แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอาล่ะ ญาติโยมทั้งหลาย ในเดือนนี้ ที่ญาติโยมได้มาปฏิบัติ แต่เราตั้งใจ เราก็ได้รับประโยชน์ จริงๆเนี่ย มันสำคัญของแต่ละคนนั่นเอง ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนให้ทำที่พึ่งให้แก่ตน ที่พึ่งของชาวพุทธที่รู้กันอยู่แล้วว่า คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไตรสรณคมน์ ไตรนี่ก็คือสาม สรณคือที่พึ่ง ไตรสรณคมน์คือที่พึ่งสามอย่างได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ทีนี้ การที่เราจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราต้องปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งของตน ถ้าฟังไม่เข้าใจก็จะบ่นว่า อันหนึ่งว่าให้พึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกอันหนึ่งให้พึ่งตัวเอง จะมิเป็นการขัดแย้งกันหรือ ความจริงมันไม่ได้ขัดแย้งเลย เราจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราต้องพึ่งตัวเอง ต้องจัดการด้วยตัวเอง
ทีนี้อาตมาก็ได้อธิบายไปแล้วว่า หัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่ความดับทุกข์นี้เอง ถ้าเราไม่สามารถทำให้ทุกข์ดับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ช่วยเราไม่ได้ ประเด็นทั้งหมด พระอาจารย์พุทธทาสท่านถึงเน้นว่า หัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือความสะอาด สว่าง สงบ ความสะอาดสว่าง สงบก็คือพระธรรมนั่นเอง แล้วแต่จะอธิบายว่า ความสะอาดคือศีล สว่างคือปัญญา สงบคือสมาธิ นี่คือคุณธรรม ที่เราอบรมเนี่ย ก็เพื่อให้มีศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญามันแยกกันไม่ออก แยกกันไม่ได้ ถ้ามีปัญญาต้องมีศีลมีสมาธิ นี้ถ้ามีศีลแล้วต้องก่อให้เกิดมีสมาธิและปัญญา
ทีนี้คนทั่วไปชาวพุทธทั่วไป พอรับศีลกันบ่อยมาก เวลามีพิธีทางศาสนา บูชาพระ รับศีล บูชาพระคือบูชาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วขอศีล พระสงฆ์ก็ให้ศีล ศีลแบบนี้มันศีลประเพณี รับศีลแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติกัน ก็ไม่เกิดผลทางจิตใจ คือจิตใจไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ
ทีนี้พอเราฝึกจิตภาวนา อย่างที่ญาติโยมมาฝึกอยู่เนี่ย ศีลก็เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น จิตใจของเราก็สะอาด สว่าง สงบ นี่ถ้าเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาที่มันเพียงพอ กิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นไม่ได้ ความทุกข์มันก็ลดลงๆ จนกระทั่งความทุกข์มันหมดไป
ญาติโยมทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังมาบ่อยมาก ถ้ามาอยู่ที่นี่ อาตมาเองเนี่ยบรรยายบ่อยมาก อธิบายบ่อยมาก ถ้าความทุกข์ ความทุกข์มันมีหลายอย่าง หนึ่งทุกข์เจ็บปวดก็เรียกว่าทุกขเวทนา มันมีในชีวิตของเราเนี่ยตั้งแต่เกิดมา เกี่ยวกับอิริยาบถ อิริยาบถเนี่ยมันอยู่ที่ยามยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถเหล่านี้ ถ้าเราใช้มันมากเกินไป ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ร่างกายก็ต้องเจ็บปวด ยกตัวอย่างว่าอิริยาบถนอน เป็นคน คนชอบก็ลองนอนมากเกินไปนะ ร่างกายก็ปวดเมื่อยไปหมดเลย นอนยี่สิบชั่วโมงอย่างเงี้ย ก็นอนไม่หลับ นอน ๒ วัน ๓ วัน มันก็ทนไม่ไหว เว้นไว้แต่คนป่วย คนเป็นอัมพาตช่วยตัวเองไม่ได้ ก็นอนอย่างนั้น
ถ้านอนมากๆ คนป่วยบางทีก็เป็นแผล เกิดแผลขึ้นมาเพราะว่าร่างกายกดทับ ฉะนั้น ผู้พยาบาลต้องคอยพลิกคอยแปลให้ร่างกายมันได้เปลี่ยนท่าเปลี่ยนอิริยาบถ แล้วอิริยาบถนอนเนี่ย เป็นอิริยาบถที่สบาย ถ้าเราใช้มันอย่างเดียวมันก็เกิดทุกขเวทนา อิริยาบถยืนก็ถ้ายืนมากเกินไป มันก็ปวด เจ็บตรงนั้นตรงนี้ มันไม่ได้ นั่ง เดิน เนี่ยความทุกข์มันเกิดขึ้นกับอิริยาบถ บางทีชีวิตของเราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ พระพุทธเจ้าเรียกว่าจักร๔ จักรนี่คือการหมุนไป หมุนไป ก็คือยืน เดิน นั่ง นอนนี้ ชีวิตนี้เหมือนอย่างจักร จักรยนต์ ยนต์ก็คือเครื่องกล ก็หมุนไป แต่ละวัน แต่ละวัน ยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เอาใจใส่ ถ้าไม่ใจใส่ ความทุกข์มันจะเกิด
ฉะนั้น ใครๆ คนทั่วไป ทุกศาสนา ทุกชาติ ก็ต้องสนใจเรื่องเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าไม่อย่างนั้น ทุกข์มันมาก ไอ้ร่างกายของเรา มันเป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตก็ต้องกินอาหาร ท่านทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร ในการที่จะมีอาหารกินเนี่ย มนุษย์เรานั้นไม่เหมือนกับสัตว์บางชนิด เช่นพวกนกต่างๆ นกบางชนิดกินผลไม้ ลูกโพธิ์ ลูกไทร พอถึงหน้าที่ลูกไม้เหล่านี้มันออกผล นกก็เต็มไปหมด ลูกโพธิ์ ลูกไทร ผลไม้ที่นกกินได้ นกบางชนิดกินมด กินแมลง นกบางชนิดกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร จับปู จับปลา จับกุ้ง จับหอย ที่เหวี่ยงจับ นกกระยางเนี่ยขาวไปหมดเลย นกกระยางเนี่ย มันจับปู จับปลา จับสิ่งมีชีวิต แล้วก็เที่ยวไปกับฝูงวัว ฝูงควาย ระหว่างที่ตัวของวัวของควาย มันมีเหามีเห็บไม่ได้จับได้ แต่พอวัวควายมันเดินลุยไปในหญ้า พวกเขียด พวกกบ พวกแมลงมันก็หนี นกกระยางพวกนี้ก็จับกินเป็นอาหาร เป็นธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายต้องกินอาหาร
แบบกระรอกที่วัดนี้ เมื่อก่อนไม่เคยมาอยู่ อาตมาเห็นมันวิ่งผ่านๆไป เดี๋ยวนี้ กระรอกมาอยู่กันหลายตัว เป็นสิบตัวยี่สิบตัว กระรอกเหล่านี้มันกินมะพร้าวของชาวบ้าน มันกินทุเรียน พอหน้าทุเรียนเป็นจวนๆจะแก่ มันก็ไปกัดกินทุเรียนเอาเนื้อทุเรียนมากิน ทีนี้ ถ้าไม่มีหน้าทุเรียน มันก็กินมะพร้าว ชาวบ้านก็ยิงมัน กระรอกนี้เมื่อก่อนมันชุกชุม ชาวบ้านใช้ปืนลมยิง เออเนี่ย ที่นี่มีคนมายิงเหมือนกัน ก็เขียนป้ายห้าม ปรากฏคนไม่พอใจ มันไม่รู้ว่ากระรอกที่มาอยู่เนี่ย เราเลี้ยงมัน ก็ให้คนไปตักเตือน ตอนนี้ก็คงจะรู้ ก็คงไม่มา กระรอกที่มากินอาหารเพราะมันหิว แต่ถ้าเราให้มันกินอิ่มแล้วมันก็ไม่ยุ่ง ไม่ไปกัดลูกมะพร้าว ไม่ไปกัดอย่างอื่น
