แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมทั้งหลาย อาตมาขอขอบพระคุณ ขออนุโมทนากับบรรดาญาติโยมทั้งหลายทุกคน ที่ได้ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวัน การสร้างทีปภาวันเป็นสิ่งที่ยากเพราะว่าอยู่บนภูเขา ตอนที่ทำมานี้ ถนนแบบนี้ไม่มี มีแต่ทางพอที่จะรถยนต์วิ่งขึ้นมาได้เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็สะดวกขึ้นมาก การสร้างทีปภาวันให้สำเร็จเป็นสิ่งที่ยาก ยากประการที่ ๒ แม้สร้างทีปภาวันขึ้นมาได้แล้ว ถ้าไม่มีคนดูแลรักษาก็จะทรุดโทรมไปโดยเร็ว ทีปภาวันก็เพราะมีผู้เสียสละ โดยเฉพาะอุบาสิกา แม่ชี ผู้ชายบางคน พระบางรูป โดยเฉพาะท่านสัณฐาน เรียกว่าทีปภาวันก็ได้ผ่านความยากครั้งที่ ๒ ยากที่สุดก็คือคนที่มาใช้สอยทีปภาวันนั่นเอง สมมุติว่าเรามีที่อย่างนี้เรียบร้อยแล้ว มีคนช่วยดูแลสถานที่ แต่ถ้าไม่มีคนมาปฏิบัติก็จะเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงขอขอบพระคุณญาติโยมทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวัน เพื่อจะทำให้ทีปภาวัน ที่เราลงทุนไปได้คุณค่า
อาตมาอยู่ที่สวนโมกข์กับพระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ตอนนี้พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสมรณภาพไปแล้ว อาตมาก็ยังอยู่ที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา แต่พอมามีทีปภาวัน อาตมาก็ปลีกตัวมา แล้วก็กลับไปที่สวนโมกข์ ก็เดินทางไปมาๆอย่างนี้ พอที่จะมีเรี่ยวแรง ที่ยังเดินทางอยู่ได้ ก็พยายามที่จะมา ต่อไปข้างหน้ารู้ไม่ได้เหมือนกัน ว่าทำอย่างนี้ได้นานอีกเท่าไหร่
การที่คุณโยมทุกคนมาปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวัน โยมคงจะเห็นความลำบากที่พวกเราช่วยกันสร้างทีปภาวันขึ้นมา ญาติโยมทั้งหลายก็มาช่วยสนับสนุน ให้ทีปภาวันได้ทำประโยชน์ ที่สำคัญที่สุด ที่อาตมามุ่งมั่นต้องการให้ทีปภาวันเป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมะโดยเฉพาะ ให้ชาวต่างประเทศ เพราะว่าที่เกาะสมุย มีชาวต่างประเทศเข้ามาเยอะมาก
ปีหนึ่งๆ ทีปภาวันก็ได้ผ่านการอบรมฝรั่งแต่ละเดือนๆ ก็ไม่น้อย ร้อยกว่าคน ก็หลายปีมาแล้ว ก็ทำให้ฝรั่งได้เรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรามาตั้งต้นชวนฝรั่งมาปฏิบัติธรรมที่เกาะสมุยครั้งแรก มีฝรั่งเพียง ๔ คนเท่านั้น จนกระทั่งฝรั่งเพิ่มขึ้นๆ พออาตมากลับไปที่สวนโมกข์ ฝรั่งก็ตามไป จึงเป็นเหตุให้พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสสร้างสวนโมกข์นานาชาติขึ้นมา
