แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[03:31] เริ่มวันแรกของการปฏิบัติเต็มวันวันนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดี พูดในแง่หนึ่ง อาตมาเองก็ดีใจที่มีโอกาสได้ปฏิบัติด้วยกัน โยมจะสนใจนั้นหรือสุดแล้วแต่ แต่อาตมาสนใจ เพราะว่าระยะที่ผ่านมาก็ได้มีการเดินทางไปนี่ไปนั่น ไปร่วมกิจนิมนต์ที่นี้ เยี่ยมคนนั้น ไปดูสถานที่นั้น ก็อ่ะ นั่งซะทีละจะดี เลยเป็นโอกาสที่ดี ก็สำหรับเราทุกคน
การที่ใช้เวลาในการภาวนา เบื้องต้นเราต้องให้คนสนใจกับการตั้งสติไว้ การที่รวบรวมสติในการกระทำยิ่งโดยเฉพาะเราทำเป็นกิจวัตรหรือกิจจะลักษณะ เช่น เรานั่งสมาธิแล้วก็ส่วนมากก็อาศัยลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นหลัก หรือการเดินจงกรมก็เช่นเดียวกัน แต่เป้าหมายคือการทำให้มีสติต่อเนื่อง สติโดยเฉพาะในสมัยนี้มันก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไรในเมืองไทย แต่เมืองนอกก็ค่อนข้างจะสับสนกัน สติขายดีเหลือเกิน มันมี retreat สติมีหนังสือ เดี๋ยวสติมี Mindful eating Mindful ทุกอย่าง แล้วเมืองไทยไม่มีความหมายเลย
เป็นแง่ที่เราต้องพยายามทบทวนว่า พระพุทธเจ้าเองท่านเป้าหมายการตั้งสติคือจะทำอย่างไร หรือมีลักษณะไหน อย่างที่เราได้พูดตามความเป็นจริงสวดอริยมรรค 8 มีธรรมะในนั้นเยอะแยะมากมาย แต่บทหนึ่งที่เราทบทวน สัมมาสติ คือมีลักษณะของสติที่พระพุทธเจ้าระบุไว้ ได้เป็น 4 ข้อ เป็นส่วนประกอบของสติเรา คือมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรลืมเพราะบางครั้งสติเหมือนกับเราตามผู้รู้ไว้ โดยไม่คิดอดีต โดยไม่คิดอนาคต ไม่คิดทั้งสิ้น มันก็ไม่ใช่ คือมันอาจจะมีเกิดขึ้น แต่ว่าคือถ้าตั้งเป็นเป้าหมายบางทีเรียกว่ามันแคบเกินไป เครียดจนเกินไป
[07:35] อย่างเบื้องต้นพระพุทธเจ้า อาตาปี อาตาปีถ้าแปลเป็นภาษาไทย มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มันหมายถึง ความพยายาม คือเราจะต้องปลุกเร้าสติให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าจะรอให้มันเกิดขึ้นเอง หรือปล่อยๆ ให้มันเป็นไปโดยไม่ค่อยชัดเจน เพราะว่ามีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความเพียรเพื่อทวนกระแสของความโลภความโกรธความหลง มีความเพียรที่จะทวนกระแสของความพอใจความไม่พอใจ หรือความชอบใจความไม่ชอบใจ มันทวนกระแสของความเคยชินของเรา เช่น จิตของเรามันจะคิดปรุงว่า เอ๊ะ ดูลมหายใจเข้าดูลมหายใจออก มีอะไรกำหนดตรงนั้น เอ๊ะ จะมีอาหารอะไรวันนี้ มันคิด มันออกๆ มันคิดสิ่งที่อยากได้ หรือมันนึกถึงภาพของคนที่เราไม่ชอบอะไรมันก็คิดไม่พอใจ มันเป็นเครื่องเผากิเลสเราต้องทวนกระแสไม่ใช่ว่าเราตามกระแส
