แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย ญาติโยมได้ดูวีซีดีก็คงจะเข้าใจเรื่องราวว่า อาตมาเป็นคนที่ไหน ทำไมจึงมาสร้างทีปภาวันที่เกาะสมุยขึ้นมา เช้านี้อาตมาก็มีโอกาสที่จะได้พูดกับญาติโยมทั้งหลาย มาแนะนำให้ญาติโยมฟังว่า การบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนาก็มีอยู่ ๓ ลำดับด้วยกัน ๑. ด้วยการให้ทาน ๒. ด้วยการรักษาศีล ๓. ด้วยการเจริญภาวนา คำว่าบุญ เรียกว่าชำระบาป การทำบุญคือทำเพื่อละกิเลส ลดกิเลส กิเลสเป็นตัวบาป ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นตัวบาป
การทำบุญคือการทำให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันลดลง เมื่อความโลภ ความโกรธ ความหลงลดลง บุญก็เกิด ใจก็เป็นสุข เพราะฉะนั้น การทำบุญคือการทำให้ใจมีความสุขนั่นเอง ทำบุญด้วยการให้ทาน ก็ลดความโลภ ความโกรธ ความหลงระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะกำจัดกิเลสให้หมดได้ ก็ต้องปฏิบัติอีกขั้นหนึ่งคือ มีศีล ศีลพื้นฐาน คือศีล ๕ ที่ชาวพุทธทั่วไปเขารู้กัน ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก ไม่โกหก ไม่เสพของมึนเมา
ศีล ๕ ถ้าทุกคนมี ถ้าชาวพุทธมีปัญหาต่างๆ ก็จะลดลงไปเยอะ การเบียดเบียนกันในสังคม ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรต่างๆมาจากคนไม่มีศีล ๕ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าชาวพุทธปฏิบัติให้มีศีลกันจริงๆ ก็ลดความทุกข์ ถ้าสังคมลดความทุกข์ในแต่ละบุคคลได้มาก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าศีลทำให้มีความสุข สีเลนะ สุคะติง ยันติ ศีลทำให้มีโภคทรัพย์ ทรัพย์สินเงินทองจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะผู้แสวงหาทรัพย์สินเงินทองมีศีล มีคุณธรรมนั้นเอง และที่สูงไปกว่านี้ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ถ้ามีศีลก็จะทำให้เย็นอกเย็นใจ มันเป็นนิพพานน้อยๆ ระดับหนึ่ง
ถ้าเรามีศีลก็จะทำให้เกิดปราโมทย์ จิตใจบันเทิงรื่นเริง เมื่อมีปราโมทย์ทำให้เกิดปีติ ให้เกิดอิ่มใจ ถ้าเกิดปีติ ทำให้เกิดปัสสัทธิ ใจก็สงบ เมื่อใจสงบกายก็สงบ แล้วทำให้เกิดความสุข แล้วทำให้เกิดสมาธิ แล้วทำให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะคือปัญญา การรู้การเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่ความเป็นจริง เกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุตติ
นิพพิทาคือการเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่เรายึดถือ และก็เบื่อหน่ายเพราะความทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่อุปทาน ความยึดมั่นถือมั่น จึงค่อยเบื่อหน่าย แล้วก็คลาย คลายจากความยึดมั่นถือมั่น ความทุกข์มันก็ดับ ศีลเป็นเรื่องสำคัญ ชาวพุทธจริงๆต้องมีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน
ทีนี้ พอถึงวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ จะอยู่ที่บ้านก็ได้ ไปวัดก็ได้ สมาทานศีลอุโบสถ ศีลอุโบสถคือศีลไม่เอาส่วนเกิน เพิ่มอีก ๓ ข้อ ไม่บริโภคอาหารในเวลาวิกาล เที่ยงวันไปแล้วก็ไม่บริโภคอาหาร อย่างดีก็ฉันแต่น้ำปานะ กินแต่น้ำปานะ แล้วก็เว้นเรื่องสิ่งสนุกสนาน ยั่วยวน ก่อให้เกิดกิเลส ฟ้อนรำ ขับร้องดูการละเล่น อะไรต่างๆ ที่เป็นข้าศึกต่อกุศล แล้วก็ไม่นอน ไม่นั่งบนที่สูง ที่ใหญ่ บนเบาะ บนฟูก บนที่นอนที่สบาย ใช้ชีวิตอย่างไม่เอาส่วนเกิน เป็นการบวช ๗ วัน บวชแค่วันหนึ่ง บวชอย่างฆราวาส อย่างอุบาสก อุบาสิกา ไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม เป็นการบวชทางด้านจิตใจ บวชมาจากคำว่า
ปวาณะ แปลว่าเว้น เว้นช่วง ไกลจากชาวบ้านธรรมดา
ฉะนั้น ถ้าชาวพุทธเราสนใจเรื่องถือศีลอุโบสถ ปัญหายิ่งจะไม่มี แต่ก็ยังไม่หมด ก็ต้องปฏิบัติภาวนา ญาติโยมทั้งหลายมาที่นี่ ก็คงจะมีความตั้งใจมาเจริญจิตภาวนาหรือสมาธิภาวนา
ภาวนานี้มันเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์ มันเป็นอริยสัจข้อที่ ๔ พระพุทธเจ้าสอนให้คนเข้าใจธรรมะ บางครั้งพระพุทธเจ้าสอนโดยย่อ บางครั้งพระองค์สอนโดยพิสดาร คำสอนโดยย่อของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนว่าก่อนหน้านี้ก็ดี แม้เดี๋ยวนี้ก็ดี เราสอนแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์เท่านั้น
คำสอนที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาคือเรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ สิ่งเหล่านี้มีในชีวิต เสร็จแล้ว เราเกิดมาก็มีทันทีเลย คือทุกข์มีทันที ส่วนความดับทุกข์ ถ้าเราไม่ปฏิบัติมันมีไม่ได้ จริงๆ ความไม่มีทุกข์มันมีอยู่ก่อน ทุกข์มันมีทีหลัง
ถ้าเราไม่เกิดมา ชีวิตของเราที่มีทุกข์มันก็ไม่มี แต่เพราะเหตุเพราะปัจจัยทำให้เราเกิดมาก็มาเจอกับความทุกข์ ความทุกข์มันมีหลายอย่าง เช่นเราทำวัตรเช้า สวดมนต์เช้า ก็ได้ยินคำนี้ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ มันมีหลายอย่าง
สรุปแล้วก็มี ๒ อย่าง คือทุกข์ทางร่างกาย เขาเรียกว่าทุกขเวทนา ความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว เจ็บไข้ได้ป่วย ที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายของเรา เรียกว่าทุกข์ทางร่างกาย ร่างกายของเราสบายดีอยู่ แต่มันมีทุกข์ทางด้านจิตใจ จิตใจยังไม่สบาย จิตใจยังวิตกกังวล จิตใจยังเศร้าโศก เมื่อเกิดวิบัติพลัดพรากจากของรัก นี่เป็นความทุกข์ทางด้านจิตใจ
ความทุกข์ทางด้านจิตใจมันมาจากกิเลส ความทุกข์ทางร่างกายมันมาจากธรรมชาติ เป็นความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุใหญ่ แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติมันเยอะมากเหมือนกัน ก็ทำให้ร่างกายของเราต้องลำบาก ทุกข์ยาก เช่นบางประเทศคนอดยาก อาหารไม่พอ คนก็ล้มตายกัน อายุสั้น
ชีวิตของเราสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คืออาหารนี้เอง บรรดาสิ่งมีชีวิต ไม่ว่ามนุษย์เราหรือว่าสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่มด แมลงต้องอยู่ได้ด้วยอาหาร ดังพุทธเจ้าตรัสว่า สัตเต สัตตา อาหารัฏฐิติกา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร
อาหารที่เราบริโภค มันก็มี ๒ อย่าง อาหารที่เจือด้วยสิ่งมีพิษ สารพิษ อาหารที่ปลอดสารพิษ ปัจจุบันนี้อาหารปนเปื้อนสารพิษมากเหลือเกิน ไม่ว่าเป็นผัก ไม่ว่าเป็นผลไม้ ไม่ว่าเป็นอาหารอย่างอื่น ปนเปื้อนด้วยสารพิษ พอคนกินเข้าไปมันเกิดโทษ เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่นโรคมะเร็งเป็นต้น เป็นกันมากเพราะสาเหตุอันหนึ่งมาจากอาหารเป็นพิษ ก็ทำให้คนล้มเจ็บ ล้มป่วย ตายกันไป นี่ทางร่างกายมีหลายอย่าง ไม่เฉพาะเรื่องนี้
ทีนี้ ความทุกข์ทางด้านจิตใจมันมาจากจิตของเรา อย่างขาดการอบรม การอบรมยังมีไม่เพียงพอ เราเกิดมามีร่างกายส่วนหนึ่ง มีจิตใจส่วนหนึ่ง จิตใจนี้สำคัญมาก จิตใจนี้มีสัญชาตญาณ มันมีความรู้ แต่ยังไม่เป็นภาวิตญาณ
ภาวิตญาณคือการอบรมจากสัญชาตญาณให้มีปัญญาสูงขึ้นๆ
สัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต ก็มีอยู่หลายอย่าง หนึ่ง รู้จักกินอาหาร รู้จักหลับนอน รู้จักกลัวภัย รู้จักสืบพันธุ์ สัญชาตญาณเหล่านี้ มีในชีวิตทุกคน
ทีนี้ ถ้าไม่มีการอบรม มีแต่สัญชาตญาณ ชีวิตที่เกิดมาก็ไม่มีอะไร มีแต่ความทนทุกข์ๆไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะตาย ทุกข์เจ็บปวดมันมีในชีวิตประจำวัน อย่างที่กล่าวไปแล้ว
ทีนี้ ยังมีทุกข์อีกชนิดหนึ่งซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจ เขาเรียก
ทุกขลักษณะ ทุกขเวทนามีได้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต ส่วนทุกขลักษณะครอบคลุมทั้งหมด สิ่งมีชีวิตก็อยู่ภายใต้ทุกข์อันนี้ สิ่งไม่มีชีวิตที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา แม้แต่ภูเขาหิน สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา อาคารบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่อง ก็มีทุกข์ชนิดนี้ คือสิ่งใดที่มันไม่เที่ยง ไม่คงทน สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นทุกข์ ในชีวิตของเรา มีชีวิต แต่มันมีทุกข์อันนี้อยู่ด้วย คือมันไม่เที่ยง
เราเกิดมาตั้งต้นชีวิต เป็นทารก ชีวิตทารกไม่ใช่ว่ามันเป็นอยู่อย่างนั้น มันต้องเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลง เจริญเติบโตความจริงก็คือความไม่เที่ยงนั้นเอง แต่คนทั่วไปไม่เรียกว่าไม่เที่ยง เรียกว่าเจริญเติบโต เจริญขึ้นๆ เป็นหนุ่มเป็นสาว พ่อบ้านแม่เรือน มันแก่ขึ้นๆ ก็คือความไม่เที่ยง คือมันเปลี่ยนแปลงนั่นเอง พออายุเข้ามาสู่วัยกลางคน นี่ก็แก่ลงๆ จนกระทั่งแก่ง่อม ตาก็มองไม่เห็น หูก็ไม่ค่อยได้ยิน เรี่ยวแรงก็ไม่มี ร่างกายก็เสื่อมโทรม แก่ลงๆ ในที่สุดก็พบกับความเจ็บ พบกับความตาย ทุกข์อันนี้เขาเรียกว่าทุกขลักษณะ ไม่มีใครเลยที่จะหลีกให้พ้นทุกขลักษณะ ในชีวิตประจำวันเราเกี่ยวข้องกับทุกข์อันนี้ อาหารที่เรากิน ที่เรารับประทาน