สวนโมกข์นานาชาติอบรมฝรั่งไปแล้ว อาตมาคิดว่าไม่น้อยกว่า ๓ - ๔ หมื่นคน เดี๋ยวนี้ทุกเดือน อาตมาก็ไปร่วมปฏิบัติธรรมกับฝรั่งที่สวนโมกข์นานาชาติ ไปบรรยายธรรมะให้ฝรั่งบ้าง ไปปฏิบัติร่วมกับเขาบ้าง
ฝรั่งที่มาอบรมก็มีความรู้ต่างๆ กัน เพราะมาจากหลายๆ ชาติ เป็นหมอก็มี เป็นศาสตราจารย์ก็มี เป็นนักจิตวิทยาก็มี เป็นอย่างกฎหมายก็มี เรียกว่าทุกอาชีพ อาตมาก็ได้โอกาสบางทีตอบปัญหาให้แก่ฝรั่ง เดี๋ยวนี้ฝรั่งทั่วโลกหันมาสนใจความรู้ของพระพุทธเจ้า เพื่อจะแก้ปัญหา ความรู้ที่มีอยู่ในโลก ที่ฝรั่งเขาแต่งหนังสือขึ้นมาอบรมสั่งสอนวิชาการต่างๆ มันดับทุกข์ไม่ได้ แต่ว่าความรู้ของพระพุทธเจ้าแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ไม่มีปัญหาอะไรเลย ที่ธรรมะของพระพุทธเจ้าแก้ไม่ได้ แต่ว่าผู้นั้นต้องปฏิบัติ พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น
เพราะฉะนั้น อาตมาก็นึกถึงว่า คนไทยเราเป็นเมืองพระพุทธศาสนา ก็ใครๆเขาเรียกกันแบบนั้นว่าเมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้หันมาดูปัญหา ปัญหามันมากมายเหลือเกิน ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องสังคม ปัญหาเรื่องยาเสพติด อย่างที่เกาะสมุยนี้ สมัยหลายปีมาแล้ว ไม่เคยมีคุก ไม่เคยมีศาล ปัจจุบันนี้มีคุก มีเรือนจำขึ้นที่เกาะสมุย อาตมาเคยเข้าไปอบรมประมาณ ๒ ครั้ง อาตมาไปเห็นคนที่อยู่ในคุกเกาะสมุย ปัจจุบันนี้ได้ยินว่าประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ คน อยู่ที่เรือนจำที่เกาะสมุย เรือนจำกลาง เรือนจำไชยา เรือนจำอะไร นักโทษเต็มไปหมด ทำไมเมืองพุทธศาสนา แต่ว่าคนต้องเข้าไปอยู่ในคุกในตะรางมากถึงขนาดนี้
อาตมาก็สรุปโดยมองเห็นชัดเจนว่า เรานับถือพุทธศาสนาตามประเพณี ตามปู่ย่าตายาย มีพิธีกรรมทางศาสนา ก็เข้าวัดเข้าวา รับศีลตามประเพณี แต่การปฏิบัติมีไม่พอ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหา จะทำให้เราล้าหลัง ล้าหลังฝรั่ง ล้าหลังชาวต่างประเทศ ซึ่งเขามาสนใจพุทธศาสนา เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีนี้เอง
ก่อนหน้านั้นฝรั่งไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนา ฝรั่งเริ่มสนใจพุทธศาสนา ตอนที่อังกฤษไปปกครองอินเดียเป็นเวลานาน ก็ไปเห็นสิ่งที่เคยมีในอดีต เช่น สถูป พระเจดีย์ต่างๆ เสาหินสลักของพระเจ้าอโศกฯ ขุดพบร่องรอยที่ฐานเจดีย์ เป็นต้น ทำให้ฝรั่งเขาก็สนใจ ฝรั่งก็พยายามที่จะเรียนรู้ภาษาบาลี และก็ตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ขึ้นในประเทศอังกฤษ แล้วก็แปลพระไตรปิฎกออกมาเป็นภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้พระไตรปิฎก เขาแปลเป็นภาษาฝรั่ง หลายภาษา
