัญหา เขาเรียกว่ามิจฉาสติ-ระลึกผิด อันตรายมาก ระลึกผิดเป็นมิจฉาสติ ไม่เป็นสัมมาสติ สัมมาสติต้องระลึกอยู่ในกาย ตามเห็นกายในกาย ที่ญาติโยมทั้งหลายมาฝึก บางเวลาให้จิตมันอยู่กับกาย
ญาติโยมทั้งหลาย จะได้ฟังเทปบรรยายที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ท่านได้บรรยายเอาไว้ อานาปานสติเป็นขั้นๆ ทั้งหมด 16 ขั้น เช่น มีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้ายาว-ออกยาว เข้าสั้น-ออกสั้น ศึกษากายทั้งปวง คือกายเนื้อหนังกับกายลมที่มันทำงานร่วมกัน ทำกายสังขารให้รำงับ เมื่อมีสติอยู่ในอานาปานสติ 4 ขั้นนี้ ได้ชื่อว่า ตามเห็นกายในกาย เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ตามเห็นเวทนาในเวทนา อานาปานสติขั้นที่ 5 ขั้นที่ 6 ขั้นที่ 7 ขั้นที่ 8
ขั้นที่ 5 คือปีติ
ขั้นที่ 6 คือความสุข
ขั้นที่ 7 จิตสังขาร
ขั้นที่ 8 ทำจิตสังขารให้รำงับ
หมวดนี้เป็นหมวดเวทนา มันก็ยาก ยากกว่าหมวดแรก ต้องทำให้สำเร็จในหมวดแรกเสียก่อน คือตามเห็นกายในกาย เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกได้ จิตก็มีสมาธิ คือจิตไม่มีนิวรณ์นั่นเอง จิตก็มีปีติ จิตก็มีความสุข ทีนี้ก็มีสติตามดู ตามรู้ปีติและสุขทุกครั้งที่หายใจเข้า-หายใจออก นี่ก็ได้ชื่อว่า ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย เป็นการเจริญเวทนาวิปัสสนาสติปัฏฐาน
มันตามเห็นจิตในจิต จิตมันเยอะมาก จิตกุศล จิตอกุศล แต่ว่าการเจริญอานาปานสตินี้อยู่กับจิตที่เป็นกุศลทั้งนั้น
ขั้นที่ 9 มาดูจิต รู้จักจิตทุกชนิดว่าขณะนี้มันเป็นจิตชนิดไหนที่มันทำงานอยู่ แล้วเราก็บังคับได้ ควบคุมจิตได้ ก็มีแต่จิตดีๆ คือขั้นที่ 10 ขั้นที่ 11 ขั้นที่ 12
ขั้นที่ 10 จิตปราโมทย์
ขั้นที่ 11 จิตตั้งมั่น
ขั้นที่ 12 จิตปลดปล่อย
ก็มีสติตามเห็นจิตในจิตอยู่ ก็ได้ชื่อว่าเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ทีนี้ก็มาหมวดสุดท้ายเป็นหมวดสำคัญ เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คำว่าธรรมะนี้มันมีความหมายกว้าง พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ท่านพุทธทาส ท่านอธิบายความหมายของธรรมะ ได้ตี ความหมาย
ธรรมะ คือ ธรรมชาติ
ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติ
ธรรมะ คือ หน้าที่ที่เราจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
ธรรมะ คือ ผลที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่
แต่การเจริญสติปัฏฐาน 4 หมวดธรรม ก็หมายถึงการตามเห็นความไม่เที่ยง อนิจจานุปัสสี มีสติตามเห็นธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายในที่นี้คือตามเห็นความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตมันเห็นความไม่เที่ยงจะเห็นความจางคลาย กิเลสทั้งหลายมันอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะอุปาทานมันอยู่ไม่ได้ ก็คลายออกๆ ก็ตามเห็นอยู่ เมื่อคลายไปๆ มันก็หมดไป มันก็ดับลงๆ เป็นอานาปานสติขั้นที่ 15 สุดท้ายมันก็หมด สลัดออกได้หมดเป็นอานาปานสติขั้นที่ 16 สลัดคืนกิเลสได้หมด ไปสู่ธรรมชาติ มีสติตามเห็นธรรมในธรรม นี้คือสัมมาสติ