ส่วนใหญ่คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก กินผัก กินผลไม้ บางทีก็กินเนื้อสัตว์ กินปู กินปลา วัวควายมาเป็นอาหาร พวกเนื้อสัตว์เหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต คนไปจับมันฆ่า เอามาแกง มันก็ตาย ชีวิตของมันก็เปลี่ยน จากที่มันเคยเดินได้ เที่ยวไปไหนได้ กลายมาเป็นสัตว์ที่ตาย เช่น วัว ควาย คนไปฆ่ามัน เอามาแกงมากิน
ข้าวก็เช่นเดียวกัน คนปลูกในทุ่งนา ข้าวก็วิวัฒนาการเจริญเติบโต กระทั่งเป็นเม็ดข้าว เป็นข้าวเปลือก เอามาหุง มันเปลี่ยน คนไม่ได้พิจารณาความจริงอันนี้ เอาข้าวมาใส่ไว้ในจาน แล้วก็ตักใส่ปาก หยิบใส่ปาก เคี้ยวๆกลืนลงไปอาหารเหล่านี้ก็เปลี่ยนตลอดเวลา เปลี่ยนเป็นอุจจาระ เป็นกาก แล้วก็ถ่ายทิ้งออกมา
ชีวิตอยู่ด้วยอาหาร ถ้าอาหารไม่มี ชีวิตรวน มันก็ตาย พอตายก็กลับคืนสู่ธรรมชาติ ชีวิตของเราประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พอคนตาย ธาตุลมก็ไปก่อน ลมหายใจจะไม่มี ต่อมาก็ธาตุไฟ ไออุ่นของร่างกาย มันก็ไม่มี ตัวเย็น ตัวแข็ง ต่อมาก็ธาตุน้ำค่อยไหลออก น้ำเน่า น้ำเหลืองจากร่างกาย ก็ไหลออก ต่อมาก็เหลือแต่กระดูก เป็นพวกธาตุดินก็สูญสลายหายไป
เพราะชีวิตของเรามันเป็นสิ่งปรุงแต่ง เรียกว่าสังขาร ถ้าเป็นสังขาร มันต้องตกอยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ อันนี้เรียกว่าทุกขลักษณะ เพราะไม่มีตัวตน เราไม่เข้าใจเรื่องอนัตตา เรื่องไม่มีตัวตน ไม่เข้าใจ
ทีนี้ เมื่อจิตใจไม่มีปัญญา มีแต่สัญชาตญาณ ยึดมั่นถือมั่นสำคัญว่า เป็นเราบ้าง ของเราบ้างก็เป็นทุกข์ ทุกข์ในชีวิตประจำวัน ทุกข์เพราะสิ่งอื่นที่เราเกี่ยวข้อง เป็นลูก เป็นหลาน ทรัพย์สินเงินทอง ญาติพี่น้อง ภัยพิบัติ พลัดพราก หวังจะให้เป็นอย่างนี้ มันก็ไม่เป็นอย่างที่เราหวัง เป็นอาการของความทุกข์ ที่มาจากจิตที่ไม่มีปัญญา มีแต่สัญชาตญาณ ที่ยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน ก็ทำให้ทุกข์ใจ
จิตที่ไม่มีการอบรม มีอะไร ก็มีมาเพื่อให้เป็นทุกข์นั้นเอง มีร่างกาย มีจิตใจที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา ชีวิตนี้ก็คือก้อนแห่งความทุกข์ ก้อนแห่งไฟนั่นเอง จะเผาจิตใจให้เป็นทุกข์ ทรัพย์สินเงินทองที่คนแสวงหากัน คิดว่าเป็นความสุข อุตส่าห์ศึกษาเล่าเรียน ความรู้ต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทยเราก็มีมากมาย ไปเรียนต่างประเทศ