พวกฝรั่งก็ได้เรียนรู้คัมภีร์พระไตรปิฎก ความรู้ระดับปริยัติ แบบประเทศไทยเราที่เรียนกันอยู่ เรียนภาษาบาลีประโยคสูงสุดคือ ประโยค ๙ ๙ ประโยค สามารถอ่านบาลีได้ แปลพระไตรปิฎกได้ แต่ว่าการปฏิบัติมันมีไม่พอ ปัญหาต่างๆ ในเมืองไทยยังไม่ลดลงเลย นี่เพราะขาดการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น การที่ญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์เป็นเพียงแต่ผู้บอกทางเท่านั้น การเดินทางเป็นหน้าที่ของพวกเรา
ดังนั้นญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวัน ถ้าญาติโยมตั้งใจจริงๆ อาตมาคิดว่าก็ต้องได้รับประโยชน์
หนึ่ง ได้รับประโยชน์แก่ญาติโยมเอง ญาติโยมแต่ละคน ก็ยังมีครอบครัว มีลูก มีญาติ มีพี่น้องกันแต่ละคน ที่นี้ก็ได้รับประโยชน์โดยส่วนตน ต่อไปก็จะได้ขยายไปสู่ผู้อื่น ไปสู่ครอบครัว ไปสู่สังคม ไปสู่จังหวัด ไปสู่ประเทศ ไปสู่โลกกว้างไกล พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เกิดขึ้นในโลก ได้ตรัสรู้ สอนธรรมะเอาไว้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของคนจำนวนมาก ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หมายความว่าทั้งคนยากจน ทั้งคนมั่งมี ก็ได้อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือ ที่นี้ ที่น่าสนใจที่สุด ก็ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องชีวิตที่เรายังเป็นๆ ชีวิตประจำวันนี่เอง ไม่ใช่เรื่องอื่น
ก็ชีวิตของเราที่เกิดมามันมีอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเราไม่ศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งๆ ที่มีอยู่ในชีวิตของเรา แต่เราจะไม่รู้จักมันเหมือนกับว่าชีวิตของเรามันไม่มีอะไร จริงๆ มันมีมาก เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายจะได้ฟังความรู้ของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับชีวิตของเรา แต่ว่าทั้งหมดในชีวิตของเรา สรุปแล้วก็คือ เรื่องทุกข์กับเรื่องไม่มีทุกข์เท่านั้น ดังนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนแต่ว่าเรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ ทุกข์เนี่ยมันมีตั้งแต่เราเกิด พอเกิดขึ้นมาความทุกข์มันเกิดมาทันทีเลย แต่ว่าความทุกข์มันมีหลายอย่าง
หนึ่ง ทุกข์เจ็บปวด เรียกว่าทุกขเวทนา เวทนามันมีหลายอย่าง สุขเวทนา เวทนาที่รู้สึกสบาย ทุกขเวทนาความรู้สึกมันไม่สบาย อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่มันเป็นกลางๆ แต่มันพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ คนที่ไม่ปฏิบัติธรรม ทุกขเวทนามันจะมีมาก ทั้งทางกายและก็ทั้งทางใจ ชีวิตของเราสรุปแล้วก็มีแค่ ๒ คน คนหนึ่งคือร่างกาย เป็นรูปเรียกว่ารูปธรรม คนหนึ่งคือจิตใจเรียกว่านามธรรม แต่ความทุกข์มันก็มีที่กายด้วยและที่ใจด้วย
