แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[04:00] วันนี้เป็นวันเสาร์ วันที่ 3 ของการร่วมกัน วันที่ 2 ก่อนการปฏิบัติกันเต็มวัน ก็เป็นโอกาสที่ดี เมื่อวานก็พูดถึงเรื่องการตั้งสติ แล้วก็การพิจารณาอริยสัจ ซึ่งเป็นในแง่หนึ่ง ก็เป็นแก่นของการปฏิบัติ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ สนใจในการฝึกหัดภาวนา พัฒนาจิตของเรา เราต้องเป็นผู้มีสติ และต้องเป็นผู้มีความน้อมระลึกถึงสัจธรรม หรืออริยสัจ 4 ประการ ที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้
แต่จะได้เข้าใจในอริยสัจ จิตของเราก็จำเป็นที่จะต้องสงบพอสมควร จะว่าสงบนิ่งไม่กระดุกกระดิกก็ไม่ใช่ แต่ว่า ต้องสงบและสว่าง เบิกบานพอสมควร ที่จะได้เข้าใจในเป้าหมายของพระพุทธองค์ ในวิธีภาวนา ทั้งหมดมันก็หลายวิธี อย่างอานาปานสติก็ดี หรือแม้แต่การทำวัตรสวดมนต์ก็ดี ก็เป็นวิธีที่ทำให้จิตใจสงบได้ สวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ถ้าเราให้จิตอยู่กับการกระทำ ก็เป็นการฝึกจิตใจของเรา เป็นการภาวนา หรือจะยกประเด็นของอสุภกรรมฐานก็ดี แผ่เมตตา เจริญพรหมวิหาร 4 หรือจะเฉพาะเจริญเมตตา ก็เป็นกรรมฐานที่มีไว้แต่สมัยพุทธกาล ล้วนแต่อาศัยอย่างหนึ่ง ก็คืออาศัยจิตใจที่สงบ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นวิธีหรือเป็นอุบายที่ช่วยให้จิตใจสงบ มันก็อิงอาศัยกัน
[07:22] แต่อย่างหนึ่งที่เราต้องให้ความสนใจ เราต้องสนใจในสิ่งที่ขัดขวางต่อความสงบนั้น และเราต้องยอมรับว่า เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเรา เช่น ที่พระพุทธเจ้าท่านพูดถึง นิวรณ์ นิวรณ์คือสิ่งที่กีดกันคุณงามความดีของเรา หรือที่ทำให้สติน้อยลง และขัดขวางต่อปัญญาไม่ให้เกิดขึ้น ก็เป็นอุปสรรคจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคเฉพาะเวลาเรานั่งสมาธิ เราเดินจงกรมภาวนาอยู่ ก็เป็นอุปสรรค เมื่อไหร่มีอารมณ์นั้นขึ้นมา เพราะมันเป็นเครื่องเศร้าหมองในจิตใจ พระพุทธเจ้าระบุถึง 5 อย่าง
ถ้ามันเป็นความโลเลสงสัยที่ทำให้จิตไม่ค่อยมั่นคง และไม่รู้จะเอาทางไหนทิศไหน วิธีปฏิบัติอย่างไร วิธีฝึกตัวเองอย่างไร อยู่ที่ครูบาอาจารย์องค์ไหน อยู่ที่สถานที่ไหน และมันก็ทำอะไรไม่ค่อยได้เลย ความสงสัยมันขัดขวาง การที่ตั้งประเด็นสังเกตเพื่อเข้าใจให้ชัดเจน บางทีมันก็ต้องอาศัยความสงสัยไว้ก่อน เช่นเดียวกัน คือ ใช้เป็นเพื่อประโยชน์ได้ และยิ่งโดยเฉพาะ ไม่ควรจะสงสัยในบางอย่าง ..เอ๊ะ..พระพุทธเจ้าว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เอ..มันจริงรึเปล่า เออ.. มันก็น่าสงสัย เพราะมันจะช่วยให้เรา พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอย่างละเอียดและจะเป็นกำลังที่ทำให้เราฉลาดมากขึ้น หรือพระพุทธเจ้าว่า อริยสัจ 4 เป็นสิ่งที่ไม่ดี ..ยังไงหนอ.. อ้าว..เราก็ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วค่อยๆสังเกต ค่อยใช้มันเป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหลักธรรมที่แท้จริง อย่างนี้มันก็ช่วยเปิดทางให้ แต่ วิจิกิจฉา เป็นสิ่งขัดขวางต่อคุณงามความดีของเรา ไปทำให้มีความเศร้าหมอง ทำให้มีความทุกข์อยู่
