แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:34] วันนี้ได้พูดตอนเช้าเกี่ยวกับการ ตั้งสติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการ ภาวนา หรือการทำให้จิตใจให้สงบหรือการฝึกปฏิบัติด้านจิตใจ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเท่า ๆ กันหรือใกล้เคียงกัน คือ การยอมพิจารณาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือมีการพิจารณา มีการใคร่ครวญ มีการสังเกต มีการยกไปแดน จะเรียกว่า ยกไปแดนคิดขึ้นมาก็ว่าได้ แต่คิดโดยธรรมะ คิดโดยหลักธรรม
เรา ถ้าจะมีคำใคร่ครวญ หรือพิจารณาก็จำเป็นที่จะต้องมีหลักในการพิจารณา ไม่ใช่ว่าคิดเรื่อยเปื่อย แล้วก็เราปฏิบัติธรรม แต่ว่าคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา สิ่งที่เป็นหลัก ที่อาศัยมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่ท่านเริ่มต้นประกาศพระศาสนาก็คือ อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่าทิ้งไม่ได้ อย่างพระสารีบุตรก็ได้ยกเปรียบเทียบ ว่า อริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ยกเปรียบเทียบเหมือนกับเป็นรอยเท้าของช้างใหญ่ที่สุดในหมู่สัตว์ทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทุกชนิดสามารถที่จะอยู่ภายในรอยเท้าของช้างทุกรอย คำสอนทุกอย่างของพระพุทธเจ้าก็อยู่ในรอยของ หรือรอยเท้าของอริยสัจ 4
ก็เป็นที่น่าสนใจเพราะว่าไม่ได้ ไม่ได้ยากนักจนเกินไป ไม่ได้พิสดารจนเกินไป ตรงไปตรงมา ให้ดูในเรื่องของประสบการณ์ของตัวเอง มีอะไรเกิดขึ้น และตอนนี้มันเป็นส่วนที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ หรือการฝึกตัวของพระพุทธเจ้า เหมือนกับยกออกจากความเชื่อ หรือความมีปรัชญาหรือมีการคาดคะเนเรื่องอะไรต่างๆ ก็ให้ดูที่ว่าเรามีอะไรบ้าง เพราะโดยปกติ เวลาเราคิดในเรื่องอะไร ยิ่งโดยเฉพาะคิดในเรื่องของศาสนาหรือปรัชญา เราก็มักจะคิดในลักษณะ “ตัวตน” เรากับเขา เราเป็นยังไง เรามีส่วนสำคัญยังไง เรากับเขา หรือโลกภายนอก แต่มันก็เหมือนกับเรื่องของเรากับเขา หรือการที่ว่าจะได้เป็นหรือไม่เป็น คือมันมีอะไรที่ละเอียดลออ แต่มันก็เป็นเหมือนการวาดภาพในจินตนาการ เช่น พระเจ้าเป็นอย่างไร โลก สวรรค์เป็นอย่างไร สิ่งสูงสุดในปรัชญาเป็นอย่างไร มันก็เป็นการคาดคะเน เกี่ยวกับเป็นหรือไม่เป็น ถกเถียงอยู่ หรือกับความเป็นตัวเป็นตน ว่ามีเรากับเขา