โดยเฉพาะถ้าไม่มีการอบรมจิตใจเอาไว้ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ร่างกาย แต่ก็เป็นทุกข์มีปัญหาต่างๆ ที่อยู่ข้างนอก ใจก็ต้องเป็นทุกข์ มีครอบครัวก็ต้องทุกข์เพราะครอบครัว มีอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น มีทรัพย์สินเงินทองก็ต้องเป็นทุกข์เพราะทรัพย์สินเงินทอง ถ้าไม่มีการอบรมจิตใจมันจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าคนร่ำคนรวยจะเป็นสุข ไม่จริง ถ้าคนร่ำคนรวย เศรษฐีมีเงินไม่เข้าใจธรรมะจะมีความทุกข์มากกว่าคนยากจนเสียอีก
เพราะฉะนั้นความทุกข์ที่สำคัญที่สุดคือ ความทุกข์ทางด้านจิตใจ ทุกขเวทนา เราก็มีชีวิตประจำวัน นั่งนานเกินไปก็ปวด นอนมากเกินไปก็ปวด เดินนานก็ปวด ทำงานมากเกินไปก็ปวด ไม่รับประทานอาหารเพียงพอก็เจ็บปวด มันเยอะ ยิ่งกว่านั้น ความเจ็บไข้ได้ป่วย โรคภัยไข้เจ็บ มากมายหลายสาเหตุ แม้แต่อุบัติเหตุทำให้แข้งขาหักบ้าง พิการบ้าง ถูกทำร้ายบ้าง ถูกฆ่า ถูกยิง ตกจากของสูง อุบัติเหตุ อย่างขับรถ ในปัจจุบัน บางทีไปชน ไปอะไรต่างๆ ก็ทำให้ทุกขเวทนามันมาก แล้วก็ทุกข์ใจด้วย ใจก็กังวล ใจก็เครียด จนกระทั่งเครียดมากๆ ก็ฆ่าตัวตายกัน ปัจจุบันนี้คนฆ่าตัวตายสูงเพราะมาจากแก้ปัญหาทางจิตใจไม่ได้ ทุกขเวทนา เราเกิดมาก็มีในชีวิตของเรา
สอง ทุกขลักษณะ สิ่งใดที่มันเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นเรียกว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น แม้แต่สิ่งไม่มีชีวิต จะเป็นก้อนหิน จะเป็นต้นไม้ จะเป็นอาคารสถานที่ ถ้าเปลี่ยนแปลงก็เรียกว่าเป็นทุกข์ เรียกว่าทุกขลักษณะ ชีวิตของเรา ก็มีทุกข์อันนี้ด้วย เรียกว่าทุกขลักษณะ แต่ว่าทุกข์ที่สำคัญที่สุด ทุกข์เพราะเราไปยึดถือ เรียกว่าทุกข์อุปาทาน ตัวนี้สำคัญที่สุด เข้าไปยึดถือว่า ชีวิตนี้ นามรูปนี้เป็นเรา เป็นของเรา กลายเป็นของหนัก หนักอกหนักใจ
เรามีสิ่งใดมาเกี่ยวข้อง มีบุคคล มีสิ่งของ แต่คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ใจก็ไปหนัก ไปทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น เพราะเรามีอุปาทาน อุปาทานแปลว่ายึดมั่นถือมั่น ไปแบกของหนัก ทุกข์เนี่ย ถ้าปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าทำได้ ทุกข์อุปาทานก็ลดลงๆ
ถ้าทุกข์อุปาทานลดลง ทุกข์ใจก็ต้องลดลงๆ ถ้าจิตใจไม่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา ความทุกข์มันก็ไม่มี ความแก่มันมีอยู่แต่ไม่เป็นความแก่ของเรา ความเจ็บมีอยู่แต่ไม่ได้เป็นความเจ็บของเรา ความตายมันมีอยู่แต่ไม่ได้เป็นความตายของเรา ความทุกข์ก็ไม่มี ไม่มีอะไรที่จะสูญเสีย ไม่มีอะไรจะสูญเสีย บ้านถูกไฟไหม้ โจรลักโจรขโมย ไม่เป็นทุกข์เพราะไม่ได้คิดมาก มันยาก ยากที่สุดที่จะไม่ยึดถือ