[12:27] แต่ในแง่หนึ่ง อย่างนิวรณ์ทั้ง 5 อย่าง มันก็อย่างที่อาตมาได้เคยพูดอยู่ว่า กิเลสมันชอบหาเหตุผล อันนี้ก็เช่นเดียวกัน นิวรณ์มันก็มีเหตุผลเหมือนกันว่า ถ้าหากว่า เราได้เอาอย่างนี้มันน่าจะทำให้ความทุกข์น้อยลง ถ้าได้สนองอารมณ์อย่างนี้ ถ้าได้อย่างนั้นสักอย่าง ก็น่าจะสบายกันสักทีล่ะ มันอยากจะได้ตามอารมณ์ความชอบใจของตัวเอง เพลิดเพลินในกามคุณ จะได้ตามที่ชอบใจ แล้วมันจะช่วยทำให้ ความทุกข์น้อยลง แต่ว่า แท้ที่จริง มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น หรือเรียกว่า สนองอารมณ์ของความไม่พอใจ ยังไงก็ต้องจัดการว่าเขาให้ได้ มันก็จะพอใจ ได้ระบายอารมณ์เสียที มันก็ยิ่งไปกันใหญ่
ความง่วงนอน บางทีง่วงแล้วนั่งสมาธิง่วงนอน สบายไม่ต้องคิดอะไรแต่จิตมันห่างจากความเบิกบาน ห่างไกลลิบเลย ไม่ค่อยได้ช่วย นิวรณ์ก็มีเหตุผลเพื่อออกจากความทุกข์ แต่ว่ามันเป็นเหตุผลของกิเลส มันเป็นเหตุผลของผู้ที่ปัญญายังไม่เจริญเติบโตอยู่ เราผู้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธองค์ ต้องเป็นผู้ที่พยายามแสวงหาเหตุผลที่เข้าข้างหลักของความเป็นจริง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันช่วยทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง อันนี้เป็นเหตุ
อย่างเวลาพระพุทธเจ้าทรงยกการเปรียบเทียบเกี่ยวกับนิวรณ์ ท่านก็มีวิธีเปรียบเทียบหลายอย่าง ที่แท้จริงก็น่าสนใจ เช่น ได้อย่างหนึ่ง ท่านเปรียบเทียบกับน้ำ เช่นเวลาถ้าหากว่า เอาสีไปใส่ในน้ำเหมือนกับเวลาเอาการเพลิดเพลินในกาม หรือความพอใจในกาม เหมือนกับเวลาเอาสีเข้าไปในน้ำ สีก็จะเปลี่ยน ดั้งเดิมน้ำมันก็นิ่ง มันแจ่มใสดี แต่ว่าพอมีสีเข้าไป มันก็เริ่มมืด เริ่มเปลี่ยน เปลี่ยนสภาพ ที่ทำให้มองไม่เห็น มันไม่เคลียร์ จิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน เพราะมีอารมณ์ของความเพลิดเพลิน หรือความพอใจในกามารมณ์ สภาพจิตใจ เปลี่ยนจากการสว่าง มันก็เริ่มมืดๆ เริ่มหมดความแจ่มใส และเช่นเดียวกันกับทั้งหมดเลย อย่างพระพุทธเจ้าเปรียบเทียบน้ำ อารมณ์ประกอบด้วยโทสะ ความไม่พอใจ เหมือนกับน้ำเดือด ธรรมชาติของน้ำ มันนิ่ง มันเย็น มันปลอดโปร่งดี แต่พอทำให้เดือด มันก็ไม่ค่อยชัดเจนแล้ว มันไม่นิ่งแล้ว