อาตมาสังเกตที่กุฏิของอาตมาที่สวนโมกข์เนี่ย มันจะมาเป็นเวลา วันละสองครั้ง ตอนเช้ากับตอนเย็น พอได้กินอิ่มแล้วมันก็อยู่นิ่งๆ เนี่ยสัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร ปลาเหมือนกัน ก็กินอาหาร กินลูกกุ้ง กินอะไรต่างๆที่อยู่ในน้ำ
ทีนี้มนุษย์เราเนี่ย ก็กินอาหารแปลกออกไปยิ่งกว่าสัตว์ วัวควายเนี่ย มันกินแต่หญ้า ไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าน้ำท่วม ฝนแล้ง หญ้าตาย ก็เดือดร้อน ทางเขาก็ต้องเตรียมหญ้าแห้ง หญ้าอะไรไว้ ถ้าน้ำท่วม ให้มันกินหญ้าแห้งอย่างน้อย หญ้าแต่ก่อนเนี่ย เขาเลี้ยงช้างนะ เมื่อก่อนไม่เคยมีช้าง คนทางภาคอีสาน แถวๆสุรินทร์ เอาช้างมาให้ฝรั่งขี่ ก็ฝรั่งขึ้นไปขี่บนหลังช้าง ก็ชอบใจนัก ก็ฝรั่งไม่เคยนั่งขี่ช้างอย่างนี้ ก็ทำง่ายดาย ขึ้นไปนั่ง อาจจะไม่ขี่นาน แต่ก็ต้องเสียสี่ห้าร้อยบาท เจ้าของที่ทำธุรกิจ เขาก็มีรายได้ เจ้าของช้างก็มีรายได้ ช้างพวกนี้ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกนะ คนจะไปนั่งบนคอ บนหลังมันไม่ได้ ต้องฝึก
อาตมาไปดูก็ทำให้นึกว่า สัตว์มันก็ฝึกได้ ก็ทำไมคนทั่วไปจึงไม่อยากจะฝึก ก็เขาไม่รู้จักประโยชน์ของการฝึกจิตฝึกใจ เนี่ยมนุษย์เรา เกิดมามันมีทุกข์ ทุกข์เพราะอิริยาบถ ทุกข์ ทุกข์เพราะแสวงหาอาหาร การที่จะซื้ออาหารมากินเพราะมนุษย์เรากินอาหารแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานมาก สัตว์เดรัจฉานกินอาหารตามธรรมชาติ ที่กินเนื้อมันก็เบียดเบียนสัตว์อื่น ที่กินหญ้ามันก็ไม่ค่อยเบียดเบียนสัตว์อื่น ก็มีนกบางชนิด นกเขา นกเปล้า ไม่กินสิ่งมีชีวิต กินแต่ลูกโพธิ์ ลูกไทร ผลไม้เล็กๆ พวกนี้เป็นนกที่สุภาพ ไม่เหมือนกับเหยี่ยว
เหยี่ยวเนี่ย กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร
อาตมาเองเคยอยู่ที่สวนโมกข์ ตอนที่ไปสร้างสวนโมกข์นานาชาติ ตอนเย็นๆค้างคาวมันออกจากถ้ำเป็นฝูง มันมีเหยี่ยวชนิดหนึ่ง คอยบินไล่ตาม
เหยี่ยวเนี่ยแรงมันมาก มันก็ไล่ค้างคาว ถ้าค้างคาวตัวเดียวไปไม่รอด มันจับได้ ถ้าค้างคาวออกมาเป็นฝูง เหยี่ยวก็ลานตา จะจับตัวโน้นดี จับตัวนี้ดี ส่วนใหญ่จับไม่ค่อยได้ อาตมาก็ยืนดูมัน ตอนเย็นๆใกล้ๆจะค่ำ เนี่ยเป็นธรรมชาติ มันสอนให้เรารู้ ให้เราได้เรียน
แต่คนเนี่ยไม่สนใจที่จะเรียนรู้ธรรมะ ธรรมะเนี่ย คือธรรมชาติ แผ่นดินก็เป็นธรรมะ อากาศก็เป็นธรรมะ ดวงดาว อาทิตย์ พระจันทร์ ธรรมะทั้งนั้น ต้นไม้ มนุษย์ คน สัตว์ เป็นธรรมะทั้งนั้น เป็นธรรมชาติ ในธรรมชาติแต่ละอย่าง มันก็แตกต่างกันไป แต่ว่าเมื่อจิตใจของคนมันไม่สงบ มันไม่มองธรรมชาติ พวกฝรั่งเขาวิจัยกันว่า คนปัจจุบันเนี่ย มันมีแต่รีบ รีบ รีบ รีบ ไม่มีโอกาสที่จะมองสิ่งรอบข้าง แม้แต่มนุษย์ด้วยกัน เขาก็ไม่มีโอกาสที่จะมอง ไม่มีโอกาสที่จะคุยกัน ไม่มีโอกาสที่จะเห็นอกเห็นใจกัน