อันนี้มันเรียกว่า เราต้องเอาสัมมาวายามะมาใช้ในการตั้งสติ คือความพากเพียรชอบ จะกำหนดความพากเพียรชอบก็ต้องกำหนดที่สภาพของจิตใจ อันไหนที่เป็นไปเพื่อเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็เป็นความพากเพียรชอบ หรือการป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้มันเกิด อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้วเราก็รู้จักไล่ออกจำกัดให้ได้ ไม่ปล่อยยินดีพอใจกับสิ่งที่เป็นอกุศลภายในจิตใจของเรา แล้วก็กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วรู้จักประคับประคองดูแลรักษาให้จิตใจงดงาม อย่างนี้มันก็เป็นอาตาปีเป็นเครื่องเผากิเลส ไม่ใช่จะต้องไปต่อสู้อะไรหนักหนาจนเหงื่อแตก แต่ขอให้จิตอยู่ในกุศลธรรมให้จิตเบิกบานให้จิตแจ่มใส ให้มีผู้รู้ คอยเด่นขึ้นมาในจิตใจ อย่างนี้มันก็เป็นการรักษาสติ ในทางที่ดีที่พระพุทธเจ้าเองท่านเป้าหมายหรือท่านปรารถนาให้เราได้สนใจ
อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกก็มีการสังเกต มีการสังเกตว่าสติอยู่หรือไม่ ได้คอยทบทวนดู ได้คอยสังเกตดู ถามเจ้าของ สติอยู่หรือเปล่า จิตพอใจกับการกำหนดไหม ซึ่งมันก็กลายเป็นส่วนประกอบขององค์ที่ 3 อาตาปี สัมปชาโน สัมปชาโนคือ การรู้ตัวรอบ หรือรู้รอบตัว จำไม่ได้ เป็นแง่ที่มีความรู้ พูดตามความเป็นจริงในคัมภีร์วิสุทธิมรรค อาจาริโยพุทธโฆษาจารย์ท่านได้บอก สัมปชาโนเหมือนกับปัญญา มันเป็นการใช้ปัญญาในการตั้งสติไว้ เพราะว่าส่วนมากสติกับสัมปชัญญะ ก็ที่พระพุทธเจ้าก็จะไม่ค่อยพูดถึงสติลอยๆ ก็จะมีสัมปชัญญะคือการรู้ตัวทั่วพร้อมๆ แล้วก็เป็นลักษณะของการสังเกตที่กว้างขวางหน่อย คือรู้เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น รู้สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ รู้จักกาล รู้จักเวลา รู้จักสิ่งที่เหมาะสมไม่เหมาะสม สิ่งที่พระพุทธเจ้าหรือที่อยู่ในคัมภีร์ สัมปายสัมปชัญญะ คือรู้ว่าอันไหนเหมาะสม สัปปายะ คำศัพท์ภาษาไทยว่าสบาย ใช่ไหม อันไหนที่สบาย อันไหนมันเหมาะสม อันไหนที่รู้สึกว่าดี พอดี ความพอดีอยู่ที่ไหนเราต้องเป็นผู้สังเกตไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเอง เราต้องอาศัยการใช้จิตใจของเรากำหนดอย่างละเอียดแล้วทบทวน นี้มันเป็นส่วนหนึ่ง