หรือถีนะมิทธะครอบงำ ก็เหมือนกับมีสาหร่ายน้ำ มันครอบงำทำให้ไม่ค่อยชัด มันต้องแหวกออก มันถึงจะเห็นน้ำ เหมือนกับเราต้องแหวกส่วนที่เป็นถีนะมิทธะออกจากจิตใจของเรา จึงจะได้ค่อยเบิกบานและชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วก็ส่วนที่เป็นน้ำ คือเวลาฟุ้งซ่าน เหมือนกับมีลมพัด ทำให้หมดความนิ่ง ทำให้มันขุ่นๆ ขึ้นมา น้ำมันไม่นิ่งแล้ว ลมมันพัด ที่มันโลเลสงสัยมันก็เหมือนน้ำที่เอาดินเข้าไป แล้วก็ผสมดินเอาไว้ มันก็จะขุ่นๆ แล้วก็เอาไปวางไว้ในตู้ที่มันมิดชิด มันมองเห็นความชัดเจนไม่ได้เลย มันเป็นแง่ที่เปรียบเทียบกับน้ำ
แต่ว่าธรรมชาติของน้ำ มันแจ่มใสดี มันใสสะอาดดีมันนิ่งๆ อยู่ดี แต่มันถูกอะไรจากภายนอกมาครอบงำ เช่นเดียวกันกับจิตใจของเรา เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้บอก สภาพของจิต คือเป็นประภัสสร มันสว่าง มันเบิกบาน เหมือนกับมีแสง radiant all around (รัศมีโดยรอบ) แต่มันก็มีอุปกิเลสมาครอบงำ มันสัญจรเข้ามาเป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่เป็นของที่อยู่ประจำ ไม่ใช่ของที่เป็นของดั้งเดิม แต่เป็นอาคันตุกะ อารมณ์เป็นอาคันตุกะ เป็นแขกที่มาเยี่ยมจิตใจของเรา แล้วเราก็อุตส่าห์ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับมันอยู่เรื่อย มันก็เลยมาอยู่กับเรา ปัญหาเหมือนกับหลวงพ่อชาท่านเคยว่า การภาวนาก็ไม่ยากนะ เหมือนกับถ้าเราอยู่ในห้องสักห้อง แล้วก็มีเก้าอี้ตัวเดียว ก็ให้นั่งเก้าอี้นั้น คนอื่นเข้ามา เราก็ไม่ลุก เดี๋ยวเขาเห็นว่าเขาไม่มีที่นั่ง เขาก็ออกไป นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่กับจิตของเรา อยู่กับจิตด้วยสติ ด้วยปัญญา ความนิ่งมันก็ค่อยปรากฏ ความสว่าง ความเบิกบานก็ค่อยปรากฏ ความสงบก็ค่อย ปรากฏ เราพร้อมสงบเป็นพื้นฐาน ที่จะได้คุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิตที่สงบ พระพุทธเจ้าเรียก กัมมนีโย คือจิตพร้อมที่จะทำงาน
[22:08] การทำงานของความสงบ คือ การพิจารณาตามหลักความเป็นจริง ก็ต้องอาศัยจิตที่สงบเอาไว้ก่อน อย่างน้อยในระดับหนึ่ง จะรอให้สงบที่สุดก็รอไปเถอะ คือเพราะว่าความอยากของเรา มันวาดภาพว่า แหม.. สงบอย่างนี้ มันน่าเอา แต่ว่าสงบเท่าไร เราก็พิจารณา เพราะว่ามันช่วยหนุนกัน มีความสงบแล้วเราก็ได้พิจารณา พิจารณาแล้วความสงบก็ยิ่งขึ้น คือถ้าอยู่ในเกณฑ์ คือมีธรรมะที่ตั้งมั่นอยู่ ส่วนการพิจารณา คือไม่ออกไปในทางฟุ้งซ่าน พิจารณาด้วยหลักธรรมที่เราเรียกว่า โยนิโสมนสิการ พิจารณาด้วยหลักธรรม มันก็ช่วยให้จิตใจสงบเยือกเย็น เมื่อสงบเยือกเย็นยิ่งสามารถที่จะพิจารณา มันเกื้อหนุนกัน มันอิงอาศัยกัน ในการทำให้จิตใจสงบมันก็เป็นการกลับมาสู่พื้นฐานของจิตที่มีอยู่ ที่มันสว่าง มันเบิกบานอยู่