แต่พระพุทธเจ้าให้หลีกเลี่ยงความคิดอย่างนั้น แล้วก็ดูในลักษณะว่า มีกระบวนการของเหตุและปัจจัย เหตุที่เกิดขึ้น และผลที่ปรากฏ ก็ให้ได้เป็นผู้สังเกตุในเรื่องนั้น แทนที่จะเป็นเรื่องของการคาดคะเน ดูในลักษณะ ว่ามีอะไรเกิดขึ้น อาศัยอะไรที่เป็นเหตุ มีผลปรากฏมันปรากฏในลักษณะไหน หรือคิดในลักษณะ กุศลกับอกุศล ออกไปในทาง เราดี เขาไม่ดี เราไม่ดี เขาดี มันก็คิดในลักษณะ อันไหนที่เป็นกุศล ก็มีความหมายที่มันอยู่ที่การ ก็กลับมาที่ประสพการณ์ ทำอะไรลงไปแล้วที่ว่าเป็นกุศลกับอกุศล ออกไปในทางนำความสุขมาให้หรือนำความทุกข์มาให้ นำความสงบมาให้หรือนำความวุ่นวายมาให้ นำความปลอดโปร่งมาให้หรือนำความวุ่นวายมาให้ หรือนำความฉลาดเข้ามาในชีวิตของเราแล้วทำให้เรามืดมนซะหน่อยน่ะ
[09:05] เพราะว่าลักษณะกุศล มันมีความหมายโดยอาการที่ปรากฏ อาจจะเป็นเรื่องการกระทำ ทั้งกาย วาจา ใจ แต่พระพุทธเจ้าให้เราสังเกตตรงนั้น แทนที่จะคิด ว่า เออ...อันนี้ดี ไม่ดีอันนี้ อันนี้ทุกข์ ความเชื่อจะเป็นในศาสนาก็ดี เรื่องการเมืองก็ดี ถกเถียงกันในเรื่องอะไรบ้าง มันมักจะเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีทางจบ เหมือนกับสมัยก่อนมีคนถามหลวงพ่อชาว่า ทำไมไม่เห็นพูดถึงการเมืองซักที ไม่เห็นพูดถึงเรื่องของสังคม พูดถึงเรื่องธรรมะ เหมือนกับดูถูก หลวงพ่อชาจึงตอบว่า เราไม่อยากพูดในสิ่งที่ไม่มีทางจบ ถ้าหากว่าแต่ในธรรมะ ก็หาที่จบได้ หาที่สิ้นสุดได้ หาสิ่งที่จะช่วยให้เราหมดความทุกข์ เลยพระพุทธเจ้าให้เรากลับมาอาศัย อริยสัจ 4 นี้ อริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่คือมีอยู่ในฝ่ายเถรวาท มันก็มีอยู่ใน จะเป็นมหายานก็ดี เป็นวัชรยานก็ดี หรือจะเป็นลัทธิไหนในเถรวาท มันไม่มีใครทิ้งอริยสัจ 4 หรือถ้าทิ้งมันก็แหวกแนวหน่อย
อย่างครั้งนึง อาตมาได้พาพระเณรจากวัดอภัยคีรี ขึ้นไปที่สำนักปฏิบัติธรรมที่หนึ่งของชาวทิเบต อยู่ทางเหนือขึ้นไปจากวัดเราก็เกือบสองชั่วโมง เราได้ข่าวว่ามีอาจารย์ใหญ่ คือเป็นพระทิเบตมาจากเนปาล มาพร้อมกับองค์ดาไลลามะ ท่านรับกิจนิมนต์ กิจนิมนต์เสร็จท่านได้ไปให้กำลังใจกับสถานที่ต่างๆ แล้วก็องค์นี้เป็น เป็นครูเป็นอาจารย์ขององค์ดาไลลามะ เกี่ยวกับภาวนากับนั่งสมาธิ เป็นพระที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วทุกลัทธิในสายทิเบต เราไปกราบท่าน ท่านเองก็เป็นพระพิเศษจริงๆ และเข้าใกล้ก็รู้สึกล่ะว่าองค์นี้ล่ะพิเศษ เย็น ปลอดโปร่ง พระองค์นี้เคยอยู่ในลักษณะนั้น แล้วเราก็ได้อยู่ฟังธรรมของท่าน
จากสิ่งหนึ่งที่ท่านสอน เพราะว่าท่านเห็นว่า พวกชาวอเมริกันที่มาโกนหัวหาหลักธรรมบางทีก็ยากที่จะได้แก่นจริงๆ ถ้าหากว่าเราได้ไปศึกษาที่ไหน หรือศึกษากับผู้สอนคนไหน ถ้าหากว่าคำสอนนั้นไม่ตั้งบนพื้นฐานของอริยสัจ 4 ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านพูดอย่างเด็ดขาด และเป็นแง่ที่น่าสนใจ เพราะแม้แต่ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายเถรวาท เราหรือแม้แต่สายวัดป่าเราที่เห็นความสำคัญ ลัทธิไหน สายไหนที่มุ่งความสงบ มุ่งแกนของคำสอนของสมเด็จพระพุทธเจ้า ก็กลับมาตั้งอยู่บนหลักของอริยสัจ 4 และเราทุกคนที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องพยายามทำให้ตัวเราเองได้ยกประเด็นอริยสัจ 4 ขึ้นมาพิจารณาเวลาเราภาวนา เวลาเราปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักที่มั่นคงสำหรับเรา
[14:50] การสังเกตดูว่า คือความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอน คือทุกข์ ทุกข์มีเหตุ ไม่ใช่ว่าเพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ มันก็จะว่าจริงก็ไม่จริงเท่าไหร่ เพราะว่ามันเต็มไปด้วยความทุกข์เมื่อเราไม่ฉลาดในการจัดการกับความทุกข์ หรือไม่ฉลาดในการสังเกตว่า ทุกข์ คืออะไร ทุกข์มีลักษณะแบบไหน และจะแก้หรือกั้นได้อย่างไร เป็นแง่ที่บางคนก็ว่าพระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องทุกข์ มันไม่น่าสนใจ แต่ว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เป็น ไม่อยากได้รับเลย แต่ในเมื่อเราสัมผัสอยู่ เพราะว่ายังไงมันก็ต้อง อย่างที่พระพุทธเจ้าได้จำแนกแจกแจงอยู่ว่า ความทุกข์มีลักษณะแบบไหน อาจารย์ท่านก็พูดถึงการ โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ก็เป็นทุกข์ คือความโศกเศร้าในลักษณะต่างๆ คือ ทางความรู้สึกด้านจิตใจ
แต่ว่าการได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ ซึ่งเราจะมีชีวิตอยู่และเจอแต่สิ่งที่ถูกใจชอบใจมันเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องมีการสัมผัสที่ไม่รักไม่ชอบใจ หรือเราได้พลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจ มันก็ต้องมีทุกคน อันนี้ยังไงก็ตาม ถ้ามีชีวิตอยู่ อันนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น อาจจะไม่วันนี้ อาจจะไม่พรุ่งนี้ วันใดวันหนึ่งมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติเขาเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ต้องรู้จักเตรียม เตรียมตัวไว้ก่อน เพื่อไม่ให้จิตหวั่นไหวหรือตกใจเพราะไปสัมผัสสิ่งที่ไม่ถูกใจ หรือปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ นั่นแหล่ะ ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่นั่งอยู่ในศาลานี้ ทุกคนที่อยู่ในโลกนี้ ถ้าได้ปรารถนาอะไรสักอย่างแล้วไม่ได้ตามที่ปรารถนา จะเป็นการปรารถนาในสิ่งที่สำคัญๆ มีสาระจริงๆ ก็อย่างนึง ปรารถนาสิ่งใดที่เป็นสิ่งไร้สาระ แต่มันก็ไม่ได้ตาม มันไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดหรือหยาบคาย หรือเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี ความปรารถนาก็ไม่ได้ตามที่ปรารถนาทุกครั้งทุกเวลามันต้องพลาด