[14:11] การงานของผู้ปฏิบัติอยู่ที่เรียกว่าผู้รู้ อย่างหลวงพ่อชาเอง ท่านพูดปฏิบัติธรรมก็ไม่ยากหรอก ก็มีหน้าที่ 2 อย่าง รู้ และ วาง แค่นี้แหละ มันพูดง่ายเหลือเกินแต่มันทำยากแสนยาก เพราะว่ารู้แล้วมันก็ปรุง รู้แล้วๆ ก็ต่อต้าน รู้แล้วๆ ก็สับสน รู้แล้วมันก็ปล่อยจิต รู้แล้วๆ วาง รู้แล้วๆ วาง แล้วก็การวางไม่ใช่ว่าทิ้ง มันวางด้วยความเป็นผู้มีความรู้รอบคอบในผลที่จะเกิดขึ้น เราทะนุถนอมผลที่เกื้อกูลด้วยกุศลธรรม และการละของอกุศลธรรม นี่มันเป็นลักษณะของผู้มีสติ มีอาตาปี มีสัมปชาโน แล้วสติมา คือประกอบด้วยสติ มีสติตั้งอยู่ ก็พยายามตั้งผู้รู้ เวลาจิตของเราเริ่มคิดเริ่มพิจารณาเริ่มสังเกต เราต้องมีสติค่อยๆ ตาม ดูว่ายังอยู่กับสิ่งที่เราเริ่มกำหนดไหม ยังอยู่กับในปัจจุบันไหม ยังอยู่ในข้อสังเกตที่เราตั้งไว้ไหม ก็ต้องอาศัยสติค่อยๆ ดูตาม เป็นลักษณะของการฝึกการหัดในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้บอกชัดเจนในสติปัฏฐานสูตร ที่ภาษาบาลีว่า เอกายโน มคฺโค เป็นหนทางที่ไปในทางๆ เดียวคือการดับทุกข์ แต่ว่าเราต้องอยู่กับทาง เราต้องพยายามอยู่กับทาง เราต้องเป็นผู้รักษา รู้จักรักษาสติไว้ เมื่อเป็นอย่างนั้น หรือบำรุงสติให้บริบูรณ์สมบูรณ์ อย่างนี้มันก็เป็นหน้าที่ของนักปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะเพียงแต่นั่งเป็นที่แล้วสติมันจะลอยเข้ามา เทวดาที่ไหนก็ไม่รู้นะ เราจะรอเทวดามาช่วยก็รอเหอะ เราทำเองดีกว่า
การที่ได้นึกถึงส่วนประกอบก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่ารู้ว่าเรามีหน้าที่ๆ จะทำ เพราะอย่างไรการภาวนาในการปฏิบัติ เพราะว่าแม้แต่คำศัพท์คำว่า ภาวนา เราใช้เช่น เราภาวนาพุทโธ ภาวนาเดินจงกรม ภาวนานั่งสมาธิ แต่พูดตามความเป็นจริง ภาวนาเป็นคำศัพท์ที่ภาษาบาลีกว้างขวาง ถ้าแปลโดยตรงแปลว่าทำให้มีเกิดขึ้น คือเราทำให้มีเกิดขึ้น ทำอะไรเกิดขึ้น ทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ทำให้อกุศลธรรมลดลง ทำให้สติเกิดขึ้น ทำให้สัมปชัญญะเกิดขึ้น ทำให้อาตาปีเกิดขึ้น มันก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญของความปลอดโปร่งและความมั่นคงของจิตใจ