ในบ้านในเมืองใหญ่ๆ รถรามันเต็มไปหมด คนจะเดินข้ามถนนก็ต้องระวังตัว ต้องเดินรีบๆกันขึ้นรถ ไปลงเรือ การที่จิตมันรีบๆเนี่ย มันก็ไม่ค่อยมีเวลา ที่จะดูคนอื่นใกล้ตัว ณ.สังคมปัจจุบัน มันมีแต่สังคมรีบร้อน จิตมันก็หยาบ ไม่ค่อยมองสิ่งต่างๆเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม บุคคล
ทีนี้ เมื่อจิตมันมีแต่รีบๆ จิตก็ไม่สงบ ไม่มีสมาธิก็เครียด เครียดหนักเข้าๆ ไม่รู้จะพึ่งอะไร ก็พึ่งพวกแอลกอฮอล์ พวกยาเสพติดก็กินกันมาก ดื่มกันมาก ไวน์ เบียร์ พวกแอลกอฮอล์ ยา มันทำให้ระงับระบบประสาทได้ขณะหนึ่งๆ แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด ก็กลายเป็นคนติดเหล้า ติดเบียร์ พอติดเหล้า ติดเบียร์ก็ขาดสติ พอขาดสติทำอะไรก็ยิ่งผิดมาก
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรา วันสำคัญๆ วันปีใหม่ ปีใหม่อย่างไทย ปีใหม่อย่างอินเดีย สงกรานต์ ปีใหม่อย่างจีนเนี่ย คนไปเที่ยวก็ไปตายกัน ประเทศไทยเรา ปีหนึ่งหลายร้อยคน บาดเจ็บกันเป็นพันเป็นหมื่น ก็เพราะขาดสตินั่นเอง
การที่คนขาดสติเนี่ย เพราะว่าจิตใจมันไม่สงบ จิตใจมันรีบร้อน จิตใจมันเครียด มุ่งแต่ที่จะแข่งขันกัน หวังที่จะได้เงินได้ทองให้มากที่สุด เพราะคิดว่าได้เงินได้ทองก็มาทำอะไรได้ทุกอย่าง ซื้ออาหารกิน สร้างบ้านสร้างเรือน อาศัยเงินทองเนี่ย ก็แสวงหากัน ก็พัฒนากันมาก บ้านเรือน อาคาร ตึกสูงๆ ก็เกิดขึ้นกับประเทศไทยเรา มนุษย์ก็สร้างกันขึ้นมา ก็เรียกว่าฉลาดเหมือนกัน พัฒนามากกว่าสัตว์เดรัจฉาน แต่ไม่แน่ว่า สัตว์เดรัจฉานกับมนุษย์ ไหนนอนหลับสบายกว่า
ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยแนะนำว่า ถ้าไม่สนใจธรรมะ มันสู้แมวไม่ได้ แมวกลางวันนอนหลับสนิทมาก แต่กลางคืนเนี่ยมันก็หากิน สัตว์ทั้งหลายหากินพอมีชีวิต ไม่สะสม มนุษย์เราสะสม ยังมีธนาคารฝากเงินฝากทอง มีอะไรหลายๆอย่าง ก็พัฒนาทางวัตถุ แต่จิตใจนี่ไม่แน่ อาจจะเครียด อาจจะนอนไม่หลับ เนี่ยคือความทุกข์เหมือนกัน
อาตมาบอกว่า ทุกข์มันหลายอย่าง ทุกข์เจ็บปวดทางร่างกาย ทุกข์เจ็บปวดทางจิตใจ ที่เกี่ยวข้องกับอิริยาบถนี้ก็มีประจำวันเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการทำมาหากิน และเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ ที่มีชีวิตของเราได้ เพราะชีวิตของเรามันเป็นสังขาร ถ้าสังขารมันก็ไม่ยั่งยืน มันก็เปลี่ยนแปลง มันไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเขาเรียกเป็นทุกข์ แต่ว่าทุกข์ที่สำคัญที่สุด ทุกข์เพราะจิตของเราไม่มีปัญญา ไปคิดว่า มีเรา เป็นของเราเนี่ยทุกข์มันเกิด
ฉะนั้นการที่ญาติโยมมาฝึกจิตใจเนี่ย ก็คิดว่าโชคดี ตรงที่ว่าโชคดีจะได้มาสังเกตจิตใจว่า จิตใจสงบหรือไม่สงบ ก็ตั้งใจพัฒนา เอาล่ะ ต่อไปนี้ก็ขอให้ญาติโยมตั้งใจปฏิบัติกัน ได้ยินได้ฟังมาแล้ว