สตินี้เป็นพวกสมาธิ นี่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ ก็ได้สัมมาสมาธิ คือจิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตอ่อนโยน
สมาธิมันมีหลายระดับ
สมาธินิดหนึ่งๆ ก็เรียกว่าขณิกสมาธิ
สมาธิที่สูงกว่านี้คือสมาธิเกือบจะถึงฌาน แต่ยังไม่ถึง แต่มันใกล้เข้าไปแล้ว เรียกว่าอุปจารสมาธิ
สมาธิที่เป็นเป้าหมายคือ อัปปนาสมาธิ ก็ได้แก่ฌานทั้งหลาย ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 ฌานที่ 3 ฌานที่ 4 ว่ารูปฌาน ที่มากกว่านี้สูงกว่านี้คืออรูปฌาน นี่เป็นพวกสมาธิโดยตรง ฉะนั้นคำว่าสมาธิ มันมีความหมายกว้าง
ศีล ในองค์มรรคก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ ก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ แล้วก็สัมมาสมาธิ เรียกว่าสมาธิจิตตสิกขาหรือว่าสมาธิสิกขา ศึกษาเรื่องจิต ศึกษาเรื่องสมาธิ
และสำคัญที่สุดก็คือปัญญา
ปัญญานี้สำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าบอกว่า ‘ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ’ คนจะบริสุทธิ์ คนจะดับทุกข์ได้เพราะมีปัญญา แต่ปัญญามันมี 2 ระดับ
1. โลกียปัญญา ปัญญาอย่างโลกๆ
2. โลกุตรปัญญา ปัญญาระดับเหนือโลก
คนทั่วไปที่ทำมาหากิน ทำงานทำการ ศึกษาเล่าเรียนก็ต้องมีความรู้ มีปัญญา แต่มันระดับโลกียปัญญา มันดับทุกข์โดยสิ้นเชิงไม่ได้ ญาติโยมทั้งหลายที่มาที่นี่ได้ อาตมาเชื่อว่าเพราะมีโลกียปัญญากันมากพอสมควร หนึ่งญาติโยมทั้งหลายตัองประกอบอาชีพการงานที่สุจริต มีเงินมีทองพอจะจับจ่ายใช้สอยจึงมาที่นี่ได้ ญาติโยมทั้งหลายต้องสนใจธรรมะในระดับหนึ่ง จึงสนใจมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ได้ มันระดับโลกียปัญญา จะดับทุกข์ให้สิ้นเชิงไม่ได้ ก็ต่อยอดมาปฏิบัติโลกุตระปัญญา คือสัมมาทิฏฐินั่นเอง
สัมมาทิฏฐิก็มี 2 ระดับ ระดับโลกียะ ระดับโลกุตระ ก็ได้พูดบ่อยๆ
สัมมาทิฏฐิระดับโลกียะจะเห็นว่าโลกนี้มีโลกอื่นมี บิดามารดามี ผลแห่งการทำดีทำชั่วมี สัตว์โอปปาติกะมี คนที่เข้าใจธรรมะและสอนผู้อื่นมี อย่างนี้สัมมาทิฏฐิระดับโลกียะ
สัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระ คือเห็นแจ่มแจ้งในเรื่องความจริงของชีวิต คือเข้าใจอริยสัจ ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับไม่ได้ให้ทุกข์เป็นอย่างนี้ ทางแห่งความดับไม่ได้ให้ทุกข์เป็นอย่างนี้ นี่คือสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระ เข้าใจกฎพระไตรลักษณ์ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา นี่สัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระ ที่ญาติโยมทั้งหลายกำลังพยายามกันอยู่ เป็นพวกปัญญา มาคู่กับสัมมาสังกัปปะ-การดำริชอบ