แล้วส่วนประกอบอันสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าระบุไว้ อย่างเมื่อคืนเวลาเราทบทวนสาธยายธรรมเกี่ยวกับอริยมรรค 8 อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ตัวนี้เป็นข้อสำคัญ คือ ตราบใดที่เรายังหลงตามกระแสของความพอใจและความไม่พอใจ มันยากที่จะมีสติอยู่ เพราะอารมณ์ครอบงำจิตใจที่ทำให้ คือมันก็เศร้าหมอง เศร้าหมองด้วยความดีใจ เศร้าหมองด้วยความเสียใจ เศร้ามองด้วยความชอบใจ เศร้าหมองด้วยความไม่ชอบใจ อย่างไรมันก็เศร้าหมอง มันไม่ปลอดโปร่งไม่แจ่มใสไม่เบิกบานเท่าที่จะทำได้ แต่ในเมื่อเราถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ โลกก็เรื่องสิ่งภายนอก เวลาเราพูดถึงโลก พระพุทธเจ้าเองโลกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละคือโลก เรื่องภายนอกเป็นสิ่งที่ได้รับข้อมูลจากโลกภายนอก มันก็เป็นโลกถ้าพูดตามความเป็นจริง
อย่างอาตมาดูหน้าตา คืออย่างน้อยก็มีหน้าตา เราก็สมมติเอา เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่บอก คือมันเป็นกระจก แต่ว่าเรารับรู้โดยตา เราก็มีสัญญาคอยบอกลักษณะของหน้าตาเป็นอย่างนั้น มันก็ทั้งๆ ที่เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งเป็นอันเป็นของ หรือจะออกเลยหน้าตาไปอีก มันก็มีต้นไม้คือเราเห็นต้นไม้เราไม่สามารถที่จะเอามือไปแกะว่าเป็น แต่ว่าได้เห็น แล้วก็โดยอาศัยความจำว่าลักษณะของต้นไม้เป็นในลักษณะนั้น มันก็รู้ว่าเป็นโลก มันมีสิ่งของภายนอกเรา มันไม่ใช่ว่าเราสัมผัสทั้งหมด เพราะว่าเรารู้โดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา เราสร้างโลกๆ อยู่ตรงนี้แหละ โลกภายนอกอย่างที่เราว่าโลกภายนอก ที่จริงก็โลกไม่วุ่นวาย คือเราวุ่นวายกับโลก โลกก็แค่โลก โลกก็แค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราชอบวุ่นวายกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ปัญหาไม่ได้อยู่ข้างนอก ปัญหาอยู่ข้างใน เราต้องแก้ก็แก้ภายใน ในเบื้องต้นที่เราต้องแก้ ก็ต้องแก้ด้วยการตั้งสติไว้ คอยระมัดระวังความพอใจและความไม่พอใจ เพราะมันทำให้จิตเอนเอียง เมื่อจิตเอนเอียงมันก็ล่มไปตามกระแสของอารมณ์นั้นมันก็พาเราวุ่นวาย แต่เมื่อเรามีความสนใจในการกำหนดสติอย่างบริบูรณ์อย่างสมบูรณ์ ก็จะมีผู้รู้เด่นขึ้นมาในจิตใจ ความรู้สึกก็จะดูชัดเจนมากขึ้นรู้รอบคอบมากขึ้น รู้อย่างไม่ลำเอียง มันก็ค่อยเกิดขึ้นมันก็รู้สึกสงบ ความสงบมันแอบแฝงอยู่ในนั้น เราต้องสนใจกับการตั้งสติให้บริบูรณ์ แต่สตินั้นมันก็ต้องพอดี