ในที่สุดก็สรุป ใน ขันธ์ 5 ที่เป็นอุปทาน เป็นทุกข์ แต่นี่มันเป็นเมื่อมี คือ อุปทานก็แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น หรือหลง หลงยึดในขันธ์ 5 คือ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง 5 อย่างนี้ ก็เป็นส่วนประกอบของกายกับใจเรา ยังไงก็ต้อง เมื่อเราจะมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมี กาย กับ ใจ แต่จะมีชีวิตที่ประกอบด้วย อุปทาน มีตัณหา อุปทาน ประกอบด้วย หรือเรายินดีในการละ อันนี้เป็นความแตกต่างกับผู้มีปัญญา กับผู้มีปัญญาที่ยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร อุปาทานเป็นการยึดมั่นถือมั่น คือยึดไว้โดยไม่ยอมปล่อย คือบางอย่างไม่ใช่ว่าไปยึดซะเลย อย่างที่อยู่ด้วยการปล่อยวาง เหมือนกับปล่อยวางงอมืองอตีนไม่ทำอะไรอย่างนี้ไม่ใช่ เราต้องรู้จัก เช่น เราจะดื่มน้ำก็ต้องหยุดแก้วไว้ก่อนแล้วดื่ม คือถ้าเรายึดมั่นถือมั่นก็ไม่ยอมปล่อย เดี๋ยวมันลำบากนะ เหลือแค่มือเดียวที่จะทำอะไร แต่ว่าเราดื่มน้ำทำหน้าที่แล้วเราก็วางไว้ก็จบหมดเรื่องไป
นี่ก็เช่นเดียวกัน เรายึด กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขึ้นมารู้เรื่องให้ดี รู้รอบคอบ รู้ด้วยความชัดเจน เวลาใดเรียนรู้ในทางที่จะเกื้อกูล ปลดเปลื้องออกจากความทุกข์ได้ หรือสร้างเหตุเพื่อเกิดความสุขที่ถูกต้องได้ เราก็ปล่อยได้ ไม่ยึดเอาไว้ นี่เป็นเหตุที่หลวงพ่อชาว่า เราจำเป็นต้องยึด แต่อย่าให้มั่น ยึดไว้เพื่อใช้เป็นประโยชน์ ยึดไว้เพื่อรู้ให้รอบคอบ แต่อย่าไปยึดมั่น มันก็เป็นการกระทำที่ต้องฝึก ฝึกแล้วฝึกอีกเพราะว่า หัดในการปล่อย หรือหัดในการไม่ยึดมั่นถือไว้ หรือเป็นเหตุในบางที่ บางทีรู้ดีไว้ก่อนว่า อุปาทาน มีลักษณะแบบไหน
[22:55] พระพุทธเจ้าได้ระบุถึง อุปาทาน 4 ประการ 4 ลักษณะ อันแรกก็ กามุปาทาน มีการยึดมั่นถือมั่นในกาม กามคุณ อย่างที่อาตมาพูด ในช่วงที่คำถามคำตอบรึเปล่านะ ที่ว่า กาม ภาษาไทยก็อย่างหนึ่ง กาม ในภาษาบาลี ก็อีกอย่างนึง ภาษาบาลีมันกว้างขวาง การอุปทานมันยึดในการตอบสนองอารมณ์ของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพลิดเพลินใน อายตนะ ที่ได้เกิด รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็เป็นการยึดไว้ ยึดไว้เพื่ออะไร เพื่อเพิ่มความสุข ลดความทุกข์ แต่ว่าเมื่อมีความหลงอยู่มายึดไว้ในทางที่ยังมีโทษแอบแฝงอยู่ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา
ใครๆ ก็อยากจะได้มีความสุข อยากมีความสบาย อยากได้เวทนาที่รู้สึกว่าผ่อนคลายช่วยให้ชื่นใจหน่อย แต่ว่าเมื่อมันออกนอกขอบเขตของความพอดี มันก็สร้างความวุ่นวาย ไม่ต้องคิดไกล ไม่ต้องคิดยากหรอก แต่ว่าเรารับประทานอาหารเห็นของอร่อย แหม มันก็น่าชื่นใจ ได้รับประทาน รับแล้วได้ลิ้มรสอร่อย ก็ชอบใจ แต่ว่าอย่างเดิม ไปทานมากเกินไปมันก็อึดอัด หรือว่าทานไม่มากมันก็เหมือนกับเราได้น้อยไป ด้วยสาเหตุเลยมาคิดถึงแต่เรื่องนั้น เมื่อไหร่จะได้อีก ทีนี้จิตมันก็ไม่สงบ มันเพลิดเพลินในกามคุณ มันเพลิดเพลินในรส
แต่นี้ก็เช่นเดียวกัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหมด สิ่งที่เราสัมผัสด้วยอายตนะ มันเป็นสื่อ แต่เราต้องรู้จักใช้อยู่ เพราะยังไงก็ตามมีชีวิตที่บริบูรณ์ที่สมบูรณ์ก็ต้องมีอยู่ เราทำสัมผัสอยู่เสวยอยู่ด้วยไม่เกินขอบเขต ที่จะกระทบกระเทือนต่ออารมณ์ของเราก็เห็นเป็นกามุปาทาน ประทานให้กามที่ถูกประทาน อันนี้ในแง่นึงมันก็ละเอียดมากขึ้น คืออุปทานก็ยึดมั่นในจิต จิตที่ความเห็น ซึ่งในแง่นึงมันก็ละเอียดมากขึ้น แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าการยึดมั่นถือมั่นในกาม
คิดดูความขัดแย้งในสังคมเพราะอะไร ก็เพราะจิตที่ทะเลาะกัน เรื่องทิฐิ ความเห็นกัน จะเป็นเรื่องศาสนาก็ดี จะเป็นเรื่องการเมืองก็ดี เป็นเรื่องของสังคมก็ดี มันก็เป็นเรื่องทิฐิว่า ใครถูกใครผิด เราแบ่งเป็นพรรคเป็นพวก เป็นเพราะทิฐิ ไม่ยอม แล้วก็เกิดการขัดแย้งกัน ทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างบุคคล มันก็อาศัยทิฐิ อย่างว่า เราถูก เขาผิด มายึดเอาไว้ ยังไงเราถูกและเขาไม่ควรทำอย่างนั้น เรามันไปหาเรื่องกลุ้ม ก็กลุ้มเรื่อง ทิฐิ ไม่ยอมปล่อย คือถ้าหากมันผิดจริงๆ เราก็ต้องหาทางด้วยความเมตตากรุณาแก้ไขสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน หาทางจบซะทีเถอะ อย่างนี้ไม่อุปทาน ไม่ยึดมั่นไว้ ตราบใดที่เรายังยึดไว้ในอุปทานมันก็ยังมีเรื่องขัดแย้งอยู่ ยังมีเรื่องทะเลาะอยู่ ยังไม่ลืม ยังมีเรื่องบาดหมางอยู่ แต่มันก็ยังเป็นเรื่องมีปัญหา สร้างไปถึงปัญหาสังคม ปัญหาโลก ผลที่เกิดขึ้นมันร้ายแรงกว่าการอุปทานอีก
สีลัพพัตตุปาทาน เป็นส่วนประกอบที่ 3 การยึดมั่นถือมั่นในศีล พรต คือ คิดว่าถ้าได้รักษาศีลอย่างดีปฏิบัติในข้อวัตรอย่างนี้จะนำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น คือทำอาศัย วิธีการอย่างเดียวแต่ก็ยึดเอาไว้จะเหมาะสมกับสถานะการณ์ จะเหมาะสมกับบุคคลที่เราอยู่กัน ก็เหมือนกับที่เล่าให้ฟังเรื่องคนที่ทำสติจนภรรยากับลูกรำคาญจะตายอยู่แล้ว นั่นน่ะเพราะ สีลัพพัตตุปาทาน การทำสติจะต้องมีรูปแบบอย่างนี้ จะต้องประพฤติอย่างนี้จึงจะได้ บางทีมันผสมกันเช่น เราปฏิบัติอย่างนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เราเป็นลูกศิษย์สายวัดป่า สายวัดป่าถูกแล้ว พระองค์อื่นเอาแต่ชีหมดเลย มันก็เกิดทั้งยึดในศีลในพรต ทั้งยึดในจิตนี้อีกด้วย มันก็ไม่มีทางจบซักที นี้เป็นเหตุ