ทีนี้ที่จะทำให้ทุกข์มันลดด้วยการฝึกเรียกว่า จิตภาวนาหรือสมาธิภาวนา ทีนี้ภาวนามันมี ๒ อย่าง
หนึ่ง สมถภาวนา อบรมจิตให้มีสมาธิ คำว่าสมาธิ จิตต้องไม่มีอุปกิเลส อุปกิเลสคือกิเลสที่เข้ามารบกวนจิตใจ จิตใจไม่มีสมาธิ เรียกว่าอุปกิเลส
ญาติโยมทั้งหลายจะต้องทราบว่าจิตเดิมของเรามันเป็นจิตผ่องใส จิตประภัสสร แต่เราก็ไม่ได้อบรมให้จิตประภัสสรมันเข้มแข็ง ให้ก้าวหน้ามากขึ้น กิเลสมันก็เข้ามา มาเปลี่ยนจิตที่มันผ่องใสให้จิตมันเศร้าหมอง พอจิตเศร้าหมอง อารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์เบื่อ ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย เรียกว่านิวรณ์ห้า อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์เบื่อ ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย ใจก็ไม่มีสมาธิ พอใจไม่มีสมาธิ ใจก็ไม่เห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง
ที่นี้ การอบรมจิตภาวนา หรือสมาธิภาวนา ก่อนอื่นคืออบรมให้จิตมีสมาธิ คือไม่มีอุปกิเลสเหล่านี้ จะไม่มีอารมณ์รัก ไม่มีอารมณ์โกรธ ไม่มีอารมณ์เบื่อ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ลังเลสงสัย แต่ว่าจิตกลับบริสุทธิ์ จิตกลับตั้งมั่น จิตอ่อนโยน แต่จิตก็มีความสุข จะเกิดปิติ เกิดอิ่มใจ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตใจ เป็นความสุขด้านใน เหมือนอย่างว่าพระก็อาศัยสุขชนิดนี้ อย่างพระที่บวชมานาน เขาก็อยู่กับความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจ เรียกว่าสุขที่เกิดจากสมาธิ สุขที่เกิดจากปัญญา
ทีนี้ พอเราได้สมาธิมาก็อบรมวิปัสสนาภาวนา คำว่าวิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ่มแจ้งตามที่มันเป็นจริง ถ้าไม่อบรมจิตให้มีสมาธิ จิตมันไม่เห็น แม้ตาจะเห็นแต่จิตมันไม่เห็น ความจริงหัวใจของวิปัสสนา มีไม่กี่อย่าง สรุปแล้วมีเพียง ๓ อย่างคือ อนิจจัง อนิจจังคือความไม่เที่ยง อนิจจตาก็เรียก อนิจจตาคือความไม่เที่ยง ทุกขตาความเป็นทุกข์ หรือทุกขัง อนัตตาหรืออนัตตตา ความไม่มีตัวตน พอจิตมีสมาธิก็มาตามดู
วิปัสสนาแปลว่าตามดู ติดตามดู ให้เห็นสิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริง พอเห็นเป็นจริง จิตใจก็คลายออกจากความยึดถือ เมื่อจิตใจไม่ยึดถือ ความหนักอกหนักใจก็ไม่มี ใจก็สบาย