[23:52] พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบการตั้งสติเหมือนกับการจับนกกระทา นกกระทานกเล็กๆ ซึ่งอาตมาคุ้นกับนกกระทาเพราะวัดอภัยคีรีเยอะแยะเป็นฝูงๆ น่ารักมาก แต่เป็นนกเล็กๆ มันเป็นนกที่จะว่ามันขี้กลัว มันจะรีบวิ่งหนีไม่ให้เราเข้าใกล้ แต่ว่าถ้าเราได้จับ คือถ้าจับแน่นเกินไปเดี๋ยวมันบางทีก็ตายหรืออึดอัดอยู่ หรือถ้าเราจับหลวมๆ จนเกินไปเดี๋ยวมันก็บินหนี มันก็บินหนี มันก็ต้องจับพอดีๆ ไม่เป็นอันตรายต่อตัวนกกระทาและไม่ได้เป็นเหตุให้นกกระทาได้รีบบินหนี เป็นแง่ความพอดีเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องประคับประคองทะนุถนอมสติของเราให้อยู่ในขอบเขต อาศัยกำลังของผู้รู้ในการฝึกการหัดของเรา คือเรามีกิจจะลักษณะอย่างที่เราจะนั่งสมาธิ หรือเราจะไปเดินจงกรมก่อนแล้วก็กลับมานั่งสมาธิ
แต่อย่างไรก็ตาม เช่น เวลาเราเดินจงกรม เดินเพื่อให้ประคับประคองความรู้สึกเป็นผู้รู้อยู่ คือหมู่คณะก็เยอะ เราเดินเป็นแถวกัน ก็รักษาสติไว้ในลักษณะที่เดินคือไม่ใช่ว่าเราคิดว่าเดินตามจังหวะของเราอย่างเดียว มันก็ต้องดูว่าคนข้างหน้าเขาเดินช้าเร็วแค่ไหนเราก็ต้องพอดีกับเขา แล้วก็ไม่ขึ้นไปชนเขาข้างหน้า แล้วก็ไม่ทิ้ง ระยะจนห่าง ต้องใช้สติคอยกำกับอยู่ เดินให้เป็นจังหวะที่พอดีกับสถานการณ์ กาลเวลา นี่ที่เราใช้สัมปชัญญะฝึกอยู่หัดอยู่ เวลาเราเดินก็เดินให้ดูข้างหน้าเราคือเดินไม่ใช่ว่าเราหลับตาเดิน ลืมตาเดินแต่ว่าไม่ใช่ไปเหลือบดูนี่ดูนั่น ดูข้างหน้าเราประมาณสักเมตรสองเมตร เราก็เพียงดูข้างหน้าดูสำหรับมีอะไร จะต้องระมัดระวังไหม คอยสังเกตแล้วไม่ใช่ว่าจะต้องดูอะไรมากมาย ไม่ใช่ว่าดูรถยี่ห้อนี้ยี่ห้อนั้นเวลาเราผ่านไปของใครหนอ มันคิดปรุง เราอยู่กับการเดินแล้วก็อยู่กับความรู้สึกที่เคลื่อนไหว
อย่างหนึ่งเวลาเราเดินเอามือจับข้างหน้าเรา ไม่ใช่ว่าแขนกลับไปกลับมาคือเราไม่ได้เป็นทหาร เราเป็นนักปฏิบัติธรรม เรามีความสำรวม เราก็จับไว้มันช่วยให้สำรวมกายของเรา ทำอยู่ในขอบเขตเมื่อมันอยู่ในขอบเขตมันก็ช่วยจิตใจของเราอยู่ในขอบเขตเช่นเดียวกัน ขอบเขตของการเจริญของสติ เรากำหนดความรู้สึกที่ปลายเท้าแล้วก็การเคลื่อนไหวของ เช่น การยกเท้าเคลื่อนไปข้างหน้า เอาแตะลงไป ยกเท้าซ้ายเลื่อนไปค่อยแตะไปก็ให้มีสติทุกก้าว เราก็คอยสังเกตแล้วก็ให้มีความคลี่คลายอยู่ในการเดิน คลี่คลายอยู่ในการยืน ไม่ใช่ว่าไปพุ่งข้างหน้าจนเกินไป ให้อยู่กับท่ายืนกับเดินให้มันสมดุล เมื่อมันสมดุลมันก็จะรู้สึกสบาย เพราะว่าการภาวนาการปฏิบัติการฝึกตัวเองก็เพื่อให้มันสบาย เพราะผู้รู้ก็ย่อมตั้งได้ง่ายขึ้นเวลาเราไม่เครียดจนเกินไป เพราะบางทีตั้งใจมากเกินไปก็ไม่ดี บางคนก็นั่งสมาธิเดินจงกรมจนปวดหัว ก็เป็นปัญหาเพราะตั้งใจมากเกินไปไม่ใช่ว่าภาวนาไม่ดีแต่ว่าบางทีมันดีจนเกินไป ด้วยความอยากหรือความคิดว่าจะต้องสู้เอาให้ได้ มันจะต้องให้ได้ แต่อย่างไรก็ตามจะสู้ขนาดนั้นไม่ใช่ว่าจะสำเร็จวันนี้ มันก็ต้องพอใจกับการภาวนาอย่างต่อเนื่อง เป็นวันเป็นอาทิตย์เป็นเดือนเป็นปี ยินดีในการฝึกในการหัดตัวเอง ยินดีในการเจริญในสิ่งที่ดีงาม