อาตมาเพิ่งไปสอนที่สำนักปฏิบัติ สายปฏิบัติของชาวฮินดูที่ประเทศอินเดีย เขานิมนต์ไปสอนเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายของพระพุทธศาสนาและวิธีปฏิบัติเพื่อถึงเป้าหมาย เขามีความนอบน้อมถ่อมตนดี อยากรู้ว่าเราสอนยังไง คือเขาก็มีวิธีของเขา แต่เขาก็อยากรู้วิธีของเรา ไม่ได้ถือทิฐิ เลยเข้ากับเขา ดูเขาเข้าง่ายกว่าชาวพุทธบางคน บางที่มีทิฐิความเห็น พวกนั้นแหล่ะ พวกนั้นใช้ไม่ได้ นี่มันก็เป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ เรารู้จักการกระทำในศีลเพื่ออะไร อย่างหลวงพ่อชาบอก เช่น ที่เรารักษาศีล เรารักษาศีลเพื่อเป้าหมายอะไร เป้าหมายการรักษาศีลคือเพื่อรู้เจตนาของตัวเอง และก็ไม่ได้เกี่ยวกับเพื่อได้ประพฤติงดงาม คืออันนั้นก็เป็นผล ผลแถม เป็นผลที่ดีที่แถม แต่ที่แท้จริง เรารักษาศีลเพื่อ รู้จักกระแสของจิตใจ ของเราจะได้เห็นเจตนา
[33:03] เพราะว่าที่เราสร้างความทุกข์ หรือจะพ้นจากความทุกข์ ในเมื่อเราเข้าใจในเจตนาของตัวเอง เข้าใจในการเคลื่อนไหวของจิตใจเรามันถูกผลักดันโดยอะไร แล้วเราจะอาศัย ธรรมะข้อไหนเพื่อปล่อยวางให้ได้ นี่เป็นส่วนที่ช่วยเราในชีวิตประจำวัน สร้างความเข้าใจในตัวเองให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าใช้ศีลตีกรอบให้แคบ ๆ เพื่อเป็นคนอึดอัด หรือ กลัว กลัวว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้น จะไม่บริสุทธิ์นะ จะเป็นผู้ที่สร้างสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ในโลกและทำให้ตัวเองเศร้าหมอง มันก็ทุกข์อยู่ในระดับนึง แต่มันไม่ถูกในหลักของการรู้จักปล่อย รู้จักวาง รู้จักอยู่ด้วยปัญญาที่พระพุทธเจ้าปรารถนาให้เราเข้าถึงใน สีลัพพัตตุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในศีลในพรต
คิดในแง่นึง คือที่เราเป็น ตัวอาตามาเองก็เป็นนักบวช คือการเป็นนักบวชมันก็ดีหลายอย่าง แต่ถ้าหากว่าเราเพียงแต่ยึดเอาไว้ เราไม่พิจารณา ไม่สร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ในเป้าหมายของพระพุทธองค์วิธีการปฏิบัติ แต่เพื่อการปล่อยวาง มันก็เรียกว่า ศีล 227 ข้อ ก็ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ บางทีมันยิ่งสร้างปัญหา เราเป็นพระก็ดี เป็นฆราวาสก็ดี เราเอาศีลและการฝึกหัดปฏิบัติของเราให้เป็นพื้นฐานในการสร้างการรู้ตัว สร้างความรู้เท่าทันในความรู้สึกของตัวเอง เพื่อไม่ไปเกาะสร้างความหลงในอารมณ์ต่าง ๆ จะเป็นอารมณ์ของความพอใจก็ดี จะเป็นอารมณ์ของความไม่พอใจก็ดี พอมันเกาะอารมณ์ไว้มันก็เป็นทุกข์อีก ยึดเอาไว้ สร้างเหตุผลเพื่อให้พอกพูนอารมณ์เหล่านั้นมันก็อุ้มความทุกข์เอาไว้ ก็น่าสงสาร