พอพบความสุขของพระอริยเจ้า ไม่ใช่เป็นความสุขของคนธรรมดา ความสุขของคนธรรมดา ส่วนใหญ่จะเป็นกามสุข ความสุขเนื่องจาก ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นกระทบกับรส กายถูกต้องกับสัมผัส แล้วก็พอใจ เป็นสุขเวทนา แต่ความสุขชนิดนี้ยังเป็นความสุขร้อน เขาเรียกว่าอามิสสุข สุขที่อิงอามิส เหมือนอย่างว่า ปลาไปกินเหยื่อแล้วติดเบ็ด ปลาก็จะต้องลำบาก ปลาก็จะต้องตาย เพราะไปติดเบ็ด
ทีนี้คนที่มีปัญหาในสังคมปัจจุบันนี้ เพราะว่าไปหลงแสวงหาความสุข เรียกว่ากามสุข ไม่มีการควบคุม ไม่มีการสำรวมระวัง แล้วก็เดือดร้อนกันมากมาย
ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระองค์สอนเอาไว้ ให้เราพัฒนาตัวเอง อบรมยกจิตวิญญานของเราให้สูงขึ้น การปฏิบัติธรรม ก็ทำพร้อมๆ กันหลายๆ อย่าง สรุปแล้วคืออบรมให้มีศีล ให้มีสมาธิ ให้มีปัญญา ความหมายของศีลคือปกติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทางกาย ทางวาจา เช่น ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรัก นี่ทางกาย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ นี้เป็นทางวาจา
การที่ญาติโยมมาปฏิบัติที่นี้ ถ้าปฏิบัติตามด้วยดี ก็จะมีศีลอยู่ในตัว คนมาปฏิบัติที่จะไปฆ่าสัตว์ ฆ่าใครมันไม่มี ลักของๆใครก็ไม่มี ล่วงเกินของรักเขาก็ไม่มี พวกฝรั่งที่มาอบรม เขาก็ไม่ต้องรับศีลตามประเพณี แต่เขาก็ปฏิบัติ ของที่หายจะมาเบียดเบียนกันในหมู่คนปฏิบัติ มันไม่มีเลย ผ่านมา ๓๐ ปี ไม่มีปัญหา เพราะว่าเขามีศีลอยู่ที่การปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงอบรม ที่นี่ก็เหมือนกัน ผ่านมาหลายปีไม่มีปัญหา
ทีนี้ที่สำคัญสุด การที่เราเข้ามาปฏิบัติ โดยเฉพาะการพูดการจา เรียกว่าพยายามที่จะสำรวม การพูดโดยเฉพาะในที่ประชุมหรือว่าในที่รับประทานอาหาร เรียกว่าถ้าเราสำรวม ไม่พูดได้ จิตจะได้ดูจิตข้างใน ขณะเราพูดจิตมันออกมาข้างนอก แม้การติดต่อกับใคร ก็ได้เตรียมตัวบ้างแล้ว เราก็ไม่ต้องใช้โทรศัพท์มือถืออย่างนี้เป็นต้น แต่ก็ไม่ถึงกับห้ามเด็ดขาด ถ้าจำเป็นก็ออกไปติดต่อ ไปโทรอะไรข้างนอก แต่ว่าลดได้ก็จะมีประโยชน์ ฉะนั้นในช่วงที่มาบวชนี่ ให้โยมทั้งหลายพยายามลดการติดต่องาน จะมีโอกาสฝึกจิตภาวนา สมาธิภาวนาให้ก้าวหน้า
ทีนี้การฝึกจิต มันไม่แน่ บางคนใช้เวลาหลายปีก็ไม่สำเร็จ แม้แต่บวชเป็นพระมาหลายปีก็ไม่สำเร็จ บางคนใช้เวลาไม่นาน บางคนใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน บางคนใช้เวลาเพียงวันเดียว ก็สามารถเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ แต่ละคน มันอยู่ที่ปฏิบัติให้ถูกต้อง การปฏิบัติธรรมจริงๆ อบรมให้มีศีลดังที่กล่าวมาแล้ว ฝึกสมาธิอย่างที่ว่ามาแล้ว จิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตคงทน แล้วก็ฝึกวิปัสสนา ก็ทำอย่างนี้ ไม่กี่อย่าง ทำเมื่อนั่ง อิริยาบถนั่ง ทำเมื่อยืน อิริยาบถยืน ทำเมื่อเดิน ทำเมื่อเคลื่อนไหว ให้มีสติสัมปชัญญะ สิ่งที่เราขาดไปคือขาดสติ โดยเฉพาะสัมมาสติ