[31:26] การนั่งก็ใกล้เคียงกัน นั่งก็นั่งขัดสมาธิ นั่งขัดสมาธิมันช่วยให้ความสมดุลของร่างกาย เพราะว่ามันอยู่ที่สันหลัง เพราะว่านั่งนานๆ สันหลังของเราต้องตรงหน่อย ถ้ามันเอียงซ้ายเอียงขวาหรือว่าไม่ตรงเดี๋ยวไม่นานก็จะรู้สึกปวด แต่ว่าร่างกายของเราถ้าเรานั่งด้วยความพอดีมันก็นั่งได้นานอันนี้เป็นเหตุ พูดถึงสมัยก่อนเมืองไทยชินกับการอยู่กับพื้น ตั้งแต่เกิดก็อยู่กับพื้น นั่งพับเพียบนั่งขัดสมาธินั่งได้กันทั้งนั้น แต่ทุกวันนี้สังคมของเราเจริญแต่ร่างกายของเราเสื่อม ไม่ได้ถนัดเหมือนสมัยก่อน ฝรั่งก็ยิ่งไปกันใหญ่ อันนี้เป็นเหตุมีหมอนรองนั่งมันก็ช่วย เพราะว่าถ้าเราหนุนหรือใช้รองก้นเพื่อให้สันหลังเราสูงขึ้นมาหน่อย เพราะว่าเรานั่งก็พยายามนั่งอาศัยกระดูกของเราแทนที่จะอาศัยกล้ามเนื้อ มันเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่าบางทีเราพยายามนั่งให้เที่ยงตรงแต่ว่าใช้กล้ามเนื้อเกร็งอย่างเดียว เมื่อมันอาศัยอย่างนั้นไม่นานนะปวดหลังหรือปวดที่ไหล่ ที่ไหล่ที่หนึ่งละมันจะมีความเกร็งอยู่ในตัว
แต่ถ้าหากว่าเรานั่งขัดสมาธิ สันหลังของเราตรง อย่างว่ามันตรงพอดี คิดดูถ้าเราเข้าใจในรูปของลักษณะกระดูกของเรา มันก็จะขึ้นมาด้านหลัง สันหลังมันจะขึ้นมาโค้งอย่างนี้แล้วก็คอยขึ้นมาและก็ให้มันเป็นในลักษณะโค้งขึ้นมาแล้วก็ค่อยขึ้นไป มันจะพอดี แล้วก็ให้คลี่คลาย กับไหล่เรา แล้วก็ให้ศีรษะของเราพอดีไม่โก่งมากจนเกินไป ไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมา ก็ดูพอดีให้มันอยู่อย่างนั้น เวลาร่างกายของเราพอดีมันก็นั่งได้นานแล้วก็นั่งสบาย การกำหนดเมื่อมันนั่งได้สบาย คือมันอำนวยความสะดวกในการกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก คือถ้าเราต่อสู้กับร่างกายจนเกินไป บางทีมันก็ทำให้การกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกมันไม่ถนัดเท่าที่ควร หรือมันกวน เราได้นั่งได้สบายเราก็กำหนดที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