ข้อที่ ๔ ที่เป็นพื้นฐานของอุปาทาน ก็เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน คือการยึดไว้ในการสมมติว่ามีตัวมีตน ต้องเข้าใจเรื่องภาษา ไม่ใช่ว่ายึดไว้ในการเป็นตัวเป็นตน ยึดไว้ในการสมมติว่า มีตัวมีตน มันต่างกัน เพราะว่า ตัวตนไม่มี คือพิจารณาเท่าไหร่ สังเกตเท่าไหร่ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เป็นแก่นเป็นสารของบุคคลนี้ มันไม่มี เพราะอะไร เพราะมันเป็นของไม่เที่ยง ร่างกายก็จะยึดไว้เป็นตัวตน ยึดไปเหอะ มันก็แก่ตายเท่านั้นแหล่ะ ยิ่งยึดไว้ในความรู้สึกของจิตใจ มันยิ่งไม่เที่ยง และยิ่งไม่สมควรที่จะยึดเอาไว้เพราะมันไม่มีสาระในนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถที่จะฝึกฝนให้รู้จักใช้จิตใจนี้ให้เป็นประโยชน์ที่เข้าสู่การประโยชน์สูงสุดในโลกนี้ แต่ว่าไม่ได้เป็นตัวเป็นตน ไม่เป็นอัตตาตัวตน เราต้องยอมเข้าใจในสภาวะ ธรรมชาติก็เป็นอย่างนี้ อัตตวาทุปาทาน ยึดไว้ในการสมมติความมีตัวมีตน เป็นเรื่องที่เราต้องรู้จักแยกออกเพราะว่า เมื่อเรายึดไว้ เรื่องร่างกายยึดไว้เราก็เป็นทุกข์ ไว้ในจิตใจ เวทนา รู้สึกที่เป็นสุขก็ดีทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ยึดไว้มันก็ค่อยสลาย ยึดไปเท่าไหร่มันก็สลาย มันยึดไม่ได้จับไม่ได้ เก็บเอาไว้เป็นก้อนก็ไม่ได้ สัญญา ความจำก็ยิ่ง ยิ่งไม่ได้ คิดดู อายุมากขึ้นๆ สัญญามันไม่น่าไว้ใจเลย
ทุกวันนี้มีพระบางองค์ โยมบางคน พยายามจะเก็บข้อมูลเอาไว้ เรียบเรียงเอาไว้เป็นประวัติของอาตมา คอยดูจะมีหรือไม่มี แต่น่าจะมี แต่ว่ายังไม่พร้อม แต่ว่าบางทีท่านเหล่านั้นก็มานั่งทบทวน มันมีอะไรเกิดขึ้นอย่างนี้เห็นมีหลักฐานอย่างนี้แต่เราก็งงละ จำไม่ได้ หรือจำ เอ หรือ ไม่ใช่ความจำของเรา เพราะว่าได้แต่งความจำขึ้นมาให้อดีตเป็นเรื่องอื่น ใกล้เคียงกันแต่มันก็ไม่เหมือน เรียกว่า สัญญาไม่เที่ยงจริง ๆ จะให้เป็นตัวเป็นตนเป็นเราที่แน่นอนไม่แก่ไม่เฒ่าเป็นไปไม่ได้
[41:22] ยิ่งเราพูดเรื่องสังขาร การปรุงแต่ง พอมันโดนปรุง มันหาที่จบก็ยาก เลยก็ยิ่งไม่เป็นแก่น วิญญาณก็ยิ่งละเอียดเข้าไปใหญ่ การรับรู้ มันคอยต่อเนื่องคอยเชื่อมความรู้สึกต่างๆ เราต้องยอมรับว่า ที่เราเป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตน ก็สมมติ อัตตวาทุปาทาน อย่าไปยึดในการสมมติมีตัวมีตน ก็เรารู้ว่ามี มีเรา แล้วก็รู้ว่า พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับการฝึกสิ่งที่สมมติอยู่ เช่น