เรายินดีในการละอกุศลธรรมที่ครอบงำจิต เพราะว่านิวรณ์เป็นอกุศลธรรม เป็นกามฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ ทั้งหมด อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอกุศลธรรมในตัว ไม่มีวันไหนที่ความโกรธจะเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีวันไหนที่ความฟุ้งซ่านจะเป็นสิ่งที่ดี มันก็เป็นนิวรณ์ มันเป็นอกุศลธรรมอยู่ในตัว เราต้องฉลาดในการแก้ไข เราต้องรู้จักหาอุบายทำให้จิตอยู่ คือ อาศัยกำลังของสติ เราก็อาศัยกำลังของการคอยพิจารณาว่า จะหาอุบายแบบไหนดีที่ได้อาศัยกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล จะคล้ายออกจากกามอารมณ์ การเพลิดเพลินในกาม ก็พิจารณาเรื่องร่างกาย พิจารณาอสุภกรรมฐาน มันไม่สวยไม่งาม มันเป็นของที่ไม่ค่อยเป็นแก่นสารของชีวิตเราเท่าไหร่ และเราก็ต้องอาศัยร่างกายก็จริงอยู่ แต่ว่ามันก็มีความ บกพร่องอยู่ในตัวมันอยู่แล้ว คือ ถ้ามันดีจริงๆ สะอาดสะอ้านจริงๆ ไม่ต้องอาบน้ำ มันอยู่ได้กี่วัน ถ้าไม่อาบน้ำ หรือไม่แปรงฟัน มันอยู่ไม่ได้ มันขยะแขยงจริงๆ ที่อยู่ได้น่ะ เพราะเราคอยดูแลอยู่ มันมีความบกพร่องในตัวของมันเป็นธรรมชาติ แต่เราไม่หลงกับมันก็แค่นั้น ไม่ต้องไปเกลียดมันหรอก ยังไงก็ต้องให้เป็นเพื่อนของร่างกายไว้ก่อน เพราะเราต้องอาศัยมันทะนุถนอมรักษา
เหมือนกับอาตมาไปกายภาพบำบัดตอนบ่าย ยังไง ก็ต้องพยายามทะนุถนอมให้มันอยู่ได้ หรือแม้แต่นั่งเก้าอี้ เมื่อสมัยก่อนไม่ยอมนั่งเก้าอี้หรอก แต่เดี๋ยวนี้ต้องยอมแล้ว เพราะเราต้องอยู่กับสังขาร ต้องอยู่กับร่างกาย และเรารู้ว่ามันมีขอบเขต มันไม่สามารถที่จะให้ความสุขสบายความพอใจได้ การที่พิจารณาเรื่องร่างกาย บางทีก็พิจารณาในธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ มันเป็นสักแต่ว่า ธาตุตามธรรมชาติ เรายอมรับนะ ธรรมชาติก็เป็นอย่างนี้ เราจะต้องดูแลไป เพื่อธรรมชาติจะได้อยู่ไปนานๆ เหมือนกับเรามีต้นไม้ เราก็รดน้ำเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ว่าปลูกต้นไม้แล้วทิ้งเอาไว้ ไม่รดน้ำ ธรรมชาติมันต้องการน้ำ เราก็อาศัยธาตุตามธรรมชาติ ก็คอยดูแลกันไป แต่ว่าไม่หลง ไม่ปรนเปรอ
ความโกรธก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาในเมตตา ซึ่งเป็นอุบายที่เรียกว่า ใช้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้เจริญเมตตาภาวนามากๆ เพื่อไม่ให้จิตใจเศร้าหมองด้วยความไม่พอใจ ความไม่ชอบใจ ความโกรธ แต่บางครั้ง เมตตามันไม่ออกเลยก็มี มันก็เป็นปกติ จิตใจของเรา บางทีก็ไม่อยากยอม อันนี้เป็นเหตุที่ยังไงเราก็ต้องยอมรับ ตามพระพุทธเจ้าเห็นว่า เรื่องอารมณ์ของความโกรธสร้างความไม่พอใจ ความไม่ชอบใจ มันมีโทษ แล้วโทษไม่ใช่น้อยนะ พระพุทธเจ้าบอกโทษมาก เพราะมันจะพาเราไปในทิศทางที่ไม่ดี ในแง่หนึ่งคือถ้าเมตตาไม่ขึ้น อย่างหนึ่งเราก็ต้อง สำหรับอาตมาเอง บางครั้งก็เน้นอยู่ที่การพิจารณาในการ ..เอ๊ะ..เรายึดอะไรไว้เป็นทิฐิความเห็น