แต่ว่าเป้าหมายของคนเราทั่วๆไป อยู่ที่ได้ทรัพย์สินเงินทอง เกรียติยศชื่อเสียงนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอื่น นี้คือเป้าหมาย ถ้าใครมีเงินมากๆ คนอื่นเขาบูชายกย่องกันทั้งนั้น แม้จะไม่ได้เรียน ไม่ได้ศึกษาอะไร แต่ขอให้มีเงิน มีทรัพย์สินเงินทอง คนอื่นก็ยกย่อง เพราะเป้าหมายจริงๆอยู่ที่เงินทอง แต่ว่าคนที่มีเงินมีทอง มีทรัพย์สินมากมาย ถ้าไม่มีปัญญา ถ้าไม่มีญาณ ไม่มีความรู้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องทำให้เขาทนทุกข์ทรมาน ต้องวิตกกังวล ต้องเป็นห่วง ต้องเป็นทุกข์ ต้องเครียด มาจากจิตที่มีแต่สัญชาตญาณ ยังไม่ได้อบรม
ฉะนั้น ทุกคนมันยังมีความทุกข์กันอยู่ ญาติโยมที่มาที่นี่ อาตมาก็เชื่อว่าความทุกข์ยังไม่หมด ฉะนั้นการที่ญาติโยมมาที่นี่ ถ้าสนใจอบรมจิตภาวนา สมาธิภาวนาได้ประสบความสำเร็จ ความทุกข์ก็จะน้อยลงๆ
แต่ละเดือนๆ ที่ญาติโยมคนไทยมาอบรม วันสุดท้ายเขาให้เปิดเผยความรู้สึก บางคนพูดว่าไม่ค่อยได้อะไร เพราะญาติโยมเหล่านั้น คงจะหวังจะได้อย่างใดอย่างหนึ่ง อาตมาจึงขอเตือนญาติโยมว่า ญาติโยมมาปฏิบัติที่นี่ อย่าไปคิดอย่างนั้น แต่สิ่งที่โยมจะได้ๆ คือได้อบรม ได้ฝึกจิตภาวนา สมาธิภาวนา ได้ลดความทุกข์ ทำให้ความทุกข์มันเบาบางลงๆ ทุกข์ทางร่างกาย เราก็มีอยู่ เราก็แก้ไขด้วยวิธีต่างๆ บริหารร่างกาย โยคะ ไทเก๊ก มีหลายๆแบบ
ญาติโยมมาอยู่ที่นี่ ต้องเดินขึ้นเดินลงเป็นการบริหารร่างกายให้เข้มแข็งอยู่ในตัว อาตมาเองนี่ เชื่อว่าได้อานิสงค์เพราะมาอยู่ที่ทีปฯนี่ อาตมาก็ยังเดินได้ เดินขึ้นเขา ทำให้ร่างกายมันเข้มแข็ง คนที่อยู่ในบ้านในเรือน นั่งเฉพาะในรถ อยู่ในห้องแอร์ ร่างกายอ่อนแอ ปวดเข่ากันมาก คนที่ไม่ค่อยได้เดินจะปวดหัวเข่ามาก นั้นร่างกายของเราต้องดูแล ต้องเอาใจใส่ เพื่อให้ทุกข์มันน้อยลง ทุกข์ทางร่างกายมันน้อยลง ต้องบริหารจัดการทุกวัน วันไหนไม่เอาใจใส่ มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก
เราบริโภคอาหาร กินอาหาร พระฉันอาหาร วันไหนไม่ได้รับประทานอาหาร มันก็หิว มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เราได้มานี่ มันเป็นสังขาร มันเป็นความทุกข์ เรียกว่าทุกขลักษณะ แต่ว่าทุกข์ที่สำคัญที่สุดคือทุกข์เพราะอุปาทาน แปลว่ายึดมั่นถือมั่น สำคัญว่าเป็นเรา เป็นของเรา
ถ้ามีอุปาทาน มีอะไรก็มีมาเพื่อทนทุกข์ คนร่ำรวยอย่าคิดว่าเป็นสุข ดีไม่ดีจะทุกข์มากกว่าคนที่ไม่ร่ำรวยก็ได้ นอนไม่หลับ วิตกกังวล กลัวนั่นกลัวนี่ ถ้าไม่มีปัญญา แต่ว่าคนมีเงินคนร่ำรวย ถ้าเขาอบรม จิตใจเขามีปัญญา เขาก็ไม่ทุกข์เหมือนกัน ทรัพย์สินเงินทองข้าวของอะไรต่างๆ มันอยู่ข้างนอก ไม่เอามาสุมไว้ในใจ ใจเขาก็ไม่เป็นทุกข์ ทำหน้าที่การงานตามปกติ คนเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อสังคมกว้างขวางยิ่งขึ้น
อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นเศรษฐีมีเงิน แต่ว่าเข้าใจธรรมะ ก็ใช้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนอนาถา คนยากคนจน ไม่มีอาหารก็มาที่บ้านอนาถบิณ อนาถบิณก็แจกทาน จ่ายทาน คนเหล่านี้ก็ได้พึ่ง คนที่มีความสามารถ มีความรู้ มีปัญญา มีทรัพย์สินเงินทองมาก ถ้าเข้าใจธรรมะ คนเหล่านี้จะมีประโยชน์ ไม่เอามาหวง ไว้แต่เพียงผู้เดียว เอามาเพื่อทำประโยชน์ อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างนี้ ราชทรัพย์ของพระองค์ก็เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนคนไทย เพราะพระองค์มีคุณธรรม
ฉะนั้น การญาติโยมมาอบรมสมาธิภาวนา คือการพัฒนาสัญชาตญาณให้เป็นภาวิตญาณ ภาวนานี้ มันเป็นอริยสัจข้อที่ ๔ ชีวิตของเรามันมีอริยสัจอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ พระพุทธเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าเพราะตรัสรู้เข้าใจอริยสัจ
อริยสัจข้อที่ ๑ คือทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๒ คือเหตุให้เกิดทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๓ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๔ คือทาง หนทางอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ทุกข์นี้มันมีอยู่แล้ว ๑. ทุกข์เจ็บปวดเรียกทุกขเวทนา ๒. ทุกขลักษณะ สิ่งใดที่มันเปลี่ยนแปลง เขาเรียกว่าเป็นทุกข์ ทุกขลักษณะ แม้แต่ก้อนหินก็ลักษณะที่มันเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ แต่ทุกข์ที่สำคัญที่สุด ทุกข์เพราะเรายึดถือ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เพราะยึดมั่นในเบญจขันธ์คือชีวิตของเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ว่าเป็นเรา ก็เกิดเป็นทุกข์ใจ ก็มาจากอริยสัจข้อที่ ๒ เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์คือกิเลสทั้งหลาย กิเลสที่เป็นแม่คือ อวิชชา ตัณหา อุปทาน
ญาติโยมมาปฏิบัติที่นี่ หนึ่งจะต้องสนใจ มีความรู้เรื่องหัวใจพุทธศาสนา อาตมาจึงนิมนต์พระองค์นั้น องค์นี้ มาช่วยบรรยายหัวใจของพระพุทธศาสนา ให้ความรู้ พอมีความรู้แล้วก็ปฏิบัติ ความทุกข์มาจากกิเลสต่างๆ
ความดับทุกข์คือดับกิเลส ปัจจุบันนี้คนมีความทุกข์ หาทางออกไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ ชีวิตกว่าจะได้มา มันยากเหลือเกิน ได้มาแล้ว ก็มาทำลายชีวิตเสีย ก็น่าสงสาร คนไทยเราเดี๋ยวนี้ก็เริ่มดีกันมากขึ้นๆ
ขอให้ญาติโยมทั้งหลายมองเห็นความจริงของชีวิตของเราว่า มันคืออะไรเกิดมานี้ เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ ทนทุกข์จนกว่าจะตายอย่างนั้นหรือ หรือเกิดมาเพื่อเดินทางสู่ความไม่มีทุกข์
อาตมาคิดว่า เราเกิดมาเพื่อจะเดินทางไปสู่ความไม่ทุกข์จะดีกว่า ฉะนั้นพอตื่นเช้าขึ้นมา ก็เตือนจิตใจว่า ฉันเกิดมาไม่ใช่เพื่อทนทุกข์ ฉันเกิดมาเพื่อจะใช้ชีวิตเดินทางไปสู่ความดับทุกข์ เราตั้งใจทำทุกวันๆ นี้การที่จะทำให้ทุกข์ดับต้องปฏิบัติ ที่เรียกว่าภาวนานั้นเอง
เราปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนา คือการอบรมอริยมรรค มรรคมี ๘ องค์ เห็นชอบ ดำริชอบ พูดจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ เราปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ความจริงก็คืออบรม ศีล สมาธิ ปัญญา สัมมาวาจาพูดจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ นี้คือศีล สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ สติชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ คือสมาธิ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือปัญญา เรียกว่าเราเจริญสมาธิภาวนา คุณธรรมเหล่านี้ อริยมรรคเหล่านี้ ก็เจริญขึ้นๆ เมื่อรวมตัวเป็นกำลัง เรียกว่ามรรคสมังคี ก็ทำหน้าที่ตัดกิเลส ทำลายกิเลส ทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
เมื่อจิตใจมีปัญญา มีญาณ มีความรู้ ความทุกข์ทางใจมันก็ไม่มี เหลือความทุกข์ทางร่างกายก็ไม่มีปัญหา ร่างกายจะแก่ จะเจ็บ จะตาย ใจไม่รู้สึกว่าเป็นผู้มีปัญหา นี่สำคัญมาก ขอให้ญาติโยมทั้งหลายตั้งใจ
ทีนี้ การเจริญสมาธิภาวนาที่นี่ ก็ใช้แนวที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสได้แนะนำเอาไว้ ได้สอนไว้ คือระบบอานาปานสติซึ่งมีถึง ๑๖ ขั้น ญาติโยมทั้งหลายจะได้มีโอกาสฟังเทปบรรยายด้วย
ในการปฏิบัติอานาปานสติ หัวใจจริงๆคืออบรมให้ได้สมาธิ พอได้สมาธิมาก็อบรมปัญญาวิปัสสนา ความหมายของสมาธิคือจิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตอ่อนโยน
ญาติโยมต้องรู้ว่าจิตเดิมของเรา มันเป็นจิตผ่องใส จิตประภัสสร แต่ว่าเรารักษาจิตอันนี้ไว้ไม่ได้ ทำให้มันเจริญไม่ได้ ก็ปล่อยกิเลสเข้ามาทำลาย มันเลยเศร้าหมอง ทำให้เราเป็นทุกข์เพราะมีกิเลส ปัญหาต่างๆมาจากกิเลสทั้งนั้น ปัญหาทางด้านจิตใจ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ ความเครียดความอิจฉาริษยา พวกนี้กิเลสทั้งนั้น
จิตใจไม่มีกิเลสเหล่านี้ จิตก็บริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตอ่อนโยนควรแก่การงาน พอได้สมาธิมาก็เจริญวิปัสสนาต่อ วิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ่มแจ้ง วิแปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสะแปลว่าเห็น เห็นแจ่มแจ้งตามสภาพเป็นจริง คือเห็นว่า ถ้าเป็นสังขารแล้ว มันก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะไม่มีตัวตน ก็มาตามดูสิ่งที่เรามี จะเป็นร่างกาย จะเป็นจิตใจ จะเป็นความรู้สึก มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็น้อมจิตเพื่อสลัดความรู้สึกว่าตัวตน ก็ทำอย่างนี้
ต่อไปนี้ก็จะใช้เวลาปฏิบัติ เริ่มต้นด้วยการเจริญอานาปานสติขั้นที่ ๑ คือตามลมหายใจเข้ายาว ออกยาว ญาติโยมที่เคยมาที่นี่หรือเคยไปที่อื่น คงเคยนั่งสมาธิกันมาบ้างแล้ว สำหรับคนไม่เคยมา ก็ขอให้เตรียมตัวในการเริ่มฝึกสมาธิภาวนา นั่งขัดสมาธิเพชรได้ก็ขัด เอาเท้าซ้ายขึ้นมาขัดบนขาขวา เอาเท้าขวาขึ้นมาขัดบนเข่าซ้าย เรียกว่าวัชรอาสน์ ตั้งตัวให้ตรง