เรากำหนดแล้วแต่เลยว่าจะถนัดที่ไหน หรือมันเด่นตรงไหน ส่วนมากก็จะอยู่ที่ปลายจมูกแต่มันไม่ตายตัว บางคนอาจจะกำหนดที่ในคอลึกๆ หรือในหน้าอกหรือในหน้าท้องก็สุดแล้วแต่ หรือกำหนดความรู้สึกทั้งหมดที่มันเข้า ลมหายใจเข้ามันจะมีความรู้สึกในร่างกายของเรา ลมหายใจออก ท้องมันก็จะค่อยยุบ เราก็หายใจออกมันก็ได้พองมันก็ยุบๆ ความรู้สึกเข้ารู้สึกออกเราคอยจับจุดใจจุดหนึ่ง ที่รู้สึกว่าน่าสนใจแล้วก็น่าสบายพอสมควรเพื่อให้มีการต่อเนื่องของการตั้งสติ คือการต่อเนื่องของผู้รู้ ผู้รู้จะต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน ความสงบมันจะคอยมีกำลังมากขึ้นมันเป็นลักษณะธรรมชาติของจิตใจ เราคอยให้ความสนใจแล้วก็ต้องมีสัมปชัญญะคอยทบทวนดูว่าอยู่ไหม อยู่กับการกระทำไหม อยู่กับการกำหนดไหม อยู่กับความรู้สึกไหม ยังพอใจกับความรู้สึกไหม หรือเบื่อไหม หรือมันเริ่มเขวออกจากความรู้สึกนั้นไหม ก็ต้องค่อยๆ สังเกตดูเพื่อระมัดระวัง ทำให้มีความเด่นของผู้รู้อยู่ในตัว ลมหายใจเข้าก็รู้ลมหายใจออกก็รู้ มันเป็นโอกาสที่ช่วยสร้างความรู้สึกที่สบาย เพราะบางคนก็ พูดอย่างนั้นบางคนก็เถียงเหมือนกันนะ นั่งสมาธิไม่เห็นสบายสักทีเลย เมื่อรู้จักคลี่คลายในร่างกายเมื่อรู้จักคลี่คลายในทางจิตใจ มันก็อยู่กับความรู้สึกพอใจอิ่มใจกับการตั้งสติไว้ และต่อเนื่องของการตั้งสติมันก็ค่อยมีกำลังมากขึ้น
มันเป็นเหตุที่ คือ หลวงพ่อสุเมโธเคยถามหลวงพ่อชาว่า การภาวนาการทำสมาธิคืออะไร เพราะว่าตอนนั้นสมัยนั้นหลวงพ่อสุเมโธก็ยังเป็นพระผู้น้อยแล้วก็กำลังสงสัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติ ถามว่าอะไรที่แท้จริงเพราะว่าเดี๋ยวองค์นี้ก็พูดอย่างนี้เดี๋ยวองค์นั้นพูดอย่างนั้น หลวงพ่อชาท่านพูดสั้นๆ การภาวนาการทำสมาธิก็คือการพักผ่อนทางจิตใจ สำหรับหลวงพ่อชาก็เป็นการพักผ่อนทางจิตใจ พวกเราจะยอมพักผ่อนมากน้อยแค่ไหน คอยถามตัวเองเถอะ ว่าอันนี้มันเป็นหน้าที่ของสัมปชัญญะที่คอยทบทวนเพื่อให้สติได้เกิดขึ้น แต่อย่างอาตมาเองก็เคยอยู่กับหลวงพ่อชา เวลาหลวงพ่อชานั่งสมาธิมันน่าเลื่อมใสจริงๆ เวลาท่านนั่ง ท่านก็จะนั่งเที่ยงตรงท่านไม่เห็นเครียด ท่านก็นั่งนิ่ง บางทีอยากให้ท่านลุกท่านก็ไม่ลุกสักที ท่านนิ่งสบาย เห็นแล้วน่าอัศจรรย์จริงๆ และนี่เป็นผลของการฝึกการหัด ก็อยากให้พวกเราได้สนใจกับการตั้งสติ แล้วก็การเจริญสติ การบำรุงสติของเรา เพราะว่านี่เป็นรากฐานของการก้าวหน้าในการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
วันนี้ก็คงให้ข้อคิดธรรมะพอสมควร ต่อจากนี้ไปก่อนจะเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินจงกรมก็เตรียมการตั้งแถว ข้างหน้า