เมื่อวานที่โยมปุ้มพูดเรื่องอัตตา อตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ คือตั้งตนไว้ชอบเป็นมงคลอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าว่าไม่มีตัวไม่มีตน แต่ว่าคือมีอะไรที่เป็นเราที่เราต้องรับผิดชอบอยู่ แต่ว่าจะให้เป็นแก่นเป็นสารให้มันถาวรไม่ให้เปลี่ยนไปอย่างนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าส่วนที่เป็นความรู้สึกว่าเรา เราต้องฝึกให้อยู่ในขอบเขตของความมีสติ มีปัญญา มีการรู้แล้ววาง รู้แล้ววาง
หรืออย่างใน Object ธรรมบท อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มันเป็นที่พึ่งเพราะอะไร เพราะสามารถที่จะฝึกได้ สามารถที่จะเพาะปัญญาได้ สามารถที่จะสร้างความเข้าถึงความเป็นจริงได้ แต่ว่าจะยึดเอาไว้ให้เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งที่ถาวรมั่นคงตลอดกาลนานเทอญนั้นมันก็เป็นไปไม่ได้ เราต้องยอมปล่อย มันเป็นลักษณะของ คือการยึดมั่นถือมั่น อุปาทาน อุปาทานเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าให้เราเป็นผู้พิจารณาฝึกตัวเองให้ดี เพราะอุปาทานเมื่อครอบงำจิตใจของเราแล้ว มันสร้างความทุกข์ ไม่มีทางที่จะได้อย่างอื่น
บางทีส่วนหนึ่งมันก็จะได้ความสุขอยู่ ได้สนองอารมณ์ของกามคุณ มันก็มีความสุขอยู่ แต่มันแป๊บเดียวแล้วก็หาย หรือยึดไว้ในสิ่งที่ทำให้ตัวเรารู้ตัวเราดี พรรคพวกของเราดี แต่ก็อาจจะมีความสุขอยู่แต่แป๊บเดียว แล้วโทษจะหลั่งไหลเข้ามา แต่มันเป็นเหตุ เราเข้าใจในขอบเขตของสิ่งที่เรายึดไว้ เรารู้ว่ายึดไปแล้วในที่สุดผลที่ปรากฏมันก็คือ ความทุกข์ เพราะเราเห็นว่า เราทันดีกว่า เรารอบคอบดีกว่า ยอมเป็นผู้ปล่อย ผู้วางดีกว่า อย่างนั้นจะเป็นผู้ปลดเปลื้องออกจากความทุกข์ได้ เรียกว่าเป็น สมรรถภาพของมนุษย์เรา สามารถที่จะ ที่จะลิ้มรสของการดับทุกข์ เป็นเหตุที่ พระพุทธเจ้าสอนให้ อริยสัจ 4 เป็นแกนของคำสอนของท่าน เป็นแกนของการปฏิบัติ
เมื่อเราตั้งสติไว้ หรือพยายามให้มีความสงบอยู่ อย่าไปเฉย ยอมยกประเด็นพิจารณา ยกประเด็นสังเกต เพื่อให้ทบทวนอริยสัจ 4 ในมุมไหนมุมหนึ่งก็สุดแล้วแต่ พอดีอาตมาเองก็ไม่ได้วางแผนว่าจะพูดอะไร คิดแต่ว่าคืนนี้น่าจะพูดเรื่อง อริยสัจ 4 แต่พูดแต่เรื่อง อุปาทาน แต่ก็อาตมาคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อได้คอยสังเกตดูว่า ไอ้ตัว อุปาทาน การยึดไว้มีอะไรบ้างที่เป็น เหตุ ที่ทำให้ความอึดอัดหรือความรู้สึกเศร้าหมองเกิดขึ้น ทำให้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะเมื่อมี เมื่อเข้าใจในเหตุ มันก็สามารถที่จะละได้
คืนนี้อาตมาก็ให้ข้อคิด ในธรรมะ ก็คงจะพอสมควรแก่เวลา ขอยุติลงเพียงเท่านี้ เอวัง