สติมันมีหลายระดับ สติทั่วไป โยมทั้งหลายก็มีกันทุกคน ถ้าไม่มีสติเลย ทำอะไรไม่ได้ เข้ามาอย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีสติ ทำงานทำการ ศึกษาเล่าเรียน พูดอะไร ต้องมีในระดับหนึ่ง แต่ไม่พอ ต้องฝึกให้มีสัมมาสติ สัมมาสติคือจิตมันอยู่กับกายได้ อยู่กับเวทนาบ้าง อยู่กับจิตเองบ้าง อยู่กับธรรมะบ้าง เรียกว่าสัมมาสติ นี้คือการฝึก
ทีนี้ก็สัมปชัญญะ สัมปชัญคือปรัชญา รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่า เมื่อเคลื่อนไหวทางกายก็ได้ เวทนาเกิดขึ้นก็ได้ จิตคิดนึกก็ได้ ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา และก็อาศัยความเพียร ในการที่จะฝึกจิตให้มีสมาธิมากขึ้นๆ เพราะสมาธิมันมีหลายระดับ สมาธิตามธรรมชาติ ว่าทุกคนก็มีอยู่แล้ว
ถ้าเราไม่มีสมาธิเลย ทำอะไรไม่ได้ อย่างขับรถขับรา หรือว่าเกี่ยวข้องทำอะไรสักอย่าง ต้องมีสมาธิกันทั้งนั้น แม้แต่แมวจะจับหนู แมวก็ต้องมีสมาธิ เหยี่ยวจะจับเหยื่อ เหยี่ยวต้องมีสมาธิ สมาธิแบบนี้สมาธิตามธรรมชาติ ยังไม่ถึงสัมมาสมาธิ เรามาฝึก ฝึกสัมมาสมาธิ ฝึกสัมมาสมาธิคือสมาธิที่ไม่มีนิวรณ์ ดังกล่าวมาแล้ว อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าทำสำเร็จ ก็จะได้สมาธิระดับสูงเรียกว่าฌาน ซึ่งมีอยู่หลายขั้น ฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ เรียกว่าสัมมาสมาธิ
ที่นี้พอได้สมาธิมาก็ฝึกวิปัสสนา มาตามดูอารมณ์ของวิปัสสนา อารมณ์ของวิปัสสนาคือสังขาร สังขารคือสิ่งปรุงแต่ง ชีวิตของเราเป็นสังขาร ทุกส่วนทุกสิ่งที่เรามีจะเป็นเวทนา ความรู้สึก สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขารความคิดนึก วิญญาณความรู้แจ้ง เป็นสังขารทั้งหมด ข้างนอกทุกอย่าง จะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นโผฏทัพพะ อารมณ์ต่างๆทั้งหมด สังขาร มันจะเป็นอย่างนี้ เกิดดับๆ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีใครบังคับมันได้ เพราะไม่มีตัวตน แล้วก็ต้องมาดูความจริง
เอาล่ะ คืนนี้เป็นคืนแรก ต่อไปจะเริ่มปฏิบัติ ไม่ต้องเสียเวลา เสียไปในคืนแรก มาทดลองฝึกสมาธิสัก ๑๕ นาที มีฝรั่งคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีชื่อเสียงมาก เป็นดอกเตอร์ชื่อ ดร.จอห์น เขาบอกว่าวันหนึ่ง ถ้าได้นั่งสมาธิ แม้จะนั่งสมาธิ ๑๕ นาที จะมีประโยชน์มาก จะคลายเครียด ลดกังวล จะพบความสุขด้านใน เป็นความสุขที่ซื้อด้วยเงินไม่ได้