ความดำรินี่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรม ทั่วๆ ไปมันดำริผิด ดำริในกาม ครุ่นคิดแต่ในเรื่องกาม เรื่องกามารมณ์ ใฝ่ฝันแต่เรื่องอย่างนี้ เรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ สร้างปัญหาเยอะมาก ดำริในกาม ดำริในการพยาบาท ดำริในการเบียดเบียน ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาจากจิตใจของคน ดำริ คิดนึก ใฝ่ฝันแต่เรื่องอย่างนี้ เรื่องกิเลส ก่อให้เกิดกิเลส ไม่ใช่ก่อให้เกิดโพธิ มันต้องรู้จักเปลี่ยนความดำริให้เป็นการดำริที่ถูกต้อง ดำริออกจากกาม เห็นโทษของกาม กามนี้มันเป็นโทษร้าย เห็นโทษของมัน เหมือนอย่างหัวงูพิษที่มันจะทำอันตราย เหมือนอย่างยาพิษ เหมือนไฟที่มันเผาไหม้จิตใจให้ว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสาร เวียนอยู่ในกองทุกข์ ต้องมองเห็นโทษของมัน จึงดำริออกจากกามได้
สถานที่นี่จริงๆ ช่วยไม่ได้ เรื่องจิตใจนี้สำคัญ ฉะนั้นคนทำชั่วในวัดในวา คนทำชั่วในสถานที่ปฏิบัติธรรมก็มีอยู่บ่อยๆ แม้แต่จีวรก็คุ้มครองไม่ได้ พระสงฆ์ทำชั่วทั้งที่ห่มจีวรถ้าไม่ควบคุมจิตนั่นเอง เหมือนอย่างว่าเราอยู่กันที่ทีปภาวันหรืออยู่ที่อื่นก็ตาม เป็นที่ปฏิบัติธรรม แต่ว่าถ้าเราไม่ควบคุมตัวเอง มันก็ดำริไปในทางที่ผิด ชีวิตก็ไม่ก้าวหน้า ดีไม่ดีมันจะบาป บาปมากกว่าคนธรรมดาเสียอีก เพราะเข้ามาอยู่ในที่ปฏิบัติธรรมแล้ว ยังไปดำริชั่ว คิดชั่ว มันก้าวหน้าไม่ได้ มันต้องดำริออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาท ดำริในการไม่เบียดเบียน มันจึงจะก้าวหน้า
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจริงๆ มันอยู่ในจิตใจของเรานี้เอง สถานที่มันก็ช่วยได้ ในวัดต่างๆ มีวัตถุคอยเตือนจิตใจ เช่น พระพุทธรูป พระพุทธรูปก็สร้างขึ้นไว้เพื่อเตือนจิตใจคนให้มีสติ แต่ว่าคนที่ไม่ฝึกจิตใจ พระพุทธรูป เห็นพระพุทธรูปก็ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีความละอายบาป ไม่มีความกลัวบาป เรียกว่าขาดหิริโอตัปปะ ถ้าขาดหิริโอตัปปะ ศีลมันก็ไม่มี ถ้าไม่มีศีลก็ทำผิด ทำชั่ว ทำเลว มันก็เดินทางไปสู่อบาย เป็นนรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอสุรกาย ดังนั้นชีวิตของคนทั่วไปมีปัญหา เพราะเดินทางผิด
ฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายได้มีโอกาสมาปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวัน อาตมาหวังว่าญาติโยมทั้งหลายคงก้าวหน้า เพราะว่าตั้งใจดี ก่อนจะมาก็ตั้งใจดี เสียสละ แล้วก็มาอยู่ก็พยายาม เพียรพยายามที่จะฝึก ฉะนั้นชีวิตของเรามันเดินทาง ทางร่างกายเดินไปโน้นเดินไปนี้ มันก็ส่วนหนึ่ง แม้อยู่ที่บ้านก็ต้องเดิน ตัวชีวิตทางด้านร่างกาย เรารู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม มันเดินทางไปสู่ความแก่ ไปสู่ความเจ็บ ไปสู่ความตายกันทุกคนทางร่างกาย