สำคัญที่สุดคือต้องมีสติ ดำรงสติ มีสัมปชัญญะคือปัญญา แล้วก็มีความเพียร ความเพียรนี้ก็เป็นพวกสมาธิ สติก็เป็นพวกสมาธิ สัมปชัญญะนี่ปัญญา อาตาปี สัมปชาโน สติมา อาตาปีคือมีความเพียร นี่เป็นพวกสมาธิ สัมปชาโนนี่เป็นปัญญา สติมาคือสติ เป็นผู้มีสติ ก็คือสมาธิ
ฉะนั้น คนที่มาปฏิบัติที่พูดว่าไม่ได้อะไร เขาไม่เข้าใจ ก็คือได้ปฏิบัติ ได้อบรมให้มีศีล อบรมให้มีสมาธิ อบรมให้มีปัญญา มานั่งเรียบร้อยแล้ว ส่วนมือนี้พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำให้เอาวางบนหัวเข่าทั้งสองข้างเหยียดให้ตัวตรง ให้หน้าตรง ส่วนตานี่ก็มี ๒ แบบ ทั่วไปๆ เขาชอบหลับตา อาตมาก็ฝึกแรกๆ ๕๐ - ๖๐ ปีมาแล้ว อาจารย์แนะนำให้หลับตา ก็ยังหลับตาอยู่ ท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำว่า ควรจะลืมตาครึ่งหนึ่ง มองไปที่ปลายจมูก ไม่ต้องการดูอะไร แต่ว่าเตรียมสติ สติก็ระลึกอยู่กับธรรมะตลอดเวลา ธรรมะมันมีหลายอย่าง ธรรมะอันแรกก็คือลมหายใจนั้นเอง หายใจเข้า หายใจออก เตรียมตัวเรียบร้อยแล้วก็สูดลมหายใจเข้าไป
อานาปานสติขั้น ๑ คือตามลมหายใจเข้ายาว ออกยาว จิตจะต้องอยู่กับลมตลอดเวลา สูดลมหายใจ จนกระทั่งเข้าไม่ได้ ก็หายใจออก ลมหายใจเข้าออก มีในชีวิตของเรา ตราบใดที่ยังไม่ตาย ก็มีการหายใจเข้า หายใจออก เราไม่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน เราไม่มีความรู้ อาจจะยังไม่สนใจ ว่าของวิเศษ มันก็คืออันนี้ ระบบอานาปานสติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะใช้ระบบอานาปานสติ อานะหายใจเข้า อาปานะหายใจออก
วิธีปฏิบัติ ให้กำหนดจุดไว้ ๒ จุด จุดข้างนอกคือที่ปลายจมูก รูจมูก จุดข้างในกำหนดที่ท้อง ที่สะดือ พอหายใจเข้า ให้จิตจับลมให้ได้ แล้วไปกับลม ตามลมมาๆ จนกระทั่งจุดข้างในเกิดที่สะดือ ภาษาฝรั่งเรียกว่า navel nose tip ปลายจมูก navel สะดือ ให้ติดตามลม ตามๆไม่ไปไหน มาที่จุดข้างใน แล้วพอหายใจออก ก็ตามมา
ถ้าควบคุมให้จิตอยู่กับลมตลอดเวลา ก็ได้สมาธิเพิ่มขึ้นๆ ในขณะที่มีสติอยู่กับลม อุปกิเลสต่างๆ อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด อารมณ์อะไรต่างๆ มันเข้ามาไม่ได้ จิตก็บริสุทธิ์ก็เกิดความสุข เกิดความสบายใจ เกิดความสงบใจ เป็นความสุขของสมาธิ
ทีนี้ พอได้สมาธิมา ก็มาตามดู ให้รู้ว่าลมหายใจเข้าออกนี้ มันไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นมันไม่ใช่เรา ลมหายใจเข้า หายใจออก ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของธรรมชาติ ชีวิตเนื้อหนังร่างกาย อาศัยลมหายใจ ลมหายใจหยุด ไม่มี เนื้อหนังร่างกายก็อยู่ไม่ได้
ชีวิตที่เรามีสักว่าเป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นสังขาร จริงๆมันไม่มีตัวตน ตัวตนมาจากสัญชาตญาณที่อยู่ในจิต ติดมาในจิตของเรา ที่มาคิดว่ามีตัวตน ตัวนี้ตัวร้ายกาจ ก็พยายามที่ละลาย พยายามทำให้มันลดลงๆ ให้จิตใจก็จะได้เบา ได้สบาย ต่อไปก็ปฏิบัติตามเวลาที่มี