ต่อไปนี้ จะใช้เวลา อย่างน้อยก็ ๑๐ นาทีฝึกสมาธิ การนั่งสมาธิต่อ ตามแบบ ตามสะดวก คือนั่งขัดสมาธิ ทุกคนก็เชื่อว่าเราคนไทยนั่งได้ เอาเท้าซ้ายขึ้นมาขัดบนขาขวา ยกเท้าซ้ายขึ้นมาขัดบนขาขวา แล้วยกเท้าขวาขึ้นมาขัดบนขาซ้าย แบบนี้เขาเรียกว่า วัชรอาสน์ ตั้งตัวให้ตรง เหยียดให้หลังตรง ให้หน้าตรง ส่วนมือก็มี ๒ แบบ แบบทั่วๆไป มือซ้ายวางบนตักมือขวาวางทับมือซ้าย อันนี้ทั่วๆไปทำอย่างนี้
ที่สวนโมกข์พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านแนะนำให้วางมือบนหัวเข่า ให้เหยียดให้แขนตรง เพื่อจะค้ำยันตัวให้ตรง ส่วนตานี้ก็มี ๒ แบบ หนึ่ง หลับตาแต่ใจอย่าหลับ สอง ลืมตาครึ่งหนึ่งมองไปที่ปลายจมูก แต่ไม่ต้องการดูอะไร เหมือนพระเนตรพระพุทธรูป ทดลองทั้งสองแบบ ว่าอันไหนดีกว่า เตรียมพร้อมแล้วจะฝึก ฝึกสมาธิภาวนา ที่นี่ใช้ระบบอานาปานสติ ซึ่งมีอยู่ ๑๖ ขั้นด้วยกัน
ญาติโยมทั้งหลายจะมีโอกาสฟังอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ขั้นที่หนึ่ง ลมหายใจเข้ายาวออกยาว การฝึกอานาปานสตินี้ ถ้าเรามีเวลาน้อย ฝึกแบบลัด ฝึกแบบง่ายๆ ฝึกแบบสรุป ใช้อานาปานสติขั้นที่ ๑ ขั้นเดียวก็เพียงพอ
คืนนี้เป็นคืนแรก ก็ลองเริ่มปฏิบัติ ถ้านั่งเรียบร้อยแล้วก็สูดลมหายใจเข้าไป ด้วยการบังคับสูดเข้าไปๆ ๆ จนกระทั่งลมเต็มปอด เต็มปอดตามธรรมชาติก็หายใจออก บังคับให้ลมออกหมดจากปอด ประคองอย่างนี้ก่อน ต่อไปเวลาปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เป็นการบังคับ ใช้จิตเกาะติดอยู่กับลม มีเทคนิคอยู่ว่าพอหายใจเข้า จิตก็จับลมให้ได้ ทำความรู้สึกว่าลมเข้าไปอยู่ในจมูก แล้วเดินทางมาจบ มาหยุดที่ท้อง หยุดที่สะดือ หายใจออก จิตจะเคลื่อนออกจากท้องมาที่ปลายจมูก ส่วนอวัยวะภายใน ไม่สนใจ จริงๆ ลมหายใจเข้าไปที่ปอด ไม่ได้มาที่ท้อง โดยธรรมชาติหลักการฝึกจิตสามารถทำความรู้สึกได้ ทำความรู้สึกว่าเหมือนกับว่า ลมเข้าไปในจมูก แล้วเดินทางมาที่ท้อง ให้จิตเกาะติดอยู่กับลม ให้จิตอยู่กับลมอย่างเดียว หายใจเข้า แล้วจิตก็เกาะตามมา
ทีนี้ถ้าแรกๆ ฝึกหัดก็ใช้บริกรรมๆ คำบริกรรมก็มีหลายๆ แบบ ลมหายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธ หายใจเข้าว่าสัมมาอรหัง มันมีหลายแบบ ที่สวนโมกข์ไม่ใช้คำอย่างนั้น ท่านอาจารย์แนะนำว่า ขณะนี้กำลังติดตามลมอยู่ จิตเกาะติดกับลม แล้วก็ไปกับลม ติดตามลมอยู่ ที่เรียกว่าวิ่งตาม แล้วก็เตือนจิตว่าหายใจเข้ายาวหนอ หายใจเข้ายาวหนอ คอยเตือนเรื่อยๆเหมือนอย่างว่า เราขึ้นขั้นบันไดทีละขั้นๆ เพื่อว่าจะไม่ลื่น จะไม่หกล้ม จะไม่จบ ค่อยๆเตือนมันไปเรื่อยๆ หายใจออกก็เช่นเดียวกัน เอาล่ะ คืนนี้ก็เรียกว่าสมควร เราก็ลองฝึกดูสัก ๕ นาที ๑๐ นาที วันพรุ่งนี้ก็จะมีเวลามากหน่อย ตั้งใจปฏิบัติกัน