แต่ว่าสำคัญที่สุดคือทางจิตใจ มันเดินทางไปโน้น เดินทางไปนี้ ถ้าเราไม่ได้อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า มันเดินทางผิดเรื่อย แม้แต่หนทางผิดไปสู่อบาย คนส่วนใหญ่มันเดินทางไปสู่อบาย ไปสู่นรกคือมีแต่ความร้อนใจ ไปสู่เปรตมีแต่ความหิวความอยาก สัตว์เดรัจฉานมีแต่ความโง่ อสุรกายมีแต่ความ???น่ากลัว คือมันทางผิด
แม้การดำเนินชีวิต มันมีอบายมุข ทางไปสู่อบาย ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน นี่คือทางอบาย การทำมาหากินถ้าเดินทางอบายมันก้าวหน้าไม่ได้ ญาติโยมไม่มีทางที่จะเดินอบายมุขเหล่านี้ แต่ว่าที่ลึกที่สุด อบายในทางจิตใจ จิตใจมันไม่สบาย มันมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเศร้าหมอง มีแต่ความเร่าร้อน มันมีแต่ปัญหา เพราะว่าเดินทางผิด มิจฉาปฏิปทา-มิจฉามรรค
เอาล่ะ ญาติโยมทั้งหลายก็ได้มาที่ทีปภาวัน ซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยแรงศรัทธาของคนจำนวนมากมาย แรงศรัทธาที่ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา สร้างสถานที่นี้ขึ้นมาเพื่อให้คนมาปฏิบัติธรรม เพื่อได้รับประโยชน์ หวังว่าญาติโยมทั้งหลายคงตั้งใจปฏิบัติและได้รับประโยชน์
อย่าประมาท แม้คนที่มาอยู่ที่นี่ไม่ว่าเป็นพระ ไม่ว่าเป็นชี ไม่ว่าเป็นใคร ต้องมีสติสัมปชัญญะ ระลึกนึกให้ว่าทีปภาวันสร้างมาด้วยศรัทธาของประชาชน เรามาอยู่ต้องพยายามทำให้ชีวิตมีคุณมีค่า เรามาอยู่ที่นี่แล้วไม่ปฏิบัติถูกต้อง มันหนักกว่าเดิม มันจะเดือดร้อนมากกว่าเดิม ต้องรีบเปลี่ยนจิตใจเสียให้เร็วที่สุดถ้าใครคิดในทางที่ไม่ดี เพราะว่าสถานที่ปฏิบัติธรรมไม่ใช่ธรรมดา เขาถือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาต่างๆ ก็คอยอารักขาสถานที่แห่งนี้
เอาล่ะโยม ต่อไปนี้ตั้งใจปฏิบัติ อบรมจิตภาวนา สมาธิภาวนา เดินอยู่ในหนทางที่จะนำชีวิตของเราให้มีแต่ความสุขความเจริญ โยมกลับจากที่นี่ไปแล้ว ถ้าเข้าใจวิธีปฏิบัติ ชีวิตของญาติโยมก็เดินทางสูงขึ้นๆไปสู่สุคติ ไม่ใช่ทุคติ ไปสู่สุคติยิ่งขึ้นไป สูงสุดคือมรรคผลนิพพาน จิตใจนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ต่อไปก็ตั้งใจปฏิบัติตามเวลาที่มี ลมหายใจเข้า-ออก เรายังไม่ตาย แล้วก็ได้อยู่กับมัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เพราะเจริญอานาปานสตินี้เอง หายใจเข้าก็ตามลมไป หายใจออกก็ตามลมมา ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ เดินอยู่ในทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา
เมื่อจิตมีสมาธิก็พิจารณาสังขาร ที่ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ก็มี 2 อย่างโดยสรุป สมถะและวิปัสสนานั้นเอง จะเป็นทางเดินของชีวิต ชีวิตคืออะไร ชีวิตคือการเดินทาง ก็เดินทางให้มันถูกต้องอย่างนี้