เหมือนกับอาตมาพูดเมื่อวาน ติดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในททิฐิความเห็น ตราบใดที่เรายึดมั่นถือมั่นในทิฐิ ว่าเราถูกเขาผิด เราดีเขาไม่ดี อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นเหตุให้ขัดแย้ง ในเมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ไม่มีทางที่จะได้มีความสุขปลอดโปร่งเลย เราก็ต้องยอมสละทิฐิของเรา และเราต้องคอยดูว่า เรากำลังยึดไว้ในความเห็นอะไรบ้าง เราต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แล้วถ้าเราละมันจะดีไหม มันจะปลอดโปร่งไหม อาตมาว่าน่าจะปลอดโปร่งดี เป็นแง่หนึ่ง สำหรับการแก้ไขอารมณ์ของความที่เป็นนิวรณ์ ขัดขวางต่อคุณงามความดีของเรา
[31:22] ความสงบก็เช่นเดียวกันต้องหาอุบาย อันนี้อุบายเยอะแยะ แม้แต่สมัยพุทธกาล อุบายที่พระพุทธเจ้าให้สำหรับการแก้ไข ทวนกระแสของความง่วงเหงาหาวนอนมากเหลือเกิน แต่อย่างว่า เช่น อยู่ในอิริยาบถไหนก็ให้ได้ตั้งสติไว้ในอิริยาบถนั้นให้ชัดเจน ว่าเรากำลังนั่งอยู่ ก็ให้ทบทวนความรู้สึกในการนั่งให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ทำให้เหมือนกับปลุกเร้าสติให้เกิดขึ้นมาอีกทีหนึ่ง เพราะว่าบางครั้งเวลามันง่วงนอน ตอนง่วงก็ง่วง มันเหมือนจิตมันฝ้าฟาง เบลอๆ อยู่ เมื่อเป็นอย่างนั้น บางทีลืมว่าเรากำลังทำอะไร เลยต้องเอากลับมาที่การนั่ง ความรู้สึกในการนั่ง ทำให้มีกำลังในการนั่งได้อย่างไร หรือจะเดินจะยืนก็แล้วแต่ กลับมาที่การตั้งหลัก เหมือนกับปลุกเร้าสติใหม่ขึ้นมา หรือทบทวนข้อธรรมะ
คือเราอาศัย อย่างที่อาตมาพูดอยู่ คือ วิตก ยกประเด็นขึ้นมาสู่จิตใจที่จะคิด แต่ให้มันเป็นเรื่องของธรรมะ ให้วิตกขึ้นมา ให้ยกขึ้นมาคิดทบทวนธรรมะ ข้อใดข้อหนึ่งที่น่าสนใจ หรือที่กำลังพิจารณาอยู่ ยกให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น ยกขึ้นมาคิด ยกขึ้นมาพิจารณา ยกมาทบทวน ในแง่หนึ่งคือให้จิตทำงาน ให้มีงานทำ เพราะว่าบางทีมันเป็นอย่างนั้น เหมือนกับงานไม่พอ เลยเบื่อ เลยง่วงไว้ก่อน ต้องให้มีงานทำ เช่น กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น ให้มีงานทำ เราตามความรู้สึกเข้าไปในร่างกาย อย่างบางทีเราจดจ่ออยู่ที่ปลายจมูกบางทีมันน้อยเกินไป ในจิตมันก็คอย มันจดจ่อ จนลอยหายไปเลย แต่เราก็ถอยสักนิดนึง ดูลมหายใจเข้า เราตามความรู้สึกจากปลายจมูกเข้าไปสู่ร่างกายของเรา ลงไปถึงหน้าอก ไปถึงหน้าท้อง จากหน้าท้อง ออกไปทางปลายจมูก คือ ให้มีงานทำที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่องานทำมีมากขึ้น เราก็จะมีสติอยู่ในตัว จะมีกำลังของจิตขึ้นมาในตัว ก็เป็นธรรมชาติของจิต ต้องให้มีงานทำ มนุษย์จำเป็นต้องมีงานทำ จนถึงวันตาย แต่ว่างานของผู้ปฏิบัติเป็นงานละเอียด เป็นงานดูแลจิตใจของเจ้าของ
ความฟุ้งซ่าน คือ เราต้องอย่างนี้ ไม่ต้องดูอะไรมาก เพราะมันฟุ้งซ่านอยู่แล้ว เรากำหนดในสิ่งที่สบาย ความรู้สึกของลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือความรู้สึกของร่างกายที่รู้สึกสบายๆ หรือที่ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง กำหนดในสิ่งที่.. อันนี้เป็นงานที่เราต้องเหมือนกับกลับด้าน จิตฟุ้งซ่านก็ต้องหาอะไรที่สบายๆ ได้ยกประเด็นขึ้นมาเพื่อเป็นที่กำหนด จิตจะได้อ่อนลง สบายขึ้น
ความโลเลสงสัย คือพูดตามความเป็นจริงพระพุทธเจ้าไม่ค่อยให้อะไรมากมาย คือท่านบอก คือการพิจารณา การทบทวนข้อธรรม คือท่านมั่นใจในหลักคำสอนของท่าน รอบคอบ ถี่ถ้วน แล้วถ้าหากว่าได้ทบทวนคำสอนก็จะหายสงสัยอยู่ แต่ว่าบางครั้งเวลาเราอยู่ในอำนาจของความสงสัย มันสงสัยไปหมดทุกอย่าง ในวิธีหนึ่ง ที่อาตมาเองอาศัยเพื่อแก้ไขความสงสัย คือ แทนที่จะคิดหาคำตอบของความสงสัยนั้น เราทิ้งไว้ก่อน แล้วกำหนดที่ความรู้สึกของร่างกายให้สติอยู่ในร่างกาย ถ้าสติมากขึ้น สัมปชัญญะความชัดเจนในจิตใจมากขึ้น ความสงสัยจะหายไปโดยปริยาย มันธรรมดา
แต่อันนี้การสร้างการต่อเนื่องของสติ บางทีต้องอาศัยร่างกาย ความรู้สึกในร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความสัมผัสของร่างกาย มันก็เป็นของที่เรียกว่า มันเป็นสิ่ง เป็นอัน เป็นพิมพ์ เป็นของที่เป็นรูปธรรม พอที่จะจับได้ รู้สึกได้ ก็ให้กำหนดอยู่ที่นั่น มันก็จะช่วยให้มีการประคับประคองสติให้อยู่อย่างนี้ มันก็เป็นประโยชน์ ในการฝึกจิตของเรา ก่อนที่จะสงบ คือไม่ว่าเป็นใคร เป็นฆราวาสก็ดี เป็นนักบวชก็ดี เป็นผู้ปฏิบัติใหม่ก็ดี เป็นผู้ปฏิบัติเก่าก็ดี จิตใจจะสงบ ต้องผ่านนิวรณ์ให้ได้ คือ ต้องฉลาดในการแก้ไขนิวรณ์ ไม่ให้นิวรณ์ครอบงำ
[39:15] เป็นแง่ที่ธรรมชาติของจิต สิ่งที่เป็นอุปสรรคก็มี แต่ก็เหมือนกับที่หลวงพ่อชาท่านพูด เช่น จะดับไฟ มันก็ต้องเอาน้ำไปเทที่ไฟ จะไปเทที่อื่นก็ไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา อยากได้ความสว่างในความมืดเราก็ต้องเปิดสวิตซ์ เปิดไฟ มันแก้ไขตรงที่ปัญหามีมันก็ชัดเจนพอสมควร เราเลยต้องรู้จัก ปัญหาของจิตอยู่ที่นิวรณ์ เราก็ต้องแก้ที่นิวรณ์ ให้เกิดความเข้าใจ แต่ในเมื่อเราได้ทำ จิตก็จะยอมสงบ เบิกบาน เหมือนกับคืนแรกที่เราสวดอริยมรรค 8 คือเวลาสวดในโบสถ์เกี่ยวกับสัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าวางขั้นตอนของการพัฒนาจิต เพื่อปูพื้นฐานของสมาธิในจิต ภาษาบาลีว่า วิวิจเจวะ กาเมหิ วิวิจจะ อะกุสะเลหิ ธัมเมหิ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลทั้งหลาย
นี่เป็นการปูพื้นฐานซึ่งพระพุทธเจ้าระบุ คือ ให้จิตสงัดแล้วจากกาม จากอกุศลทั้งหลาย คือ นิวรณ์อีก 4 ประการ หรือจะมีอกุศลออกมาในประเภทไหน อาตมาว่า ยังไงนิวรณ์มันก็ครอบงำอยู่ เราได้สงัด ทำให้จิตใจสงัดจากสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อคุณงามความดีของเรา จิตก็จะค่อยสงบ แล้วให้เราสนใจว่า ในวันนี้ เราเดินจงกรมก็ดี นั่งสมาธิก็ดี แม้แต่จะทำอย่างอื่นก็ดี เคลื่อนไหวไปมา ให้ตามสังเกตดูจิตใจของเราว่าอารมณ์มันออกไปในทิศทางไหน เพราะว่า เราจะแก้ไข ก็ต้องแก้ไขตรงนั้น ก็ขอให้ทดลองดู และขออนุโมทนาทุกท่าน
คงพอสมควรแก่เวลา สำหรับเช้านี้